24 ก.พ. 2566 | 16:00 น.
/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ /
จ่าดับ จำเปาะ
หมัด เชิงมวย
ตังกวย แซ่ลี้
อัคคี เมฆยันต์
ดั่น มหิตรา
กล้า ตะลุมพุก
จุก เบี้ยวสกุล
นี่คือเหล่าชื่อที่คล้องจองคุ้นหูของทีมอเวนเจอร์เลือดไทยแท้จาก ‘7 ประจัญบาน’ ฉบับปีพุทธศักราช 2545 ภาพยนตร์จากงานกำกับของ เฉลิม วงศ์พิมพ์ ที่นำเอาบทประพันธ์ของ ส. อาสนจินดา ที่ได้รับความนิยมมากและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่หลายครั้งมานำเสนอใหม่ นำขบวนโดยกองทัพนักแสดงมากคุณภาพจากหลากหลายวงการ ตั้งแต่ พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง, เท่ง เถิดเทิง, ทศพล ศิริวิวัฒน์, อัมรินทร์ นิติพน, พิเศก อินทรครรชิต, แช่ม แช่มรัมย์ และ ค่อม ชวนชื่น มาสวมบทบาทเป็นสมาชิกในทีม 7 ประจัญบานทั้ง 7 คน เรียงลำดับตามชื่อที่เราได้เกริ่นมาข้างต้น
คอนเซปต์ภาพยนตร์ที่มีตัวละครหลักดำเนินเรื่องที่มีบุคลิกแตกต่างกันไปคนละมุมอย่าง 7 ประจัญบานไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจจะพอมีบาวคนที่เคยเห็นภาพยนตร์แนว ๆ นี้ผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น The Magnificent Seven (1960), The Ridiculous Six (2015) หรือ The Hateful Eight (2015) แต่หากจะให้ย้อนไปที่ต้นตำรับที่เสมือนเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์เหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ นอกเสียจากภาพยนตร์เรื่อง Seven Samurai (1954) หรือ เจ็ดเซียนซามูไร งานอมตะแห่งโลกภาพยนตร์ของผู้กำกับชั้นครู อากิระ คูโรซาวะ (Akira Kurosawa)
Seven Samurai (1954)
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนับว่ามีคุณูปการต่อการพัฒนาของวงการภาพยนตร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคนิค การเล่าเรื่อง หรือแม้แต่คอนเซ็ปต์เรื่องราวที่มีตัวละครเอกหลายตัวเช่นนี้ ซึ่งเราจะพาไปสำรวจเรื่องราวการพัฒนาและอิทธิพลของ Seven Samurai ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ รวมถึง 7 ประจัญบานในบทความต่อไป
แม้จะไม่ได้สวมหมวกคาวบอย แม้จะไม่ได้ขี่ม้าไล่ยิง แม้จะไม่ได้อยู่ในยุคศตวรษที่ 19 แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพยนตร์เรื่อง 7 ประจัญบาน ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงภาพยนตร์สไตล์ สปาเกตตีเวสเทิร์น (Spaghetti Western) หรือภาพยนตร์แนวคาวบอยที่ใช้ทุนไม่สูงนัก และสร้างสรรค์โดยชาวอิตาลีที่ฮิตเป็นอย่างมากในช่วงยุคทศวรรษ 1960 - 1970 หากจะยกตัวอย่างที่ใครหลายคนน่าจะพอคุ้นหูก็คงเป็น ‘มือปืนเพชรตัดเพชร’ (The Good, The Bad and The Ugly (1966)) หรือ ‘อย่าแหย่เสือหลับ’ (They Call Me Trinity (1970))
The Good, The Bad and The Ugly (1966)
They Call Me Trinity (1970)
หากใครเป็นหนึ่งคนที่หลงรักภาพยนตร์เรื่องนี้ และสามารถหยิบมันมาดูได้บ่อยครั้งโดยไม่รู้สึกเบื่อ แน่นอนว่าเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้ใครเหล่านั้นหลงก็คงเป็นความย่อยง่ายดูสนุกของเรื่องราว ตั้งแต่ต้นจนจบหนังจะลำเลียงเรามากับฉากแอ็กชันสุดมันเคล้าคู่ไปกับความตลกแบบธรรมชาติที่มาจากสถานการณ์และเคมีของตัวละครทั้ง 7 ที่เข้ากันเป็นอย่างมาก
เราจะได้เห็นฉากการต่อสู้ในบาร์ (Bar Fight) สุดหฤหรรษ์ของเหล่าอดีตทหารรับจ้างทั้ง 7 เราจะได้เห็นฉากการดวลปืน (Duel) ของจ่าดับ จำเปาะ กับกางเกงสีแดงคาดเชือกกล้วยของเขา หรือแม้กระทั่งฉากการต่อสู้ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ที่ดุเดือดเผ็ดฮาแถมยังมีจังหวะที่เท่จนขนลุกอีกด้วย ฉากทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์คาวบอยหลาย ๆ เรื่อง แล้วพอยิ่งผสานเข้ากับดนตรีประกอบที่เป็นเสียงคนผิวปากที่บรรเลงไปพร้อมกับกีตาร์ ยิ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลิ่นอายของหนังคาวบอยมากขึ้นไปอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่แม้จะมีความเป็นหนังคาวบอยอยู่ในเรื่อง แต่ความสนุกของ 7 ประจัญบานไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น เพราะเพียงแค่ผู้ชมจะได้รับความบันเทิงที่ไม่ตึงเครียดจากองค์ประกอบที่เราได้กล่าวมา แต่ 7 ประจัญบานยังมีฉากบู๊ที่แม้จะไม่ได้อลังการงานสร้างสมจริงจนต้องนั่งเกร็งตาม แต่ผู้สร้างก็ออกแบบฉากบู๊ออกมาได้ ‘โคตรเวอร์’ (ขนาดผู้กององอาจตกจากเฮลิคอปเตอร์ที่ลอยอยู่บนฟากฟ้ายังสามารถรอดมาได้!) แต่ด้วยความเหนือจริงนี้เองที่เป็นรสชาติความสนุกที่กล้าพูดได้เต็มปากว่านี่คือ ‘ความบันเทิง’
เราจะได้เห็นตัวละครฟัดกันบนหลังรถบรรทุกจนไถลฉีกผ้าใบลงไปข้างหลัง ไปฟัดกันต่อบนถนนในขณะที่เกาะผ้าใบที่ฉีกขาดตามรถไปเรื่อย ๆ จน กล้า ตะลุมพุก ใช้หินโยนเข้าไปบนพื้นที่ผ้าใบของคู่ต่อสู้ชาวอเมริกันกำลังเคลื่อนผ่านไป
ไหนจะฉากที่ผู้กององอาจ (ที่เพิ่งร่วงหล่นลงมาจากฟากฟ้า) บอกให้ลูกน้อง (ที่ดูจะไม่เกรงกลัวตนเสียเท่าไร) ไล่ตามรถบรรทุกสารพิษที่ถูกผูกติดอยู่กับเฮลิคอปเตอร์ที่ลอยอยู่บนฟากฟ้าไปให้ได้ ด้วยความไม่รู้ว่าจะลอยบินขึ้นไปอย่างไรดี อัคคีและดั่นจึงหันไปเห็นปืนใหญ่สมัยบางระจันที่จ่าดับลากมา (ได้อย่างไรก็ไม่อาจทราบได้) แล้วหันหัวปืนใหญ่ลงแล้วจุดดินปืนเพื่อลอยขึ้นเหมือนดั่งการ์ตูนสักเรื่องหนึ่ง นับเป็นความเว่อร์ที่ชนะใจคนดูเป็นอย่างมาก
แต่ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องชนะใจคนดู เราคงไม่พูดถึงเขาคนนี้ไม่ได้… ‘ผู้กององอาจ’
“กูรบที่เวียดนามมาสองปีแล้ว… หลับตาเดินยังถูกเลย”
หากความสามารถพิเศษของ จ่าดับ จำเปาะ คือความยิงปืนแม่น หมัด เชิงมวยคือแม่ไม้มวยไทย อัคคี เมฆยันต์คือความเจ้าเล่ห์เพทุบาย จุก เบี้ยวสกุลคือระเบิด… ความสามารถพิเศษสุดแสนจะถนัดไร้ใครเทียบของผู้กององอาจก็คงหนีไม่พ้น ความชำนาญเส้นทาง การปลอมตัว หรือแม้แต่การขายปลากริมไข่เต่า
นอกจากจะสนุกสนานฮาเฮกับฉากบู๊หรือฉากพูดคุยยิงมุกกันของเหล่าสมาชิก 7 ประจัญบานแล้ว ตลอดเส้นเรื่อง เมื่อใดที่ได้โคจรมาพบกับอดีตหัวหน้าทีมอย่างผู้กององอาจ ก็ยิ่งให้รสชาติของหนังสนุกและตลกไปยิ่งกว่าเดิม เสมือนว่าผู้กององอาจที่สวมบทบาทโดย ปั๋ง - ประกาศิต โบสุวรรณ คือ checkpoint เอาไว้คั่นจังหวะที่จะแวะมาเรียกเสียงฮาตลอดเรื่อง
“เฮ้ย! ช่วยกูด้วย… ช่วยกูเถอะครับ!”
ถึงจะเป็นตัวประกอบที่ไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรต่อเรื่องขนาดนั้น แต่ตัวละครผู้กององอาจก็ถือว่าเป็นไฮไลต์ของภาพยนตร์ที่ผู้ชมต่างเฝ้ารอให้เขาปรากฏตัว และแม้ว่าจะปรากฏตัวออกมาแทบไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่ทหารยศผู้กองผู้ชำนาญเส้นทาง คนขายปลากริมไข่เต่า หรือแม้แต่เป็นแรงงานในภาคสอง ก็เรียกเสียงฮาได้ไม่แพ้ตัวละครหลักทั้ง 7 เลย
แน่นอนว่ามีคนไม่น้อยที่อยากจะเห็นภาคแยกของผู้กององอาจไปเลย… น่าจะมีฉากปลอมตัวเนียน ๆ อย่างแน่นอน
อีกหนึ่งเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่อง 7 ประจัญบานฉบับปีพุทธศักราช 2545 คือรายชื่อนักแสดงที่มาสวมบทบาทเป็นตัวละครทั้ง 7 ที่มีตั้งแต่ดารานักแสดง ศิลปิน หรือแม้กระทั่งดาวตลก ซึ่งเป็นการรวมนักแสดงที่แปลกตาเอามาก ๆ และการที่เราได้เห็นเขาเหล่านั้นได้มาอยู่ร่วมจอเดียวกัน จึงให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่และน่าติดตามเอามาก ๆ โดยที่นักแสดงทุกคน ไม่เพียงแค่แสดงบทบาทของตนเองออกมาได้อย่างดี แต่เคมีของพวกเขาแต่ละคนนั้นเข้ากันเป็นอย่างมาก
นักแสดงชุดนี้เปรียบเสมือนหลักฐานที่พิสูจน์ให้เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า บทบาทที่ดีอาจจะไม่จำเป็นต้องหานักแสดงที่หล่อเหลาสมบูรณ์แบบเสมอไป เพียงแค่เป็นคนที่ผู้ชมดูแล้วรู้สึกได้ถึงความจริงแท้จากภาพยนตร์ หากจะให้กล่าวตามตรง หลังจากที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ผู้เขียนเองยังอยากจะดูเรื่องราวของพวกเขาทั้ง 7 ในรูปแบบซีรีส์เลยด้วยซ้ำ
ไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีภาพยนตร์ไทยแบบนี้ถูกสร้างสรรค์ออกมา ผู้เขียนเองก็เฝ้ารออยากจะเห็นผลงานแบบนี้ออกมาอีก แต่ระหว่างนี้ การได้ชมผู้กององอาจเหยียบระเบิดและปลอมตัว หรือฉากบู๊สุดฮาของตัวละครทั้ง 7 ซ้ำไปซ้ำมาก็ยังคงสนุกเหมือนเคย…