04 ต.ค. 2565 | 10:48 น.
ปีโป้ไม่ใช่ขนมแจ้งเกิดของบริษัท
บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 บนถนนปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ โดย สมชาย เวชากร ในขณะนั้นเขายังเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เหตุผลที่เขาอยากทำธุรกิจเล็ก ๆ เกี่ยวกับขนมขบเคี้ยวเพราะว่าในสมัยนั้นหาซื้อยาก ตัวเลือกน้อย และบริษัทใหญ่ที่มีอยู่ในตอนนั้นก็ไม่ผลิตขนมที่แปลกใหม่สักเท่าไร
โดยขนมประเภทแรกที่ผลิตออกมาก็คือ ‘ปักกิ่ง’ เวเฟอร์กรอบรสช็อกโกแลตและรสนม ขนมของเด็กยุค 90s ที่อยู่ในใจของใครหลายคน ซึ่งสมชายมองว่า ปักกิ่งเป็นขนมที่สามารถกินเล่นระหว่างวันได้ พกพาง่าย และเป็นเวเฟอร์กรอบ ๆ ซึ่งคนไทยชอบเทกซ์เจอร์แบบนี้ด้วย
ส่วนปีโป้เยลลี่นั้นคือสินค้าออกใหม่รุ่นที่ 3 (ต่อจากขนมโอโจ้เวเฟอร์ที่มีแนวคิดมาจากขนมทองม้วนของไทย) ไอเดียของปีโป้ พูดต่อ ๆ กันมาว่า ในยุคนั้นการที่เด็ก ๆ พยายามหาซื้อเยลลี่รสชาติอร่อยเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนใหญ่ถ้าอยากกินต้องทำเองด้วยการใช้ผงวุ้นมาต้มน้ำ และก็รอให้วุ้นเซตตัวกว่าจะกินได้
ทั้งนี้ สมชาย เวชากร มองเห็นโอกาสจาก pain point จึงเป็นที่มาของขนมปีโป้เยลลี่หลากหลายรสชาติ โดยสร้างแรงบันดาลใจมาจากการทำวุ้นผสมกับผลไม้ชนิดต่าง ๆ และนำมาดัดแปลงเป็นรสชาติของปีโป้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 รสชาติดั้งเดิม คือ รสสตรอว์เบอร์รี (สีแดง), รสส้ม (สีส้ม), รสแอปเปิลเขียว (สีเขียว), รสองุ่น (สีม่วง) และรสลิ้นจี่ (สีขาว)
โดยระหว่างนั้นปีโป้ก็ได้เซอร์ไพรส์รสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอตามฤดูกาล อย่างที่ผ่านมามีรสชาติใหม่ เช่น ปีโป้โยเกิร์ต, ปีโป้กลิ่น M-150, ปีโป้โคล่า เป็นต้น
ที่มาของชื่อ_ปีโป้
มีหลายคนไม่น้อยที่สงสัยว่า คำว่า ‘ปีโป้’ มาจากอะไร มีความหมายว่าอย่างไร ซึ่ง thai franchise center ได้ระบุข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า จากพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ว่า ปีโป้ หมายถึง เพิ่มเติม หรือ ชดเชย ซึ่งน่าจะเป็นการตีความของคำว่า ปีโป้ ในเชิงสัญลักษณ์แทนขนมเยลลี่ที่ผลิตมาเพื่อทดแทนขนมเยลลี่ที่ขาดแคลนในตลาดในสมัยก่อน
แต่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า ความหมายดังกล่าวคือเรื่องจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่เว็บไซต์ของบริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ดส์ ก็ไม่มีการอธิบายความหมายของปีโป้เอาไว้ชัดเจน
ปรัชญาสร้างรอยยิ้มกับขนมเยลลี่ที่แกะยาก
ใครที่ชอบกินปีโป้คงรู้ว่าเป็นอีกหนึ่งขนมที่แกะยากมาก แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด พยายามที่จะรักษารสชาติและคุณภาพเอาไว้ ด้วยเทคนิค ‘heat sealing’ ก็คือ การใช้ความร้อนในการทำให้วัสดุพลาสติก 2 ชิ้นติดกันนั่นเอง
สังเกตง่าย ๆ เวลาที่เราดึงฝาของปีโป้ออกบางทีก็จะหลุดแค่ชั้นแรก และเหลือให้เราเห็นพลาสติกสีขาวขุ่นเอาไว้ ทำให้หงุดหงิดใจอยู่หลายครั้ง
แต่ถ้าเทียบจากคุณภาพและรสชาติของปีโป้ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย ก็อาจจะพอช่วยให้ใจเย็นเวลาที่แกะกินได้บ้าง
ปรัชญาหนึ่งของบริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด ที่ยึดถือมาโดยตลอดภายใต้แบรนด์ที่ใช้ชื่อว่า ‘ยูโร่’ ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนได้ ซึ่งสโลแกนตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ยังเป็น ‘ยูโร่...รอยยิ้มแห่งคุณภาพ’
ทั้งนี้ ภายใต้ชื่อแบรนด์ยูโร่ ยังมีอาณาจักรขนมอื่น ๆ ที่ติดตลาดไทยมากมาย อย่างเช่น ยูโร่เค้ก (เปิดตัวปี 2535), กัสเซ็น (เปิดตัวปี 2538), เอลเซ่ (เปิดตัวปี 2547), ปีโป้ เชค (เปิดตัวปี 2560) ซึ่งอาณาจักรของยูโร่ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทของไทยที่มีรายได้หลักพันล้านมาหลายปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
นอกจาก สมชาย เวชากร รักที่จะสร้างสินค้าใหม่ ๆ จาก pain point คนไทย เขายังเก่งในการสร้างสตอรี่ให้กับโปรดักต์ด้วย และฉลาดในการใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านเสียงดนตรี (Music Marketing) อย่างเพลงที่ใช้โฆษณาปีโป้ “ปีปีโป้ ปะปะปี ปีโป้” ที่ยังเป็นกิมมิคติดหูสะกิดใจคนไทยจนทุกวันนี้
ภาพ: eurofood, thai franchise center
อ้างอิง:
https://www.longtunman.com/4014
https://www.thaifranchisecenter.com/document/show.php?docuID=5511