404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN : อย่า ‘ยื้อ’ นานจนรักร้างและผุพัง

404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN : อย่า ‘ยื้อ’ นานจนรักร้างและผุพัง

404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN หนัง Horror-Comedy ที่นอกจากความตลกและตุ้งแช่จะจัดเต็ม ยังมาพร้อมแก่นสารว่าด้วยการ ‘ยื้อรัก’ จนผุพัง

กูชอบที่นี่! กูจะอยู่ที่นี่!

ครั้งแรก เรื่อยไปจนถึงครั้งที่สอง..สาม...สี่ ที่ได้ยินคำพูดนี้จากปากตัวละครผีในเรื่อง ก็เลือกปล่อยผ่านด้วยมองว่าเป็นเพียงไดอาล็อกทั่วไปที่มีขึ้นเพื่อยอกย้อนประโยค ‘ไปที่ชอบ ๆ เถอะนะ’ ของตัวละครมนุษย์ ทว่าพอเรื่องดำเนินถึงจุดไคลแม็กซ์ กลับเริ่มสัมผัสได้ถึงแก่นสารที่ซ่อนอยู่

สถานที่ที่ถูกเรียกว่า ‘ที่ชอบ’ นั้น เหตุใดจึงทั้งตายซาก ทั้งผุพัง ราวกับเป็นตัวแทนความรู้สึกของวิญญาณสาวผู้ยังคงจมปลักวนเวียน…

นับเป็นอีกครั้งที่ GDH พาผู้ชมโลดโผนโจนทะยานไปกับภาพยนตร์ที่มีแก่นสารแข็งแรง แม้จะมาพร้อมกลิ่นอายหนังไทยอันคุ้นเคยอย่างแนว Horror-Comedy ซึ่งในระยะหลัง เริ่มถูกตั้งคำถามว่าทำออกมาเกร่อเกินไปแล้วหรือไม่ แต่ 404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN ก็สามารถทำลายข้อกังขานั้น ด้วยจังหวะยิงมุกที่แม่นเป๊ะ เคมีนักแสดงระดับพระกาฬ และสาระของเรื่องที่มีดีมากกว่าแค่หนังตลกตุ้งแช่ทั่ว ๆ ไป

เริ่มต้นด้วยการยื้อ...กับเรื่องราวที่ยื้อผู้ชมให้จดจ่อจนนั่งไม่ติดเก้าอี้

404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN เล่าเรื่องราวของ นักรบ (เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ชายหนุ่มผู้รวมหัวกับทีม อันได้แก่ น้ำมนต์ (ต้าห์อู๋-พิทยา แซ่ฉั่ว) หนุ่มเลือดร้อนผู้ประสบปัญหาเส้นยึดอยู่บ่อย ๆ กับพ่อลูกคู่รักคู่ซี้อย่างน้าโชค (นุ้ย-ชูเกียรติ เอี่ยมสุข) และเสือโคร่ง (อาไท-สุภทัต โอภาส) ซื้อบ้านราคาถูกมาย้อมแมวขายอัปราคา เป้าหมายสูงสุดของเขาคือพิสูจน์ให้ หลิน (นัตตี้-นันทนัท ฐกัดกุล) แฟนสาวที่คบหากันมานานเห็นว่าเขาและเธอสามารถมีอนาคตที่ดีร่วมกันได้ ทว่าปัญหาด้านการเงินที่รุมเร้ากลับทำให้หลินเริ่มไม่เห็นด้วยกับการ ‘ยื้อ’ ของนักรบ และมองว่าต่างฝ่ายต่างแยกย้ายไปตามทางของตน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

เมื่อจนตรอก นักรบจึงเดิมพันครั้งใหญ่ ทุ่มซื้อ ‘สุขีนิรันดร์ โฮเต็ล’ โรงแรมร้างต้องคำสาปด้วยหวังว่าจะสามารถรีโนเวทเป็นโรงแรมหรู หารู้ไม่ว่าที่นั่น ผีสาวอดีตเจ้าของโรงแรมนาม ลลิตา (ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง) ยังคงวนเวียนอยู่ในห้อง 404 รอปลิดชีวิตใครก็ตามที่เหยียบย่างเข้ามาใน ‘ที่ชอบ’ ของเธอ

 

‘ตลก’ และ ‘ตุ้งแช่’ จนชีพจร RUN RUN

ฃลำพัง เพียงตัวอย่างเรียกน้ำย่อยที่เลือก Parody ฉากซื้อปืนในตำนานจากภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก..เออเร่อ ก็เพียงพอแล้วที่จะคาดหวังว่า 404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN ต้องเรียกเสียงหัวเราะลั่นโรงตั้งแต่รอบสื่อยันรอบสุดท้าย ซึ่งถึงแม้ฉากดังกล่าวจะไม่ได้ปรากฏในตัวภาพยนตร์จริง ๆ แต่ก็ถือเป็นการสื่อให้เห็นตัวตนของมันได้อย่างชัดเจน

หรืออันที่จริง อาจต้องบอกว่าผู้สร้างเลือกโปรโมทอย่างถ่อมตัวเกินไปเสียด้วยซ้ำ เพราะในหนังอัดแน่นด้วยแก่นสารและอารมณ์ร่วมมากกว่าที่ตัวอย่างสร้างความคาดหวังเอาไว้หลายเท่า

เรื่องความตลกคงไม่ต้องสาธยาย เพราะเคมีของนักแสดงทุกคนล้วนตอบโจทย์ความเป็นภาพยนตร์คอมเมดี้ในทุก ๆ ด้าน ฉะนั้น หากให้พูดถึงสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย อันดับแรกคงต้องยกให้ฉากสยองขวัญที่ชวนขวัญผวาไม่แพ้หนังผีแท้ ๆ เรื่องหนึ่ง แม้จะอยู่ในกลิ่นอายตลกขบขัน แต่ผู้กำกับอย่างเสือ-พิชย จรัสบุญประชา ซึ่งเติบโตในวงการจากซีรีส์แนวดราม่าอย่าง Hormones และ Spike! กลับสามารถคุมโทนให้บรรยากาศแฝงความหลอนยะเยือกได้ชะงัด จนเกิดเป็นอารมณ์ที่ชวนอิหลักอิเหลื่อ (ในทางดี) ว่าจะขำหรือจะกลัว ก่อนจะดีดนิ้วแรง ๆ หนึ่งครั้งเมื่อนึกขึ้นได้ว่า งั้นทั้งหัวเราะทั้งปิดตาพร้อมกันเสียเลยดีกว่า ไหน ๆ ผู้กำกับก็เสิร์ฟความโลดโผนโจนทะยานให้เราถึงเพียงนี้แล้ว

 

อย่ายื้อรักให้ร้าง

/ บทความหลังจากนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง 404 สุขีนิรันดร์..RUN RUN (2567) /

ความเหนือคาดหมายอันดับสองเกิดขึ้นหลังรับชมมาถึงองก์สุดท้าย ตัวหนังได้เผยไม้ตายเป็นดราม่าที่จั่วหัวด้วยคำถามว่า การยื้อคนรักให้ร่วมทุกข์ร่วมยากไปกับเรา แท้จริงแล้ว มันคือความรักที่เรา ‘ชอบ’ และสามารถเป็น ‘ที่ชอบ’ ให้กับเราได้จริงหรือ

ภาพยนตร์เลือกนำเสนอสารดังกล่าวโดยเล่าถึงความรักสองเส้นเรื่อง

เส้นเรื่องแรกคือความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก...นักรบรักหลินสุดหัวใจ แม้จะตระหนักได้ว่าอีกฝ่ายเจ็บปวดเพราะตนมานักต่อนัก แต่ก็ตัดสินใจ ‘ยื้อ’ อย่างไร้จุดหมาย หลอกตัวเองว่ากำลังทำทุกวิถีทางให้คนรักมีความสุข ทั้งที่ลึก ๆ ก็คงรู้แก่ใจว่าตนไม่อาจมอบอนาคตอันสดใสในแบบที่เธอต้องการให้ได้

เส้นเรื่องที่สองว่าด้วยลลิตาผู้ยื้อตัวเองให้จมปลักกับความรักอันขมขื่น ความเจ็บปวดที่ได้รับทำให้เธอหลอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่าโรงแรมเก่าร้างคือ ‘ที่ชอบ’ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ยังมีโรงแรมในแบบที่เธอ ‘ชอบยิ่งกว่า’ รออยู่หลังเส้นที่เรียกว่าการมูฟออน ขอเพียงยอมก้าวขาข้ามไป แสงสว่างที่อีกฝั่งก็พร้อมเข้ามาปลอบประโลม

สุดท้าย เส้นเรื่องทั้งสองจึงจบลงด้วยการ ‘เลิกยื้อ

ในส่วนของตัวละครหลักอย่างนักรบ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองพร้อมด้วยน้ำทิพย์ชโลมใจในฉากจบ ทว่าจุดที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของเรื่องคือการเลิกยื้อของลลิตา อันเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงแรมสุขีนิรันดร์ โฮเต็ลเปลี่ยนไปตลอดกาล อาคารที่ถูกทิ้งร้าง ผุพัง สกปรกมาตลอดทั้งเรื่อง แปรเปลี่ยนเป็นโรงแรมอันสวยสวยสดงดงาม โดยมีผีสาวผู้เป็นเจ้าของรอต้อนรับอยู่หลังเคาน์เตอร์ ราวกับกำลังบอกผู้ชมว่า ‘นี่ล่ะคือรางวัลที่การมูฟออนจะมอบให้

สภาพตึกโรงแรมที่ทรุดโทรมในเรื่องจึงไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบของความน่ากลัว แต่เป็นตัวแทนของจิตใจที่ผุพัง อันเนื่องมาจากการยื้อความทุกข์ให้คงอยู่

และในท้ายที่สุด มันก็กลับมาสะอาดสะอ้านเมื่อผู้เป็นเจ้าของหวนมารีโนเวทใหม่อีกครั้ง…หลังตระหนักแน่ชัดใน ‘ที่ชอบ ๆ ’ ของตนแล้ว