06 ก.พ. 2568 | 15:00 น.
KEY
POINTS
โลกใบนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่สั่งสมมานาน ทรัพยากรที่เคยมีอยู่ค่อยเหลือน้อยลง ในขณะที่มลพิษนานาอย่างค่อย ๆ สั่งสมอยู่ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผินดินและสมุทรขยับขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ ตามมาพร้อมกับปรากฎการณ์นานาอย่างที่เป็นอาการบอกเหตุว่า ‘โลกกำลังมีปัญหา’ ผู้คนส่วนใหญ่ย่อมเห็นตรงกันในข้อนี้
ถึงกระนั้น เมื่อพูดถึง ‘วิธีแก้ไข’ แน่นอนว่า ‘ความยั่งยืน’ ย่อมเป็นกรอบแนวคิดหลักในการรับมือกับปัญหา ไม่ว่าจะในมิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบริโภคทรัพยากร หรือแม้ว่าการเติบโตของสังคม ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรให้ ‘โต’ อย่าง ‘ยั่งยืน’ กว่าก้าวก่อน ๆ ที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกันก็มีอีกสายธารความคิดที่มองว่าการโตอย่างยั่งยืนนั้น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพเสียเท่าไหร่นัก ในทางกลับกันการตั้งโจทย์ใหม่ผ่านกรอบแนวคิดที่ละทิ้งการเติบโตออกไป อาจนำมาซึ่งหนทางแก้ไขที่ได้ผลมากกว่าเดิม
Slow Down: How Degrowth Communism Can Save The Earth
by Kohei Saito
‘Slow Down’ หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘Slow Down: How Degrowth Communism Can Save The Earth’ ที่เขียนโดย ‘โคเฮ ไซโตะ’ (Kohei Saito) และตีพิมพ์ในปี 2024 จะชวนผู้อ่านสำรวจแนวคิดกระแสแนวคิดใหม่ ๆ ในการต่อกรกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดใหม่ที่ว่า — ตามจริง ถ้าใช้คำว่า ‘ปัดฝุ่นใหม่’ น่าจะเข้าที่เข้าทางกว่า — ก็คือแนวคิดแบบ ‘มาร์กซิสต์’ (Marxist) จาก ‘คาร์ล มาร์กซ์’ (Karl Marx) ผู้ที่แนวคิดของเขาเป็นทั้งแรงบันดาลใจ เป็นทั้งบทเรียนในหน้าหนังสือ เป็นทั้งตัวอย่างทางปรัชญาความคิด และเป็นทั้งผีร้ายหลอกหลอนตลอดมา
ในภาพรวม หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกว่าโดยรากสันดานของระบบทุนนิยม (Capitalism) ไม่มีทางเลยที่อยู่ร่วมกันอย่างหยินหยางกับสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ได้ เพราะกลไกและกติกาของตัวระบบมันหล่อหลอมให้ทุก ๆ องค์ประกอบมุ่งเป้าหาผลิตภาพที่มากขึ้น แข่งขันกันกอบโกยทุนให้มากขึ้น และโตขึ้นในทุก ๆ วินาที จนผู้ที่แบกรับกรรมนอกเหนือจากแรงงานที่ถูกขูดรีดแล้วก็หนีไม่พ้นทรัพยากรธรรมชาติ
โคเฮ ไซโตะ ผู้เขียนก็ได้วิจารณ์ต่อถึงแนวคิดความเขียวรักษ์โลกที่นำหน้าด้วยคำว่า ‘Green’ ทั้งหลายแหล่ ว่าดูสวยหรูเพียงเปลือก เพราะเมื่อดำดิ่งลึกลงไปแล้วกลับเต็มไปด้วยภาพลวงตาและ ความย้อนแย้งอีกเพียบ หนังสือเล่มนี้เลยพยายามจะชี้ให้เห็นว่าต้องเป็นการจัดสรรทรัพยากรแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) เท่านั้น และไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบธรรมดาด้วย แต่ต้องเป็น ‘Degrowth Communism’ ที่จะพาเราหลุดพ้นจากตรงนี้ไปได้
มาร์กซ์อีกแล้ว หลายคนอาจแอบคิด แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ที่เผยแพร่ในปี 2024 เลือกที่จะกลับมานำเสนอไอเดียใหม่ ๆ พร้อมกับนามอันเลื่องลือของชายคนนี้ ทว่าชื่อ ๆ นี้อาจแฝงไปด้วยความหมายที่แตกต่างออกไปเมื่อโคเฮ ไซโตะ ผู้เป็นนักวิชาการที่ศึกษาแนวคิดของมาร์กซ์อย่างเจาะลึกพยายามนำเสนอว่า ‘มาร์กซ์เปลี่ยนไปแล้ว’ เพราะมาร์กซ์ที่จะถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ อาจไม่ใช่มาร์กซ์ (คนเดิมขนาดนั้น) ที่เรามักรู้จักหรือเคยชิน โดยหนังสือได้นำเสนอ ‘การขยับ’ (Shifts) ทางมุมมองความคิด ครั้งต่าง ๆ ทางแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ตั้งแต่แรกไปจนถึงช่วงสุดท้ายที่ไม่ได้ตีพิมพ์งานอย่างเป็นทางการแล้ว
ในบทความนี้ไล่เรียงประเด็นสำคัญที่โคเฮ ไซโตะพยายามจะนำเสนอผ่าน Slow Down ตั้งแต่ปัญหาของแนวคิดเศรษฐศาสตร์เคนส์เชิงสิ่งแวดล้อม การขยับทางกรอบความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ไปจนถึงเหตุผลว่าทำไมโลกใบนี้อาจต้องการความช้าลงกว่าที่เคยเป็น
ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เติบโตอย่างยั่งยืน Green Growth หรือ ธุรกิจสีเขียว (Green Business) อะไรก็ตามที่ถูกประดับประดาด้วยคีย์เวิร์ดเทือก ๆ เดียวกันนี้ ล้วนทำให้เราสบายใจว่ามันจะ ‘ดีต่อโลก’ ว่ามันเป็นกรอบการควบคุมที่จะทำให้เราเติบโตไปได้พร้อม ๆ กับรักษาโลกนี้ไปด้วย แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอก — เรียกว่าเป็นข้อถกเถียงหลักของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้ — คือ หากหวังจะกอบกู้โลกใบนี้เอาไว้ ต้องหยุดคิดเรื่องการเติบโตเสียก่อน! เพราะไส้ในของมันเต็มไปด้วยทั้งกับดักและความย้อนแย้งมากมายเต็มไปหมด
โคเฮ ไซโตะ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาหลายกรณี เริ่มต้นจาก ‘ภาวะย้อนแย้งของเจวอนส์’ (The Jevons Paradox) ที่หนังสือเล่มนี้ใช้ถกเถียงว่าทำไมการ ‘เลิกพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ’ (Environmental Decoupling) หรือความหวังที่จะ ‘เพิ่มประสิทธิภาพ’ เพื่อให้ใช้ทรัพยากรต่อหนึ่งหน่วยการผลิตในปริมาณที่น้อยลงมันจะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
หากคิดกันเพียงฉากหน้า ถ้าทรัพยากรถูกใช้น้อยลงจะสามารถบรรเทาภาระที่ธรรมชาติถูกบังคับให้ต้องแบกได้จากการผลิตในสังคมเราได้ แต่ภายใต้สังคมที่มีกติการคือ ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ’ เหล่าทรัพยากรส่วนเกินเหล่านั้นก็จะถูกกวาดรวมไปผลิตเพิ่มอยู่ดี
เพื่อให้เห็นภาพ เมื่อมนุษย์เราคิดค้นแอร์ที่ไม่กินไฟมากขึ้นมาและคาดหวังให้เทคโนโลยีนี้เป็นการ decoupling ไปในตัว ทว่าเมื่อมันไม่กินไฟ คนก็แห่กันไปซื้อเพราะมันคุ้ม หรือไม่คนก็พากันเปิดทั้งวี่ทั้งวันเพราะค่าไฟมันไม่แพงเท่าเก่า จนผลรวมท้ายสุดชดเชยกันจนแทบไม่ต่าง นี่คือตัวอย่างของข้อถกเถียงที่ โคเฮ ไซโตะ พยายามจะบอกว่า decoupling มันไม่ได้ผล (นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องกรอบเวลาเลยด้วยนะครับ ว่าถ้าจะให้ทัน ต้องไม่ใช่แค่ Relative Decoupling, Absolute Decoupling แต่ต้องเป็น Sufficient Absolute Decoupling ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะไปถึงจุดนั้น)
An Illustration of the Jevons Paradox
retrieved from Eamon Haughey
รูปแบบต่าง ๆ ของการ Decoupling จาก Doughnut Economics: Seven Ways to Think Like a 21-st Century Economist by Kate Raworth
ผู้เขียนพยายามฉายภาพให้เห็นถึงการมองปัญหาผ่านกรอบแบบ ‘แนวคิดเศรษฐศาสตร์เคนส์เชิงสิ่งแวดล้อม’ (Green Keynesianism) ที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านความยั่งยืนเพื่อความก้าวหน้าและศักยภาพในการแก้ปัญหาในอนาคต ส่วนหนึ่งก็เป็นรากฐานแนวคิดจาก ‘วิลเลียม นอร์เดาส์’ (William Nordhaus) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่มองว่าให้คงการเติบโตไว้แล้วฝากความหวังกับเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งหนังสือเรียกรวม ๆ ว่าเป็นแนวคิดแบบ ‘ลัทธิเร่งความเปลี่ยนแปลง’ (Accelerationism) ที่นิยมการเร่งตะบี้ตะบันการเติบโตทั้งการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่พอกพูนในอนาคต หนังสือเล่มนี้ถกเถียงว่าที่เป็นการมองแบบ ‘ฝันลม ๆ แล้ง ๆ’ (Wish Thinking) มากเกินไป
.
นอกจากนั้นหนังสือก็ยังกล่าวถึง ‘วิสัยของทุนนิยม’ และ ‘สันดานของตลาด’ ที่ไม่มีทางอ่อนข้อให้กับเจตนารมณ์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนหนังสือมองว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด และจะนำไปสู่การต่อกรกับปัญหาแบบผิด ๆ หรือไม่ได้ผลเฉกเช่นทุกวันนี้ และหลาย ๆ ครั้ง การตั้งเป้าหมายทำนองนี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจาก — ดังที่ โคเฮ ไซโตะ หยิบยกถ้อยคำของ คาร์ล มาร์กซ์ มานิยาม — ‘ฝิ่นที่ปลอบประโลมมวลชน’ (Opiate of the Masses)
และหากยังดำเนินไปในเส้นทางนี้อยู่ ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ก็จะบีบให้สังคมของเราเป็นไปตามอนาคตประมาณสามรูปแบบ ตั้งแต่ ‘ลัทธิฟาสซิสต์สิ่งแวดล้อม’ (Climate Fascism) ที่ผลพวงของปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกระทบคนหมู่มาก ในขณะที่เหล่าชนชั้นนำจะสามารถคงรักษาสถานะตัวเองเอาไว้ได้ เพราะได้การสนับสนุนจากรัฐด้วย ทวีคูณความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นไป, ‘แนวทางปฏิวัติสิ่งแวดล้อมแบบเหมาเจ๋อตง’ (Climate Maoism) ที่จะสามารถกำจัดความเหลื่อมล้ำไปได้ แต่จะมาพร้อมกับมาตรการแบบเผด็จการในการปกครองและจัดสรรทรัพยากร เฉกเช่น การปฏิวัติวัฒนธรรมของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong), ‘อนารยธรรม’ (Barbarism) อนาคตแห่งกลียุค รัฐเสื่อมอำนาจ การลุกฮือเกิดขึ้น ตามมาด้วยสังคมก็ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ พร้อมขยับเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยการตะเกียกตะกายเพื่อการอยู่รอดของตนเอง
ทางเลือกส่วนใหญ่ที่กล่าวมานั้นดูจะไม่เป็นที่พึงปราถนามากนักสำหรับประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ เป็นแน่ โคเฮ ไซโตะ จึงได้เสนอว่ายังมีอีกอนาคตหนึ่งที่ยังพอจะจูงโลกของเราไปในทางนั้นได้ ซึ่งก็คือโลกแบบ ‘คอมมิวนิสต์เชิงลดการเติบโต’ (Degrowth Communism) จากแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งคือการปกครองแบบจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนรวมและไม่ต้องไปคำนึงถึงเรื่องการเติบโต คิดเพียงแค่ว่าอยู่ในตอนนี้อย่างไร ‘ให้ได้’ ก็เพียงพอ ซึ่งการอธิบายสภาพอนาคตที่ว่านี้พร้อมหนทางทะยานไปสู่จุดนั้นก็เป็นแกนสำคัญของหนังสือเล่มนี้
ว่าแต่… ทำไมต้อง ‘คาร์ล มาร์กซ์’ ?
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) | Getty Images
น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตถ้าใครเปิดหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ว่าทำไมต้องเป็นแนวคิดของ ‘คาร์ล มาร์กซ์’ (Karl Marx) ที่จะมาต่อกรกับภาวะโลกรวนได้ เพราะใครหลายคนก็น่าจะมีภาพจำในเรื่องของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไปแล้วว่าแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มัน(มัก)ถูกไปประยุกต์ใช้และจบลงอย่างไม่สวยนัก
กระนั้น โคเฮ ไซโตะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (และผู้ศึกษาแนวคิดของมาร์กซ์อย่างเข้มข้นผ่านผลงานก่อน ๆ ของเขา) พยายามจะบอกว่า หนึ่ง—แนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ถูกไปประยุกต์ใช้มักไม่ตรงปกเลยแม้แต่น้อย กล่าวคือกลักการในอุดมคติที่มาร์กซ์ว่าไว้กับการประยุกต์ใช้จริง ๆ มักจะคนละเรื่อง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่าก่อนจะไปถึงสภาพสังคมในอุดมคติที่ว่า สังคมที่นำไปใช้มักไถลตกข้างทางไปเสียก่อน—ไม่ถังแตกก็กลายเป็นเผด็จการ—อันเป็นเหตุให้ โคเฮ ไซโตะ พยายามจะชวนผู้อ่านทำความเข้าใจมาร์กซ์ใหม่
สอง—ก่อนมาร์กซ์จะเสียชีวิต ได้มีการขยับครั้งสำคัญในแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ เอง ที่มีหลายคุณลักษณะหลายประการที่ควรค่าแกการนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะในการสร้างสังคมที่ยังยืนและสามารถต่อกรกับปัญหาทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนก็ได้พาเราไปอ่านหลักฐานต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงแนวคิดช่วงบั้นปลายของเขา โดยเฉพาะ ‘จดหมายถึง เวรา ซาซูลิช’ (Marx’s Letter to Vera Zasulich) นักปฏิวัติชาวรัสเซีย อีกทั้งยังเอากรอบแนวคิดใหม่ที่ว่าไปตีความถ้อยคำใน Das Kapital ของมาร์กซ์ ใหม่ เพื่อให้เห็นถึงนัยยะในถ้อยคำที่กว้างมีมุมชวนคิดต่อมากกว่าเดิม
เวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich) | Public Domain
โคเฮ ไซโตะ นำเสนอว่าแนวคิดของมาร์กซ์มีการขยับไปเป็นลำดับขั้นด้วยลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้ดังนี้ เริ่มต้นจากแนวคิดในช่วงที่เขียน ‘แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์’ (Communist Manifesto) ในช่วงทศวรรษ 1840s ถึง 1850s มาร์กซ์จะมีมุมมองแบบ ‘ผลิตนิยม’ (Productivism) กล่าวคือ ภายใต้ระบบทุนนิยมจะนำมาซึ่งผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นและการเอาเปรียบจากนายทุนจนนำไปสู่การปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงาน โดยเป็นแนวคิดถึงคำนึงถึงเพียงการเจริญเติบโตแต่ละทิ้งแง่มุมในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนออกไป
ถัดมา ในตอนที่เขียนและตีพิมพ์ ‘ว่าด้วยทุน’ (Das Kapital) ในทศวรรษที่ 1860s มาร์กซ์ได้ขยับเข้าสู่ความเป็น ‘นิเวศสังคมนิยม’ (Ecosocialism) จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับแค่ผลิตภาพ มาร์กซ์เริ่มหันมาสนใจทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดังสะท้อนผ่านแนวคิด ‘วัฏจักรการฟื้นคืนตัวเองโดยธรรมชาติ’ (Environmental Metabolism) — เช่น สิ่งปฏิกูลจากสิ่งมีชีวิคที่จะไม่กลายเป็นขยะแต่จะกลายเป็นปุ๋ยกลับคืนสู่ธรรมชาติ — กับ ‘รอยแยกที่ไม่อาจซ่อมแซม’ (The Irreparable Rift) — ช่องโหว่จากการเสียสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เช่นตัดไม้ทำลายป่า ปล่อยคาร์บอน จนอาจนำไปสู่ความเสียหายถาวร — ที่พูดถึงความสามารถในการ ‘หมุนเวียน’ ของสรรพสิ่งในธรรมชาติโดยไม่ล้นเกินหรือขาดดุลจนนำไปสู่ความไม่สมดุล ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มักนำพาสิ่งเหล่านี้มาสู่วัฏจักร ไม่ว่าจะเป็น ‘ขยะ’ หรือ ‘การขูดรีดทรัพยากร’ มาร์กซ์จึงมองว่าสังคมจะเติบโตและจัดสรรทรัพยากรอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กันได้ก็ต่อเมื่อเติบโตภายใต้ ‘สังคมนิยม’ (Socialism) เท่านั้น อันเป็นมุมมองที่สะท้อนถึงแนวคิด ‘การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน’ (Sustainability Economic Development) ในช่วงเวลานั้น
และต่อมาในช่วงปลายของชีวิตมาร์กซ์ ทศวรรษที่ 1870 ถึง 1880 แม้ไม่ได้งานตีพิมพ์ออกมาที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของมาร์กซ์อย่างเป็นทางการในช่วงเวลาที่ว่านี้ แต่ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ว่าผู้เขียนหนังสือได้ไปทำการศึกษาและแกะรอยทั้งโน็ต การขีดเขียน ไปจนถึงจดหมายต่าง ๆ ที่จะสะท้อนถึงความคิด มุมมอง และความสนใจของมาร์กซ์ในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะ จดหมายถึงเวรา ซาซูลิช ที่มาร์กซ์ได้ปฏิเสธ ‘The Progressive View of History’ ที่มองว่าสังคมต้องพัฒนาและเติบโตถึงระดับหนึ่งจนสุกงอมและเปลี่ยนเป็นเป้าหมายในอุดมคติได้ แต่มาร์กซ์โอบรับแนวคิดความเป็น ‘สถานะคงตัว’ (Steady State) — การพัฒนาที่ไม่ยึดโยงอยู่กับการเติบโต — และ ‘สังคมแบบคอมมูน’ (Communual Society) ตั้งแต่แรกเริ่ม จากเดิมทีที่อาจมีมุมมองว่าเป็นสิ่งไม่พัฒนา ดังสะท้อนในแนวคิดแบบ ‘ยุโรปเป็นศูนย์กลาง’ (Eurocentrism) ในงานเขียนยุคแรก ๆ ของเขา กล่าวคือ มาร์กซ์ขยับเข้าสู่ยุคที่แนวคิดมุ่งเน้นแต่ ‘ความยั่งยืน’ โดยไม่มุ่งที่จะ ‘เติบโต’
ส่วนในรายละเอียดนั้น โคเฮ ไซโตะ ก็จะเล่าว่าการขยับแต่ละครั้งมีปัจจัยที่ส่งผลอย่างไรบ้าง ตั้งแต่การขยับครั้งแรกที่ถูกหล่อหลอมมาจากงานเขียนด้านวิทยาศาสตร์ของ ‘จัสตุส ฟอน ลีบิก’ (Justus von Liebig) ชื่อ ‘Organic chemistry in its applications to agriculture and physiology’ (1862) ที่ค่อย ๆ ผนวกเอาแนวคิดอย่าง วัฏจักรการฟื้นคืนตัวเองโดยธรรมชาติ และ รอยแยกที่ไม่อาจซ่อมแซม เข้ามาในการมองสังคมและการจัดสรรทรัพยากรจนขยับมาร์กซ์จากจุดแรกที่มองว่า ‘เน้นโต ลืมความยั่งยืน’ ไปจุดที่สองตอนเขียนที่มองว่า ‘ต้องโตอย่างยั่งยืน’
ส่วนการขยับครั้งสำคัญในมุมมองของหนังสือเล่มนี้คือช่วงสุดท้ายที่มองว่า ‘ไม่ต้องโตแล้ว ยั่งยืนอย่างเดียว’ มาร์กซ์เริ่มศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ผนวกเข้ากับการจัดสรรทรัพยากรในสังคมมากขึ้น จนมันทำให้เขาตกตะกอนแนวคิดใหม่ที่เชื่อว่าสถานะมั่นคงแบบไม่ต้องมีการเจริญเติบโตสามารถขยับไปสังคมในอุดมคติได้ ซึ่งหนังสือยกตัวอย่าง ‘มาร์คเกอโนสซันชาฟท์’ (Markgenossenschaft) รูปแบบชุมชนในเยอรมนียุคโบราณแบบหนึ่งที่ถูกใช้เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตอาจไม่สำคัญเสมอไป
โดยสรุป โคเฮ ไซโตะ พยายามจะชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า แนวคิดแบบมาร์กซ์ที่ใช้เนี่ยและที่หนังสือหวังจะ ‘ชุบชีวิต’ ขึ้นมา มันเป็นฉบับที่อัปเดตแพทช์แล้วนะ ไม่ใช่แบบเดิมที่เรามักเห็นมันล่มสลายจนชินตา
ในการจะไปถึงเป้าหมายแห่ง Degrowth Communism นั้นประกอบไปด้วยหลายเสาเข็ม หนึ่งในนั้นคือกรอบความคิดสำคัญที่ โคเฮ ไซโตะ กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้คือการแบ่งแยกคุณค่าออกเป็นสองประเภท: ‘มูลค่าการใช้สอย’ (Use-Value) และ ‘มูลค่า’ (Value) ที่จะทำหน้าที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการประเมินความสำคัญหรือความคุ้มค่าในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม ว่าเป็นคุณค่าที่ให้ประโยชน์จริง ๆ ต่อ ‘การอยู่รอด’ ของปัจเจกและสังคม หรือเป็นเพียงมูลค่าที่ตลาดสังเคราะห์ขึ้นจากกลไกอุปสงค์-อุปทาน หรือแม้แต่ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ที่กระทุ้งมูลค่าให้ทะยานสูงจากโฆษณาหรือค่านิยมบางประการ
อย่างแรกคือมูลค่าการใช้สอยที่ถูกตีค่าจากผลลัพธ์จากการใช้งานที่มีต่อความสามารถในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่นน้ำสามารถดื่มได้, กระเป๋าที่ใช้ใส่ของ, นาฬิกาข้อมือที่ใช้ดูเวลา หรือปากกาที่ใช้เขียน ; ส่วนอย่างหลังคือคุณค่าที่ถือกำเนิดขึ้นจากทั้งกลไกตลาดและลัทธิบริโภคนิยม เช่น ปากกาสองด้ามที่มีมูลค่าใช้สอย คือการใช้เขียนได้เหมือนกัน แต่เมื่อยี่ห้อต่างกัน ‘มูลค่า’ หรือ ‘ราคา’ ก็ต่างกันไปด้วย แน่นอนว่าความละเมียด วัตถุดิบ ไปจนถึงคุณภาพในการผลิตก็ล้วนอยู่เบื้องหลังราคาที่แพงว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมและการโฆษณาก็มีส่วนในการทำให้ของสองสิ่งที่มีมูลค่าใช้สอยเหมือนหรือใกล้เคียงกัน มีราคาที่แตกต่างกันลิบลิ่ว
ปัญหามันเกิดตรงที่ว่า เมื่อสังคมปัจจุบันดันให้ความสำคัญไปที่ ‘มูลค่า’ เสียมากกว่า ผ่านการถูกรายล้อมและหล่อหลอมด้วยการตลาด การโฆษณา หรือสารพันเครื่องมือ ไปจนถึงค่านิยมและสถานะทางสังคม จนทำให้ของที่มีมูลค่าถูกให้ความสำคัญมากกว่าของที่มีมูลค่าใช้สอยสูง เช่น พนักงานเก็บขยะที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของสังคม ดันได้ตอบแทนน้อยกว่านักเขียนที่มัวแต่นั่งเขียนข่าว อวยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่มีใครอ่าน (อ่านแล้วก็สะดุ้งไปหนึ่งที)
กลายเป็นว่าหลายครั้งของที่ ‘ไม่จำเป็น’ ดันถูกผลิตหรือให้ความสำคัญมากกว่า ‘ของที่จำเป็น’ เสียอย่างนั้น หรือที่มีปัญหาไปกว่านั้น ทรัพยากรที่จำเป็นดันถูกนำไปใช้สอยเพื่อผลิตของที่ไม่จำเป็น (ต่อการดำรงอยู่) หากดำเนินเป็นเช่นนี้ ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจะถูกใช้เพื่อตอบสนอง ‘อุปสงค์’ (Demand) — หรือ กิเลส — ที่ถูกสร้างมาอย่างไม่จำกัด และแน่นอน สิ่งนี้คือหนึ่งในรากปัญหาสำคัญที่กำลังกัดกินสิ่งแวดล้อมอยู่
หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญและหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของคอมมิวนิสต์เชิงลดการเติบโตคือการให้ความสำคัญกับมูลค่าใช้สอยมากกว่ามูลค่า เพราะโลกใบนี้ไม่มีทรัพยากรมากเหลือพอถึงขั้้นที่จะสนองความต้องการที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาอย่างไม่หยุดหย่อนของมวลมนุษย์ได้
โคเฮ ไซโตะ ทราบดีว่าใน Slow Down ย่อมมีคนที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าข้อเสนอของเขามันช่าง ‘สุดโต่ง’ หรือไม่ก็ ‘โลกสวย’ จนเกินไป กับการบอกให้นานาประเทศละทิ้งความคิดที่อยากจะเติบโตเสีย ในขณะที่มีปัญหามากมายเฝ้าหวังให้ ‘การเติบโต’ มาแก้ไข ตัวเขาจึงได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดแบบ Degrowth Communism ไม่ใช่การบอกให้มนุษย์ร่นถอยกลับไปสู่สังคมเกษตรกรรม ใช้ชีวิตเคียงคู่ต้นไม้ใบหญ้าสอดประสาน เพราะตัวของเขาตระหนักดีว่าสังคมแบบนั้นก็มีปัญหาในตัวของมันเองเช่นเดียวกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสภาพสังคมที่เราอยู่นั้นมันก็เป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับปัญหามูลค่าในสังคมหรือแม้แต่การใช้ทรัพยากรที่เกินกว่าคำว่า ‘ยั่งยืน’ ไปมากโข จนสามารถนิยามสภาพปัญหานี้ได้ง่าย ๆ ผ่านคำว่า ‘ภาวะความเป็นเมืองล้นเกิน’ (Over-Urbaization) การหาทางออกจากปัญหานี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง
“เมล็ดพันธุ์ของ Degrowth Communism กำลังงอกงามออกมาในหลายแห่งทั่วโลก ผมอยากจะจบหนังสือนี้ด้วยการพาไปสำรวจการริเริ่มการปฏิวัติด้วยเลนส์ของแนวคิดมาร์กซ์ในช่วงหลังที่เราได้พูดถึงกันไปในหนังสือเล่มนี้ผ่านหลากหลายเมืองทั่วทั้งโลก”
- บางส่วนจาก Slow Down
มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและนโยบายเมืองหนึ่งที่เริ่มต้นขึ้นที่ ‘บาร์เซโลน่า’ (Barcelona) ในชื่อ ‘Fearless City’ ขบวนการที่หวังจะสร้างเสริมประชาธิปไตย ความเป็นอยู่ รวมไปถึงความยั่งยืนที่แข็งแกร่งมากขึ่น ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและสวนกระแสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับเมืองจนแพร่หลายไปในวงกว้างมากขึ้น
ในคำประกาศของขบวนการนี้ไม่ได้บอกเพียงว่าจะ ‘แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม’ แต่ระบุเป้าหมายอย่างชัดเจนกว่า 240 ข้อว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใน 2050 ตั้งแต่การจำกัดเที่ยวบินระยะสั้น การจำกัดความเร็วของรถยนต์ ไปจนถึงการโอบรับต่อแนวคิดอย่าง เศรษฐกิจแบบโดนัท (Dougnnut Economy) ไปจนถึงการปฏิเสธการเติบโตเฉกเช่นเดียวกับที่แนวคิดของโคเฮ ไซโตะ ว่าเอาไว้
แม้จะไม่ได้เป็นตัวอย่างของ Degrowth Communism ที่สมบูรณ์อย่างชัดเจน แต่ตัวอย่างนี้ก็ได้สะท้อนถึงบางเสาเข็มสำคัญของแนวคิดดังกล่าวที่เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสำแดงเจตนารมณ์ที่ไม่กริ่งเกรงต่อการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่จะพาสังคมใดสักสังคมหนึ่งบรรลุเป้าหมายดังที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอให้ผู้อ่านและผู้อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้ลองครุ่นคิดดู
บ้างอาจมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องยาก อาจคิดว่าการไม่เติบโตเป็นเรื่องไปไม่ได้ หรือแม้แต่การช้าลงเป็นเรื่องที่ยากเกินใฝ่ฝันเมื่อสัญชาติญานของสังคมถูกหล่อหลอมโดยสันดานของตลาดและธรรมชาติของระบบทุนนิยม จนข้อสำคัญบางประการในการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างเรา ๆ ละเลือนจางหายไประหว่างทาง แต่ถึงกระนั้น คำว่า ‘ช้าลง’ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์เรา ไม่แง่มุมใดก็แง่มุมหนึ่ง