08 ม.ค. 2562 | 18:14 น.
เวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์ “อิเกีย” (IKEA) ไม่ว่าชั้นหนังสือบิลลี่ขนาดใหญ่ หรือโต๊ะอินกูร์ที่ทำจากไม้สนแท้ เคยสงสัยไหมว่า ใครกันที่ออกแบบสิ่งของเหล่านี้ให้สวยงามน่าใช้งาน และที่สำคัญคือ บรรจุใส่กล่องเรียบร้อยเพื่อให้ขนย้ายสะดวก ใส่ท้ายรถกลับบ้านไปประกอบด้วยตัวเองได้ง่าย หนึ่งในนักออกแบบที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้อิเกีย เป็นอิเกียอย่างทุกวันนี้คือ กิลลิส ลูนด์เกรน (Gillis Lundgren) พนักงานคนที่ 4 ของอิเกีย ที่ได้ไอเดียการแย่งชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์แล้วจัดเรียงเป็นระเบียบในกล่องแบนๆ ให้มีขนาดที่เล็กที่สุด รอให้ผู้ใช้งานประกอบขึ้นเอง “ผมบอกอิงวาร์ว่า เจ้าโต๊ะนั่นดูเกะกะเก้งก้างชะมัดยาด เราน่าจะถอดขามันออกแล้วยัดไว้ใต้โต๊ะดีกว่ามั้ย” กิลลิส ลูนด์เกรน เคยเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ปฏิวัติอิเกีย ให้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก กิลลิส ลูนด์เกรน เกิดที่สวีเดน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1929 ร่วมงานกับอิเกียเมื่อปี 1953 โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งเด็กฝึกงาน เนื่องจากช่วงแรกบริษัทยังมีพนักงานเพียงไม่กี่คน เขาเลยมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับ “อิงวาร์ คัมปราด” (Ingvar Kamprad) ผู้ก่อตั้งอิเกีย ในช่วงปี 1950 ระหว่างที่เขากับอิงวาร์ขนโต๊ะตัวหนึ่งขึ้นรถ เพื่อนำไปถ่ายทำแคตตาล็อกและโบรชัวร์ที่สตูดิโอ เขาได้แนะนำให้ไขน็อตที่ยึดขาโต๊ะออกเพื่อให้ขนย้ายสะดวกยิ่งขึ้น อิงวาร์ คัมปราด เคยกล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้น ในหนังสือ “Leading by Design - the IKEA Story” ที่เขียนโดย เบร์ททิล ทอเรกุดล์ (Bertil Torekul) ในปี 1998 “การแยกชิ้นส่วนเพื่อบรรจุลงกล่องแบนๆ นี่แหละที่เป็นจุดเริ่มของปฏิวัติระบบการทำงานของพวกเรา” วิธีคิดง่ายๆ ในการแยกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ยัดใส่กล่องกระดาษแบนๆ ทำให้พนักงานอิเกียเพิ่มจาก 4 คน ในปี 1953 เป็นมากกว่าสองแสนคนกระจายตัวอยู่ใน 424 สาขาทั่วมุมโลกในปัจจุบัน แม้อิเกียจะไม่ใช่รายแรกที่คิดค้นวิธีการประกอบเฟอร์นิเจอร์เอง เพราะมีหลักฐานว่าวิธีการนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยจีนส่งเครื่องเรือนตัวอย่างข้ามมหาสมุทรไปขายยังยุโรป รวมไปถึงการจดสิทธิบัตรการออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ (Knock-down Design) ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ก่อนปี 1878 แต่อิเกียทำให้วิธีการนี้ถูกเรียกว่า "Flatpack Revolution" ได้อย่างเต็มปาก เพราะอิเกียเป็นรายแรกที่ เอาแนวคิดนี้มาเป็นจุดตั้งต้นในระบบการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้น ช่วยให้มันแมสและส่งขายไปทั่วโลก นอกจากเครดิตในการจุดประกายแนวคิดแยกชิ้นส่วนบรรจุกล่องแล้ว ลูนด์เกรน ยังมีผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างตู้หนังสือบิลลี่ (Billy) ที่เขาออกแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ว่ากันว่า ทุกๆ 5 วินาที อิเกียจะขายตู้หนังสือบิลลี่ ได้ 1 หลัง ทำให้ตอนนี้มีตู้หนังสือบิลลี่มากกว่า 41 ล้านตู้ทั่วโลก ซึ่งถ้านำมาต่อกันแล้วจะยาวมากกว่า 70,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว “ผมออกแบบร่างแรกของเจ้าตู้นี้บนกระดาษทิชชู มันไม่แปลกที่จะจดใส่อะไรใกล้ตัว เพราะเวลาไอเดียมันแวบขึ้นมา ผมต้องรีบจดมันไว้ก่อนจะลืม” ลูนด์เกรน เล่าถึงตู้หนังสือในตำนานที่เกิดขึ้นบนเศษกระดาษชำระ ผลงานที่ยอดเยี่ยมหลายอย่างตลอดชีวิตการทำงานของ กิลลิส ลูนด์เกรน ทั้งแนวคิดการแยกชิ้นส่วนบรรจุกล่อง และเฟอร์นิเจอร์อีกกว่า 200 ชิ้น ทำให้ในปี 2012 เขาได้รับรางวัล Swedish Tenzing Prize สำหรับนักคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งเขาออกตัวอย่างถ่อมตัวในงานรับรางวัลว่าการถอดขาโต๊ะตัวนั้นเป็นแค่เรื่องบังเอิญ แต่ความบังเอิญนั่นเองที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์อิเกียถอดประกอบได้ง่ายดายด้วยเครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้น บรรจุใส่กล่องสินค้าแบนราบ สะดวกต่อการขนส่ง ลดความเสียหาย และต้นทุนในการขนส่ง ช่วยให้ราคาเฟอร์นิเจอร์สมเหตุสมผลทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หลังเกษียณอายุ ลูนด์เกรน ยังคงรับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับอิเกียจนอายุ 80 กว่า เพื่อช่วยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิสัยทัศน์ของอิเกีย ที่จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน “ผมยังคงยึดมั่นในปรัชญาการออกแบบเพื่อทุกคน มุ่งมั่นในการหาวิธีแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำ งานออกแบบทุกชิ้นของผมเลยดูเรียบง่าย ใช้งานได้จริงสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ในทุกเวลา” ที่มา : https://www.ikea.com https://www.independent.co.uk https://qz.com