แมนเฟรด ลามี : เบื้องหลังปากกา ‘LAMY’ กับปรัชญาการออกแบบแสนเรียบง่ายที่ครองใจผู้คนมากว่า 91 ปี

แมนเฟรด ลามี : เบื้องหลังปากกา ‘LAMY’ กับปรัชญาการออกแบบแสนเรียบง่ายที่ครองใจผู้คนมากว่า 91 ปี

แมนเฟรด ลามี : เบื้องหลังปากกา ‘LAMY’ กับปรัชญาการออกแบบแสนเรียบง่ายที่ครองใจผู้คนมากว่า 91 ปี

จะมีปากกาสักกี่แบรนด์ที่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น แต่ผู้คนจำนวนมากยังยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายด้วยความเต็มใจ แถมยังเป็นแบรนด์ที่อยู่มาอย่างยืนยาวเกือบศตวรรษ ซึ่งแบรนด์ที่ว่านี้คือปากกา ‘LAMY’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นหูกับชื่อและคุ้นตากับดีไซน์เรียบง่ายทันสมัยอันเป็นเอกลักษณ์ แม้รูปทรงจะดูโมเดิร์น แต่ปากกา LAMY เดินทางมายาวนานกว่า 9 ทศวรรษ ตั้งแต่รุ่นพ่อ ‘โจเซฟ ลามี’ (Josef Lamy) ส่งต่อมายังรุ่นลูก ‘แมนเฟรด ลามี’ (Manfred Lamy) ซึ่งแมนเฟรดนี่เองที่เป็นผู้นำปรัชญาการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์มาใช้กับ LAMY ตั้งแต่ปี 1966 มาจนถึงปัจจุบัน หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เดิมทีโจเซฟ ลามี ทำงานในบริษัทผลิตเครื่องเขียนสัญชาติอเมริกาอย่าง Parker ก่อนจะออกมาก่อตั้งบริษัทปากกาของตนเองในปี 1930 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี และธุรกิจของเขาก็ค่อนข้างไปได้สวยด้วยปากกาหมึกซึมที่มีจุดขายคือ เขียนลื่น ซึมไว ไม่เลอะมือ  หลังธุรกิจปากกาถือกำเนิดขึ้นไม่นาน ในปี 1936 ลูกชายของเขาได้ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก โจเซฟมองดูเด็กน้อยด้วยแววตาอันเป็นสุข เขาตั้งชื่อให้เด็กชายคนนี้ว่า ‘แมนเฟรด ลามี’  แมนเฟรด ลามี เติบโตมากับกิจการผลิตปากกาของคุณพ่อ เขาเป็นเด็กชายผู้ฉลาดเฉลียวและเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ในวัย 26 ปี ก่อนจะเข้าทำงานในบริษัท LAMY เมื่อปี 1962 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด และก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารแทนคุณพ่อในเวลาต่อมา ซึ่งระหว่างเริ่มงานในบริษัท LAMY แมนเฟรดมีแบรนด์ที่เปรียบเสมือนไอดอลของเขาอย่าง Braun และ Olivetti  ราวกับโชคชะตาฟ้ากำหนด เมื่อแมนเฟรดได้พบกับ Gerd A. Müller นักออกแบบของ Braun ในเวลาต่อมา จากนั้นทั้งคู่ได้มีโอกาสออกแบบปากการ่วมกัน กลายเป็น ‘LAMY 2000’ ที่เปิดตัวในฤดูใบไม้ร่วงปี 1966 ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ LAMY เพราะการออกแบบครั้งนี้ คือจุดเริ่มต้นของการนำปรัชญา ‘เบาเฮาส์’ (Bauhaus) มาใช้ในการออกแบบและกลายเป็นหัวใจสำคัญของ LAMY ที่ยึดถือมาตั้งแต่ปี 1966 จวบจนปัจจุบัน ‘เบาเฮาส์’ หรือ ‘Bauhaus’ คือชื่อโรงเรียนด้านศิลปะและการออกแบบอันโด่งดังของเยอรมนี รวมทั้งเป็นคำที่ใช้เรียกการออกแบบอันเรียบง่าย เหนือกาลเวลา เน้นฟังก์ชันมากกว่าความสวยงาม (form follows function) และลดทอนการตกแต่งใด ๆ ที่ไม่จำเป็น ทำให้ดีไซน์ของ LAMY ตอบโจทย์ผู้คนหลากเพศหลายวัย และสอดรับกับการใช้งานโดยเฉพาะเหล่านักออกแบบหรือผู้คนที่ต้องจับปากกาอยู่บ่อย ๆ  ต่อมาในปี 1980 แมนเฟรดได้เปิดตัวปากการุ่นใหม่ที่ชื่อว่า LAMY Safari ที่ Frankfurt Fair ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมรุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก เพราะพวกเขาสามารถเอาชนะใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ ด้วยปรัชญา Bauhaus ดังกล่าว ยิ่งผสานกับเครื่องไม้เครื่องมือผลิตปากกาซึ่ง LAMY ผลิตขึ้นเอง ยิ่งทำให้ปากกายี่ห้อนี้สามารถควบคุมคุณภาพได้แบบพรีเมียมมาจนถึงปัจจุบัน  ด้วยดีไซน์อันโดดเด่นทำให้ LAMY ได้รับรางวัลด้านการออกแบบตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างปี 1988 ที่คณะกรรมาธิการของประชาคมยุโรป (the Commission of the European Community) ได้มอบรางวัล European Design Prize 1988 ให้กับ LAMY หรือปี 1996 และปี 2004 ที่ LAMY pico ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Design Oscar เป็นต้น  นอกจากนี้ LAMY ยังเป็นแบรนด์ที่ปรับตัวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เพราะช่วงที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ LAMY ก็ได้ผลิตปากกาสำหรับแท็บเล็ตออกมาจัดจำหน่าย โดยยังคงความเรียบง่ายและดีไซน์ที่เน้นฟังก์ชันอยู่เช่นเดิม ดังนั้นหากเปรียบ LAMY เหมือนกับคน ก็คงเป็นคนที่คงความหนุ่มสาว ความทันสมัยไว้ราวกับเป็นอมตะ และแม้ปัจจุบันกาลเวลาจะพัดพาเอาลมหายใจของผู้ก่อตั้งอย่าง โจเซฟ ลามี และผู้สานต่ออย่าง แมนเฟรด ลามี ให้จากไปตลอดกาล แต่เชื่อว่าจิตวิญญาณและปรัชญาแบบ Bauhaus อันเรียบง่ายนี้จะยังคงอยู่คู่ปากกา LAMY ไปอีกนานแสนนาน   ที่มา: https://www.lamy.com/en/history/ https://glennspens.com/companies/lamy.html https://www.forbes.com/sites/nancyolson/2021/06/29/not-just-a-pen-lamys-timelessly-modern-take-on-writing/?sh=329e2ae25c80 https://www.youtube.com/watch?v=CtE2y8ZP9R0 https://www.marmind.com/blog/lamy-pens-marketing/ https://www.lamy.com/fileadmin/redaktion/Pressebereich/Pressemitteilungen/Press_release_Manfred_Lamy_2021.pdf