15 เม.ย. 2568 | 14:00 น.
KEY
POINTS
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Frozen Hot Boys แก๊งหิมะเดือด
“ไม่มีใครอยากเกิดมาทำผิดหรือเป็นคนไม่ดีหรอก สิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่โอกาสในการแก้ตัวอีกครั้ง...พวกเขาเปลี่ยนแปลงได้”
คือคำตอบที่ครูสาวประจำสถานพินิจ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘คุกเด็ก’ อธิบายต่อสังคมซึ่งตั้งคำถามว่า เยาวชนผู้เคยก่อคดีอุกฉกรรจ์สมควรได้รับ ‘โอกาสครั้งใหญ่’ อย่างการเป็นตัวแทนประเทศ เดินทางไปแข่งแกะสลักหิมะในเวทีโลกหรือไม่ ก่อนที่ความเชื่อของผู้ชมจะถูกสั่นคลอน เมื่อหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งตะโกนถ้อยคำแสนบาดใจว่า
“คนที่ฆ่าลูกกูสมควรได้รับโอกาสแก้ตัวด้วยเหรอ ลูกกูสิ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะมีชีวิตอยู่”
แม้ในท้ายที่สุด หญิงคนดังกล่าวจะถูกพาตัวออกจากงานแถลงข่าว และการเดินทางของกลุ่มเยาวชนทั้งสี่จะดำเนินต่อไป แต่ประโยคนั้นก็กังวานในความคิดของตัวละครและผู้ชมจนถึงนาทีสุดท้าย
‘Frozen Hot Boys แก๊งหิมะเดือด’ คือภาพยนตร์ดราม่า คอมเมดี้เรื่องล่าสุดของ Netflix ประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องราวของ ครูชม (แสดงโดย แต้ว ณฐพร เตมีย์รักษ์) ครูสาวประจำสถานพินิจบ้านเบญจธรรม ผู้ต้องการเดินทางไปพบพ่อที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น จึงปลุกปั้นแก๊งเยาวชนสี่คน นำโดย แจ๊บ (แสดงโดย แบงค์ ณัฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ) และ โจ (แสดงโดย นนท์ ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) ไปแข่งขันแกะสลักหิมะระดับนานาชาติ ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันของกลุ่มเยาวชน และการค่อนขอดจากคนรอบข้างที่ไม่เชื่อว่า ‘นักโทษเด็ก’ เหล่านี้จะสามารถกลับตัวกลับใจ สร้างความสำเร็จอันใดได้
และนอกจากการแบกรับแรงกดแสนหนักอึ้ง ครูชมยังต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุดเปราะบาง เมื่อเธอพบว่า เยาวชนทั้งสี่ต่างก็เปี่ยมด้วย ‘ความเป็นมนุษย์’ อันหมายถึงจิตใจที่สับสน หวาดกลัว สำนึกผิด นำมาสู่บทสรุปที่แม้จะไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ก็ทำให้ตระหนักได้ว่า ‘โอกาส’ อาจเป็นสิ่งสวยงามที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ
และกลุ่มเยาวชนซึ่งใคร ๆ ต่างตราหน้าว่าเป็น ‘เด็กเหลือขอ’ แท้จริงแล้ว พวกเขาก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ก้าวพลาด ถูกทอดทิ้งไว้ในลานหิมะอันหนาวเหน็บและเดียวดาย รอให้ใครสักคนหยิบยื่นโอกาส หรืออีกนัยหนึ่ง คือหยิบยื่นเปลวไฟ นำพวกเขาไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องเหมาะควร
แก๊งหิมะเดือด ไม่ได้มุ่งเน้นถ่ายทอดการสู้ชีวิตตามประสาภาพยนตร์ดราม่าทั่วไป เนื่องจากผู้สร้างเลือกนำเสนอ ‘พลังบวก’ ผ่านความสำเร็จที่ตบเท้าเข้ามาในชีวิตตัวละครอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้ดึงพวกเขาสู่ขวากหนามที่ยากจะฝ่าฟันเกินไปนัก สำหรับผู้ชมที่คุ้นชินกับขนบของหนังดราม่า อาจตั้งแง่กับความ ‘ง่าย’ และ ‘เดาได้’ ตลอดครึ่งแรกของเรื่อง ทว่าหลังเข้าสู่องก์สอง ผู้สร้างก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่า จุดมุ่งหมายของแก๊งหิมะเดือดไม่ใช่การสร้างความลุ้นระทึก หากแต่เป็นการ ‘ปลอบประโลม’ ให้เห็นว่าชีวิตอันหนาวเหน็บและเดียวดายยังมีแสงสว่างรออยู่ ณ ปลายอุโมงค์
และหากแสงสว่างนั้นจะได้มาอย่างง่ายดายก็คงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะลำพัง ปูมหลังในชีวิตของแต่ละตัวละครก็หนักอึ้งเกินกว่าเยาวชนทั่วไปจะแบกรับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
พลังบวกของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประโคมเข้ามาจากหลายทิศทาง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือจากความสัมพันธ์ของแก๊งเยาวชนทั้งสี่ แรกเริ่มนั้น พวกเขาคือ ‘นักโทษ’ ที่ยังไม่เข้าใจความผิดชอบชั่วดี ปล่อยให้สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดในสังคมที่ ‘ผู้แข็งแกร่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่’ เป็นแรงผลักดันให้ก่อปัญหาอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง
ทว่าการหยิบยื่นโอกาสของครูชมเปรียบดังแสงสว่างที่ทำให้พวกเขาตระหนักว่า นอกเขตรั้วลวดหนามยังมีพื้นที่แห่งความอบอุ่น รอปลอมประโลมจากสังคมอันโหดร้าย และหนทางเดียวที่จะไขว่คว้าก็คือกลับตัวกลับใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เมื่อนั้น ความเป็นมนุษย์ที่หลบซ่อนในจิตใจจึงค่อย ๆ ถูกเผยออกมา
กระนั้น ก็ใช่ว่าทุกคนในสังคมนอกกำแพงจะเห็นดีเห็นงาม และยอมรับนักโทษเด็กโดยปราศจากอคติ ท้ายที่สุด เยาวชนแต่ละคนจำต้องเผชิญชะตากรรม ซึ่งมีทั้งผลกรรมจากความผิดที่เคยก่อ ตลอดจนการตีตราจากสังคม อันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของพวกเขา ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นแก่นสารที่ทำให้แก๊งหิมะเดือด เป็นภาพยนตร์ที่แม้จะดูเรียบง่าย หากแต่เต็มไปด้วยมิติรอบด้าน
และแม้ผู้สร้างจะนำเสนอมิติเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา แต่การรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้มอบพลังบวก จากการได้เห็นเยาวชนทั้งสี่กลับตัวกลับใจ นำมาสู่การยอมรับชะตากรรมที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญ ยังไม่นับรวมถึงความแปลกใหม่เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการสอดแทรก ‘การแข่งขันแกะสลักหิมะ’ ซึ่งแทบไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักในภาพยนตร์ไทยเรื่องใดมาก่อน
คือคำถามที่ไม่ใช่เพียงตัวละครผู้ใหญ่ในเรื่อง แต่ผู้ชมไม่น้อยก็คงนึกสงสัย หารู้ไม่ว่า ข่าวเด็กไทยคว้ารางวัลแกะสลักหิมะระดับนานาชาติปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่อาจไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เนื่องจากชีวิตประจำวันของคนไทยดูห่างไกลจากหิมะในระดับที่แทบไม่มีโอกาสโคจรมาพบกันได้
โดยการแข่งขันแกะสลักหิมะ คือการที่ทีมตัวแทนจากชาติต่าง ๆ จะมารวมตัวในลานกลางแจ้งของเมืองในประเทศที่อุณหภูมิติดลบ มีหิมะตกตามธรรมชาติ ผู้จัดงานจะเตรียมหิมะที่ถูกอัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทีมผู้เข้าแข่งขันมีหน้าที่แกะสลักมันเป็นรูปทรงใดก็ได้ในเวลาจำกัด โดยนอกจากคะแนนความประณีต ยังมีคะแนนความคิดสร้างสรรค์ ที่แต่ละทีมต้องออกแบบผลงานให้สวยสะดุดตา
ภาพหิมะที่ถูกแกะเป็นรูปร่างต่าง ๆ เรียงรายรอให้กรรมการตัดสิน คือภาพแสนปกติของงานแข่งแกะสลักหิมะนานาชาติ แต่สิ่งที่ชวนสะดุดตา คือบรรดาผลงานที่ถูกแกะเป็นรูปช้าง รูปพญานาค ตลอดจนตัวละครในวรรณคดีต่าง ๆ อันเปรียบเสมือน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ทีมชาติไทยเผยแพร่ผ่านผลงานที่ได้รับรางวัลอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับแก๊งหิมะเดือด สนามแข่งที่เยาวชนทั้งสี่ต้องพิชิตตั้งอยู่ในเมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น โดยตัวละครได้อธิบายเหตุผลที่เยาวชนไทยอย่างพวกเขามีศักยภาพในการเข้าแข่งขันว่า ประเทศไทยเองก็มีศิลปะแกะสลักเทียนหรือแกะสลักผลไม้เป็นทุนเดิม อีกทั้งในสถานพินิจบ้านเบญจธรรมก็ยังมีวิชาสอนแกะสลักไม้เป็นหนึ่งในหลักสูตรวิชาชีพ การจะปลุกปั้นทีมแข่งขึ้นมาฝึกปรือฝีมือจึงไม่ใช่เรื่องยาก
ทว่าสิ่งที่ผู้สร้างนำเสนอได้น่าสนใจกว่าคำถามที่ว่า พวกเขาฝึกปรือฝีมือแกะสลักหิมะในเมืองไทยได้อย่างไร คือ ‘ชิ้นงาน’ ที่พวกเขาเลือกแกะนั้นจะออกมาในรูปแบบไหน โดยภาพทีมชาติไทยที่คว้ารางวัลส่วนมากมักแกะสลักออกมาในรูปของเอกลักษณ์ประจำชาติ เช่น ช้าง พญานาค ลายกนก ตัวละครในวรรณคดี ฯลฯ
แต่สำหรับแก๊ง Frozen Hot Boys พวกเขาเลือกแกะออกมาเป็นรูป ‘นกฟีนิกส์’ ซึ่งหากมองย้อนกลับไป จะพบว่าสัญญะเกี่ยวกับนกปรากฏในเรื่องบ่อยครั้ง และในแต่ละครั้ง ก็จะต่างกันออกไป ตามจุดมุ่งหมายในใจของตัวละครซึ่งมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
นกปรากตัวครั้งแรกในห้องเรียนวิชาแกะสลักไม้ ขณะที่แจ๊บยังมีท่าทีแข็งกระด้าง มองวิชาที่ครูชมสอนเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่รู้ว่าจะนำเสนอผลงานอะไรดี ตอนนั้นเอง นกตัวหนึ่งก็ได้บินมาเกาะหลอดไฟเพดาน เด็กหนุ่มมองภาพนั้นชั่วครู่ ก่อนที่ภาพจะตัดข้ามเวลาไปถึงตอนที่แจ๊บลุกออกไป ทิ้งไม้ซึ่งถูกแกะสลักเป็นรูปนกให้ครูชมดูต่างหน้า จุดประกายให้อีกฝ่ายเห็นลู่ทางในการผลักดันเยาวชนในสถานพินิจไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ
นกยังปรากฏขึ้นอีกครั้งในห้องประชุมคณาจารย์ ขณะที่แจ๊บแสดงทักษะแกะสลักน้ำแข็งก้อนให้อาจารย์ทุกคนเห็น เด็กหนุ่มเลือกแกะเป็นรูปนก แม้สุดท้าย ความอ่อนประสบการณ์จะทำให้เขาพลาด ทำปีกหัก แต่นกที่ดูไม่สมบูรณ์ตัวนั้นก็มีความสวยงามเพียงพอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ใหญ่
เช่นเดียวกับภาพยนตร์ดราม่าหลายเรื่อง นกคือสัญญะของอิสรภาพ ยิ่งพอปรากฏตัวในรั้วลวดหนาม ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงเป้าหมายของตัวละครที่ต้องการก้าวออกจากสถานพินิจ ไปทำตามความฝัน และทำสิ่งที่เยาวชนอย่างพวกเขาต้องการอย่างแท้จริง
ทว่าสัญญะเกี่ยวกับนกไม่ได้ถูกสอดแทรกอย่างผิวเผิน เพราะหลังเรื่องดำเนินมาถึงครึ่งหลัง นกธรรมดาก็ค่อย ๆ กลายเป็น ‘นกฟีนิกส์’ สัตว์ที่ไม่ได้เพียงแค่โผบิน หากแต่ยังสื่อถึง ‘การลุกไหม้’ และ ‘เกิดใหม่’ อันเป็นเป้าหมายที่ตัวละครทั้งสี่ปรารถนาอย่างแท้จริง
หลังได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งมิตรภาพ และตระหนักได้ถึงแสงสว่างนอกรั้วลวดหนาม เยาวชนทั้งสี่ก็ไม่เพียงต้องการก้าวออกจากสถานพินิจ หากแต่ยัง ‘สำนึกผิด’ และ ‘กลับตัวกลับใจ’ จนสามารถนิยามแทนด้วยการเกิดใหม่ของนกฟีนิกส์ ที่ซึ่งฟีนิกส์ตัวเดิมจะค่อย ๆ มอดไหม้เป็นธุลี แล้วธุลีนั้นจึงค่อย ๆ หลอมรวม กลายเป็นฟีนิกส์ตัวใหม่ที่สวยงามและโชติช่วงยิ่งกว่าเดิม
“เราสามารถแตกสลายกี่ครั้งก็ได้ แต่เราก็สามารถประกอบขึ้นมาใหม่ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ขอให้ทุกคนเห็นท้องฟ้าอันสดใสของตนเอง”
คำพูดของผู้อำนวยการบ้านเบญจธรรมในตอนจบสามารถสรุปแก่นสารหลักของเรื่องได้อย่างครบครัน การแตกสลายและประกอบขึ้นใหม่ดังกล่าวไม่ต่างจากการเกิดใหม่ของนกฟีนิกส์ที่เยาวชนทั้งสี่ใช้หยาดเหงื่อนแรงใจแกะสลักมันขึ้นมาในงานแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง
และแม้ว่าในตอนจบ แจ๊บจะได้มีโอกาสเห็นท้องฟ้าและโผบินช้ากว่าเพื่อน เนื่องจากผลของการกระทำในอดีตได้จองจำเขาในห้องขังต่อร่วมสองปี แต่สุดท้าย ภาพเด็กหนุ่มก้าวออกจากคุกผู้ใหญ่ แหงนมองแสงสีทองของดวงอาทิตย์ ก็ยั่วล้อกับภาพนกฟีนิกส์ลุกไหม้ ก่อนโผบินขึ้นฟ้า ที่ตัวเขามองเห็นในวันสุดท้ายของงานแข่งขันได้อย่างชัดเจน
สุดท้ายแล้ว เยาวชนทั้งสี่ก็ได้ลุกไหม้ เช่นเดียวกับนกฟีนิกส์ที่พวกเขาร่วมแรงร่วมใจ แกะสลักจนสมบูรณ์ และคว้ารางวัลชมเชยในการแข่งขันมาได้ เด็กที่ถูกตราหน้าจากสังคม เรื่อยไปจนถึงบุคลากรบางคนในสถานพินิจพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเป็นเพียงมนุษย์ผู้ก้าวพลาด จนถูกทอดทิ้งไว้กลางลานหิมะอันหนาวเหน็บ กระทั่งผู้ใหญ่หยิบยื่นโอกาสแห่งการเกิดใหม่ให้ ร่างในหิมะนั้นจึงถึงคราวโชติช่วง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีวันหันกลับสู่ความมืดมนแบบเดิม
“ต่อไปก็ใช้ชีวิตดี ๆ ล่ะ”
คำพูดของหญิงวัยกลางคนที่เคยกล่าวแย้งคำพูดของครูชมในงานแถลงข่าว ยามที่เจ้าตัวกลับมาพบกับโจ เด็กหนุ่มผู้สังหารลูกชายของตนอีกครั้ง ช่วยสรุปตอกย้ำถึงแก่นสารของภาพยนตร์เรื่องนี้
ความเป็นมนุษย์ของเยาวชนทั้งสี่ต่างก็เคยแตกสลายไม่เหลือชิ้นดี แต่ท้ายที่สุด บทเรียนทั้งหมดก็ประกอบสร้างมันอีกครั้ง เปลี่ยนพวกเขาเป็นคนใหม่ ผู้พร้อมจะ ‘ใช้ชีวิตดี ๆ ’ ตามลู่ทางที่ควรจะเป็นต่อไป
ภาพ : แก๊งหิมะเดือด