Hope Frozen: A Quest to live twice เมื่อเรามิอาจนำไม้บรรทัดวัด ‘ความรัก’ ของใครได้

Hope Frozen: A Quest to live twice เมื่อเรามิอาจนำไม้บรรทัดวัด ‘ความรัก’ ของใครได้

Hope Frozen: A Quest to live twice หนังที่ไม่ได้ตีฟูเรื่องความผิดถูก ไม่ได้ชวนตั้งคำถาม แต่กลับพาเราไปไกลกว่านั้น ด้วยการนำเราไปรู้จักตัวตนและความคิดอันสุดจะ ‘วิทยาศาสตร์’ กับข้อคิดที่ว่า เรามิอาจนำไม้บรรทัดวัด ‘ความรัก’ ของใครได้

Hope Frozen: A Quest to live twice (ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง) เป็น Documentary film ว่าด้วยครอบครัวชนชั้นกลางชาวไทยครอบครัวหนึ่ง ที่เลือกใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘ไครออนิกส์’ (Cryonics) ทำการแช่แข็งสมองและเซลล์บางส่วนของลูกสาววัยสองขวบ ‘น้องไอนส์’ ที่ถูกมะเร็งสมองพรากชีวิตไปจากครอบครัวอันเป็นที่รัก ด้วยความหวังว่าในอนาคตอันอีกยาวไกล วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จะคิดค้นวิธีรักษาความเจ็บป่วยของน้องไอนส์ที่ยังทำไม่ได้อยู่ในปัจจุบันนี้

ไครโอนิกส์ คือกระบวนการแช่แข็งร่างสิ่งมีชีวิตที่เสียชีวิตไปแล้ว ด้วยไนโตรเจนเหลว ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส เพื่อคงสภาพเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน จึงรอความหวังที่จะคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งด้วยวิธีการรักษาโดยใช้วิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ในอนาคต ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิอัลคอร์ ไลฟ์ เอ็กซ์เทนชั่น ALCOR (The Alcor Life Extension Foundation) รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Hope Frozen: A Quest to live twice (ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง)

หนังไม่ได้ตีฟูเรื่องความผิดถูก ไม่ได้ชวนตั้งคำถามด้วยซ้ำไป แต่กลับพาเราไปไกลกว่านั้น ด้วยการนำเราไปรู้จักตัวตนและความคิดอันสุดจะ ‘วิทยาศาสตร์’ ของ ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์ ผู้เป็นพ่อของน้องไอนส์ นักวิทยาศาตร์และนักธุรกิจชาวไทย ที่โดนครหาจากสื่อทางฝั่งบ้านเกิดว่ายึดติดบ้าง กักขังดวงวิญญาณบ้าง และที่ทำแบบนี้ก็เพราะยังตัดใจไม่ได้ ซึ่งคุณพ่อก็ยอมรับว่า “ใช่” เขายังตัดใจไม่ได้ และนี่คือ “สุดทางของวิทยาศาสตร์ในตอนนี้แล้ว” ที่คนเป็นพ่อจะสามารถขยายขอบเขตความมีชีวิต(?)ของบุตรสาวอันเป็นที่รักเอาไว้ได้

สารคดีเริ่มต้นที่ความรักอันเปี่ยมล้นของคนในครอบครัว การเฝ้ารอการมาถึงของน้องไอนส์ จากทั้งคุณพ่อ ดร.สหธรณ์ คุณแม่น้องไอนส์ ‘ดร.นารีรัตน์’ และ ‘น้องเมทริกซ์’ พี่ชายคนโต กระทั่งถึงขวบปีที่สอง ที่เช้าวันหนึ่งคนเป็นพี่ชายไม่อาจปลุกหนูน้อยตื่นจากอาการโคม่าได้ ศัลยแพทย์ทางประสาทได้แจ้งว่าน้องเป็นมะเร็งสมองชนิดที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และยังไม่เคยมีใครรอดชีวิต

ครอบครัวและน้องไอนส์สู้กับมะเร็งร้ายนี้อย่างสุดความสามารถ ทั้งการผ่าตัดกว่าสิบครั้ง ทั้งการให้คีโม ผู้เป็นพ่อถึงกับนำเซลล์มะเร็งของลูกสาวมาเพาะเชื้อเพื่อหาวิธีรักษา ณ รพ.จุฬาลงกรณ์ ค้นคว้าหาข้อมูลชนิดไม่เป็นอันกินอันนอน จนกระทั่งมั่นใจว่าไม่สามารถจะสู้ได้อีกแล้ว ไม่มีทางใดอีกแล้วจะรักษาความเจ็บป่วยของน้องไอนส์ได้

เพราะเชื่อว่าวิธีการรักษายังไม่สามารถค้นพบ และคาดว่าจะไม่สามารถค้นพบได้เลยตลอดจนชั่วชีวิตนี้ แต่เชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ว่าจะมาสามารถค้นพบจนได้ในที่สุด การคงสภาพร่างกายบุตรสาวเอาไว้จนกว่าจะถึงวันนั้น คือวิธีการที่ผู้เป็นพ่อเลือก เขาอยากมอบโอกาสการมีชีวิตให้กับลูก ดร.สหธรณ์โน้มน้าวอยู่หลายเดือน กว่าที่ดร.นารีรัตน์จะตอบตกลงเห็นดีด้วย เพราะสำหรับผู้เป็นแม่และฝั่งครอบครัวนั้น ก็คิดว่าจะทำไปทำไม เพื่ออะไร ตายก็คือตาย แต่สุดท้าย ดร.นารีรัตน์ก็ยอมทำตามความต้องการของสามี สำหรับเธอแล้ว “จุดเดียวที่ทำให้ตัดสินใจ ไม่ว่าจะมีความรู้หรือไม่มีความรู้ หรือเข้าใจเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ก็คือ ความรัก”

น้องไอนส์เสียชีวิตโดยสงบที่บ้านของเธอ รายล้อมไปด้วยครอบครัวที่รักเธอ และท่ามกลางความโศกเศร้านี้ ทันทีที่เด็กหญิงสิ้นลมหายใจ การเกิดใหม่ด้วยไครโอนิกส์ ก็เริ่มทันที ต่อหน้าทั้งพ่อ แม่ และพี่ชาย

“เราตอบไม่ได้ว่าไอนส์ตายไปแล้ว เรารู้แต่ว่าเราจากกัน และยากมากที่จะเจอกันอีก” ผู้เป็นพ่อกล่าว

ผู้กำกับ ‘ไพลิน วีเดล’ อดีตนักข่าวสาว เปลี่ยนจากการทำสารคดีข่าวสั้น มาเป็นหนังสารคดีขนาดยาว โดยใช้เวลากว่าสองปีในการเก็บรวบรวมฟุตเทจของครอบครัวและตัดต่อออกมาเป็นหนังความยาว 75 นาที ที่ไม่ได้ยัดเยียดความฟูมฟายจนเกินพอดี และถึงคนดูจะตั้งคำถามในใจไปด้วยว่า จะเป็นเช่นไรหากทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ผิด เป็นความเพ้อฝันล้วน ๆ ของคนเป็นพ่อ กระนั้นเราก็ไม่อาจนำขีดจำกัดในความรู้และความเชื่อในทางวิทยาศาสตร์ของเราไปตัดสินความเชื่อหรือการกระทำของใครได้อยู่ดี

ความน่าสนใจประการสำคัญของหนัง คือ ความย้อนแย้งในแนวทางความเชื่อแบบพุทธของครอบครัวชาวไทย ที่แทบจะไปกันไม่ได้เลยกับแนวทางการแช่แข็งมนุษย์ หรือความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของคนเป็นพี่ชาย ที่แบกรับความหวังในทางวิทยาศาตร์ของผู้เป็นพ่อมาเต็มบ่า การนำน้องกลับคืนมาคือความฝันของพ่อที่ตอนนี้กลายมาเป็นความฝันของเขาด้วย แต่สิบนาทีสุดท้ายของหนัง ความหวังของเขาก็แทบจะสูญสลายไปเสียสิ้นเมื่อได้เผชิญหน้ากับวิทยาศาสตร์ในโลกของความเป็นจริงในปัจจุบัน หลังจากที่น้องเมทริกซ์ได้ไปเยือนยัง Nectome Labs ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และได้เข้าพบดร.โรเบิร์ต แมคอินไทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแช่แข็งสมอง และได้แจ้งข้อความจริงของความยากลำบากนานาประการในการฟื้นฟูสมองที่ถูกแช่แข็งแบบน้องสาวของเขา

หนังเล่าด้วยน้ำเสียงและความคิดเห็นจากฝั่งของคนเป็นพ่อเกือบตลอดทั้งเรื่อง เราอาจไม่เห็นด้วยในการกระทำของเขา แต่เราเข้าใจการตัดสินใจนั้น และรับรู้ถึงพลังความมุ่งมั่นเปี่ยมล้นของคนเป็นพ่อ ก่อนที่สิบนาทีสุดท้าย หนังจะทวิสต์ให้เราเข้าใจความรู้สึกของน้องเมทริกซ์ได้มากกว่า และรู้สึกว่าการตั้งคำถามและข้อสรุปของเขานั้น เจือปนความหวังอันจับต้องไม่ได้น้อยกว่าผู้เป็นพ่อมากนัก

ทว่า “รักก็คือรัก” เราไม่อาจนำไม้บรรทัดของเราไปวัดหรือเทียบเคียงกับของใครได้ แต่คำถามที่คุณสรยุทธถามกับดร.สหธรณ์ในรายการทีวี ก็แอบสร้างอิมแพ็คและน่าฉุกใจไม่เบา คำถามที่อาจทำให้เรื่องทั้งหมดนี้ ดูเป็นการกระทำอันไร้ค่าขึ้นมาทันที

จะเป็นยังไง ถ้าวันหนึ่งน้องตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าครอบครัวก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นกับน้องอยู่ดี

คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ซึ่งนั่นไม่สำคัญเลย เพราะมนุษย์เราคิดแตกต่างกันได้ สิ่งสำคัญคือความรัก และเมื่อมีความรัก ก็ย่อมมีความหวัง ดร.สหธรณ์และครอบครัวไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าสองคำนี้เลย พวกเขาก็แค่มีความรัก และมีความหวัง และส่งมอบความรักและความหวังให้กับบุตรสาวอันเป็นที่รัก ก็เพียงเท่านั้นเอง

 

เรื่อง:  poonpun
ภาพ: Netflix