‘ภูพระบาท’ มรดกโลกร่วมวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (ไทย – กัมพูชา - ล้านช้าง)

‘ภูพระบาท’ มรดกโลกร่วมวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (ไทย – กัมพูชา - ล้านช้าง)

‘ภูพระบาท’ เป็นแหล่ง ‘วัฒนธรรมสองฝั่งโขง’ (ไทย – กัมพูชา - ล้านช้าง) ไม่ใช่ของไทยแต่ผู้เดียว    

KEY

POINTS

  • ‘ภูพระบาท’ เป็นแหล่ง ‘วัฒนธรรมสองฝั่งโขง’ (ไทย – กัมพูชา - ล้านช้าง) ไม่ใช่ของไทยแต่ผู้เดียว    
  • การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของภูพระบาท และสิ่งที่ขาดหายไป
  • ทำไมภูพระบาทมีทวารวดี แต่ไม่มีอยุธยา?

การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะประเทศไทยจะได้มีสถานที่กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการเผยแพร่วัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นทะเบียนครั้งนี้คือมรดกที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นแหล่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี นับแต่ที่เคยขึ้นทะเบียนให้แก่ ‘บ้านเชียง’ มาแล้ว ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2535 นับถึงปี 2567 ก็เป็นเวลาห่างกันกว่า 32 ปี ทั้ง ๆ ที่มีการค้นพบแหล่งมาตั้งแต่ พ.ศ.2515 นับย้อนหลังไปถึงปีที่พบก็ร่นไปอีกกว่า 52 ปี 

ถึงจะน่าเสียดายไปบ้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไปพร้อมกับบ้านเชียง และที่มีระยะห่างจากปีที่พบกับปีที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกนานขนาดนั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองอีสานในช่วงทศวรรษ 2510 - 2520 นั้น เรียกได้ว่า ‘ลุกเป็นไฟ’ เพราะยังมี ‘สงครามประชาชน’ คือการสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างพคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กับฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหาร  

เทือกเขาภูพานอันเป็นที่ตั้งของ ‘ภูพระบาท’ เอง ก็เป็นสมรภูมิสู้รบกันอยู่ด้วย โชคดีที่ ภูพระบาทรอดพ้น ไม่ถูกทำลายไปเพราะสงคราม เพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม และกัมพูชา ไม่ได้โชคดีแบบนี้ หลายที่ถูกทิ้งระเบิดพังเสียหายไปมาก ก็ในช่วง 2 ทศวรรษดังกล่าว

อีกทั้งเมื่อกลางทศวรรษ 2510 นั้นว่าตามจริง คือหน่วยงานเกี่ยวข้องยังขาดความพร้อมในด้านข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแหล่งที่พบ กระทั่งปัจจุบันเมื่อดูเหมือนจะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า แหล่งหินโบราณประหลาดที่ตั้งกระจายอยู่บนภูพระบาทนี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมยุคไหนอย่างไร จึงเกิดความพร้อมที่จะดำเนินการเผยแพร่ในขั้นตอนต่อมา  ซึ่งการยื่นขอให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเผยแพร่และยกระดับแหล่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว 

ความสำเร็จของศรีเทพ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า มาถูกทางกันแล้ว พอเป็นมรดกโลกปุ๊บ ก็จะตามมาด้วยการโปรโมทยกใหญ่ แต่ก็ไม่แน่ ยังต้องดูกันต่อไป เพราะภูพระบาทออกจะอยู่ไกลจาก ‘เมืองเทพสร้าง’ พอสมควร ไม่เหมือนอย่างอยุธยาหรือศรีเทพที่ขับรถไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง การกระตุ้นความสำคัญจึงเทน้ำหนักไปที่คนอีสาน ในขณะที่คนอีสานส่วนใหญ่ต้องย้ายถิ่นฐานจากบ้านช่องเรือนชานของตนไปทำงานหากินอยู่ต่างถิ่น 

คงจะดีไม่น้อยถ้าของอย่างบ้านเชียงหรือภูพระบาท กระตุ้นให้คนกลับสู่แผ่นดินอีสานหรือเห็นคุณค่าแผ่นดินอีสานมากขึ้น แต่เป็นไปได้ยาก เพราะการท่องเที่ยวไทยถูกใช้แค่เป็นเครื่องกอบกู้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบกู้ชาติบ้านเมือง ในขณะที่ ‘ชาติ’ ในสังคมประเทศไทยยังคงมีความหมายแคบอยู่เพียงส่วนกลาง กว่าจะหลงเหลือเผื่อแผ่ไปถึงอีสานบ้านเฮาก็แห้งเหี่ยวกันไป    

แต่ถึงที่สุด ต่อให้คนกรุงจะมุ่งสู่อุดรธานีกันมากขึ้น ตามกระแสการโปรโมทที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ ในเลเวลเดียวกับที่เคยไปศรีเทพ ก็ยังต้องพิจารณากันอีกว่า การบูมในช่วงแรก แล้วหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ดรอปลง ตามนิสัยคนไทย ที่พอมีอะไรใหม่ก็เห่อกันไปพักหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม นั่นรู้กันว่าย่อมไม่เกิดผลดีระยะยืนยาว (ขี้เกียจจะใช้คำว่า ‘ยั่งยืน’ หรือ ‘บูรณาการ’ ให้หน่วยงานรัฐเขาใช้ไป) 

การจัดระบบความรู้และพัฒนาต่อไป ย่อมช่วยได้มากกว่า แต่ก็อีกนั่นแหละ ของแบบนี้มันต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่กดปุ่มปุ๊บจะได้ปั๊บ เพราะเรายังไม่รู้อีกตั้งหลายเรื่องเกี่ยวกับภูพระบาท และที่ว่ารู้กันอยู่นั้น ต้องขอบอกตรง ๆ ว่า “โอ๊ยมันบ่แน่ดอกนาย” ถ้าอยากรู้อะไรแบบนั้นแนะนำให้ไปดูยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ช่องไหนก็ได้ เพราะเขาจะมีความรู้สำเร็จรูปมาเล่ากับคุณ ไม่ใช่ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัยหรือความคิดเห็นจากผู้ที่ศึกษามามาก ซึ่งจะดูเคร่งขรึม คงแก่เรียน ฟังไม่สนุก เพราะเขาจะต้องบอกกับคุณว่าสิ่งที่คุณคิดว่ารู้แล้วนั้น จริง ๆ มันอาจไม่เป็นอย่างนั้น  

ที่ตั้งมีความโดดเด่น   

หลังจากสงครามประชาชนสิ้นสุดลง พื้นที่ป่าเขาหลายแห่งได้ถูกจัดตั้งเป็น ‘อุทยานแห่งชาติ’ เช่น ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก, อุทยานแห่งชาติทับลาน, อุทยานตาพระยา จ.สระแก้ว ฯลฯ บางแห่งที่มีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีก็ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘อุทยานประวัติศาสตร์’ ภูพระบาทที่เชิงเขาภูพานได้รับการจัดการในแบบหลังนี้ 

‘อุทยานแห่งชาติ’ อยู่ในความควบคุมดูแลและจัดการบริหารโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วน ‘อุทยานประวัติศาสตร์’ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและจัดการบริหารโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 3,430 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชื่อว่า ‘ป่าเขือน้ำ’ ท้องที่บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ถือว่าไม่ไกลจากตัวเมือง ระยะทางพอ ๆ กับตัวเมืองนครราชสีมาไปยังปราสาทหินพิมาย 

สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ ก็คือการเสนอร่วมกับแหล่งวัฒนธรรมสีมาอย่างวัดพระพุทธบาทบัวบาน โดยใช้ชื่อว่า ‘ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี’ (Phu Phrabat, a testimony to the Sema stone tradition of the Dvaravati period) ทำให้เกิดภาพความเชื่อมโยงกันระหว่างภูพระบาทกับแหล่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน   

บริเวณภูพระบาทมีลักษณะภูมิประเทศเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นอันมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน จนเกิดเป็นโขดหินและเพิงผารูปลักษณะต่าง ๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพิงผาและโขดหินเหล่านี้ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งพักพิง และสถานที่กระทำพิธีกรรม ระหว่างออกหาของป่าและล่าสัตว์ของมนุษย์ในอดีตกาลเมื่อนานมาแล้ว   

ร่องรอยหลักฐานการใช้งานสถานที่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีภาพเขียนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เมื่อราวกว่า 2,000 - 3,000 ปีล่วงมาแล้ว เป็นภาพคน สัตว์ ภาพฝ่ามือ และภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ อยู่บนผนังเพิงผาที่ดัดแปลงใช้เป็นที่พักอาศัยได้ พบมากภายในอุทยานที่ถ้ำวัว – ถ้ำคน และเพิงผาโนนสาวเอ้ ไม่ไกลกันยังมีที่หอนางอุสา (ชื่อที่อิงจากตำนานเรื่องนางอุสา - ท้าวบารส)  

ตามข้อมูลของกรมศิลปากร ซึ่งอ้างอิงมาจากงานค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการทั้งในและนอกสังกัดกรมศิลปากรเอง ภูพระบาทเป็นแหล่งที่พบร่องรอยทางอารยธรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบมาถึงวัฒนธรรมสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยล้านช้าง และสมัยรัตนโกสินทร์ตามลำดับ การใช้สีแดงเขียนภาพสีภาพสลักบนผนังถ้ำพบมากกว่า 54 แห่ง การสกัดหินทำเป็นรูปพระพุทธรูปแบบทวารวดีและล้านช้าง เทวรูปแบบพราหมณ์เขมรและล้านช้าง ร่องรอยการสร้างศาสนาสถานด้วยอิฐในสมัยทวารวดี เช่น บริเวณถ้ำพระ พระพุทธบาทบัวบก อาคารรอบพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดีและล้านช้าง การดัดแปลงเพิงผาธรรมชาติ เช่น หอนางอุสา หินตั้งและใบเสมาหินขนาดใหญ่ ภาพแกะสลักนูนต่ำ เป็นต้น 

การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของภูพระบาท และสิ่งที่ขาดหายไป 

ตามที่คณะสำรวจโครงการผามอง กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีภูพระบาทและจัดทำเอกสารรายงานไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 พบว่าภูพระบาทมีโบราณสถานทั้งสิ้น 68 แห่ง แบ่งเป็นโบราณสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 45 แห่ง สิ่งก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่ดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถาน 23 แห่ง 

นอกจากนี้คณะสำรวจโครงการดังกล่าวยังได้จัดแบ่งยุคสมัยของสิ่งที่พบในเขตภูพระบาทเอาไว้ตามลำดับดังนี้: 

  • ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือ ‘ยุคโลหะ’ ราว 2,000 - 3,000 ปีล่วงมาแล้ว 
  • โบราณสถานสถานสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 16  
  • โบราณสถานสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 
  • โบราณสถานสมัยล้านช้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 
  • โบราณสถานที่บูรณะสมัยรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 24 ลงมา  

น่าเสียดายที่ไม่มี ‘ยุคพคท.’ ในประวัติศาสตร์ภูพระบาทฉบับกรมศิลปากร แต่ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แม้แต่อดีตเขตปลดปล่อยของพคท. อย่างภูหินร่องกล้า มีของที่พคท. เคยสร้างทำไว้ตั้งหลายอย่าง อุทยานแห่งชาติท่านก็โปรโมทแต่วีรกรรมกองทัพไทย เกรงว่าถ้าภูพระบาทมีนำเสนอประวัติศาสตร์ของพคท. ทางการก็คงไม่นิ่งนอนใจ มาสร้างประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยสวมทับลงพื้นที่ให้เสียของอีกเปล่า ๆ  อีกอย่างคงจะรับรู้และรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์พคท. ยังไม่โบราณพอ ก็ขนาดประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่มีอยู่ในย่านเมืองหลวงแท้ ๆ ก็ยังไม่มีมุมในการอนุรักษ์และนำเสนอแต่อย่างใดเลย   

‘สมัยลพบุรี’ ปัญหาองค์ความรู้ที่สืบเนื่องมาจากยุคสมัยเมื่อแรกพบ 

นอกจากวัตถุสิ่งของในวัฒนธรรมร่วมกับล้านช้างแล้ว ภูพระบาทยังเป็นแหล่งที่พบของในวัฒนธรรมร่วมกับกัมพูชา เรียกได้ว่า ‘ทรีอินวัน’ (3 in 1) (ไทย – ลาว - เขมร) แต่ปัญหาคือศิลปวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณของที่นี่ ยังคงถูกอธิบายจากมุมมองความรู้อย่างเก่าว่าเป็นของ ‘ลพบุรี’ และยุคสมัยดังกล่าวก็มีตั้งแต่ยุคร่วมวัฒนธรรมเขมรแบบ ‘สมัยก่อนนครวัด’ (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 17) ‘สมัยนครวัด’ (Angor Wat period) หลังพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างปราสาทนครวัดในพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงสมัยนครธมหรือ ‘บายน’ (Bayon period) (พุทธศตวรรษที่ 18) แม้จะน้อยชิ้นกว่าของในยุควัฒนธรรมแบบอื่น ๆ แต่ก็เรียกได้ว่า ‘ครบจบที่เดียว’  

ดังที่นักวิชาการหลายท่าน (รวมทั้งผู้เขียน) ได้เคยแสดงความคิดเห็นกันมามากแล้วว่า สมัยลพบุรีก็คือแค่สมัยของลพบุรี อะไรที่ดูเป็นเขมรแต่พบในดินแดนประเทศไทย ที่เคยยกให้เป็นของ ‘วัฒนธรรมแบบลพบุรี’ นั้น ก็เพราะนักวิชาการรุ่นก่อนกลัวว่า ถ้าบอกเป็น ‘วัฒนธรรมแบบเขมร’ ก็จะเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสสามารถอ้างเคลมเอาไปเป็นเมืองขึ้นได้  

ความกลัวนี้ได้ถูกพิสูจน์ไปนานแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ฝรั่งเศสไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้  ไม่เคยมีกรณีที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกจะสามารถอ้างเคลมฮุปเอาดินแดนไหนไปได้เพียงเพราะบริเวณนั้นมีวัฒนธรรมร่วมกับชนชาติที่เขามีอำนาจปกครองอยู่ จะทำได้มีกรณีเดียวคือการส่งกองทัพเข้ายึดครอง ซึ่งฝรั่งเศสก็เคยมีปฏิบัติการณ์เช่นนั้นมาแล้ว และสยามก็แพ้แล้ว คือกรณีวิกฤติการณ์ ร.ศ.112  

พอมายุคปัจจุบันที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกได้ถอนตัวออกไปแล้ว ประเทศต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ได้รับเอกราชกันถ้วนหน้าแล้ว ความกลัวนี้ก็กลับเปลี่ยนเป็นกลัวจะเจอประชาชนชาว ‘เคลมโบเดีย’ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้มีอำนาจแบบที่เทียบกันได้แต่อย่างใดเลยกับเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างฝรั่งเศสในอดีต การปลุกปั่นสร้างกระแสความเกลียดชังต่อเพื่อนบ้านเช่นนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์มีกลุ่มเดียวคือชนชั้นนำที่ต้องการการรัฐประหารเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ในหมู่พวกตนใหม่ เพราะเมื่อเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกับเพื่อนบ้านทีไร พวกนี้ก็จะสนับสนุนให้ทหารเอารถถังเอาปืนออกมา (มุขเก่าโบราณทั้งนั้น คนเขารู้ทันหรอกนะ)      

ทำไมภูพระบาทมีทวารวดี แต่ไม่มีอยุธยา?

จากลำดับการแบ่งยุคสมัยของภูพระบาท จะเห็นได้ว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 หายไป สิ้นสุดยุควัฒนธรรมเขมร (ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องยังบอกเป็น ‘ลพบุรี’) ในพุทธศตวรรษที่ 18 โผล่มาอีกทีก็สมัยล้านช้างในพุทธศตวรรษที่ 21 เลย  ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นคนนอนหลับเป็นเจ้าหญิงนิทราไปกว่า 2 ศตวรรษ พลันก็ตื่นขึ้นมา แต่ไม่ใช่อย่างนั้น   

ปริศนาข้อนี้ (ทำไมภูพระบาทมีทวารวดี แต่ไม่มีอยุธยา?) ที่จริงตอบได้ง่ายมาก ก็เพราะว่าอยุธยามีอำนาจแผ่ขึ้นไปยังแผ่นดินอีสานไกลสุดแค่นครราชสีมาและอีสานใต้ (ในบางช่วง) นอกนั้นอีสานกลางและเหนือ อยุธยาไม่ได้สนใจ หรือต่อให้สนใจก็ไม่สามารถจะขึ้นไปทำอะไรได้ เพราะเป็นเขตอิทธิพลของล้านช้าง การติดต่อล้านช้างในสมัยอยุธยาใช้เส้นทางลุ่มแม่น้ำป่าสักขึ้นไปทางเพชรบูรณ์ - ด่านซ้าย     

ดังที่อาจารย์อาคม พัฒิยะ และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอไว้ในเล่ม ‘ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น’ การสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 นั้น ไม่ได้มีผลทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคอุษาคเนย์ที่เป็นอยู่อยู่ในเวลานั้นต้องขยับปรับเปลี่ยนตามแต่อย่างใด สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยามีอำนาจอยู่แค่ในเขตที่ราบภาคกลางของสยามเท่านั้น 

หัวเมืองต่าง ๆ ทั้ง 16 หัวเมืองประเทศราช ที่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายในปีดังกล่าวนั้นตามอย่าง ‘กฎมณเฑียรบาล’ ในประชุมกฎหมายตราสามดวงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เพิ่งมีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชพงศาวดารที่ระบุรายชื่อหัวเมืองเหล่านี้ก็ยังเป็นฉบับชำระในสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว อีกทั้งคำว่า ‘หัวเมืองประเทศราช 16’ นี้ ยังไปพ้องกับคติเรื่อง ‘มหาชนบททั้ง 16’ ของพุทธกาลอีกด้วย จึงเป็นการแต่งพระราชพงศาวดารและชำระกฎหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติของราชสำนักสยามในรุ่นหลังมากกว่าจะเป็นความจริงในอดีต     

เดิมบริเวณอีสานตอนบนและอีกฝั่งโขงในรัศมีโดยรอบไม่ไกลกัน เป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณที่เรียกว่า ‘อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์’ ศูนย์กลางอยู่ที่พระธาตุพนม (ในจังหวัดนครพนมปัจจุบัน) แต่อาณาจักรนี้ภายหลังได้เสื่อมอำนาจลง เกิดศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นที่ล้านช้างคือ ‘หลวงพะบาง’ ขณะเดียวกันกลุ่มวัฒนธรรมเขมรจากแถบที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) และอีสานใต้ เกิดเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมอีสานจนข้ามโขงไปยังเมืองซายฟอง (เวียงจันเก่าในวัฒนธรรมเขมรโบราณ) 

ต่อมาในรัชกาล ‘พระเจ้าไซเซดถาทิราด’ (ที่ราชบัณฑิตไทยบวชบาลีให้พระองค์ใหม่โดยให้เขียนว่า ‘พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช’) เป็นกษัตริย์ลาวที่เข้มแข็ง เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสที่เกิดจากพระมเหสีเชื้อสายกษัตริย์เชียงใหม่ เมื่อเชียงใหม่ว่างกษัตริย์ลง เหล่าเสนามาตย์ได้ไปกราบทูลขอพระเจ้าโพทิสานราด ให้พระเจ้าไซเซดถาทิราดมาครองเชียงใหม่ แต่แล้วเมื่อพระเจ้าโพทิสานราดสวรรคต พระเจ้าไซเซดถาทิราดเสด็จกลับหลวงพะบาง พระองค์จึงกลายกษัตริย์ของ 2 อาณาจักร คือ ล้านนากับล้านช้าง แต่ต่อมาได้เสียบัลลังก์ให้กับกลุ่มที่สนับสนุนพม่าภายใต้พระเจ้าบุเรงนอง  แต่พระองค์ก็ยังคงทวงสิทธิของพระองค์ที่มีต่อราชบัลลังก์เชียงใหม่ ทรงสร้างพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แล้วจึงได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพะบางมาเป็นเวียงจัน เมื่อ พ.ศ.2106   

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ‘วัฒนธรรมล้านช้าง’ ที่มีศูนย์กลางใหม่เข้มแข็งคือ ‘เวียงจันศรีสัตนาคนหุต’ ก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลข้ามโขงลงมาในอีสาน จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมล้านช้าง’ หรือ ‘สมัยล้านช้าง’ ขึ้นในอีสาน อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 (คือหลังพระเจ้าไซเซดถาทิราดสถาปนาเวียงจันเป็นเมืองหลวงจนถึงช่วงแตกเป็น 3 ก๊กหลังสิ้นพระสุริยะวงสาทำมิกะราด) วัฒนธรรมล้านช้างได้มีอิทธิพลเหนือดินแดนอีสานตอนบน ครอบรวมทั้งเขตภูพระบาท จึงปรากฏร่องรอยวัฒนธรรมล้านช้าง (พุทธศตวรรษที่ 21 - 13) อยู่ในเขตภูพระบาท ดังนั้นการที่จะเข้าใจภูพระบาทจึงต้องเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมของล้านช้างและกัมพูชาร่วมด้วย       

ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมทวารวดีในอีสาน ถึงไม่สืบเนื่องมาเป็นแหล่งวัฒนธรรมแบบอยุธยาเหมือนอย่างภาคกลางและภาคอื่น ๆ  อันที่จริงที่บอกว่าของในอีสานบางประเภทเป็น ‘ทวารวดีในอีสาน’ นั้น ก็ยังเป็นปัญหาไม่น้อย เรื่องนี้ยาว แต่เอาสรุปย่อ ๆ ก็คือว่า ‘ทวารวดีในอีสาน’ เกิดจากการเทียบของที่พบแล้วเห็นว่ามีลักษณะร่วมกับของยุคเดียวกันที่พบในภาคกลางก็เท่านั้น  

ข้อสรุปเรื่อง ‘ทวารวดีในอีสาน’ เป็นเรื่องการลงความเห็นสรุปโดยไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรมายืนยันเป็นมั่นเหมาะ วัตถุหรือสิ่งของอย่างเดียวกันคนผู้สร้างและผู้ใช้ของที่ว่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนสังกัดอยู่ภายใต้อำนาจทางเศรษฐกิจสังคมเดียวกัน ไม่งั้นคนใส่กางเกงยีนส์คงเป็นประชาชนชาวอเมริกัน หรือคนฟังเพลงป๊อปเกาหลีคงเป็นคนกรุงโซลไปหมด มันเป็นเรื่องวัฒนธรรม จึงไม่มีอุปสรรคด้านเขตแดนมาขวางกั้น  

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า ‘ทวารวดี’ อาจเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนที่นับถือพุทธพราหมณ์ในรุ่นพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 ก่อนนี้มีความเชื่อว่าทวารวดีเป็นกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเมืองที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ แต่ละบ้านเมืองเป็นอิสระต่อกัน โดยอาจมีบางเมืองเป็นใหญ่เหนือเมืองอื่นบ้าง เพราะมีระบบเครือญาติ กษัตริย์องค์ใดมีธิดาส่งไปอภิเษกสมรสกับกษัตริย์บ้านเมืองข้างเคียงได้มาก ก็มีอำนาจมาก เนื่องจากเป็น ‘พ่อตา’ ของเหล่ากษัตริย์ข้างเคียง จึงได้รับความเคารพนับถือหรือเชื่อฟังคำสั่งของกษัตริย์ผู้เป็นพ่อตา ‘ระบอบพ่อตา – ลูกเขย’ เช่นนี้มีชื่อเรียกตามศัพท์สันสกฤตตรงกับคำว่า ‘พญาจักรพรรดิราช’ (ราชาเหนือราชาทั้งหลาย) 

แต่ต่อมานักวิชาการในรุ่นหลังก็มีมุมมองใหม่แล้วว่า ทวารวดีเป็นแค่อาณาจักรหนึ่งในท่ามกลางอีกหลายอาณาจักรที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน ตรงนี้ก็หมายความว่า ทวารวดีที่ภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา - บางปะกง กับทวารวดีที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน - แม่กลอง เป็นคนละพวกกัน ทวารวดีที่ลำพูนและภาคเหนือก็พวกหนึ่ง ภาคใต้ก็อีกพวก ภาคอีสานก็ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับภาคกลาง  

‘ทวารวดีในอีสาน’ กับ ‘อาณานิคมทางความรู้’ และ ‘อัตตาณานิคม’     

การค้นพบทวารวดีในภาคกลาง ยังความซาบซึ้งปลาบปลื้มปิติให้แก่นักประวัติศาสตร์ชาตินิยม ก็เพราะว่าจะเอาไปเคลมว่าอีสานกับภาคกลางเคยเป็นหนึ่งเดียวกันมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันมาก่อนหน้าสมัยธนบุรีที่สยามส่งกองทัพไปตีเวียงจันและจำปาสัก แล้วจัดการหัวเมืองอีสานให้เข้ามาขึ้นกับสยามได้สำเร็จ 

ก่อนนี้นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยจะรู้สึก ‘เฟล’ ที่อีสานเหนือคือล้านช้าง อีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา ไม่ใช่ดินแดนภายใต้สยาม สยามเพิ่งจะมีอำนาจปกครองอีสานก็หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ไปแล้ว ครั้นพบแหล่งวัฒนธรรมแบบทวารวดีในอีสาน ก็นำเอา ‘ทวารวดีในอีสาน’ ไปเคลม แต่ทว่าทวารวดีจะสามารถใช้เคลมได้เช่นนั้นจริงหรือ?         

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ส่งกองทัพนำโดยเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ไปตีศูนย์กลางล้านช้างที่แตกออกเป็น 3 ก๊ก (เวียงจัน, จำปาสัก, หลวงพะบาง) เมื่อชนะจำปาสักแล้วยกไปบุกเวียงจันโดยมีหลวงพะบางยกทัพลงมาช่วยตีเวียงจันด้วย (เพราะเป็นช่วงที่ล้านช้างแตกแยกกันอย่างหนัก หลวงพะบางจึงเข้ากับสยามเมื่อตีเวียงจัน) 

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์ใหม่และตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ของราชอาณาจักรแบบอยุธยา จึงทรงจัดการปกครองหัวเมืองขึ้นตามอย่างจักรพรรดิราชสมัยอยุธยากระทำ คือให้หัวเมืองขึ้นส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาเคารพตามประเพณี และผู้ครองเมืองสำคัญอย่างเช่น เวียงจัน จำปาสัก หลวงพะบาง ต้องผ่านความเห็นชอบจากสยามหรือเป็นฝ่ายสยามเท่านั้น โครงสร้างอำนาจและระบบการปกครองยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปมากกว่านั้น ล้านช้างทั้งสามอาณาจักร (เวียงจัน จำปาสัก หลวงพะบาง) ยังมีอิสระภายใน (Autonomy) ของตนเอง 

จนกระทั่งเมื่อรัชกาลที่ 5 แพ้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส จึงได้จัดการปกครองอีสานใหม่ โดยรูปแบบการปกครองใหม่ที่ว่านี้ก็แบบเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมจัดการปกครองกับประเทศที่ถูกยึดครองในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อคนอีสานลุกขึ้นต่อต้านการปกครองแบบนี้ภายใต้ขบวนการกบฎผู้มีบุญ สยามก็ส่งกองทัพเข้าไปอีสานปราบปรามคนอย่างรุนแรงเหมือนอย่างที่เจ้าอาณานิคมปราบปรามขบวนการเอกราชทั้งหลายในอุษาคเนย์ยุคเดียวกันนั่นแหล่ะ         

นั่นเป็นเรื่องอำนาจการจัดการทางการเมืองการปกครอง ทีนี้ว่าในแง่องค์ความรู้ ผู้เขียนเห็นมาตลอดว่า ‘ทวารวดีในอีสาน’ ที่นักวิชาการโบราณคดีไทยสร้างขึ้นนั้นคืออีกด้านที่กำลังสร้างความชอบธรรมให้แก่การล่าอาณานิคมของสยาม เพราะ ‘ทวารวดีในอีสาน’ เสนอว่าศูนย์กลางวัฒนธรรมทวารวดีอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ‘ทวารวดีในอีสาน’ จึงเป็นการสร้าง ‘อาณานิคมทางความรู้’ หรือ ‘ความรู้แบบเจ้าอาณานิคม’ (Colonial knowledge) ให้อีสานขึ้นกับสยามอีกคำรบหนึ่ง 

แต่อย่างที่บอกไว้แล้วว่า จริง ๆ แล้ว ‘ทวารวดี’ ยังสามารถมองได้อีกแบบหนึ่ง หรือยังสามารถสร้างองค์ความรู้ไปบนอีกเส้นทางหนึ่งได้ ‘ทวารวดีในอีสาน’ ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ขึ้นต่อกับ ‘ทวารวดีในภาคกลาง’ ถึงจะมีอาณาจักรใหญ่ ในอดีตก็ไม่ได้มีผู้ใดจะยิ่งใหญ่พอจะครอบคลุมทั่วทั้งดินแดนที่เป็นประเทศไทยในยุคที่เป็นรัฐชาติปัจจุบันนี้ได้   

แต่จะไม่ให้ความเป็นธรรมต่อนักวิชาการ ‘ทวารวดีในอีสาน’ เลยก็กระไรอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นอาจจะบอกว่าท่านเสนอแบบนั้นไม่เกี่ยวกับการล่าอาณานิคมให้สยามก็ได้ ‘ความรู้แบบอาณานิคม’ ก็เหมือน ‘ความรู้แบบชาตินิยม’ คือบางครั้งผู้เสนอ เสนอโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะคิดว่าความรู้ของท่านนั้นเป็นความจริงอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองอื่นใด 

เรื่องนี้ลุงไมค์ (ไมเคิล ไรท) ต๊าชของ ‘โมหิณี’ (แมวสุดรักของลุงแก) เคยเสนอคำอธิบายที่ดีเยี่ยมเอาไว้ จากการแปลคำภาษาอังกฤษอย่างคำว่า ‘Autocolonial’ เป็นคำไทยว่า ‘อัตตาณานิคม’ หมายถึงการตกเข้าไปสู่ห้วงมืดของลัทธิอาณานิคมโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นแลขอรับกระผม 

ลุงไมค์นอกจากจะเคยประดิษฐ์คิดค้นศัพท์ ‘อุษาคเนย์’ ให้ใช้แทนคำว่า ‘เอเชียอาคเนย์’ ซึ่งกลายเป็นคำฮอตฮิตติดตลาด แบบเดียวกับที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะ ประดิษฐ์และแปลคำว่า ‘Discourse’ มาเป็นไทยว่า ‘วาทกรรม’ 

แต่น่าเห็นใจอยู่ที่คำว่า ‘อัตตาณานิคม’ ที่ลุงแกอุตส่าห์ประดิษฐ์คิดค้นผ่านการถกเถียงกับ ‘โมหิณี’ แมวรักของแกตั้งหลายต่อหลายบทความ ไม่มีผู้ใดจดจำได้ แม้แต่ผู้เขียนเองซึ่งเป็นแฟนคอลัมน์ ‘ฝรั่งมองไทย’ ของลุงแกก็ยังเพิ่งจะระลึกชาติได้เมื่อไม่กี่วันมานี้จากการอ่านบางเล่มของลุงแก 

ถอนหมุดผี - ปักสีมา 

นอกจาก ‘ทรีอินวัน’ แบบไทย – ลาว - กัมพูชาแล้ว ภูพระบาทยังครบจบที่เดียวแบบ ‘ผี – พราหมณ์ – พุทธ’ สัญลักษณ์สำคัญที่เป็นรอยต่อระหว่างความเชื่อแบบดั้งเดิมกับศาสนาจากอินเดีย ถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของภูพระบาท 

คำว่า ‘มรดก’ นั้น ภาษาลาวอีสาน (ซึ่งคือภาษาเดียวกับภาษาชาวล้านช้าง) เรียกว่า ‘มูนมัง’ ภูพระบาทเป็นมูนมังของใครบ้าง ไม่ใช่เฉพาะของคนไทยแน่นอน เพราะคนไทยรุ่นปัจจุบันเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างโดยรัฐชาติไทย คำว่า ‘ภู’ กับ ‘พู’ คำเดียวกัน หมายถึงภูเขา ถ้าเป็นภาคกลางจะเรียกว่า ‘พู’ ภาคเหนือเรียกว่า ‘ดอย’

คำว่า ‘พระบาท’ กร่อนมาจาก ‘พระพุทธบาท’ เป็นคติที่รับสืบทอดมาจากลังกาอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นที่หน่วยงานเกี่ยวข้องตลอดจนการขึ้นทะเบียนได้ชี้นำความสำคัญไปในทางว่า ภูพระบาทมีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ไม่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอก จึงสะท้อนความเข้าใจผิดอย่างสำคัญ อย่างน้อยกลุ่มคนรุ่นก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะไปค้นพบสถานที่ แต่ชาวบ้านรู้จักกันมานานนมไม่รู้กี่ร้อยปีมาแล้วนั้น เขาเชื่อและมีมุมมองต่อสถานที่ว่าเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนา 

แถมยังเป็นที่จาริกแสวงบุญเพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงที่เรียกว่า ‘สังเวชนียสถาน’ อีกด้วย สถานที่แบบนี้ไม่ได้มีแค่ 4 ตำบลในชมพูทวีป (เช่น ลุมพินีวัน, พุทธคยา, สารนาถ, กุสินารา) จากตำนานอย่าง ‘อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม’ ก็เห็นได้ว่า คนอีสานแต่ก่อนมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังแผ่นดินอีสาน คล้ายกับ ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก’ ของล้านนา (ถึงภูพระบาทจะใช่หรือไม่ใช่ ‘ภูกูเวียน’ ในตำนานพระธาตุพนมก็ไม่เกี่ยวประเด็นตรงนี้)

ตำนานหรือนิทานเหล่านี้มีอายุแรกเริ่มเล่ากันเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้หรอก ที่แน่ ๆ จะต้องเป็นหลังจากที่มีการกำหนดให้สถานที่ในย่านนั้น ๆ (ที่เล่าเรื่องตำนาน) เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธองค์ (สังเวชนียสถาน) มาได้ช่วงหนึ่ง จนลืมไปแล้วว่าพระพุทธเจ้าองค์จริงเป็น ๆ ไม่เคยเสด็จมา ‘ผู้ข้า’ แค่สมมติสถานที่ให้กราบไหว้ระลึกถึงพระองค์ท่านเท่านั้น 

คำว่า ‘ชมพูทวีป’ ในสำนึกคิดของผู้เล่าตำนานก็ไม่ได้มีขอบเขตพรมแดนอยู่แค่ที่ประเทศอินเดียและเนปาล อินเดียและเนปาลคืออะไร อยู่ที่ไหน ผู้เล่าไม่รู้ด้วยซ้ำ เพราะอินเดียกับเนปาลเพิ่งจะเป็นประเทศทีหลังเขา สมัยข้าน้อย “บ่มี บ่เคยฮู้จัก” พระพุทธเจ้าผู้อยู่เหนือเทพเทวา ก็ย่อมจะเหาะเหินเดินอากาศไปที่ไหนก็ได้ในสากลโลก แล้วทำไมพระองค์จะไม่เคยมาในที่ที่มีผู้คนนับถือศาสนาของพระองค์ จะเข้าใจตำนานจึงต้องเข้าใจวิธีคิดและลักษณะการมองโลกของผู้เล่าตำนานด้วย  

‘พระพุทธบาท’ คือรูปรอยสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นหรือให้ความหมายว่าเป็น (รอยเท้าของพระองค์) มีทั้งแบบ ‘รอยธรรมชาติ’ เช่น หินที่ถูกน้ำเซาะขังจนเกิดเป็นรูปรอยเหมือนรอยเท้าคน และรูปที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมหรือฝีมือมนุษย์ มีตั้งแต่รูปสลักหิน สกัดไม้ รูปโลหะ ปูนปั้น และจิตรกรรม พระพุทธบาทแบบนี้ถือเป็นเครื่องเคารพสื่อถึงพระพุทธเจ้าแบบดั้งเดิมก่อนมีพระพุทธรูป และเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปกันขึ้นมาแล้ว ก็ยังมีความนิยมในรูปรอยพระพุทธบาท เพราะคนโบราณมีคติเคารพรอยเท้าผู้มีบุญญาธิการ 

ตำนานไม่ได้บอกเล่าความจริงแบบที่อยู่ภายใต้กรอบผัสสะทั้ง 4 (คือ ตา, หู, จมูก, กาย) แต่บอกเล่ามุมมองความเชื่อของคนในอดีต เป็นความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือความจริงในแบบของคนที่เชื่อ (เช่นเชื่อว่ามีผี ก็จะเห็นผีได้ปกติ) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องตลกที่พวกนักเล่าประวัติศาสตร์ไทยแท้ เมื่อได้อ่านตำนานเหล่านี้ก็มักจะเอาไปปรู๊ฟเป็นหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาที่อีสาน หนักเข้าก็ว่าตรัสรู้ที่แผ่นดินอีสาน ปรินิพพานที่เมืองกาญจนบุรี (ถ้าเป็นจริงดังนั้น ก็ดีอยู่หรอกนะ แต่คือมันไม่ใช่ไง)        

ของที่โดดเด่นใน ‘ภูพระบาท’ อย่างหลักสีมาสกัดจากหิน ‘สีมา’ ก็เป็นการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพุทธศาสนา ถึงอินเดียและลังกาไม่มีสีมา แต่สีมาก็ของใช้ในพุทธศาสนา โดยตัววัฒนธรรม (ไม่ใช่แค่ตัววัตถุ) ก็ยังอินเดียและลังกาอยู่ดีนั่นแหล่ะ การกำหนดเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยหลักการทุกศาสนาอนุญาตให้ดัดแปลงขนบของท้องถิ่นเดิมเข้ามาผสมผสานได้ 

‘ภูพระบาท’ แสดงให้เห็นรอยต่อระหว่างยุคหินตั้งกับสีมาเด่นชัดกว่าที่อื่น ดังนั้นจึงนำมาสู่ความเชื่อที่สร้างโดยนักโบราณคดีไทยบางกลุ่ม สีมาอีสานที่ภูพระบาทเป็นสีมารุ่นแรกในอุษาคเนย์ แต่ในเมื่อยังไม่พบหรือไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสีมาที่อื่นก็เกิดจากการเอาสีมาไปแทนหินตั้ง เรื่องนี้จึงยังควรเข้าใจในฐานะเป็นความเชื่อมากกว่าเป็น ‘ความจริงทางประวัติศาสตร์’ (Historical fact)  

อีกอย่าง ‘หินตั้ง’ เป็นวัฒนธรรมเนื่องใน ‘ศาสนาผี’ ก็จริงอยู่ แต่ความเชื่อเรื่องผีมีแต่เฉพาะไทยเมื่อไหร่กันล่ะ?  พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย ลังกา หรือแม้แต่ ‘ฝรั่งมังค่า’ ไม่มีความเชื่อเรื่องผี หรือก็ไม่ใช่อย่างนั้น    

เส้นแบ่งระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์กับยุคประวัติศาสตร์อาจมีได้หลายหลักเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้การเกิดวัฒนธรรมตัวบทอักษร ระดับเทคโนโลยี การเกิดบ้านเมืองหรือสังคมที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่และสลับซับซ้อน ฯลฯ ล้วนแต่อธิบายได้อย่างมีเหตุผลและหลักฐานประกอบไปต่าง ๆ นานาทั้งนั้น แต่การอธิบายจุดเปลี่ยนดังกล่าวเป็นของสืบเนื่องมาจากการเข้ามามีอิทธิพลของวัฒนธรรมศาสนาจากภายนอกมีข้อจำกัด เพราะคำว่า ‘ภายนอก’ อย่าว่าแต่ระหว่างยุคปัจจุบันกับเมื่อหลายพันปีก่อนเลย ขนาดปัจจุบันกับเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนี้ก็มีความหมายไม่เหมือนกัน  

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ศาสนาผีเป็นของดั้งเดิมในหมู่คนพื้นที่นั้นจริง ๆ ไม่ใช่ของที่มาจากภายนอกก่อนหน้าพุทธกับพราหมณ์เหมือนกัน (พุทธกับพราหมณ์เอาจริงเหมือนพี่กับน้องที่ทะเลาะตบตีแย่งชิงสมบัติพัสถาน แต่ก็ยังต้องอยู่ด้วยกันมา ยิ่งกว่าละคร ‘สืบสันดาน’ อีก) เอาจริง ‘ผี’ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะ (Unique) มีลักษณะเป็นสากล (Universal) แพร่หลายมากกว่าพุทธพราหมณ์อีก การที่ ‘ผี’ แต่ละถิ่นไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ประเด็น เพราะพุทธพราหมณ์แต่ละถิ่นก็ไม่เหมือนกันเหมือนกัน  

การใช้ผี - พุทธพราหมณ์ เป็นเกณฑ์การแบ่งยุค นับถือผีเชื่อผียังเป็นพวกก่อนประวัติศาสตร์ นับถือศาสนาพุทธพราหมณ์แล้วถึงเป็นพวกยุคประวัติศาสตร์ สะท้อนความตื้นเขินในระบบวิธีคิดของนักโบราณคดีไทย ๆ แล้วก็มาประสบปัญหากันอีกว่า แม้แต่ปัจจุบันที่มีพุทธพราหมณ์อยู่ทั่วทุกหัวระแหงแล้ว ผีก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่เท่ากับว่ามนุษย์เราโดยเฉพาะคนไทยยุคนี้ยังไม่หลุดพ้นยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างนั้นหรือ? อาจจะจริงก็ได้ หรืออีกร้อยปีพันปีข้างหน้า ลูกหลานเหลนโหลนของเราอาจจะบอก “ปู่ย่าตาทวดคนไทยยุคนี้ ยังล้าหลังกันชิบหายอยู่เลย” (ขอให้นึกเปรียบเทียบกับที่เรามักบุลลี่บรรพชนที่ยังนุ่งห่มใบตอง ล่าสัตว์ หาของป่า วันหนึ่งข้างหน้าพวกเราก็อาจจะถูกบุลลี่กันแบบนั้นได้)        

‘ภูพระบาท’ เป็นแหล่ง ‘วัฒนธรรมสองฝั่งโขง’ (ไทย – กัมพูชา - ล้านช้าง) ไม่ใช่ของไทยแต่ผู้เดียว    

ภูพระบาทก็เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีหลายที่ที่อนุโลมเรียกปีที่หน่วยงานค้นพบนั้นเป็นปีที่พบแหล่ง แต่แท้ที่จริงชาวบ้านประชาชนเขาพบและรู้จักกันมาช้านานแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำเรียกบริเวณนี้ที่ว่า ‘ภูพระบาท’ นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาก่อนหน้า พ.ศ.2515 มาไม่รู้กี่ร้อยปี อีกทั้งประชาชนคนอีสานและคนล้านช้าง (ซึ่งคือกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน) ยังมีความทรงจำรับรู้เกี่ยวกับภูพระบาทอยู่ในรูปตำนาน เช่น ‘ตำนานอุรังคธาตุ’ หรือ ‘อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม’ และวรรณกรรมพื้นบ้านอย่างเรื่อง ‘พระกึด พระพาน’ และเรื่อง ‘นางอุสา – ท้าวบารส’

ตำนานและวรรณกรรมข้างต้นไม่ใช่เฉพาะของไทยหรืออีสาน เพราะมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมเป็นตำนานและวรรณกรรมสองฝั่งโขง คนล้านช้าง (ในสปป.ลาว) ที่อีกฝั่งแม่น้ำโขงก็มีความเชื่อและเรื่องเล่าต่อสถานที่นี้ด้วยเหมือนกัน ภูพระบาทจึงเป็นอีกแหล่งที่ท้าทายสำหรับสังคมไทยว่าจะใจกว้างหรือคับแคบปิดประตูตัวเอง อย่างกรณีศรีเทพ ก็มีประสบการณ์แล้วว่าเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีประชาชนชาวไทยแทร่จำนวนหนึ่งเอาไปขิงใส่เพื่อนบ้านกัมพูชา ทำให้ศรีเทพดูเป็นนักเลงโต ‘พ่อทุกสถาบัน’ โดยอ้างว่าเป็นแหล่งมีมาก่อนสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างนครวัดของกัมพูชา 

แม้แต่การที่คณะของอาจารย์สุกรี เจริญสุข จะนำเอาดนตรีกันตรึมไปจัดแสดง ก็ถูกห้ามว่าไม่เข้ากับวัฒนธรรมของศรีเทพ ทั้ง ๆ ที่ศรีเทพมีศาสนสถานเนื่องในวัฒนธรรมร่วมกับเขมรเห็นอยู่ทนโท่ ตั้งแต่ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ฤาษี เป็นต้น 

คนไทยแทร่เหล่านี้ยังไม่เข้าใจว่า ‘มรดกโลก’ ไม่ใช่ของที่จะเอาไปทำอะไรแบบนั้น ตรงข้ามการมีวัฒนธรรมร่วมกับเพื่อนบ้านข้างเคียงเป็นสิ่งที่จะเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนทั้งสองได้ดีขึ้น เอาง่าย ๆ แค่ในแง่การท่องเที่ยวก็สามารถโปรโมทเชิญให้เพื่อนบ้านมาเที่ยวประเทศเราได้มากขึ้น นอกเหนือจากที่ไทยเราไปเที่ยวประเทศเขาปีหนึ่ง ๆ ตั้งเท่าไหร่ ไม่เชื่อก็ลองไปที่นครวัดนครธม หรืออย่างเมืองหลวงพะบาง เวียงจัน วัดพูที่จำปาสัก ของสปป.ลาว ก็จะรู้ว่าคนไทยไปเที่ยวเยอะมาก          

เมื่อภูพระบาทเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่คนฝั่งสปป.ลาว ก็มีความเชื่อร่วม อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่พบวัฒนธรรมร่วมกับกัมพูชาตั้งแต่ก่อนสมัยนครวัดจนถึงสิ้นสุดยุคนครธม (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 - 18) นั่นเป็นจุดขายที่ดีเยี่ยมที่สามารถนำเอามาแปรเปลี่ยนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต  ไม่ควรทำให้พรมแดนรัฐชาติที่เกิดภายหลังมาเป็นอุปสรรค  

การสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ให้ที่ใดก็ตามมีอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน นั้น ก็เห็นกันมานักต่อนักจากหลายกรณีแล้วว่า ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยหลุดออกไปนอกโลกนอกจักรวาล ไม่เวิร์คหรอก แนวทาง ‘วัฒนธรรมร่วม’ มีอนาคตมากกว่าเห็น ๆ 

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: ศูนย์ภาพเนชั่น

อ้างอิง: 
     กองโบราณคดี กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2561. 
    กำพล จำปาพันธ์. “ ‘ขอม’ คือ ‘เขมรโบราณ’ ส่วนหนึ่งกลายเป็น ‘ไท’ (ไทย)” The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567
     กำพล จำปาพันธ์. “‘กันตรึม’ กับ ‘มรดกโลกศรีเทพ’ ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้ (ซะเมื่อไหร่?)” The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567
     กำพล จำปาพันธ์. “พระพุทธรูปเชียงแสน : จินตกรรมวัฒนธรรมร่วมที่เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย กับเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว & อดีตและอนาคตที่ไร้พรมแดนรัฐชาติ” The People.co เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567  
     กำพล จำปาพันธ์. นาคยุดครุฑ: “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558. 
     ธิดา สาระยา. ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545. 
     ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542. 
     พิริยะ ไกรฤกษ์.  ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, 2566. 
     รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ทวารวดีในอีสาน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.  
     ไรท, ไมเคิล. ยังมีความหวัง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551. 
     ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน: แฉหลักฐานโบราณคดี พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2540. 
     ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ทวารดี: ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.  
     สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ: ที เจ. เจ., 2546. 
     สุจิตต์ วงษ์เทศ. สุวรรณภูมิ: ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.   
     สุรพล ดําริห์กุล. แผ่นดินอีสาน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2549. 
     สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488. ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2557.  
     อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท: อดีตกาลผสานธรรมชาติ. อุดรธานี: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543. 
     อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.