13 พ.ย. 2562 | 12:55 น.
ลิเวอร์พูล ทีมฟุตบอลแห่งเกาะอังกฤษมีฐานแฟนบอลในเมืองไทยอย่างเหนียวแน่น หนึ่งในนั้นคือ พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เป็นคนรักฟุตบอลในระดับที่บอกใคร ๆ ได้เต็มปากว่า “ผมมาอยู่จุดนี้ได้เพราะฟุตบอล” ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของ The People เราได้เชิญ พริษฐ์ มาทอล์กในหัวข้อเรื่อง "ความสำเร็จของลิเวอร์พูล สอนอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทย" กับ 6 คุณสมบัติของลิเวอร์พูล ที่สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองในฝันของเราควรจะเป็นแบบอย่างอย่างไร “วันนี้เรามางานของ The People ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อโซเชียลในประเทศไทย ผมก็ยอมรับว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่เสพข่าวส่วนมากผ่านสื่อโซเชียล เขาบอกว่าสื่อโซเชียลเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรามหาศาล เรียกว่าสื่อโซเชียลจะรู้จักตัวเราดีกว่าแฟนเรา หรือว่าภรรยาเราด้วยซ้ำ และผมเชื่อว่าทาง The People เอง ก็น่าจะรู้จักผมดีกว่าภรรยาผม หลัก ๆ เพราะว่าผมยังไม่มีภรรยา (เสียงหัวเราะ) “แต่ว่าตอนที่ The People มาสัมภาษณ์ผมครั้งล่าสุด อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเลื่อนดู news feed ของผม และแอบเห็นว่าเวลาเปิดเฟซบุ๊กผม มันจะมีแค่ 2 วิดีโอ หรือวิดีโอ 2 หมวดหมู่ที่ปรากฏขึ้นมาคือ วิดีโอการเมืองกับวิดีโอฟุตบอล ผมก็เลยถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเมืองและฟุตบอล และโจทย์ที่ผมได้รับคือ ถ้าต้องเลือกระหว่างลิเวอร์พูลชนะถ้วย Premier League กับผมได้เป็น ส.ส. จะเลือกอะไร ผมก็ตอบกลับไปว่าทำไมต้องบังคับให้ผมเลือก ทำไมทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ผลปรากฏออกมาว่า ไม่ได้สักอย่างเลยครับ (เสียงหัวเราะ) อย่าท้าทายคนตั้งคำถาม “ทีนี้วันนี้ผมก็เลยตั้งหัวข้อที่ว่าเราเรียนรู้อะไร หรือว่าความสำเร็จของลิเวอร์พูล สอนอะไรเราเกี่ยวกับการเมืองไทย พอพูดอย่างนี้กับคนที่ไม่ใช่แฟนลิเวอร์พูลปั๊บ อะไรสำเร็จแล้วหรือ ยังไม่ได้แชมป์สักที ผมก็จะตอบกลับไปว่าแล้วการเมืองไทยสำเร็จแล้วเหรอครับ “เรามาดูการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศทั่วโลก เขามีการจัดลำดับเรียงกัน 167 ประเทศทั่วโลก ให้ทุกท่านทายว่าประเทศไทยอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ครับ ประมาณ 60 กว่าค่อนไปท้าย ๆ คำตอบคือ 106 นะครับ ประมาณกลางตาราง หรือถ้าเทียบกับตาราง Premier League ประมาณที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่นะครับ (เสียงหัวเราะและปรบมือ) “พอเราเทียบการเมืองกับฟุตบอล ผมมองว่าพรรคการเมืองก็เปรียบเสมือนกับทีมบอล ยิ่งมีพรรคมากขึ้น มาแข่งกันมากขึ้น ยิ่งมีทีมมาแข่งกันมากขึ้น สุดท้ายคนได้ผลประโยชน์ก็คือคนดู ยิ่งถ้าเกิดว่าพรรคหรือว่าทีมฟุตบอลมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นสถาบันมากขึ้น คนรับผลประโยชน์ก็คือคนดู ท้ายสุดแล้วถ้าเราหาพรรคในดวงใจเราไม่ได้ หรือเราหาทีมในดวงใจเราไม่ได้ ท้ายสุดแล้วเราอาจจะไม่เปิดดูบอล เราอาจจะไม่สนใจการเมือง เพราะงั้นนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมจึงอยากจะบอกว่าสำหรับผมแล้ว พรรคการเมืองในฝันของผมมีหลาย ๆ อย่างครับที่คล้ายคลึงกับองค์ประกอบของลิเวอร์พูล ภายใต้การนำทีมของ Jürgen Klopp ปัจจุบัน “ในเมื่อเราเพิ่งฉลอง 6 แชมป์มา (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก) ผมก็จะให้ 6 เหตุผลหรือว่า 6 คุณสมบัติของลิเวอร์พูล ที่ผมคิดว่าสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองในฝันของเราควรจะเป็นแบบอย่างอย่างไร “อย่างแรกนะครับคือ ทีมลิเวอร์พูลภายใต้การนำทีมของ Jürgen Klopp ทีมที่เรียกได้ว่ามีอุดมการณ์หรือมีตัวตนที่ชัดเจน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเตะคนไหน ท้ายสุดแล้วทุกคนต้องยอมรับกับแนวการเล่นที่เรียกว่า Gegenpressing ก็คือพอเสียบอลปุ๊บ สำหรับใครที่ไม่ได้ดูบอล เสียบอลปุ๊บ อย่างแรกที่ทำคือไม่ใช่มาปักหลัก พยายามเอาบอลคืนมา “จะเห็นได้ว่าไม่ว่านักเตะจะมีความสามารถแค่ไหน ถ้าเกิดนักเตะไม่สามารถทำงานภายใต้อุดมการณ์นี้ได้ ไม่มีความเชื่อว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการนำมาสู่ชัยชนะ ท้ายสุดแล้ว Jürgen Klopp ก็ไม่รับเขาเข้ามาในทีม ยกตัวอย่างเช่น Christian Benteke ต้องย้ายออกไป เพราะว่าเขาไม่สามารถเล่นให้เข้ากับระบบของ Klopp ได้ “พอตัดมาที่การเมืองนะครับ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากพรรคการเมือง เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องเห็นด้วยกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งตลอดไป แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราคาดหวังคือทุกพรรคต้องยืนหยัดบนอุดมการณ์อะไรสักอย่าง มีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยว่าท้ายสุดแล้วเขาต้องการนำพาประเทศไปในทิศทางไหน ถ้ามีวิกฤตต่าง ๆ เข้ามา แนวทางการแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร รัฐบาลเข้ามาคุมเป็นหลักหรือว่าให้เอกชนขับเคลื่อน แต่ปัจจุบันถ้าเรามองไปในประเทศไทย ผมยังไม่สามารถกล้าพูดได้นะครับว่าทุกพรรคมีตัวตนที่ชัดเจนว่าอุดมการณ์คืออะไร “องค์ประกอบที่สองของลิเวอร์พูล ภายใต้ Jürgen Klopp ไม่มีนักเตะคนไหนใหญ่กว่าสโมสร ผมไปถามแฟนลิเวอร์พูลปัจจุบันว่า คิดว่านักเตะคนไหนสำคัญที่สุดของทีม คำตอบจะแตกต่างกันไปมาก อันนี้แสดงให้เห็นว่าท้ายสุดแล้ว เราต้องการเห็นทีมฟุตบอลเหมือนกับพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ที่ท้ายสุดแล้วเราไม่สามารถชี้ได้ว่ามีใครเป็นเจ้าของ ตัดภาพมาที่การเมืองไทยผมก็ยังไม่แน่ใจว่าปัจจุบันพรรคการเมืองทุกพรรค เป็นพรรคที่เรากล้าพูดว่าไม่มีเจ้าของ “องค์ประกอบที่สามคือ Jürgen Klopp คัดเลือกนักเตะที่จะมาลง 11 ตัวจริง บนพื้นฐานของอุดมการณ์ที่เรียกว่า Meritocracy ภาษาไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ความสามารถนิยม อย่างแรกคือทุกตำแหน่งถูกคัดเลือกบนพื้นฐานความสามารถ ไม่มีแล้วเหมือนในยุค Brendon Rodgers นะครับที่เอา Enrique มาเล่นเป็นเซ็นเตอร์แบ็ก เอา Firmino ไปเล่นแบ็กขวา เอา Sterling มาเล่นแบ็กขวา ท้ายสุดแล้วทุกคนถูกคัดเลือกบนพื้นฐานของความสามารถ “แต่นอกเหนือจากความสามารถแล้ว ทีมของ Jürgen Klopp มีความหลากหลายนะครับ มีนักเตะมุสลิมถึง 4 คนในรายชื่อทีม 25 คน ในรายชื่อ 11 ตัวจริงในฤดูกาลที่แล้ว มีคนเด็กถึงอายุ 19-20 ปี อย่าง Trent Alexander-Arnold เล่นคู่กับคนมากประสบการณ์อย่าง James Milner ที่อายุ 34 แต่ภายใต้กรอบความหลากหลายตรงนี้ ทุกคนถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการที่ James Milner ออกมาบอกว่า ในเมื่อผมอายุมากแล้ว วิ่งไม่เท่าคนอื่นครับ ไม่มีการที่ Trent Alexander-Arnold ออกมาบอกว่าในเมื่อผมเล่นยังไม่ถึง 1 ปี การตัดสินใจผมอาจจะดีไม่เท่า ทุกอย่างถูกตัดสินบนพื้นฐานของความสามารถ “เช่นเดียวกันผมคิดว่าหลักการตรงนี้ ก็เป็นอะไรที่เราอยากเห็นถูกใช้ในการบริหารประเทศ เราอยากเห็นคณะรัฐมนตรีเราเหมือนกับที่แคนาดาเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ที่มี 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชาย 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิง 50 เปอร์เซ็นต์ ความจริงควรจะมีกลุ่มเพศหลากหลายเข้าไปด้วยนะครับ เราเห็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหมอ รัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรเป็นอดีตชาวนา เราเห็นรัฐมนตรีกระทรวงการกีฬาและคนพิการเป็นนักกีฬาพาราลิมปิก อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราอยากนำการเมืองไทยไปสู่นะครับ “ประเด็นที่สี่นั้น คือการนำทีมของ Jürgen Klopp นั้นถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูล มีทีม data analytic ที่วิเคราะห์ตลอดครับว่า ควรจะซื้อไม่ซื้อใคร รวมถึงการตัดสินใจที่จะซื้อ Mohammed Salah ทั้งที่ฤดูกาลก่อนที่เขามาจำนวนประตูที่เขายิงเข้า หรือประตูที่เขา assist ไม่สูงเท่าที่ควร เคยมีคนไปสัมภาษณ์ Jürgen Klopp ว่าเขารู้สึกยังไงที่มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลมาบงการเขาว่าควรจะซื้อนักเตะคนไหน “เขาตอบกลับไปว่าถ้าไม่มีทีมนี้ ก็ไม่มีเขาอยู่ที่ลิเวอร์พูลวันนี้ เพราะว่าท้ายสุดแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ก็นำไปสู่การที่ลิเวอร์พูลนั้น approach แล้วก็ดึงตัว Jürgen Klopp มา ทั้ง ๆ ที่ความจริงฤดูกาลก่อนที่เขาจะมา เขานำพาทีม Borussia Dortmund จบแค่อันดับ 7 ใน Bundesliga ผมว่าทางข้อมูลที่วิเคราะห์กันมาเขาเล็งเห็นว่ามันมาจากความโชคร้าย แล้วถ้าเกิดเราตัดเรื่องโชคออกไป Jürgen Klopp ควรจะอยู่ที่อันดับที่ 2 ในตาราง “ปัจจัยที่ห้าก่อนสุดท้ายนะครับ ที่ผมคิดว่าลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินอย่างเดียว แน่นอน ลิเวอร์พูลลงทุนไปเยอะมากกับการซื้อนักเตะอย่าง Virgil van Dijk อย่าง Alisson Becker แต่ถ้าเราเอารายจ่ายหรือว่าเงินที่เขาซื้อนักเตะ มาลบกับรายได้ที่เขาได้จากการขายนักเตะใน 20 ทีม Premier League ลิเวอร์พูล อยู่อันดับที่ 14 ครั้งหนึ่งใกล้เคียงกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปัจจุบันนะครับในตาราง “แต่ก็แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเมื่อมีโซเชียลมีเดียเข้ามา เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามา มันเป็นไปได้แล้วที่เราจะสามารถมีพรรคการเมืองที่สามารถคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการระดมทุน คิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการลดค่าใช้จ่าย ค่าธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อให้การเมืองนั้นเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่คนรวย “แล้วก็ปัจจัยสุดท้ายอย่างที่หกคือ ผมคิดว่าสิ่งที่ลิเวอร์พูลภายใต้ Jürgen Klopp มีแน่นอนคือ หัวใจนักสู้ ถ้าเราไปดูสถิติการยิงประตูในนาทีสุดท้าย เราจะเห็นว่า ลิเวอร์พูลในช่วง Premier League ยิงมากสุดคือ 35 ประตู อันดับ 2 คือ Arsenal อยู่ที่ 25 ประตูเท่านั้น พอแปรรูปมันเป็นเรื่องการเมือง อันนี้เป็นบทเรียนที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับตัวผมตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมเติบโตเป็นเด็ก ผมมีความฝันอยากจะทำงานการเมืองมาตลอดเพื่อมาพัฒนาประเทศ ผมมีความเชื่อมาตลอดนะครับว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความรู้ความสามารถ ผมก็ขวนขวายเรียนมาทางด้านนี้ เก็บสะสมประสบการณ์ทำงานมาด้านนี้ “แต่พอกระโดดเข้ามาทำงานการเมืองจริง ๆ ผมรู้สึกว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือความเป็นนักสู้ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว ในงานการเมืองเป็นงานที่เหนื่อย เป็นงานที่ต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ปัญหาประชาชนไม่มีวันหยุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่ทันได้อ้าปากก็มีคนครึ่งประเทศที่พร้อมจะเกลียดเรา พร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์เรา บางทีก็ไม่ได้มาด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความเชื่อ มีความเป็นนักสู้อย่างแท้จริงว่าเราสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เรามีภาพที่ชัดว่าเราจะเปลี่ยนประเทศไปในทิศทางไหน เราจะท้อเร็วมาก “เพราะงั้นทั้งหมดนี้คือ 6 องค์ประกอบที่ทำให้ผมคิดว่าผมอยากเห็นพรรคการเมืองในประเทศ มีความเหมือนลิเวอร์พูลภายใต้ Jürgen Klopp แต่ผมขอทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ครับ เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่ทีมฟุตบอลควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะมากความสามารถแค่ไหนก็คือกติกาฟุตบอล กติกาฟุตบอลก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มีการนำเสนอเรื่องการล้ำหน้า เอา VR เทคโนโลยีมาใช้ แต่สิ่งหนึ่งที่กติกาฟุตบอลมีมาตลอดที่ทำให้ทีมฟุตบอลสามารถแข่งขันร่วมกันได้ คือกติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม กติกาที่ทำให้ทีมฟุตบอลทุกทีมแข่งกันแล้วมีโอกาสที่จะชนะอย่างเท่าเทียมกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถ “แต่พอเราตัดภาพมาที่การเมืองไทย กติกาการเมืองไทยในรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกเขียนมา เพื่อให้พรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างเป็นกลางและอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นการถูกเขียนที่ให้เปรียบฝ่ายการเมืองใดฝ่ายการเมืองหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบกับการเตะบอล มันเหมือนกับว่าฝ่ายหนึ่งเตะไปแล้วก็เริ่มต้นด้วยการตามหลัง 3-0 ตัวอย่างที่ลิเวอร์พูลได้แสดงให้เห็นแล้วนะครับว่าการตามหลัง 3-0 ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร ไม่ได้เป็นอุปสรรคในวันที่ 25 พฤษภาคม 2005 ในอิสตันบูลตอนเจอ A.C. Milan และก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในวันที่ 8 พฤษภาคม 2019 ตอนเจอ Barcelona ที่ Anfield เพราะฉะนั้นนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมถึงอยากเห็นพรรคการเมืองมีความเหมือนทีมลิเวอร์พูลภายใต้ Jürgen Klopp มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยนั้นก้าวไปข้างหน้า ขอบคุณครับ” ... *ทอล์กนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานครบรอบ 1 ปี The People: Do You Hear THE PEOPLE Talk? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องคริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท