‘กันตรึม’ กับ ‘มรดกโลกศรีเทพ’ ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

‘กันตรึม’ กับ ‘มรดกโลกศรีเทพ’ ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

เมื่อการแสดงดนตรี ‘กันตรึม’ โดยศิลปินคือ ‘น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์’ ถูกยกเลิกการแสดงที่เมืองศรีเทพ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อะไรคือ ‘วัฒนธรรมในพื้นที่’ ของมรดกโลกศรีเทพ?

KEY

POINTS

  • ‘กันตรึม’ เป็นดนตรีพื้นถิ่นอีสานใต้ ไม่ใช่กัมพูชา    
  • ความสัมพันธ์ศรีเทพกับอีสานใต้ 
  • อะไรคือ ‘วัฒนธรรมในพื้นที่’ ของมรดกโลกศรีเทพ? 
  • ‘คนศรีเทพ’ (รุ่นปัจจุบัน) กับ ‘คนอีสาน’ ใช่อื่นไกล  

เมื่อทราบข่าวจากเฟซบุ๊กอาจารย์สุกรี เจริญสุข และรายงานจากสำนักข่าวถึงกรณีที่การแสดงดนตรี ‘กันตรึม’ โดยศิลปินคือ ‘น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์’ (นางสำรวม ดีสม) ได้ถูกยกเลิกการแสดงที่เมืองศรีเทพ เนื่องจากทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้ให้เหตุผลท้วงติงว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่’ 

เรื่องนี้นอกจากก่อให้เกิดประเด็นคำถามว่า อะไรคือ ‘วัฒนธรรมในพื้นที่ศรีเทพ’ และอะไรที่ไม่ใช่ แล้วยังก่อประเด็นคำถามต่อนิยามความเป็นเมือง ‘มรดกโลก’ ของศรีเทพโดยตรงอีกด้วย  

‘กันตรึม’ ไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่ศรีเทพจริงหรือ? แล้วเหตุใด ทำไม ‘ออร์เคสตรา’ ที่ได้รับอนุญาตให้แสดงได้โดยไม่มีปัญหาอย่างใดเลยนั้น ถึงไม่มีข้อหาว่า ‘ไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่’

กลายเป็นว่าดนตรีฝรั่งได้รับอนุญาตให้แสดงในพื้นที่ได้ แต่ดนตรีพื้นถิ่นที่มีรากกำเนิดในดินแดนประเทศไทยเองกลับต้องห้าม ครั้นจะว่าเพราะเกรงว่า ชาติอื่นจะมาเคลมมาอ้างเอาอะไรไปเป็นของตน ก็ดูเหลือเชื่อ หากหน่วยงานรัฐยังต้องมากังวลกับเรื่องไม่เป็นเรื่องถึงเพียงนี้  

‘กันตรึม’ เป็นดนตรีพื้นถิ่นอีสานใต้ ไม่ใช่กัมพูชา           

การบอกว่ากันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมพื้นที่ศรีเทพ สะท้อนความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหลายประการ นักวิชาการท้องถิ่นเมืองเพชรบูรณ์ เช่น อาจารย์วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในเรื่องนี้ จริงอยู่ว่ากันตรึมเป็นดนตรีที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาขะแมร์ แต่อย่าลืมว่าคนขะแมร์ที่ว่านี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะขะแมร์ที่ประเทศกัมพูชา คนอีสานใต้จำนวนไม่น้อยก็มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นขะแมร์  

เพื่อจำแนกแตกต่างจากขะแมร์ที่กัมพูชา จึงมีการนิยามเรียกขะแมร์ในอีสานใต้ว่า ‘เขมรสูง’ หรือ ‘ขะแมร์สูง’ ตรงข้ามกับ ‘ขะแมร์ต่ำ’ คำว่า ‘สูง’ กับ ‘ต่ำ’ ในที่นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับชนชั้นวรรณะใด ๆ หมายถึงคนที่เขตที่ราบสูงกับที่ราบต่ำ ถึงได้มีคำว่า ‘ที่ราบสูงโคราช’ กับ ‘ที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร’ (โตนเลสาบ) 

ในประวัติศาสตร์ชาวขะแมร์ทั้งสองเขตนี้ต่างก็เคยมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาช้านาน กษัตริย์ผู้สร้างนครวัดอย่างพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สถาปนานครธมอย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต่างก็มีพื้นเพไปจากเขตที่ราบสูงโคราชนี้ เรียกว่า ‘ราชวงศ์มหินธรปุระ’  

‘วิมายปุระ’ หรือ เมืองพิมาย ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ก็เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกัมพูชา เมื่อกษัตริย์ราชวงศ์มหินธรปุระบางองค์โปรดเสด็จมาประทับว่าราชกิจอยู่ที่พิมาย เมื่อก่อนนั้นกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เสด็จฯ ไปประทับและว่าราชกิจอยู่ที่ใด ที่นั่นแหละเป็นเมืองหลวง  

และเพราะความสำคัญของเขตที่ราบสูงโคราชนี้เอง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถึงได้ให้สร้าง ‘ราชมรรคา’ (Royal road) เป็นถนนหลวงจากพิมายถึงนครธม ระหว่างทางยังมีการสร้างศาลาที่พักริมทางที่เรียกว่า ‘บ้านมีไฟ’ และอโรคยาศาลอีกกว่า 102 แห่ง  

เพราะความสำคัญของอีสานใต้ในฐานะภูมิลำเนาเดิมของชนชั้นปกครอง อีสานใต้จึงมีฐานะเป็นดินแดนบรรพชนของคนในลุ่มทะเลสาบเขมรที่อยู่ตอนล่างของอาณาจักร โบราณสถานประเภทปราสาททั้งเนื่องในศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย ไศวนิกาย ทั้งพุทธศาสนานิกายมหายานหรือบายน (Bayon) ตลอดจนประติมากรรมเทวรูป รูปพระโพธิสัตว์ รูปฉลองพระองค์ (รูปเหมือนของกษัตริย์) ถึงได้พบมากในเขตอีสานใต้ ประติมากรรม ‘โกลเด้น บอย’ กับ ‘สตรีพนมมือ’ ที่เพิ่งได้คืนมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

‘กันตรึม’ กับ ‘มรดกโลกศรีเทพ’ ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

นั่นคือร่องรอยที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ทุกวัฒนธรรมย่อมต้องมีสิ่งอันเป็นนามธรรมหรือแบบแผนวัฒนธรรมบางอย่างที่สืบเนื่อง นอกจากรูปเคารพและโบราณสถานแล้ว อีสานใต้ยังเป็นดินแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ขะแมร์ - กูย ตั้งรกรากอยู่มาก อยู่กันมาช้านาน ประวัติศาสตร์ของคนที่นี่มีมาก่อนประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยาไม่รู้กี่ร้อยปี เพราะอย่างที่บอกแถบนี้คือดินแดนบรรพชน ดินแดนแบบนี้ย่อมเป็นที่ที่มีความเชื่อเรื่องผีบรรพชน (Ancestor warship) 

‘กันตรึม’ นั้น เดิมเป็นการแสดงเนื่องในพิธีกรรมบูชาผีบรรพชน ก่อนจะปรับปรุงมาสู่การแสดงดนตรีเพื่อความบันเทิงของประชาชน นิยมเล่นกันในแถบจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ภูมิภาคอีสานนั้นเป็นอีกดินแดนที่มีความหลากหลาย อีสานไม่ได้มีเฉพาะคนลาว มีขะแมร์ กูย (หรือกวย) จีน เวียด ผู้ไท ญ้อ ข่าหรือขมุ ฯลฯ (อีกมากมายสารพัด) หากแต่เพราะวัฒนธรรมหลักในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นลาว บ่อยครั้งหากมองจากภายนอก ดูเหมือนอีสานเป็นลาวไปทั้งหมด แต่ที่จริงไม่ใช่ และก็เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร  

เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมาขึ้นกับสยาม ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า ช่วงเวลาที่อีสานใต้ยังอยู่กับกัมพูชาหรือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชานั้นเป็นช่วงเวลายาวนานกว่าช่วงที่ถูกผนวกรวมเข้ากับสยามมาไม่รู้กี่ร้อยปี วัฒนธรรมไทยสยามต่างหากที่เป็นของประหลาดไม่เข้าพวกกับเขา    

ความสัมพันธ์ศรีเทพกับอีสานใต้ 

หลังจากศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประชาชนชาวไทยเคลมก็กำเริบเสิบสานได้ใจกันใหญ่ เอาศรีเทพไปขิงใส่คู่อริที่เป็นชาวเคลมโบเดีย แต่พฤติกรรมแบบเด็กวัยรุ่นยกพวกตีกันเอามันส์แบบนั้นไม่เพียงไม่ได้ช่วยอะไร ยังจะเพิ่มเรื่องให้บาดหมางกับเพื่อนบ้าน แทนที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ กลับชวนกันไปทะเลาะตบตีกับคนอื่น  

การได้ขึ้นทะเบียนเพียงที่เดียวเดี่ยวโดด นำมาซึ่งการยกย่องกันจนเวอร์หลุดลอยไปกว่าที่เป็นจริงไปไกลลิบ ศรีเทพไม่ใช่ ‘พ่อทุกสถาบัน’ ไม่ใช่ต้นกำเนิดเพียงหนึ่งเดียวของสยามประเทศแต่อย่างใด ตรงข้ามศรีเทพมีมิติเป็น ‘ลูก’ หรือทายาทที่สืบรับมรดกวัฒนธรรมมาจากที่อื่นอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจากแดนไกลอย่างอินเดีย จีน เปอร์เชีย ศรีลังกา วัฒนธรรมจากแดนข้างเคียงอย่างพุกาม ทวารวดี จามปา ขะแมร์ (ทั้งก่อนสมัยพระนครและสมัยพระนคร)       

ศรีเทพยังมีเส้นทางการค้าและการคมนาคมติดต่อกับเขตอีสานใต้ ผ่านช่องเขาในเขตลำสนธิ เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำมูนที่พิมาย ศรีเทพจึงพบของสำคัญอย่างรูปสลักพระโพธิสัตว์ที่มีลักษณะแบบเดียวกับประติมากรรมที่พบในเขตอีสานใต้ อยู่ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์   

สถานที่สำคัญในเขตเมืองศรีเทพอย่างปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ฤาษี ที่มีอยู่พร้อมกับสระบารายและทับหลัง ก็เป็นปราสาทที่แสดงความสัมพันธ์กับปราสาทที่พบหลายแห่งในอีสานใต้ ไม่ต้องเสียเวลาไปสร้างแง่มุมวิวัฒนาการรูปแบบให้ไม่เป็นขะแมร์ให้เหนื่อยเปล่าแต่อย่างใดเลย    

ไหนจะมีการพบจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าภววรมัน ที่สะท้อนการรับรู้ถึงอำนาจและอิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชาที่มาถึงแถบอีสานใต้ เมื่อเจ้าชายจิตรเสน (มเหนทรวรมัน) พระราชอนุชาของพระเจ้าภววรมันกำลังยกทัพบุกตะลุยไปทั่วทิศเพื่อรวบรวมอาณาจักรอยู่ในแถบอีสานและภาคตะวันออกเวลานั้น     

ในรายการเครื่องถ้วยข้าวของเครื่องใช้ที่ขุดพบก็มีของผลิตจากแหล่งเตาบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงการค้าและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างศรีเทพกับกลุ่มขะแมร์สูงในอีสานใต้เป็นอย่างดี และอีสานใต้ก็อยู่ในเส้นทางที่ชาวศรีเทพสามารถใช้เดินทางไปติดต่อกับเขตที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร ไดเวียด และจามปา ได้อีกด้วย  

ไหนจะทฤษฎีเก่าของอาจารย์ธิดา สาระยา ที่ว่า ศรีเทพคือ ‘ศรีจนาศะ’ คำว่า ‘ศรีจนาศะ’ พบในจารึกของเมืองโฆราฆปุระ ในเขต อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ถึงศรีเทพจะใช่ศรีจนาศะจริงหรือไม่ จะยังคงเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่ทว่าจารึกก็สะท้อนประเด็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันแน่ ๆ ระหว่างศรีเทพกับเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกันในแถบอีสานใต้   

อะไรคือ ‘วัฒนธรรมในพื้นที่’ ของมรดกโลกศรีเทพ? 

มุมมองต่อวัฒนธรรมแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมเผยแพร่นั้นมีนักวิชาการติติงกันมานักต่อนักแล้วว่า เป็นการมองวัฒนธรรมแบบแช่แข็ง มุ่งสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงอย่าง ‘วัฒนธรรมชาติไทย’ ไม่มองวัฒนธรรมในแง่ที่เป็นสิ่งลื่นไหลและผันแปรไปตามเหตุปัจจัยในแต่ละยุคสมัย วัฒนธรรมแบบตั้งอยู่โดดเดี่ยวเปล่าเปลี่ยวเอกานั้นไม่มี มีแต่วัฒนธรรมที่เป็นผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น ๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รัฐชาติไทย’ นั้น เป็นสิ่งเพิ่งมีภายหลังเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มานี้ ไม่ได้มีความเก่าแก่สืบย้อนกลับไปจนถึงศรีเทพ ดังนั้นหากเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมศรีเทพโบราณ’ แล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเริ่มต้นโดยการสแกนหาความเป็นไทยแท้ จะเข้าใจวัฒนธรรมศรีเทพโบราณ ต้องเริ่มจากการเข้าใจวัฒนธรรมอินเดียโบราณ จีนโบราณ ลังกา เปอร์เชีย เป็นต้น แค่พระศิวะที่ปรากฏบนทับหลังปรางค์ในเมืองศรีเทพ ก็ไม่ไทยแล้ว แถมจารึกภาษาที่พบก็อักษรปัลลวะ บ้างก็อักษรขอมไปอีก (ขอมก็คือเขมรโบราณ)     

อย่างไรก็ตาม การที่ศรีเทพเป็นแหล่งที่พบการรับวัฒนธรรมจากภายนอก กลับเป็นจุดเด่นที่ส่งผลทำให้การได้ขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’ เกิดความสมเหตุสมผล เพราะ ‘มรดกโลก’ ก็คือมรดกร่วมของมนุษยชาติ หากเป็นแค่มรดกของชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ไม่อาจถือเป็น ‘มรดกโลก’ ในทางเนื้อหาสาระได้แต่อย่างใด  

ความเป็นมรดกโลกยังหมายถึงการเป็นพื้นที่ที่จะต้องเปิดกว้างแด่คนทุกหมู่เหล่า นั่นต่างหากที่ทำให้ศรีเทพเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าน่าเที่ยวชม การที่ออร์เคสตราไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่ ไม่ได้หมายความว่าออร์เคสตราไม่ควรแสดงในพื้นที่แต่อย่างใด เช่นเดียวกัน จะกันตรึม ลูกทุ่ง หมอลำ ลิเก โนราห์ หรือการแสดงศิลปะแขนงใด ๆ ก็มีสิทธิจะเล่นให้คนไปศรีเทพได้ชมได้ทั้งนั้น ยิ่งเป็นมรดกโลก ยิ่งเป็นที่ที่ควรจะมีการจัดแสดงวัฒนธรรมจากต่างถิ่นต่างแดน  

เมืองโบราณไม่ใช่จะต้องมาทำทุกอย่างให้เป็นโบราณ สามารถแอพพลายของร่วมสมัยเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ยังไงก็ไม่มีทางฟื้นคืนความโบราณได้เต็มร้อย ที่ทำได้จริงก็เพียงแฟนตาซีทั้งนั้นแหละ ชุดโบราณที่สวมใส่กันไปถ่ายรูปในสถานที่แบบนี้ยังไงก็เป็นชุดที่ตัดกันใส่ในยุคปัจจุบัน ชุดโบราณที่อาจขุดหาได้จากหลุมศพที่ไหน ยังไงก็ไม่เหมาะจะเอามาใช้  

สำหรับดนตรีแล้ว ยิ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะขืนไปฟังแต่เฉพาะเพลงโบราณ (ที่ต่อให้หามาฟังได้) ก็ไม่เข้ากับที่ใด ๆ เพราะคนที่ไปเที่ยวเยี่ยมชมเมืองโบราณ ยังไงก็เป็นคนรุ่นปัจจุบันที่มีรสนิยมการฟังเพลงแตกต่างจากคนในอดีต ไม่ต้องอดีตย้อนกลับไปจนถึงสมัยศรีเทพโบราณ เอาแค่ไม่กี่สิบปีผ่านมานี้ก็รู้แล้วว่า เพลงที่ฟัง ๆ กันอยู่นี้ต่างจากเพลงฮิตในอดีตแค่ไหนอย่างไร    

มรดกโลกกับ ‘ศิลปะข้ามพรมแดน’ ทำไมจะไปด้วยกันไม่ได้?  

วัฒนธรรมดนตรีอีสานในรุ่นปัจจุบันนี้ งานของอาจารย์พัฒนา กิติอาษา ก็เคยเสนอว่าจัดเป็น ‘ศิลปะข้ามพรมแดน’ คือไปไกลกว่ารัฐชาติไทยไปแล้ว กันตรึมเคยมีศิลปินนักร้องและวงดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับข้ามชาติมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เฉลิมพล มาลาคำ, คง มีชัย หรือร็อคคงคย, ดาร์กี้ กันตรึมร็อค เป็นต้น 

กรณีศิลปินอย่าง ‘น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์’ นอกจากมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในแถบอีสานใต้บ้านเฮาแล้ว ยังมีชื่อดังไกลเคยไปแสดงในต่างประเทศมามาก อาทิ พ.ศ. 2529 ร่วมแสดงดนตรีพื้นบ้านนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้, พ.ศ. 2538 ร่วมการแสดงดนตรีพื้นบ้านที่ สปป.ลาว, พ.ศ. 2543 ร่วมการแสดงที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน, พ.ศ. 2544 ร่วมการแสดงพื้นบ้านที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลากว่า 33 วัน  

‘กันตรึม’ กับ ‘มรดกโลกศรีเทพ’ ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

ภาพจาก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลายเป็นว่าดนตรีที่ได้รับเกียรติจากต่างประเทศให้ร่วมแสดงด้วยในงานสำคัญระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในต่างประเทศ ในประเทศอันเป็นถิ่นกำเนิดของตนเอง แม้แต่สถานที่เมืองโบราณที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกลับมาถูกกีดกัน จะโทษแต่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก็กระไรอยู่ ในเมื่อเป็นประเทศที่ชนชั้นนำคลั่งไคล้ใหลหลงและยกย่องแต่วัฒนธรรมไทยกระแสหลัก  

อุปสรรคไม่ได้มาจากประชาชน มาจากองค์ความรู้คับแคบและตื้นเขิน ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่มีลักษณะหลากชาติหลายพันธุ์ อันที่จริงปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะกับศรีเทพ เมืองโบราณอื่น ๆ ก็มีปัญหาให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก  

อย่างช่วงที่ผู้เขียนยังสอนหนังสืออยู่ที่อยุธยา ก็เคยมีเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านจะห้ามไม่ให้มีโรตีสายไหม หรืออย่างกรณีที่วัดเก่าแก่โบราณแห่งหนึ่งประกาศจะรื้อสุสานจีนเอาไปทำลานจอดรถ โดยที่การกระทำทั้งสองกรณีนี้มีการอ้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง  

เนื่องจากว่าโรตีสายไหมเป็นของใหม่ เพิ่งทำขายกันเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ไม่ได้เป็นของมีอายุเก่าย้อนไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องชี้แจงบอกกล่าวว่า จริงอยู่โรตีสายไหมนี้เป็นของใหม่ ไม่เกี่ยวไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรียังไม่แตก แต่นี่คือการทำขนมหาเลี้ยงชีพของคนมุสลิมในอยุธยา ถามว่าคนมุสลิมในอยุธยามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาก็มีมาตั้งรกรากอยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเมืองอยุธยามาตั้งแต่โน่นครั้งบ้านเมืองอยุธยายังดีอยู่นั่นแหละ  

เพียงแต่ว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพของคนก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จะให้มาต่อเรือ ฟั่นเชือก ทำกะลามะพร้าว อยู่เหมือนบรรพชนรุ่นกรุงศรี ก็อดตายไม่มีกินกันพอดี เขาก็ต้องเปลี่ยนวิถีการยังชีพเป็นเรื่องปกติ โรตีสายไหมที่เป็นของกินประดิษฐ์ขึ้นมาจากชุมชนมุสลิมอยุธยา ก็จึงเป็นของเกี่ยวเนื่องกับอยุธยาได้ และ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา’ ก็ไม่ควรมีแค่ ‘ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา’ มันยังมีช่วงเวลายุคสมัยหลังจากนั้นมาอีก เช่น มีอยุธยาสมัยธนบุรี, อยุธยาสมัยต้นรัตนโกสินทร์, อยุธยาหลัง 2475, อยุธยาหลัง 2500 เป็นต้น  

กรณีสุสานจีนหน้าถนนตรงข้ามวัดพนัญเชิงก็เช่นกัน เมื่อขึ้นป้ายประกาศให้ญาติมาขุดเอากระดูกออกไปเพื่อที่ทางวัดจะได้จัดทำเป็นลานจอดรถเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ก็มีเหตุผลซัพพอร์ตอยู่ว่าไม่ใช่สุสานเก่าแก่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสุสานที่เพิ่งมีเมื่อปลายทศวรรษ 2490  

แต่คำถามก็คือคนจีนที่ถูกนำร่างมาฝังไว้ ณ ที่แห่งนั้น เป็นคนจีนจากไหน ก็คนจีนในอยุธยา ถามว่าจีนอยุธยาสืบรากมาจากไหน ก็ย้อนกลับไปถึงกรุงศรีอยุธยา บางท่าน เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในผลงานเล่ม ‘อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง’ เสนอด้วยซ้ำไปว่า มีชุมชนจีนอยู่ในบริเวณปากน้ำแม่เบี้ยมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893  

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็แล้วทำไมคนจีนจะไม่มีสิทธิฝังร่างบรรพชนอยู่ในสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของพระนครศรีอยุธยาด้วยล่ะ? จะไปติดแค่ว่าเป็นสุสานใหม่ไม่ใช่สุสานเก่า หัวข้อทำนองนี้หากใช้กับโบราณวัตถุหรือโบราณสถานอื่นใด ก็ไม่มีปัญหาหรอก เช่นจะไปติติงว่าพระพุทธรูปองค์นั้นองค์นี้เป็นของทำใหม่ ไม่ใช่ของเก่าโบราณ ตามเหตุผลและหลักฐาน 1 2 3 4 ฯลฯ ย่อมทำได้ แต่กับ ‘คน’ ทำแบบนั้นไม่ได้  

คนก็คือ ‘คน’ จะใหม่ จะเก่า มาจากไหน ก็คือ ‘คน’ !    

‘คนศรีเทพ’ (รุ่นปัจจุบัน) กับ ‘คนอีสาน’ ใช่อื่นไกล   

เมืองศรีเทพโบราณนั้นถึงแม้จะมีอีกกระแสหนึ่งว่าไม่เคยร้างไป ผู้คนเพียงแค่อพยพย้ายถิ่นไปบริเวณใกล้เคียงอย่างที่วิเชียรบุรีและชัยบาดาลเท่านั้น ไม่เหมือนอย่างที่คนรุ่นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชื่อตามตำนานว่าร้างไปเพราะโรคระบาดร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บริเวณเมืองศรีเทพโบราณก็เกิดสภาพผู้คนเบาบางลงกว่าในรุ่นก่อนอยุธยาจริงนั่นแหละ ความสำคัญของย่านศรีเทพในรุ่นอยุธยาเป็นลำดับมานั้นเป็น ‘เมืองศาสนา’ และ ‘แหล่งพิธีกรรม’

แต่ในรุ่นหลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยแรก (พ.ศ. 2481 - 2487) ได้มีนโยบายปฏิรูปที่ดินตั้งพัฒนานิคม กรมประชาสงเคราะห์ และต่อมาที่มีผลอย่างมากคือนโยบายย้ายเมืองหลวงมาที่เพชรบูรณ์ ถึงแม้ว่านโยบายหลังนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนเมืองและการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในย่านลุ่มแม่น้ำป่าสักค่อนข้างมาก ยิ่งเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมต่อระหว่างเพชรบูรณ์กับสระบุรีที่ อ.เสาไห้ แล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนเข้ามาใหม่ในพื้นที่มาก  

ผู้คนที่อพยพเข้ามาใหม่ระลอกนี้ซึ่งมีผลต่อการกลับฟื้นเป็นย่านเกษตรกรรมสำคัญระดับประเทศก็คือ ‘คนอีสาน’ และเพราะคนอีสานเข้ามาตั้งรกรากหักร้างถางพงทำไร่ไถนากันมาก ศรีเทพก็เกิดความสำคัญจนตั้งเป็นอำเภอใหม่ขึ้นมาแยกจากอำเภอวิเชียรบุรีในเวลาต่อมา และคนศรีเทพที่ว่านี้ก็เป็นมนุษย์ยุคใหม่ที่รู้จักใช้รถ ใช้ถนน รู้จักไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่ใช้เรือ ใช้เกวียน ขี่ม้าส่งเมือง พิราบสื่อสาร ฯลฯ เหมือนในอดีต  

การบอกว่าวัฒนธรรมดนตรีของคนอีสานไม่ใช่วัฒนธรรมในพื้นที่ น่าจะเกิดจากการบอกโดยไม่ได้พิจารณาประเด็นสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่คนศรีเทพไม่ใช่คนโบราณยุคทวารวดีมาตั้งนานนมแล้ว คนพื้นที่ศรีเทพในรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่คือ ‘คนอีสาน’ ที่อพยพเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินในรอบไม่กี่สิบปีย้อนหลังมานี้  

ไม่เชื่อก็ลองเดินสำรวจไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ดู เว้าอีสานกันทั้งนั้น ไหนจะยุ้งฉาง พิธีกรรมวันสำคัญ ถ้าบอกว่าคืออีสาน ไม่ใช่ศรีเทพ ก็จะมีคนเชื่อ เพราะก็คนกลุ่มเดียวกัน วัฒนธรรมการกินอยู่ การใช้ชีวิตเหมือนกัน มีงานบุญงานบวชก็มีหมอลำ มีกันตรึม กันในท้องถิ่นตามปกติ ไปถามคนพื้นที่ เขาก็อาจจะอยากฟังอยากดูการแสดงหมอลำ กันตรึม มากกว่าออเคสตรา ก็ได้ แต่กลายเป็นว่าคนของทางการที่มาดูแลย่านโบราณในพื้นที่ไม่เข้าใจ และคงเห็นเป็นของประหลาดที่มีคนอีสานอยู่ในย่านเมืองศรีเทพที่ถูกยกให้เป็นของไทยแท้  

อันที่จริง ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ศรีเทพ อย่างที่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย คนพื้นที่จริงเป็นคนลาวกันมาก เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, เมืองพระรถ จ.ชลบุรี, เมืองคูบัว จ.ราชบุรี, เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คนพื้นถิ่นในเมืองโบราณเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ไทย เป็นลาวกันซะเยอะ บ้างเป็นลาวที่สืบมาจากคนที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยธนบุรี บ้างเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 3 บ้างเป็นลาวอีสานที่เพิ่งอพยพเข้ามาตั้งรกรากทำมาหาเลี้ยงชีพตอนหลัง อยุธยากับกรุงเทพฯ ยิ่งแล้วใหญ่ มีทั้งลาว ขะแมร์ จีน มอญ แขก ฯลฯ ซึ่งเป็นมรดกอย่างหนึ่งของการเป็น ‘สังคมเมืองท่านานาชาติ’ ในอดีต     

กล่าวโดยสรุป 

‘มรดกโลก’ ไม่ควรถูกใช้ไปในทางชาตินิยม เพราะมรดกโลกเป็นของร่วมมนุษยชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรมีอคติกีดกันทางชาติพันธุ์ ‘กันตรึม’ ไม่ใช่การละเล่นดนตรีของขะแมร์ในฝั่งกัมพูชา เป็นของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายขะแมร์ - กูย ที่อีสานใต้บ้านเฮานี้เองแหละ วัฒนธรรมการละเล่นของชาวอีสานปัจจุบันมีพลวัตที่เป็นสากลค่อนข้าง จึงเหมาะที่จะเล่นในพื้นที่แหล่งมรดกโลกทุกแห่งทั้งในและต่างประเทศ  

ปกติดนตรีก็เป็นเรื่องข้ามพรมแดนอยู่แล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะกันตรึมหรือดนตรีของชาวอีสาน ดนตรีของผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ ก็สามารถนำมาแสดงในพื้นที่เมืองโบราณได้ แค่ต้องระวังไม่ให้แรงสั่นสะเทือนจากเครื่องเสียงไปมีผลกับโบราณสถานเท่านั้น ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว      

การแสดงดนตรีโดยเฉพาะการร่ายรำบางอย่าง เช่น รำทวารวดี โขน ล้วนแต่เป็นของประดิษฐ์ใหม่และไม่ไทยทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองอะไรกันขึ้นก็เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดรำ จัดโขน กันตลอด แม้แต่ตราสัญลักษณ์ที่เป็นพระพิฆเนศประทับนั่งบนบัลลังก์หัวกะโหลกนั้นน่ะ รัชกาลที่ 5 ก็เพิ่งจะได้มาเมื่อคราวเสด็จประพาสชวา ไม่ใช่ของดั้งเดิมในสยามประเทศไทยแต่อย่างใดเลย ก็ยังใช้กันได้ไม่เห็นมีปัญหาอะไร  

ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น ควรต้องเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตคนมาทำงานบริหารด้านนี้ให้เข้าใจวัฒนธรรมสังคมร่วมสมัยด้วย ไม่ใช่เอาแค่พวกดูของโบราณเป็นมาทำหน้าที่ เพราะการจำแนกประเภทของเก่า - ของใหม่แบบองค์ความรู้เดิมนั้นใช้ได้แต่กับศิลปวัตถุและโบราณสถาน เอามาใช้กับวัฒนธรรมผู้คนในสังคมที่มีพลวัตความเปลี่ยนแปลงร่วมสมัยค่อนข้างมากไม่ได้ อย่างน้อย ๆ ก็ควรมีมุมเข้าใจความหลากหลายบ้าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็พูดถึง “ไทยแท้แต่โบราณ”  

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

ภาพ : Nation Photo

อ้างอิง :
    กำพล จำปาพันธ์. “ถนนโรตีสายไหมกับอัตลักษณ์มุสลิมอยุธยา” มติชนออนไลน์. (เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559). 
   กำพล จำปาพันธ์. “ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 1) ความสำคัญของเมืองศรีเทพในประวัติศาสตร์ไทย-สากล” The People.co (เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566). 
    กำพล จำปาพันธ์. “ปริศนาเมืองศรีเทพ (ตอน 2) อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เป็นเมืองเก่าร้างไปเมื่อไหร่ อย่างไร?” The People.co (เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566). 
   กำพล จำปาพันธ์. “ไขปริศนาเมืองศรีเทพ: ศรีเทพหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ไม่ได้หายไปไหน? ‘วิเชียรบุรี’ นครหลวงไก่ย่างรสเด็ด คือ ‘ทายาทสายตรง’ ของมรดกโลกศรีเทพ” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2567). 
   กำพล จำปาพันธ์. “สุสานจีนวัดพนัญเชิง: ประวัติศาสตร์โบราณคดีบนวิถีความตายและการดำรงอยู่.” วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 40, ฉบับที่ 2 (เมษายน - มิถุนายน 2557). 
    ชนัญ วงษ์วิภาค. มานุษยวิทยาประยุกต์ในศรีเทพและศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529. 
    ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542. 
    ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2559. 
    ธิดา สาระยา. ‘ศรีเทพคือศรีจนาศะ’ ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). ศรีจนาศะ รัฐอิสระที่ราบสูง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.  
    พัฒนา กิติอาษา. สู่วิถีอีสานใหม่. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2557. 
    ไม่ระบุนามผู้เขียน.
‘เพลงพื้นบ้านกันตรึม’ ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566).  
    วิศัลย์ โฆษิตานนท์.
“ยก 4 เหตุผล ไม่เห็นด้วย อุทยานศรีเทพปฏิเสธ แสดงดนตรี มูลนิธิสุกรี” มติชนออนไลน์ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567). 
    อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. จารึกที่เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์เพลส, 2534. 
    เอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ. กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมศิลปากร, 2564.