จากอู่ยี่ถึงทิชา: บทบันทึกของคนที่เกิดสองครั้ง แต่ต้องสูญเสียซ้ำสอง

จากอู่ยี่ถึงทิชา: บทบันทึกของคนที่เกิดสองครั้ง แต่ต้องสูญเสียซ้ำสอง

เมื่อเด็กสาวต่างด้าวที่ตายไปแล้ว กลับมาเป็นลูกสะใภ้คนสวยของผู้หญิงที่ฆ่าแม่เธอ ‘ทิชา’ ซีรีส์ที่จะทำให้คุณต้องตั้งคำถามว่า เมื่อการแก้แค้นสำเร็จ แล้วทำไมน้ำตาถึงยังไหล และชีวิตที่สองของใครบางคน จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายของคนที่รักหรือไม่?

KEY

POINTS

  • ซีรีส์พูดถึงการแก้แค้นของ ‘ทิชา’ ลูกสะใภ้ที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อเปิดโปงธุรกิจค้ามนุษย์ผิดกฎหมายของแม่ผัว หลังจากที่แม่ของเธอถูกฆ่าตายตอนที่เธอยังเป็น ‘อู่ยี่’ เด็กสาวต่างด้าว 
  • ถึงแม้จะแก้แค้นสำเร็จ แต่ทิชาก็ไม่ได้มีความสุข สุดท้ายการแก้แค้นก็นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง สะท้อนว่าบางทีการใช้ ‘ชีวิตที่สอง’ อย่างมีความสุขอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 
  • ซีรีส์สะท้อนปัญหาผู้ลี้ภัยและชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมเริ่ม ‘มองเห็น’ ปัญหานี้มากขึ้น

“ไม่ต้องพยายามกู้โลกหรอก กูไม่ได้เหี้ยที่สุดในโลกใบนี้”

ประโยคจากอีพีสุดท้ายของ ‘ทิชา’ คนพูดคือ ‘บุษรา’ ตัวละครสีเทา ที่กลายเป็นตัวละครที่สีสันจัดจ้านที่สุดในเรื่อง รับบทโดย ‘ลูกเกด’ เมทินี กิ่งโพยม ฟังดูอาจเป็นแค่ประโยคด่าแสบสุดจี๊ดแบบบุษราสไตล์ ทว่ามันอาจเป็นประโยคที่ตอกย้ำว่า ทั้งหมดที่เดินเรื่องมา เป็นแค่ความพยายามเล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ ที่สุดท้ายอาจไม่ได้ส่งผลใดต่อภาพรวมเลยก็เป็นได้

ทิชา เป็น limited series จำนวน 8 ตอน ผลงานการผลิตของช่อง OneD Original ออกอากาศสดทางช่อง One และเข้า Netflix ทันทีหลังจากออกอากาศจบในวันเดียวกัน

** บทความนี้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของซีรีส์

ทิชาคือใคร? 

“ผู้ที่เกิดสองครั้งค่ะ” 

‘ทิชา’ (ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) เป็นหญิงสาวปริศนาที่เข้ามาในชีวิตของ ‘พัดชัย’ (พีช พชร จิราธิวัฒน์) หนุ่มไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน เธอเข้ามาเป็นรักแรกพบของเขา จนต่อมาได้กลายมาเป็นความรักที่ลึกซึ้ง กระทั่งสุดท้ายได้ลงเอยเป็นสามีภรรยากัน

จากอู่ยี่ถึงทิชา: บทบันทึกของคนที่เกิดสองครั้ง แต่ต้องสูญเสียซ้ำสอง

คนดูล้วนทราบดีตั้งแต่วินาทีแรก ว่าทิชา คือ ‘อู่ยี่’ เด็กสาวต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยที่ลักลอบเข้ามาในไทยพร้อมกับแม่ ‘โหยว’ (น้ำฝน กุลณัฐ กุลปรียาวัฒน์) สองแม่ลูกถูกนำตัวเข้ามาอยู่ในบ้านของบุษรา ไฮโซสาวผู้รันธุรกิจค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย บุษราให้สัญญากับเหล่าผู้ลอบเข้าเมืองที่ยอมจ่ายให้เธอจนหมดตัวเพื่อแลกกับอนาคตที่ดีที่หวังไว้ ว่าจะจัดหาที่พักให้ ให้งานดี ๆ ทำ ตลอดจนสัญญาจะขึ้นทะเบียนต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายให้กับคนเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้ไม่เคยเป็นจริงตามนั้น

บุษรามีมิตรสหายเป็นทนายหื่นกามและตำรวจน้ำเลวบางคน ที่ช่วยรันธุรกิจและได้รับส่วนแบ่งจากขบวนการค้ามนุษย์ของบุษรา และเป็นเพราะต้องการจะปกป้องลูกจากทนายบ้ากามอย่าง ‘เมธี’ (อัค อัครัฐ นิมิตรชัย) นี่เอง ที่ทำให้แม่ของอู่ยี่ต้องจบชีวิตลง ใต้ต้นมะกอกต้นใหญ่ ท่ามกลางความแตกสลายของอู่ยี่ 

หลังจากเกิดใหม่ครั้งที่สองเป็นทิชา จากการอุปการะเลี้ยงดูของแม่บุญธรรม ‘หนี่ไว’ (ต่าย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) หญิงสาวจึงกลับมาล้างแค้นบุษราโดยใช้พัดชัยเป็นสะพาน ความแม่ผัวลูกสะใภ้ที่ไม่ถูกชะตากันแต่แรกเจอ สร้างเรื่องราวให้ทั้งสองลอบทำร้ายกันไปมา มิพักต้องจำได้ว่าทิชาคือใคร สองคนก็แทบจะฆ่ากันอยู่รอมร่อ จากการที่แม่ผัววางยาลูกสะใภ้ แล้วโดนลูกสะใภ้วางยากลับ ทั้งหมดโดยที่พัดชัยไม่รู้เรื่องอะไรเลย

มึงเป็นใคร

พัดชัยเป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของบุษรา ลูกชายที่เธอว่ารักนักรักหนา แต่ผลักไสให้ไปอยู่อังกฤษตัวคนเดียวตั้งแต่ยังวัยรุ่น พัดชัยใช้ชีวิตในแบบพลเมืองชั้นสอง ไม่ต่างจากอู่ยี่ เขาทั้งโดนซ้อม โดนรังแก โดนเหยียดสารพัด แต่อย่างน้อยก็ยังมีเงินทองและอิสรภาพมากพอ ที่จะบินกลับมาเมืองไทย เพียงเพื่อที่จะพบว่าไม่มีใครต้องการให้เขากลับมา แม้แต่แม่ที่พร่ำบอกว่ารักเขา หลังจากประจักษ์กับเรื่องเลวร้ายบางเรื่องด้วยสายตาตัวเองแล้ว พัดชัยก็กลับไปอังกฤษแบบที่ไม่คิดจะกลับมาบ้านที่เมืองไทยอีกเลย เขาแทบจะตัดขาดจากมารดา และกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้านับจากนั้น 

พัดชัยเติบโตจากความเหงาและอ้างว้าง ในขณะที่อู่ยี่ฟูมฟักเป็นแรงแค้น

“หนูไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว คุณจะเอาอะไร” 

ยังมีตัวละครสำคัญอีกตัว อย่าง ‘พู่’ (เซียงเซียง พรสรวง รวยรื่น) พู่เป็นคนรับใช้สาว คนบ้านเดียวกันกับอู่ยี่ ที่กำลังเผชิญชะตากรรมแบบตกนรกทั้งเป็นอยู่ในบ้านของบุษรา คนที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ทิชาต้องการเปิดโปงบุษรา นอกจากจะแก้แค้นเรื่องแม่แล้ว ทิชาตั้งใจจะช่วยเหลือพู่ให้รอดพ้นเงื้อมมือบุษรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากทนายบ้ากาม พู่กลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของทิชา ในการที่จะสอดแนมเรื่องต่าง ๆ เด็กสาวยอมเอาชีวิตเข้าแลก เพียงเพื่อโอกาสที่จะได้ไปจากนรกขุมนี้เสียที 

ในอีพีที่ 4 พู่เคยสงสัยทิชา ว่าที่ทำ ๆ อยู่นั้น ทิชาต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งก็แอบเป็นคำถามที่ผู้เขียนก็นึกสงสัยอยู่เหมือนกัน แก้แค้น? เปิดโปง? ฆ่าบุษรา? เพราะถึงจุดหนึ่งกลางเรื่อง การแก้แค้นก็ทิชาก็ดูเบาโหวงลงไป เนื้อเรื่องไปให้น้ำหนักกับการลอบเอาคืนกันแรง ๆ ของแม่ผัวลูกสะใภ้มากกว่า ดีว่าในอีพีท้าย ๆ ประเด็นนี้ก็ถูกตบให้เข้าที่อีกครั้ง ทิชาต้องการเปิดโปงบุษราในระดับที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้ว ลำพังการปล่อยคลิปเสียงของทิชาก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นเลย หากไม่มีเหตุการณ์สำคัญที่ตอนท้ายเรื่อง

ในช่วงอีพีต้น ๆ คนดูจะได้เห็นมาดนางพญาที่เหี้ยมโหดของบุษรา การใช้กำลังทำร้ายคนรับใช้แบบสุดโหด และสั่งฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น ลูกเกดให้ภาพจำบุษราในระดับที่อิมแพ็กต์ต่อวงการอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฉากถอดเดรสโยนลงหลุมเหลือเพียงชุดชั้นในดำ เนื้อตัวเปื้อนเลือดเดินไปนั่งจิบไวน์อย่างใจเย็น เป็นภาพจำที่คนดูทุกคนล้วนตะลึงตาค้าง และอาจจะกลายเป็นไอคอนิกของลูกเกดแบบเดียวกับมีมต่าง ๆ ของเดอะเฟส ซึ่งลูกเกดทำให้ภาพแบบนี้ ทำหน้าที่ของมันได้ดีในแง่ของการสร้างให้บุษราดูเป็นตัวละคร Evil สุดชั่วร้าย 

ใบเฟิร์นกับพีช ปล่อยของในอีพีที่ 7 แบบไม่มีหยุดยั้ง ในฉากสารภาพความจริง ใบเฟิร์นเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทอยู่แล้วก็จริง แต่การกลับไปเป็นอู่ยี่ในคราบทิชา ณ โมเม้นท์นั้นคือที่สุดของคนดู เรารับรู้ว่าอู่ยี่สูญเสียแม่ในวันนั้น วันที่เธอไม่ส่งเสียงร้องสักแอะ แต่เราเพิ่งสัมผัสความเจ็บปวดที่แท้จริงของเธอได้ ในวันที่ทิชาพูดมันออกมา พีชเองก็ระเบิดอารมณ์ของความเจ็บปวดและอ้างว้างของคนที่โดนทอดทิ้งได้ดีสุดในฉากเดียวกัน เป็นฉากเดียวสั้น ๆ ที่เอาคนดูอยู่หมัด และถือเป็นซีนที่ดีที่สุดของซีรีส์เลยทีเดียว

การที่หนังเลือกที่จะตัดฉับจากอู่ยี่ไปเป็นทิชาอย่างไว ช่วยขับเคลื่อนให้เรื่องเดินหน้าเร็ว เป็นข้อดีก็จริง ทว่าก็กลายเป็นการเลือกทิ้งดีเทลการเติบโตและการพัฒนาจากอู่ยี่ไปเป็นทิชาอย่างน่าเสียดาย การวางแผนการแก้แค้น หรือแม้แต่เรื่องว่า ทิชาทำอาชีพอะไร หาเลี้ยงปากท้องด้วยวิธีไหน อาจจะส่งเสริมพาร์ตการแก้แค้นให้เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ 

ซีรีส์มีการประดิษฐ์ภาษาถิ่นของชนกลุ่มน้อยขึ้น แม้จะฟังดูอู้เหมือนเสียงขึ้นนาสิก แต่ก็ถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการที่น่าชื่นชมอย่างมาก ในแง่ของความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ ตินิดหน่อยตรงที่ เนื่องเพราะเป็นภาษาที่สร้างขึ้น จึงมีตัวละครบางตัวที่พูดไม่คล่องจนกลายเป็นพูดช้าเกินไป กลายเป็นความไม่เนียนของซีรีส์ไปเสียอย่างนั้น เพราะเรื่องจริงใครบ้างที่จะพูดภาษาถิ่นของตัวเองไม่คล่อง แต่ก็เป็นข้อเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเทียบกับความตั้งใจของผู้สร้าง

ในแง่ของการน่าติดตามและกระแส ถือว่า ทิชา ทำได้อย่างยอดเยี่ยมตามสไตล์ของช่องนี้อยู่แล้ว วัดจากกระแสจากละครเรื่องก่อน ๆ ซึ่งผู้เขียนเองไม่ได้เป็นแฟนของช่องนี้ แต่ก็พอจะได้รับรู้ธรรมชาติของช่องอยู่บ้าง การตัดสินใจเลือกให้หนังลง Netflix หลังออกอากาศสดถือเป็นความฉลาดของช่อง ที่หลัง ๆ หลายเจ้าเลือกทำกัน เพราะนอกจากเป็นการขยายฐานคนดูแล้ว ยังมีผลในแง่ของกระแสต่อเนื่อง และการเรียกคนมาดูซ้ำ

ในอีพีเปิดตัว ทิชาได้ชี้ชวนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของผู้ลี้ภัยหรือชนกลุ่มน้อยที่พยายามลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย ลักลอบเข้ามาเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นสังคมชายขอบที่ไม่ได้รับการเหลียวแลได้อย่างน่าสนใจ สุดท้ายแล้วแม้หนังจะไม่ได้ทำให้เกิดแรงผลักดันอะไรที่เป็นรูปธรรมก็จริง ไม่ได้มีการหยิบมาพูดถึงในวงกว้าง และไม่ได้ทำให้ ‘เข้าใจ’ ปัญหาคนต่างด้าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังทำให้สังคมเกิดความสนใจ และ ‘มองเห็น’ ประเด็นปัญหานี้มากกว่าที่เคย

ในท้ายที่สุด การแก้แค้นของทิชาก็สัมฤทธิ์ผล ขบวนการค้ามนุษย์ผิดกฎหมายถูกเปิดโปง มีคนถูกจับ มีคนเสียชีวิต กระนั้น.. ทิชาก็ยังร้องไห้ กระนั้น.. ทิชาก็ยังพบกับความเสียใจ วันที่ควรเป็นวันที่มีความสุขที่สุด ทิชากลับไม่มีความสุขที่แท้จริง เป็นการจบภารกิจที่แลกมาด้วยความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของทิชา บางทีผู้เขียนแอบคิดว่าจะมีสักแว้บไหม ที่ทิชาคิดอยากเปลี่ยนเรื่องราว ปล่อยวางการแก้แค้น ใช้ ‘ชีวิตที่สอง’ ของตัวเองอย่างมีความสุขกับคนรัก บางทีเรื่องราวอาจจะไม่ได้จบลงเป็นโศกนาฏกรรมแบบที่เห็นก็เป็นได้

 

เรื่อง: poonpun