สะท้อนบทบาทของผู้หญิงในบ้าน เมื่อการแต่งงานไม่ใช่วิมานบนดิน ผ่านตัวละคร โหม๋ จากวิมานหนาม

สะท้อนบทบาทของผู้หญิงในบ้าน เมื่อการแต่งงานไม่ใช่วิมานบนดิน ผ่านตัวละคร โหม๋ จากวิมานหนาม

โหม๋ ตัวละครหญิงจาก ‘วิมานหนาม’ ที่เป็นภาพสะท้อนบทบาทผู้หญิงในบ้านท ไร้ตัวคน และความฝัน สตรีผู้ถูกรั้งและขังไว้ในบ้านเพราะคำว่า ‘รัก’

KEY

POINTS

  • วิมานหนามไม่ได้แค่เป็นภาพสะท้อนของชีวิตของ LGBTQ ในวันที่เรื่องสมรสเท่าเทียมยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่หนังยังพูดถึงเรื่องเพศและความเป็นหญิง
  • ‘โหม๋’ คือ เมียของเสกที่ต้องคอยดูแลแม่ของ ‘เสก’ ที่เดินไม่ได้ ตั้งแต่แม่ลืมจาจนเข้านอน 
  • โหม๋เป็นเพียงตัวละครในหนัง แต่ในชีวิตจริงยังมีผู้หญิงอีกมากที่ถูกตรวนไว้ด้วยบทบาททางเพศที่ชี้นำว่าเขาควรทำ ควรคิด หรือควรฝันอะไร

ไร้รัก ไร้ตัวตน ไร้ความฝัน ถูกจองจำในกรงขังที่เรียกว่าบ้าน, บทบาททางเพศในสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำผ่านการใช้ชีวิตและแววตาของหญิงสาวชาติพันธุ์ ‘โหม๋’

หากหลายคนดูทีเซอร์ของหนังเรื่อง ‘วิมานหนาม’ (The Paradise of Thorns) ที่นำแสดงโดยเจฟ ซาเตอร์ และ อิงฟ้า วราหะ หนังเรื่องใหม่ล่าสุดจากค่ายหนัง GDH คงโฟกัสไปที่เรื่องสมรสเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของจังหวัดเล็ก ๆ บนภาคเหนืออย่างแม่ฮ่องสอน แต่สำหรับใครที่ได้ไปดูหนังแล้ว จะรู้ได้ว่าประเด็นหลักของเรื่องไม่ได้เกิดจากปัญหาข้างต้นแต่เพียงเท่านั้น แต่หนังยังพูดถึงบทบาททางเพศ (Gender Role) และการถูกกดขี่ในบ้านของเพศหญิงอีกด้วย

เนื้อหาด้านล่างมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของภาพยนตร์วิมานหนาม (2567)

เรื่องราวตลอด 2 ชั่วโมงของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากการที่ตอนนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่เบ่งบานในประเทศไทยอย่างเช่นตอนนี้ คู่รักเพศเดียวกันอย่างเสก (พงศกร เมตตาริกานนท์) และทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) ไม่มีสิทธิ์ที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตกะทันหัน สมบัติที่ร่วมสร้างกันมาทั้งคู่จะตกสู่ผู้มีสิทธิ์รับมรดก ซึ่งในเรื่องนี้คือแสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสก บ้านและสวนทุเรียนที่ช่วยกันปลูกและรอวันเก็บเกี่ยวมา 5 ปีจากน้ำพักน้ำแรงของคู่รักถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่สามารถทำอะไรได้ การมาถึงของแม่แสงและโหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) เป็นเหมือนนรกที่จะเปลี่ยนชีวิตของทองคำไปตลอดกาล

จากเนื้อเรื่องข้างต้น เมื่อแม่แสงได้กลายมาเป็นเจ้าของสมบัตินี้ หากแม่แสงเสียชีวิต ผู้มีสิทธิ์รับสมบัติต่อคือลูก ซึ่งโหม๋เป็นเพียงลูกบุญธรรมที่แม่แสงเก็บมาเลี้ยงอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้มีสิทธิ์นี้ จึงเกิดเป็นการแย่งชิงในการมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินระหว่างทองคำและโหม๋ ในช่วงแรกของหนัง ผู้ชมหลายคนคงเลือกที่จะเอาใจช่วยทองคำมากกว่า หากแต่เมื่อได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของโหม๋แล้ว คงมีคนที่เปลี่ยนความคิดไปตามภาพสะท้อนในแววตาของตัวละครหญิงหลักอย่างโหม๋แน่นอน

“เกิดมากูไม่เคยเจอใครที่น่าสงสารเท่ากูมาก่อนเลย”

โหม๋ หญิงสาวชาติพันธุ์ที่ยากจนและลำบากมาตลอดชีวิต ถูกรับเลี้ยงโดยแม่แสงที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เธอก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตในบ้านตีนเขา โดยไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะฝัน เธอมีชีวิตอยู่ด้วยการเก็บกะหล่ำขาย ใส่เสื้อผ้าสีหม่นตัวเก่าที่ขาดวิ่น อาหารจานไม่โปรดของเธอคือกะหล่ำเน่า ๆ ที่ตลาดไม่รับซื้อ และต้องคอยเลี้ยงดูแม่แสงที่ไม่สามารถเดินและใช้ชีวิตได้ปกติ ตามภาษาพูด โหม๋เป็นเพียง ‘อีโหม๋’ คนใช้ที่คอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้แม่แสง

“เมียผู้หญิงเขาเอาไว้ดูแลแม่”

ในช่วงแรกของเรื่อง หนังเล่าว่าโหม๋คือพี่สาวไม่แท้ของเสก แต่ในครึ่งหลังได้มีการเฉลยว่าแท้จริงแล้วโหม๋เป็นภรรยาอีกคนของเสก โดยภรรยาที่ว่าคือภรรยาปากเปล่า ไม่มีชื่อบนทะเบียนสมรสแม้จะเกิดเป็นหญิง ตามคำพูดของจิ่งนะ (หฤษฎ์ บัวย้อย) น้องชายของโหม๋ที่เคยพูดเอาไว้ว่าเสกมีเมีย 2 คน ผู้ชายเอาไว้ออกแรงหาเงิน ผู้หญิงเอาไว้ดูแลแม่ที่พิการ เป็นไปตามขนบสังคมว่า เกิดเป็นหญิงต้องเป็นคนดูแลบ้าน ไม่ว่าจะสามี ลูก หรือแม้แต่แม่สามี โดยไม่เคยถามว่าจริง ๆ แล้วความฝันของโหม๋คืออะไร โหม๋อยากไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพตามชุดความคิดที่ว่าอยู่ในเมืองหลวงคงเจริญกว่าอยู่ต่างจังหวัด ในวันที่โอกาสลืมตาอ้าปากมาถึง โหม๋กลับถูกเสกจับ ‘ทำเมีย’ กักขังเธอไว้เพื่ออยู่ดูแลแม่ต่อไป ความโกรธแค้นน้อยใจเมื่อทวงถามถึงความรัก แต่กลับได้รับเพียงเงินหมื่นและคำขอให้โหม๋ออกจากบ้านไปเป็นเด็กขายของในตลาดในวันที่โอกาสจะมีชีวิตเป็นของตัวเองของโหม๋ได้หลุดมือไปแล้ว

บทบาททางเพศ (Gender Role) ทั้งในไทยและต่างประเทศถูกตั้งขึ้นมาภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ด้วยความคาดหวังให้ผู้ชายมีลักษณะของความเป็นชาย (Masculine) ที่มีความเป็นผู้นำ เข้มแข็ง กล้าหาญ และกล้าตัดสินใจ มีหน้าที่ในการหาเงินเข้าบ้านและปกป้องคนในครอบครัว มีความมุ่งมั่นที่จะทำความฝันให้สำเร็จ ในขณะที่ผู้หญิงควรมีความเป็นหญิง (Feminine) มีความอ่อนหวาน นุ่มนวล เรียบร้อย มีหน้าที่ดูแลคนในบ้าน ทำความสะอาด ทำอาหาร หรืออะไรก็ตามที่ละเอียดอ่อน และเพราะเพศหญิงมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากกว่าเพศชาย จึงไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ แม้ในความเป็นจริง ลักษณะนิสัยของคน ๆ หนึ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับเพศเลยก็ตาม บทบาททางเพศนี้ไม่เพียงแต่กดทับเพศหญิงและเพศหลากหลาย แต่ยังมีเพศชายอีกจำนวนมากที่ต้องเจ็บปวดกับการมีตัวตนแบบที่สังคมบังคับให้เป็น

โหม๋คือตัวละครหญิงที่สะท้อนการถูกกดทับจากทั้งความเหลื่อมล้ำ การด้อยโอกาส และบทบาททางเพศ มีชีวิตที่ถูกรั้งไว้ด้วยคำลวงว่ารัก ทั้งที่ความหวังจะได้เป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นริบหรี่ขึ้นทุกวัน และยังถูกขังไว้ในกรงที่เรียกว่าบ้านไปตลอดชีวิต แม้โหม๋เป็นเพียงตัวละครในหนังเรื่องหนึ่ง แต่ในชีวิตจริงยังมีผู้หญิงอีกมากที่ถูกตรวนไว้ด้วยบทบาททางเพศที่ชี้นำว่าเขาควรทำ ควรคิด หรือควรฝันอะไร จากคนที่เคยมีความฝันและตัวตน กลับถูกลบเหลือเพียงลูก ภรรยา หรือแม่ของใครสักคน

อ้างอิง:

Gender Role – บทบาททางเพศ / คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

" ระบบชายเป็นใหญ่"คืออะไรนะ? / feminista