ก่อนเป็น ‘วราภรณ์ มนัสรังษี’ เจ้าแม่ส่งออกมะพร้าวสด เคยติดลบหลัก 20 ล้านบาทมาก่อน

ก่อนเป็น ‘วราภรณ์ มนัสรังษี’ เจ้าแม่ส่งออกมะพร้าวสด เคยติดลบหลัก 20 ล้านบาทมาก่อน

เปิดเรื่องราวของ ‘นิ่ม - วราภรณ์ มนัสรังษี’ ก่อนเป็นเจ้าแม่ส่งออกมะพร้าวผลสด กับชีวิตที่โตมากับธุรกิจของครอบครัวจนฟูมฟักเป็นเธออย่างทุกวันนี้

  • ‘วราภรณ์ มนัสรังษี’ ผู้บริหารกลุ่ม K-Fresh กับชีวิตและวัยเด็กที่ชอบค้าขายเป็นทุนเดิม อยู่กับครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คลุกคลีกับธุรกิจ
  • จากลูกสาวร้านโชห่วยที่ชลบุรี สู่ผู้บริหารหญิงธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอมสดกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
  • เรื่องราวและความลำบากพลิกผันจากชีวิตที่เคยติดหนี้กว่า 20 ล้านบาท เพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง

ว่ากันว่าวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ล้มล้างหลายธุรกิจมานักต่อนักแล้ว มีหลายคนที่ได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘นิ่ม - วราภรณ์ มนัสรังษี’ ผู้บริหารกลุ่ม K-Fresh ผู้ผลิตและส่งออกมะพร้าวน้ำหอมลูกสดกว่า 20 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

เรื่องราวของเธอและบริษัทที่ต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัวของทางสามี ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว สร้างความประทับใจ และวันนี้ The People อยากให้ทำความรู้จักกับเธอในฐานะผู้บริหาร และผู้หญิงคนหนึ่งที่มีปูมหลังน่าสนใจ

ก่อนเป็น ‘วราภรณ์ มนัสรังษี’ เจ้าแม่ส่งออกมะพร้าวสด เคยติดลบหลัก 20 ล้านบาทมาก่อน

 

ลูกสาวร้านโชห่วยในชลบุรี

นิ่ม - วราภรณ์ เกิดและโตในจังหวัดชลบุรี มีพี่น้องทั้งหมด 11 คน และเธอเป็นน้องคนสุดท้องของบ้าน ซึ่งพ่อแม่ของเธอทำธุรกิจร้านโชห่วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอชอบการค้าขาย และเป็นคนที่คิดอยากขายโน่นนี่ตลอดเวลา

“ครอบครัวพี่นิ่มมาจากธุรกิจโชห่วยที่ชลบุรีค่ะ ก็เป็นร้านขายปลีกขายส่ง สมัยก่อนเรียกว่าเป็นร้านค้าหลักของหนองมนชลบุรีเลย"

“อย่างสมัยนั้นบ้านพี่นิ่มก็เป็นตัวแทนน้ำปลาตราตาชั่งด้วย ใครมาเที่ยวก็ต้องซื้อน้ำปลาตราตาชั่งกลับอะไรอย่างนี้ และที่ร้านก็มีโรงสีจากเชียงรายมาส่งข้าวเหนียวเขี้ยวงู คือเรียกว่าทุกร้านในหนองมนจะต้องซื้อของที่ร้านเฮียบไถ่ ถือว่าเป็นร้านที่มีชื่อเสียงในหนองมน”

ด้วยสภาพแวดล้อมของ นิ่ม - วราภรณ์ ที่เห็นและคุ้นตากับการทำธุรกิจมาโดยตลอด เรียกว่าเป็นการฟูมฟักความเป็นผู้ประกอบการในสายเลือดโดยตรง เธอค่อนข้างเป็นคนขยัน อยากรู้อยากลอง ชอบคิดชอบทำ และเป็นคนชอบคิดนอกกรอบ

“เรียกว่าเราโตขึ้นมากับครอบครัวที่ทำโชห่วย โดยนิสัยก็คือเป็นคนขยัน ขยันกันทั้งบ้าน เพราะถูกเลี้ยงดูมาอย่างนี้ แล้วก็ที่บ้านของพี่นิ่มจะหล่อหลอมเรื่องของการคิด จะทำโปรดักต์ที่จะขายด้วย อย่าง ‘น้ำมันหมู’ เราก็จะกรอกใส่ถุงมัดขายเป็นถุง ๆ ถุงละ 10 บาทอะไรอย่างนี้ หรือจะเป็นของเล็ก ๆ ก็จะมีขายบนแผงที่ร้าน เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีเซเว่น-อีเลฟเว่น หรือร้านสะดวกซื้อก็ยังไม่มี

“หรือในช่วงปิดเทอม พี่นิ่มก็จะทำน้ำหวานเป็นถุง ๆ ขาย พวกน้ำเก๊กฮวย ส่งให้ร้านค้าในโรงเรียน มันก็เลยทำให้เราชอบค้าขายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วก็เห็นอะไรก็เป็นโอกาสไปหมด อีกอย่างพี่นิ่มชอบเรื่องงานศิลปะ ชอบวาดรูป วาดการ์ตูนด้วย โดยพื้นฐานก็ชอบแต่งบ้านอยู่แล้ว ตอนเด็ก ๆ ก็ชอบไปอ่านหนังสือบ้านและสวนที่บ้านเพื่อน

“หลาย ๆ อย่างรวมกันพี่นิ่มว่า มันก็สร้างตัวตนให้เรามีคาแรคเตอร์อย่างในปัจจุบันนะ อย่างด้านครีเอทีฟ พี่นิ่มเป็นคนชอบประดิดประดอย ที่บ้านมีจักรเย็บผ้าของพี่สาวคนโตก็แอบเล่นจักร เอาเศษผ้ามาทำเป็นชุดตุ๊กตา ชอบ DIY กระเป๋าใช้เอง มีรับออร์เดอร์นิดหน่อยด้วย พี่นิ่มชอบค้าขายตั้งแต่มหา’ลัยแล้ว

“สำหรับพี่นิ่มเชื่อว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ อย่างที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอกมันใช่เลย”

จุดเริ่มต้นส่งออกมะพร้าวสด

นิ่ม - วราภรณ์ เล่าถึงธุรกิจมะพร้าวน้ำหอมสดที่เริ่มจากยุคของสามี ก็คือ ‘ไก่ - เข็มทัศน์ มนัสรังษี’ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจของที่บ้านสามีมีโรงหลอมที่บ้านแพ้ว แล้วก็มีโรงหลอมที่จังหวัดชลบุรี ทำเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาลปี๊บสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นผู้ก่อตั้ง ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นยุคของ ‘น้ำตาลมะพร้าว’

“การทำน้ำตาลมะพร้าวค่อนข้างเหนื่อยมาก เพราะว่าเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องปีนต้นมะพร้าวตั้งแต่ตอนเช้ามืด เพื่อไปเก็บน้ำตาล ทำแบบนี้ทุกวัน ด้วยอาชีพนี้ที่ค่อนข้างเหนื่อย เกษตรกรเองก็ไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองมีชีวิตที่ลำบาก จึงตัดสินใจส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ”

หลาย ๆ เหตุผลที่ไม่มีคนสืบทอดธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว เพราะลูกหลานเกษตรกรเองก็ได้ร่ำเรียนในกรุงเทพฯ และอาจจะทำไร่ทำสวนไม่เป็นด้วยซ้ำ เรียกว่าเริ่มเป็นขาลงของธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว เพราะคนเก่าแก่ที่ยังมีเรี่ยวแรงปีนป่ายก็เหลือน้อยเต็มทน ประจวบเหมาะกับช่วงนั้น ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เข้ามาเพิ่ม

“วิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำตาลมะพร้าวอย่างหนัก จนกระทั่งคุณไก่ (เข็มทัศน์ มนัสรังษี) ตัดสินใจปิดกิจการลงเพราะหนี้สินเวลานั้นก็หลัก 20 ล้านบาทได้ แต่โชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง เราได้เจอกับคู่ค้าที่ขายผักผลไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้ส่งออกมะพร้าวผลสดไปที่นั่น ก็เลยเป็นที่มาว่า จากสวนมะพร้าวที่เอาไว้เก็บน้ำตาล เราก็ทำให้เป็นสวนมะพร้าวหอมผลสด เริ่มตั้งแต่ปี 2004

ก่อนเป็น ‘วราภรณ์ มนัสรังษี’ เจ้าแม่ส่งออกมะพร้าวสด เคยติดลบหลัก 20 ล้านบาทมาก่อน

“ปีนี้บริษัท K-Fresh ย่างเข้าสู่ปีที่ 20 แล้วนะคะ แต่กว่าจะมาอยู่จุดนี้ได้ ในช่วงแรก ๆ เรียกว่าถ้าไม่ได้คู่ค้าที่มีความเข้าใจ หรือทำงานร่วมกันได้ ก็น่าจะม้วนเสื่อไปนานแล้ว

“ด้วยความที่ช่วงแรกเรายังไม่มีความรู้มากนัก เราก็แพ็กแล้วส่งไปแบบนั้น ปรากฏว่าพอเดินทางไปถึงที่สหรัฐฯ มะพร้าวก็เสียหาย เพราะเราเลือกมะพร้าวไม่เป็นด้วย

“คือตอนนั้นเราส่งไปอาทิตย์ละตู้คอนเทนเนอร์ พอถ้าตู้นี้เสีย อาทิตย์ถัดไปตู้ที่ 2 ตู้ที่ 3 ก็เสียตามไปด้วย เพราะกว่าจะไปถึงปลายทางก็เป็นเวลาร่วมเดือน สมัยก่อนอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี มีแค่แฟกซ์อย่างเดียว พอเขาแฟกซ์ให้ดูก็ดูไม่ออก เพราะมันดำ ๆ มืด ๆ

“กว่าจะถึงบางอ้อว่าทำไมมะพร้าวเราเสียหาย คุณเข็มทัศน์ตัดสินใจชวนเราบินไปดูงานถึงที่ ปรากฏว่าเราส่งออกมะพร้าวผลสดที่ลูกอ่อนเกินไป ทำให้กะลาแตกและน้ำมะพร้าวก็ได้รับความเสียหาย”

ปัจจุบันรูปทรงมะพร้าวผลสด K-Fresh ที่ส่งออกถือว่าเป็นเอกลักษณ์มาก โดยมีการควั่นทรงมะพร้าวพร้อมดื่มในชื่อแบรนด์ 'Coco Thumb' ที่ค่อนข้างสะดวกและง่ายต่อผู้บริโภค

ทาง นิ่ม - วราภรณ์ อธิบายว่า “การควั่นรูปทรงนี้จะต้องออกแบบสวยงาม ขนาดเท่ากัน น้ำหนักต่อลูกก็ต้องเท่ากัน และการออกแบบแพ็กเกจก็ให้ความสะดวกสบาย สร้างความประทับใจแรกตั้งแต่เปิดกล่อง เป็นต้น

“เราเป็นมะพร้าวน้ำหอมผลสดเจ้าแรกที่เข้าจีนนะคะ ตั้งแต่ยังไม่มีใครเอามะพร้าวเข้าไปเลย เพราะมีมะพร้าวของคนท้องถิ่นอยู่แล้ว จนตอนนี้ก็มีแบรนด์ลูกที่เป็นมะพร้าวสดแปรรูปชื่อว่า ‘All CoCo’ เปิดมาได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งเราก็เป็นเจ้าแรกที่ทำแบบนี้”

สิ่งที่ นิ่ม - วราภรณ์ ได้แชร์กับเราเป็นเพียงบางส่วนจากการสัมภาษณ์เต็ม เรื่องราวและมุมคิดหลายด้านจากผู้บริหารหญิง สะท้อนตัวตนได้หลายอย่างผ่านกลุ่มธุรกิจ K-Fresh โดยโมเดลและคอนเซ็ปต์ทั้งหมดจาก ‘ไก่ - เข็มทัศน์ ที่ตั้งปณิธานไว้ว่า “เราจะใช้มะพร้าวทุกลูก เราจะดูแลเกษตรกรทุกราย และเราจะเพิ่มมูลค่าให้มะพร้าวทุกลูก” ถือเป็นเรื่องดี ๆ ที่น่าประทับใจจากธุรกิจไทยที่ต่างชาติรู้จักก่อนคนไทย