เพลงลูกทุ่ง: ภาพสะท้อนความจนกับความฝัน ท่ามกลางเศรษฐกิจ 4 ยุค

เพลงลูกทุ่ง: ภาพสะท้อนความจนกับความฝัน ท่ามกลางเศรษฐกิจ 4 ยุค

มองเพลงบทเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความจนกับความฝันประการเดียวท่ามกลางเศรษฐกิจ 4 ยุค

KEY

POINTS

  • บทเพลงลูกทุ่งกับภาพสะท้อนของความยากจนในเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง 
  • การเกษตรเชิงพานิชย์กับคนขี่หลังควายที่อับโชคเพราะยากจนและดิ้นรนนั่งรถด่วนขบวนพิศวาสสู่เมืองกรุงเพื่อมาเสี่ยงดวงหางานกับค่าแรงราคาถูก 
  • เมื่อเศรษฐกิจผันผวนและชีวิตย่ำสนธยา บทเพลงลูกทุ่งช่วยปลอบประโลมเหล่าดอกหญ้าในป่าปูน ที่กำลังหนาวแสงนีออนให้มีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้
     

“จากอีสานบ้านนา มาอยู่กรุง จากแดนทุ่งลุย ละ ๆ ล๊าย ๆ [ตืด~ ตื๋ด~ ตื๊อ~]
ชัยภูมิบ้านเดิม ถิ่นเกิดไกล บ่ได้หมายจากจร”

‘คิดถึงทุ่งลุยลาย’ คือ เพลง Top Hit ของคอนเสิร์ตหน้าฮ้าน ที่ร้องเมื่อใด หลายคนเป็นอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาเต้นม่วน ๆ ตามเสียงดนตรีและจังหวะที่คุ้นเคย ให้พร้อมกับแดนเซอร์ที่ใส่ชุดกรุยกราย วิบวับ และตะโกนร้องเพลงไปตามนักร้องอยู่หน้าเวที 

ทว่าเบื้องหลังความันส์ของเพลง คือเรื่องราวของผู้สาวชัยภูมิที่ต้องจากบ้านมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เพราะพรหมลิขิตขีดเขี่ยให้มาอยู่เมืองกรุงหรอก หากแต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกยุคทุกสมัยที่ผลักไสไล่ส่งให้คนจากชนบทอย่าง ‘ชัยภูมิ’ อันห่างไกลจากกรุงเทพฯ เกือบ 400 กิโลเมตร จำต้องเข้ามาไขว่คว้าหางานทำ 

เพลงลูกทุ่งที่ขับขานถึงการจากลาบ้านเข้ามาทำงานที่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีแต่เพลงคิดถึงทุ่งลุยลายเท่านั้น ตลอดหลายยุคหลายสมัย เพลงที่บอกเล่าชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเหล่านี้ได้ถูกขับร้องและผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกยุคของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น 1.0, 2.0, 3.0, และ 4.0 

1.0 - พาคนขี่หลังควายขึ้นรถด่วนขบวนพิศวาส 

แรกเริ่มเดิมที วิถีชีวิตชาวบ้านในชนบทแต่เดิมคือ การทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา ขายเฉพาะของเหลือ เน้นให้ครอบครัวอิ่มท้อง และอยู่รอดไปเพาะปลูกฤดูถัดไป แต่ทันทีที่โครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่การเกษตรเชิงพานิชย์ ทำให้สภาพชีวิตของหลาย ๆ คนในชนบทเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยทำพอกินสู่การทำให้มาก ๆ แล้วเอาไปขายเพื่อทำกำไร แต่ว่าก็ว่าเถอะ จะทำให้เราไปปลูกข้าวให้มาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะสิ เพราะการปลูกข้าวใช้เวลานาน ถึงแม้จะทำได้มากก็ถูกโรงสีกดราคาอยู่ดี บางปีข้าวราคาถูกก็ขาดทุน หรือหากเกิดน้ำท่วมจนนาล่ม ชาวนาก็แทบสิ้นเนื้อประดาตัว จึงทำให้กระดูกสันหลังของชาติเหล่านี้มีสภานภาพชีวิต
ที่ยากลำบาก เห็นได้จาก intro ของเพลงของ ‘ดาว บ้านดอน’ ที่เป็นตำนานอย่าง 

“กลุ้มใจจริง ๆ รักผู้หญิง หญิงก็ไม่สน 
เรามันคนจน แม่หน้ามนจึงไม่มอง”

คนขี่หลังควาย สถานภาพชีวิตของคนจน ประกอบอาชีพทำนาในต่างจังหวัด เกิดมาด้วยต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ด้อยวาสนาในความรัก หากมีความรักก็ต้องพากันกัดฟันดิ้นรนต่อไป เพราะตนเป็นเพียงชาวนากระเป๋าแบน ทำไร่ไถนาทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ เหตุนี้ ไอหนุ่มขี่หลังควายจึงจำต้องตีตั๋วนั่งรถไฟมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร และทันทีเสียงหวูดของรถไฟด่วนขบวนสุดท้ายดังขึ้น หวนให้นึกถึงเนื้อเพลงคุ้นหูของ ‘ผ่องศรี วรนุช’ ที่ร้องว่า 

“เสี๊ยง รถด่วนขบวนสุดท้าย แว่วดังฟังแล้วใจหาย
หัวใจน้องนี้ แทบขาด พี่จ๋าลาแล้ว”

 

‘ด่วนพิศวาส’ เพลงที่เวลาได้ยินทีไรเหมือนหัวใจถูกบาดด้วยความเจ็บปวดจากความรู้สึกอาลัยและอาวรณ์ที่มีต่อกัน รถไฟขบวนที่ไอ้หนุ่มขี่หลังควายนั่งไปนั้นคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลเข้าไปแสวงโชคในเมืองกรุง ที่นับวันยิ่งมีจำนวนผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 2510 ชาวบ้านจากต่างจังหวัดได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า 1.5 ล้านคน เพื่อหาเงินและงานในโรงงานที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ได้ไม่นานนี้ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นไอ้หนุ่มขี่หลังควาย

2.0 – คนจนมาเสี่ยงดวงหางานและค่าแรงราคาถูก

โรงงานเปิดตัวใหม่ คนเข้ามาเมืองกรุงเพิ่มมากขึ้น ความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้นทั้งคนขับรถบรรทุก รกแท็กซี่ เด็กเสิร์ฟ สาวฉันทนา พนักงานในห้าง กระเป๋ารถเมล์ หรือแม้แต่คนงานในธุรกิจทางเพศ จึงทำให้หลาย ๆ คนเสี่ยงดวงจับกล่องสุ่มโชคชะตาชีวิต ว่าตนจะได้ชีวิต ‘แบบ secret’ หรือไม่ก็อาจกลายเป็น ‘แรงงานราคาถูก’ การรีวิวกล่องสุ่มชีวิตของ ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ได้แสดงภาพและบรรยากาศการเสี่ยงดวงไว้ว่า

“คนนั่งใกล้จับโน่นลูบนี่ จะหนีก็ไม่ใช่ที่ ขัดใจเขาซิ เดี๋ยวเขาจะไม่ให้งาน 
จูบเลยต้องปล่อยเขาจูบ เอาไงเอาวา บอกแล้วฉันมาเสี่ยงดวง” 

‘มาเสี่ยงดวง’ หญิงสาวคนหนึ่งที่จนแสนเข็ญ ต้องนั่งรถเข้ามาเสี่ยงดวงในเมืองกรุง เพื่อมาจับกล่องสุ่ม และสิ่งที่ได้ก็คือ ‘การถูกลวนลาม’ ถึงแม้อยากจะหนีก็หนีไม่ได้ เพราะเธอกลัวความจนมากกว่า เลยต้องปล่อยให้เขาลวนลามลูบไล้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการเสี่ยงดวงหางานจากความรู้เท่าที่มี ด้วยเนื้อเพลงบางส่วนของ ‘สายัณห์ สัญญา’ จากบางท่อนที่ร้องว่า

“ความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป.4 ผมสัญจรจากดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ดินแดนบ้านป่า นักร้องคนซื่อที่ชื่อสายัณห์ สัญญา เป็นเด็กบ้านนอกคอกนา เสี่ยงโชคชะตา มากับเสียงเพลง”

‘นักเพลงคนจน’ เด็กหนุ่มอย่างสายัณห์ สัญญา ต้องลาจากบ้านที่สุพรรณบุรีเข้าสู่เมืองกรุง เพื่อหลีกหนีความยากจน และไร้ที่ทำกิน ด้วยการศึกษาที่น้อยจำต้องเสี่ยงโชคด้วยการร้องเพลงเลี้ยงปากท้องตน ในเพลงทั้งสองสะท้อนถึงความเสียเปรียบของต้นทุนชีวิตจากสถานภาพทางเพศและการศึกษา ทำให้คนยากจนยืนอยู่บนความเสี่ยงระหว่าง ‘ความสำเร็จ’ และ ‘ล้มเหลว’ ในการหางานทำ ทว่าในข่าวร้ายมีข่าวดีคือ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยกลไกขับเคลื่อนจากจำนวนประชากรวัยทำงานที่มีมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ และการผลิตแบบอุตสาหกรรมหนักเริ่มเข้ามาแทนที่โรงงานเก่า ที่ซึ่งพร้อมแล้ว ให้ผู้คนเข้ามาตักตวงความรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจ 

3.0 – เศรษฐกิจยุครุ่งอรุณกับชีวิตย่ำสนธยา

เศรษฐกิจเติบโต อุตสาหกรรมเปิดใหม่หลายแห่งเรียงรายไปด้วยบริษัทจากเมืองนอกทั้งจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และชาติต่าง ๆ ที่พากันตบเท้าเข้ามาประเทศไทยไม่หยุด ไม่หย่อน ภายหลังการละลายของธารน้ำแข็งในสงครามเย็นที่ปกคลุมยุโรป และภูมิภาคอินโดจีนมานานมากกว่า 3 ทศวรรษ ลมหนาวหมดไป ฟ้าเริ่มเปิด เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ อัตราการเจริญเติบโตของประเทศพุ่งปรี๊ดแบบหยุดไม่อยู่ ชนิดที่ว่าไม่เคยต่ำกว่า 5.0 อย่างต่อเนื่องยาวนาน 25 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2540 

หากจะเปรียบความรุ่งโรจน์กับชีวิตนักร้องในเวลานี้เองก็ไม่ต่างอะไรจากชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือ แม่ผึ้ง ที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพในฐานะ ‘ราชินีลูกทุ่ง’ สัญญะความสำเร็จของคนยากจนเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จและเสี่ยงดวงชีวิตชนะ ผลงานเพลงของเธอมีชื่อเสียงและใคร ๆ หลายคนก็รู้จักและร้องตามกันได้เป็นอย่างดี ผลงานในแนวเพลงจังหวะสนุก ๆ อย่าง สาวนาสั่งแฟน, ห่างหน่อยถอยนิด, อื้อฮื้อ ! หล่อจัง หรือแม้แต่ในแนวเพลงเศร้า แม่ผึ้งก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ธรรมชาติโหด’ หรือ ‘โลกของผึ้ง’ แต่บทเพลงที่หลายคนรู้จักในฐานะภาพจำแห่งชีวิตของแม่ผึ้งคือเพลง ‘นักร้องบ้านนอก’ ที่มีท่อนฮุคว่า

“เมื่อสุริยน ย่ำสนธยา จะกลับบ้านนา ตอนชื่อเสียงเรามี จะยากจะจน ถึงอดจะทนเต็มที่นักร้องบ้านนอกคนนี้ จะกล่อมน้องพี่ แฟนเพลง”

เมื่อสุริยนย่ำสนธยา การดิ้นรนและการต่อสู้ของแม่ผึ้ง หญิงสาวจากบ้านนาที่กระโจนชีวิตเข้ามาเสี่ยงดวงในเมืองกรุง ดิ้นรน ฟันฝ่าอุปสรรค จนประสบความสำเร็จ และกลายเป็นดาวค้างฟ้าของวงการเพลงลูกทุ่ง แต่โชคชะตาชีวิตอาจไม่เข้าข้างแม้ผึ้งมากพอ เธอจากไปด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง และหลังจากการอสัญกรรมของพุ่มพ่วง 5 ปี เศรษฐกิจของไทยก็เริ่มร่วงโรยจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 

แม้ว่าในช่วงเวลานั้น ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ปรับเพิ่มขึ้น แรงงานที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็สูงเพิ่มขึ้น 18 เท่าในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2513 ถึง 2542 ทว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงไม่เพียงพอให้ก้าวข้ามความจน และดิ้นรนต่อไป เหมือนดั่งชีวิตของ ‘ดอกหญ้า’ เพลงสะท้อนชีวิตคนอยากจน ขับร้องโดย ‘ต่าย อรทัย’

“หลังจากเรียนจบมอปลาย ลาทุ่งดอกคูณไสว มาอาศัยชายคาป่าปูน เอาแรงเป็นทุน สู้งานเงินเดือนต่ำต่ำ เก็บเงินเข้าเรียนภาคค่ำ ก่อความหวังบนทางเปื้อนฝุ่น”

‘ดอกหญ้า’ ถูกพัดด้วยกระแสเศรษฐกิจให้ปลิวมาตกในป่าปูน เมื่อตกมาแล้วก็ต้องทนแดด ทนลม ทนฝน ด้วยต้นทุนชีวิตที่ต่ำจึงต้องเอาแรงเป็นทุน สู้งานในเงินเดือนที่ต่ำเตี้ย ประคับประคองส่งตัวเองเรียน และอยู่รอดให้ได้ ในบางวันการเดินทางของดอกหญ้าต้องทนหนาวจากแสงนีออน หนาวกายใคร ๆ ก็พอทน แต่หนาวหัวใจหนาวนี้แสนอ้างว้างและโดดเดี่ยว หากแต่ใจดวงน้อยบอกให้สู้เพื่อทำตามความฝันและคำสัญญาของชีวิต แม้ต้องเผชิญกับความจริงที่ท้าให้ชีวิตต้องถอย ระหว่างนี้อาจทำได้เพียงหวัง หวังให้สักวันฟ้าจะเข้าข้าง จากบทเพลง ‘หนาวแสงนีออน’ ของ ‘ตั๊กแตน ชลดา’

“อยู่ห้องเช่ากินข้าวริมทาง ทำงานรับจ้างได้ตังนิดหน่อย คือความจริงที่ท้าให้ถอย แต่ใจดวงน้อยไม่ยอมไหวหวั่นความฝันและคำสัญญา ก่อนหักใจลาบ้านเราวันนั้น ความหมายไม่เคยแปรผัน ยังเชื่อสักวันฟ้าคงเข้าข้าง”

หนาวแสงนีออน ความรู้สึกของคนจนในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ การเดินทางในครั้งนี้จึงต้องใช้แรงกาย ผสมความอดทนท่ามกลางแสงไฟที่แสนหนาวเหน็บในใจ ด้วยความจริงของชีวิตและเศรษฐกิจที่ตกต่ำ กลายเป็นเหมือนกำแพงที่สูงและทอดยาวไม่รู้จบ เพื่อก้าวข้าวกำแพงนั้นไปหาความฝันและคำสัญญาของชีวิตก็แลดูเหมือนยากลำบากและริบรี่ 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเผชิญต่อจากนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีคือ เงินบริจาคจากหลวงตามหาบัว และวินัยการคลังของไทยพาชาติปลดหนี้ IMF และเกิดนโยบายที่หลาย ๆ คนรู้จักอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, บ้านเอื้ออาทร, เรียนฟรี 15 ปี, จำนำข้าว บ้างสำเร็จและบ้างก็ล้มเหลว ส่วนข่าวร้ายคือ เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และภัยพิบัติครั้งใหญ่อย่าง สึนามิปี 48, น้ำท่วมใหญ่ปี 54 

4.0 – กำลังใจแด่คนจนในยุคดิจิตอล

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มถดถอย เคราะห์ซ้ำกรรมซัดยังถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อม ๆ กับปัญหาประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ภาครัฐก็ไม่นิ่งเฉยกับปัญหาแต่อย่างใด รีบเร่งเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันด่วนสุด ๆ เช่น บัตรประชารัฐ คนละครึ่ง และล่าสุด เงินดิจิตอลวอลเลต 10,000 บาท ที่ใคร ๆ เฝ้ารอว่าจะได้ใช้เงินหมื่นไหม ซึ่งมาตราการเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาและเยียวยาเศรษฐกิจ 

ในยุคที่วิกฤตและปัญหาถาโถม ใคร ๆ ก็ต้องการการเยียวยาและบรรเทาโดยเฉพาะจิตใจ เพื่อให้มีกำลังต่อสู้กับความยากจนที่กำลังเผชิญ ขณะที่เพลงลูกทุ่งได้เข้ามาช่วยเติมเต็มในแง่กำลังใจ และอยู่เคียงข้างผู้คนที่กำลังต่อสู้กับความยากลำบาก 

“ความจน บ่อนุญาตให้เราอ่อนแอ และความพ่ายแพ้ก็บ่ได้แปลว่าต้องหมองหม่น”

ผู้หญิงหัวใจอีสาน หญิงสาวจากต่างจังหวัดที่ก้าวพ้นดินแดนอีสาน เข้ามาต่อสู้กับความลำบากอย่างไม่ย่อท้อ เพราะความจนที่เธอมีมันไม่อนุญาตให้อ่อนแอ แต่ความพ่ายแพ้ที่เธอเผชิญก็ไม่ทำให้เธอหมองหม่น เพลงนี้ขับลำนำให้ผู้ฟังได้เยียวยาจิตใจในวันที่มืดมิดเพื่อให้ ‘ไม่ยอมแพ้’ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแทบไปไม่รอด ซึ่งอาจเป็นสิ่งเดียวที่คนจนต้องพร่ำบอกตัวเองเสมอแม้จะโชคร้ายเพียงใด 

“ต่อให้มีน้ำตาหมื่นหยดมารดใจ ต่อให้ความโชคร้ายพันครั้งมาเยี่ยมยาม ต่อให้มีปัญหาร้อยปัญหามาตื่มซ้ำ หรือสิอันได๋กะตาม ลูกสิบ่ยอมบ่แพ้ แม่อย่าเป็นห่วงลูกเด้อ”

‘ลูกบ่แพ้’ อีกบทเพลงของ ‘ต่าย อรทัย’ ที่เมื่อใดได้ฟังก็มีกำลังใจต่อสู้เสมอ เพราะเพลงถ่ายทอดความรู้สึกของใครหลาย ๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาและแบกความฝันของตัวเองไว้บนบ่า แม้จะหนักเพียงใดก็ต้องสู้ต่อไป 

จากลา สู้เพื่อฝัน และกลับบ้านอีกครั้ง  

แสงไฟหลากสีสาดส่องไปทั่วเวิ้ง ผู้คนพากันกรูเข้ามาจับจองพื้นที่หน้าเวที นักร้องใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาดโดดเด่นกว่าใครบนเวที แดนเซอร์ทั้งชาย หญิง พี่กะเทย กำลังแต่งหน้าตาจนสวยหล่อ เมื่อเวลาแสดงมาถึง เหล่านักร้อง แดนเซอร์ และนักดนตรีต่างพากันเตรียมตัวขึ้นเวทีด้วยความมั่นใจ ทันที่ท่วงทำนองที่คุ้นหูเริ่มดังขึ้น ผ้าม่านก็เปิดออก 

“ละพอแต่เปิดผะม่านกั้ง [ปั้ง!] ผะม่านกั้ง [ปั้ง!] สาวหมอลำสิพาม่วน คนหนุ่มคนสาวขอเชิญชวนออกมาม่วนหน้าเวทีที๊ [กรู๊] [ไป ไป้ ไป๊] โยนทิ้งความทุกข์ความโศก ออกมาย่อมาโยก เอาความโศกทิ้งไป”

ด้วยลีลาลูกคอของนักร้อง การสะบัดลวดลายของแดนเซอร์ เสียงดนตรีที่เร่งเร้าอารมณ์ให้ใครหลาย ๆ คนออกมาเต้นหน้าเวทีจนพื้นดินมันไหง่ง่อง สร้างบรรยากาศให้ชีวิตที่เศร้าหมองจากการตรากตรำมาทั้งวันกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเมื่อการแสดงจบลง ไฟของเวทีชีวิตสว่างจ้า ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อบนเส้นทางเท่าที่ตนทำได้ ประคับประคองตนให้อยู่รอด และดิ้นรนกับความจริงต่อไป

ตลอดทุกห้วงเวลาของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง แต่เพลงลูกทุ่งยังคงถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตที่จากลาบ้านเกิด เพื่อหลีกหนีความยากจน และแร้นแค้นในต่างจังหวัด เข้ามาดิ้นรนในเมืองกรุง เพื่อแสวงหาความฝันที่แตกต่างกันไป แต่มีปลายทางของความฝันเดียวกัน คือ ‘การหลุดพ้นความยากจน’ ซึ่งคือวันนั้น วันที่ไอหนุ่มขี่หลังควายจะได้ตีตั๋วรถไฟขบวนด่วนพิศวาสขากลับ วันที่นักร้องเพลงคนจนหอบรางวัล secret จากกล่องสุ่มคนจน วันที่ดอกหญ้าได้ปลิวกลับบ้านนาไปซบแสงตะวันที่ย่ำสนธยา วันที่นั่งขอบคุณตัวเองที่มีหัวใจไม่ยอมแพ้ คือวันนั้น วันที่เราจะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวและคนรักอีกครั้ง 

 

เรื่อง: ณัฐกร คล้ายสุบิน (The People Junior)
อ้างอิง:
   คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. มติชน.
   ผาสุก พงษ์ไพรจิตร และคริส เบกเคอร์. (2546). เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. ซิลค์เวอร์ม.