26 พ.ค. 2565 | 16:00 น.
เป็นอีกครั้งที่โศกนาฏกรรมที่น่าสลดใจเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการกราดยิงในสถานศึกษาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2022 เด็กหนุ่มวัย 18 ปี คว้าปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 และปืนพกอีกหนึ่งกระบอก พร้อมสวมชุดเกราะ ก่อนจะยิงยายของตัวเองแล้วมุ่งหน้าสู่โรงเรียนประถมศึกษาในเมืองอูวัลเด (Uvalde) รัฐเท็กซัส (Texas) เพื่อก่อเหตุน่าสยดสยองด้วยการยิงกราดนักเรียน ครู หรือใครก็ตามที่ขวางหน้า เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กกว่า 19 ราย และผู้ใหญ่อีก 2 ราย โดยท้ายที่สุดผู้ก่อเหตุวัย 18 ปีถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทิ้งไว้เพียงโศกนาฏกรรมแห่งการกราดยิงครั้งที่ 27 ของปีนี้ (นับเพียงแค่ปีนี้เท่านั้น) เหตุการณ์การกราดยิงในโรงเรียนนับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วแก้ไม่หายมาหลายทศวรรษ เยาวชนมากมายหลายคนถูกพรากชีวิตไปด้วยอายุที่ยังน้อย บางคนที่รอดชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไปด้วยความพิการที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ กระสุนเหล่านั้นยังฝังอยู่ในร่างกายบางคน และสำหรับใครหลายคน ความทรงจำเหล่านี้ฝังติดไปกับตัวในระยะยาว “แล้วปัญหาคืออะไร?” มันไม่ใช่ครั้งแรก มันไม่ใช่ครั้งเดียว เหตุการณ์การกราดยิงในสหรัฐอเมริกา หากนับเพียงแค่ในสถานศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาหลายทศวรรษ โดยตัวเลขเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมในโคลัมไบน์ในปี 1999 เป็นต้นมา บ้างก็เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันนองเลือด บ้างก็ว่าวัฒนธรรมความรุนแรงจากดนตรี ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม แต่ปัญหาเหล่านี้คือต้นตอสาเหตุที่แท้จริงใช่หรือไม่? หรือมีปัจจัยอะไรอื่น ๆ อีกไหมที่เราอาจจะมองข้ามมันไป? ภาพยนตร์สารคดีโดย ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) นักทำหนังสารคดีการเมืองตัวแสบ ที่ได้รับรางวัลออสการ์และได้รับเสียงโห่ไล่จากเวทีเมื่อเจ้าตัวกล่าวถึงประเด็นทางการเมืองบนเวทีอย่าง ‘Bowling for Columbine’ (2002) จะพาเราไปสืบเสาะถกหาปัญหาที่เป็นสารตั้งต้นให้โศกนาฏกรรมการกราดยิงของสหรัฐอเมริกาเป็นโรคเรื้อรังที่แก้ไม่หายและกำเริบหนักเข้าในทุก ๆ ปี อเมริกันกับปืน “มันคือวัฒนธรรมแบบอเมริกัน มันคือความรับผิดชอบในฐานะคนอเมริกันที่คุณจะต้องพกพาอาวุธ อ้าว! ถ้าคุณไม่ทำแล้วใครจะมารับผิดชอบ ใครจะมาปกป้องครอบครัวของเรา? ตำรวจ? รัฐบาล? ไม่ ไม่เลย มันคือหน้าที่ของคุณที่จะปกป้องตัวคุณและอะไรที่เป็นของคุณ ดังนั้นถ้าไม่ทำ คุณก็ละทิ้งหน้าที่ในฐานะชาวอเมริกัน” ข้อความข้างต้นกล่าวโดยกลุ่มทหารอาสาในรัฐมิชิแกน (Michigan) ถึงมุมมองที่เขามีต่อการพกพาอาวุธ และอาจเป็นตัวแทนความเชื่อของชาวอเมริกันอีกมากมายหลายคนที่มีต่อ ‘ปืน’ เพราะมันถูกบัญญัติไว้ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สองไว้ด้วยว่า ชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิ์ครอบครองปืนในการปกป้องตัวเองจากการรุกรานต่าง ๆ และเพื่อชีวิตที่ ‘ปลอดภัย’ ขึ้น ชาวอเมริกันบางคนถึงขั้นเอาปืนแม็กนั่ม .44 ที่บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยซุกไว้ใต้หมอนในยามที่นอนหลับ พร้อมจะใช้งานมันตลอดเวลา มันคือปัจจัยที่ทำให้เขาอุ่นใจจากภัยร้ายต่าง ๆ ทั้งปวง และมันคือสิทธิ์ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ บางรัฐถึงขั้นกำหนดให้ทุกครัวเรือนต้องมีอาวุธอยู่ที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ปืนจึง(มี)ขายอยู่ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา และการจะได้ครอบครองมันสักกระบอกก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินเอื้อมเลยสักนิด ไมเคิล มัวร์ สาธิตให้เราดูในตอนเปิดเรื่องสารคดี เขาไปเปิดบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งโดยที่เขาจะได้ปืนไรเฟิลแถมมาหนึ่งกระบอก ซึ่งหลังจากกรอกข้อมูลเบื้องต้น มัวร์ได้หิ้วไรเฟิลหนึ่งกระบอกกลับบ้านทันที นอกจากตัวปืนจะหามาครอบครองได้ง่ายมาก ๆ แล้ว กระสุนปืนเหล่านั้นก็มีขายอยู่ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งร้านตัดผม หากอายุเกิน 18 ปีแล้ว ไปกวาดซื้อกระสุนเป็นจำนวนมากก็ยังได้ ดังที่มัวร์ได้พาวัยรุ่นผู้ประสบเหตุจากเหตุการณ์โคลัมไบน์อย่าง มาร์ค เทย์เลอร์ (Mark Taylor) ไปซื้อกระสุนจาก เคมาร์ท (Kmart) โดยผู้ชมจะได้เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายดายมาก ๆ แม้ว่ามาร์คแทบจะเหมามาหมดชั้น มันก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกหูแปลกตาอะไร สื่อและความกลัวของชาวอเมริกัน หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่โคลัมไบน์ขึ้น ภาครัฐดำเนินนโยบายขั้นเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหานี้ ตรวจตรานักเรียนทุกคนอย่างเข้มข้นก่อนเข้าโรงเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำอาวุธเข้าไป มีนักเรียนหลายคนที่ถูกพักการเรียนหรือไล่ออกจากลักษณะที่น่าสงสัยและมีความเป็นไปได้ที่จะก่อเหตุในอนาคต “มันก็เหมือนสงครามกองโจรครับ เราไม่รู้เลยว่าศัตรูจะมาจากทิศทางไหน” ผอ. โรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าวด้วยมุมมองที่มีต่อการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาว่าจะจัดการกับลักษณะที่อาจก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ แต่แทนที่นโยบายเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย มันกลับส่งผลตรงกันข้าม มีเด็กหลายคนถูกพักการเรียนไปด้วยสาเหตุที่ไม่สมเหตุสมผลนัก เด็กบางคนถูกพักการเรียนไป 10 วันเพียงเพราะเขานำ ‘กรรไกรตัดเล็บ’ มาโรงเรียน มีเด็กชั้น ป.1 ถูกพักการเรียน เหตุเพราะชี้ปลายกระบอกไปที่ครูในโรงอาหารเพราะดูเหมือนการเล็งปืน บางคนก็ถูกพักการเรียนเพียงเพราะเขาย้อมผมสีฟ้า และด้วยความพยายามของสังคมอเมริกันที่จะสืบย้อนไปหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงกับความรุนแรงในเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็มาพร้อมคำตอบมากมายที่หลากหลายกันไป ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ การ์ตูน ของเล่น ยาเสพติด หรือแม้กระทั่งซาตาน แต่หวยรางวัลที่หนึ่งกลับไปลงที่ศิลปินหัวขบถชื่อดังอย่าง มาริลีน แมนสัน (Marilyn Manson) “ใช่ครับ คนที่ฟังเพลงของแมนสันทุกคนจะไม่ออกไปก่อเหตุความรุนแรงในวันถัดไป แต่คนที่ดูโฆษณารถยนต์เล็กซัสออกไปซื้อเล็กซัสทุกคนไหม ไม่ครับ แต่บางคนไปไง” กลุ่มคนบางกลุ่ม นักวิชาการบางคน หรือแม้กระทั่งสื่อบางสำนักก็เชื่อว่าแมนสันนี่แหละคือต้นตอของปัญหาและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เยาวชนด้วยภาพลักษณ์ของเขา แมนสันเองก็มาให้สัมภาษณ์กับมัวร์ว่าตัวเขาเองก็รู้ว่าโดนแบบนั้นเพราะอะไร เพราะตัวเขาเป็นตัวแทนของสิ่งที่ทุกคนกลัว เขาพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด ในขณะเดียวกันที่แมนสันถูกโยนความผิดให้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน ประธานาธิบดีหรือรัฐบาลกลับไม่อยู่ในลิสต์เลยเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ในวันเดียวกันกับที่เหตุการณ์โคลัมไบน์เกิดขึ้น สหรัฐฯ เพิ่งทิ้งระเบิดเพิ่มในสงครามคอซอวอ (Kosovo War) อยู่เลย แมนสันคิดว่ามันช่างย้อนแย้งเหลือเกินที่ไม่มีใครมองไปที่ประธานาธิบดีเลยว่า เขาเองก็อาจจะเป็นต้นตอของตัวอย่างที่ไม่ดีก็ได้ มัวร์พยายามจะชี้ให้เห็นว่าสังคมอเมริกันนั้นง่ายต่อการถูกชักจูงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะ Y2K, ผึ้งแอฟริกัน (Africanized Bee) หรือแม้กระทั่ง มาริลีน แมนสันเอง ถ้าถูกชักนำ ใครหลายคนก็พร้อมจะคล้อยตาม “ถ้าคุณมีโอกาสได้คุยกับเด็ก ๆ ที่โคลัมไบน์ คุณอยากบอกอะไรกับเขาไหม?” “ผมคงไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียวนะ แต่ผมจะฟังเขาแทน เพราะนั่นมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำเลย” ประวัติศาสตร์อันนองเลือด สถิติโดยเฉลี่ย ณ ขณะนั้นของผู้ที่ถูกฆ่าโดยอาวุธปืนต่อปีหากแยกเป็นประเทศแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปรวมถึงประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็มีตัวเลขอยู่ที่หลักสิบหรือหลักร้อย แต่สหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นสูงถึงหลักหมื่น หากถามถึงสาเหตุของปัญหาเรื่องราวเหล่านี้กับชาวอเมริกันว่าเกิดจากอะไร หลายคนก็คงจะมีคำตอบแตกต่างกันไป แต่คำตอบยอดฮิตก็คงวนอยู่ที่ประวัติศาสตร์อันนองเลือดของประเทศ ชาวอเมริกันหลายคนรวมถึง ชาร์ลตัน เฮสตัน (Charlton Heston) ดาราฮอลลีวูดชื่อดังและประธาน NRA (National Rifle Association) หรือสมาคมปืนเล็กยาวแห่งอเมริกัน ที่ให้สัมภาษณ์กับไมเคิล มัวร์ว่าเหตุที่ชาวอเมริกันมีอัตราการฆ่ากันด้วยอาวุธปืนสูง เป็นเพราะมีประวัติศาสตร์ที่รุนแรงมากกว่าที่อื่น ไมเคิล มัวร์จึงตั้งคำถามว่าแล้วเยอรมนีที่มีประวัติศาสตร์อย่างยุคนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนไปหลายล้านคน ญี่ปุ่นก็มีประวัติศาสตร์การเข้ายึดประเทศจีน แล้วก็มีผู้เสียชีวิตมากมาย หรือไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ล้วนมีประวัติศาสตร์อันนองเลือดทั้งนั้น เหตุผลนี้ใช้เป็นข้ออ้างในตัวเลขที่สูงลิ่วอยู่โดด ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้จริงหรือ? นอกจากนั้น หากนึกย้อนมาถึงประเด็นของมาริลีน แมนสัน ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ทัวร์อยู่แค่สหรัฐอเมริกา เพราะเขาก็เป็นที่นิยมในเยอรมนีเหมือนกัน ส่วนภาพยนตร์ที่มีความรุนแรงแทรกอยู่ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวแคนาดา - ประเทศที่อัตราการฆาตกรรมด้วยปืนต่ำมาก ทั้ง ๆ ที่อยู่ติดกับสหรัฐอเมริกา - หากจะโทษความยากจน ก็มีอีกหลายประเทศที่ต้องประสบกับความทุกข์ยากคล้าย ๆ กัน แต่พวกเขาไม่ได้ลงเอยด้วยการลั่นไกกันดั่งในสหรัฐอเมริกา เป็นอีกครั้งหนึ่งของภาพยนตร์สารคดีจากฝีมือไมเคิล มัวร์ ที่พยายามจะเป็นกระจกสะท้อนให้ชาวอเมริกันย้อนมองตัวเองเพื่อก้าวไปข้างหน้าไม่ซ้ำรอยเดิม แม้ว่าบางคนจะกล่าวว่า Bowling for Columbine เป็นสารคดีที่เอนเอียงไปข้างเสรีนิยมมากเกินไป แต่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้นำเสนอให้เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น มีชีวิตที่ต้องเสียและเปลี่ยนไปจากเหตุการณ์เหล่านี้จริง ๆ มีปืนและกระสุนที่วางขายเกลื่อนกลาดจริง ๆ มีวัฒนธรรมกับปืนแบบนี้จริง ๆ มีความไม่สมเหตุสมผลในสังคมอยู่จริง ๆ มีปัญหาเรื้อรังแบบนี้อยู่จริง ๆ และจนถึงปัจจุบันมันยังคงกำเริบอยู่ดังเดิม อ้างอิง: https://apnews.com/article/uvalde-texas-school-shooting-44a7cfb990feaa6ffe482483df6e4683 https://thestandard.co/united-states-gun-law/