วิถีลูกหนังและปรัชญาของ เออร์ลิง ฮาลันด์ ดาวยิงพันธุ์ใหม่ที่คู่แข่งต้องร้องขอชีวิต

วิถีลูกหนังและปรัชญาของ เออร์ลิง ฮาลันด์ ดาวยิงพันธุ์ใหม่ที่คู่แข่งต้องร้องขอชีวิต

เออร์ลิง ฮาลันด์ ในเวลานี้ (2022) คือยอดดาวยิงพันธุ์ใหม่ที่ใส่สกอร์จนฝั่งตรงข้ามอาจถึงขั้นต้องร้องขอชีวิต เส้นทางที่เขาก้าวมาเป็นนักเตะแห่งยุค ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาโดยมีระเบียบแบบแผน และปรัชญาที่เขายึดถือก็น่าสนใจไม่แพ้ฝีเท้า

  • เออร์ลิง ฮาลันด์ ชื่อนี้คือนักฟุตบอลที่ฝ่ายตรงข้ามยำเกรงเป็นพิเศษจากผลงานและสถิติการทำสกอร์ที่น่าเหลือเชื่อ
  • กว่าจะมาเป็นยอดดาวยิงจอมถล่มประตู เส้นทางสายลูกหนังของเขาเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
  • ดาวยิงชาวนอร์เวย์มีปรัชญาและวิถีชีวิตส่วนตัวที่น่าสนใจไม่แพ้ฝีเท้าที่น่าจับตาด้วยเช่นกัน

‘โชคชะตาฟ้าลิขิต’ ไม่น่าจะเป็นคำที่ใช้ได้กับยอดดาวยิงดวงใหม่ในวงการลูกหนังอย่าง ‘เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์’ (Erling Braut Haaland) ศูนย์หน้าชาวนอร์เวย์ ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นักเตะว่าที่เจ้าของรางวัล ‘บัลลงดอร์’ คนต่อไปในยุคที่ ‘ลิโอเนล เมสซี่’ และ ‘คริสเตียโน่ โรนัลโด้’ กำลังโรยราใกล้อำลาสังเวียนหญ้าเต็มที

ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะเส้นทางชีวิตของเจ้าหนูฮาลันด์ กว่าจะมาถึงจุดนี้ ยิงแฮตทริกได้เป็นว่าเล่น ไม่ใช่เพราะแค่พรสวรรค์ หรือโชคช่วย แต่เป็นการปูทางวางแผนชีวิตมาอย่างดีและมีระเบียบแบบแผน ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าตัว ครอบครัว และทีมงาน

ที่สำคัญ นักเตะในตำแหน่งกองหน้าหมายเลข 9 ซึ่งมีความสมบูรณ์แบบทั้งสรีระร่างกาย ทักษะการทำประตู และทัศนคติการใช้ชีวิตอย่างเออร์ลิง ฮาลันด์ กำลังจะกลายเป็นต้นแบบของนักกีฬาแห่งโลกยุคใหม่ในอนาคต

“มีไม่กี่คนหรอกที่สูง 194 เซนติเมตรและรวดเร็วแบบนั้น อันที่จริงยังนึกชื่อไม่ออกสักคนด้วยซ้ำ มันเป็นโอกาสที่จะไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก” ฮันส์ - โยอาคิม วัตซ์เก้ ซีอีโอของสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในเยอรมนี กล่าวถึงอดีตศูนย์หน้าดาวซัลโวของสโมสร

“เขามีจุดเด่นเรื่องรูปร่างและความมุ่งมั่นแบบสุด ๆ มันเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเรา โดยพื้นฐานแล้วผู้เล่นชาวสแกนดิเวียมักมีความมุ่งมั่น กระหายความสำเร็จ และเป็นคนมีคุณภาพสูง เออร์ลิงมีทุกอย่างที่ว่ามา เขามีคุณลักษณะที่ไร้ตำหนิและความหิวกระหายไร้ขีดจำกัด มันเป็นเรื่องราวที่ดี”

 

เส้นทางชีวิตที่เลือกเอง

หลายคนทราบดีว่าเออร์ลิง ฮาลันด์ เป็นลูกชายของ ‘อัลฟ์ - อิงเก้ (อัลฟี) ฮาลันด์’ อดีตนักเตะทีมชาตินอร์เวย์ ซึ่งเคยค้าแข้งอยู่กับทีมดังในอังกฤษอย่างน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และแมนฯ ซิตี้ ในปลายทศวรรษ 1990s ถึงต้นยุคมิลเลนเนียล

พูดแค่นี้บางคนอาจคิดว่า ฮาลันด์ จูเนียร์ น่าจะเติบโตมาภายใต้อิทธิพลของพ่อและถูกบังคับให้เล่นฟุตบอลเหมือนผู้ให้กำเนิด แต่ความจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น ครอบครัวฮาลันด์เลี้ยงลูกโดยให้อิสระเต็มที่ เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง

เออร์ลิงเป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมด 3 คนของอัลฟี เขาเกิดที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 ระหว่างที่พ่อเล่นอยู่กับทีม ‘ยูงทอง’ และเป็นทายาทคนเดียวที่เลือกเอาดีบนเส้นทางลูกหนัง โดย ‘แอสเตอร์’ พี่ชายคนโตเลือกเรียนปริญญาโทด้านการเงิน ส่วนพี่สาว ‘กาบริล’ ทำงานด้านสาธารณสุข ไม่มีใครอยากโตไปเป็นนักบอลเหมือนพ่อ

แอสเตอร์ และกาบริล พูดถึงน้องชายคนเล็กว่ามีความบ้าพลังและปราดเปรียวว่องไว เหมาะที่จะโตไปเป็นนักกีฬาตั้งแต่เด็ก

เจ้าของสถิติโลกยืนกระโดดไกลในวัยห้าขวบ

The Athletic สื่อกีฬาที่กำลังมาแรงรายงานว่า นอกจากสถิติพังประตูแบบถล่มทลายจนคู่แข่งต้องร้องขอ (ชีวิต) เออร์ลิงยังเป็นเจ้าของสถิติโลก ‘ยืนกระโดดไกล' (standing long jump) ในรุ่นเด็กวัย 5 ขวบ เขาถูกบันทึกสถิตินี้ในเดือนมกราคม 2006 โดยสามารถยืนนิ่ง ๆ และกระโดดได้ไกลถึง 163 เซนติเมตร

แม้จะเกิดที่อังกฤษ แต่พออายุ 3 ขวบ เออร์ลิงต้องอพยพตามครอบครัวกลับไปใช้ชีวิตที่นอร์เวย์ เนื่องจากบิดาตัดสินใจแขวนสตั๊ดในวัย 30 ปี หลังจากย้ายมาลงเล่นให้แมนฯ ซิตี้ และมีปัญหาบาดเจ็บเรื้อรังที่หัวเข่า (ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจ จะมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป)

หลังอำลาวงการลูกหนัง ฮาลันด์ผู้พ่อกลับไปทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเกิด ทำให้ลูกชายคนเล็กแทนที่จะได้ตามพ่อเข้าสนามบอลทุกวัน ต้องหันมาวิ่งเล่นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในเมืองเล็ก ๆ ของนอร์เวย์ที่ชื่อว่า ‘บริน’ (Bryne)

โชคดีที่ยุคนั้น บรินเพิ่งสร้างสนามฟุตบอลในร่มขึ้นมา ทำให้ชาวเมืองสามารถเข้ามาใช้ออกกำลังกายได้ทั้งปีโดยไม่ต้องกังวลว่าสภาพอากาศข้างนอกจะฝนตก แดดออก หรือเหน็บหนาว แน่นอนหนึ่งในชาวเมืองที่ว่าก็คือเจ้าหนูเออร์ลิง ฮาลันด์

“ผมเห็นเออร์ลิงครั้งแรกตอนเขาอายุ 5 ขวบ ระหว่างฝึกซ้อมอินดอร์กับกลุ่มนักเตะรุ่นพี่ที่อายุมากกว่าเขา 1 ปี” อัลฟ์ - อิงเว เบิร์นต์เซ่น โค้ชอะคาเดมีของสโมสร ‘บริน เอฟเค’ ในดิวิชั่น 2 ของนอร์เวย์ บอกกับ Goal สื่อฟุตบอลชื่อดัง

“เขาสัมผัสบอลแค่ 2 ครั้งแรกก็เป็นประตู เขายอดเยี่ยมมากตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงสนาม ทั้งที่ไม่เคยเล่นให้ทีมมาก่อน”

แม้จะฉายแววนักเตะอัจฉริยะตั้งแต่เล็กและเริ่มเป็นเด็กฝึกของบริน เอฟเค ซึ่งเป็นสโมสรเดิมของบิดา แต่ฮาลันด์ผู้พ่อก็ไม่เคยเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ เขาปล่อยให้ลูกชายได้เล่นฟุตบอลและฝึกซ้อมอย่างอิสระตามแนวทางของอะคาเดมี จนกระทั่งอายุประมาณ 14 - 15 ปี เมื่อเริ่มติดชุดใหญ่ เออร์ลิงเดินไปบอกพ่อว่าอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จากนั้นทั้งคู่จึงเริ่มคุยกันจริงจังถึงเส้นทางชีวิตเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อัลฟี ฮาลันด์ (พ่อของฮาลันด์) VS รอย คีน คู่แค้นฝังรากแห่งลูกหนังเมืองแมนเชสเตอร์ที่ไม่มีการปรองดอง

 

ก้าวทีละก้าวอย่างไม่รีบร้อน

การเติบโตของเออร์ลิง ฮาลันด์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและมาจากการคิดวิเคราะห์เส้นทางอย่างละเอียดถี่ถ้วน สังเกตได้จากการคัดเลือกทีมต้นสังกัด ซึ่งเป็นสโมสรที่ใหญ่และอยู่ในลีกที่มีความท้าทายมากขึ้นไปทีละขั้น

หลังเริ่มต้นกับ ‘บริน เอฟเค’ ในดิวิชั่น 2 พออายุ 16 ย่าง 17 ปี เออร์ลิงย้ายไปร่วมทีม ‘โมลด์ เอฟเค’ (Molde FK) ในลีกสูงสุดของนอร์เวย์ ซึ่งมีโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ อดีตศูนย์หน้าทีมชาตินอร์เวย์เป็นกุนซือคุมทัพในเวลานั้น

พอร่างกายเติบใหญ่เป็นหนุ่มเต็มวัยอายุ 18 ปี ฮาลันด์ จูเนียร์ตัดสินใจเริ่มออกไปหาความท้าทายใหม่ในต่างแดน ด้วยการย้ายจาก ‘โมลด์’ ไป ‘เรดบูล ซัลบวร์ก’ ในลีกสูงสุดของออสเตรีย ที่นั่นทำให้เขามีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ลงเล่นรายการยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก (รายการชิงแชมป์สโมสรแห่งทวีปยุโรป) ครั้งแรก

จากนั้นพออายุ 19 ปี เขาย้ายจาก ‘ซัลบวร์ก’ ไปอยู่ ‘โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์’ ทีมที่โด่งดังเรื่องการให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ในบุนเดสลีกาเยอรมัน ลีกที่มีความท้าทายเพิ่มไปอีกขั้น

และพออายุถึงวัย 21 ย่าง 22 ร่างกายพร้อมเต็มที่ เออร์ลิงจึงไปเล่นให้ ‘แมนฯ ซิตี้’ ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ สังเวียนแข้งซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความโหด ทั้งในแง่โปรแกรมการแข่งขัน และบรรยากาศการห้ำหั่นกันในสนาม

ไม่ว่าจะย้ายไปทีมไหน เออร์ลิง ฮาลันด์ ล้วนพิสูจน์ตัวเองได้อย่างรวดเร็วและสร้างสถิติใหม่ขึ้นมาท้าทายวงการลูกหนังได้ทุกที่ เส้นทางชีวิตทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพของเขากับบิดา รวมถึง ‘มิโน ไรโอลา’ เอเย่นต์นักฟุตบอลชื่อดังที่เพิ่งเสียชีวิตไปในเดือนเมษายน 2022

 

ค่าฉีกสัญญาแลกอิสรภาพ

ฮาลันด์ผู้พ่อเปิดใจในหนังสารคดี ‘Haaland: The Big Decision’ ว่า เขาและไรโอลา มีหน้าที่หลักในการเฟ้นหาสโมสรและเดินทางไปเจรจา เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกชายได้โฟกัสกับการพัฒนาร่างกายและทักษะฟุตบอลในสนามอย่างเต็มที่

หลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณาเลือกทีมต้นสังกัด นอกจากสถานะการเงิน ขนาดของสโมสร แฟนบอล และสภาพสนาม เขายังเน้นทีมที่กำลังมองหาผู้เล่นในตำแหน่งหน้าเป้าที่ลูกชายของเขาสามารถเข้าไปเติมเต็มได้

ทุกครั้งที่นั่งโต๊ะเจรจา สิ่งที่อัลฟีให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ โอกาสในการลงสนามอย่างสม่ำเสมอของเออร์ลิง ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้ฮาลันด์ จูเนียร์เติบโตได้ต่อเนื่องและเป็นอิสระ สามารถย้ายทีมได้ทุก ๆ 1 - 2 ปีในระยะหลัง มาจากเทคนิคการกำหนดค่าฉีกสัญญา (release clause) กับทีมต้นสังกัดให้ชัดเจนก่อนย้ายไปร่วมงาน

ค่าฉีกสัญญาระบุราคาซื้อขายนักเตะไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สโมสรใหม่ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อรอง แค่ยื่นข้อเสนอให้นักเตะและเอเย่นต์พิจารณา และจ่ายค่าฉีกสัญญาให้ต้นสังกัดเดิม เท่านั้นก็มีโอกาสได้เออร์ลิงไปร่วมงานทันที สิ่งนี้นอกจากจะทำให้เขามีอิสระ ยังช่วยลดปัญหาบาดหมางกับต้นสังกัด เมื่อถึงเวลาอยากย้ายไปหาความท้าทายใหม่

อัลฟีและไรโอลานำเทคนิคนี้มาใช้ตั้งแต่เออร์ลิง ย้ายไปซัลบวร์ก ส่วนค่าฉีกสัญญาที่ ‘ซิตี้’ จ่ายให้ดอร์ทมุนด์ เพื่อดึงเออร์ลิงมาอยู่เมืองแมนเชสเตอร์ อยู่ที่ 60 ล้านยูโร และหากทีมใดอยากซื้อศูนย์หน้าดาวรุ่งผู้นี้ก่อนหมดสัญญาต่อจาก ‘เรือใบสีฟ้า’ ทีมนั้นต้องจ่ายค่าฉีกสัญญา 200 ล้านยูโร พร้อมข้อแม้ต่อท้ายว่า ต้องไม่ใช่ทีมในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

ทัศนคติที่ทำให้ไปถึงดวงดาว

“ผมไม่เคยย้ายไปร่วมสโมสรไหนเพราะผู้จัดการทีม ผู้จัดการสามารถโดนปลดได้ใน 3 สัปดาห์ถัดมา ผมคงนั่งหงอยตรงนั้นและคิดว่า ‘คราวนี้จะเอายังไง’ ดังนั้น ผมจึงไม่เคยเลือกสโมสรเพราะผู้จัดการทีม”

เออร์ลิง ฮาลันด์ เปิดใจใน ‘Haaland: The Big Decision’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองส่วนตัวในด้านการเลือกพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก

คุณสมบัติสำคัญของเออร์ลิง ซึ่งคนรอบตัวพูดเป็นเสียงเดียวกัน นอกจากเรื่องความกล้าหาญและมั่นใจในตัวเอง ยังรวมถึงความเป็นมืออาชีพ มุ่งมั่นทุ่มเท และมีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิต

“สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเออร์ลิง ฮาลันด์ คือ ความเป็นมืออาชีพ มันสนุกที่ได้ร่วมงานกัน เขามาฝึกซ้อมทุกวันด้วยพลังงานเต็มเปี่ยม ผมชอบคนแบบนั้น” เจสซี มาร์ช อดีตกุนซือเรดบูล ซัลบวร์ก กล่าว

นอกจากความขยันหมั่นฝึกซ้อมในสนาม เมื่ออยู่นอกสนาม เออร์ลิงยังใส่ใจทุกรายละเอียดที่จะทำให้เขาพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ ไม่เว้นแม้แต่การสวมแว่นตากรองแสงสีฟ้าทุกครั้งเวลาเล่นโทรศัพท์ตอนค่ำ เพื่อไม่ให้แสงสีฟ้าไปกระทบต่อการเข้านอนในแต่ละวัน

มักซิมิเลียน โวเบอร์ เพื่อนร่วมทีมซัลบวร์กยังบอกว่า เวลาเดินทางไปแข่งขันเป็นทีมเยือน เออร์ลิงมักใช้เวลาว่างหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการอ่านบทความวิชาการแทนการร่วมวงเล่นไพ่กับนักเตะคนอื่น

“เขามีความเป็นมืออาชีพแบบสุด ๆ ระหว่างที่พวกเราล้อมวงเล่นไพ่ตอนออกไปเป็นทีมเยือน คุณจะเห็นเขาอ่านแต่บทความวิทยาศาสตร์เรื่องการยกระดับการนอนหลับและโภชนาการ เขามองหารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ”

นักเตะพันธุ์ใหม่แห่งอนาคต

นอกจากการพัฒนาตนเองไม่หยุดยั้ง ทัศนคติในการใช้ชีวิตของเออร์ลิงยังสะท้อนปรัชญาชีวิตอันโด่งดังของชาวสแกนดิเนเวียอย่าง ‘ฮุกกะ’ (Hygge) ได้ดี การยึดปรัชญานี้ทำให้เขาสามารถหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว ไม่เสียเวลาไปกังวลกับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ นานา

“มันไม่ใช่เรื่องจริง (ที่ย้ายมา ‘ซิตี้’ เพราะเงิน) แต่คุณไม่สามารถควบคุมความคิดคนอื่นได้ หรือบอกให้พวกเขาคิดกับคุณอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเป็นนักฟุตบอลมาหลายปี

“ผมไม่เคยใส่ใจกับเรื่องพวกนั้น พวกเขาก็แค่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากเชื่อเท่านั้น”

วิธีจัดการเรื่องกวนใจด้วยทัศนคติเชิงบวกและใบหน้ายิ้มแย้ม ทำให้เออร์ลิงเป็นที่รักของคนรอบตัว สิ่งเหล่านี้เมื่อผนวกกับความสามารถอันน่าเหลือเชื่อในเชิงลูกหนัง มันทำให้เขากลายเป็นนักเตะในฝันของหลายสโมสร และอาจกลายเป็นพิมพ์เขียวของนักเตะศูนย์หน้าที่ดียุคต่อไปในอนาคต

“เขากำลังนิยามโปรไฟล์ใหม่” เปเยกรีโน มาตารัซโซ เทรนเนอร์ของทีมสตุ๊ตการ์ท ในศึกบุนเดสลีกาเยอรมัน บอกกับนิวยอร์กไทมส์ (New York Times)

“โลกนี้มีนักเตะหลายคนที่บุคลิกลักษณะคล้ายกัน แต่เขาเป็นผู้เล่นเกมรุกประเภทที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน เขาคือแม่พิมพ์ของนักเตะยุคใหม่”

แม่พิมพ์ที่ว่า คือ ความสามารถในการรวมจุดเด่นทั้งหลายมาไว้ในคน ๆ เดียว ไม่ว่าจะเป็นพละกำลังความแข็งแรง รูปร่างสูงใหญ่ ความรวดเร็วว่องไวและความยืดหยุ่นของร่างกายที่ดี ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบและลูกเล่นอันหลากหลาย ทั้งหมดนี้หลายอย่างเคยเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่เออร์ลิง ฮาลันด์ สามารถนำมันมารวมไว้ในตัวเขาเพียงคนเดียว

“คุณหยุดเขาไม่ได้หรอก นั่นคือสิ่งที่ทำให้นักเตะเวิลด์คลาสอยู่ระดับเวิลด์คลาส คุณทำได้ก็แค่ทำให้มันเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับเขาเท่านั้น”

มาตารัซโซ กล่าวทิ้งท้ายเป็นแนวทางในการรับมือกับศูนย์หน้าพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ ‘เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์’

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

The Athletic

Goal

New York Times

YouTube

BBC