โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

สี่เรื่องราวที่ถูกสะท้อนจาก ‘โอลิมปิก ปารีส เกมส์ 2024’ (Olympic Games Paris 2024) กับการมองสังคมและโลกไร้รอยต่อ รัสเซีย ประวัติศาสตร์ และมัฟฟินช็อกโกแลต

สำหรับ ‘โอลิมปิก ปารีส เกมส์ 2024’ ก็เฉกเช่นเดียวกับโอลิมปิกครั้งอื่น ๆ ที่นานาประเทศได้โอกาสมาฉายศักยภาพของตัวเองและมุ่งหน้าแข่งขันกันอย่างเต็มความสามารถเพื่อคว้าชัยชนะกลับบ้านให้ได้ จนได้ทำให้โอลิมปิกกลายเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้ชมและผู้เข้าแข่งขันหลากหลายที่สุด

ทว่านอกจากผลการแข่งขันจากเหล่านักกีฬาทุกคนแล้ว โอลิมปิกก็ตามมาด้วยสีสันและรสชาติในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจาก ภาพหรือวิดีโอที่ได้ถ่ายทอดจังหวะต่าง ๆ ของผู้เข้าแข่งขันจนกลายเป็นไวรัลที่ดังไปทั่วทั้งโลก ในขณะเดียวกันก็ปมปัญหาจากบางประเด็นที่นำไปสู่ข้อถกเถียงจนกลายเป็นดราม่าเกิดขึ้น

เรียกได้ว่าโอลิมปิกในครั้งนี้เต็มไปด้วยรายละเอียด สีสัน และรสชาติ ที่ไม่เพียงแค่เป็นพื้นที่ให้ประเทศต่าง ๆ ได้ส่งตัวแทนของตนเข้ามาทำหน้าที่แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่รอชมอยู่ทางบ้าน ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรุ่นต่อ ๆ ไป แต่มันยังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความเป็นมนุษย์และทิศทางในการก้าวเดินไปข้างหน้าของสังคมเราอีกด้วย

ในบทความนี้ The People ได้เลือกที่จะหยิบสี่ประเด็นที่กองบรรณาธิการของเราได้เห็นผ่านมหกรรมกีฬา โอลิมปิก ปารีส เกมส์ 2024 ที่จะครอบคลุมตั้งแต่โลกปัจจุบันที่เชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ มหกรรมกีฬาแห่งสันติภาพ ในวันที่โพเดียมไร้เงารัสเซีย โอลิมปิกยุคใหม่ที่ซ่อนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในมหกรรมกีฬา รวมถึง ‘มัฟฟินช็อกโกแลต’ ขนมจอมแย่งซีนในโอลิมปิก 2024 

โลกไร้รอยต่อที่ทำให้โอลิมปิกเหมือนอยู่หน้าบ้าน

นับว่าเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่เปี่ยมไปด้วยสีสันที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ สำหรับ ‘โอลิมปิกฤดูร้อน 2024’ ที่จัดขึ้นที่เมืองหลวงของฝรั่งเศสที่อุดมไปด้วยแลนด์มาร์กและภาพจำมากมาย ตั้งแต่หอไอเฟล (Eiffel Tower) ไปจนถึงถนนชองเซลิเซ่ (Champs-Élysées) อย่าง ‘ปารีส’ (Paris)

แต่สีสันที่ว่าอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่เสน่ห์ทางวัฒนธรรมของเจ้าบ้านผู้จัดงานเท่านั้น แต่ในบรรดาผู้มาเยือนทั้งหลายจากประเทศต่าง ๆ มากมายทั่วทั้งโลก จากหลากหลายภูมิภาค เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ก็ได้มารวมกันอยู่ในที่เดียว จึงได้เกิดเป็นสีสันมากมายที่ทำให้ผู้ชมอย่างเรา ๆ ที่แม้ไม่ได้ไปชิมช็อกโกแลตมัฟฟินถึงปารีส แต่ก็สามารถทันกระแสที่เกิดขึ้นได้อย่างทันควัน เสมือนว่าโอลิมปิก 2024 นี้ อยู่ที่หน้าบ้านของเราเลยทีเดียว

เริ่มตั้งแต่ความอลังการของพิธีเปิดมหกรรมที่เต็มไปด้วยขบวนพาเหรดและการแสดงมากมาย ที่ได้นำเอาวัฒนธรรมต่าง ๆ ของฝรั่งเศสมาเรียงร้อยต่อกันจนเกิดเป็นโมเมนต์ประทับใจไม่น้อย (แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมจังหวะที่ผู้คนตั้งคำถามเช่นเดียวกัน) โดยเฉพาะกับการถือคบเพลงของ ‘สนูปด็อกก์’ (Snoop Dog) ที่ทำเอาผู้ชมต่างพากันตั้งคำถามกันว่า

 

อันนั้นคบเพลิงแน่นะ?

 

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

แต่เมนคอร์สของรสชาติโอลิมปิกในครั้งนี้อยู่ที่การแข่งขัน เพราะในการแข่งขันแทบทุก ๆ วัน สิ่งที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ จะได้เห็นนอกจากจังหวะขณะแข่งขันและผลการแข่งขันแล้ว ในทุก ๆ รอบเราจะได้ ‘ของแถม’ (ที่ดูจะเป็นที่นิยมอย่างมาก) ซึ่งก็คือจังหวะไวรัลที่พาผู้คนสนใจไปทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็น นักยิงธนูที่หน้าคล้ายกับ Eminem, เซลฟีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้, นักฟันดาบหญิงที่อุ้มท้อง 7 เดือน, นักว่ายน้ำผู้หลงใหลมัฟฟิน และแน่นอน การแข่งขันยิงปืนที่ทำให้เราได้รู้จักกับ ‘คิมเยจี’ มือปืนแม่ลูกอ่อน จอมใจที่โลกหลงรัก กับ ‘ยูซุฟ ดิเคช’ (Yusuf Dikec) นักแม่นปืนทีมชาติตุรกี ที่ถูกขนานนามว่า ‘เท่ที่สุด’ ในโอลิมปิก จากการแต่งตัวสบาย ๆ ไร้อุปกรณ์สนับสนุนต่าง ๆ แถมยังคว้าเหรียญเงินมาครองอีกด้วย

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

แต่ในขณะที่ประเด็นไวรัลสุดบันเทิงเหล่านี้แผ่วงกว้างไปไกล ประเด็นที่สร้างข้อถกเถียงก็ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกับประเด็นของ ‘อิมาน เคลิฟ’ (Iman Khelif) นักชกหญิงจากแอลจีเรียที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเรื่องการตรวจเพศของ IOC จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงเรื่องความยุติธรรมกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ จนมีความเห็นเกิดขึ้นอยู่มากมาย

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในมหกรรมโอลิมปิกในครั้งนี้ ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ที่ชวนเซอร์ไพร์สหรืออะไรแบบนั้น เพราะเหตุการณ์ไวรัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น มีม คำพูด ภาพ หรือแม้แต่วิดีโอต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นใหม่แทบจะทุกวัน — หรืออาจจะถี่กว่านั้นเสียด้วยซ้ำ — แต่โอลิมปิกก็ครั้งนี้ได้ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นโลกของเรา ที่ไม่เพียงเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ แต่บางทีก็ยังหมุนไปเร็วกว่าอดีตหลายเท่าตัว จากการส่งต่อข้อมูลที่ไวดั่งอยู่ชิดขอบสนาม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อโอลิมปิกดำเนินจากวันแรกมาจนถึงวันที่รูดม่านปิดพิธี ผู้ชมหลายคนที่ติดตามมาตั้งแต่แรกเริ่มอาจจะรู้สึกเหมือน ‘ซีรีส์’ สักเรื่องหนึ่งจบบริบูรณ์ไปหนึ่งซีซั่น โดยที่เราสามารถหวนนึกสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดซีซั่นได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นสุดอลังการ การแข่งขันในรอบต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยสีสันและรสชาติในแบบของตัวเอง ผู้เข้าแข่งขันมากมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเปรียบเสมือนตัวละครในซีรีส์ที่เราอาจหลงรัก ปมปัญหาและข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์และการแข่งขัน หรือแม้แต่จังหวะประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คน

นับว่าเป็นมหกรรมกีฬาที่ครบรสและเปี่ยมไปด้วยพลังที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้

 

มหกรรมกีฬาแห่งสันติภาพ ในวันที่โพเดียมไร้เงารัสเซีย

กีฬากับการเมืองไม่ควรข้องเกี่ยวกัน

เชื่อว่านี่คือถ้อยคำที่คงผ่านหูใครหลายคนอยู่บ้าง

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้ง่ายในเวทีโลก เมื่อ IOC ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียในปี 2022 เนื่องจากละเมิดกฎว่าด้วยการพักรบในช่วงกีฬาโอลิมปิก (Olympic Truce) แนวคิดที่มีตั้งแต่สมัยโบราณ หยุดการทำสงครามก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 7 วัน และหลังจากพาราลิมปิก 7 วัน แต่ถูกนำขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในปี 1993 เพื่อให้กีฬาเป็นตัวเชื่อมโลกใบนี้ก้าวเข้าสู่สันติได้สักวันหนึ่ง

เมื่อรัสเซียยังคงรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการ IOC จึงต้องลงดาบตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ประเทศอื่นใดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่ใช่แค่รัสเซียเท่านั้นที่ถูกสั่งห้ามลงสนาม แต่ยังมีผู้สนับสนุนอย่างเบลารุสอีกด้วย

ใช่ว่า IOC จะมองไม่เห็นค่าความพยายามของนักกีฬาจากรัสเซียและเบลารุส พวกเขา ‘อนุญาต’ ให้เข้าร่วมโอลิมปิกได้ หากนักกีฬารัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันจะต้องลงแข่งในนามนักกีฬาไร้สังกัดประเทศ (AIN - Individual Neutral Athlestes) และนั่นทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะสวมเสื้อผ้าประดับธงชาติรัสเซียเข้าร่วม ต้องลงสนามโดยไร้ชื่อประเทศ ไม่ปรากฎสัญลักษณ์ใด ๆ ที่จะสื่อถึงพลเมืองรัสเซีย ไม่มีแม้แต่ขบวนพาเหรดเข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน และหากชนะก็จะไร้ซึ่งเสียงเพลงสรรเสริญ ภาพที่อยากจะเห็นธงชาติโบกสะบัดอยู่เบื้องหลังนักกีฬานั้นลืมไปได้เลย

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันต้องผ่านเงื่อนไข คือ

  • ห้ามเกี่ยวข้องใด ๆ กับกองทัพทุกมิติ
  • ไม่เคยโพสต์ข้อความสนับสนุนสงครามผ่านทางโซเชียลมีเดียของตน
  • ห้ามแข่งกีฬาประเภททีม แต่สามารถลงแข่งประเภทเดี่ยวได้

 

ฉันคิดว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นเรื่องของ ‘กีฬา’ แต่มันไม่ใช่แบบนั้น มันเรื่องของการเมือง ศาสนา และทุกสิ่งทุกอย่าง น่าเศร้าเหมือนกันนะคะที่เราต้องเห็นภาพเหล่านี้ เพราะแนวคิดดั้งเดิมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคือการสร้างสันติภาพ

มารียา บูตินา’ (Mariya Butina) สส. รัสเซีย พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนแรง เมื่อประตูแห่งความหวังที่จะเห็นนักกีฬาของตนได้รับเหรียญรางวัลกลับบ้านถูกปิดตาย

ก่อนที่เธอจะถูกถามกลับด้วยคำถามเดียวกันว่า “แต่รัสเซียรุกรานยูเครน นั่นคงไม่ใช่สันติภาพ ใช่ไหม?”

รัสเซียปกป้องประชาชนของตน” เธอปฏิเสธโดยยืนยันอย่างหนักแน่นว่าปฏิบัติการทางทหารของเครมลิน ไม่ได้มีความแค้นเคืองเป็นการส่วนตัว หากแต่เป็นการประกาศกร้าวต่อยุโรปว่า รัสเซียพร้อมโต้ตอบหากยังขยับเข้าใกล้พรมแดนของตนมากไปกว่านี้

รัสเซียเคยส่งนักกีฬาในนามคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศรัสเซีย หรือ ROC (Russian Olympic Committee) 335 คนเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว ครั้งนี้มีนักกีฬาชาวรัสเซียเพียง 15 คนเท่านั้นที่เดินทางมาเข้าร่วมในฐานะ ‘นักกีฬาที่เป็นกลาง’ เช่น ว่ายน้ำ พายเรือแคนู และแทนนิส

IOC ส่งหนังสือเชิญนักกีฬารัสเซียทั้งหมด 36 คน และเบลารุส 24 คน แม้ว่าช่วงแรกทัพนักกีฬาจะตอบรับคำเชิญแทบทั้งหมด แต่หลังจากรัฐบาลรัสเซียวิพากษ์ว่า การกระทำของ IOC ไม่ต่างจากการเหยียดเชื้อชาติ นักกีฬาหลายคนจึงปฏิเสธคำเชิญในภายหลัง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียถูกกีดกันในเวทีโลก การแบนครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 - 2023 โดยห้ามทีมชาติรัสเซีย ลงแข่งขันกีฬานานาชาติในทุกทัวร์นาเมนต์ หลังตรวจพบการใช้สารกระตุ้นในกลุ่มนักกีฬา

แต่เมื่อมาดูทางฝั่งของรัสเซีย ว่าพลเมืองของเขามีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ปราปด้า รัสเซีย ระบุว่า ชาวรัสเซียไม่สนใจโอลิมปิกมานานแล้ว และการถูกแบนครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบ หรือสร้างความชอกช้ำให้แก่รัสเซียแต่อย่างใด พวกเขายังคงใช้ชีวิตต่อไป

ขณะที่พาดหัวหนังสือพิมพ์อีกหลายเจ้า พุ่งเป้าโจมตีไปที่ผู้จัดการแข่งขันอย่างฝรั่งเศสโดยตรง บ้างก็บอกว่า นี่คือ ‘โอลิมปัสแห่งนรก’ มีการนำศาสนามาล้อเลียนโดยไม่ละอายใจ บ้างก็ว่าอาหารที่ฝรั่งเศสจัดหาให้ทีมนักกีฬา ไร้คุณภาพ นักกีฬาหลายรายเจ็บป่วยจากการกินอาหารพิษ และเรื่องที่เลวร้ายที่สุดคือ การปล่อยให้นักกีฬาว่ายน้ำในแม่น้ำแซน จนถึงกับอ้วกออกมา เพราะน้ำไม่ได้คุณภาพเหมาะสำหรับการแข่งขัน

สุดท้ายแล้ว แม้จะไม่ได้เห็นภาพนักกีฬารัสเซียเข้าร่วมการแข่งขันประเภททีม ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กีฬาระบำใต้น้ำในวันที่ไม่มีรัสเซียก็ดูจะจืดชืดไปกว่าปีก่อน ๆ ถึงจะมีสีสันจากกีฬาประเภทอื่นออกมาให้เห็นเป็นระยะ แต่โอลิมปิกครั้งนี้ เป็นเวทีที่สะท้อนถึงแรงกดดันและความท้าทายทางการเมืองระดับโลกได้อย่างแจ่มชัดที่สุดก็ว่าได้

 

โอลิมปิกยุคใหม่ที่ซ่อนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในมหกรรมกีฬา

จริง ๆ แล้ว สิ่งที่โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ใช้เป็นตัวชูโรงเพื่อดึงความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมาตั้งแต่แรก ๆ ก็คือ การใช้สถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กสำคัญของฝรั่งเศสมาเป็นสนามแข่งกีฬา

ยกตัวอย่างเช่น การแข่งวอลเลย์บอลชายหาดหน้าหอไอเฟล แข่งฟันดาบและกีฬาเทควันโดที่ Grand Palais หรือ ดูแข่งยิงธนูที่บริเวณลานหน้า Invalides ที่เคยเป็นสุสานและพิพิธภัณฑ์ทหารมาก่อน

รวมถึงการแข่งกีฬาประเภทสุดท้ายอย่าง มาราธอน ที่นักกีฬาจะวิ่งรอบเมืองปารีส ทั้ง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หอไอเฟล และพระราชวังแวร์ซายส์ โดยเส้นทางการวิ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก การเดินขบวนของขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศส

อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกพูดถึง คือ พิธีเปิดโอลิมปิก

เริ่มจากการเป็นชาติแรกที่จัดพิธีเปิดนอกสนามกีฬา โดยให้นักกีฬาแต่ละชาติล่องเรือเข้าแม่น้ำแซนความยาวกว่า 6 กิโลเมตร เริ่มจากสะพานโดสแตร์ลิทซ์ (Pont d'Austerlitz) ถึงสะพานดีเอแน่ (Pont d'Iéna) ที่เชื่อมระหว่างหอไอเฟล กับ โทรคาเดโร่ (Jardins du Trocadéro)

ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์และการต่อสู้ที่ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของชาวฝรั่งเศสก็ถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของพิธีเปิดอย่างเป็นทางการด้วย

หนึ่งการแสดงที่ถูกพูดถึงการโชว์พระนางมารี อองตัวเน็ตหัวขาด ที่อดีตนางถูกตัสินประหารชีวิตข้อหากบฎและกวาดล้างสมบัติของชาติ การเสียชีวิตของพระนางถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสมัย บางคนมองว่าเป็นการพลีชีพ ขณะที่บางคนก็มองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของระบบกษัตริย์นิยมแบบเก่า

ต่อด้วยการแสดงชุด ‘Liberty’ ด้วยการใช้ภาพ Liberty Leading the People  เป็นสัญลักษณ์ที่ส่งต่อเสียง ความอิสระ ความเป็นปึกแผ่นของชาติ จากผู้คนในอดีตถึงคนยุคปัจจุบัน

ยังไม่นับรวมกับมาสคอตที่ใช้ชื่อว่า ‘Olympic Phryge’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก  ‘Phrygian Cap’ หมวกของหญิงสาวในภาพ  Liberty Leading the People  เพื่อสะท้อนถึงเสรีภาพและเป็นตัวแทนบุคคลสำคัญจากประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

มากกว่านั้น สำหรับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลจากโอลิมปิก ปารีส 2024 เหรียญของพวกเขาจะประกอบด้วย ชิ้นส่วนดั้งเดิมของหอไอเฟล เพื่อสร้างการบรรจบกันระหว่างการแข่งขันกับหอไอเฟล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสและปารีส 

รวมถึงถาดมอบเหรียญก็ยังถูกออกแบบพิเศษโดยหลุยส์ วิตตอง แบรนด์แฟชันระดับโลก ทำจากผ้าใบลายโมโนแกรมที่เป็นเอกลักษณ์ของหลุยส์ วิตตอง ด้านในบุด้วยหนังสีดำด้าน และมีโลโก้ประทับลายนูนของกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งถาดแต่ละใบสามารถใส่เหรียญได้ตั้งแต่ 2 ถึง 6 เหรียญ

นอกเหนือจากถาดเชิญเหรียญแล้ว หลุยส์ วิตตองยังออกแบบชุดยูนิฟอร์มแบบ unisex สำหรับผู้เชิญเหรียญ ประกอบด้วย เสื้อโปโล กางเกง และหมวกแบบ gavroche ที่มีปีกหมวกสั้น ที่สร้างภาพจำใหม่ให้กับมหกรรมกีฬาครั้งนี้

นอกจากนี้ นักกีฬาชนะ 3 อันดับแรกยังได้รับโปสเตอร์ทางการของโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 ที่วาดโดย อูโก กัตโตนี (Ugo Gattoni) ที่เลือกใช้สีสันสดใส ตีความเมืองปารีสในจินตนาการเวอร์ชันยูโทเปียและแฟนตาซี เป็นเมืองกีฬาขนาดใหญ่ที่สะท้อนถึงการเปิดกว้าง และมีกีฬาอยู่ทั่วเมือง 

ยิ่งในพิธีปิด ก็เลือกสร้างการแสดงที่ทำให้เห็นถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากโอลิมปิกยุคเก่าสู่ยุคใหม่ โดยมีหัวเรือคนสำคัญอย่าง ‘ปีแยร์ เฟรดี บารง เดอ กูแบร์แต็ง’ ขุนนางชั้นบารอนของฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 2 และเป็นผู้พาโอลิมปิกเข้าสู่ยุคใหม่

และยังมีการนำรูปปั้น Winged Victory of Samothrace ประติมากรรมยุคกรีกเฮเลนิสติกแกะสลักจากหินอ่อนมาตั้งบนสนามที่รูปร่างคล้าย ๆ กับ แผนที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงถึงชัยชนะ

ทั้งหมดนี้ คือ การแหวกขนบและการร้อยเรื่องราวของชาวฝรั่งเศสที่ผ่านการต่อสู้ และผ่านอดีตที่เจ็บปวดสู่เจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์อีกครั้งในรอบ 600 ปี นับตั้งแต่ปี 1924 

 

‘มัฟฟินช็อกโกแลต’ ขนมจอมแย่งซีนในโอลิมปิก 2024 

อาหารจะต้องดีต่อสุขภาพและดีต่อโลกไปพร้อม ๆ กัน

จากแนวคิดที่ว่า จึงเป็นที่มาให้โอลิมปิก ปารีส 2024 ขึ้นชื่อว่าดีต่อใจและดีต่อปากของชาวมังสวิรัติและพลพรรคคนรักษ์โลกยิ่งกว่าโอลิมปิกครั้งใด ๆ โดยมีการสรรหาวัตถุดิบจากพืชผักได้มากขึ้นถึง 2 เท่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากโอลิมปิกครั้งอื่น ๆ 

ตลอดระยะเวลา 10 วันของการแข่งขัน ฝรั่งเศสได้จัดเตรียมพื้นที่รับประทานอาหารขนาด 3,500 ที่นั่ง เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ภายในหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อเสิร์ฟอาหารจากทั่วทุกมุมโลกมากถึง 40,000 มื้อต่อวัน แถมยังมีโซนอาหารแบบ Grab & Go อีก 6 แห่ง ที่พรั่งพร้อมไปด้วยของว่าง ขนม เบเกอรี่ สลัดบาร์ ผลไม้ เมนูจากเชฟมิชลิน หรือแม้แต่จังก์ฟู้ด

อย่างไรก็ตาม มีรายงานระบุว่า ระหว่างการแข่งขัน มีนักกีฬาบางส่วนที่ประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอ และมีการจำกัดจำนวนอาหาร นอกจากนั้น ยังมีนักกีฬาพบพยาธิในปลาด้วย (แต่ผู้จัดงานยืนยันว่าไม่มีการร้องเรียนเรื่องการพบพยาธิกับเจ้าหน้าที่) หนำซ้ำยังมีเสียงบ่นว่าอาหารไม่มีโปรตีนให้เลือกมาพอ นักกีฬายังต้องต่อคิวยาวรออาหารนานถึง 30 นาที เพราะไม่มีระบบคิว เหล่านี้ทำให้นักกีฬาบางคนถึงกับต้องสั่งอาหารจากร้านอาหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ

แต่ที่พอจะเชิดหน้าชูตาจนกลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย เห็นจะเป็น ‘มัฟฟินช็อกโกแลต’ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘เฮนริก คริสเตียนเซ่น’ (Henrik Christiansen) นักว่ายน้ำชาวนอร์เวย์ ซึ่งถูกขนานนามว่า ‘มนุษย์มัฟฟิน’ หลังจากที่เขาได้รีวิวขนมหวานชนิดนี้บน TikTok โดยให้คะแนนมัฟฟิน 11 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พอเห็นว่ามีคนเข้ามาดูหลายล้านครั้ง เขาก็เลยทำคลิปมัฟฟินช็อกโกแลตออกมามากกว่า 10 คลิป

ไม่นานหลังจากนั้น นักกีฬาโอลิมปิกคนอื่น ๆ ก็แห่ไปชิมมัฟฟินช็อกโกแลตบ้าง และปรากฏว่าส่วนใหญ่ติดใจรสชาติของมัน จึงช่วยกันรีวิวบนโซเชียลมีเดีย จนทำให้ ‘มัฟฟินช็อกโกแลต’ ขึ้นแท่น ‘ของดี’ ประจำโอลิมปิกไปเลย 

โอลิมปิก 2024 : รัสเซีย ประวัติศาสตร์ มัฟฟิน กับโลกที่ไร้รอยต่อ