‘หมูไม่เด้ง’ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับหมู ๆ

‘หมูไม่เด้ง’ ประวัติศาสตร์ไทยฉบับหมู ๆ

‘หมูเด้งแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว’ นำไปสู่เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับ ‘หมู’ ในสังคมไทยแทร่

KEY

POINTS

  • ความเชื่อเกี่ยวกับ ‘หมู’ ในสังคมไทยแทร่   
  • สุภาษิตคำพังเพยเกี่ยวกับ ‘หมู’ ในสังคมไทย  
  • ‘หมู’ ในชื่อบ้านนามเมืองสยามประเทศ  
  • ‘หมู’ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา
  • ‘หมู’ ในสมัยรัตนโกสินทร์
  • ‘หมู’ กับชาตินิยมหลัง 2475

เกริ่นนำ (แบบเด้งๆ)  

ช่วงนี้คงไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ จะมาแรงแซงทางโค้งทุกสรรพสิ่งมากเท่าฮิปโปน้อยที่ชื่อ ‘หมูเด้ง’ อีกแล้ว รันทุกวงการแบบฉุดไม่อยู่ ไม่เฉพาะในประเทศไทย เพราะน้อง “โกอินเตอร์” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ก่อนนี้สิ่งมีชีวิตที่เคยทำได้ในเลเวลเดียวกัน ถ้าไม่นับหมีเนย, ช่วงช่วง – หลินฮุย, พรี่เตี้ยมช. ฯลฯ ในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมาก็คือ ‘Siamese cat’ ที่บุกตะลุยไปทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา แต่นั่นเป็นยุคที่โลกยังคงติดต่อสื่อสารกันข้ามทวีปผ่านทางเรือเดินสมุทร ไม่รวดเร็วฉับไวราวกับส่งกระแสจิตได้เหมือนอย่างโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย  

แต่นอกเหนือจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียแล้ว น่าสังเกตด้วยว่า ‘หมูเด้งแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว’ ไม่ใช่ลูกฮิปโปหนึ่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ สวนสัตว์ที่อื่นก็มีลูกฮิปโป น่ารักไม่แพ้กัน ภาพไวรัลแรก ๆ ของหมูเด้งที่ปรากฏเป็นภาพดุ๊กดิ๊ก (หรือเด้ง ๆ) แบบแมว มีการเกาคาง พลิกพุง ดุนหัว แหกปากร้อง งับขาคนเลี้ยง สายตาเว้าวอนและบ้องแบ๊ว ฯลฯ 

แค่นั้นไม่พอ ลูกฮิปโปตัวนี้ยังมีความเป็น ‘หมู’ อย่างสุดติ่ง ตั้งแต่มีชื่อเรียกเป็น ‘หมู’ กิริยาอาการที่วิ่งพล่านไปมา ที่จริงแทบไม่ได้ต่างจากลูกหมูตามเล้า เพียงแต่สถานที่อย่างเล้าหมู ถึงหลายแห่งจะไม่ปิดเร้น ก็ไม่ใช่ที่สาธารณะที่ใครจะยอมเสียค่าตั๋วเข้าไปชม ยิ่งถ้าได้ชมแค่ 5 นาที แถมต้องเบียดเสียดกันเป็นคลื่นมหาชนราวกับม๊อบประท้วงรัฐบาลด้วยแล้ว ยิ่งไม่เห็นทางจะเป็นไปได้    

อย่างไรก็ตาม ความที่ฮิปโปไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นสยามประเทศ เพิ่งนำเข้ามาเลี้ยงในสวนสัตว์เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ฮิปโปจึงไม่มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมวัฒนธรรมแบบไทยแทร่ แต่ ‘หมู’ นั้นตรงกันข้าม หมูเป็นสารพัดสิ่งอย่าง ผู้เขียนจึงสงสัยว่าคนไทยที่หลงใหลคลั่งไคล้เจ้าฮิปโปตัวนี้อาจจะกำลังหลง “ความเป็นหมู” ที่มีอยู่ในตัวฮิปโปอยู่หรือไม่ ก็ขนาดไหว้ผีผ่านพระพุทธรูปก็ยังประพฤติทำกันได้ไม่เคอะเขิน แน่นอนคนไทยที่ไหว้ผีล้วนแต่ยังเป็นคนไทยแท้ ๆ 

ในกรณีนี้คำถามก็คือ เพราะอะไร ทำไม ผู้คนถึงชอบฮิบโปชื่อหมู ซึ่งมีอากัปกิริยาเหมือนแมว แต่กับหมูจริง ๆ กลับไม่สามารถมองมันน่ารักได้? ทำไมถึงคิดและรู้สึกว่าสัตว์อื่นที่มีรูปร่างแบบหมูหรืออ้วนเหมือนหมู (ไม่ใช่เฉพาะฮิบโป แมวอ้วนเหมือนหมูก็ด้วย) ถึงน่ารัก แต่กับหมูจริง ๆ ทำไมเป็นความน่าเกลียดน่าขยะแขยง ไม่พึงประสงค์?  

แม้แต่กับมนุษย์ด้วยกัน “อ้วนเหมือนหมู” ก็เป็นคำเหยียดบุลลี่ เดิมมีคำว่า “ตัวโตยังกับช้าง” แต่ช้างเป็นสัตว์ชั้นสูงตามมุมมองความเชื่อไทย เลยไม่เป็นคำเหยียดเท่า “อ้วนเหมือนหมู” เป็นไปได้ไหมว่า เพราะหมูมันมีมิติเดียวตลอดประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่ผ่านมา หมูดูเป็นสัตว์ที่ถูกกระทำเพียงมิติเดียวแบบสัมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันร่างของหมูกลับเป็นของอร่อย เป็นของเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระภูมิเจ้าที่ บรรพบุรุษ บรรพสตรี ฯลฯ 

ในแง่นี้ ฮิปโปหมูเด้งคงกำลังช่วยให้คนไทยชื่นชมหมูได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจอยู่หรือเปล่า?  อย่าเพิ่งเชื่อข้อสรุปนี้จนกว่าจะได้พิจารณาประวัติศาสตร์หมูที่ไม่หมูในสังคมไทยเสียก่อน   

ความเชื่อเกี่ยวกับ ‘หมู’ ในสังคมไทยแทร่   

หมูอาจไม่เคยให้สมเด็จพระนเรศวรขี่ไปทำยุทธหมูถี ไม่เคยปรากฏอยู่ในธงชาติสยาม ไม่เคยช่วยพระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรี รวมถึงไม่เคยทำคุณอันใดที่ช้าง ม้า วัว ควาย เคยทำมาก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหมูไม่สำคัญ ไม่เชื่อก็ไปถามคนจีนว่าทำไมจะไหว้บรรพชนต้องใช้หัวหมู ใช้หัวหมา หรือแม้แต่หัวช้างไม่ได้   

‘หมู’ อยู่ในสิบสองนักษัตร ปีหมูคือ ‘ปีกุน’ จีนใช้หมูแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แต่ขณะเดียวกันก็บุลลี่หมู ในเรื่อง ‘ไซอิ๋ว’ ตัวละครชื่อ ‘ตือโป๊ยก่าย’ คือสารพัดอย่าง ทั้งขี้เกียจ ตะกละกิน เจ้าชู้อยากแต่จะผสมพันธุ์ กระทั่งเป็นตัวเดียวที่ไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผิดกับลิงอย่าง ‘ซุนหงอคง’ เสียชาติที่อุตส่าห์เดินทางไกลไปถึงชมพูทวีป  

อีกฝั่งหนึ่งแขกมุสลิมไม่กินหมู จะด้วยเหตุผลกลใด ไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด รู้แต่ว่ามีบทบัญญัติท่านนบีได้เคยประกาศห้ามไว้ แต่มีบางท่านก็ว่าแล้วทำไม “หมูสะเต๊ะ” ของกินที่แพร่หลายในปัจจุบันนี้ถึงมีต้นกำเนิดมาจากแถว ๆ คาบสมุทรมลายูซึ่งมีเหล่า ‘อาบัง’ อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ‘ส. พลายน้อย’ ศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง ได้เคยสืบค้นแล้วพบว่า เดิม ‘สะเต๊ะ’ (คำมลายู) เป็นเนื้อวัว แต่ภายหลังคนจีนเอามาดัดแปลงใช้หมูแทนวัว จาก ‘วัวสะเต๊ะ’ ก็เป็น ‘หมูสะเต๊ะ’ เรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดกับคนมุสลิมเท่านั้น คนจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมก็มี ‘ขึด’ (taboo) ว่าไม่กินเนื้อวัว แต่แล้วเป็นไง เดี๋ยวนี้หม่าล่าเต็มบ้านเต็มเมือง มีเยอะที่เมืองจีนไม่พอ แพร่มาที่ไทยและอุษาคเนย์ให้พวกจีนโพ้นทะเลกินตามกันไปอีก    

แขกพราหมณ์บางแหล่งก็ว่าเคยไม่กินหมูมาก่อนเช่นกัน เพราะใน ‘นารายณ์สิบปาง’ มีปางหนึ่งคือ ‘กูรมาวตาร’ พระนารายณ์อวตารเป็นหมูไปสู้กับ ‘หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน’ หมูเลยเป็นสัตว์มีคุณใหญ่หลวง แต่นั่นก็เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ในลัทธิไวษณพนิกาย นับถือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ฝ่ายไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ไม่ได้เชื่อตาม แต่เขาก็ไม่กินวัวด้วยเหตุผลว่าวัวเป็นลูกหลานของ ‘โคนนทิ’ พาหนะของพระศิวะ 

ข้างฝ่ายพุทธ มาแปลกไปอีก เพราะ ‘สุกรมัทวะ’ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ถึงแม้บางท่านจะว่า ‘สุกรมัทวะ’ หมายถึง เห็ดชนิดหนึ่ง ไม่ใช่หมู บางท่านว่าเป็นหน่อไม้ที่หมูแทะกิน บางท่านว่าหมายถึงหมูที่ยังไม่โตเต็มวัย อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘สุกร’ ก็เกิดกลายเป็นชื่อที่ไม่ดีไม่งามไปเสียแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขาดหมูได้   

สุภาษิตคำพังเพยเกี่ยวกับ ‘หมู’ ในสังคมไทย  

ที่เห็นได้ชัดว่า หมูเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย ก็เห็นได้จากสุภาษิตคำพังเพยที่มีหมูอยู่หลายคำหลายประโยคด้วยกัน เท่าที่นึกออกก็มีเช่น หมูเขาจะหาม เอาคานเข้าไปสอด, หมูเขี้ยวตัน, หมูในเล้า, หมูอดขี้ไคลไม่ได้, ดินพอกหางหมู, หมูไม่กลัวน้ำร้อน, ยื่นหมูยื่นแมว, หมูในอวย, หมูสนาม, หมูไป - ไก่มา, อ้วนเป็นหมู, ตะกละเหมือนหมู, กินมูมมามเหมือนหมู ฯลฯ 

นอกจาก ‘ตือโป๊ยก่าย’ ในวรรณคดีคลาสสิคของจีน วรรณคดีไทยก็มี ‘ขุนช้าง’ ที่เป็นตัวแทน บุคคลที่มีลักษณะถูกเปรียบเปรยเหมือนหมูไว้หลายตอนด้วยกัน และในขณะเดียวกัน ‘ขุนแผน’ ก็มีบุคลิกลักษณะที่คล้ายคลึงกับ ‘ซุนหงอคง’ ในด้านที่เป็นความโลดโผนโจนทะยาน ยกเว้นก็แต่ขุนแผนได้ชื่อว่าเจ้าชู้หลายเมีย แต่ซุนหงอคงนั้นเป็นนักพรตต้องบำเพ็ญเพียร  

‘หมู’ ในชื่อบ้านนามเมืองสยามประเทศ  

ถึงหมูจะเป็นที่เกลียดชังขยะแขยง แต่ก็มีนำเอาไปเป็นชื่อบ้านนามเมือง โดยที่ก็ไม่ใช่ชื่อใหม่ที่เพิ่งตั้ง เป็นชื่อบ้านนามสถานมีมาช้านานแล้ว เช่น ‘เกาะหมู’ หรือ ‘เกาะสุกร’ ในท้องที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เดิมคือเมืองปะลันด้า ขึ้นกับเมืองพัทลุง ปัจจุบันเกาะนี้ผู้คนที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม   

อีกแห่งในภาคอีสาน ก็มี ‘บ้านหมู’ หรือ ‘บ้านสุกร’ ในท้องที่ ต.หนองหลัก อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ทั้งสองแห่งต่างมีเรื่องเล่า (ในลักษณะตำนานท้องถิ่น) ว่าเดิมเป็นที่ที่มีหมูป่าอาศัยอยู่เยอะ แม้หมูป่าจะหมดไปจาก อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา คนก็ยังนิยมเรียกชื่อเป็น ‘คนบ้านหมู’ ดังเดิม เช่นเดียวกับที่แม้ชาวมุสลิมที่อพยพเข้าไปตั้งรกรากอยู่ที่เกาะหมู ได้กำจัดหมูป่าจนหมดสิ้นไปจากเกาะแล้ว ก็ยังคงนิยมเรียกตนเองเป็น ‘คนเกาะหมู’ อยู่ดังเดิม 

‘หมู’ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา

ถึงจะคาดการณ์กันออกว่า หมูคงมีอยู่ในพื้นบ้านพื้นเมืองมาช้านานอย่างไร ในดินแดนสยามประเทศก็ไม่เคยขุดพบซากโครงกระดูกหมูที่เก่าย้อนไปจนถึงสมัย 4 - 6,000 ปีก่อน (ยุคร่วมบ้านเชียง จ.อุดรธานี) รูปเขียนผ่ามือแดงที่พบตามแหล่งต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่นอกเหนือจากรูปคน ก็มักจะเป็นรูปวัว ควาย สุนัข ฯลฯ รูปหมูที่เป็นรูปวาดฝาผนังเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เท่าที่ค้นพบในอุษาคเนย์ กลับพบที่เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย 

หลักฐานเกี่ยวกับหมูทั้งประเภทลายลักษณ์อักษรและประเภทที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ล้วนแต่อยู่ในยุคอยุธยาแล้ว ตัวอย่างเช่น ในจดหมายเหตุราชทูตพิเศษ ลา ลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเข้ามาสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีบันทึกเล่าถึงการนำหมูเข้ามาเลี้ยงของคนจีนที่พำนักอาศัย ตั้งรกราก และทำมาค้าขาย อยู่ในอยุธยาและลพบุรี หมูเป็นเนื้อสัตว์ขายดีในตลาดทั้งในอยุธยาและหัวเมือง แถมยังเล่าด้วยว่าคนจีนที่เลี้ยงหมูยังนำเอามูลอุจจาระของหมูไปใส่ผักเป็นปุ๋ยอีกด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญบอกเล่าถึงการมี ‘หมูบ้าน’ ในสยาม อย่างน้อยก็ในชุมชนจีน  

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ความสัมพันธ์กับพม่าอังวะเป็นไปในทางมิตรไมตรี ได้มีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนพุทธศาสนา และส่งทูตไปมาหาสู่กัน ช่วงนั้นมอญเป็นขบถต่ออังวะ สามารถตั้งตนเป็นอิสระได้ระยะหนึ่ง เมื่อพม่าทางตอนใต้แตกพ่ายให้กับมอญ พม่าส่วนนี้ก็ได้อพยพลี้ภัยมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดให้รับคนพม่าเหล่านี้ไว้ในพระบรมโพธิสมภาร ให้ตั้งรกรากอยู่ที่อยุธยาบริเวณย่านตลาดน้อย วังหลังเก่า 

เนื้อความจากพระราชพงศาวดารส่วนนี้สอดคล้องต้องกันพอดีกับ ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ ที่สำคัญเอกสารยังระบุว่า คนพม่าเหล่านี้มีอาชีพสำคัญหนึ่งก็คือการชำแหละหมูขายในตลาด  

นอกจากนี้หลักฐานประเภทที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวกับหมู ก็มีเช่น จิตรกรรมฝาผนังภาพหมูป่า ที่วัดโบสถ์สามเสน กรุงเทพฯ เป็นจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย  นั่นหมายความว่าชาวบางกอกรู้จักหมูมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเช่นกัน  

‘หมู’ ในสมัยรัตนโกสินทร์

คนอยุธยาตอนปลายรู้จักหมูอย่างไร คนต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังคงรู้จักแบบนั้น เพราะเป็นคนรุ่นเดียวกัน คนต้นกรุงเทพฯ เคยมีชีวิตอยู่ในยุคก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ชนชั้นนำสยามรุ่นต้นกรุงเทพฯ ยังมีเชื้อสายเป็นจีนกันอยู่ด้วย  

ถึงจะไม่มีหลักฐาน แต่ก็เรานึกออกว่าทั้งสองพระองค์จะต้องเคยเสวยเนื้อหมูอยู่เป็นแน่ เช่นเดียวกับที่เราต่างก็นึกออกว่าวีรบุรุษของชนชาติใดก็ตาม จะต้องเคย ‘ตด’ โดยไม่จำเป็นต้องมีบันทึกประวัติศาสตร์มาบอกไว้หรอก ท่านเหล่านั้นเคยตดที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ที่เราไม่คิดถึงว่าพวกท่านเหล่านั้นต่างก็เคยตด ก็เพราะคิดกันไป (โดยไม่รู้ตัว) ว่าพวกท่านไม่เป็นมนุษย์ปกติธรรมดา 

รุ่นนั้นหรือแม้แต่รุ่นต่อมาอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 หมูยังไม่ได้เป็นที่เกลียดบุลลี่มากเหมือนอย่างในช่วงหลัง สิ่งที่บ่งบอกถึงเรื่องนี้ได้ดีก็คือการสร้าง ‘อนุสาวรีย์หมู’ หรือ ‘อนุสาวรีย์ปีกุน’ อยู่ที่ริมคลองคูเมือง เยื้องฝั่งตรงข้ามถนนกับวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ต่อมามีการสร้างสะพานข้ามจากวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามข้ามคลองไปยังวัดราชบพิธ ก็ตั้งชื่อสะพานว่า ‘สะพานหมู’ หรือ ‘สะพานปีกุน’ ไปอีก 

‘อนุสาวรีย์หมู’ ที่นี่ไม่ธรรมดา มีผู้คนแวะเวียนมาเคารพกราบไหว้อยู่ไม่ขาด ยิ่งท่านที่เป็นสายมู อนุสาวรีย์นี้ยิ่งเป็นหมุดหมายหนึ่ง เมื่อแรกไปเห็นอนุสาวรีย์นี้ผู้เขียนก็งุนงงสงสัยอย่างยิ่งว่า เพราะอะไร ทำไม ผู้คนชาวเมืองกรุงฯ ถึงได้พากันกราบไหว้หมู ข้อความป้ายประวัติสถานที่ที่หน่วยงานท่านทำไว้ก็ดันมีคนมือบอนมาทำลายไปเสียอีก ไม่รู้ว่าตอนนี้ได้ซ่อมแซมหรือทำใหม่ไปแล้วหรือยัง เมื่อสงสัยใคร่รู้ก็กลับมาค้นคว้าหาหนังสืออ่าน (สมัยเมื่อแรกที่ผู้เขียนไปพบอนุสาวรีย์หมู ยังเป็นปีที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย) 

อาจารย์ ส. พลายน้อย อีกนั่นแหล่ะ เคยเขียนเล่าไว้ในเล่ม ‘สิบสองนักษัตร’ ว่าอนุสาวรีย์หมูนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ ‘สมเด็จรีเยนต์’ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 5) ผู้ออกแบบคือสมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จรีเยนต์ท่านประสูติปีกุน สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์จึงได้ออกแบบอนุสาวรีย์เป็นแบบเรียบง่ายเป็นรูปหมูยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนเขามอ (ภูเขาหินขนาดย่อม) เมื่อเป็นอนุสาวรีย์แทนเจ้านายองค์สำคัญในอดีต ก็จึงเป็นอนุสาวรีย์ที่คนไทยในชั้นหลังกราบไหว้เคารพสักการะได้    

‘หมู’ กับชาตินิยมหลัง 2475

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า “รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไร เจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกินกับข้าวก็ไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเขาบ้าง”  

เบื้องหลังคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวนี้ก็คือแนวคิดชาตินิยมที่ต้องการกระตุ้นให้คนไทยรู้จักค้าขายและเลี้ยงสัตว์ เป็นแนวคิดชาตินิยมแอนตี้คนจีนเช่นเดียวกับแนวคิดของ ‘อัศวพาหุ’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไม่เข้มข้นรุนแรงมากเท่า และนั่นก็สะท้อนว่าคนจีนยังคงเป็นกลุ่มหลักที่เลี้ยงหมูขายหมูมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงหลัง 2475  

ช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการนักศึกษาก็เคยรณรงค์ในลักษณะเดียวกับจอมพล ป. เพียงแต่ ‘ศัตรูของชาติ’ สำหรับนักศึกษา 14 ตุลา’ คือ ญี่ปุ่น ไม่ใช่จีน เหมือนอย่างในอดีต มรดกทางความคิดในส่วนนี้ตกค้างมาอยู่ในรูปของเพลง ‘เสียมหล่อตือ’ (หมูสยาม) ของวงคาราบาว  

ชาตินิยมที่ไหนก็ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูของชาติขึ้นมาไม่ได้ แม้แต่ชาตินิยมของฝ่ายก้าวหน้า ในแง่นี้หมูไม่ใช่แค่หมู หากเป็น ‘ภาพตัวแทน’ (Representation) ของสิ่งอื่น เช่นเป็นภาพสะท้อนอำนาจการควบคุมบงการสังคมของคนจีน หรือการผูกขาดสินค้าอุปโภคบริโภคของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา   

เสมือนบทสรุป: ‘หมูเด้ง’ คือฮิปโปวิญญาณหมู?  

เพราะไทยเป็นสังคมวัฒนธรรมที่มีความเชื่อเรื่องการแบ่งระหว่าง ‘กาย’ (Body) ที่เห็นปรากฏต่อผัสสะตา กับ ‘จิตวิญญาณ’ (Spirit) ที่ไม่ปรากฏให้เห็นได้ตามปกติ พูดง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่อย่างที่เห็น เราอาจเห็นหมูเป็นฮิปโปโปเตมัสไปได้โดยไม่รู้ตัวก็ได้     

ฮิปโปอาจไม่เชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์พื้นถิ่นสยามประเทศ แต่ไม่เป็นปัญหา สิ่งที่สามารถจะทำให้ฮิปโปหรือสิ่งใด ๆ ก็ตามกลายเป็นของไทยแทร่ ได้โดยที่รัฐบาลคุณอุ๊งอิ๊งไม่ต้องเปลืองแรง ก็คือการสวมวิญญาณให้เป็นไทย อย่าลืมนะครับว่า นอกจากไทยมีแนวคิดทางสังคมวัฒนธรรมแบบมองกายกับจิตวิญญาณแล้ว ยังเชื่อด้วยว่าจิตวิญญาณนั้นเป็นของจริงแท้ยิ่งกว่าสิ่งที่เห็นหรือสัมผัสได้ด้วยตาอีกด้วย 

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไหว้พระพุทธรูปโดยเชื่อว่านั่นคือพระพุทธเจ้า แต่ที่จริงคือไหว้ผี ส่วนพระพุทธเจ้าท่านเสด็จไปปรินิพพานมากว่า 2,500 ปีเศษแล้ว ยังมีคนไหว้อนุสาวรีย์หมู เพราะเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงพระวิญญาณของสมเด็จรีเยนต์ หรืออย่างเมื่อไปที่พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เราก็จะเห็นมีคนไหว้อนุสาวรีย์ย่าเหล หนังเรื่อง ‘คนกราบหมา’ ยังเป็นเรื่องการไหว้หมาจริง แต่คนกราบย่าเหล ย่อมไม่ใช่กราบหมาธรรมดา เพราะย่าเหลเป็นสัตว์เลี้ยงทรงโปรดของรัชกาลที่ 6 นั่นจึงเป็นการแสดงความเคารพต่อองค์พระมหาธีรราชเจ้าด้วย  

ในสังคมฝรั่งตะวันตกมีทำแบบนี้ไหม มีด้วยแน่ ๆ แต่กระบวนการอาจต่างกัน เหมือนจะทำอย่างตรงไปตรงมามากกว่า เช่นที่เคยมีหนังดังที่ทำให้หมูมีภาพพจน์แบบสัตว์น่ารักเช่นกัน คือเรื่อง ‘Babe หมูน้อยหัวใจเทวดา’ คือหมูที่ไม่ใช่หมูธรรมดา หมูมีหัวใจเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่ามนุษย์เสียอีก เป็นต้น  

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระแสการกินมังสวิรัติในสังคมตะวันตกค่อนข้างมาแรง จนส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสุกรมาจำหน่ายในตลาด และโลกตะวันตกยังเข้าสู่กระแสยุคหลังมนุษย์นิยม (Post-humanism) มาพักหนึ่งแล้ว ภาพของฮิปโปหมูเด้งจึงเกิดเป็นที่นิยมในหมู่พวกเขาอย่างรวดเร็วไปด้วย   

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง:
กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.  
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. นนทบุรี: มสธ., 2555. 
จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552. 
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553. 

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “จอมพล ป. เจ็บใจช่วงตรุษจีน เจ๊กขายหมู-ร้านขายกับข้าวปิดร้านหมด” (เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566).
ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). สิบสองนักษัตร. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2534. 
ส.พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2537. 
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ. รูปเขียนดึกดำบรรพ์ “สุวรรณภูมิ” 3,000 ปีมาแล้ว ต้นแบบงานช่างเขียนปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.