ตง ธีระนุสรณ์กิจ “คุกกี้อิมพีเรียล” ของขวัญจับฉลากที่ใครๆ ก็ล้อ...แต่อร่อย

ตง ธีระนุสรณ์กิจ “คุกกี้อิมพีเรียล” ของขวัญจับฉลากที่ใครๆ ก็ล้อ...แต่อร่อย

ของขวัญจับฉลากที่ใครๆ ก็ล้อ...แต่อร่อย

ถึงปีใหม่ทีไร เป็นอันเห็น "คุกกี้อิมพีเรียล” ขึ้นแท่นเป็นของขวัญจับฉลากสุดฮิตได้ทุกปี ทำเอาหลายคนลุ้น (แบบระทึก) ว่าใต้กระดาษห่อของขวัญทรงกลมแบนที่จับได้จะใช่คุกกี้กล่องแดงในตำนานหรือเปล่า ถึงกับมีกระแสขำๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตคัดค้านการเอาคุกกี้กล่องแดงมาเป็นของขวัญปีใหม่หรือเอามาจับฉลากกันเลยทีเดียว แต่แล้วไงใครแคร์? เพราะต่อให้ถูกล้อเลียนแค่ไหน คุกกี้อิมพีเรียลก็ถือเป็นสินค้าขายดีประจำเทศกาลปีใหม่ทุกปีไปแล้วเรียบร้อย  ส่วนหนึ่งอาจเพราะคุกกี้คือขนมที่ใช้สื่อความสุขได้ง่าย เป็นสิ่งที่ทุกคนแบ่งปันกันได้ ราคาก็ไม่แพง แถมยังหาซื้อได้ทั่วไป คุกกี้อิมพีเรียลที่เราๆ คุ้นหน้าคุ้นตากันดี จึงเป็นของขวัญปีใหม่สุดคลาสสิกที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ แถมยังเป็นสินค้าตัวดังที่สร้างรายได้หลักให้ ตง ธีระนุสรณ์กิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง เคซีจี คอร์ปอเรชั่น ที่ในปี 2560 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 5,044.56 ล้านบาท แต่ถ้าเอาเฉพาะเจาะจงกว่านั้น เคซีจี คอร์ปอเรชั่น มีรายได้รวมทะลุ 5,000 ล้านบาทมาแล้วตั้งแต่ปี 2557!   อาณาจักรความอร่อย ตงซึ่งเกิดในครอบครัวคนจีนมีนิสัยหนักเอาเบาสู้ และมองหาลู่ทางทำกินเพื่อสร้างโอกาสที่ดีขึ้นให้กับชีวิตอยู่เสมอ ในปี 2501 ตงซึ่งอยู่ในวัยไม่ถึง 20 ปี ร่วมกับพี่ชายและพี่สาวคือ วิจัย วิภาวัฒนกุล และ นันทนา กุศลส่งเสริม ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ทำธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ อย่างเนยและเนยแข็งยี่ห้อ “อลาวรี่” จากออสเตรเลีย  จากธุรกิจเล็กๆ กิมจั๊วพาณิชย์สร้างการเติบโตให้ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2515 ก็ก่อตั้งโรงงานแห่งแรกขึ้นบนถนนบางนา-ตราด ในชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อผลิตเนยและชีส ซึ่งก็ได้บริษัทผู้ผลิตเนยอลาวรี่จากออสเตรเลียมาช่วยเรื่องเทคโนโลยีและเครื่องจักร จากนั้นเมื่อทุกอย่างไปได้ดี โรงงานก็ขยายการผลิตให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร นม และขนมสำเร็จรูปต่างๆ อย่างคุกกี้ แยมผลไม้ เยลลี่สำเร็จรูป ฯลฯ เรียกว่าปี 2528 เป็นปีเกิดของคุกกี้อิมพีเรียลก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากโรงงานแรกขยายไลน์การผลิต สร้างการเติบโตให้ธุรกิจครอบครัวของตงและพี่ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว พวกเขาก็วางแผนสร้างโรงงานแห่งที่สองและเปิดดำเนินการในปี 2528 บนเนื้อที่ 42 ไร่ ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ภายใต้ชื่อ บริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัล ฟู้ดส์ อินดัสทรี่ จำกัด นับเป็นโรงงานผลิตคุกกี้แห่งแรกของไทย โดยผลิตทั้งบิสกิต ขนมอบ และน้ำตาลก้อน  ธุรกิจของตงไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะในปี 2531 เขาได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตน้ำส้ม “ซันควิก” ในชื่อ บริษัท อิมพีเรียล สเปเชี่ยลตี้ฟู้ดส์ จำกัด จากนั้นอีกหลายปีถัดมาก็ก่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งขยายเข้าสู่ธุรกิจผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเบเกอรี่ ตามด้วยปี 2555 ที่ก่อตั้ง บริษัท ยูไนเต็ดแดรี่ฟู้ดส์ จำกัด บนพื้นที่ 20 ไร่ ผลิตสินค้าจำพวกเนย มาการีน และชีส เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งในไทยและอาเซียน  จวบจนปี 2557 ด้วยขนาดขององค์กรและธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ตงจึงตัดสินใจควบรวมบริษัทเข้าด้วยกันให้เป็น บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด    ไขตำนานคุกกี้ “สูตรเดนมาร์ค” ตั้งแต่เริ่มผลิตคุกกี้อิมพีเรียล ตงก็ใช้สูตรคุกกี้เดนมาร์คมาตลอด ซึ่งถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นสูตรนี้ ตงเคยเฉลยไว้ว่า เพราะสมัยที่เขานำเข้าคุกกี้มาขายในไทยเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เป็นยุคที่มีแต่คุกกี้นำเข้าจากต่างประเทศทั้งนั้น ซึ่งหลายแบรนด์มาจากประเทศเดนมาร์กซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องคุกกี้  แม้คุกกี้นำเข้าจะได้รับความนิยม แต่ก็จำกัดแวดวงอยู่เฉพาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อเพราะมีราคาค่อนข้างแพง ตงเลยเกิดความคิดว่าถ้าสามารถผลิตเองได้ก็คงดี เพราะเป็นการเชื่อมต่อกับสินค้าประเภทเนยที่บริษัทมีโรงงานผลิตอยู่แล้ว และจะได้สร้างฐานลูกค้าในระดับกว้างได้มากยิ่งขึ้น ตงจึงก่อตั้งโรงงานผลิตขึ้นใหม่ในปี 2528 นำเทคโนโลยีการผลิตคุกกี้เข้ามาใช้ และคงความเป็นคุกกี้สูตรเดนมาร์คที่มี 5 รูปทรง อย่าง เพรทเซล, วานิลลา ริง, เคอร์เรนท์ (ทรงกลมมีลูกเกด), สปีซี (กลม) และ ฟินนิช (สี่เหลี่ยม)  แต่แค่รูปทรงคุกกี้ 5 แบบบนกล่องคงไม่พอสื่อถึงความเป็นคุกกี้สูตรเดนมาร์ค ตงจึงย้ำให้ชัดขึ้นด้วยการนำรูปทหารหน้าพระราชวังที่กรุงโคเปนเฮเกนมาใส่เพิ่มเข้าไปเป็นการสร้างภาพจำ ซึ่งก็น่าจะได้ผลเป็นอย่างดี เพราะใช้ต่อเนื่องมากว่า 30 ปี  . กระทั่งหลายปีมานี้ที่ เคซีจี คอร์ปอเรชั่น ออกคอลเล็กชันคุกกี้อิมพีเรียลในกล่องเหล็กที่ออกแบบให้ทันสมัยเพิ่มเข้ามาในช่วงเทศกาลเพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าคุกกี้กล่องเหล็กสีแดงแบบคลาสสิกก็ยังได้รับความนิยมมากกว่าอยู่นั่นเอง   ฝ่าวิกฤต ถึงจะขยายธุรกิจจนใหญ่โต แต่ก็มีบางช่วงที่ตงต้องพบอุปสรรคใหญ่อยู่เหมือนกัน อย่างช่วงปี 2540 ที่ถูกวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” เล่นงานเข้าอย่างจัง ช่วงเวลานั้นเขามีภาระจ่ายค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงาน ปรากฏว่าเมื่อค่าเงินบาทลอยตัว หนี้สินเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าทันที ตงตั้งสติและคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบในสถานการณ์นี้อย่างเต็มที่ เพราะ “ความเชื่อมั่น” คือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ เขาเลือกจ่ายหนี้เต็มจำนวนแบบไม่ขอลดภาระหนี้ และสามารถสะสางทุกอย่างได้ในที่สุด  เช่นเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกิจกับลูกค้า หากอีกฝ่ายติดขัดไม่สามารถจ่ายค่าสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด ตงก็จะถามถึงเหตุผลเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข ซึ่งบางกรณีตงก็ยืดเครดิตให้ลูกค้าเป็นระยะเวลามากกว่าเดิม 2 เท่า เพื่อให้ลูกค้าจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย  มาถึงยุคนี้ เมื่อโลกธุรกิจแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น ธุรกิจครอบครัวของตงก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด จึงได้เห็นการควบรวมบริษัทต่างๆ ให้อยู่ในชื่อเดียวกันคือ เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เพื่อความคล่องตัว รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กร และเสริมทีมคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มองไปถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวอื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ เรียกว่ากลมกล่อมทั้งรสชาติคุกกี้และทิศทางองค์กรเลยทีเดียว   ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://kcgcorporation.com/about-us/history/ https://www.prachachat.net/csr-hr/news-54659 https://www.right-livelihoods.org/learning/ https://www.brandbuffet.in.th/…/the-story-of-imperial-cook…/