ไอแซก ซิงเกอร์ ผู้มีเชกสเปียร์เป็นไอดอล แต่ชีวิตพลิกผันจนมาก่อตั้งจักรเย็บผ้า Singer

ไอแซก ซิงเกอร์ ผู้มีเชกสเปียร์เป็นไอดอล แต่ชีวิตพลิกผันจนมาก่อตั้งจักรเย็บผ้า Singer

จากมีเชกสเปียร์เป็นไอดอล ‘ไอแซก ซิงเกอร์’ กลายเป็นผู้ก่อตั้งจักรเย็บผ้า Singer ที่ขยายอาณาจักร สู่ ‘ราชาเงินผ่อน’ ได้อย่างไร

  • ไอแซก ซิงเกอร์ เกิดเมื่อปี 1811 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยตั้งแต่เด็กเขาหลงใหลในโลกวรรณกรรมและมีเชกสเปียร์เป็นไอดอล
  • แต่ด้วยชีวิตที่ยากลำบาก ทำให้เขาต้องใช้ความสามารถด้านเครื่องจักรกลมาสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของจักรเย็บผ้า Singer

เมื่อพูดถึงซิงเกอร์ (Singer) หลายคนจะนึกถึงจักรเย็บผ้า และภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนที่นำสินค้าไปให้ถึงที่บ้าน พร้อมกับวลีฮิต “ซิงเกอร์มาแล้ว ซิงเกอร์มาแล้ว” 

จุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้เกิดขึ้นในปี 1851 โดย ‘ไอแซก ซิงเกอร์’ (Isaac Singer) เป็นผู้ก่อตั้ง แล้วทำไมจากจักรเย็บผ้า…ถึงเปลี่ยนสภาพมามีชื่อเสียงในฐานะผู้นำเงินผ่อน? แบรนด์นี้มีสตอรี่น่าสนใจไม่แพ้ตัวเจ้าของเอง

ความฝันที่ไม่ตรงกับความจริง

ไอแซก ซิงเกอร์ เกิดเมื่อปี 1811 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เด็ก เขามีความฝันอยากเป็นนักแสดงอาชีพ หลงใหลในโลกวรรณกรรมและบทละคร เขามีเชกสเปียร์เป็นไอดอลและศึกษาประวัติผลงานเรื่อยมา ถ้าถามเขาว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร? เขาจะตอบว่า…อยากมีคณะละครเป็นของตัวเอง

ทว่าความฝันกับความจริงของคนเราบางทีก็ไม่ตรงกัน เขาไม่ได้มีฐานะดีพอที่จะเริ่มต้นฝันได้ ไม่มีต้นทุนชีวิตที่มากพอจะเข้าวงการตั้งแต่วัยเยาว์ แถมพ่อแม่ยังมาหย่าร้างกันอีก แต่กลับกัน ไอแซกพบว่านอกจากการแสดงและต้นทุนชีวิตอดสูแล้ว เขาดันมีหัวด้าน ‘กลไกวิศวกรรม’ พวกเครื่องจักรกลทั้งหลาย 

โดยตอนอายุ 19 ปี มีโอกาสเป็นเด็กฝึกงานให้กับช่างเครื่องกลเพื่อเก็บเงินสำหรับไว้ใช้การแสดงในอนาคต เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เขาไปเป็นคนงานขุดคลองอิลลินอยส์ - มิชิแกน ซึ่งต้องใช้ทักษะและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไม่น้อย ด้วยพรสวรรค์ที่มีติดตัว ในวัย 28 ปี เขาได้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องเจาะหินที่นำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้หลายอย่างก่อนจะจดสิทธิบัตรและขายลิขสิทธิ์ออกไปเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับทำตามฝันอย่างการตระเวนละครเร่

อย่างไรก็ตาม เขาทำได้ 5 ปีและต้องกลับมาทำงานช่างอีกครั้ง ไม่ต่างจากคนเราที่มีแพสชันความฝันสิ่งที่อยากทำลึก ๆ ในหัวใจ แต่ยังไม่สามารถทำมันได้ จึงต้องทำงานหลักหาเงินเลี้ยงชีพไปก่อน แต่แล้ว เส้นกราฟที่บ่งบอกศักยภาพด้านเครื่องจักรกลของเขายังน่าประทับใจต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ 38 ปี เขาจดสิทธิบัตรเพิ่มเกี่ยวกับเครื่องแกะสลักไม้และโลหะ ที่อำนวยความสะดวกในการสร้างสิ่งปลูกสร้างได้มหาศาล

จากซ่อมจักรเย็บผ้าสู่การก่อตั้ง Singer

เมื่ออายุได้ 40 ปี ขณะทำงานอยู่ในร้านขายเครื่องจักรกลแห่งหนึ่งในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา มันดูเป็นวันทำงานธรรมดาอีกวันหนึ่งของสัปดาห์ แต่แล้วจู่ ๆ เขาก็ได้รับการติดต่อไหว้วานให้ไป ‘ซ่อมแซม’ เครื่องจักรเย็บผ้าของแบรนด์หนึ่ง 

ใครจะไปรู้ว่า ระหว่างขั้นตอนการซ่อมจักรเย็บผ้าครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาจนได้โมเดลจักรเย็บผ้าใหม่ที่มีกลไกการทำงานเป็นเลิศกว่าจักรเย็บผ้าทั่วไปในท้องตลาด! 

เขาเห็นโอกาสในสเกลระดับโลก จึงไปจับมือพาร์ตเนอร์กับ ‘เอ็ดเวิร์ด คลาร์ก’ (Edward Clark) และนำมาสู่การก่อตั้งบริษัท Singer ขึ้นมาในปี 1851 โดยผลิตภัณฑ์ชูโรงแรกคือ ‘เครื่องจักรเย็บผ้า’ นั่นเอง 

จักรเย็บผ้า Singer มีความแตกต่างที่เหนือชั้นกว่าของทั่วไปในท้องตลาดขณะนั้น เช่น มีกระสวยที่เดินเป็นเส้นตรง แตกต่างจากของทั่วไปในท้องตลาดที่เดินเป็นวง ใช้เข็มตรงที่แม่นยำกว่า แทนเข็มโค้ง ฯลฯ

ปรากฏว่า Singer ได้กลายเป็นจักรเย็บผ้าสำหรับใช้งานทั่วไปและสำหรับช่างเย็บผ้าชั้นนำไปโดยปริยาย

ปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ และอุตสาหกรรมแรกที่โอบกอดการปฏิวัตินี้ก็คือ ‘อุตสาหกรรมสิ่งทอ’ เปลี่ยนจากการทอผ้าด้วยมือแบบแฮนด์เมด ก่อกำเนิดเป็น ‘จักรเย็บผ้า’ ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรมและแฟชั่นการแต่งตัวของผู้คนอีกทีหนึ่ง

การเกิดขึ้นของ Singer ที่มีผลิตภัณฑ์ชูโรงคือ ‘เครื่องจักรเย็บผ้า’ จึงถือเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องไปกับกระแสของยุคสมัย และจุดชนวนให้บริษัทเติบโตก้าวกระโดด สามารถขยายตลาดไปทั่วโลกได้ นั่นรวมถึงตลาดประเทศไทย

ดิสรัปสิ่งเดิม

ไม่ต่างจากยุคปัจจุบันที่ AI เข้ามาแย่งงานคน และทำให้คนทำงานทั่วไปหวาดผวาว่าตัวเองจะถูก AI มาดิสรัปจนตกงาน 

จักรเย็บผ้า Singer ก็เช่นกัน โดยในช่วงแรกที่เปิดตัว ถูกช่างเย็บผ้าและสตรียุคนั้นต่อต้านอย่างหนัก เพราะกลัวจะมาแย่งงาน เนื่องจากใคร ๆ ก็สามารถใช้จักรเย็บผ้าได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีทักษะมาก 

ไอแซกยังโชว์ทักษะความมีหัวด้านการตลาด เป็นผู้บุกเบิกวงการโฆษณาที่มีกลิ่นอายไม่ต่างจากทุกวันนี้ สิ่งที่เขาแก้เกมคือ นำจักรเย็บผ้าไปออกงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ และจ้างสุภาพสตรีชั้นสูงที่มีภาพลักษณ์ดีทุกด้านมาสาธิตวิธีใช้ สื่อว่าใครใช้จักรเย็บผ้า Singer เป็นคนที่มีเกียรติ ภาพลักษณ์ดี ปลดปล่อยภาระงานเย็บผ้าที่เหนื่อยและใช้เวลานาน แถมเสริมด้วยว่า จักรเย็บผ้าทำหน้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีให้กับบ้านของคุณได้ด้วย!

ด้วยระบบกลไกที่ล้ำหน้ามาก ๆ แต่กลับใช้งานง่าย แถมมีภาพลักษณ์ที่ดี ผลปรากฏว่า Singer ขายดิบขายดีมาก และเวลาเพียงทศวรรษให้หลังเมื่อถึงปี 1860 Singer ก็กลายเป็นผู้ผลิตจักรเย็บผ้าเบอร์ 1 ของโลก ออกสิทธิบัตรเพิ่มใหม่ถึง 12 ใบ และเปลี่ยนให้ไอแซกเป็นเศรษฐีเต็มตัว 

เรื่องนี้สะท้อนออกมาจากตัวเลขการขาย เรียกว่า Singer ได้ ‘สร้างตลาดแมส’ สำหรับความต้องการจักรเย็บผ้าขึ้นมาเลยทีเดียว

  • ปี 1858 Singer ขายจักรเย็บผ้าไปได้กว่า 3,591 เครื่อง 
  • ปี 1860 Singer ขายจักรเย็บผ้าไปได้กว่า 13,000 เครื่อง 
  • ปี 1870 Singer ขายจักรเย็บผ้าไปได้กว่า 127,833 เครื่อง
  • ปี 1880 Singer ขายจักรเย็บผ้าไปได้กว่า 500,000 เครื่อง

ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

เรียกได้ว่า Singer เข้ามามีบทบาทในระดับอุตสาหกรรมผ่านจักรเย็บผ้าที่ใช้กันในแทบทุกครัวเรือน แบรนด์เอนจอยความเป็นผู้นำอยู่นานหลายทศวรรษ สร้างตึกระฟ้าในนิวยอร์กที่เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก คิดค้นบริการรูปแบบใหม่ เช่น ‘เช่าซื้อ’ (Installment credit plans) โดยการผ่อนชำระสินค้าเป็นงวด ๆ มาใช้เป็นครั้งแรก พร้อมกับแผ่ขยายกิจการไปครอบคลุมแทบทุกประเทศทั่วโลก

เมื่อถึงทศวรรษ 1970 เป็นเวลากว่าร้อยปีให้หลัง แบรนด์ยอมรับความจริงว่าได้ผ่านพ้นช่วงยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์มาแล้ว เพราะอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป - เทคโนโลยีเปลี่ยนไป จักรเย็บผ้าไม่ใช่สินค้าทำเงินได้มหาศาลอีกต่อไป 

แบรนด์จึงเริ่มกระจายความเสี่ยงและแตกธุรกิจอื่นให้หลากหลายขึ้น (Diversification) รวมถึงมีการควบรวมกิจการและขายกิจการบางส่วนออกไป นี่คือช่วงเวลาที่เราเริ่มเห็น Singer จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อุปกรณ์ในออฟฟิศ สินค้าเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมอวกาศ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย

สำหรับในเมืองไทย Singer เข้ามาทำตลาดจักรเย็บผ้าตั้งแต่ปี 1889 ด้วยการแต่งตั้ง ‘ร้านเคียม ฮั่ว เฮง’ เป็นผู้แทนจำหน่ายรายแรก จากนั้นปี 1903 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท ซิงเกอร์ โซอิ้ง แมชชีน จำกัด’ และเริ่มขยายธุรกิจสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ 

ต่อมาปี 1969 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด’ และปี 1984 ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ และในปี 2015 ซิงเกอร์ในประเทศไทยได้เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดย ‘บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน)’ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 

ปัจจุบัน Singer ในประเทศไทยดำเนินธุรกิจมากว่า 130 ปี และได้เปลี่ยนไปโฟกัสด้าน ‘สินเชื่อเงินผ่อน’ เต็มรูปแบบจนได้ฉายา ‘ราชาเงินผ่อน’ ผ่านบริการหลัก เช่น สินเชื่อเช่าซื้อสินค้า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร ซึ่งอยู่เบื้องหลังของการทำธุรกิจรายย่อยและการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย

.

ภาพ : ซิงเกอร์

.

อ้างอิง

.

singer history

britannica

americanbusinesshistory

singerthai

bangkokbiznews