21 พ.ย. 2567 | 18:00 น.
KEY
POINTS
คุณเช็คโทรศัพท์ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่?
บ้างอาจบอกว่าชั่วโมงที่แล้ว สิบนาทีที่แล้ว หนึ่งนาทีที่แล้ว หรืออาจจะกำลังเช็คอยู่ เลยแวะมาไถโซเชียลมีเดียสักนิดสักหน่อย จนได้มาเจอกับบทความนี้พอดิบพอดี ในโลกทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันแทบไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปแล้ว กับการเช็คโทรศัพท์บ่อยกว่าการลุกขึ้นไปห้องน้ำหรือยืดเส้นยืดสาย เพราะบรรดาสรรพสิ่งที่อยู่บนหน้าจอก็ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจทั้งสิ้น ไม่สิ ต้องเรียกว่า เป็นสิ่งที่ทำกันจนเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ไปแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงกิจกรรมใหม่ที่มาแทนที่การจมอยู่บนโซฟาและนั่งดูโทรทัศน์ไปเรื่อยเปื่อยอย่างสมบูรณ์ กับการ ‘Doomscrolling’ ที่เราถูกสูบเวลาไปในกิจกรรมการไถติ๊กต็อก รีลไอจี หรือการดูวิดีโอรูปแบบทำนองเดียวกันในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ (แม้แต่แพลตฟอร์มช็อปปิ้งบางชื่อก็ยังมีที่ให้เราไถดูวิดีโอแบบนี้เลย)
จะเรียกว่าเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ก็ได้ในยุคนี้ ที่เราสามารถความบันเทิงเริงใจได้เพียงปลายนิ้วไถขึ้น ไม่จำต้องทนดูข่าวหรือมวยคู่เด็ดก่อนจะไปถึงละครหรือการ์ตูนตอนต่อไป เพราะเพียงแค่เปิดแอพและไถ ก็มีกองทัพของคอนเทนต์นานาแบบประเคนมาให้เรา (แถมยังเสิร์ฟมาอย่างตรงใจเราขึ้นทุก ๆ ครั้งอีกด้วย) จะว่าว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเลยก็ว่าได้… แต่เปลี่ยนไปทางไหน?
แน่นอนว่าคอนเทนต์เหล่านี้เมื่อเทียบกับความบันเทิงในอดีตนั้น ทั้งคำเล็กกว่า ย่อยง่ายกว่า มีเยอะกว่า แถมยังมีอยู่อย่างมหาศาล เพราะด้วยวิดีโอสั้นที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าความสนใจ ตั้งแต่การฮุคผู้ชมภายในไม่กี่วิแรกไปจนถึงจอการเล่น Subway Surfers อยู่ในเฟรมเดียวกันให้เราได้พักสายตาหาสิ่งเร้าและไม่เลื่อนไปที่วิดีโอสั้นอันต่อไป แต่ก็เพราะความย่อยเร็วกับขนาดพอดีคำนี้ด้วย ผสานเข้ากับการปรุงแต่งจนอร่อยถูกปาก (จนเกินไป) อาจนำมาซึ่งปัญหาไม่ต่างไปจากขนมขบเคี้ยวโรยผงชูรสหรือลูกกวาดโรยน้ำตาล
นักเขียนชาวสก็อตอย่าง ‘โยฮันน์ ฮารี’ (Johann Hari) คืออีกคนหนึ่งที่เริ่มมตระหนักว่าตัวเขาเองเริ่มติดหวานกับลูกกวาดเหล่านี้เข้าไปเสียแล้ว โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อย (รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ต้องการชิ้นต่อไปแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนที่ผุดขึ้นมาตลอดวัน วิดีโอสั้นกระตุ้นความสนใจอย่างไม่หยุดยั้ง ไปจนถึงรูปแบบการไถที่กลายเป็นพฤติกรรมเสพติดที่จูงใจให้เราทำไปอย่างไร้จุดสิ้นสุด สภาพแวดล้อมเหล่านี้ก็ได้หล่อหลอมตัวเขาให้ตั้งคำถามถึง ‘สมาธิ’ หรือ ‘การจดจ่อ’ ของตัวเอง
จึงเป็นที่มาของหนังสือเล่มล่าสุดของเขาอย่าง ‘Stolen Focus’ หรือชื่อฉบับแปลไทยโดย ฐนฐ จินดานนท์ ว่า ‘โลกไร้โฟกัส’ ที่ตัวของฮารีเองได้ออกเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมากหน้าหลายตาถึงสาเหตุปัญหาและหนทางแก้ รวมถึงไปขังตัวเองท่ามกลางความสงบในบ้านติดทะเลที่เมืองโพรวินซ์ทาวน์ สหรัฐอเมริกา โดยปราศจากสมาร์ทโฟนแม้แต่เครื่องเดียว (มีเพียงโทรศัพท์ทางการแพทย์ที่สำรองไว้เพื่อใช้ในการฉุกเฉินจริง ๆ)
การใช้เวลาอยู่ที่นั่นและเรียนรู้ตัวเอง รวมถึงการออกเดินทางไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายคน เขาได้ข้อสรุปที่น่าสนใจที่อาจจะทำให้เรามองลูกกวาดรสหวานในสมาร์ทโฟนของเราต่างออกไปจากเดิม และมันอาจจะทำให้เราตระหนักได้ว่า ปัจจัยแวดล้อมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจพาเราถลำลึกในโลกแห่งความบันเทิงที่ต้องแลกกับการจดจ่อของเราในแบบที่มากกว่าเดิม
มีหลายคนบอกว่าหลังจากเหตุการณ์โควิด 19 การรับรู้เรื่องเวลาของมนุษย์เรามันได้เปลี่ยนแปลงไป ปี ๆ นึงกับเคลื่อนผ่านไปไวกว่าเดิมประหนึ่งมีคนกดปุ่มคูณสองตอนเล่น The Sims บางทีมันอาจไม่ได้เกี่ยวกับการล็อคดาวร์หรือโรคระบาด แต่คำตอบอาจจะซ่อนอยู่ที่เทคโนโลยีที่รายล้อมยุคสมัยของเรานี้เอง
หนังสือเล่มนี้แบ่งประเภทของเนื้อหาคร่าว ๆ ออกเป็นสองประเภท ในครึ่งแรกนั้น โยฮันน์ ฮารี พาเราไปสำรวจเนื้อหาที่ว่าด้วยการกระทำในระดับปัจเจก หรือหนทางแก้ไขจากตัวของเราเองเช่นการนอนหลับให้เพียงพอ การจัดสรรเวลาในการใช้สมาร์ทโฟน ไปจนถึงการเลือกการปล่อยใจไหลไปตามสายธารความคิด ส่วนในอีกครึ่งหนึ่งจะว่าด้วยปัจจัยแวดล้อมในระดับมหภาค เช่นกลไกของโซเชียมีเดียยุคปัจจุบัน สภาพแวดล้อมการทำงาน ไปจนถึงมุมมองที่สังคมมีต่อโรคสมาธิสั้น โดยในส่วนนี้เราจะเริ่มกันที่ระดับปัจเจกกันก่อน
ในโลกที่สิ่งเร้ามากการจดจ่อของเราต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยในหนังสือเปรียบเทียบพลังในการจดจ่อของเราคล้ายกับการ์ดที่ยืนอยู่หน้าผับที่ต้องตรวจตราว่าใครจะเข้าไปข้างในได้ ซึ่งก็คือการจดจ่อของเรา ถ้าเราไปทำงานสถานที่พลุกพล่านเทียบกับบ้านกลางป่า แน่นอนว่าอย่างหลังทำให้เราจดจ่อง่ายกว่า เพราะไม่มีสิ่งอื่นให้เราต้องมาคอยกรองมาก
ด้วยเหตุนั้น ในโลกทุกวันนี้ที่สิ่งเร้ามากเหลือเกิน จึงไม่น่าแปลกที่เราจะโฟกัสไม่ได้เท่าเดิม โดยเฉพาะการแจ้งเตือนที่กระหน่ำแบบไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุที่ว่าการจะโฟกัสอะไรสักอย่างแบบมีประสิทธิภาพนั้นอาศัยการดำดิ่งลงไปในนั้นโดยไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ เพราะถ้ามีมันก็เสมือนเราต้องไปเริ่มใหม่ ซึ่งในหนังสือก็เรียกสิ่งนี้ว่า ‘ผลต้นทุนการสลับ’ (Switch Cost Effect) ที่เราต้องเสียไปทุก ๆ ครั้งที่ต้องสลับไปสนใจสิ่งอื่น แทนที่จะดำดิ่งกับสิ่งตรงหน้าเพียงอย่างเดียว
เหตุการณ์นี้ก็ได้โยงไปถึงเรื่องของการ ‘มัลติทาส์กกิง’ (Multitasking) ที่เป็นการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันที่แม้ภายนอกจะดูมี ‘ประสิทธิภาพ’ แต่หากแหวกดูไส้ในแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรจากการเสียเวลาไปกับการวนสลับการเริ่มจดจ่อใหม่ในทุก ๆ กิจกรรมที่คุณทำพร้อมกัน (เหมือนคุณฟังหลาคนพูดพร้อมกันแต่ดันไม่ได้ความกับสิ่งที่ใครคนไหนพูดเลย) หนังสือเปรียบเทียบว่าการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันนั้นทำให้คุณโฟกัสได้แย่ไม่ต่างจากสูบกัญชามาทำงานเลยแม้แต่น้อย (แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่ามันจะถึงขนาดนั้นเลยไหมนะครับ)
นอกจากนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้ก็ยังพูดถึง ‘ภาวะธารไหล’ (Flow State) ที่เป็นสภาวะการดำดิ่งและทำในสิ่ง ๆ หนึ่งอย่างเข้าถึง เช่นการวาดภาพ ปีนเขา หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่คุณก้มหน้าก้มตาทำ พอเงยหน้ามาอีกทีก็ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว แม้ว่าคำนิยามนี้จะคล้ายกับการ Doomscrolling ที่เราพูดถึงไปก่อนหน้า แต่มันกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อย่างแรกคือการดำดิ่งลึกในสิ่งที่ทำและจะมอบทั้งความสุขและพัฒนาการทางทักษะให้กับคุณ แต่อย่างหลังคุณอาจไม่ต่างอะไรจากหมาของพาฟลอฟที่เมื่อกระดิ่งสั่นก็น้ำลายไหล ในที่นี้หมายความว่าคุณถูกผูกติดกับการไถวิดีโอ ไม่ใช่เพราะคุณดำดิ่งไปในมัน แต่คุณได้รับสารให้ความสุขอย่างโดปามีน (Dopamine) ทุก ๆ ครั้งที่คุณไถ แต่ปัญหาคือสิ่งนี้แทบจะไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด ที่เมื่อคุณขาดมัน คุณก็จะหงุดหงิดและไม่สามารถจดจ่ออะไรได้เหมือนเดิม เมื่อเทียบกับอย่างแรกที่เป็นการตอบโจทย์สิ่งสำคัญในชีวิต
นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของผลลัพธ์ของสิ่งที่โซเชียลมีเดียนำเสนอให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่ล่อตาล่อใจเราให้กดดูจนมันอาจเหลาเราทางจิตใจในทางที่แย่ลง หรือแม้แต่การอ่านอะไรสั้น ๆ บนโซเชียลมีเดียที่อาจส่งผลกระทบต่อการจดจ่อเพื่ออ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ยากกว่าเดิม
สุขภาพก็ถือเป็นประเด็นที่มีผลไม่น้อย โดยเฉพาะกับเรื่องของการนอนหลับและอาหารการกิน ในส่วนของการนอนนั้น เมื่อเราได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ แน่นอนว่าทรัพยากรในการจดจ่อ (Attention Resource) ของเราก็จะมีน้อยตามไป และแน่นอนว่าโอกาสของชัยชนะจากการรบราฆ่าฟันกับสิ่งเร้านานาอย่างย่อมริบหรี่ตามกันไป
ในส่วนของอาหารก็มีส่วนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเราเทียบกับอาหารการกินในอดีต เมื่อในทุกวันนี้สิ่งที่อยู่บนจานของเรามักมาพร้อมกับอาหารแปรรูปหรือน้ำตาล ที่จะส่งผลต่อระบบในร่างกายเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในแง่ของการเหวี่ยงของระดับน้ำตาลในเลือดตลอดทั้งวันจากการกินจนเหมือนกับ ‘โรลเลอร์โคสเตอร์’ ในรูปแบบของระดับน้ำตาลที่จะทำให้เราหิวเร็วขึ้น และยากที่จะโฟกัสอะไรได้ เมื่อเทียบกับอาหารจากธรรมชาติที่มีความเสถียรทางโภชนาการมากกว่า
แน่นอนว่าการตั้งการ์ดจากตัวเราเองย่อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อย่างที่เราเห็นจากกรณีของอาหาร ว่าคำถามที่ตามมาคือ ‘แล้วฉันเลือกอะไรได้?’ หรือเราจะต้องตั้งการ์ดรออีกกี่หมัดที่ล้อมเราอยุ่ในอนาคตข้างหน้า จึงนำไปสู่อีกส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ โยฮันน์ ฮารี ชวนคุยต่อว่าบางทีปัญหาเหล่านี้
แก้ที่ตัวของเราเอง ‘มันไม่พอ…’
จึงเป็นเหตุให้อีกครึ่งเล่าของหนังสือ โยฮันน์ ฮารี เลยแทบไม่ได้เล่าถึงเวลาที่เขาอยู่ที่โพรวินซ์ทาวน์เลย แต่เป็นการนั่งพูดคุยและยกตัวอย่างกรณีศึกษากับนักวิชาการแทน เพราะว่าแก้ปัญหาที่ตัวเองโดยลำพังมันไม่พอ สำหรับความท้าทายทางเทคโนโลยีในครั้งนี้
ระบบทุนนิยมและเหล่าบริษัทโซเชียลมีเดียในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) จึงเป็นเป้าสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งคำถามและคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากพวกเขา หากใครได้เคยชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Social Dilemma (2020) มาก่อน ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกัน เพราะปัญหาที่พวกเขาพูดถึงคือเรื่องเดียวกัน กับกลไกและอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่เหลาสมาธิของผู้คนผ่านความต้องการที่จึงดึงให้ผู้ใช้งานอยู่ในแพลตฟอร์มของพวกเขานานที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนที่ขยันส่งมาไม่เว้นพักหรืออัลกอริทึมวิดีโอที่รู้ใจเราเสียมากกว่าใครอื่นก็ทำใหผู้คนมากมายต่างพากันติดหนึบ แม้เราจะเข้าใจว่าเราอยู่ในยุคที่เสรีภาพได้แผ่ขยายไปกว้างกว่าเดิมมาก ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกสิ่งที่ตนเองอยากจะดู แต่ในความเป็นจริงอิสระเหล่านั้นอาจถูกครอบอีกทีด้วยภาพลวงตาที่อัลกอริทึมสร้างขึ้น นี่ยังไม่รวมไปถึงผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่ปรากฎการณ์อย่าง ‘Echo Chamber’ ในสังคมอีกด้วย
‘ความเครียด’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่น้อย หนังสือยกตัวอย่างสภาพแวดล้อมในประเทศที่ไม่ปลอดภัยหรือมักเกิดการก่อการร้ายบ่อย การจดจ่อของผู้คนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็อาจจะไม่ลงไปในสิ่งที่ทำเต็มที่ เพราะอีกส่วนหนึ่งของทรัพยากรความสนใจต้องแบ่งไปพะวงกับเรื่องเหล่านั้นด้วย แต่ก็ใช่ว่าสิ่งนี้ไม่เกิดกับประเทศที่ปลอดภัย เพราะไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเงิน การเมือง หรือสังคม ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่กัดกินสมาธิของเราทั้งสิ้น เพราะคงยากที่เราจะทำงานของเราได้เต็มที่ เมื่อปัญหาส่วนตัวกำลังคืบคลานมาถึงหน้าประตูบ้าน
นอกจากนั้น โยฮันน์ ฮารี ก็ยังพาผู้อ่านไปสำรวจประเด็นอย่างปัญหาโรคสมาธิสั้นที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามันต้นตอของมันคืออะไรแน่ แน่นอนว่าตัวเขาไม่ได้พยายามจะปฏิเสธหรือนำเสนอว่ามันไม่ได้มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางกายภาพมาเกี่ยวเลย แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เหตุผลเกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อม
โดยนักวิชาการที่ฮารีไปสัมภาษณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กที่เติบโตมากับสภาพครอบครัวที่โหดร้ายหรือสภาพโรงเรียนที่รายล้อมไปด้วยข้อจำกัดและการกดขี่ ก็จะส่งผลต่อสมาธิของเด็กอย่างมีนัยสำคัญไม่ต่างอะไรไปจากเรื่องของความเครียดที่กระทบเหล่าผู้ใหญ่มากมายหลายคน
เราจะเห็นได้ว่าทั้งหมดในส่วนนี้ที่เรากล่าวมานั้นล้วนเป็นปัญหามหภาคที่ครอบการใช้ชีวิตพวกเราหลายคนอยู่จนอยากจะหลีกหนีหรือแม้แต่ขัดขืน สิ่งสำคัญที่ฮารีได้นำเสนอต่อคืออย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินไปด้วยคำที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ตัวเรา แน่นอนว่าหากคิดจะเปลี่ยน วิธีการแก้ปัญหาแบบปัจเจกที่เราได้เอ่ยไปในตอนแรกย่อมปัดทิ้งไปไม่ได้ แต่แน่นอนว่ามันไม่เพียงพอ ฮารีชี้ว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้น
อีกส่วนสำคัญที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาที่ว่าด้วยปัญหามหภาคของหนังสือเล่มนี้ล้วนสอดแทรกสารจากฮารีที่บอกให้เรากล้าคิดที่จะเปลี่ยนมากกว่าที่เป็น โดยเฉพาะกับการขัดขืนของกลไกบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ‘เปลี่ยน’ แม้ข้อเสนอจะดูสุดโต่ง อย่างเช่นการเสนอให้บริษัทเหล่านั้นมีรัฐเป็นเจ้าของร่วม เพื่อให้สามารถควบคุมแรงจูงใจเพื่อรับใช้ ‘ผู้ใช้งาน’ และจัดการกลไกที่มุ่งแต่จะดึงให้คนอยู่ในแพลตฟอร์ม แต่สนับสนุนให้คนออกไปใช้ชีวิตบ้าง
การทำงานสัปดาห์ละสี่วันก็เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่ฮารีอยากให้เกิดขึ้นจริง จากการสำรวจที่ชี้ให้เราเห็นว่าหากลดวันทำงานลงอาจนำไปสู่ผลิตภาพที่ดีขึ้นของผู้คนก็ได้ เพราะมันจะทำให้พวกเขามีเวลาที่จะคลายเครียดจากเดิมได้บ้าง และอาจจะแก้ปัญหาสมาธิที่เลือนหายไปได้ ซึ่งก็รวมไปถึงการสนับสนุนให้เหล่าเด็กได้ใช้ชีวิตแบบที่มีเสรีภาพขึ้นด้วย
เดิมทีผมนึกว่า Stolen Focus จะเป็นหนังสือฮาวทูที่จะบอกเราว่าทำยังไงให้เรามีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับกลายเป็นว่ามันเป็นการนำเอาเส้นทางการศึกษาของ โยฮันน์ ฮารี มานำเสนอทั้งในเชิงจากตัวเราเอง และในภาพใหญ่ที่เป็นเป้าหมายให้เรามุ่งหน้าไปถึง เป็นหนังสือที่จะช่วยตอบคำถามได้อย่างน่าสนใจว่าทำไมสมาธิเราหายไปจากเดิม เวลาผ่านไปเร็วอาจไม่ใช่เพราะการระบาดของโควิด 19 แต่อาจเป็นการระบาดของเทคโนโลยีที่พยายามจะไขว่คว้าพลังในการจดจ่อของเราไว้มากกว่า
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ศึกชิงสมาธินี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อทวงคืนสมาธิของเรากลับมา
เขียนมาสักพักแล้ว
ผมขออนุญาตไปเช็คแจ้งเตือนของผมสักหน่อยนะครับ...
ภาพ : ปกหนังสือ Stolen Focus / สำนักพิมพ์ Boookscape