The People Talk: ‘การต่อสู้ต้องไม่ใช้ความรุนแรงและเกลียดชัง’ สุนทรพจน์ตอกย้ำสันติวิธีขององค์ดาไลลามะ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ

The People Talk: ‘การต่อสู้ต้องไม่ใช้ความรุนแรงและเกลียดชัง’ สุนทรพจน์ตอกย้ำสันติวิธีขององค์ดาไลลามะ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ

The People Talk: ‘การต่อสู้ต้องไม่ใช้ความรุนแรงและเกลียดชัง’ สุนทรพจน์ตอกย้ำสันติวิธีขององค์ดาไลลามะ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ

*The People Talk เซ็กชันรวมสุนทรพจน์เปลี่ยนโลก *** ‘Non-violent and Free of Hatred’ สุนทรพจน์ขององค์ดาไลลามะที่ 14 (เทียนซิน เกียตโซ) แห่งทิเบต ระหว่างรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1989 หากจะมีพระสงฆ์ในพุทธศาสนารูปหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จัก และได้รับการยอมรับมายาวนาน พระรูปนั้นคงไม่พ้นองค์ดาไลลามะของทิเบต ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธี นับตั้งแต่ลี้ภัยออกจากบ้านเกิดตอนอายุ 24 พรรษา จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ปี 2021 องค์ดาไลลามะจะมีอายุย่าง 86 พรรษาแล้ว แต่ยังคงได้รับการยอมรับจากเด็กยุคใหม่ และได้ร่วมเวทีเสวนากับเกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา ปรัชญาการต่อสู้แบบสันติวิธี รวมถึงความเข้าใจปัญหาของมนุษย์อย่างลึกซึ้งขององค์ดาไลลามะ ยังคงถูกพูดถึงและรับฟัง โดยแนวทางดังกล่าวเคยบอกเล่ามาแล้วผ่านสุนทรพจน์ขณะเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 30 กว่าปีก่อน สุนทรพจน์ครั้งนั้นขององค์ดาไลลามะ เริ่มต้นด้วยการทักทายเพื่อนร่วมชาติเป็นภาษาทิเบต ราว 2 - 3 นาที ก่อนจะเล่าถึงแรงบันดาลใจของการใช้สันติวิธีต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพให้กับดินแดนบ้านเกิดของตนเอง จากนั้นจึงบรรยายธรรมชาติของมนุษย์ และแนวทางการต่อสู้ที่อิงทั้งหลักศาสนาและวิทยาศาสตร์ พร้อมย้ำถึงความเชื่อร่วมกันของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ไม่ว่านับถือศาสนาใด หรือไม่มีศาสนาก็ตาม และนี่คือสุนทรพจน์เต็มความยาว 15 นาทีขององค์ดาไลลามะที่ 14 ผู้ต้องการเปลี่ยนโลกด้วยสันติวิธีและความโอบอ้อมอารีแก่กัน “บรมบพิตร, ท่านสมาชิกคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล และโยมพี่น้องชายหญิงทั้งหลาย อาตมารู้สึกมีความสุขมากที่ได้มาอยู่ตรงนี้กับพวกท่านในวันนี้ เพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อาตมารู้สึกเป็นเกียรติ แม้ไม่คู่ควรและจิตใจหวั่นไหวที่พวกท่านมอบรางวัลสำคัญชิ้นนี้ให้กับพระสงฆ์ธรรมดารูปหนึ่งจากทิเบต อาตมาไม่ใช่คนพิเศษใด ๆ แต่อาตมาเชื่อว่า รางวัลนี้มอบให้เพื่อเป็นการตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ความรัก, ความเห็นอกเห็นใจ และการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งอาตมาพยายามฝึกฝนตามแบบอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้า และเหล่ามหาปราชญ์ของอินเดีย และทิเบต อาตมาขอน้อมรับรางวัลนี้ด้วยความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกหนแห่ง และตัวแทนของทุกคนที่ยังดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ และทำงานเพื่อสร้างสันติภาพให้กับโลก อาตมาขอน้อมรับไว้เพื่อเป็นการสดุดีผู้วางรากฐานให้กับธรรมเนียมปฏิบัติยุคใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยสันติวิธี ท่านมหาตมะ คานธี ที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ และได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตของท่าน และแน่นอน อาตมาขอน้อมรับไว้ในฐานะตัวแทนของประชาชนชาวทิเบต 6 ล้านคน, ชายหญิงเพื่อนร่วมชาติผู้กล้าหาญทั้งหลายที่อยู่ในทิเบต ผู้ทนทุกข์ทรมานและยังคงต้องทุกข์ทรมานอีกมากมายต่อไป พวกเขาต้องเผชิญกับกลยุทธ์ที่คิดคำนวณมาล่วงหน้าและเป็นระบบ มีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างอัตลักษณ์ของชาติและวัฒนธรรมของพวกเขา รางวัลนี้ถือเป็นการยืนยันตอกย้ำความเชื่อมั่นของเราว่า ทิเบตจะได้รับการปลดปล่อยด้วยสัจธรรม, ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นที่เป็นอาวุธของเรา ไม่ว่าเรามาจากพื้นที่ใดในโลก เราทุกคนโดยพื้นฐานแล้วคือมนุษย์เหมือนกัน เราแสวงหาความสุขและพยายามหลีกเลี่ยงความทุกข์ เรามีความต้องการและความกังวลพื้นฐานของมนุษย์เหมือนกันทุกคน พวกเรามนุษย์ทุกคนต้องการอิสรภาพ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในฐานะตัวบุคคลและประชาชนทั่วไป นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกแห่งหนบนโลก จากยุโรปตะวันออกจนถึงแอฟริกา คือสิ่งที่บ่งชี้เรื่องนี้อย่างชัดเจน ที่ประเทศจีน การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนถูกบดขยี้ด้วยกำลังอันโหดร้ายในเดือนมิถุนายนปีนี้ (ค.ศ.1989) แต่อาตมาไม่เชื่อว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นนั้นไร้ค่า เพราะจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพได้ถูกจุดขึ้นภายในหัวใจของชาวจีนอีกครั้ง และประเทศจีนไม่สามารถหลีกหนีผลกระทบของจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพนี้ที่กำลังกระจายไปในหลายพื้นที่ของโลก นักศึกษาผู้กล้าหาญและเหล่าผู้สนับสนุนพวกเขาได้แสดงให้ผู้นำจีนและโลกได้เห็นโฉมหน้าของมนุษย์ภายในชาติอันยิ่งใหญ่แห่งนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวทิเบตจำนวนหนึ่งถูกตัดสินจำคุกอีกครั้งนานถึง 19 ปี ระหว่างการพิจารณาคดีหมู่ที่เผยแพร่ออกมา บางทีอาจเป็นความตั้งใจเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนก่อนที่จะมีงานในวันนี้ ‘ความผิดอาญา’ ข้อหาเดียวของพวกเขา คือการแสดงออกถึงความต้องการของชาวทิเบตอันแพร่หลาย เพื่อฟื้นฟูอิสรภาพของประเทศอันเป็นที่รักของพวกเขาให้กลับคืนมา ความทุกข์ของประชาชนของเราระหว่างถูกยึดครองตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาได้มีการบันทึกไว้เป็นอย่างดี ความทุกข์ของเราคือการต่อสู้ดิ้นรนมาเป็นเวลายาวนาน พวกเรารู้ว่าเป้าหมายของเรามีความชอบธรรม เพราะการใช้ความรุนแรงล้วนแต่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและความทุกข์มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป การต่อสู้ดิ้นรนของเราต้องคงไว้ซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงและปราศจากความเกลียดชัง พวกเรากำลังพยายามยุติความทุกข์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อทำให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่น อาตมามีสิ่งนี้อยู่ในใจเสมอเมื่อมีโอกาสยื่นข้อเสนอขอเปิดการเจรจาระหว่างทิเบตกับจีนหลายครั้ง ปี 1987 อาตมาได้ยื่นข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงในแผน 5 จุดเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและสิทธิมนุษยชนในทิเบต สิ่งนี้รวมถึงการแปรสภาพที่ราบสูงทิเบตทั้งหมดให้กลายเป็นโซนแห่งอหิงสา, เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อสันติภาพและการละเว้นความรุนแรง, เป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและกลมเกลียว เมื่อปีที่แล้ว อาตมาได้แจกแจงรายละเอียดของแผนการนั้นในเมืองสตราสบูร์ก (ของฝรั่งเศส) ที่รัฐสภายุโรป อาตมาเชื่อในแนวคิดที่ได้เปิดเผยออกมาในโอกาสเหล่านั้นว่า มันทั้งทำได้จริงและมีเหตุมีผล ถึงแม้คนบางคนของอาตมาจะวิจารณ์ว่าเป็นการประนีประนอมจนเกินไปก็ตาม ช่างน่าโชคร้ายที่ผู้นำของจีนไม่ตอบสนองในแง่ดีต่อข้อเสนอแนะของเรา ซึ่งรวมถึงการให้ความยินยอมในเรื่องสำคัญต่าง ๆ หากสิ่งนี้ยังดำเนินต่อไป เราจะถูกบังคับให้ต้องทบทวนจุดยืนของเราอีกครั้ง ความสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างทิเบตกับจีน จะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งความเสมอภาค, ความเคารพ, ความเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการซึ่งผู้ปกครองอันชาญฉลาดของทั้งทิเบตและจีน เคยตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาย้อนไปตั้งแต่ ค.ศ. 823 ซึ่งสลักลงบนเสาที่ทุกวันนี้ยังตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัดโจคัง ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของทิเบต ในเมืองลาซา มันมีใจความว่า ‘ชาวทิเบตจะได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขในดินแดนทิเบตอันกว้างใหญ่ไพศาล และชาวจีนจะได้อาศัยอย่างมีความสุขในดินแดนของจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลเช่นกัน’ ในนามภิกษุของพุทธศาสนา ความกังวลของอาตมาได้แผ่ขยายไปถึงบรรดาสมาชิกครอบครัวมนุษย์ทั้งมวล และแท้จริงแล้วได้แผ่ไปถึงสรรพสัตว์ทั้งปวงที่ทนทุกข์ทรมาน อาตมาเชื่อว่าความทุกข์ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากอวิชชา ผู้คนสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่นด้วยการไขว่คว้าหาความสุขและความพึ่งพอใจให้กับตนเอง แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นมาจากความรู้สึกถึงความสงบที่อยู่ภายในและความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งขณะเดียวกันก็ต้องได้มาด้วยการมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรัก และความเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมทั้งขจัดอวิชชา, ความเห็นแก่ตัว และความโลภให้หมดไป ปัญหาที่เราเผชิญทุกวันนี้ ทั้งความรุนแรง, ความขัดแย้ง, ธรรมชาติที่ถูกทำลาย, ความยากจน, ความหิวโหย และอื่น ๆ ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ผ่านความมุ่งมั่นตั้งใจของมนุษย์, ความเข้าอกเข้าใจ และการพัฒนาให้เกิดความเป็นพี่เป็นน้องกัน เราจำเป็นต้องสร้างความรับผิดชอบสากลให้กันและกัน และให้กับโลกนี้ที่เราแชร์ร่วมกัน ถึงแม้อาตมาค้นพบว่า ศาสนาพุทธของตนเองมีประโยชน์ในการช่วยสร้างความรักและความเห็นอกเห็นใจกัน แม้กระทั่งกับพวกเขาเหล่านั้นที่เรามองเป็นศัตรู แต่อาตมาก็เชื่อเช่นกันว่า เราทุกคนสามารถมีจิตใจที่ดีและมีจิตสำนึกถึงความรับผิดชอบสากลได้ แม้จะมีหรือไม่มีศาสนาก็ตาม ด้วยผลกระทบจากวิทยาศาสตร์ต่อชีวิตของเราที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ศาสนาและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณก็ยิ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยย้ำเตือนเราถึงความเป็นมนุษย์ มันไม่มีความขัดแย้งกันใด ๆ ระหว่างปัจจัยทั้งสอง ปัจจัยหนึ่งทำให้เราได้มองทะลุเข้าไปเห็นคุณค่าของอีกปัจจัยหนึ่ง ทั้งวิทยาศาสตร์และคำสอนของพระพุทธเจ้าบอกให้เราทราบถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขั้นพื้นฐานของทุกสิ่ง ความเข้าใจนี้มีความสำคัญหากเราต้องการให้เกิดการปฏิบัติอันแน่วแน่และเป็นไปในแง่ดี เกี่ยวกับความวิตกเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่ต้องลงมือจัดการอย่างเร่งด่วน อาตมาเชื่อว่าทุกศาสนาล้วนวิ่งตามเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างสิ่งที่ดีให้กับมนุษย์ และนำความสุขมาสู่มนุษย์ทั้งมวล ถึงแม้วิธีการอาจจะดูแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเหมือนกัน ขณะที่เราเข้าสู่ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษนี้ อาตมามองโลกในแง่ดีว่า ค่านิยมเก่าแก่ต่าง ๆ ที่ช่วยค้ำจุนมนุษยชาติ กำลังยืนยันตัวของมันเองอีกครั้งในทุกวันนี้ เพื่อเตรียมตัวให้เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยจิตใจที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้น อาตมาขออวยพรให้เราทุกคน ทั้งผู้กดขี่และมิตรสหาย ขอให้เราประสบความสำเร็จร่วมกันในการสร้างโลกที่ดีขึ้นด้วยความรักและความเข้าใจความเป็นมนุษย์ และการทำเช่นนั้นได้ เราอาจทำให้ความเจ็บปวดรวดร้าว และความทุกข์ของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ลดลง ขอบคุณครับ” เรียบเรียง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nobelprize.org/.../1989/lama/acceptance-speech/