30 ต.ค. 2567 | 11:36 น.
KEY
POINTS
“ผี” ในวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย
นับตั้งแต่ที่มีโรคโควิด-19 ระบาด เป็นต้นมา น่าสังเกตว่าภาพยนตร์สยองขวัญแนวผีๆ กลับมาได้รับความนิยมในสังคมร่วมสมัยอย่างมีนัยยะสำคัญ รายการเล่าเรื่องผีตามสื่อต่างๆ นิยายเรื่องผี ล้วนแต่กลับมาได้รับความนิยมเช่นกัน
หากเป็นในสังคมชนบทเมื่อราว 20-30 ปีก่อน ความนิยมเรื่องผีไม่เป็นประหลาดใจ เพราะมีรากฐานความเชื่อและภูมิปัญญาดั้งเดิม ชาวบ้านประชาชนในชนบทอยู่กับผีเป็นปกติอยู่แล้ว ผีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและหลอมรวมความเป็นชุมชนด้วยซ้ำ อันนี้ไม่ต้องอ้างนักมานุษยวิทยาท่านใดก็จะเห็นๆ กันอยู่
แต่ละหมู่บ้านมีศาลผี ริมทางถนนบริเวณโค้งที่มีอุบัติเหตุ ชุดแต่งกายย้อนยุคที่ขายดีกันนั้นส่วนหนึ่งก็คนซื้อไปให้ผี เอาไปถวายเจ้าแม่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในวัด แม้แต่เจ้าแม่ที่เพิ่งตายจากไปไม่กี่ปีมานี้ ก็ก็นิยมซื้อชุดไทยโบราณไปให้ไว้ในศาล (ไม่คิดว่าเจ้าแม่อาจจะอยากใส่สายเดี่ยว ผ่าไหล่ เผยอก เพื่อตกเจ้าพ่อที่อยู่ใกล้เคียงกันบ้าง มิน่าขออะไรถึงไม่ค่อยสมหวัง)
แต่ในสังคมเมือง ชนชั้นกลางผู้ผ่านการศึกษาในระดับชั้นมัธยม ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ไปมากมาย ดูเผินๆ เหมือนเรื่องนี้แปลกประหลาด แต่สังคมไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในเมื่อวิชาความรู้ต่างๆ เรียนไปเพื่อสอบ เพื่อจบไปหางานทำ แต่ไม่เคยได้แอพพลายวิชาความรู้ที่เรียนมาในระดับชีวิตประจำวัน แม้แต่ในมหาวิทยาลัย ก็เต็มไปด้วยศาลผี ช่วงใกล้สอบก็จะคึกคักหน่อย
“ผี” คือรูปแบบการอธิบายความตายของคนในสังคม อันนี้ใครก็รู้อีกเช่นกัน เมื่อความตายมาจ่ออยู่แค่ปลายจมูก โรคระบาดทำให้คนหวนกลับไปคิดถึงความตายกันมากขึ้น เข้าใจว่าก็ทำให้คิดถึงผีกันไปโดยปริยาย ผู้ที่จับกระแสนี้ได้ถูก ก็แน่นอนต้องเป็นคนวงการบันเทิงที่เล่นกับอารมณ์ความคิดความรู้สึกของผู้คนอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกเหนือจากเล่นกับความฝันอยากรวยของคนจนเกิดกรณีอย่างดิไอคอน
หนังผีที่ได้รับความนิยมเป็นที่พูดถึงในช่วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนมาแรงเท่า “ธี่หยด2” ต่อจากภาคแรกที่เป็นการนำเอาเรื่องเล่ามาทำแต่งเป็นนิยาย แล้วก็มาเป็นภาพยนตร์ โดยตรีมเรื่องที่มีการอ้างอิงฉากสถานที่และบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง ที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อพ.ศ.2515
พอมาเป็นภาค 2 ผู้แต่งฉบับนิยายคือ “กฤตานนท์” (กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์) ได้พยายามคงคอนเซ็ปต์เดิมอย่างการอ้างเป็นเรื่องจริง หรือสร้างขยายความต่อจากเรื่องจริง เรื่องจริงที่ว่านี้เดิมภาค 1 จบไปเมื่อแย้ม เด็กหญิงวัยมัธยมต้นเสียชีวิตไปอย่างลึกลับ แต่มาภาค 2 ที่ต้องเข้าสู่โลกของการแต่งเรื่องของจริง ผู้แต่งได้พยายามเคลมความจริงของเรื่องโดยการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่านั้นก็คือบทความเรื่อง “อำนาจผีปอบ” ในวารสาร “วชิรญาณวิเสศ” (เขียนแบบนี้ ไม่ใช่ “วชิรญาณวิเศษ”) ซึ่งเป็นวารสารสมัยรัชกาลที่ 5 ออกโดยหอพระสมุดวชิรญาณ หลัง 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ยุบหอพระสมุดนี้ไปเป็นแผนกหนึ่งของหอสมุดที่จัดตั้งขึ้นใหม่คือ “หอสมุดแห่งชาติ” ตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี สมัยนั้นยังเดินทางไปที่นั่นด้วยเรือ เลยนิยมเรียกกันว่า “หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี” แต่ภายหลังมีการตัดถนนผ่านหลังหอสมุด แล้วสลับปรับเปลี่ยนหน้าหอสมุดเป็นหลังหอสมุดแทน เลยเรียกตามชื่อย่านที่ถนนตัดผ่านคือ “หอสมุดแห่งชาติเทเวศร์”
ในบทความ “อำนาจผีปอบ” ได้มีการกล่าวถึง “ตาพวง” ชายพเนจรจากอุตรดิตถ์เมื่อมาอยู่ในกรุงแล้ว ผู้คนเกิดล้มป่วยตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ เลยมีความเชื่อว่ามีผีปอบอยู่ในชุมชน ตาพวงที่มาอยู่ใหม่ก็จึงตกเป็นผู้ต้องสงสัย ชาวบ้านพากันไปเผากระท่อมและขับไล่ไป การณ์นี้พระภิกษุก็ร่วมแจมกับชาวบ้านด้วย แล้วเรื่องของตาพวงก็หายไป ไม่มีใครพบเห็นหรือกล่าวถึงอีก
“ตาพวง” จะใช่ผีปอบจริง ดังที่คนกรุงสมัยนั้นเชื่อหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ที่แน่ๆ ผลจากนวนิยายและหนัง “ธี่หยด2” ที่มีการผูกเรื่องให้ยักษ์พาพรรคพวกเดินทางจากอุตรดิตถ์ไปล่าผีปอบถึงในป่าดงโขมด ในอ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ กำลังนำมาสู่ความเชื่อว่า ตาพวงเป็นผีปอบคนแรกที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สื่อหลายฉบับเล่นกันแบบนั้น จั่วหัวเรื่องมาแบบนั้น เมื่อแรกผู้เขียนเห็นก็แบบ “เอิ่ม...” (ขอให้นึกถึงหน้าแมวเวลามันเซ็ง) มันใช่หรอวะออเจ้า...
บทความนี้เลยจะขอพาท่านผู้อ่านท่องไปในโลกของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยว่ามีกล่าวถึง “ผี” ยังไงไว้บ้าง ก่อนจะวกกลับมาสรุปและตอบคำถามค้างคาใจกันอีกทีว่า ในท่ามกลางความเชื่อเก่าแก่โบราณของผีไทยนั้นแท้ที่จริงแล้ว “ตาพวง” ในวชิรญาณวิเสศ ใช่ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นปอบคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยจริงหรือ?
ดังที่ทราบกันดีว่า ความเชื่อเรื่องผีเป็นความเชื่อเก่าแก่มีมาในสังคมอุษาคเนย์นมนานกาเล ก่อนความเชื่อศาสนาที่พัฒนาให้ “ผี” เลื่อนสถานะไปเป็น “เทพ” และจากศาสนาเทพ ก็นำไปสู่ศาสนาใหม่ที่มาจากการปฏิรูปศาสนาเทพ เกิดเป็นศาสนาแบบด้อยค่าเทพ (พุทธน่ะไม่ใช่ “อเทวนิยม” อย่างที่เขาหลอกลวงกันมาหรอกนะ ไม่งั้นจะยังมีพระอินทร์ พระพรหม พระวิษณุ ฯลฯ กันเยอะแยะ ทำปร่ะอะไร พุทธแค่บอกว่าเทพยังไม่สิ้นกิเลส และไม่ยั่งยืน ประเดี๋ยวหมดบุญก็ต้องลงมาเวียนว่ายตายเกิดอีก)
“ผี” เป็นความเชื่อที่มีมาก่อนศาสนา และเมื่อเกิดศาสนาแล้ว ผีก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงมีบทบาทและความสำคัญต่อศาสนาเรื่อยมา เพราะศาสนาผียังมีความโดดเด่นในด้านการอธิบายความตาย ปัญหาว่าตายแล้วไปไหน เป็นปัญหาคลาสสิคที่คนอยากรู้ แต่จะไปถามใครได้ ศาสนาใหม่ที่เกิดในรอบพันปีต้นๆ เทียบไม่ได้เลยกับศาสนาผีที่บางแห่งอยู่มาหลักหมื่นปีในอารยธรรมโลกสากล และดูเหมือนว่าศาสนาใหม่ (พราหมณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม) ต่างก็ยังต้องคงผีเอาไว้ และใช้ประโยชน์จากความกลัวของคนที่มีต่อสิ่งอธิบายไม่ได้ (แต่ก็อธิบายกันไปเยอะ) อย่าง “ผี” นี้
“ผี” ยังคงอยู่ในจักรวาลวิทยาของทุกศาสนา ของพุทธที่เด่นชัดเลยก็คือใน “ไตรภูมิพระร่วง” ที่เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือกษัตริย์พระนามว่า “พญาลิไท” หรือ “สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท” ต่อมามี “ไตรภูมิฉบับพระมาลัย” แต่งสมัยอยุธยา และ “เตภูมิกถา” แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังมีสมุดภาพเล่าเรื่องไตรภูมิหรือ “สมุดภาพไตรภูมิ” เหลือตกทอดมาไม่กี่ฉบับ เป็นฉบับสมัยอยุธยาและธนบุรี
ส่วนฉบับรัตนโกสินทร์ ไม่พบ หรืออาจไม่ได้สร้างสมุดภาพแบบนี้แล้ว เนื่องจากอิทธิพลของแผนที่ภูมิศาสตร์แบบสมัยใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นไตรภูมิก็ปรากฏให้เห็นมากในหลักฐานประเภทจิตรกรรมภาพฝาผนังตามโบสถ์วิหารต่างๆ ทั่วทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง
“ผี” ที่ถูกพูดถึงมากก็คือ “ผีเปรต” เพราะเป็นผีลักษณะประหลาดผิดมนุษย์ หมดสิ้นอิทธิฤทธิ์ ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในขุมนรก นานๆ ทีพระยมจะปล่อยให้ออกมารับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้ เปรตที่ดังๆ ก็ “เปรตวัดสุทัศน์” เป็นภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถ ถึงกับมีคำขวัญอันเป็นสรุปย่อสำหรับกรุงเทพฯ ที่ว่า “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” เป็นต้น
“ผี” ไม่ได้มีแต่ในขนบความเชื่อไทย มีทั่วไปในอุษาคเนย์ ลาวเรียกว่า “แถน”, จีนใต้และเวียดนามเหนือเรียก “แมน”, พม่าเรียก “นัต”, เขมรเรียก “โขมด”, มลายูเรียก “ญิน”, ชวาเรียก “ปอนเตียนัค”, ฟิลิปปินส์เรียก “ติวาทาส” เป็นต้น
ปล. อาจารย์อภิลักษณ์ (ผศ. ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล) กำลังจะมีผลงานวิจัยเรื่อง “ผีอาเซียน” ก็ลองติดตามอ่านกันดูว่า ผีเป็นความเชื่อร่วมกันของชาวอุษาคเนย์อย่างไร ในส่วนของผู้เขียนนอกจากไทย ลาว และเขมร แล้วที่อื่นไม่ค่อยรู้
สมัยสุโขทัย ผู้คนมีความเชื่อเรื่องผีเช่นกัน นอกจากที่จะเห็นจากวรรณกรรมที่เชื่อกันว่าแต่งสมัยสุโขทัยอย่าง “ไตรภูมิพระร่วง” ที่กล่าวถึงไว้แล้วนั้น ยังมีปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) กล่าวถึง “พระขพุงผี” เป็น “ผีหลวง” หรือ “ผีผู้ใหญ่” ที่สิงสถิตอยู่บนยอดเขาหลวง ซึ่งถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง
ชื่อ “พระขพุงผี” คำว่า “ขพุง” หมายถึงอะไร ไม่รู้ความหมาย ได้แต่สันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา และจากที่จารึกบอกว่า เป็นผีที่สถิตอยู่เหนือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง จึงมีการเทียบเคียงกับ “พระยาแถนหลวง” ผู้สถิตอยู่เหนือพูสีของหลวงพะบาง ล้านช้าง หรืออย่าง “ผีเข็ญหลวง” บนดอยตุง ของล้านนา หรืออย่าง “นัตหลวง” ที่สถิตอยู่เหนือเขาโปปาในพุกาม คือเป็นผีบรรพบุรุษ ทำนองเป็นผู้เถ้าผู้แก่คนแรกที่สร้างบ้านแปงเมือง เมื่อตายไปก็กลายเป็นผีอารักษ์ประจำเมืองอยู่บนยอดเขาสูงสุดของเมือง ในอินเดีย ผีแบบนี้เขยิบเลเวลกลายไปเป็นเทพคือ “พระศิวะ” ผู้สถิตอยู่เหนือเขาไกรลาส
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบบนยอดเขาเหนือเขาหลวง สุโขทัย กลับไม่ใช่รูปเคารพผีผู้ชาย เป็นรูปเคารพผีผู้หญิงเรียกว่า “พระแม่ย่า” พบอยู่บนยอดสูงสุดของเขา หากใครไปเที่ยวเดินขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.สุโขทัย จะพบมียอดเขาสูงสุดตระหง่านแลเห็นสวยงามจากบริเวณที่กางเต็นท์นั้นคือยอดเขาชื่อ “เขาแม่ย่า” เป็นชื่อที่ตั้งตามรูปเคารพที่พบบนยอดเขาแห่งนั้น ปัจจุบันรูปเคารพนี้ถูกเคลื่อนย้ายลงจากเขา ชาวบ้านตั้งศาลเคารพอยู่ในอ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เข้าใจว่ายอดเขาอีกแห่งที่แลเห็นจากบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งอยู่อีกฝั่งคู่กับเขาแม่ย่านั้น เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระขพุงผีที่สูญหายไป
“พระขพุงผี” กับ “พระแม่ย่า” ไม่ใช่ผี 2 ตนของสุโขทัย ยังมีผีอื่นๆ ประจำอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อีก อย่างน้อยๆ ก็มี “ผีปู่จา” อยู่ที่เขาปู่จา ในอ.คีรีมาศ ไม่ไกลจากเขาหลวง และอันที่จริงก็เป็นแนวเขาลูกเดียวกัน เพียงแต่เขาปู่จาเป็นเขาเตี้ยๆ อยู่ใกล้กับชุมชนมากกว่า เขาปู่จาเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน “ปรางค์เขาปู่จา” มีลักษณะเป็นปราสาทเขมรโบราณ เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เก่าแก่กว่าปราสาทที่วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง และวัดศรีสวาย ซึ่งเป็นโบราณสถานประเภทปราสาทเขมรด้วยเหมือนกันแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
“ปรางค์เขาปู่จา” ไม่ใช่ที่เดียวที่มีการสร้างศาสนสถานแบบปราสาทเขมรขึ้นทับลงบนสถานที่พิธีกรรมเดิมของศาสนาผี แม้แต่อย่างเขาพระวิหาร เขาพนมรุ้งที่ จ.บุรีรัมย์ เขาน้อยสีชมพูที่จ.สระแก้ว พนมบาแค็งที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ต่างก็เป็นการสร้างเทวสถานพราหมณ์ขึ้นสวมทับสถานที่พิธีกรรมเดิมของศาสนาผีบรรพชน
ความคิดคนโบราณมักเคารพธรรมชาติป่าเขา ให้ความสำคัญและนับถือธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในธรรมชาติ ฉะนั้น ต้นไม้ แม่น้ำ ป่าเขา ทะเล ล้วนมีเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือเทพปกปักรักษาอยู่ เป็นความเชื่อที่มีท่านนักวิชาการพูดกันมามากแล้ว มีผลต่อลักษณะการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เน้นความอ่อนน้อมถ่อนตนและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ยังไม่เกิดแนวคิดว่ามนุษย์จะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้
แม้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 จะยังเป็นปัญหาในการกำหนดอายุ ด้วยมีข้อโต้แย้งจากนักประวัติศาสตร์ว่าอาจไม่ใช่ของที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย เหมือนอย่างที่นักวิชาการของกรมศิลปากรกับกระทรวงศึกษาธิการชี้ชวนให้คนเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องผีมีในสมัยสุโขทัยด้วยแน่ อาจารย์ธิดา สาระยา เคยสรุปย่อ 3 สิ่งที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตตลอดจนการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมของคนสุโขทัยว่าเป็นสังคมที่อาศัย 3 สิ่งเพื่อดำรงตัวตนคือ “พลังคน-อำนาจผี-บารมีพระ” คือมี คน, ผี, พระ คู่กัน
ปล. กล่าวเช่นนั้นอาจารย์ธิดาไม่ได้หมายความว่า สมัยสุโขทัยมี “ผี” หมายถึงว่าสุโขทัยมีความเชื่อเรื่องผีกันมาก จนเกิดเป็นที่มาของแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต
สมัยอยุธยา หลักฐานประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึง “ผี” จะมีมากกว่าสุโขทัยหน่อย เพราะเป็นยุคที่หลงเหลือบันทึกลายลักษณ์อักษรมาก เฉพาะพระราชพงศาวดารที่ถึงแม้จะมีไม่มากเมื่อเทียบกับหลักฐานประเภทอื่น พระราชพงศาวดารซึ่งย่อมาจาก “วงศ+อวตาร” เดิมทีหมายถึงลำดับวงศ์กษัตริย์สืบสายมาในลักษณะเป็นผู้อวตารตามความเชื่อ กล่าวคือเป็นหลักฐานที่มีที่มาจากความเชื่อตั้งแต่แรก
นอกเหนือจากความเชื่อเรื่องเทพ เพราะเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการนำเสนอภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพ ก็มีความเชื่อเรื่องผีปะปนอยู่ด้วย ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 จนถึงหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาไปเมื่อพ.ศ.2310
พระราชพงศาวดารทั้งฉบับก่อนและหลังชำระ ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา เอาไว้แห่งหนึ่งเกี่ยวกับช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพก่อนจะเสด็จสวรรคตในทำนองว่า ทรง “เห็นผี” ดังนี้:
“ศักราช 749 ปีเถาะนพศก (พ.ศ.1930) สถาปนาวัดภูเขาทอง เพลาเย็นเสด็จไปพระที่นั่งมังคลาภิเษก ท้าวมลซึ่งตายแต่ก่อนนั้นมานั่งขวางทางเสด็จอยู่แล้วหายไป สมเด็จพระราเมศวรบรมบพิตร ก็เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 6 ปี”
มีข้อสันนิษฐานว่า “ท้าวมล” น่าจะเป็นชื่อที่เกิดจากการคัดลอกตัวบทผิดเพี้ยนมาจาก “เจ้าทองลัน” หรือไม่ก็เป็นอีกพระนามของพระเจ้าทองลัน เยาวกษัตริย์ผู้ซึ่งถูกสมเด็จพระราเมศวรสั่งปลงพระชนม์ไปในการรัฐประหารยึดอำนาจของพระองค์ พระเจ้าทองลันเป็นกษัตริย์อยุธยาพระองค์แรกที่มีหลักฐานถึงการใช้บริการท่อนจันทน์ที่โคกพระยา จึงอาจเป็นเรื่องปมลึกๆ ในพระทัยที่การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ต้องนำเอาตัวเด็กไปประหารชีวิต
อยุธยามีโบราณสถานนอกการท่องเที่ยวอยู่แห่งหนึ่งชื่อ “วัดโคกพระยา” เป็นวัดร้างอยู่กับชุมชนริมคลองสระบัว ก็มีเรื่องเล่าในชุมชน มีบางคนเคยเห็นผีเด็กแต่งชุดไทย สายมูและคนทรงเจ้าเข้าผีที่รู้ประวัติศาสตร์มาบ้าง ก็พากันสมอ้างว่าผีเด็กที่ว่านี้คือพระเจ้าทองลัน ผู้มีบุญได้อยู่ในเศวตฉัตรเพียง 7 วัน ซึ่งก็เป็นเรื่องเล่าที่พาให้ชาวชุมชนในละแวกย่านวัดดังกล่าวนี้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พระองค์เป็นประจำทุกปี
แต่ในทางประวัติศาสตร์ วัดโคกพระยาที่ว่านี้จะใช่สถานที่เดียวกับสถานที่ประหารเจ้านายผู้ถูกยึดอำนาจตามพระราชพงศาวดารจริงหรือไม่ เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาถกเถียงกันอยู่ แต่สายมูกับคนทรงเจ้าเข้าผี ก็พากันฟันธงเชื่อกันไปแล้วเรียบร้อย
อนึ่ง โดยตัวมันเอง สภาพที่เห็นของอยุธยาที่มีซากปรักหักพังประเภทเป็นเจดีย์ร้างมากมายนั้น ก็เป็นสิ่งบ่งบอกอยู่แล้วว่า คนอยุธยามีความเชื่อเรื่องผีกันแบบ “ตึงจัด” ขนาดไหน เพราะเจดีย์ไม่ใช่แค่ของสร้างทำมาเพื่ออวดรวยธรรมดา หากแต่เป็นที่เก็บอัฐิบรรพชนผู้ล่วงลับ ถ้าไม่มีความเชื่อเรื่องผีหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับผี จะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร จริงมั๊ยออเจ้า?
อย่าว่าแต่ชาวบ้านสามัญชน เพราะชนชั้นนำสมัยก่อน ก็ให้ความสำคัญกับ “ผี” มาก ใน “โองการแช่งน้ำ” ซึ่งเป็นบทอ่านสำหรับพราหมณ์ในพิธีถือน้ำพระพัทธ์ (ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงให้เปลี่ยนมาเรียก “พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” และใช้มาจนถึงปัจจุบัน) หรือก็คือบทสวดเพื่อสาปแช่งผู้ที่ทรยศเป็นขบถต่อพระเจ้าอยู่หัว ให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา เนื้อหาส่วนสำคัญเลยก็คือการเรียกผีบรรพชนของราชวงศ์นั้นๆ มาเป็นสักขีพยานว่า ถ้าผู้ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่จงรักภักดีแล้วจะต้องมีอันเป็นไป (สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)
“น้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ว่านี้ก็มีประเพณีให้ไปตักเอาจากแหล่งน้ำบ้านเดิมของราชวงศ์กษัตริย์พระองค์นั้นๆ เช่น ราชวงศ์ลพบุรีก็ไปตักน้ำมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เมืองลพบุรี ถ้าเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิก็ส่งคนไปตักเอาน้ำจากเมืองสุพรรณบุรี ถ้าเป็นราชวงศ์พระร่วงหรือราชวงศ์สุโขทัย ก็ให้คนไปตักเอาน้ำจากเมืองศรีสัชนาลัยหรือที่พิษณุโลก เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผีอารักษ์ประจำแหล่งน้ำซึ่งเป็นผีบรรพชนของกษัตริย์ผู้ได้ราชสมบัตินั้นตามมา “ปักหมุด” เอากับผู้ที่ดื่มน้ำสาบานตนดังกล่าวนี้
นอกจากหลักฐานพิธีกรรมและพระราชพงศาวดาร หลักฐานประเภทตำนานก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีมาก อาจเรียกได้ว่าตำนานเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีกล่าวถึง “ผี” มากกว่าหลักฐานประเภทอื่นด้วยซ้ำ เพราะเป็นหลักฐานที่บอกเล่าถึงความเชื่อในพื้นบ้านพื้นเมือง เป็นหลักฐานที่สะท้อนแนวคิดและมุมมองของไพร่บ้านพลเมืองโดยตรง
ถึงแม้ว่าจะมีธรรมเนียมการอ้างอิงว่าพระเจ้าแผ่นดินทรง “สวรรคต” หรือ “เสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์” (ชั้นดาวดึงส์หรือชั้นใดก็ตาม) แต่ในพื้นบ้านพื้นเมือง ก็มีอีกธรรมเนียมคู่ขนานกัน เล่าว่ากษัตริย์บางองค์ยังคงวนเวียนอยู่ ไม่ได้ไปสวรรค์ชั้นไหน ยิ่งองค์ที่ “ป๊อปปูล่าร์” ยิ่งมีธรรมเนียมที่ให้พระองค์ยังทรงเป็นผีที่สถิตย์อยู่ตามสถานที่สำคัญ เป็นที่มาของการสร้างสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ รวมทั้งการสร้างศาลเคารพที่ปรากฏมากในชั้นหลัง (น่าสังเกตด้วยว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างใหม่ก็มีฟังก์ชั่นทำนองเดียวกันนี้)
ในจำนวนนี้ดูเหมือนพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ มีศาลและรูปเคารพของพระองค์ตั้งอยู่เป็นอันมากทั้งในอยุธยาและเมืองอื่นๆ (ในอยุธยา อดีตกษัตริย์ที่มีอนุสาวรีย์และศาลเคารพมากที่สุดคือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ รองลงมาคือสมเด็จพระนเรศวร)
ในจำนวนนี้ “พระเจ้าอู่ทอง” หรือบางท้องถิ่นเรียก “ท้าวอู่ทอง” มักได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นกษัตริย์ในตำนาน มีเนื้อเรื่องที่สามัญชนสามารถปรุงแต่งเข้ากับขนบของแต่ละชุมชน ในอยุธยา “พระเจ้าอู่ทอง” เคยเป็นผีที่ซุกซนทำสาวแก่แม่หม้ายตั้งครรภ์เป็นประจำ ถ้านางใดเกิดท้องก่อนแต่ง หรือพลาดพลั้งไปเที่ยวงานวัดกลับดึกๆ ดื่นๆ แล้วฝันเห็นพระเจ้าอู่ทองมากระทำมิดีมิร้ายกับตน พอตั้งครรภ์ก็ถือว่าเป็น “ลูกพระเจ้าอู่ทอง” ก็เกิดเป็นที่ยอมรับกันในชุมชน
กระแสความนิยมต่อพระเจ้าอู่ทองในทำนองนี้เกิดมีหนักขึ้นภายหลังจากที่มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นที่ริมบึงพระราม ข้างพระบรมมหาราชวังกรุงเก่า แล้วเสร็จเมื่อพ.ศ.2513 เมื่อเกิด “ลูกพระเจ้าอู่ทอง” มากเข้า ฝ่ายศาสนาและทางการบ้านเมืองทนไม่ไหว ไม่อาจปล่อยให้ผีพระเจ้าอู่ทองออกมาเล่นสนุกซุกซนตามบ้านเรือนราษฎรอีกต่อไป ก็เลยเรียกหมอผีพราหมณ์มาทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณไปกักขังไว้ ณ อยุธยามหาปราสาท กลางบึงพระราม ตั้งแต่นั้นมาสาวใดท้องก่อนแต่งก็มีอันไม่อาจอ้างว่าได้ “ถวายงาน” แก่พระเจ้าอู่ทองอีกต่อไป
สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงเป็นที่นิยมเช่นกัน แต่เน้นหนักในหมู่เจ้านายเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนาง มีการสร้างรูปเคารพประดิษฐานไว้ที่ข้างปราสาทพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ทำนองเดียวกับ “ปราสาทพระเทพบิดร” ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาววังมีธรรมเนียมไปเซ่นไหว้รูปพระนเรศวร ก่อนจะไปเข้าพิธีถือน้ำพระพัทธ์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อถึงช่วงก่อนเสียเวลาจวนจะเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 มีเรื่องเล่าว่ารูปพระนเรศวรนี้ได้กระทืบพระบาทเสียงดังสนั่นทั่วทั้งพระราชวัง เนื่องจากทรงเป็นอดีตกษัตริย์มีโปรไฟล์ว่าเคยรบชนะพม่ามาก่อน ก็เลยอาจทำให้ชาววังจำนวนหนึ่งระลึกถึงพระองค์เมื่อพม่ายกทัพมาปิดล้อมพระนคร
“ผีกษัตริย์อยุธยา” ยังมีอีกต่อมาเมื่อหลังจากเกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ไปแล้ว มีเรื่องเล่าปรากฏในพระราชพงศาวดาร (ฉบับชำระ) ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชนะศึกปราบสุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้นมาใหม่ๆ หมาดๆ แล้วเสด็จตรวจดูสภาพความเสียหายของพระนคร ค่ำวันหนึ่งเสด็จมาปลูกพลับพลาประทับแล้วบรรทมหลับอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืนในพระบรมมหาราชวัง แล้วเกิดพระสุบินนิมิต (ฝันบอกเหตุ) ว่ามีผีอดีตกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยามาไล่ไม่ให้อยู่ รุ่งเช้าจึงเรียกประชุมเหล่าขุนศึกขุนนางคิดอ่านย้ายเมืองหลวงจากอยุธยาไปเป็นธนบุรี
ตรงนี้จึงนับได้ว่า “ผี” มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงยิ่ง เพราะไม่อย่างนั้น อยุธยาก็คงยังจะได้เป็นเมืองหลวงอยู่ และถ้าไม่ได้ย้ายมาเป็นกรุงธนบุรี ก็อาจไม่ได้ย้ายต่อมาเป็นกรุงเทพฯ แต่ก็นั่นแหล่ะเรื่องนี้ผู้เขียนเคยตรวจสอบพระราชพงศาวดารแล้วก็พบว่า เรื่องนี้มีอยู่แต่ในฉบับหลังชำระในต้นรัตนโกสินทร์ ฉบับสมัยธนบุรีไม่ได้เล่าเรื่องนี้ไว้เลย เรื่อง “ผีกษัตริย์อยุธยา” จึงอาจเป็นเพียงการ “ใส่ความ” ของผู้ชำระพระราชพงศาวดารที่เป็นฝ่ายชนชั้นนำรัตนโกสินทร์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ผู้ถูกยึดอำนาจว่าเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้รับการยอมรับนับถือถึงกับถูกขับไล่โดยกษัตริย์อยุธยาเป็น “ผี” มาไล่ไม่ให้อยู่ด้วยตนเอง
ยิ่งในหลักฐานประเภทวรรณคดี ยิ่งไม่ต้องพูดถึง มี “ผี” อยู่ในนั้นเยอะเป็นปกติธรรมดา ที่เด่นๆ ก็เช่น ใน “ขุนช้างขุนแผน” วรรณคดีที่นำเอาเรื่องเล่าในสมัยอยุธยา มาดัดแปลงแต่งเติมเสริมต่อในสมัยรัตนโกสินทร์ ขุนแผนตีเมืองเชียงใหม่ได้โดยใช้มนต์เรียก “กองทัพผี” มาช่วย และ “ขุนแผนสท้าน” (ที่ตอนหลังมีคนเติมว่า “ขุนแผนแสนสะท้าน”) ก็เป็นชื่อตำแหน่งราชทินนามของขุนนางพิธีกรรม หมอผีในพิธีตัดไม้ข่มนามก่อนออกศึก
“กองทัพผี” เป็นที่มาของการตั้งศาลอารักษ์หลักเมืองหรือ “ศาลหลักเมือง” สำหรับป้องกันกองทัพผีของข้าศึกศัตรูที่ยกมาบุก ทำนองป้องกันคนแบบขุนแผนนั่นแหละ เพราะกรุงเทพฯ มีหมอผีอย่างขุนแผนได้ ที่ไหนบ้านเมืองอื่นจะไม่มีคนดีมีวิชาการ (ไสยศาสตร์) แบบเดียวกัน ทั้งนี้การสร้างเมืองในรุ่นธนบุรีเป็นต้นมา สิ่งอันเป็นหลักเป็นประธานของบ้านเมืองอย่างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ไม่อาจสร้างได้ทันการใช้งาน คนจีนซึ่งเป็นชนชั้นนำสยามสมัยนั้นจึงเริ่มนำเอาขนบการสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มาเป็นส่วนสำคัญของการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่
เนื่องจากเชื่อว่า “ผี” มีอิทธิฤทธิ์ต่อคน จึงถูกนำไปใช้อธิบายเกี่ยวกับอาหารการกินและความเจ็บไข้ได้ป่วยของคน ตำรายาโบราณจึงมีมักระบุว่าหากเป็นโรคประหลาดรักษาไม่หายแล้ว ก็ต้องเป็นอาการของคนถูกผีเข้าสิง เพราะยาทางโลกย์รักษาคนได้ แต่ไม่มีผลกับผี อีกทั้งยังเชื่อว่า “ผี” มีอำนาจสามารถทำให้คนเจ็บป่วยจนล้มตายได้ โดยเฉพาะ “ผีห่า” ซึ่งเป็นที่มาของ “โรคห่า” หรือ โรคระบาดในระดับชุมชน
ความเชื่อนี้เป็นกันเอามาก เมื่อเกิดโรคอหิวาต์ระบาดหนักในสมัยรัชกาลที่ 2 ชาวเมืองมีความเชื่อว่าเป็นเพราะ “ผีห่า” บุกเข้าเมืองแบบในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ทำนองมีคนดีมีวิชาการร่ายมนต์สั่งผีให้มาบุกเมือง ราชสำนักรัชกาลที่ 2 จึงต้องจัดการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเรียกความเชื่อมั่นของผู้คนให้กลับคืนมาโดยการจัดให้มีการ “ยิงปืนใหญ่ไล่ผี” เสียยกใหญ่
เหตุการณ์นี้ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ถ้ามองจากมุมมองแนวคิดคนสมัยใหม่ อาจจะรู้สึก “อิหยังวะ” เพราะคนป่วยไข้จะไปยิงปืนใหญ่เสียงดังตูมตามแล้วจะหายดี เป็นไปบ่ได้หนา แต่หากมองจากความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้นก็ต้องบอกว่าที่ราชสำนักรัชกาลที่ 2 ให้ทำเช่นนั้นก็มีเหตุและผลของเขาอยู่
ต่อมาการยิงปืนใหญ่ไล่ผีได้ถูกยกเลิกไป ไม่ปฏิบัติอีกในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ เริ่มคับคั่งไปด้วยชาวต่างชาติจะฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงแรกเริ่มต้นของการเข้ามาของการแพทย์แผนตะวันตกสมัยใหม่ ซึ่งมี “หมอบรัดเลย์” (Dan Beach Bradley) และมิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ การปลูกฝี-ทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้
ด้วยความที่ “ผี” มีปรากฏในหลักฐานเป็นอันมาก เป็นธรรมดาเพราะสัมพันธ์กับความเชื่อของคนในอดีต เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเชื่อกันเรื่อยมา จะสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี หรือรัตนโกสินทร์ ต่างก็ไม่เคยขาดแคลน “ผี” มีในบันทึกประวัติศาสตร์ตลอดจนร่องรอยหลักฐานเกี่ยวข้องเป็นอันมาก
คำถามคือ “ตาพวง” ที่เพิ่งปรากฏชื่อในวารสารวชิรญาณวิเสศ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็น “ผีปอบ” คนแรกที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยจริงหรือ???
ผู้เขียนก็ขอตอบแบบยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ณ ที่นี้เลยว่า “ไม่ ไม่ ไม่ และไม่”
เพราะในหลักฐานอื่นที่เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มี “ผีปอบ” น่ะสิ!!!
ตัวอย่างก็เช่น “พระไอยการลักษณะรับฟ้อง” ในกฎหมายตราสามดวง มีบทหนึ่งกล่าวถึงผีเอาไว้ดังนี้:
“อนึ่งเปนสัจว่าเปนฉมบจะกละกะสือ แลมาฟ้องร้องเรียนแก่มุขลูกขุนก็ดี แลราษฎรผู้ต้องคะดีมีถ้อยคำตัดฟ้อง ๒๐ ประการนี้ท่านให้มุขลูกขุนพิภากษาตามบทพระไอยการพระราชกฤษฏีกา”
คำว่า “กะสือ” นั้นคือ “กระสือ” ตรงกัน ไม่ต้องแปล เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ยังใช้คำนี้กันมาเท่าทุกวันนี้ แต่คำว่า “ฉมบ” เป็นคำเดียวกับ “ชมบ” หรือ “ทมบ” ในภาษาเขมร แปลว่า “ผีปอบ”
ส่วนคำว่า “จะกละ” มีผู้รู้อธิบายว่าคือ “ผีกะ” คำภาษาล้านนา “ผีกะ” ก็หมายถึง “ผีปอบ” ประเภทหนึ่งเหมือนกัน
“ปอบ” กับ “กระสือ” เป็นผีคู่กัน มีอย่างหนึ่ง ก็มีอีกอย่างหนึ่งควบคู่กัน “ปอบ” เป็นผีที่ไม่มีร่างเป็นของตัวเอง ต้องสิงสู่ร่างคนอื่น “กระสือ” มีแต่ต้องถอดหัวหรือแปลงกายเป็นอย่างอื่น ไปกระทำการ แต่ทั้งคู่เหมือนกันอยู่ตรงที่เป็นผีที่มีลักษณะอาการเกี่ยวข้องกับการกินที่ไม่ปกติ
ล้านนาก็มีหลักฐานกล่าวถึง “ผีกะ” กับ “กระสือ” อย่างใน “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์” เอกสารบันทึกการตัดสินคดีความของล้านนาโบราณ มีคดีหนึ่งจั่วหัวข้อไว้ว่า “นางบัวหล้าแปลงเป็นกระสือแล้วถูกฆ่าตาย” ตรงกับ พ.ศ. 2015 (รัชสมัยพระเจ้าติโลกราช)
กฎหมายตราสามดวงคือกฎหมายชุดที่รัชกาลที่ 1 ทรงให้รวบรวมและชำระใหม่ (ในบางมาตรา) จากกฎหมายเก่าที่หลงเหลือตกทอดมาจากสมัยอยุธยา นั่นหมายความว่า “พระไอยการลักษณะรับฟ้อง” นี่ก็มีเค้ามาจากกฎหมายสมัยอยุธยา และก็ดูจะพ้องกับลักษณะกฎหมายของเพื่อนบ้านข้างเคียงยุคเดียวกันอย่างล้านนา
ถามว่าทำไมมีคำเรียกผีในภาษาเขมรกับล้านนาอยู่ในอยุธยา? คำตอบง่ายนิดเดียว ก็อยุธยาเป็นสังคมเมืองท่านานาชาติ (Cosmopolitan society) มีหลากหลายชนชาติพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับแบบ “ร้อยพ่อพันธุ์แม่” รวมทั้งมีชุมชนชาวเขมรที่อพยพมาจากกัมพูชา และมีชาวยวนหรือ “โยนก” มาจากล้านนา ตั้งถิ่นบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นอันมาก คำเรียกกันในภาษาเขมรและล้านนาจึงปะปนกับภาษาถิ่นอยุธยาที่มีรากมาจากชนกลุ่มอื่นๆ
น่าสังเกตด้วยว่า ทั้งอยุธยาและล้านนาต่างต้องมีกฎหมายรองรับสำหรับกรณีที่จะมีคนฟ้องร้องกล่าวหากันว่าเป็น “ปอบ” หรือ “กระสือ” ก็สะท้อนว่าคนในอยุธยาและล้านนาต่างมีความเชื่อเรื่องผีแบบดังกล่าว และตุลาการก็คงมีวิธีการพิสูจน์หรือตัดสินคดีความประเภทนี้
โดยมากผู้ที่ถูกกล่าวหามักจะเป็นผู้หญิง อย่างกรณีนางบัวหล้าสมัยพระเจ้าติโลกราช มีน้อยครั้งที่จะเป็นผู้ชายเป็นผู้ถูกกล่าวหา อย่างกรณี “ตาพวง” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีคำอธิบายอย่างอื่น นอกจากข้อสันนิษฐานกว้างๆ ว่า เพราะ “ผี” เป็นระบบการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมชุมชนอย่างหนึ่ง
ผู้หญิงในสังคมวัฒนธรรมอุษาคเนย์ (โดยเฉพาะที่ยังโสดหรือตกพุ่มหม้าย) ก็มักเป็นที่จับจ้องและถูกควบคุมพฤติกรรมในนามศีลธรรม และดั้งเดิม “ผี” ก็เป็นระบบความเชื่อของสังคมที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่มาก่อน ดังนั้นการควบคุมผี ก็จึงเท่ากับควบคุมพลังอำนาจพิเศษของผู้หญิงโดยระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ไปด้วยในตัวนั่นเอง
จากการสำนักวิทยบริการ หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเอาวารสารวชิรญาณวิเสศ มาสแกนลงเผยแพร่ไว้ในเวบไซต์ของหอสมุด (https://library.car.chula.ac.th/) และที่สำคัญจากที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินการตีพิมพ์วารสารวชิรญาณวิเสศขึ้นใหม่อีกครั้งโดยรักษาต้นฉบับเดิมเอาไว้อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เมื่อพ.ศ.2555 ทำให้วารสารเก่าแก่นี้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะ
ธนพงศ์ จิตต์สง่า ผู้ศึกษากิจกรรมที่เกิดขึ้นในหอสมุดพระวชิรญาณระหว่าง พ.ศ.2424-2448 โดยเฉพาะการจัดพิมพ์ “หนังสือวชิรญาณ” กับ “วชิรญาณวิเสศ” พบว่าหอสมุดวชิรญาณเป็นสโมสรของชนชั้นนำ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในหอสมุดแสดงถึงการรับวัฒนธรรมจากตะวันตกของชนชั้นนำ ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ การสะสมและรวบรวมเอกสาร หนังสือ ตำราตัวเขียนต่างๆ ส่วนการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก มีทั้งการศึกษาแบบตะวันตก การอ่านหนังสือด้วยตนเอง และการท่องเที่ยว
ผลของการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำปรากฎในหนังสือวชิรญาณและหนังสือวชิรญาณวิเศษ ความรู้เหล่านี้ประกอบไปด้วยความรู้พระราชพิธี ความรู้ที่มาจากท้องถิ่น และความสนใจในความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตก ความรู้ทั้งสามประเภทนี้ เป็นความรู้ที่สำคัญในการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของสยาม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการยอมรับความศิวิไลซ์และความทันสมัยแบบตะวันตก ของชนชั้นนำท่ามกลางยุคอาณานิคมเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 25
เรื่อง “อำนาจผีปอบ” ที่ถูกนำเสนอในวชิรญาณวิเสศ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำผ่านการศึกษาเรียนรู้ท้องถิ่นจากมุมมองแบบตะวันตก ความเชื่อเรื่องผีของชาวบ้านสามัญถูกนำมาผลิตซ้ำในสื่อสมัยใหม่อย่างหนังสือวารสาร ก็เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่ศิวิไลซ์ในวัฒนธรรมพื้นถิ่น นำมาสู่ความจำเป็นที่ต้องการปฏิรูปเพื่อสร้างความทันสมัย (Modernization) อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นความชอบธรรมแบบเจ้าอาณานิคมที่ชนชั้นนำสยามมีต่อคนท้องถิ่น แบบเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกมองและปฏิบัติต่อประชาชนของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของตน ในแง่ที่เป็นกลุ่มคนที่ยังป่าเถื่อนล้าหลัง จำเป็นต้องถูกยึดครองไปเพื่อพัฒนาให้เกิดความทันสมัยต่อไป
นั่นหมายความว่า บทความ “อำนาจผีปอบ” ที่มีผู้ส่งมาตีพิมพ์ใน “วชิรญาณวิเสศ” นั้น ผู้เขียนอาจไม่ได้เชื่อว่า “ตาพวง” เป็นผีปอบจริง และผู้อ่านของวารสารเล่มนี้ ซึ่งโดยมากก็คือกลุ่มคนที่เราสามารถเรียกอย่างกว้างๆ ได้ว่าคือ “ชนชั้นนำสยาม” (Siamese elites) ก็อ่านโดยไม่ได้เชื่อว่า “ตาพวง” เป็นผีปอบ หากแต่อ่านแล้วอาจจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบว่า “แหมราษฎรของเรานี้ช่างงมงายกันเสียจริงๆ หนอ” เพราะชนชั้นนำสยามเวลานั้นได้ยอมรับโลกทัศน์ความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกที่แพร่เข้ามามากแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้การนำของพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4) ที่นำมาสู่การเกิดลัทธินิกายของพุทธศาสนาแบบทางโลกย์
ไม่เพียงเท่านั้น สมัยนั้น (รัชกาลที่ 5) ยังเป็นยุคที่ชนชั้นนำสยามรับเอาแนวคิดแบบอาณานิคมตะวันตกมาปรับใช้กับการปกครองหัวเมือง จนเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “อาณานิคมภายใน” (Internal-colonialism) โดยเริ่มดำเนินการปราบปรามกลุ่มที่เห็นต่างจากส่วนกลาง (เจ้ากรุงเทพฯ) สมัยนั้นกลุ่มผู้เห็นต่างคือคนในหัวเมือง ซึ่งมีโลกทัศน์ความเชื่ออีกแบบ ไม่ได้รับอิทธิพลความคิดตะวันตก จึงง่ายที่จะถูกผลักให้เป็นพวกงมงายดั้งเดิม
ความเชื่อเรื่องผี เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำสยามสมัยนั้นพยายามกดปราบให้สูญหาย ถึงกับส่งกำลังทหารไปทางรถไฟเพื่อปราบปรามกลุ่มคนที่เขาเห็นว่ายังเชื่อแบบเก่า ไม่ยอมรับความเชื่อแบบใหม่ เช่น “ขบถผู้มีบุญ” ซึ่งชนชั้นนำสยามนิยามเรียกอย่างบุลลี่ว่า “ผีบุญ”
จึงเป็นเรื่องตลกที่มีผู้อ้างหลักฐานของชนชั้นนำยุคที่ไม่ได้เชื่อเรื่องผีและยังปราบพวกที่ตนเองคิดว่ายังเชื่อเรื่องผี มาเป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามี “ผี” อยู่ในยุคสมัยนั้น เขาเขียนเล่าเรื่องผีเอาไว้ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเชื่อเรื่องผี ตรงข้ามบทความชิ้นนั้น (เรื่อง “อำนาจผีปอบ” ในวชิรญาณวิเสศ) คือการ “ชี้เป้า” แบบหนึ่งเท่านั้น
ช้าก่อน!!! มีบันทึกหลักฐานยังไม่ถือเป็น “ความจริงทางประวัติศาสตร์”
ก่อนหน้ากรณี “ตาพวง” ก็เคยมีคนพยายามเคลมว่า “แม่นาก พระโขนง” มีจริง โดยอิงกับเรื่องเล่าของชุมชนวัดมหาบุศย์ นางนากอาจมีตัวตนอยู่จริง เพราะหญิงตั้งครรภ์คลอดแล้วตายท้องกลม ก็มีมานับไม่ถ้วน ไม่งั้นตามแยกตะแลงแกงของเมืองโบราณ คงไม่มี “ตุ๊กตาเสียกบาล” สำหรับให้ผู้หญิงตั้งครรภ์สะเดาะเคราะห์ แต่จะตายแล้วเป็นผีมาเที่ยวหลอกหลอนหักคอคนนั้นไม่มีในบันทึกหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ไหนหรอก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของแม่นากนั้น เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในชะตากรรมที่ผู้หญิงในอดีตต้องเผชิญ เมื่อผัวถูกเกณฑ์ให้ไปรับใช้เจ้าขุนมูลนายอยู่ในเมือง ทิ้งเมียท้องแก่ไว้ที่บ้านตามลำพัง ถึงไม่ตายกลายเป็นผี ก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างยากลำบาก ชนิดที่เราในชั้นหลังไม่อาจจะจินตนาการออกได้เลยว่า จะสาหัสสากรรจ์เพียงใด
กรณี “นางบัวหล้า” กับ “ตาพวง” อ่านตัวบทหลักฐานให้ดีก็จะเห็นได้ว่าทั้งสองยังเป็นแต่เพียง “ผู้ถูกกล่าวหา” โดยที่เจ้าตัวไม่ได้มีโอกาสแก้ต่างให้กับตัวเองเลย กรณีแบบนี้ถ้าเป็นในสังคมตะวันตก ก็จะเทียบได้กับกรณีที่คนคลั่งศาสนาเที่ยวกล่าวหาผู้หญิงที่ตนไม่ชอบว่าเป็น “แม่มด” แล้วพากันไปจับตัวมาฆ่าเผาไฟ
การอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์เวลาเห็นหลักฐานกล่าวไว้อย่างไร ไม่ใช่จะตีความได้ตามความเข้าใจของคนในปัจจุบัน ต้องดูบริบทความเชื่อของคนในยุคสมัยที่บันทึกหลักฐานด้วย เพราะมนุษย์มักจะตีกรอบความจริงตามสิ่งที่ตนเองมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว
ความจริงมีหลายระดับ หลักฐานชั้นต้น (Primary source) ไม่ว่าชิ้นใด ก็ไม่เท่ากับ “ความจริงทางประวัติศาสตร์” หรือ “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” (Historical fact) สิ่งที่หลักฐานกล่าวไว้ยังต้องผ่านกระบวนการขบคิดวิเคราะห์อีกหลายชั้นหลายขั้นตอนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเป็นความจริง เช่น ต้องหาหลักฐานอื่นที่เป็นอิสระต่อกันมายืนยัน
ถ้าหลักฐานอื่นที่เป็นอิสระต่อกันว่าไว้อีกอย่าง ก็ต้องพักไว้ ยังเชื่อไม่ได้ หรือต่อเมื่อยอมรับเชื่อถือได้ (ระดับหนึ่ง) แล้วว่าเป็นความจริง ก็ยังต้องดูอีกว่าเป็นความจริงของใคร เป็นความจริงตามมุมมองของผู้บันทึกคือผู้บันทึกเชื่อว่าเป็นจริงอย่างนั้น แต่หากเป็นผู้บันทึกอีกคนที่ไม่เชื่อแบบนั้นก็อาจบันทึกไว้อีกแบบ เป็นต้น
ที่สำคัญไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม นักศึกษาประวัติศาสตร์จะถูกครูอาจารย์ตักเตือนอยู่เสมอว่า ไม่ควรเคลมเรื่องใดๆ จากหลักฐานเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง และหลักฐานที่ดีคือคนอื่นก็สามารถเข้าถึงหรือเห็นข้อเท็จจริงด้วยได้ ดังนั้นหลักฐานจากการนั่งทางในจึงใช้ไม่ได้ เพราะผู้นั่งทางในต่อให้มีญาณทิพย์จริง เขาก็เห็นความจริงอยู่เพียงผู้เดียว คนอื่นเห็นร่วมด้วยไม่ได้
ปกติเรื่องเหนือจริงประเภทเหาะเหินเดินอากาศ ก็มีในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นปกติ เพราะคนในอดีตมีความเชื่อในเรื่องเหล่านั้น จึงบันทึกไปตามสิ่งที่ตนเองเชื่อ แต่คนในอดีตเขาบันทึกไว้แบบนั้นก็ไม่ผิด เป็นเราเองต่างหากที่ต้อง “อ่าน” ด้วยสายตาอีกแบบ และเข้าถึงความหมายของบันทึกหลักฐานที่มากกว่าตัวบทอักษร
การที่คนเขาเขียนบันทึกเล่าเรื่อง “ผี” บันทึกของเขาไม่ได้เป็นหลักฐานแต่อย่างใดเลยว่ามีผีอยู่จริง นอกจากนี้เมื่ออ่านบันทึกเจอคนถูกกล่าวหาว่าเป็น “ปอบ” แล้วเอาปรุ๊ฟซ้ำว่าเขาเป็นปอบจริง ก็อาจเป็นการกล่าวหาซ้ำให้แก่บุคคลอดีตที่ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมไปเท่านั้น
การอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาใช้ในกรณีแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องระมัดระวัง จนกว่าจะมีหลักฐานจากแง่มุมอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย โดยเฉพาะในกรณีนี้คือหลักฐานจากแง่มุมของ “ตาพวง” ซึ่งตราบที่ยังไม่มีหลักฐานจากมุมนี้ มุมอื่นโดยเฉพาะพวกมุมที่ไปกล่าวหาตาพวง ควรต้องละเว้นไว้ ไม่เอามาผลิตซ้ำ
ภายใต้คำว่า “ภูติ-ผี-ปีศาจ” อาจไม่ใช่ “ภูติ-ผี-ปีศาจ” หากแต่คือ “มนุษย์ผู้ถูกกระทำ” ในเมื่อเราไม่สามารถจะคืนความเป็นธรรมให้แก่คนที่ถูกกระทำในอดีต ก็ไม่ควรผลิตซ้ำความอยุติธรรมต่อบุคคลนั้นในนาม “ประวัติศาสตร์” ต่อไป
ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์อาจจะเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือผลิตซ้ำความอยุติธรรม ประวัติศาสตร์ควรเป็นหนทางนำไปสู่การสร้างสรรค์อนาคตที่ดีขึ้นกว่าที่เคยมีหรือเป็นกันมาในอดีต
อ้างอิง
กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
กฤตานนท์. ธี่หยด…สิ้นเสียงครวญคลั่ง. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2566.
กำพล จำปาพันธ์. “‘น้ำศักดิ์สิทธิ์’ วัฒนธรรมและความหมายในสังคมไทย-อุษาคเนย์” The People.co https://www.thepeople.co/thought/hard-opinions/53795 (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567).
กำพล จำปาพันธ์. “โรคห่ากับการสร้างนาฏกรรมรัฐ: ทำไมจึง ‘ยิงปืนใหญ่ไล่ผี’ เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดในกรุงเทพฯ พ.ศ.2363” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2563), หน้า 98-113.
กำพล จำปาพันธ์. “หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) : มิชชันนารีอเมริกันกับการจัดการโรคระบาดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2563), หน้า 128-139.
กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
ขุนช้างขุนแผนฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526.
คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: มสธ., 2546.
คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มสธ., 2542.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2553.
ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ““วชิรญาณ” กับการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำของสยาม พ.ศ.2427-2448” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.
ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์สุโขทัย: พลังคน อำนาจผี บารมีพระ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2544.
ประชุมศิลาจารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, 2529.
ปรานี วงษ์เทศ. เพศและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2544.
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.
พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊ค, 2562.
ไรท, ไมเคิล. โองการแช่งน้ำ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์. กรุงเทพฯ: สกว., 2549.
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยาและฉบับธนบุรี เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ, 2542.