Post on 16/02/2019
เทียม โชควัฒนา: เจ้าสัวแสนล้าน เริ่มที่จับกัง ก่อนที่คนทั้งประเทศจะรู้จัก “มาม่า”

“เตี่ยของเจ้าสัวเทียมเคยบอกว่า หากลูกหลานคนใด สามารถแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ ถือว่าเรียนจบปริญญา จะขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 22 บาท อันเป็นค่าเงินเดือนสูงสุดของคนทำงานจับกังพึงจะได้รับ”
กว่าที่อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง “สหพัฒน์” สยายปีกธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รับผิดชอบการกระจายสินค้า 90 แบรนด์ กว่า 600 รายการทั่วประเทศ มีสินค้าสำคัญอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ชุดชั้นใน “วาโก้” และ ผงซักฟอก “เปา” ซึ่งเป็นสินค้าที่คนไทยรู้จักกันดี
ก่อนที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจไทย จุดเริ่มต้นของ “สหพัฒน์” นั้นเริ่มต้นด้วยการเป็นห้างร้านเล็กในตรอกอาเนียเก็ง ที่ถนนทรงวาด ด้วยเงินทุนเพียง 10,000 บาท
ผู้ก่อตั้ง “สหพัฒน์” ก็คือ เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ตำนานเศรษฐีของไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเจ้าสัวก็ยังเป็นที่จดจำอยู่จนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่เรียนรู้ในโลก “จับกัง”
ก็คงเหมือนกับชาวจีนในยุคเสื่อผืนหมอนใบในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คุณพ่อหรือเตี่ยของเจ้าสัวเทียม ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อมาฝากความฝันไว้กับแผ่นดินไทย โดยอาชีพเริ่มแรกของเตี่ยก็คือ การเป็นนายห้างขายน้ำตาล นม และแป้งหมี่ ร่วมกันคุณอาภายใต้ชื่อร้าน “เปียวฮะ”
เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา เกิดในปี พ.ศ.2459 เขาเกิดมาในช่วงที่เตี่ยทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างตัว ทุกลมหายใจของเตี่ยจึงเท่ากับการทำงาน และคำสอนของเตี่ยก็ล้วนแล้วแต่ขัดเกลาให้เจ้าสัวเทียมในวัยเด็กได้เรียนรู้และเข้าใจในโลกของการค้าขาย ซึ่งเตี่ยมักจะสอนเจ้าสัวเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำมาหากิน ส่วนเรื่องการเล่นหัวแบบเด็กอื่นเป็นเรื่องที่มาทีหลัง ถ้าอยากวิ่งเล่นออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรง สู้มาแบกน้ำตาลจากโกดังไปขายให้กับลูกค้าจะดีกว่าไหม?
“จับกัง” จึงกลายเป็นอาชีพแรกของเจ้าสัวเทียมตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนในวัย 15 ปี
ในหนังสือ “เฮง ‘เทียม’ ผู้เยี่ยมวรยุทธ์” ของเสถียร จันทิมาธร (สำนักพิมพ์มติชน) ได้บรรยายหลักคิดในการใช้ชีวิตของเจ้าสัวเทียมในช่วงนั้นไว้ว่า
“เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นคนมีความรู้น้อย เมื่อออกจากโรงเรียนมาช่วยคุณพ่อค้าขายในภาวะที่ตลาดซบ จึงต้องทำงานทุกอย่างตั้งแต่พนักงานขายไปจนถึงกุลีและจับกัง
ต้องทำงานแต่ละอย่างด้วยความทรหดอดทน ทั้งยังต้องคอยปลุกปลอบให้กำลังใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยว่า
‘ในเมื่อเราเป็นคนมีความรู้น้อย เราจะต้องไม่ย่อท้อ’
‘ในเมื่อเราไม่มีพื้นฐานทางการเงิน เราก็มิอาจเกี่ยงงานในทุกหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมาย’
ดังนั้น สำหรับชีวิตในวัย 15 ของข้าพเจ้า วันทั้งวัน สัปดาห์ทั้งสัปดาห์ และเดือนทั้งเดือน จึงมีแต่การมุมานะทำงานหนัก ตรากตรำอยู่กับงาน และครุ่นคิดเสมือนเป็นการเตือนใจของตนว่า
‘วันนี้ เราทำงานอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็จะต้องทำอย่างเต็มที่’ ”
ความอดทน เหนื่อยยากจากการทำงานจึงกลายเป็นเรื่องแรกๆ ที่เจ้าสัวเทียมได้เรียนรู้ในการทำการค้าขาย ในปีแรกๆของการทำงาน เจ้าสัวเทียมทำงานหนักระดับที่ว่า ต้องทำงานทุกวัน วันละ 12 ชั่วโมง และมีวันหยุดในวันตรุษจีนเพียง 3 วันเท่านั้น
แต่เอาเข้าจริงแล้วในวันตรุษจีน เจ้าสัวเทียมก็ยังต้องมาเช็คสต็อกและเช็คบัญชีสินค้า จนเหลือวันหยุดจริงๆเพียง 1 วัน!
เตี่ยของเจ้าสัวเทียมเคยบอกว่า หากลูกหลานคนใด สามารถแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ ถือว่าเรียนจบปริญญา จะขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 22 บาท อันเป็นค่าเงินเดือนสูงสุดของคนทำงานจับกังพึงจะได้รับ
ในบรรดาลูกๆหลานๆ มีเจ้าสัวเทียมเพียงคนเดียวที่รับปริญญาชีวิตใบนี้จากการแบกน้ำตาลหนักถึง 100 กิโลกรัม
เป็นปริญญาที่รับรองว่า แม้ว่าเจ้าสัวจะไม่ได้เรียนในระบบการศึกษา แต่ปริญญาชีวิตใบนี้ก็มีคุณค่าต่อเขาไม่แพ้กัน
…
นอกจากการทำงานจับกังแล้ว ในการทำงานที่ร้าน “เปียวฮะ” ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้เจ้าสัวเทียมได้เรียนรู้ อย่างเช่น จังหวะการขึ้นลงของราคาสินค้าอย่าง น้ำตาล, นม และแป้งหมี่ เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจทำธุรกิจของเจ้าสัวเองในอนาคตอย่างมากมาย
กลยุทธ์ทางการค้าขายหนึ่งที่เจ้าสัวเทียมได้สร้างขึ้นมาจากการสังเกตลูกค้าในร้านก็คือ ก่อนหน้านี้ รูปแบบการค้าขายในร้านจะเป็นการรอลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อสินค้าในร้าน แต่เจ้าสัวกลับเสนอให้ทางร้าน ออกมาหาลูกค้าเองบ้าง ซึ่งความคิดนี้ส่งผลดีต่อธุรกิจของร้าน “เปียวฮะ” เป็นอย่างมาก และทำให้เห็นแววของการทำธุรกิจใน “เชิงรุก” ของเจ้าสัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากที่ทำงานในเวลากลางวันอย่างเหน็ดเหนื่อย ด้วยนิสัยใฝ่รู้ ในตอนกลางคืน เจ้าสัวก็ยังไปเรียนแบบกวดวิชาเพิ่มเติม ซึ่งมีหลักการสอนหนึ่งที่คุณครูได้สอนและเจ้าสัวนำมาใช้ในการทำงานและสอนพนักงานเสมอมา
หลักการที่ว่าคือหลักการ “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” เป็นหลักการที่ใช้พิจารณางานที่ทำ ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้คือ
1.งานนั้นๆ จะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปภายในเวลาอันรวด “เร็ว” ได้หรือไม่?
2.หรือว่างานนั้นๆทำแล้วเสร็จ “ช้า”?
3.งานนั้นๆ เป็นงานที่ “หนัก” หรือไม่?
3.งานนั้นๆ เป็นงานที่ “เบา” หรือไม่?
เมื่อพิจารณาตามหลักเหล่านี้แล้ว งานจะสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของหลักการพิจารณางานแบบ “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” งานใดที่เร็วไป ช้าไป หนักไป เบาไป ต้องเลือกใช้คนให้เหมาะกับสถานการณ์
…
ด้วยความที่เตี่ยของเจ้าสัวเทียมและคุณอา มีความคิดเห็นทางการทำงานที่ไม่ตรงกัน เตี่ยของเจ้าสัวได้แยกตัวออกมาค้าขายเองโดยตั้งร้าน “เฮียบฮะ” ขึ้นมาเพื่อขายนม, น้ำตาล, ข้าวสาร, ถั่ว และแป้งหมี่ เป็นสินค้าหลัก ซึ่งเจ้าสัวได้แยกออกมาค้าขายอยู่กับร้านของพ่อด้วย
แต่ใช่ว่าหนทางของร้าน “เฮียบฮะ” จะเต็มไปด้วยความราบรื่น ในจังหวะที่ร้านดำเนินกิจการ เป็นช่วงสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2484-2485) ทำให้การค้าขายเกิดความฝืดเคือง ห้างโอเรียนเต็ลสโตร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ “เฮียบฮะ” ทำการค้าขายด้วย ได้ออกคำสั่งให้ “เฮียบฮะ” ขนสินค้าพวกนม, น้ำตาล และแป้งหมี่ ออกจากโกดังให้หมดภายใน 3 วัน
ปัญหาก็คือ ทางร้าน “เฮียบฮะ” จะเก็บสินค้าเหล่านี้ไว้ที่ไหน? แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ จะมีเงินจากไหนไปชำระสินค้า?
เจ้าสัวเทียม เลยใช้วิธีการออกเช็คโดยไม่มีเงินให้นายห้างชาวเดนมาร์กเจ้าของห้างโอเรียนเต็ลสโตร์ไปก่อน ซึ่งเมื่อนายห้างชาวเดนมาร์กทราบเรื่องก็รู้สึกไม่พอใจ แต่เจ้าสัวเทียมอธิบายความจำเป็นที่เกิดขึ้นให้นายห้างฟัง ซึ่งด้วยความที่ทำธุรกิจกันด้วยความซื่อสัตย์มาสิบกว่าปี ทำให้นายห้างชาวเดนมาร์กเข้าใจเหตุผลของเจ้าสัวเทียม จนยอมรับข้อเสนอที่ว่า เจ้าสัวเทียมจะทยอยชำระค่าสินค้าจนครบ ทาง “เฮียบฮะ” จึงจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ได้สำเร็จ
เมื่อทำธุรกิจได้ระยะหนึ่ง เจ้าสัวเทียมเริ่มมองเห็นว่า สินค้าที่ร้าน “เฮียบฮะ” ทำธุรกิจค้าขายอยู่ มีความผันผวนสูงและบางครั้งก็เสี่ยงที่จะขาดทุน อย่างเช่น น้ำตาล มีราคาขึ้นลงในตลาดที่ทางร้านควบคุมไม่ได้ เจ้าสัวเทียมจึงคิดหาทางออกด้วยการแยกตัวออกมาเปิดร้าน “เฮียบ เซ่ง เซียง” ที่ตรอกอาเนียเก็ง ขึ้นมาในปี พ.ศ.2485 ด้วยทุนตั้งต้น 10,000 บาท
นี่คือจุดเริ่มต้นของ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) อาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้
…
การเรียนรู้ผ่านธุรกิจ ยาสีฟัน และผงซักฟอก
ในช่วงแรกของการทำกิจการของร้าน “เฮียบ เซ่ง เชียง” เริ่มต้นจากการขายของเบ็ดเตล็ดที่สั่งซื้อจากฮ่องกง ด้วยความที่เป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ ทำให้การเลือกสินค้า ทำให้ “เฮียบ เซ่ง เชียง” สามารถมองหาสินค้าใหม่ๆ อย่างเช่น เสื้อยืด มานำเสนอลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
แต่ด้วยการทำงานหนักและการเรียนรู้แนวทางธุรกิจของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ทำให้ “เฮียบ เซ่ง เชียง” ผันตัวเองมาเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย จนในที่สุดมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเองตามนโยบายอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าของรัฐบาลในยุคนั้น
แม้ว่าช่วงเวลานั้น จะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2484-2485) ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม แต่สายตาของเจ้าสัวเทียมมองว่า ญี่ปุ่นกำลังก่อร่างสร้างธุรกิจในประเทศครั้งใหญ่และการคบค้าสมาคมกับทางฝั่งเอเชียซึ่งมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของตนเองมากกว่า “เฮียบ เซ่ง เชียง” จึงจับมือทำการค้าขายกับญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ.2495 ร้าน “เฮียบ เซ่ง เซียง” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด” ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และได้จับมือกับ บริษัทไลอ้อน ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อเป็นพันธมิตรการค้ากัน
ในช่วงเวลาหลังจากนี้ เราจะเห็นสินค้าอุปโภค-บริโภค ของเครือ “สหพัฒน์” ออกมามากมาย ซึ่งสินค้าบางตัวประสบความสำเร็จอย่างสูง สินค้าบางตัวประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงแรกแต่กลับล้มเหลวในเวลาต่อมา และสินค้าหลายตัวก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตาม ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านี้ ได้ถูกเจ้าสัวเทียมนำมาบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดธุรกิจในเครือ “สหพัฒน์” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
กรณีทางธุรกิจของ “สหพัฒน์” ที่น่าสนใจทั้ง ก็ได้แก่ กรณีของ ยาสีฟัน และผงซักฟอก
เริ่มต้นที่ ยาสีฟัน ทางเจ้าสัวเทียม ได้ชิมลางธุรกิจนี้ด้วยการนำเข้ายาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” ในปี พ.ศ.2509 จากญี่ปุ่น แต่กำแพงที่ท้าทายในธุรกิจนี้มี 2 ประการก็คือ 1.การเป็นเจ้าตลาดโลกของยาสีฟัน “คอลเกต” 2.ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูไม่ค่อยจะดีเพราะถูกมองว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ
“สหพัฒน์” ได้แก้จุดอ่อนในเรื่องนี้ด้วยการทำตลาดอย่างคึกโครม มีการนำ “อาภัสรา หงสกุล” ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลมาเป็นพรีเซนเตอร์ จัดให้มีการชิงโชค, แจกของแถม และนำเสนอสินค้าแบบเคาะประตูบ้าน ทั้งยังมีจุดขายที่เหนือคู่แข่งในเชิงปริมาณอย่าง “ราคาถูกกว่า กล่องใหญ่กว่า และน้ำหนักมากกว่า”
แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้ในปีแรก ยาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่จุดอ่อนของผลิตภัณฑ์นี้คือรูปลักษณ์ของสินค้าที่ยังเปลี่ยนความคิดผู้บริโภคไม่ได้อยู่ดีว่ายาสีฟันจากญี่ปุ่นดูจะด้อยกว่า และเมื่อมีสงครามการทำโปรโมชั่นในการขายแข่งขัน ค่ายคู่แข่งที่มีสายป่านมากกว่า จึงมีแต้มต่อในการทำธุรกิจในระยะยาว ส่งผลให้ยาสีฟัน “ไวท์ไลอ้อน” ต้องหายตัวไปจากตลาดในที่สุด
แม้ว่าจะหายตัวไป แต่การเรียนรู้จากข้อด้อยในอดีต ทำให้ “สหพัฒน์” ได้ปรับจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ยาสีฟันของตนที่ไม่สามารถสู้ตลาดระดับวงกว้างกับ “คอลเกต” ได้ แต่ตลาดเฉพาะกลุ่ม “สหพัฒน์” ได้ปั้นแบรนด์ยาสีฟันอย่าง “ซิสเท็มม่า” ให้เป็นที่รู้จักอย่างในทุกวันนี้ได้
คราวนี้มาถึงกรณีของ ผงซักฟอก บ้าง…
ในธุรกิจผงซักฟอก คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการเรียนรู้ทางธุรกิจที่ชัดเจนมากๆของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา
แรกเริ่มเดิมที ทาง “สหพัฒน์” ได้เปิดตัวผงซักฟอกยี่ห้อ “ท้อป” ในปี พ.ศ. 2504 อันเป็นผงซักฟอกจากญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกได้รับความนิยมจนทำให้เจ้าตลาดที่มีอยู่ก่อนอย่างผงซักฟอก “แฟ้บ” และ “บรีส” รู้สึกหนาวๆร้อนๆ ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดของเครือ “สหพัฒน์” ในตอนนั้นยังเป็นเรื่องของการลดราคาผงซักฟอกลง ซึ่งถูกอกถูกใจลูกค้าในระยะแรก
แต่จุดอ่อนของผงซักฟอก จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ คือ วัฒนธรรมการซักผ้าที่แตกต่างกัน ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้เครื่องซักผ้าในการซักและคนญี่ปุ่นไม่ค่อยชอบกลิ่นหอมจากผงซักฟอก ทำให้ “ท้อป” มีฟองน้อยและไม่มีกลิ่น ซึ่งขัดกับความนิยมของคนไทยในช่วงนั้น ที่นิยมผงซักฟอกกลิ่นหอมและมีฟองเยอะ
เมื่อช่วงโปรโมชั่นทางการตลาดหมด ความจริงนี้จึงปรากฏขึ้นมา ทำให้ “ท้อป” เสื่อมความนิยมอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยตรงนี้ “สหพัฒน์” ได้นำมาปรับปรุงและส่งผงซักฟอกยี่ห้อใหม่เข้าสู่ตลาด ในเวลาต่อมาผงซักฟอกยี่ห้อกลายเป็นสินค้าขายดีในเครือสหพัฒน์จนถึงทุกวันนี้ ผงซักฟอกยี่ห้อดังกล่าวมีชื่อว่า “เปาบุ้นจิ้น” หรือ “เปา” นั่นเอง
ผงซักฟอก “เปาบุ้นจิ้น” คือความพยายามของเจ้าสัวเทียม ที่จะทำให้สินค้าตัวนี้เข้าสู่ตลาดวงกว้างให้จงได้ด้วยวิธีที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการแจกกะละมัง, การโฆษณาทางวิทยุทรานซิสเตอร์ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย, การเคาะประตูแนะนำสินค้าหน้าบ้าน ไปจนถึงการจัดดิสเพลย์โดยนำกล่องผงซักฟอกมาเรียงตกแต่งหน้าร้านอย่างสวยงาม
แต่สิ่งที่ทำให้ “เปาบุ้นจิ้น” ประสบความสำเร็จคือการสร้างแบรนด์ให้มีภาพสินค้า “คุณภาพซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม”
เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ได้ซื้อภาพยนตร์ชุด “เปาบุ้นจิ้น” มาจากประเทศไต้หวัน เพื่อนำมาฉายเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นกับคนไทย โดยออกอากาศทางช่อง 3
ปรากฏว่า ภาพยนตร์ชุด “เปาบุ้นจิ้น” ได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าสัวเทียม กำลังมองว่า จะหาผงซักฟอกยี่ห้อใหม่มาแทนที่ “ท้อป” ในตลาด
คำตอบจึงมาลงตัวที่ ผงซักฟอกยี่ห้อ “เปาบุ้นจิ้น” ที่มีหน้าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของท่านเปาบุ้นจิ้นเด่นหราอยู่บนกล่อง ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่แปลกแหวกแนวในช่วงนั้น
แต่ผลที่ออกมากลับดีเกินคาด หลังจากที่ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ถูกปล่อยออกมาในปี พ.ศ.2519 ด้วยราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่น พร้อมด้วยภาพลักษณ์สินค้าที่ว่า “คุณซื่อสัตย์ ราคายุติธรรม” จึงทำให้ “เปาบุ้นจิ้น” ประสบความสำเร็จในตลาดผงซักฟอก ชิงส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาที่ไม่นานนัก
การเรียนรู้จากการทำตลาดแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนมาถึงคำตอบที่ว่า ต้องสร้างตัวสินค้าให้เข้มแข็งก่อน ทำให้เรารู้จักกับผงซักฟอก “เปาบุ้นจิ้น” หรือผงซักฟอก “เปา” มาจนถึงวันนี้ในที่สุด
…
มาม่า…แม่ให้มา
แม้ว่าชีวิตของเจ้าสัวเทียมจะไม่ได้สำเร็จรูปแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลวกเส้นเพียงไม่กี่นาทีก็ประสบความสำเร็จได้ แต่การทำงานอย่างหนัก ฝึกฝนเรียนรู้ในชีวิตจริงแล้วมองหาโอกาสเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจของตนอยู่เสมอ ทำให้เจ้าสัวสามารถสร้างสินค้าคู่บุญของ “สหพัฒน์” อย่าง “มาม่า” ขึ้นมาได้ในที่สุด
ปัจจุบัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” มีส่วนแบ่งทางการตลาดในแต่ละปีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสินค้าที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคชาวไทยอย่างสูง ในระดับที่ว่า หากราคาของ “มาม่า” เพิ่มขึ้นเพียงบาทเดียว ก็สามารถขึ้นเป็นข่าวหน้า 1 ทางหนังสือพิมพ์ได้ทันที
จุดกำเนิดของมาม่า เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันได้เปิดขึ้นมาในประเทศไทย โดยมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “โคคา”, “ไวไว” และ “ยำยำ” ออกมาก่อนแล้ว
แม้ว่า “มาม่า” จะถือกำเนิดตามมาทีหลัง แต่บะหมีกึ่งสำเร็จรูปเจ้านี้กลับเป็นสินค้าที่เข้มแข็งเพราะชื่อของมัน
เบื้องหลังของชื่อนี้มาจากคมความคิดของเจ้าสัวเทียม โชควัฒนา ที่อยากได้ชื่อง่ายๆ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงง่ายๆ เจ้าสัวจึงคิดชื่อ “มาม่า” ซึ่งแปลว่า แม่ จนผู้คนเรียกกันจนติดปากในที่สุด
ชื่อ “มาม่า” จึงกลายเป็นชื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับคนทั่วไป และเข้าถึงได้ง่าย บวกกับกลยุทธทางการตลาดในการนำ “มาม่า” ไปให้ผู้คนในวงกว้างเป็นที่รู้จัก ด้วยการเปิดบูทให้ชิมมาม่าฟรีซึ่งเป็นของใหม่มากในยุคนั้น อีกทั้งการชูภาพบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สามารถทำทานเองได้สะดวกเพื่อแข่งกับร้านบะหมี่เกี๊ยวข้างถนน
ทำให้ “มาม่า” กลายเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการในเครือ “สหพัฒนพิบูล” มาจนถึงทุกวันนี้
และเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นบทพิสูจน์การทำงานหนักและการเรียนอยู่ตลอดชีวิตของเศรษฐีไทยระดับตำนานที่มีชื่อว่า “เทียม โชควัฒนา”
ภาพประกอบ : กฤติเดช อัครบุตร