16 เม.ย. 2568 | 16:10 น.
KEY
POINTS
ขณะที่วัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่นมักนำเสนอ ‘ด้ายแดง’ ในแง่ความสัมพันธ์โรแมนติก และ ‘พรหมลิขิต’ เสียมากกว่า แต่ ‘Karma’ (2025) ซีรีส์เกาหลีแนวอาชญากรรม-ระทึกขวัญเรื่องใหม่ ประจำเดือนเมษายน บนสตรีมมิ่ง Netflix ที่ติด Top 10 ใน 37 ประเทศแทบจะทันทีลงจอนั้น กลับตีความของด้ายแดงในมุมมองที่ต่างออกไป ด้วยการชูเรื่องราวของ ‘กรรมลิขิต’ ที่ผูกมัดตัวละครแปลกหน้าทั้ง 6 คนให้มาเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ ‘กรรม’ ได้ทำหน้าที่
Karma (악연) ดัดแปลงมาจากเว็บตูนของในชื่อเดียวกันของ ‘ชเวฮีซอน’ (Choi Hee-seon) ผลงานการกำกับของและเขียนบทโดย ‘อีอิลฮยอง’ (Lee Il-hyung) ที่เคยฝากผลงานการกำกับไว้ ในหนังเรื่องฮิตอย่าง ‘A Violent Prosecutor’ (2016) อิลฮยองเผยว่า จุดเด่นของเรื่องอยู่ที่เรื่องราวสุดเข้มข้น และตรึงเขาให้อ่านจนจบได้ในคราวเดียว ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้มากำกับเรื่องนี้ เขาจึงเลือกทำเป็น ‘ซีรีส์’ มากกว่าภาพยนตร์ และทำให้เขามีเวลามากพอที่จะกระเทาะเปลือกตีแผ่ตัวละคร พร้อมสอดแทรกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจทุกตัวละคร และสรุปได้ด้วยตัวเองว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงชื่อว่า ‘อุบัติกรรม’
ซีรีส์เรื่องนี้ เรียกได้ว่ายกทัพนักแสดงชื่อดังอย่างคับคั่ง นำโดย ‘พัคแฮซู’ (Park Hae-soo) จาก ‘Squid Game’ (2021) ซีซันแรก พร้อมด้วย ‘ชินมินอา’ (Shin Min-a) ‘อีกวางซู’ (Lee Kwang-soo) ‘คิมซองกยุน’ (Kim Sung-kyun) ‘อีฮีจุน’ (Lee Hee-joon) และ ‘กงซึงยอน’ (Gong Seung-yeon) ว่าด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุร้ายแรง และตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่เขาไม่สามารถหันกลับได้ ตามด้วยศัลยแพทย์สาวที่ต้องต่อสู้กับความทรงจำอันเจ็บปวดและแบกความหวังในการแก้แค้น
ขณะที่ชายคนอีกคนก็จมปลักอยู่กับหนี้สินก้อนใหญ่ และเจ้าหนี้ที่มุ่งหมายเอาชีวิต จนทำให้เขาวางเดิมพันครั้งสุดท้ายกับชายหนุ่มเชื้อสายจีนที่เพิ่งถูกไล่ออกจากงาน นอกจากนี้ยังมีแพทย์หนุ่มที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เขากลับมีความลับอันดำมืดซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับแฟนสาวแสนสวยของเขา ที่อาจจะไม่ใช่คนใสซื่อบริสุทธิ์อย่างที่เห็น
เมื่อชีวิตทั้ง 6 ได้มาบรรจบกัน ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้จึงกำเนิดขึ้น
(บทความนี้อาจมีการเผยแพร่บางส่วนของเนื้อเรื่อง)
แม้ประชากรชาวเกาหลีกว่าครึ่งจะยอมรับว่าตนเอง ‘ไม่มีศาสนา’ ส่วน ‘ศาสนาพุทธ’ ก็ไม่ใช่ศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดอย่างที่ใครหลายคนหลายคนเข้าใจ และมีเพียง 17% เท่านั้น แล้วเอาเข้าจริงศาสนาที่ชาวเกาหลีนับถือกันมากที่สุดคือ ‘ศาสนาคริสต์’
อาจด้วยเหตุนี้ เมื่อประเด็นศาสนาถูกหยิบยกผ่านเลนส์และมุมมองของชาวเกาหลีทีไร จึงค่อนข้างสดใหม่และเต็มไปด้วยความหลากหลาย ยิ่งเป็นเรื่อง ‘กรรม’ เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงต้องร้องอ๋อ! ทำนองว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
แต่ซีรีส์เรื่องนี้กลับทำให้ประเด็นนี้ ‘ย่อยง่าย’ กว่านั้น ด้วยการนำหลักกรรมมาผูกกับ ‘หนี้ก้อนโต’ ของตัวละครตั้งแต่ตอนแรกเสียเลย และวิธีการ ‘ใช้หนี้’ ของตัวละครก็คือ ‘การฆ่าพ่อ’ เพื่อเอาเงินประกัน ซึ่งสำหรับชาวพุทธแล้ว สิ่งนี้นับเป็นหนึ่งใน ‘บาป’ ที่ร้ายแรงที่สุด (อนันตริยกรรม) ซึ่งในตอนสุดท้ายก็มีฉากที่คุณพ่อสารภาพบาปในโบสถ์คริสต์ว่า ขอชำระบาปแทนลูกชาย และนั่นก็อาจเป็นเหตุให้ ‘ศพของเขา’ ได้กลายเป็นตัว ‘ขับเคลื่อน’ กฏแห่งกรรมในเรื่อง
ความเชื่อเรื่องกรรมในบริบทของชาวเกาหลีค่อนข้างมีความแตกต่างในรายละเอียดอยู่เล็กน้อย พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘อินยอน’ (Inyeon - 인연) ซึ่งได้รวมถึงแนวคิด ชะตา กรรม เหตุ และผลเอาไว้ด้วย อย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘Past Lives’ (2023) ก็นำแนวคิดนี้มาขยายว่าผู้คนถูกกำหนดให้มาบรรจบพบเจอกัน เนื่องจากพวกเขาเคยแบ่งปันบางสิ่งบางอย่างในชีวิตก่อนหน้า หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘อดีตชาติ’
จริงอยู่ที่คำนี้ มักใช้อ้างอิงในเชิงโรแมนติก แต่ก็ชาวเกาหลีก็ใช้กับ ‘การพบปะทั่วไป’ ได้อีกด้วย อย่างสุภาษิตเกาหลีมักมีคำกล่าวว่า “แม้เพียงเสื้อผ้าสัมผัสกันก็นับเป็นชะตา” (Even simply brushing clothes with someone is fate - 옷깃만 스쳐도 인연) โดยแนวคิดนี้จะมีสัญลักษณ์เป็น ‘ด้ายสีแดง’ ที่ทำหน้าที่เชื่อม ‘จิตวิญญาณ’ และนำทางแต่ละคนไปเจออีกคนที่ ‘ถูกกำหนด’ ให้พบ อย่างในซีรีส์เรื่องนี้แต่ละตัวละคร พบเจอกันด้วยสถานการณ์สุดประหลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ก่อนที่ชาวเกาหลีจะรู้จักกับพระพุทธศาสนา ชาวเกาหลีเชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนเกิดจาก ‘พลังธรรมชาติ’ ที่ ‘ไม่สามารถควบคุม’ ได้ แต่เมื่อศาสนาพุทธเข้ามานำเสนอแนวคิดที่เป็นเหตุและผล ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวเกาหลีมองตนเองเป็น ‘ผู้กระทำ’ ที่สามารถมีอำนาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ สิ่งต่าง ๆ ในโลกใบนี้
เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาผนวกกับเรื่องกรรม ทำให้ชาวเกาหลีเข้าใจว่า ‘ทุกการกระทำ’ จะนำไปสู่ ‘ผลลัพธ์’ บางอย่างทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งยังทำให้พวกเขามองว่าทุกคนต้อง ‘รับผิดชอบ’ ต่อการกระทำของตัวเอง ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำหน้าที่ ‘ส่งสาร’ ถึงผู้ที่คิดว่าตนเองสามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผลที่ตามมา
ความน่าสนใจของเรื่อง คงต้องยกให้เส้นเรื่องที่ไม่ได้เล่าออกมาเป็นเส้นตรง หากแต่เล่าสลับไปมา จนในช่วงแรกดูค่อนข้างจะสับสนผสมเนิบช้า แต่พอเข้าสู่ตอนที่ 3 เท่านั้น ทุกอย่างก็เริ่มกลับเข้ารูปเข้ารอย และปะติดปะต่อกันได้มากขึ้น ผ่านเบาะแสเล็ก ๆ ที่ทิ้งไว้ให้ในแต่ละตอน
แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ทุกอย่างที่เชื่อ ก็สามารถพลิกกลับไปมาได้หมด ในขณะเดียวกันตัวละครแต่ละตัวก็ล้วนมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง และพร้อมสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เรามีหลายด้าน จนไม่สามารถแยกได้ว่าเป็น ‘สีขาว’ หรือ ‘สีดำ’ เมื่อโทนที่แท้จริงของเรื่องกลับถูกปกคลุมด้วยสีเทา ๆ ขมุกขมัว และพร้อมดึงให้จมดิ่งเข้าสู่โลกของคนบาป
เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกได้ว่า ‘เบื้องหลัง’ การตัดสินใจที่บิดเบี้ยวและไร้สำนึกของตัวละครหลายตัวเกิดขึ้นจากการดิ้นรนเพื่อ ‘เอาชีวิตรอด’ แต่ใช่ว่าเราจะใช้สิ่งนี้เป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการทำผิดบาป เพราะทั้งหมดล้วนเป็นความโหดร้ายของสังคม ไม่ว่าจะเป็น การฆาตกรรม ความรุนแรงทางเพศ การกดขี่ทางเชื้อชาติ การทำร้ายร่างกาย การขู่กรรโชก และการหลอกลวง ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ก็ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ในเมื่อเรายังคงเห็นข่าวเหล่านี้ ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์
อย่างตัวละครของลูกครึ่งจีนก็ถือได้ว่าเป็นตัวละครหลักที่มีคุณธรรมมากที่สุดคนหนึ่งที่ต้องรับผลจากการกระทำอันน่าสยดสยองของตนเอง เพราะทุกการตัดสินใจของเขาไม่ได้ทำเพื่อความก้าวหน้า หรือความสุขของตนเองแม้แต้น้อย แต่เพื่อเลี้ยงดูลูก อย่างไรก็ดี เขาก็ทำผิด เมื่อเลือกที่ฆ่าคนเพื่อเงิน
แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะดำเนินเรื่องราวในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 30 วัน ตามวงจรการชำระหนี้ แต่เมื่อดูจนจบจะพบว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังพยายามบอกว่า ‘บาป’ จะยังไม่ถูกชำระล้างจนกว่าคนบาปจะได้ ‘รับผลสุดท้าย’
นอกจากเรื่องราวการทวงนี้อันนำมาสู่การฆาตกรรมอำพรางแล้ว คดีที่ซุกซ่อนและเป็นแกนหลักของวงจรอุบาทว์นี้กลับเป็นเรื่องของเด็กสาวมัธยมที่ถูกข่มขืน และเติบโตขึ้นมาพร้อมบาดแผลในใจอย่างเงียบเชียบ ในขณะผู้ชายที่ทำร้ายเธอกลับได้พบกับอิสระ แต่สิ่งที่เป็นข้อยืนยันว่ากรรมยังคงทำงานอยู่เสมอก็คือ ชีวิตของคนบาปไม่ได้ดีขึ้นเลยสักนิด อาจจะด้วยกมลสันดานเองส่วนหนึ่ง แต่กรรมก็ยังคงรุกคืบทำหน้าที่อย่างเชื่องช้าเที่ยงตรง แม้เวลาผ่านมานับทศวรรษ ดั่งเช่น ‘นาฬิกา’ ของคุณพ่อที่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น และการส่งกรรมผ่านหลายต่อหลายมือ จนมาอยู่ในมือของคนทวงหนี้
จุดพีคของเรื่อง คงไม่พ้น 15 นาทีหลังของตอนสุดท้ายที่ทำให้เห็นว่ากรรมไม่ได้จากไปไหน เมื่อการสวมรอยกลับกลายเป็นการ ‘รับกรรม’ ที่ยังไม่เสร็จสิ้น จนดูเหมือนเป็น ‘คำสาป’ แต่ความจริงนี่คือ ‘ความยุติธรรม’ ที่กรรมส่งมอบได้ ‘ถูกคน’ และ ‘สาสม’
ไม่ว่าจะในศาสนาใด คำว่ากรรมยังคงมีความหมายถึง ‘การกระทำ’ และกรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ หรือเลือกที่จะ ‘ส่งไม้ต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ก็ล้วนอยู่ที่การตัดสินใจ เพราะอย่าลืมว่าเมื่อไหร่ที่เรา ‘ล้ำเส้น’ ล้วนมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ เสมอ
เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์
ภาพ: Netflix
อ้างอิง:
Brennan Klein. New K-Drama Thriller Led By Squid Game Star Lands On Netflix's Global Chart In Less Than A Week. https://screenrant.com/karma-2025-show-netflix-viewership-global-success-streaming-charts/
Monika Kim. WORD: INYEON in the Past, a Potential Future. https://www.kinfolk.com/stories/word-inyeon/
Park Jin-hai.'Karma' Explores Twisted Fates of 6 Desperate Souls
https://www.koreatimes.co.kr/entertainment/shows-dramas/20250331/netflix-k-drama-series-karma-explores-twisted-fates-of-6-desperate-souls
Stanford Encyclopedia of Philosophy. Korean Buddhism. https://plato.stanford.edu/entries/korean-buddhism