การเมืองในอนุสาวรีย์ และชะตากรรมของคณะราษฎร ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของสังคมไทย

การเมืองในอนุสาวรีย์ และชะตากรรมของคณะราษฎร ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของสังคมไทย

วิเคราะห์นัยความหมายและความสำคัญของ ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ 6 แห่ง และชะตากรรมของคณะราษฎร กับ 24 มิถุนายน 2475 ในประวัติศาสตร์ความทรงจำของสังคมไทย

KEY

POINTS

  • เปรียบเทียบนัยความหมายและความสำคัญในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสิ่งที่ถือเป็น ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ 6 แห่ง
  • ชะตากรรมของ ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ ที่เป็นนามธรรม ​
  • ระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ - ประชาธิปไตยกับอนุสาวรีย์ - รัฐไทยกับความทรงจำบนทางแพร่ง

“24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง” & รอยต่อจาก ‘สถูปเจดีย์’ สู่ ‘อนุสาวรีย์’​

การสร้าง ‘อนุสาวรีย์’ หรือ ‘อนุสรณ์สถาน’ (Monument) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอดีตแก่ชนรุ่นหลัง เป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่แพร่มาจากตะวันตก เดิมในสังคมไทยและอุษาคเนย์จะมีการสร้าง ‘สถูปเจดีย์’ (Stupa) สำหรับเป็นเครื่องรำลึกถึงบุคคลสำคัญที่ล่วงลับไป การจัดการความตายเป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่ การสร้างของแบบนี้และรักษาให้คงอยู่ไว้หรือพยายามทำลายจึงสะท้อนว่า ‘คนที่ยังอยู่’ หรือ ‘ชนรุ่นหลัง’ นั้น ยังเชื่อมโยงกับอดีตที่บอกเล่าผ่านอนุสาวรีย์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด 

ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าอดีตที่กลายมาเป็นความทรงจำนั้นยังทรงพลังหรือมีความสำคัญต่อปัจจุบันกาลมากน้อยเพียงใด ​เปรียบเทียบกับในโลกยุคก่อน สถูปเจดีย์ถูกสร้างขึ้นสัมพันธ์กับคติความเชื่อโลกศักดิ์สิทธิ์หลังความตาย สถูปเจดีย์จึงมีการบรรจุอัฐิผู้ล่วงลับที่ผู้ยังอยู่ต้องการให้เกิดความทรงจำรำลึก การบำรุงรักษาฮวงซุ้ย (ในกรณีชาวจีน) เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เพราะอาม่าอากงผู้ล่วงลับอาจเป็นที่มาของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมรดก ในภาคเหนือและภาคอีสานบางแห่ง โกศ ธาตุ หรือสถูป ตั้งอยู่กับที่นา เพื่อให้ดวงวิญญาณได้อยู่ปกปักรักษาที่นา โดยนัยสำหรับผู้ยังอยู่ก็คือบ่งบอกสิทธิในที่ดินของบุตรหลานผู้สืบทอด ลำพังโฉนดที่ดินไม่เพียงพอที่จะยืนยันสิทธิ ต้องมีความชอบธรรมจากวัฒนธรรมความเชื่ออยู่ด้วย ​

กรณีสถูปเจดีย์ที่ไม่ปรากฏทายาท เพราะสถูปเจดีย์อยู่นานกว่าคน ถูกสร้างด้วยวัสดุแข็งแรงทนทานต่อกาลเวลา แม้จะรู้ว่าเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนเหล่านั้นคือที่บรรจุอัฐิของใครบางคนแน่ ๆ แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นของใครเสียแล้ว สถูปเจดีย์ก็อาจกลายเป็นซากอิฐปูน ถ้าอยู่ในเขตย่านเมืองโบราณ ก็โชคดีหน่อยที่จะได้เป็น ‘โบราณสถานของชาติ’ แต่ส่วนใหญ่ไม่หรอก หลายที่ถูกไถเสียราบเพื่อเอาที่ดินไปทำประโยชน์ 

สิ่งที่ทำให้อิฐปูนเกิดความสำคัญไม่ใช่ตัววัสดุรูปทรงแต่เป็นเพราะผี ต่อให้ไถกลบเจดีย์ไปหมด ผีก็ยังอยู่ ถ้าคนมีความทรงจำ เพราะผีคือความทรงจำแบบหนึ่ง ในทางตรงข้ามเพราะไม่เหลือความทรงจำนั่นแหล่ะ เจดีย์ถึงกลายเป็นเพียงซากอิฐปูน

ในช่วงที่คณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์ 2475 สร้างอนุสาวรีย์และหรืออนุสรณ์สถานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการอภิวัฒน์หรือผลงานของรัฐบาลคณะราษฎร ยังเป็นช่วงรอยต่อระหว่างสถูปเจดีย์กับอนุสาวรีย์ ฉะนั้นจึงมีการแข่งขันกันระหว่าง 2 รูปแบบของการสร้างความทรงจำอดีต ในช่วงนั้นผู้คนยังมีความเข้าใจว่า เจดีย์คืออนุสาวรีย์แบบเก่า และอนุสาวรีย์คือเจดีย์แบบใหม่ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ ‘คณะราษฎร’ ทำหลายอย่างสำหรับสมัยนั้นยังเป็นสิ่งแปลกใหม่ เป็นธรรมดาที่จะเกิดการเปรียบเทียบและผสมผสานกับสิ่งที่ ‘คณะเจ้า’ ทำมาในอดีตอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เจดีย์ได้เริ่มคลายความสำคัญลงไปมากแล้ว จากการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ‘ความศิวิไลซ์’ (Modernity) นำมาซึ่งเหตุผลในการสร้างอนุสรณ์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ ‘โลกนี้’ มากกว่า ‘โลกหน้า’ เจดีย์ค่อย ๆ เสื่อมมนต์ขลังไม่ตอบโจทย์คนในโลกสมัยใหม่ไปบ้างแล้ว ​

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านหลัง 2475 การสร้างอนุสาวรีย์จึงมีการบรรจุอัฐิผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยตรง เช่น เมื่อสร้างอนุสาวรีย์ปราบขบถที่บางเขน ก็มีการบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบขบถบวรเดชเอาไว้ หรือเมื่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็มีการบรรจุอัฐิทหารและประชาชนที่พลีชีพในสงครามอินโดจีน หรืออย่างการสร้าง ‘วัดประชาธิปไตย’ (วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ก็มีการบรรจุอัฐิคณะราษฎรกับภรรยาไว้ภายในกรุพระบรมธาตุ เสมือนหนึ่งว่าได้มีการรุกคืบเข้าไปบุกทะลวงพื้นที่ที่เดิมเป็นอีกโลกหนึ่ง 

แต่อะไร ๆ ก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ​บทความนี้จะอภิปรายเปรียบเทียบนัยความหมายและความสำคัญในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของสิ่งที่ถือเป็น ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ 6 แห่ง คือ หมุดคณะราษฎร, อนุสาวรีย์ปราบขบถ (หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ), อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดมหาธาตุบางเขน หรือ ‘วัดประชาธิปไตย’ ในอดีต), อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นต้น ​

แน่นอนไม่ได้หมายความว่า ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ (ในแง่ความหมายอย่างกว้างที่เป็นสถาปัตย์เพื่อสื่อถึงยุคสมัยคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475) จะมีเพียง 6 แห่งข้างต้น ยังมีอีกมากมายหลายแห่ง แต่เพื่อให้เห็นประเด็นได้ชัดขึ้นก็จำเป็นต้องโฟกัสไปที่สิ่งอันเป็นที่รับรู้กันมาบ้างก่อนแล้ว ยิ่งหากนับอนุสาวรีย์ที่อยู่ในต่างจังหวัดด้วยแล้ว ก็มีเป็นจำนวนมาก แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ ผู้เขียนไม่อยากชี้เป้าให้คนบางกลุ่มได้ตามรอยไปทำสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ที่สำคัญลำพัง 6 แห่งดังกล่าวข้างต้นนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นชะตากรรมความเป็นไปของความทรงจำต่อคณะราษฎร และ 24 มิถุนายน 2475 หลังสิ้นยุคคณะราษฎรในช่วงกึ่งพุทธกาล 2500 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยตอบคำถามว่า เพราะเหตุใด ทำไม อนุสาวรีย์ของคณะราษฎรบางแห่งเป็นที่นิยม ขณะที่บางแห่งมีความพยายามที่จะทำให้สูญหาย (ไปอย่างไร้ร่องรอย) 

ชะตากรรมของ ‘อนุสาวรีย์คณะราษฎร’ ที่เป็นนามธรรม ​

วันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็น ‘วันชาติ’ เป็นวันชาติตามอย่างที่โลกตะวันตกนิยาม เพราะถือเอาวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นจุดกำเนิดเริ่มต้นความเป็นชาติที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่วันชาติไทย 24 มิถุนายน ได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ​ชะตากรรมของวันชาติ 24 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์ความทรงจำต่อคณะราษฎรที่เป็นนามธรรม มีความแตกต่างกันลิบกับ ‘วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม’ ที่เริ่มประกาศใช้ในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (เดิมใช้วันสงกรานต์เดือนเมษายนเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่) 

เช่นเดียวกับชื่อประเทศ ที่แต่เดิมใช้ ‘สยาม’ ควบคู่กับ ‘ไทย’ แต่เมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รัฐบาลคณะราษฎรสมัยนั้นก็ได้ประกาศให้ใช้คำว่า ‘ประเทศไทย’ เป็นชื่อทางการ ​‘วันชาติ 24 มิถุนายน’ ถูกทำให้หายไปจากระบบของรัฐราชการ ขณะที่ชื่อ ‘ประเทศไทย’ กับ ‘วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม’ ไม่เพียงไม่สูญหาย ยังมีชีวิตอยู่สืบต่อมา กลับได้รับการตอบรับแม้แต่ในหมู่ผู้ที่ชิงชังคณะราษฎรเป็นที่สุด ก็ยังโอเคกับชื่อ ‘ประเทศไทย’ และ ‘วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม’ แต่ก็นั่นแหล่ะ เพราะสองสิ่งดังกล่าวนี้ไม่มีความทรงจำรับรู้ว่าเป็นผลงานของคณะราษฎร บางคนยังเข้าใจไปว่าการเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม เป็นผลงานของคริสตจักรสมัยโรมันโน่นอยู่เลย หรือหลายท่านก็ยังเข้าใจไปว่าคำว่า ‘ประเทศไทย’ เริ่มมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นเพราะของ 2 อย่างข้างต้นเป็นของที่ซึมลึกเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสังคมไทยในช่วงหลัง ขนบความนิยมของสังคมไทยในการอธิบายสืบหาต้นกำเนิดยังมุ่งเน้นไปที่บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และชนชั้นนำ ผู้ประดิษฐ์อักษรไทยจึงยังคงเป็นพ่อขุนรามคำแหง ผู้ประกาศเอกราชจึงยังคือสมเด็จพระนเรศวร ผู้ริเริ่มการค้าต่างประเทศคบหากับฝรั่งจึงยังคงได้แก่ สมเด็จพระนารายณ์ ผู้สร้างความศิวิไลซ์ทันสมัยจึงไม่ใช่ใครอื่นคือรัชกาลที่ 5 เป็นต้น 

กล่าวโดยสรุป จึงคือคณะราษฎรที่เป็นสามัญชนคนธรรมดาไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นนี้นั่นเอง

สถูปเจดีย์ที่ไร้วิญญาณ & ประชาธิปไตย ผีตะวันตก และรูปเคารพแบบไทย (ของแทร่) ​

ในมุมมองเปรียบเทียบ ‘หมุดคณะราษฎร’ แม้ไม่ได้เป็นที่บรรจุอัฐิ แต่ภาพความทรงจำที่แจ่มชัดว่าครั้งหนึ่งเคยมีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น คำจารึกเช่นว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” มีนัยความหมายที่ทรงพลังมาก แต่ตัวหมุดกลับมีขนาดเล็กและอยู่บนพื้นถนนที่รถราแล่นผ่านทับไปมา หมุดคณะราษฎรที่เล็กเกินยังเหมือนไปอยู่ในที่ไม่ควรอยู่ และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า หมุดคณะราษฎรที่สร้างไว้อย่างเจี๋ยมเจี้ยมนี้ถูกด้อยความหมายไปก่อนหน้าที่จะถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ไปพอสมควรแล้ว เพราะความผันผวนหรือแกว่งไปมาของอุดมการณ์ชนชั้นนำไทยหรือเพราะเหตุใดก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ‘ความเจี๋ยมเจี้ยม’ ที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งสะท้อนแง่มุมตัวตนของคณะราษฎรและการอภิวัฒน์อยู่โดยนัยเหมือนกัน แต่แม้จะเจียมเนื้อเจียมตัวอย่างไร หมุดคณะราษฎรก็เป็นสิ่งมีความหมายทรงพลัง ยิ่งเมื่อมองจากสายมู หมุดยิ่งถูกเชื่อมโยงไปเป็น ‘อินทขิล’ หรือเสาหลักเมืองได้ 

การกำจัดหมุดนี้เป็นความจำเป็นอยู่โดยตัวมันเองเช่นกัน ถ้ามองจากความมู ๆ แบบไทยแท้ กระนั้นเนื่องจากหมุดและตัวจารึกได้แพร่หลายไปเป็นความทรงจำสำคัญหนึ่งของสังคมไทยร่วมสมัยไปแล้ว มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งมี ‘หมุดคณะราษฎร’ อยู่ ณ ที่แห่งนั้น นั่นคือหมุดได้บรรลุหน้าที่ของมันไปอย่างสัมบูรณ์ไปแล้ว ไม่ว่าตัวหมุดจะยังคงอยู่กับสถานที่หรือถูกแทนที่ด้วยหมุดอื่นใดไปก็ตาม 

‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ หรือ ‘อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ ที่วงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยอนุสาวรีย์อื่น เหมือนอย่างกรณีหมุดคณะราษฎร (ที่ถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส) อนุสาวรีย์นี้ถูกเคลื่อนย้ายและสูญหายไป ในขณะที่สถานที่ถูกแทนที่ด้วยทางลอดอุโมงค์กับสถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อกันระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีชมพู ขนาดความใหญ่โตโอ่อ่ายังประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นการจัดเตรียมไว้เพื่อจะเป็น ‘ศูนย์การค้า’ แห่งใหญ่แห่งหนึ่งไปด้วยในตัว ก็เป็นอันว่า ‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ ปะทะกับเหตุผลร่วมสมัย 2 อย่าง คือ เส้นทางคมนาคมกับศูนย์การค้า 

ในบรรดาอนุสาวรีย์คณะราษฎร อาจกล่าวได้ว่า ‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ มีนัยยะที่ทรงพลังมากที่สุด เพราะ ‘ขบถ’ ที่พ่ายแพ้ราบคาบจนนำมาสู่การสร้างอนุสาวรีย์เป็นเครื่องระลึกถึงนี้คือ ‘คณะเจ้า’ ที่รวมตัวกันภายใต้การนำของพระองค์เจ้าบวรเดช แต่อุดมการณ์ของคณะเจ้าได้รับการสานต่อในภายหลังโดยคณะนายทหารและชนชั้นนำที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร 2549 และ 2557 เกิดแสลงใจว่าในอดีตกลุ่มเจ้านายที่มีแนวความคิดเดียวกับพวกตน เคยพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของอดีต มันมีนัยยะต่อปัจจุบันด้วย เมื่อในประวัติศาสตร์ ‘คณะเจ้า’ เคยแพ้ ในปัจจุบันก็ยังสามารถจะแพ้ได้อีกเช่นกัน โดยครั้งหลังนี้อาจยับเยินยิ่งกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ ทำให้อนุสาวรีย์นี้อยู่ในลิสต์รายการของที่ต้องกำจัดทิ้งยิ่งกว่าหมุดคณะราษฎรหรืออนุสาวรีย์อื่นใด แม้ว่าอนุสาวรีย์นี้จะมีอีกชื่อคือ ‘อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’ แต่ชื่ออย่างหลังนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมเหมือนอย่างชื่อ ‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ เช่นเดียวกับหมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบขบถอยู่ในความทรงจำของสังคมไทยไปแล้วเช่นกัน เอาง่าย ๆ แม้แต่สถานีรถไฟฟ้าที่มาแทนที่ยังต้องใช้ชื่อ ‘สถานีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ 

นอกจากนี้ยังมีชื่อ ‘แขวงอนุสาวรีย์’ ซึ่งเป็นแขวงหนึ่งของเขตบางเขน ก็ยังหมายถึงอนุสาวรีย์ปราบขบถ เช่นเดียวกับ ‘สะพานใหม่’ ที่เป็นชื่อย่านสำคัญของแถบนี้ ก็หมายถึง ‘สะพานสุกรนาคเสนีย์’ เป็นสะพานแขวนแบบสะพานปรีดี - ธำรง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในช่วงสมัยคณะราษฎรเช่นกัน และแม้ว่าสะพานใหม่นี้จะถูกรื้อทิ้งไปก่อนหน้านี้นานแล้ว เมื่อถามถึงว่า ‘สะพานใหม่’ ที่ว่านี้อยู่ที่ไหน หมายถึงสะพานอะไร ก็ยังคงหมายถึงสะพานสุกรนาคเสนีย์ ที่จัดเป็นอนุสาวรีย์ของคณะราษฎรและการปราบขบถพระองค์เจ้าบวรเดช 

ต่างกันลิบกับ ‘วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน’ หรือ ‘วัดประชาธิปไตย’ หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียก ‘วัดมหาธาตุบางเขน’ ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์คณะราษฎรที่ยังมีชีวิตชีวาอย่างมาก เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมระบอบใหม่ในมิติการเมืองจารีต สลายความขัดแย้งภายในคณะสงฆ์ที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ธรรมยุติกนิกายกับมหานิกาย เป็นความขัดแย้งที่สืบย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 3 นำโดยพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4) ได้ก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นมาเป็นองค์กรนำการปฏิรูปศาสนา ธรรมยุติกนิกายได้รับสมญานามว่า ‘นิกายกษัตริย์’ ทำให้อีกนิกายกลายเป็น ‘นิกายไพร่’ ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างเจ้ากับไพร่ในหมู่ฆราวาส 

ความเหลื่อมล้ำระหว่างสองนิกายสร้างปัญหาให้แก่วงการพุทธศาสนาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่อยมา เมื่อคณะราษฎรเข้ามามีบทบาทจัดการบริหารเลยต้องพยายามแก้ไขให้ทั้งสองนิกายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในวัดเดียวกัน ‘วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขน’ จึงสร้างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เป็นแบบอย่างสำหรับวัดที่ทั้งสองนิกายสามารถ ‘สังฆกรรม’ ร่วมกันได้ 

สิ่งที่ถือเป็นการอภิวัฒน์ทางศาสนาอีกอย่างที่เกิดจากการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขน ก็คือคติความเชื่อต่อ ‘มหาธาตุ’ จากเดิมมหาธาตุที่สร้างกันมาตลอดสมัยก่อนหน้า สิ่งสำคัญลำดับรองลงมาจากพระบรมธาตุ ก็คือการบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญรายรอบในห้องกรุบรรจุพระบรมธาตุ เดิมอัฐิที่จะได้รับการบรรจุภายในห้องดังกล่าวนี้คืออัฐิเจ้านาย ขณะที่มหาธาตุบางเขนเป็นเจดีย์มหาธาตุองค์แรกที่มีการบรรจุอัฐิสามัญชนไว้ในห้องกรุพระบรมธาตุ จึงเกิดประเด็นในหมู่นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะหัวโบราณในไทย ที่มักจะโจมตีว่ามหาธาตุบางเขน เป็นมหาธาตุที่สร้างผิดขนบ 

แต่เช่นเดียวกัน หลายสิ่งที่คนในรุ่นก่อนกระทำกันมาก็ไม่จำเป็นต้องถือเป็น ‘ขนบ’ ที่ต้องยึดถือให้เป็นแบบนั้นตลอดกาล เป็นไปไม่ได้ การที่ในอดีตมหาธาตุเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิเฉพาะเจ้านาย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำไม่เหมาะสมกับยุคร่วมสมัย ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เจ้านายชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ อย่างไรก็ตามการบรรจุอัฐิคณะราษฎรภายในห้องกรุพระบรมธาตุ เป็นการบรรจุอย่างเจี๋ยมเจี้ยมเช่นกัน จะเห็นได้ว่าบรรจุไว้ในผนังห้องล้อมรอบพระบรมธาตุ ไม่ได้บรรจุไว้ภายในเรือนธาตุของเจดีย์แบบที่นิยมทำในการบรรจุอัฐิเจ้านายหรือพระมหากษัตริย์ เพราะเดิมมีคติว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระพุทธเจ้า การบรรจุอัฐิอดีตกษัตริย์บางกรณีจึงบรรจุไว้ในที่เดียวกับที่บรรจุพระบรมธาตุ 

นอกจากมหาธาตุ วัดประชาธิปไตยยังมี ‘หอวีรชน’ ที่เป็นที่บรรจุอัฐิอดีตข้าราชการและประชาชนที่เป็นฝ่ายคณะราษฎรหรือผู้ที่สนับสนุนการอภิวัฒน์ 2475 อยู่แยกออกไปที่ด้านหลังวัด เมื่อดอนเมืองและเขตบางเขนตอนเหนือสะพานใหม่ กลายเป็นที่ตั้งกองทัพอากาศ วัดมหาธาตุบางเขนก็กลายเป็นที่ฌาปนกิจสถานของข้าราชการกองทัพอากาศ มีการสร้างอาคารและเมรุเผาศพสำหรับใช้ในหมู่ข้าราชการเหล่านี้เป็นการเฉพาะ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขนจึงมีฟังก์ชั่นที่ตอบรับต่อการเปลี่ยนผ่านที่มีทหารเป็นผู้นำ จนในปัจจุบันกลายเป็นวัดใหญ่ที่มีความหมายแตกต่างจากวัดของคณะราษฎร จากวัดที่ถือกำเนิดมาจากความพยายามที่จะสลายความเหลื่อมล้ำก็กลับกลายเป็นสถานที่ในอีกมุมที่ตรงกันข้าม 

‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ ก็เป็นอีกหนึ่งอนุสาวรีย์ของคณะราษฎรที่แม้จะยังตั้งอยู่อย่างมีชีวิตชีวา รายล้อมไปด้วยความเป็นย่านศูนย์การค้าและชุมทางคมนาคม แต่ก็เช่นเดียวกับ ‘วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบางเขน’ ที่มีการเปลี่ยนนัยความหมายไปอย่างสำคัญ จากเดิมที่เป็นอนุสาวรีย์สื่อถึงชัยชนะของรัฐบาลคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการทวงคืนดินแดนอินโดจีนที่สูญเสียไปในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงแม้ว่าในสงครามที่ไทยทำกับอินโดจีนภายใต้ฝรั่งเศสนั้น ไทยชนะได้เพราะญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาช่วย อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ให้กับนาซีเยอรมนี แต่ก็ถือเป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของยุคปกครองโดยสามัญชน ที่สามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมซึ่งเดิมสมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามแพ้และต้องสูญเสียดินแดนให้แก่เขาไป 

‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ ยังคงได้รับการให้ความสำคัญในยุคที่รัฐบาลนำโดยเผด็จการทหาร แต่ก็เป็นภาพความทรงจำที่เน้นบทบาททหาร ตัดตอนและแยกขาดนัยความหมายที่เป็นอนุสาวรีย์ของคณะราษฎรออกไป เมื่อเปรียบเทียบกัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นอนุสาวรีย์ที่มีการบรรจุอัฐิบุคคลที่เคยมีตัวตนและบทบาทจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ แต่อัฐิที่นี่ยังคงได้รับการดูแล เป็นชุมทางคมนาคมยังไง รถก็ยังคงสามารถจะแล่นอ้อมไปได้ปกติ ไม่ต้องรื้อถอนออกไปแล้วแทนที่ด้วยอุโมงค์ทางลอด เป็นสถานีรถไฟฟ้าและย่านการค้าเช่นเดียวกัน แต่รถไฟฟ้าก็ยังสามารถจะแล่นอ้อมเลียบไปได้ ในความเป็นอนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรที่มีการบรรจุอัฐิบุคคลในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับ ‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ แต่ทว่า ‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ ก็กลับมีชีวิตชีวา ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางชุมทางคมนาคมและย่านการค้าได้ต่อมา เพราะมีการเปลี่ยนความหมายไปเข้ากับอุดมการณ์ของฝ่ายตรงข้ามได้ แม้จะไม่ค่อยเนียนเท่าไรนักก็ตาม 

จะเห็นได้ว่านอกจากตัวรูปลักษณ์อนุสาวรีย์แล้ว ชื่อและความหมายของอนุสาวรีย์ก็มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปของอนุสาวรีย์ คำว่า ‘ปราบขบถ’ กับ ‘ชัยสมรภูมิ’ ต่างก็ทำให้อนุสาวรีย์ทั้งสองได้รับการปฏิบัติในชั้นหลังแตกต่างกันตามมา ยิ่งกับคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่เป็นชื่ออนุสาวรีย์คณะราษฎรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน ก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกัน 

ความลื่นไหลของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมไทย ก็มีผลต่อ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ‘ประชาธิปไตย’ ในสังคมไทยมีการสร้างวาทกรรมแบ่งออกเป็น ‘ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ’ ‘ประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์’ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ซึ่งเป็นนิยามความหมายของ ‘ประชาธิปไตย’ ในยุครัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อ้างเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างจาก ‘ประชาธิปไตยแบบตะวันตก’ จากนัยความหมายที่ถูกทำให้ลื่นไหลจนแม้แต่กลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับคณะราษฎรก็ยังสามารถยึดโยงตัวตนเข้ากับอนุสาวรีย์ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ออกไปจากสถานที่หรือสร้างอย่างอื่นมาแทน เหมือนอย่างที่ทำกับ ‘หมุดคณะราษฎร’ หรืออย่างกรณี ‘อนุสาวรีย์ปราบขบถ’ 

‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง’ (มธก.) ในฐานะอนุสาวรีย์คณะราษฎรก็เผชิญปัญหาอย่างเดียวกัน คือการถูกลบเลือนความทรงจำที่เชื่อมโยงไปถึงคณะราษฎร แม้แต่ในหมู่อาจารย์และนักศึกษาที่มีหัวก้าวหน้า ก็ยังนิยมจดจำไปที่ตัวบุคคลผู้เป็น ‘ผู้ประศาสน์การ’ คือ ‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นการเฉพาะ ทั้งที่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของนโยบายว่าด้วยการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ตามมาด้วยการพยายามยึดอำนาจคืนแต่ไม่ประสบความสำเร็จของฝ่ายปรีดีในเหตุการณ์ ‘ขบถวังหลวง’ ส่งผลต่อมธก. เพราะในเหตุการณ์ มธก. ได้มีส่วนร่วมอย่างมาก รัฐบาลคณะรัฐประหารได้เข้ามาคุมเข้มและเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองได้มีการตัดคำว่า ‘และการเมือง’ ออกไปจากชื่อมหาวิทยาลัย 

ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เดิมเป็นของ ‘วังหน้า’ ก็ก่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่าง 2 กระแสประวัติศาสตร์อยู่โดยนัย เมื่อด้านที่เป็น ‘มหาวิทยาลัยไพร่’ (ตรงข้ามกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีสมญา ‘มหาวิทยาลัยเจ้า’) ถูกบดบัง ก็มีเรื่องแทรกปนจากสายมูว่าด้วย ‘อาถรรพ์วังหน้า’ ซึ่งเป็นคำอธิบายหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดรุนแรงอย่างใน 6 ตุลาคม 2519 ทั้ง ๆ ที่อาถรรพ์และคำสาปแช่งต่าง ๆ ของวังหน้าองค์แรกคือกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) นั้น กระทำต่อวังหลวงในรัชกาลที่ 1 และในสมัยพระปิ่นเกล้าฯ เป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 4 ก็ทรงเรียกพระสงฆ์และพราหมณ์ราชครูมาทำพิธีถอนคำสาปและอาถรรพ์ต่าง ๆ ไปแล้ว 

อย่างไรก็ตามความพยายามของบางหน่วยงานที่อนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง ในการทวงคืนสถานที่ให้แก่วังหน้าที่ไม่มีตัวตนไปแล้วในปัจจุบัน ก็ยังคงดำเนินเรื่อยมา มีรูปประติมากรรมสิงโตที่ถูกอธิบายโยงกลับไปถึงวังหน้า มีการก่อแนวกำแพงซากอิฐขึ้นใหม่จำลองเป็นกำแพงวังหน้าที่บริเวณอาคารโรงอาหาร จนกระทั่งล่าสุดได้มีการดำเนินการขุดค้นหาโครงสร้างวังหน้าเดิมที่บริเวณตึกโดม 

‘วังหน้า’ ที่แต่เดิมถูก ‘วังหลวง’ บอยคอตเล่นงานกันจนสิ้นสภาพ ตำแหน่งถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ ก็ไม่ได้มีการแต่งตั้งวังหน้าอีกเลย ตั้งตำแหน่ง ‘มกุฎราชกุมาร’ ขึ้นมาแทนที่ ‘อุปราชวังหน้า’ แต่ในยุคหลังเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีศัตรูใหม่ พวกเขาก็หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่วังหน้า ซึ่งคือการไล่ที่มธ. อยู่โดยนัย แต่ทั้งนี้ มธ. ก็มีประวัติศาสตร์ของตนเองที่ต่อให้ฟื้นวังหน้ามาใหม่ได้อย่างไร ก็ได้แต่ซากฐานปรักหักพัง มธ.สานต่อเจตนารมย์คณะราษฎรในด้านการศึกษาและการเมือง จนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความทรงจำมากมาย 

ระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ – ประชาธิปไตยกับอนุสาวรีย์ - รัฐไทยกับความทรงจำบนทางแพร่ง ​

เมื่อเปรียบเทียบกัน อนุสาวรีย์ของสถาบันกษัตริย์ลดทอนรูปแบบมานำเสนอในรูปบุคคล สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ที่มองบุคคลสำคัญในอดีตเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ง่ายที่จะแสดงตนในรูปลักษณ์แทน ‘ผี’ หรือ ‘วิญญาณ’ รูปบุคคลกษัตริย์กลับช่วยให้คนธรรมดาสามัญชนเข้าถึงได้ง่าย มีพิธีกรรมการเซ่นไหว้ ถวายน้ำแดง ขอหวย ขอพร ฯลฯ ​กลายเป็นว่าอนุสาวรีย์ของสถาบันกษัตริย์เข้ากันได้ทั้งยุคเก่า (ที่เน้นผี) และยุคใหม่ (มนุษย์) 

ขณะที่อนุสาวรีย์คณะราษฎรซึ่งเป็นรูปสัญลักษณ์ต้องผ่านการตีความถึงจะเข้าใจ และเมื่อขึ้นกับการตีความก็หมายความว่าความหมายอาจถูกทำให้เปลี่ยนไปได้ รูปสัญลักษณ์จึงมักตาย ไม่เชื่อมกับโลกศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในสังคมอื่น เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับสังคมไทย การไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับโลกเก่า แม้จะในเชิงสัญลักษณ์ ก็ก่อปัญหาให้ได้ อีกทั้งการลิงก์กับสิ่งที่ยังเป็นปัญหาการนิยามความหมาย ไม่เคลียร์ ก็ก่อปัญหาให้กับอนุสาวรีย์ประเภทนี้ได้มาก ไม่ใช่แต่เฉพาะกับอนุสาวรีย์ของคณะราษฎร หากยังรวมถึงอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในชั้นหลังอย่าง 14 ตุลา’, 6 ตุลา’, พฤษภา’ 35 เป็นต้น อนุสาวรีย์ของคณะราษฎรอยู่กึ่งกลางทางแยกระหว่าง ‘โลกเก่า’ กับ ‘โลกใหม่’ จะเป็นที่บรรจุอัฐิแบบเดิมก็ไม่ใช่ จะเป็นอนุสาวรีย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ก็ไม่เชิง (ตะวันตกไม่ได้บรรจุอัฐิในอนุสาวรีย์) สำหรับโลกตะวันตกถึงจะมี ‘ผี’ แต่โลกหลังความตายสำหรับเขา วิญญาณเสมอภาคต่อหน้าพระเจ้า แต่สำหรับพวกไทยและอุษาคเนย์ ผียิ่งมี Hierarchy โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมการเมืองไทยเลี้ยวขวา รัฐบาลของชนชั้นนำในช่วงหลังไม่ได้ยึดโยงตัวตนหรือสร้างความชอบธรรมสานต่อเจตนารมย์ของคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475 คณะราษฎรมีความเป็นอื่นสำหรับพวกเขา (ที่นิยมระบอบเผด็จการทหาร) 

ในทางวัฒนธรรมนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ได้เห็นคณะราษฎรเป็น ‘ผีบรรพชน’ ที่ต้องให้ความเคารพสักการะ แม้จะเป็นอนุสาวรีย์ที่มีการบรรจุอัฐิคนในอดีต ปกติแล้วการรื้อทำลายที่บรรจุอัฐิทั้งกรณีที่เป็นอัฐิของญาติหรือที่ไม่ใช่ก็ตาม ล้วนถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ ผู้กระทำจะพบความวิบัติปราศจากความสุขความเจริญ แต่สำหรับกรณีนี้มีข้อแตกต่างออกไปดังที่อภิปรายมาข้างต้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสังคมไทยสยามเองก็เป็นระบอบที่ยัง ‘ไม่เสร็จสมอารมณ์หมาย’ สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเพิ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2435 ผ่านไปเพียง 30 ปี ก็เจอการอภิวัฒน์ จึงเป็นระบอบการเมืองที่ยังพร้อมจะปฏิสนธิอยู่เสมอ 

ตรงนี้ทำให้อนุสาวรีย์ของคณะราษฎรตกไปอยู่ในสภาพที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘สถูปเจดีย์ที่ไร้วิญญาณ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเป็นของที่อยู่กึ่งกลางไม่เก่าและก็ไม่ใหม่ไปเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามทำให้สูญหายหรือมีการเปลี่ยนย้ายความหมายจนต่างไปจากเดิมอย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะยกเลิกอุดมการณ์เบื้องหลังคณะราษฎร เพราะของแบบนั้นไม่ได้อยู่ติดยึดกับแต่กับอนุสาวรีย์ หากแต่อยู่ในความทรงจำรับรู้ของผู้คน

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: ศูนย์ภาพเครือเนชั่น

อ้างอิง : 
     กำพล จำปาพันธ์. “การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ร.ศ.130 ถึง 2475” รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 26 ฉบับที่ 3 (2548). 
     กำพล จำปาพันธ์. “การเมืองของการสมมตินามประเทศ: จากสยามและไทยกลายเป็นไทย (ระหว่างทศวรรษ 2430-2480)” วารสารอักษรศาสตร์. ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน-พฤศจิกายน 2548). 
     กำพล จำปาพันธ์. “วันสำคัญของชาติ: ความหมาย อำนาจ และการเมือง” Open. ปีที่ 5 ฉบับที่ 38 (ธันวาคม 2546). 
     กำพล จำปาพันธ์. “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ: นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2560). 
ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สมมติ, 2566. 
     ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บก.). 
     จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540. 
     ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547. 
     ณัฐพล ใจจริง. กบฏบวรเดช: เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550.
     ธนธร กิติ์กานต์. มหาธาตุ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557. 
     นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ: มติชน, 2538. 
     นิธิ เอียวศรีวงศ์. ว่าด้วยการเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. 
     มรกต เจวจินดา. ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2526. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์, 2543. 
    มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2548. 
    สมเกียรติ วันทะนะ. “รัฐสมบูรณาญาสิทธ์ในสยาม 2435-2475” วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2533). 
    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553. 
    สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: พี. เพรส., 2551. 
    อาสา คำภา. กว่าจะครองอำนาจนำ: การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2564.