ย้อนรอยประวัติศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุ ผ่านบทเพลง ‘ทับหลัง’ ของวงคาราบาว

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุ ผ่านบทเพลง ‘ทับหลัง’ ของวงคาราบาว

มองประวัติศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุ ผ่านบทเพลง ‘ทับหลัง’ ของวงคาราบาว ผู้ท้าทาย ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ ราชาเพลงป็อประดับโลก

KEY

POINTS

  • ไมเคิล แจ็กสัน เกี่ยวอะไร อย่างไร? เมื่อ ‘ราชาสามช่า’ ไทยแลนด์ ท้าทาย ‘ราชาเพลงป็อป’ ระดับโลก 
  • ไม่ใช่แค่ ‘ทับหลัง’ หากแต่เป็น ‘พระนารายณ์’ & การเปรียบเทียบข้ามบริบท ตัดต่อ ลดทอน และยกให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นจริง        
  • ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ กับ ‘เบียวประวัติศาสตร์’ จาก ‘ของเขมร’ เป็น ‘ของไทย

นับตั้งแต่การได้คืนทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ. 2564 และมาถึงการได้คืนประติมากรรม ‘โกลเด้น บอย’ และรูป ‘สตรีพนมมือ’ ในปีนี้ (พ.ศ. 2567) ต่อมาในโซเชียลมีเดียเริ่มมีผู้แจ้งเบาะแสโบราณวัตถุตามพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ที่มีประวัตินำออกไปจากประเทศไทย ซึ่งมีมากมายหลายแห่งด้วยกัน  

เฉพาะของจากเขตลุ่มน้ำมูน (เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ ‘มูล’) แถบศรีสะเกษกับบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นของร่วมวัฒนธรรมกับทับหลังและโกลเด้น บอย ที่เพิ่งได้คืนมานี้ ก็มีข้อมูลว่ายังมีตกค้างอยู่ในต่างประเทศอีกกว่า 300 รายการ   

การทวงคืนโบราณวัตถุและการได้คืนหรือยังตกค้าง จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเป็นเรื่องระดับมหากาพย์ของประเทศไทยในความสัมพันธ์กับต่างประเทศไปอีกนาน ได้คืนมาทีก็เกิดกระแสกันขึ้นยกใหญ่ที แล้วสักพักก็จะเงียบซาลง แต่เมื่อได้ของอีกสิ่งกลับคืนมา ก็จะเกิดเป็นกระแสใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เป็นแบบนี้วนไป    

ดังนั้น เมื่อพิจารณาว่าเรื่องนี้มีแนวโน้มจะเป็นมหากาพย์ จึงเกิดความสำคัญที่จะต้องมีการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการทวงคืนโบราณวัตถุอย่างเป็นการเฉพาะแยกออกมาต่างหากจากการศึกษาตัวโบราณวัตถุชิ้นที่ได้คืนมานั้น พูดให้ง่ายแต่คงเข้าใจยากสำหรับนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในไทยที่ยังหมกมุ่นอยู่แต่รูปแบบกับอายุสมัย ก็คือการทวงคืนโบราณวัตถุนั้นมีประวัติศาสตร์ของมันเองไม่เกี่ยวกับตัวโบราณวัตถุ  

ในที่นี้ผู้เขียนจะพาย้อนรอยรำลึกถึงการได้คืนโบราณวัตถุชิ้นแรกคือกรณี ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ เมื่อ พ.ศ. 2531 ในปีเดียวกันนั้นเอง ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างวงคาราบาว ได้ออกอัลบั้มทับหลัง มีเพลงนำชื่อเพลงทับหลัง เป็นเพลงฟังติดหูมาเท่าทุกวันนี้   

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุ ผ่านบทเพลง ‘ทับหลัง’ ของวงคาราบาว

ในแง่หนึ่งนั้นเพลงทับหลัง นับเป็นสีสันของการได้คืนโบราณวัตถุครั้งนั้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เพลงทับหลังก็มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความรับรู้และความทรงจำต่อการได้คืนโบราณวัตถุรวมทั้งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา  

เนื้อร้องเพลงทับหลัง:
        เราขอเอาคืน ของของเราเขาเอาไป เอาของเราไป ของคนไทยไปทำไม
เฮลิคอปเตอร์มาทำศึก ถึงเวียดนาม ตั้งฐานบนแดนไทย ขนเอาไปทุกสิ่งทุกอย่าง
คิดจะมาขอ ตั้งฐานต่อในเมืองไทย คิดจะมาง้อ ตั้งฐานทัพในเมืองไทย
เมืองพระนารายณ์ ทรงหายไปกับทับหลัง ฝังในศักดิ์ศรี ที่คนไทยมิเคยลืมเลือน
      นารายณ์ นารายณ์ นารายณ์ นารายณ์ นารายณ์ นารายณ์ นารายณ์ ทับหลัง
นารายณ์บรรทม ความชื่นชมในชนชาติ นารายณ์บรรทมเราชื่นชมไทยเป็นชาติ
มีประวัติศาสตร์ บนแผ่นดินแดนขวานทอง คล้องใจไทยทุกรุ่นสืบชาติตระกูลวัฒนธรรม
      นารายณ์ทับหลัง ไปอยู่ยังชิคาโก นารายณ์ทับหลัง ตั้งอยู่ยังชิคาโก
เป็นแท่นหินพันโล ให้เด็กถามเอามาจากไหน ไม่สนหรอกพระนารายณ์ ไม่ใช่ไมเคิล แจ็กสัน
      ฮา ฮา ฮา ฮา ( ฮา ฮา ฮา ฮา ) ฮา ฮา ฮา ฮา ( ฮา ฮา ฮา ฮา )
      ∗ เอาไมเคิล แจ็กสัน คืนไป เอาพระนารายณ์ คืนมา 
เพราะเราต่างกัน แตกต่างกันตรงหัวใจ เพราะเราต่างกัน ต่างกันตรงความเข้าใจ
ทับหลังนารายณ์ ไทยใช้เหนี่ยวรั้งความดี แต่คุณมีประดับบารมี สะสมสิ่งนี้เป็นรสนิยม
      คิดคนละทาง ไม่มีทางสร้างสันติ คิดคนละทาง ไม่มีทาง ไม่มีทาง
เทพีสันติภาพ ยืนหลับในไร้จุดหมาย แค่ทับหลังนารายณ์ คุณยังทับหลังคนไทย


 

ไมเคิล แจ็กสัน เกี่ยวอะไร อย่างไร? เมื่อ ‘ราชาสามช่า’ ไทยแลนด์ ท้าทาย ‘ราชาเพลงป็อป’ ระดับโลก 

เนื่องจากเป็นเพลงที่มีท่อนฮุคว่า “เอาไมเคิล แจ็กสัน คืนไป เอาพระนารายณ์ คืนมา” จึงนำมาสู่คำถามสำหรับคนที่เกิดไม่ทันหรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ (Michael Jackson) ไปเกี่ยวอะไรกับการทวงคืนโบราณวัตถุ ไมเคิล แจ็กสัน ใช่คนที่เอาทับหลังไปหรือไม่ หรือไมเคิล แจ็กสัน เป็นผู้ใดกันละหนอ ถึงได้มามีความสำคัญในระดับแลกเปลี่ยนกับ ‘พระนารายณ์’ ไปได้  

ในวัยเด็กเมื่อได้ฟังเพลงนี้ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกไม่ชอบชื่อ ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ เพราะคิดไปว่าเป็นผู้ที่ขโมยเอาทับหลังรูปพระนารายณ์ไป แต่เมื่อโตขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ได้ฟังเพลงของไมเคิล แจ็กสัน บางเพลง เช่น เพลง ‘Heal the World’ ก็กลับรู้สึกว่าเป็นเพลงที่เพราะดี มีความหมายดีมาก ๆ ด้วย ถึงได้เปลี่ยนมุมคิดใหม่ต่อไมเคิล แจ็กสัน    

ย้อนรอยประวัติศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุ ผ่านบทเพลง ‘ทับหลัง’ ของวงคาราบาว

ความที่วงคาราบาว เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ถือกำเนิดและโด่งดังมาทางแนวทางแบบชาตินิยม เห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ที่ออกมาก่อนหน้าอัลบั้มทับหลังแล้ว เป็นเพลงเพื่อชีวิตในท่ามกลางกระแสตลาดทุนนิยม ไม่เหมือนเพลงเพื่อชีวิตรุ่นก่อนหน้าที่เป็นเพลงฝ่ายซ้าย มีเป้าหมายอยู่ที่การปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่า ซึ่งเพลง ‘ถั่งโถมโหมแรงไฟ’ ของวงคาราวาน อธิบายได้เป็นอย่างดี กล่าวคือมีกลิ่นอายที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราวานในยุคก่อนป่าแตก กับเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราบาวในยุคหลังป่าแตก   

เมื่อเข้าสู่ตลาดทุนนิยมของเพลงเพื่อชีวิตเต็มตัว ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตจะพบกับ ‘ศัตรูใหม่’ ที่เป็นเพลงป็อปที่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว และในระดับโลก ไมเคิล แจ็กสัน ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชาเพลงป็อป’ (King of Pop) จึงจัดเป็นศัตรูตัวฉกาจของเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นไปด้วย อีกทั้งความที่ไมเคิล แจ็กสัน เป็นศิลปินที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์แบบอเมริกัน ซึ่งก็เป็นศัตรูดั้งเดิมของเพลงเพื่อชีวิต อเมริกาถูกสร้างภาพและเป็นที่รับรู้ในหมู่ฝ่ายซ้ายไทยว่าเป็น ‘จักรวรรดินิยมใหม่’ (New Imperialism) ที่เข้ามาล่าเมืองขึ้น  

การเอาไมเคิล แจ็กสัน ไปวางไว้เป็น ‘คู่ตรงข้าม’ (Binary opposite) กับสิ่งล้ำค่า ‘พระนารายณ์’ ก็เลยเหมือนได้ไล่ต้อนศัตรูเก่าของตนเองในพื้นที่ใหม่คือตลาดทุนนิยม ในสมัยนั้นวงคาราบาวจึงได้ภาพพจน์ที่เป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของเพลงเพื่อชีวิต แต่ขณะเดียวกันคาราบาวก็มีอะไรแปลกใหม่หลายอย่างที่ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในอดีตก่อนหน้าไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวงคาราวาน  

การท้าชนกับไมเคิล แจ็กสัน โดยวงดนตรีเพื่อชีวิตประเทศโลกที่สาม จะอยู่ในสายตาของ ‘ราชาเพลงป็อป’ ระดับโลกหรือไม่ ไม่อาจจะทราบได้ อย่างไรก็ตาม การท้าชนครั้งนี้ถูกมองเป็นการ ‘ชกข้ามรุ่น’ หรือ ‘ชกข้ามเวที’ แบบไกลกันลิบ เหมือนเป็นการได้ชดเชยปมบางอย่าง ในอีก 3 ปีต่อมา วงซูซู ซึ่งเป็นมิตรสหายกับวงคาราบาว ก็ได้มีผลงานเพลงเนื้อร้องยกย่องแอ๊ด คาราบาว เป็น ‘ราชาสามช่าเมืองไทย’ ขึ้นมาบ้าง  

“แอ๊ด ’บาว ไม่ใช่แอ๊ดธรรมดา ตำแหน่งราชาสามช่าไทยแลนด์”

แต่การท้าทายครั้งนี้จะรู้ไปถึงหูของไมเคิล แจ็กสัน หรือไม่ ไม่อาจทราบได้ ที่แน่ ๆ เมื่อไมเคิล แจ็กสัน เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก 2 รอบที่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2536 เขาก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากประชาชนชาวไทย มีเสียงบ่นด่าค่อนแคะจากป้า ๆ ลุง ๆ บูมเมอร์อยู่บ้างว่า ท่าเต้นลูบเป้าของไมเคิล แจ็กสัน นั้นเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชนชาวไทย แต่นอกนั้นก็ไม่มีอะไร  

อ้อ! ส่วนเรื่องการละเมิดทางเพศเด็ก ก็ได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาลแล้วว่า ไมเคิล แจ็กสัน ไม่มีความผิด ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะผู้ปกครองเด็กต้องการรีดไถเงินจากเขาเท่านั้น เรื่องก็เงียบไป แต่ความโด่งดังระดับโลกของ ‘ราชาเพลงป็อป’ ยังคงดำเนินต่อมาอีกหลายปีจนกระทั่งเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)   

ไม่ใช่แค่ ‘ทับหลัง’ หากแต่เป็น ‘พระนารายณ์’ & การเปรียบเทียบข้ามบริบท ตัดต่อ ลดทอน และยกให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นจริง        

เมื่อเอาไมเคิล แจ็กสัน มาวางเปรียบเทียบกับทับหลัง คาราบาวไม่เพียงทำให้ไมเคิล แจ็กสัน ดูต่ำกว่าของอีกสิ่ง แต่ของอีกสิ่งที่ถูกนำเอามาเปรียบกับไมเคิล แจ็กสัน ก็ถูกยกให้สูงขึ้นไปอีกเช่นกัน เนื้อเพลงเน้นย้ำว่าสิ่งที่เปรียบกับไมเคิล แจ็กสัน อยู่นั้นคือ ‘พระนารายณ์’ ไม่ใช่แค่ ‘ทับหลัง’ ที่หมายถึงของประดับตกแต่งปราสาทโบราณเท่านั้น  

เรื่องนี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตในยุคหลังป่าแตกเช่นกัน เพราะเทพเจ้าอย่างพระนารายณ์ พระศิวะ นั้น สำหรับปัญญาชนนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นต้นธารแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในอดีต ไม่ว่าจะเป็นผลงานของนายผี - อัศนี พลจันทร อุดม สีสุวรรณ จนถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ต่างก็มองรูปเคารพเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของระบบศักดินา กล่าวคือเป็นเทพของชนชั้นปกครอง ไม่เกี่ยวกับประชาชนตาดำ ๆ หาเช้ากินค่ำ   

ตรงข้ามกับไมเคิล แจ็กสัน นอกจากโด่งดังในฐานะเป็นศิลปินเพลงป็อปอเมริกันแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้รับยกย่องอย่างสูงจากคนผิวสีในอเมริกา เพราะเป็นคนข้ามผิวสี ถึงจะถูกกล่าวหาว่าใช้เงินฟอกผิว แต่ก็มีข้อมูลอีกด้านว่าเขาเป็นโรคผิวด่าง สีผิวจะค่อย ๆ ซีดจางจนขาวเปื่อย โดนแดดไม่ได้ จะรู้สึกแสบร้อน ชาวอเมริกันที่เป็นสายมูหรือคัล ๆ หน่อย ก็จะคิดว่าเขาเป็นแวมไพร์ 

แต่โรคประหลาดที่เขาเป็นนี้กลับทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นความสามารถของคนผิวสีและ ‘ทลายอุปสรรคทางเชื้อชาติ’ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิว (Anti-racism) จึงเห็นเขาเป็นกรณีตัวแบบที่สำคัญที่เป็นสิ่งยืนยันว่า คนผิวสีก็เป็นคนขาวได้ และในขณะเดียวกัน คนขาวก็เป็นคนผิวสีได้เช่นกัน อยู่ที่ความคิดและมุมมอง ไม่ใช่ที่สีผิวหรือเชื้อชาติเผ่าพันธุ์   

เนื่องจากเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เมื่อครั้งที่เขาเยือนแอฟริกา แจ็กสันเข้าไปยังหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือกาบองและอียิปต์ ที่กาบองเขาได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม มีคนมากกว่าหนึ่งแสนคนเข้ามาต้อนรับ บางคนถือป้ายเขียนไว้ว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน ไมเคิล” และในการเยือนไอวอรีโคสต์ แจ็กสันได้รับการสวมมงกุฎเป็น ‘King of Sani’ หรือ ‘ราชาแห่งซานิ’ โดยหัวหน้าเผ่าคนสำคัญที่อยู่ ณ ที่นั้น    

ไมเคิล แจ็กสัน ยังมีเกียรติประวัติจากการเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิชื่อเดียวกับเพลงฮิตของเขาคือ ‘Heal the World Foundation’ สำหรับช่วยเหลือเด็กยากจน ผู้ด้อยโอกาส ประสบภัยจากสงครามและโรคร้าย ทั้งในแอฟริกาและทั่วโลก  

แม้ว่าเรื่องการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะของไมเคิล แจ็กสัน จะถูกมองเป็นการสร้างภาพ แต่แทนที่ไมเคิล แจ็กสัน จะได้รับการมองอย่างยกย่องจากศิลปินเพลงเพื่อชีวิต เขากลับถูกนำไปเปรียบเทียบความสำคัญกับสิ่งของที่ถึงแม้จะสำคัญ แต่ก็คนละบริบท และเป็นผลประโยชน์ของวงคาราบาวในฐานะศิลปินเพลงเพื่อชีวิตในตลาดทุนนิยมเทปเพลงเอง    

การนำเอาไมเคิล แจ็กสัน ไปเปรียบเทียบกับพระนารายณ์ จึงเป็นการเปรียบเทียบข้ามบริบท กล่าวคือเป็นการเปรียบเทียบของสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาเปรียบเทียบกันตั้งแต่ต้น สิ่งหนึ่งเป็นมนุษย์จริง ๆ อีกสิ่งเป็นวัตถุโบราณที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ถึงจะเก่าแก่สำคัญแต่อย่างที่บอกคือมันคนละเรื่องละราวคนละจักรวาลกัน!       

‘เทพีสันติภาพ ยืนหลับในไร้จุดหมาย’ & ‘อเมริกา’ กับเงื่อนปมอาณานิคมแบบไทย ๆ

‘ทับหลัง’ เป็นเพลงอัลบั้มลำดับที่ 9 ของวงคาราบาว เดิมกำหนดออกจำหน่ายในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.  2531 แต่เมื่อทางสถาบันศิลปะนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ยินยอมให้นำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 อัลบั้มทับหลังก็ได้เลื่อนวันจำหน่ายออกไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ซึ่งตรงกับวันเกิดของหัวหน้าวงคาราบาว คือ คุณแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล 

เนื่องจากเนื้อหาของบทเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มเป็นเพียงการเรียกร้องให้กลับคืนมาซึ่งไม่กำหนดวันที่แน่นอน พอเมื่อสถานการณ์พลิกกลับจึงนำเพลง ‘แม่สาย’ ขึ้นมาเป็นเพลงนำร่องอีกเพลงหนึ่ง อัลบั้มนี้ยังมีเพลง ‘พระอภัยมุณี’ ที่ถูกต้องห้ามออกอากาศโดย ‘กบว.’ (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) อีกด้วย  

นั่นคือแรกเริ่มเดิมทีเพลงทับหลัง ถูกแต่งขึ้นและจะนำเสนอในฐานะเป็นส่วนสำคัญในการหนุนเสริมการเรียกร้องขอคืนทับหลัง ซึ่งผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องครั้งนั้นคือ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสมัยนั้น  การได้ทับหลังชิ้นดังกล่าวนี้คืนยังเป็นเหตุผลที่นำมาสู่การก่อตั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ขึ้นในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกด้วย  

แม้จะเป็นเพลงเพื่อเรียกร้องขอคืน โดยที่เมื่อแต่งขึ้นมานั้น ผู้แต่งอาจยังไม่ได้รับรู้ว่าไทยจะได้คืนโบราณวัตถุชิ้นนี้ แต่เมื่อบทเพลงได้ถูกนำเสนอออกไปภายหลังจากที่ได้คืนโบราณวัตถุเพียงไม่นาน ความหมายของเพลงก็เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง 

เนื่องจากสถานะของอเมริกาในความคิดของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายในอดีต อเมริกาเป็นตัวร้ายที่เข้ามารุกราน ทำสงครามในเวียดนาม ลาว กัมพูชา (เนื่องจากขบวนการเวียดกงมีฐานปฏิบัติการเชื่อมโยงกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชา ลาวและกัมพูชาจึงกลายเป็นสมรภูมิรบในสงครามเวียดนามไปด้วย)    

ประโยคในเนื้อเพลงที่ว่า “เฮลิคอปเตอร์มาทำศึก ถึงเวียดนาม ตั้งฐานบนแดนไทย ขนเอาไปทุกสิ่งทุกอย่าง คิดจะมาขอ ตั้งฐานต่อในเมืองไทย คิดจะมาง้อ ตั้งฐานทัพในเมืองไทย” จึงสะท้อนการแอนตี้อเมริกาที่ตกขอบมาจากยุคสงครามเวียดนาม เพราะในช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาที่สัตหีบ จ.ชลบุรี สำหรับลำเลียงกำลังพล เสบียงอาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ ไปยังสมรภูมิที่เวียดนาม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเมืองพัทยาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศสำหรับทหารอเมริกันในยุคนั้นอีกด้วย  

ควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่า การที่รัฐบาลเผด็จการทหารไทยในยุคนั้น มีส่วนร่วมต่อสงครามเวียดนาม โดยให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ ก่อให้เกิด ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในอินโดจีน มาจนถึงทุกวันนี้  

คนลาว คนขะแมร์ คนเวียด ยังเกลียดคนไทย มองคนไทยเป็นลูกกระจ๊อกของมหาอำนาจอย่างอเมริกามาเท่าทุกวันนี้ เป็นการเลือกข้างที่ผิดพลาดมาก แถมยังเป็นการเลือกข้างแบบสุดลิ่มทิ่มประตูไม่มีลิมิตอีกด้วย แต่ผลร้ายเกิดกับประชาชนชาวไทยคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยที่ไม่เคยได้ตระหนักกันเท่าที่ควรเลยว่า การตัดสินใจที่ไม่ใช่มติประชาชนของรัฐบาลเผด็จการทหารได้สร้างความเสียหายเรื้อรังอะไรไว้ให้ชนรุ่นหลังต้องมาตามล้างตามเช็ดกันบ้าง   

การเข้ามาตั้งฐานทัพรวมทั้งบทบาทต่าง ๆ อาทิ การปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ การพัฒนาสร้างถนนหนทาง สร้างความเจริญรุ่งเรือง เพื่อหวังว่าประชาชนจะไม่เห็นด้วยหรือเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ถูกมองจากอีกมุมหนึ่งว่าเป็นการยึดครองแบบใหม่ และเป็นการขยายอำนาจในฐานะ จักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นแบบใหม่’ นักวิชาการฝ่ายซ้ายในอดีตบางท่านเห็นว่า ฐานทัพอเมริกาในไทยสมัยนั้นคือสิ่งยืนยันว่าไทยเป็น ‘เมืองขึ้น’ ของสหรัฐอเมริกา  

การได้โบราณวัตถุอย่างทับหลังกลับคืนมาประเทศไทย จึงถูกให้นิยามความหมายว่าเป็นการได้รับชัยชนะของประชาชนชาวไทยต่อจักรวรรดินิยมอเมริกาไปด้วย เหมือนเป็นสิ่งชุบชโลมใจของอดีตซ้ายอกหัก เพราะเพิ่งผ่านเหตุการณ์ป่าแตกมาไม่ถึง 10 ปี ทั้งที่นั่นเป็นคนละบริบทกัน (อีกแล้วครับท่าน!)      

อันที่จริงจะว่าไป การแอนตี้อเมริกานี้อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ต่อเนื่องมีกลิ่นอายของเพลงเพื่อชีวิตในอดีตก่อนหน้า ทั้งนี้เพราะยังเข้ากับกระแสชาตินิยมในเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะคงอยู่สืบเนื่องในแนวคิดของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตทั้งวงคาราบาวและวงอื่น ๆ ต่อมาอีกหลายปีดีดัก    

ในส่วนของวงคาราบาวเองนั้น การแอนตี้อเมริกามองอเมริกาเป็นผู้ร้ายยังคงมีอยู่อย่างเห็นได้ชัดจนถึงช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก็มีเพลง ‘อเมริกันอันธพาล’ เพราะเชื่อว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังการทำลายเศรษฐกิจไทย ในขณะที่ก็มีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนมากออกมาบอกว่า ไม่ใช่แบบนั้นหรอกหนาพี่ ’บาวแดง!!!  

‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ กับ ‘เบียวประวัติศาสตร์’ จาก ‘ของเขมร’ เป็น ‘ของไทย’ 

นอกจากนี้เพลงทับหลัง ยังมีส่วนสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนจัดว่าเป็นอีกหนึ่งความ ‘เบียวประวัติศาสตร์’ เมื่อเพลงนำเสนอว่า ทับหลังนี้เป็น ‘ของไทย’ หรือ ‘ของคนไทย’ เช่น ที่ว่า ‘เราขอเอาคืน ของของเราเขาเอาไป เอาของเราไป ของคนไทยไปทำไม’ 
.
รวมทั้งประโยคที่นำเสนอความสำคัญของทับหลังว่า “นารายณ์บรรทม ความชื่นชมในชนชาติ นารายณ์บรรทมเราชื่นชมไทยเป็นชาติ  มีประวัติศาสตร์ บนแผ่นดินแดนขวานทอง คล้องใจไทยทุกรุ่นสืบชาติตระกูลวัฒนธรรม” 

ทั้ง ๆ ที่ในทางประวัติศาสตร์และแม้แต่นักโบราณคดีที่อนุรักษนิยมที่สุดก็ยังยอมรับว่า อย่าว่าแต่ทับหลังบางชิ้นเลย ปราสาททั้งหลัง รวมทั้งดินแดนอีสานใต้ในอดีตก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กรุงธนบุรีนั้นเป็นบริเวณที่มีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับอาณาจักรเขมรพระนครที่กัมพูชามาก่อน  
.
‘นเรนทราทิตย์’ ผู้สร้างปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เป็นเครือญาติใกล้ชิดกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ทั้งสองคือราชวงศ์มหินทรธรปุระ ที่แม้จะเป็นใหญ่อยู่แถบลุ่มแม่น้ำมูน (เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ ‘มูล’ เพราะ ‘มูน’ คำนี้ภาษาอีสานหมายถึง มรดก (มูนมัง) ไม่ใช่ ‘มูล’ ที่หมายถึงอุนจิแบบที่ภาษาไทยกลางเรียก)  

แต่เมื่อสยามเป็นใหญ่ได้ขยายอำนาจไปตีกัมพูชาและล้านช้างได้รับชัยชนะ ประกอบกับความเป็นศูนย์กลางการค้าและการติดต่อกับโลกภายนอกของอยุธยาและต่อมาคือกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนในดินแดนรอบนอกต่างเห็นประโยชน์จากการปฏิสัมพันธ์กับสยามในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดินแดนอีสานทั้งตอนบนและตอนใต้ถึงได้เข้ามาขึ้นกับสยาม ความเข้าใจประวัติศาสตร์ตรงนี้สูญหายไปไม่ได้ถูกนำเสนอในบทเพลง บทเพลงนำเสนอประหนึ่งว่าอีสานใต้และทับหลังเป็น ‘ของไทย’ มาตั้งแต่ต้นโบร่ำโบราณ  

อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะในรุ่นทศวรรษ 2500 - 2530 ที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นคาราบาว ก็นำเสนอประวัติศาสตร์ไทยในลักษณะเดียวกันนี้ คือดินแดนประเทศไทยถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้จึงเป็นของไทยไปเสียทั้งหมด ไม่มีประวัติศาสตร์ของล้านนา อีสาน และภาคใต้ ที่เป็นอิสระจากสุโขทัย - อยุธยา - ธนบุรี - รัตนโกสินทร์  

อีสานตอนบนนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของล้านช้าง ขณะที่อีสานใต้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา ดินแดนอาณาจักรต่าง ๆ มีการขยับปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แล้วแต่ว่าสมัยไหน อาณาจักรใดมีผู้นำที่มีอานุภาพมาก ดินแดนก็จะขยายใหญ่โต บางช่วงมีอานุภาพน้อยหรือไม่หมกมุ่นกับการขยายอำนาจไปภายนอกมาก ดินแดนก็น้อยลง เป็นเช่นนั้นอยู่นาน จวบจนกระทั่งการเข้ามาของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19     

กลุ่มคนที่สร้างทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จึงเป็นคนละกลุ่มกับคนที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง แต่ถูกบดบังจากประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เน้นศูนย์กลาง กดคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ไทยให้เป็น ‘ชายขอบ’ (Marginalized) คนเก่าแก่ดั้งเดิมในเขตอีสานใต้ถูกสร้างวาทกรรมเรียกอย่างดูถูกดูแคลนว่า ‘เขมรป่าดง’ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมระดับสูงในแบบของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันชนชั้นนำสยามก็แอบอ้างตนเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของบรรพชนของคนเหล่านี้อย่างปราสาทโบราณต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่อีสานใต้      

ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง จำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ไทยแท้ เพราะมีทั้งคนที่สืบทายาทมาจากชาวจีนเสื่อผืนหมอนใบในสมัยอยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ หรือคนลาวที่เพิ่งถูกกวาดต้อนมาในสมัยธนบุรีและรัชกาลที่ 3 อีกจำนวนมากก็เป็นทายาทของเขมรและหรือมอญที่อพยพลี้ภัยเข้ามาหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน ล้วนแต่ไม่ได้สืบชาติตระกูลต่อเนื่องมาจากผู้สร้างทับหลังที่ปราสาทพนมรุ้งหรือใครที่ไหนก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด  

แล้วยิ่งเมื่อลัทธิอาณานิคมตะวันตกปลุกเร้าให้เกิดอาณาเขตดินแดนที่รัฐชาติจะใช้เคลมต่อมา รัฐชาติไทยสยามทั้งที่ตัวเองเพิ่งเกิดใหม่ ก็ไปอ้างความสืบเนื่องเกี่ยวข้องย้อนหลังกลับไปจนถึงยุคดึกดำบรรพ์ ทั้ง ๆ ที่แสดงตัวต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก แต่อีกด้านในการเมืองและความสัมพันธ์ภายใน ชนชั้นนำสยามที่กรุงเทพฯ ก็ล่าอาณานิคมภายในอยู่อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน  

ด้านหนึ่งกระทำการโจมตีอาณานิคมตะวันตกที่เที่ยวริบเอาโบราณวัตถุของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมไปเป็นของตน แต่อีกด้านตัวเองก็กลับกระทำเช่นเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมทำ อย่างการใช้อำนาจไปเที่ยวเก็บริบเอาโบราณวัตถุของท้องถิ่นมาเป็นของตนเองเก็บไว้และจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ (ซะงั้น)    

อย่างไรก็ตามเมื่อตัวปราสาทและทับหลังมาตกอยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศไทย การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไม่อิงชาตินิยม (เพราะอย่างที่บอกชาตินิยมมีอีกด้านที่เป็นส่วนต่อขยายมาจากลัทธิอาณานิคม) เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องสนับสนุนกันต่อไป เมื่อไหร่นักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปกรรมในไทยจะมีมุมมองการอธิบายความสำคัญของศิลปวัตถุและโบราณสถานด้วยแง่คอนเซ็ปต์ที่ไม่อิงความเป็น ‘สมบัติชาติ’ (ก็ไม่รู้เหมือนกัน) 

การอธิบายแบบนั้น (สมบัติชาติ) ไม่เวิร์กอย่างไรบ้าง อันนี้ว่ากันยาว  คงต้องไว้โอกาสอื่น...      

ที่แน่ ๆ ของบางอย่างที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตนั้น ปัจจุบันเป็น ‘ของไทย’ (ก็จริง) แต่ในอดีตอาจเป็น ‘ของเพื่อนบ้าน’ ก็ได้ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องใจกว้างและกล้ายอมรับความจริง การมีของของผู้อื่นในบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะทำให้อีกประเทศมาอ้างเคลมเอาไปได้ง่าย ๆ อย่างที่คิด (นี่สมัยไหนแล้วลุง ตื่น ๆ)     

เมื่อได้คืนกลับมาแล้ว ก็ไม่ควรจะกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในที่พิพิธภัณฑ์ของส่วนกลาง ควรจัดส่งกลับไปยังถิ่นเดิมที่ของเหล่านี้เคยอยู่ เช่นที่เมื่อทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้คืนกลับประเทศไทยก็ได้กลับบ้านที่บุรีรัมย์ หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ‘โกลเด้น บอย’ กับ ‘สตรีพนมมือ’ จะได้กลับบุรีรัมย์เช่นกัน ยิ่งให้อยู่กรุงเทพฯ นานเท่าไร ไทยยิ่งเป็น ‘อิเหนา’ นานไปเท่านั้น (!?!)                

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์ 

ภาพ : ภาพปกอัลบั้มทับหลังจากยูทูบ Carabao Official และภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากกรุงเทพธุรกิจ