เบื้องหลังการตลาดอันน่าพิศวงของรถ EV จีน

เบื้องหลังการตลาดอันน่าพิศวงของรถ EV จีน

จากเหตุการณ์ความโกลาหลครั้งใหญ่ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนประกาศลดราคา จนสร้างความไม่พอใจให้ผู้ซื้อจำนวนมาก เรื่องใหญ่ถึงขนาดยื่นไปให้ สคบ. ตรวจสอบ กระทั่งบริษัทผู้ขายรับปากที่จะหามาตรการเยียวยา

KEY

POINTS

  • จากเหตุการณ์ความโกลาหลครั้งใหญ่ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนประกาศลดราคา จนสร้างความไม่พอใจให้ผู้ซื้อจำนวนมาก เรื่องใหญ่ถึงขนาดยื่นไปให้ สคบ. ตรวจสอบ กระทั่งบริษัทผู้ขายรับปากที่จะหามาตรการเยียวยา
  • ในประเทศไทย รถ EV กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมองว่าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังกังวลว่า แบตลิเธียม จะสิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลังหรือไม่
  • ขณะที่รถ EV สัญชาติจีนประกาศลดราคาลงเรื่อย ๆ ฝั่งยุโรปโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากลับขึ้นภาษีสูงถึงร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์

จากกรณีที่รถไฟฟ้าสัญชาติจีนประกาศลดราคา 90,000-340,000 สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ ถึงกับมีมุกตลกล้อเลียนว่า “ซื้อก่อนประหยัดกว่า ซื้อหลังประหยัดที่สุด” อะไรทำนองนี้

เหตุโกลาหลดังกล่าว ผู้ที่ซื้อไปแล้ว ถึงกับมีการรวมตัวกันไปร้องเรียนกับทางสคบ. และทำให้เสียงเริ่มดังขึ้น จนกระทั่งบริษัทผู้ขายรับปากที่จะหามาตรการเยียวยา

ล่าสุดข่าววันที่ 19 ก.ค. ทางบริษัทที่เป็นข่าวคือ บีวายดี ก็เปิดแผนเยียวยาลูกค้า โดยจะให้ส่วนลดสูงสุด 5 หมื่น สำหรับลูกค้าเก่า แต่จะต้องซื้อรถคันที่สอง ภายใน 31 สิงหาคม นี้ (ส่วนลดมีตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท ขึ้นกับรุ่นที่ซื้อไปและวันรับรถ)

การทำสงครามราคาครั้งนี้ จึงน่าสนใจว่าเหตุใดจึงทำการตลาดโดยการลดราคาขนาดนี้

The People ได้พูดคุยกับ 'รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์' อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนในรายละเอียดเหตุผล เบื้องลึกเบื้องหลังของการตลาดของรถ EV จีน

อาจารย์วาสนา บอกว่า คือจริงๆ แล้วมันมีที่มาที่ไป  คือจะโทษแค่จีนอย่างเดียวก็ไม่ถูกนะ มันปีไหนก็ไม่รู้ ที่เค้าลงนามกันเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก สัก10 ปีมาแล้ว จีนก็ไปร่วมกับเค้า คือจีนก็เข้าใจว่าโลกตะวันตกจะลดการปล่อยคาร์บอน จีนก็เลยผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะผลักดันรถอีวี ประกอบกับจีนก็มองตั้งแต่แรกว่าคู่แข่งสําคัญที่สุดในตลาดอีวีคือเทสล่า คือสหรัฐอเมริกา แล้วในช่วงที่ผ่านมาถ้าเราตามข่าวจีน จะเห็นว่าอีลอน มัสก์ มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนมาก อีลอน มัสก์ เวลาไปจีน จะได้รับการต้อนรับระดับวีวีไอพี คือจีนก็พยายามจะสร้างภาพว่าเราคุยกับนักธุรกิจสหรัฐรู้เรื่อง แม้เราจะคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯไม่รู้เรื่องอะไรทำนองนี้

แล้ว อีลอน มัสก์ ก็ได้ลดแลกแจกแถมอะไรเยอะมาก  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เทสล่าไปลงทุนในจีน  แต่อีกส่วนนึงที่ทุกคนพูดถึงกันก็คือ จีนก็จะมีการเอาเทคโนโลยีจากเทสล่ามาพัฒนาเองด้วย แล้วในขณะนั้น จีนก็มีการพัฒนาอีวีอย่างต่อเนื่อง แล้วหัวเรือใหญ่ของการพัฒนานี่ก็คือบีวายดี

นอกจากนี้ จีนก็มีการ subsidize รถอีวีอยู่แล้ว เพราะว่าต้องการที่จะเป็นผู้นําในธุรกิจนี้ แล้วอีกส่วนของการ subsidize  ก็เพื่อที่ว่า อีวีจีนจะได้สู้เทสล่าได้ ก็ subsidize เพิ่มขึ้นไปอีก  ซึ่ง อีลอน มัสก์ ทีแรกเนี่ย ก็ได้ลดแลกแจกแถมอะไรต่างๆ นานาเยอะมาก ไปอยู่จีนเค้าก็เป็นคนน่าสนใจ คือเค้าเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิบัตร เรื่องลิขสิทธิ์ เค้าก็บอกว่า ถ้ายูไม่แข็งแกร่งพอ ยูก็แพ้ไป  อันนี้ไม่สนใจไม่ว่าจะโดนขโมยเทคโนโลยีอะไรก็ไม่ว่า  แต่ว่าพอเข้าไปอยู่ในจีนนานเข้า แล้วก็เริ่มเห็นว่า เฮ้ย อีวีจีนเนี่ยมันโดนรัฐบาล subsidizeเยอะมาก ซึ่งทําให้ราคาของราคารถอีวีจีนต่ำกว่าราคาในความเป็นจริงเยอะมาก ตอนหลังเค้าก็มาพูดกับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ถ้าไม่ทําอะไรสักอย่างเนี่ย อุตสาหกรรมอีวีของจีน จะฆ่าอุตสาหกรรมอีวีทั่วโลก เพราะว่ามีการ subsidize กันเยอะมาก อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของของเรื่องที่เกิดขึ้น  

แต่พอตอนหลัง จีนผลิตอีวีออกมาเยอะมาก แล้วตลาดมันไม่ได้เยอะ  เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเป็นที่ที่ อีวีของจีนได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ว่าพอไปไกลกว่านั้น อย่างสหรัฐอเมริกาเนี่ยไม่สนใจอีวีเท่าไหร่ คือหมายถึงว่าคือยุค โดนัลด์ ทรัมป์ นี่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม  แต่แม้กระทั่งมาเป็นรัฐบาลเดโมแครตแล้ว อีวียังไม่ได้รับความนิยม คืออีวีมันไม่เมคเซ้นส์ในบริบทของอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มาก แล้วก็ต้องมีการขับรถครอสคันทรีอะไรต่าง ๆ  คือถ้าคุณจะขับรถข้ามรัฐขับรถไปไกล ๆ มันจะต้องสร้างโครงข่ายของสถานีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ทั้งหมด  งบประมาณที่จะต้องใช้ในการสร้างสาธารณูปโภคที่จะรองรับ อีวี ในอเมริกา มันจะแพงมากจนไม่คุ้มกับความประหยัดในด้านใดก็ตามที่มาจากอีวี

ดังนั้น ในอเมริกาก็ตอนหลังคนก็จะยังคงใช้สันดาปอยู่  หรือไม่งั้นก็ใช้เป็นไฮบริด เพราะว่ามันมันเอื้อกับสถานการณ์มากกว่า

ส่วนในยุโรปเอง ก็ยังมีหลายสาเหตุที่คนยังไม่ค่อยไว้วางใจเท่าไหร่ เพราะว่ามันก็ยังไม่ชัดเจนว่าในสภาพอากาศที่ต่างกันอุณหภูมิสูงต่ำอะไรทำนองนี้  แบตเตอรี่มันจะเสื่อมมั้ย

มีอีกประเด็นนึงที่น่าสนใจมาก คือคนคิดว่าอีวี ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ว่าแบตลิเธี่ยมมันเป็นพิษมาก ทั้งยุโรปทั้งอเมริกา เค้าห่วงกังวลว่าแบตลิเธียมที่จีนผลิตออกมาเยอะมาก  เสื่อมคุณภาพเร็วหรือเปล่า คุณภาพมันถึงรึเปล่า  มันอาจจะทําให้เกิดขยะพิษขึ้นมาเป็นจํานวนมากก็ได้  ล่าสุดก็มีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีเยอะ ร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ยิ่งขายไม่ได้หนักเข้าไปใหญ่


เหตุผลที่ขึ้นภาษี

เหตุผลที่ขึ้นภาษี ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเรื่องของการพยายามจะช่วยอุตสาหกรรมอีวี ของอเมริกาเอง 

คือหลังจากที่ อีลอน มัสก์ บ่นไปแล้ว นั่นข้อนึง   แต่ว่าอีกข้อนึงก็คืออเมริกา ยื่นคําขาดกับจีนครั้งล่าสุดว่า ห้ามจีนสนับสนุนรัสเซียในยูเครน

ซึ่งจีนไม่เคยยอมรับว่าตัวเองสนับสนุน  ดังนั้น อเมริกา ก็ได้ยื่นคําขาดว่าเรามีมาตรการทางเศรษฐกิจนะ ถ้าไม่ยอมทําตาม เราจะใช้มาตรการเหล่านี้ แล้วก็ส่วนหนึ่งของมาตรการนั้นก็คือการขึ้นภาษี  ตรงนี้เราก็อาจจะมองได้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้าระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนด้วย
 
การขึ้นภาษี เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน คือ มีภาพข่าวว่าเรือเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์อีวีจํานวนมหาศาลจากจีน พยายามจะเข้าไปในอเมริกาก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อที่จะได้รอดจากภาษีนี้

ทั้งนี้  การ subsidize ของจีน  เป็นการ subsidize ทุกยี่ห้ออีวีของจีน  ได้รับการ subsidize ถึงขั้นที่ว่า

“แค่ผลิตอีวีออกมา ก็กําไรแล้ว”  คือยังไม่ต้องขาย  ก็กําไรแล้ว   ก็มีภาพออกมาในเน็ตเหมือนกันว่ามีรถที่ยังขายไม่ได้จํานวนเยอะมากในจีน   เพราะว่ามันโรงงานมันผลิตเพื่อรับ subsidize ของรัฐบาล อันนี้ก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่  แต่เดิมก็ผลิตเกินความต้องการของตลาดแล้ว และตอนนี้ก็ยังไปมีปัญหาในตลาดยุโรป มีปัญหาในตลาดสหรัฐอเมริกาอีก  ก็ยิ่งขายไม่ออกกันเข้าไปใหญ่

การที่รัฐบาลจีนเดินหน้า subsidize แบบนี้ เค้าไม่เห็นปัญหาโอเวอร์ซัพพลายที่จะตามมาหรือ

คือคิดว่า เค้าตัดสินใจช้า แล้วปัญหาอะไรที่มันเกิดขึ้นในตลาดเองเนี่ย มันไม่ขึ้นไปถึงผู้นําข้างบน แล้วก็ในช่วงแรก มันก็ดูเหมือนกับว่า โอ้โห บีวายดี ออกมาแล้ว ก็แย่งสัดส่วนตลาดของเทสล่านะ มันก็ดูเหมือนว่ามันจะไปได้ดี แล้วข่าวในบ้านเราก็มีมาแบบโอ้โหอวย อวยแบบว่าอย่างมาก อยากจะให้มาตั้งโรงงานในไทยนะ มันจะต้องโน่นนี่นั่นแน่แน่เลยอะไรแบบนี้   ดังนั้นไอ้ปัญหาจริงๆ มันไม่ไปถึง  รัฐบาล ที่จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้  คือรัฐบาลหมกมุ่นอยู่กับการพยายามที่จะเป็นผู้นําอีวีแล้วก็อยากเอาชนะเทสล่าให้ได้     

อีกประการคือ ต้องบอกว่าจีนก็โดนยุโรปกับอเมริกาหลอกด้วย   เพราะว่าอย่างที่บอกว่า ตอนที่ตกลงกันเรื่องแบบเราจะช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนนะ เราจะส่งเสริมอีวีนะ จีนก็เลยบอกฉันจะผลิตอีวีพอท้ายที่สุดแล้ว ทั้งอเมริกา ทั้งยุโรปก็บอกว่า มันไม่เวิร์คสำหรับฉัน

ยุโรปเค้าก็มีเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ดีมาก มันก็ไม่เมคเซนส์ที่จะต้องใช้รถจํานวนมากขนาดนั้นแล้วก็นั่นแหละสภาพแวดล้อมอะไรต่าง ๆ รวมทั้งกังวลเรื่องแบตเตอรี่ลิเธี่ยมด้วย

 

เกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของจีนที่ผลิตสินค้าออกมา โดยไม่ดูตลาด

คือฝ่ายนโยบายของรัฐบาล ตั้งธงว่าอยากจะพัฒนาอันนี้ อยากเป็นผู้นําในตรงนี้ เค้ามีการปรับ strategy ที่มันช้า ในขณะที่ชาวจีน มีความรวดเร็วในการที่จะคว้าโอกาสในการทํามาหากินอย่างมาก  นั่นก็คือพอมีนโยบาย subsidize ขึ้นมาเยอะขนาดนี้  คนจีนก็รีบกระโดดเข้าไปเลย เราจะผลิตอีวี เราจะรวยอะไรประมาณนี้  และอย่างที่บอก การข่าวของจีน มันก็เหมือนการข่าวบ้านเรานี่แหละ ก็คือ มีแต่ข่าวบ่นว่า  อีวีลดราคา ผู้ซื้อไปก่อนหน้านี้ไม่พอใจ  รวมตัวกัน แต่ทําไมไม่มีใครพูดเลยว่า สาเหตุที่เป็นอย่างนี้มันมาจากอะไร

แล้วทุกข่าวเรื่องอีวีเนี่ยก็เป็นข่าวดีหมดเลย ในประเทศไทยไม่เคยมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับอีวี รัฐบาลก็เสพแต่ข่าวดี มันก็เลยเป็นเช่นนี้   ไม่มีใครพูดตรงๆ ว่าปัญหามันคืออะไร

นอกจากนี้ การ subsidize ของจีน ไปถึงขั้นที่ อีลอน มักส์ จะกรีดร้อง แล้วการที่ อีลอน มักส์ กรีดร้องเนี่ยก็เป็นเรื่องใหญ่มาก  เพราะว่าเค้าได้รับสิทธิประโยชน์เยอะ เป็นแขกวีวีไอพีของรัฐบาลจีนดังนั้นการที่เค้าออกมาพูดเรื่องนี้ ก็คงต้องร้ายแรงจริง ๆ

คือไม่ได้สวยหรูอย่างที่เค้าคิด ตอนที่เค้าเข้าไป  ในที่สุดแล้วก็มาเกิดสงครามราคากันแบบนี้ขึ้น

แล้วถ้าพูดถึงเทสล่าที่ขายในจีนมีทั้ง รัฐบาลมาบังคับไม่ให้ลดราคาเทสล่า  อีลอน มัสก์ บอกว่ามันประหลาดมากเลย ตั้งแต่ทําธุรกิจมา ไม่เคยมีใครบังคับว่าไม่ให้ลดราคา

รวมทั้ง คนจีนเอง หน่วยงานราชการจีน ที่รักชาติ ก็จะบอกว่า ที่จอดรถนี้ ห้ามเทสล่าเข้ามาจอด

หรือ คนที่เป็นสมาชิกพรรคอะไรต่าง ๆ ก็จะต้องขับอีวีจีนเท่านั้น ห้ามขับอีวีอเมริกัน   ดังนั้นมันมีสารพัดอย่าง ที่มาขัดขวาง พยายามขัดขวางเทสล่าที่อยู่ในตลาดของจีน


อีลอน มัสก์ เหวอไปเลยเจอแบบนี้เข้า

ใช่   คือถึงขั้นออกมาบอกว่า  ถ้าโลกตะวันตกไม่ทําอะไรสักอย่างนึงเนี่ย อีวี ของทั่วโลกจะเจ๊งหมด  เพราะว่าไม่มีทางสู้จีนได้ เพราะว่ามีการ subsidize กันแบบ impossible

อันนี้ถือว่าไม่ถูกต้องนะ คือคุณแข่งขันกันในเวทีโลก ระหว่างบริษัทที่เป็นควรจะเป็นเอกชนกับเอกชนมันไม่ควรจะได้รับความสนับสนุนจากรัฐมากขนาดนั้น คือในที่สุดมันทําให้กลไกการตลาดเพี้ยนไปหมดเลย

ในมุมคนที่ซื้อไปแล้ว เค้าก็มีสิทธิ์ที่จะเสียใจ

ใช่ค่ะ เป็นเราก็เสียใจ

ในสถานการณ์แบบนี้ เราควรจะตั้งรับอย่างไร

มีความรู้สึกว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับอีวี อาจจะไม่ทันแล้วนะ  เข้าใจว่ามาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แล้วมันมีข้อตกลงกันว่า  เครือซีพีจะสนับสนุนการที่จะมีโรงงานผลิต อีวีจากจีนมาตั้งในไทย แล้วรัฐบาลก็ให้ incentive ให้อะไรต่าง ๆ แล้วคิดว่ารัฐบาลก็เสพข่าวเดียวกับที่เราเสพ  รัฐบาลก็ยังมองว่า ดีจริง ๆ เลย เราจะเป็น hub ในการผลิต อีวีอะไรประมาณนี้

สําหรับผู้บริโภคก็ค่อยๆดู  ค่อย ๆ พิจารณาไปว่า มันใช้ได้จริงรึเปล่า แล้วก็ถ้ามันถูกขนาดนี้ ก็ต้องคิดเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว

ดูเหมือนว่ารถ อีวีจากจีนจะมุ่งหน้ามาที่เซาท์อีสต์เอเชีย  อะไรเป็นปัจจัยนั้น

ก็นี่แหละ เราเป็นมหามิตรไง  คือรัฐบาลเราก็มองจีนในแง่ดี เมื่อคนในวงธุรกิจของเราก็มองจีนในแง่ดีดังนั้นคนไทยก็ซื้ออีวีมากกว่าคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย รวมทั้งใช้อีวีมากกว่าคนในยุโรปอเมริกาเยอะมาก  

คืออาจารย์ไปยุโรป  ไปโปแลนด์เป็นประจําทุกปี  กรุงวอร์ซอไม่เห็นอีวีเลย ก็ถามเพื่อนร่วมงานที่นั่นว่าไม่ขับอีวีกันเลยเหรอ เค้าก็บอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามั้ย เพราะมันเป็นลิเธียม มันจะจัดการได้มาตรฐานรึเปล่า แล้วมันก็ไม่สะดวกในการจะขับไกล ๆ แล้วที่อเมริกา นอกจากเทสล่าแล้ว  ก็ไม่แทบไม่เห็นอีวีอื่นเลย   แล้วก็เทสล่าน้อยมาก


หรืออีกมุมนึงบางส่วนก็บอกว่ารอให้เทคโนโลยีมันเสถียรกว่านี้

จริง ๆ แล้ว คนไม่ค่อยพูดถึงนะ  แต่ว่าฝ่ายที่เราน่าจะไปดูคือญี่ปุ่น  ทําไมโตโยต้าไม่ทําอีวี   แล้วทีแรกทุกคนก็บอกโตโยต้าจะตกขบวน แล้วโตโยต้าจะโน่นนี่นั่น  โตโยต้าก็ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่กับไฮบริดแล้วก็อีกอันนึงที่เค้าทําวิจัยแต่ก็ยังคงอีกนานก็คือนิวเคลียร์ฟิวชัน เค้าเห็นภาพนี้ว่ามันไม่เวิร์คในระยะยาว เพราะว่าเคสอย่างอเมริกา คือ infrastructure ที่มันจะต้องสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับอีวีเนี่ย มันมหาศาลมากจนไม่คุ้ม

มันไม่คุ้ม ในขณะที่ถ้าคุณขับรถไฮบริด คุณมีที่ชาร์จแบตเฉพาะในเมืองในศูนย์กลางเมืองต่างๆแล้วคุณขับจากแบบนิวยอร์กซิตี้ ไปแอลเอคุณก็แวะเมืองครึ่งทางเพื่อชาร์จ  ในช่วงที่ไฟฟ้าหมดคุณก็ขับใช้สันดาปไปอะไรแบบนี้มันยังเวิร์กกว่า

แล้วอีกอย่างนึงก็คือไอ้ความเป็นพิษของแบตลิเธียมเนี่ยมันเป็นพิษมาก ซะจนน่าสงสัยว่าท้ายที่สุดแล้ว มันมีต่อผลสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า เราจะเจอขยะมโหฬาร แล้วเราจะกําจัดอย่างไร

ใช่นี่เป็นโจทย์ในโจทย์ในอนาคต