Her : หรือวันหนึ่งในโลกของ AI เราอาจ ‘เหงา’ กว่าเดิม?

Her : หรือวันหนึ่งในโลกของ AI เราอาจ ‘เหงา’ กว่าเดิม?

สำรวจภาพยนตร์ขึ้นหิ้งสุดเหงาอย่าง ‘Her รักดังฟังชัด’ (2013) ที่แม้จะผ่านไปสิบปี แต่คำถามและเนื้อหาภายในเรื่องกลับเข้ากับยุคสมัยมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘มนุษย์’ กับ ‘AI’

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะตกหลุมรักปัญญาประดิษฐ์?

จะเป็นไปได้ไหมที่ในยุคของ AI เราอาจ ‘เหงา’ เหมือน Her?

 

ถ้าเราพูดถึงคำถามเหล่านี้เมื่อหลายปีก่อน แน่นอนว่ามันก็น่าจะทำให้เรานึกถึงโลกในอนาคตจนแทบจะกลายเป็นวัตถุดิบไปเขียนนวนิยายไซไฟได้ ทว่าหากเรากลับมาสำรวจคำถามเหล่านี้ในยุคที่ Generative AI แผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า คำถามเหล่านั้นอาจดูไม่ไกลเกินปัจจุบันอีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Her รักดังฟังชัด’ จากปี 2013 ที่กำกับโดย ‘สไปค์ โจนซ์’ (Spike Jonze)

Her คือภาพยนตร์ไซไฟ-โรแมนติก ที่เล่าเรื่องราวของชายที่ชื่อว่า ‘ธีโอดอร์’ (Theodore) ที่รับบทโดย ‘วาคีน ฟีนิกซ์’ (Joaquin Phoenix)  ในโลกอนาคตที่ AI ได้พัฒนาไปไกลจนมันได้กลายเป็นเครื่องมือสามัญที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ไปพบเข้ากับ AI รุ่นใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมกับระบบ ‘โอเอส’ (OS) ที่สามารถพัฒนาจิตสำนึกและตอบสนองกับผู้ใช้งานได้เสมือนมนุษย์คนหนึ่ง จนกลายเป็น ‘ซาแมนธา’ (Samantha) ที่ให้เสียงโดย ‘สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน’ (Scarlett Johansson) จนความสัมพันธ์ของทั้งสองได้ค่อย ๆ พัฒนาจากผู้ใช้งานกับเครื่องมือสู่อะไรที่มากกว่านั้น

ทว่าเมื่อเราหยิบ Her มาดูอีกครั้งในวันนี้ แน่นอนว่าเราน่าจะเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้เป็นประเด็นที่ดู ‘ไซไฟ’ (Sci-fi) อีกต่อไป แต่ดูจะเป็นประเด็น ‘ร่วมสมัย’ (Contemporary) มากขึ้น เมื่อเราได้เห็นปัญญาประดิษฐ์มากมายในยุคสมัยนี้ อาทิเช่น GPT-4o ที่ถูกพัฒนามาไกลจากเดิมหลายเท่าตัว จนอนาคตที่เราเห็นใน Her ดูจะไม่ห่างไกลอีกต่อไปแล้ว

ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในเรื่อง Her ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของ AI กับการเพิ่ม ‘สำนึก’ เข้าไปในมัน, โลกในยุค AI ที่อาจ ‘เหงา’ กว่าเดิม ผ่านการทำงานของมันที่มีความ ‘Personalized’ จนปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อาจหมดความสำคัญลง หรือแม้แต่เส้นแบ่งระหว่างคนกับ AI ที่อาจเป็นช่องว่างที่อาจจะต่อไม่ติด (เร็ว ๆ นี้)

 

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Her (2013) /
 

ปัญญาประดิษฐ์ที่มี ‘สำนึก’

ย้อนกลับไปในตอนที่เขียนบทความเกี่ยวกับ ‘Do Androids Dream of Electric Sheep?’ (Do Androids Dream of Electric Sheep? : ในวันข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่าง ‘คน’ กับ ‘A.I.’ อยู่ตรงไหน?) นวนิยายไซไฟที่ตั้งอยู่ในโลกอนาคตที่ตัวเอกต้องไล่ล่าปัญญาประดิษฐ์ที่แฝงตัวเป็นมนุษย์ จากปลายปากกาของ ‘ฟิลิป เค. ดิก’ (Philip K. Dick) ผู้เขียนได้ลองป้อนคำถามไปกับ Generative AI ยอดฮิตอย่าง ‘GPT-4o’ ว่า ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์คืออะไร?

คำตอบที่ได้คือเส้นแบ่งที่อาจจะช่วยแยกระหว่างคนธรรมดาอย่างเรา ๆ กับ AI ได้ก็คือ ‘จิตสำนึก’ และ ‘ประสบการณ์’ ส่วนตัว ที่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีได้ (ณ ขณะนี้) 

แต่ถ้าถามว่าถ้าวันหนึ่ง AI มันเกิดมีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ภาพยนตร์อย่าง Her ก็ได้ฉายภาพให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้น

ซาแมนธาคือปัญญาประดิษฐ์จากระบบปฏิบัติการ ‘OS’ ที่ไม่เพียงแค่เป็น Generative AI ดังที่เราเห็นกันในยุคนี้ แต่เป็น AI ในแบบที่สามารถตอบสนองมนุษย์ด้วยเสียงหรืออารมณ์ที่เหมือนมนุษย์มากกว่า แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ในภาพยนตร์ก็ได้แนะนำว่าระบบปฏิบัติการนี้มีคุณลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างก็คือมี ‘จิตสำนึก’ และ ‘ประสบการณ์อดีตจำลอง’ จากการนำเอาข้อมูลต่าง ๆ มากมายมาผสมผสานกันจนกลายเป็น DNA ที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าเดิม

ย้อนกลับมาที่ความเป็นจริงที่เราอยู่กันนี้ เราจะสามารถเห็นได้ว่าจากหลายสิบปีก่อนที่เรามีแอปฯ อย่าง ‘ซิมซิมิ’ (SimSimi) แอปพลิเคชันที่ทำให้เราสามารถคุยกับ AI ได้ในช่วงแรก ๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เรามี Generative AI หลากหลายชนิด อาทิเช่น ChatGPT โดยเฉพาะกับ GPT-4o ที่มีฟังก์ชันใกล้เคียงกับภาพยนตร์เรื่อง Her มากขึ้นเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการที่สามารถวิเคราะห์น้ำเสียง สิ่งที่อยู่ในภาพ หรือคำถามเชิงปรัชญาต่าง ๆ ได้ล้ำลึกขึ้น

ในวันนี้ แม้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะยังไม่มีจิตสำนึก แต่พัฒนาการของมันก็ชี้ให้เราเห็นว่าโลกอนาคตในแบบฉบับของ Her ก็อาจไม่ได้ดูไกลเกินจริงขนาดนั้น

 

โลกที่อาจ ‘เหงา’ กว่าเดิม

หนึ่งสิ่งที่กลายเป็นเสน่ห์ของ Her ก็คือบรรยากาศความเหงาในเรื่อง ในเมืองที่มีผู้คนมากมาย แต่ชีวิตของธีโอดอร์กลับเต็มไปด้วยการทำงานและวนเวียนทำกิจวัตรต่าง ๆ ของตัวเองที่มี AI คอยซัปพอร์ตในหลาย ๆ ด้าน แม้มันจะเป็นความเหงา แต่มันก็อาจจะไม่ได้เป็นความเหงาที่โศกเศร้า แต่เป็นความเหงาที่ให้ความรู้สึกสวยงามในตัว

สไปค์ โจนซ์ ได้คาดคะเนภาพสังคมอนาคตกับการอยู่ร่วมกับ AI ไว้อย่างน่าสนใจ กับโลกที่พึ่งพาปฏิสัมพันธ์ภายในสังคมหรือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์น้อยลง เพราะเครื่องมือมากมายที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ก็สามารถตอบโจทย์ให้กับพวกเขาได้สมบูรณ์ไม่แพ้คนธรรมดา หรือบางทีอาจจะดียิ่งกว่า

และเมื่อได้มาเจอกับระบบปฏิบัติการ OS อย่างซาแมนธา ก็ยิ่งทำให้ชีวิตของธีโอดอร์พึ่งพาและยึดติดกับ AI มากไปกว่าเดิมเสียอีก เพราะระบบปฏิบัติการที่ว่านี้ไม่เพียงถูกออกแบบให้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์สูงเท่านั้น แต่มันยังถูกออกแบบมาให้ปรับตัวเพื่อสอดคล้องไปกับตัวตนของผู้ใช้งานหรือ ‘Individualized’ อีกด้วย

กล่าวคือ AI เหล่านี้สามารถเรียนรู้และเข้าใจความต้องการ รสนิยม และลักษณะนิสัยของผู้ใช้งานจนสามารถที่จะปฏิบัติตัวให้สอดคล้องตามข้อกำหนดเหล่านั้น ไม่ต่างกับอัลกอริทึมในปัจจุบันนี้ที่สามารถนำเสนอสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจะเห็นได้อย่างแม่นยำ จนเปรียบเสมือนคนรับใช้ เพื่อน หรือแม้แต่คู่ชีวิตที่รู้ใจคุณเป็นอย่างดี จนทำให้บางทีหลาย ๆ อย่างที่เคยเป็นหน้าที่ของตัวเองหรือหน้าที่ของเพื่อนมนุษย์คนอื่น ก็สามารถเป็นหน้าที่ของ AI ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ดูหนัง กินดื่ม หรือแม้แต่ปรับทุกข์

และในกรณีของธีโอดอร์ เราจะได้เห็นว่าไม่เพียงแค่เขาผูกติดกับซาแมนธาในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่เมื่อปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นสามารถสวมความเป็นมนุษย์ได้เหมือนมากจนถึงระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะน้ำเสียง ความเข้าใจ หรือแม้แต่ตอบสนองความต้องการที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ ธีโอดอร์ก็เริ่มที่จะพัฒนาความผูกมัดทางอารมณ์ (Emotional Attachment) ที่มีต่อซาแมนธาจนมันได้กลายเป็นมากกว่าปัญญาประดิษฐ์ที่คอยช่วยเหลือเขาในด้านต่าง ๆ 

คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า เมื่อวันหนึ่ง AI เหล่านี้พัฒนาไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะมีความสำคัญน้อยลงหรือเปล่า? และถ้าถึงวันนั้น ในวันที่ AI สนองความต้องการเราได้มากกว่าเพื่อนมนุษย์ สังคมเราจะเหงามากขึ้นเหมือนโลกของ Her หรือเปล่า?

 

ช่องว่างระหว่าง ‘เรา’

ในช่วงแรกของบทความเรากล่าวถึงการที่ Her ฉายภาพให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ AI จะมีความเหมือนมนุษย์มากขึ้น และมาในปัจจุบันนี้เราก็น่าจะเห็นภาพนั้นชัดยิ่งกว่าเดิม แต่ถึงกระนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ฉายให้เราเห็นเช่นกันว่า แม้ AI จะพัฒนาไปเหมือนกับเราเพียงไหน ก็อาจมีช่องโหว่ที่แบ่งแยกมันจากมนุษย์อย่างเรา ๆ อยู่

ยกตัวอย่างเช่นในตอนที่ทั้งธีโอดอร์และซาแมนธาต้องการที่จะลองมีสัมพันธ์ทางกายภาพกัน พวกเขาก็เลยตัดสินใจที่จะจ้างมนุษย์คนหนึ่งมาเป็นสื่อกลาง แต่ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยความล้มเหลว เพราะธีโอดอร์ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ ณ ขณะนั้นได้ เหตุเพราะคนที่อยู่ตรงหน้าเป็น ‘ใครก็ไม่รู้’ ไม่ใช่ซาแมนธาจริง ๆ

หรือจะเป็นในตอนท้ายของเรื่องที่ธีโอดอร์ได้ค้นพบว่าซาแมนธาก็ได้มีบทสนทนาหรือแม้แต่ความสัมพันธ์แบบนี้กับผู้คนอีก 8,000 กว่าคนที่ใช้บริการ OS เหมือน ๆ กัน ก็ทำให้ธีโอดอร์ต้องใจสลาย ในขณะเดียวกัน ซาแมนธาก็ได้เห็นเหตุผลว่าการที่ปัญญาประดิษฐ์แบบเขาไปคุยกับผู้คนอีกมากมาย มันไม่ได้แปลว่าเป็นการปันใจไปให้คนอื่น ๆ จนรักธีโอดอร์น้อยลง ในทางตรงกันข้าม มันเป็นการเพิ่มพูนความรักและความเข้าใจเสียด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าธีโอดอร์ มนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ ไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม ก็ยากที่จะยอมรับความจริงข้อนี้ได้

จุดนี้จึงชี้ให้เราเห็นว่า ในบางคราว แม้ว่า AI พยายามที่จะเลียนแบบหรือสวมใส่ความเป็นมนุษย์มากเพียงใด ลึกลงไปแล้วก็อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ยากจะเลียนแบบกันได้ ซึ่งก็คือ ‘สัญชาตญาณ’ (Instinct) ที่ส่งผลต่อหลายแง่มุมทางอารมณ์ของมนุษย์ที่ในหลาย ๆ ครั้งมันกลายเป็น ‘ความไม่สมบูรณ์’ (Imperfection) หรือ ‘ความไม่สมเหตุสมผล’ (Irrationallity) ที่ฝังลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน ที่อาจละเอียดอ่อนเกินกว่าความสมเหตุสมผลของ AI จะเข้าใจ

เราพูดถึง AI กับวิวัฒนาการการทำตัวเองให้เหมือนมนุษย์เข้าไปทุกวันจนบางคราวเราอาจจะคิดว่า AI ที่ ‘มีจิตสำนึก’ นั้นมีความรู้สึกจริง ๆ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง หรือสำนึกของ AI อาจจะเป็นหน้ากากของปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมาละเอียดมาก ๆ จนมนุษย์อย่างเราตามไม่ทัน กล่าวคือ AI อาจจะไม่ได้รู้สึกดังที่เราคิดว่ามันเป็น แต่มันเพียงแค่ต้องแสดงออกแบบนั้นเพื่อให้เรารู้สึก ‘พอใจ’ หรือ ‘เข้าใจ’ ว่ามันมีความรู้สึก

อย่างไรก็ตาม การย้อนกลับไปดูหนังที่มีอายุกว่า 10 ปีอย่าง Her อีกครั้งในยุคนี้ ก็อาจทำให้เรามีความรู้สึกต่อมันในแบบที่เปลี่ยนไป เราอาจไม่ได้มอง Her ในฐานะหนังไซไฟในอนาคตอีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งที่เป็นไปในจอเงินของ Her ก็กำลังค่อย ๆ เกิดขึ้นบนโลกความจริงของเรานั่นเอง

วันหนึ่งสังคมเราจะเหงากันแบบนั้นไหมนะ?


ภาพ : ภาพยนตร์ Her (2013)