31 ก.ค. 2566 | 19:00 น.
- ก่อนที่ Van Houten จะถือกำเนิดขึ้นในปี 1828 โดยนักเคมีและนักประดิษฐ์ชาวดัตช์ชื่อว่า ‘คอนราด แวน ฮูเต็น’ (Coenraad van Houten) ช็อกโกแลตเคยเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มของชนชั้นสูง และมีความเชื่อว่าเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นของขวัญจากพระเจ้า
- กระทั่งในช่วงปี 1828 คอนราดในฐานะลูกชายของเจ้าของร้านกาแฟ และขายเครื่องเทศ ค้นพบกระบวนการบดเมล็ดคาเคาจนได้รสชาติและเนื้อสัมผัสละมุนลิ้น จนเป็นที่มาของกระบวนการดัตช์ (Dutch-Processed Cocoa Powder) ซึ่งยังคงเป็นที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน
- โกโก้แบรนด์ แวน ฮูเต็น ปฏิวัติวงการของหวานอีกครั้งในปี 1865 โดยนำผงโกโก้มาบรรจุลงกระป๋อง ส่งขายไปทั่วโลก ปัจจุบันแวน ฮูเต็นอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Barry Callebaut หลังจากขายกิจการไปในปี 1998
ไม่แน่ใจนักว่าช็อกโกแลตมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด รู้เพียงแค่ว่าเจ้าของหวานรสละมุนนี้เป็นผลผลิตที่ได้มาจากต้นคาเคา ซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นจากทวีปอเมริกากลาง แต่กว่าจะมาเป็นของหวานให้เราได้ลิ้มรสอย่างในทุกวันนี้ มันเคยเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มสมุนไพรมาก่อน แถมยังมีรสเฝื่อนบาดคอ ไม่ได้หอมหวานอย่างที่เราคุ้นเคยกัน
โกโก้ : สัญลักษณ์ของความหรูหรา มั่งคั่ง และอำนาจ
ถึงต้นกำเนิดจะไม่แน่ชัดว่าใครกันเป็นผู้บุกเบิก นำเมล็ดคาเคามาเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม แต่ ‘เฮย์ส ลาวิส’ (Hayes Lavis) ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน ได้สันนิษฐานเอาไว้ว่า จริง ๆ แล้วช็อกโกแลตอาจจะมีอายุราว 1,500 ปี หลังจากมีการค้นพบสารโอโบรมีน ตกอยู่ที่ก้นภาชนะของชาวโอลเมก จากนั้นพวกเขาก็ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปให้กับชาวมายัน
บ้างก็ว่า ‘ร่องรอย’ ของช็อกโกแลตที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ค้นพบอยู่ในพื้นที่อเมซอนของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมมาโย-ชินชิเป (Mayo-Chinchipe) มานานกว่า 5,300 ปี
การค้นพบนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ช็อกโกแลตหรือโกโก้แทรกซึมอยู่ในการกินดื่มของชาวพื้นเมืองมาเป็นเวลานาน และผืนดินที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้น ได้ปลูกต้นคาเคาไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี ก่อนที่พืชเหล่านี้จะเผยแพร่เข้าสู่อเมริกากลาง
สำหรับชาวพื้นเมืองแล้ว ช็อกโกแลตแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณพวกเขา เพราะมันมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกำหนดบทบาททางการเมือง พัฒนาจนกลายเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของอเมริกา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเมโสอเมริกา (Mesoamerican)
ชาวเมโสอเมริกันเชื่อว่าช็อกโกแลตเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานบริสุทธ์ และปลดปล่อยพลังงานบางอย่าง ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ได้กิน-ดื่ม หากจะเรียกให้เข้าใจง่ายคงไม่ต่างจากยาโด๊ป ช่วยเสริมกำลังวังชาให้ผู้ทานมีแรงทำงานเต็มกำลัง
ส่วนชาวมายันเชื่อว่า ช็อกโกแลตเป็นดั่งของขวัญที่พระเจ้าประทานมาให้แก่มนุษย์ผู้ต่ำต้อย พวกเขาใช้ช็อกโกแลตเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ งานไว้อาลัย และถูกนำไปเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มของเหล่าชนชั้นสูง ซึ่งพวกเขาจะนำเมล็ดคาเคามาบดผสมกับน้ำ ฝักวานิลลา พริก และเครื่องเทศหลากชนิด เพื่อชงเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลต
ในช่วงทศวรรษที่ 1400 ชาวแอซเท็ก (Aztec) ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากอยู่ทางตอนกลางของเม็กซิโก ได้ยกระดับช็อกโกแลตให้มีค่ายิ่งกว่าทองคำ พวกเขามักนำช็อกโกแลตเป็นรางวัลตอบแทนให้เหล่าผู้กล้า เนื่องจากพื้นที่ของพวกเขาเป็นเพียงผืนดินแห้งแล้งปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น
ว่ากันว่า มอนเตซูมาที่ 2 (Moctezuma II) จักรพรรดิองค์ที่ 9 และองค์สุดท้ายของชาวแอซเท็ก ดื่มช็อกโกแลต 50 ถ้วยต่อวันเลยทีเดียว เพราะเขาเชื่อว่าช็อกโกแลตจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง และสมรรถภาพทางเพศ
ช็อกโกแลตจึงไม่ต่างจากยาอายุวัฒนะที่ไม่ว่าใครได้ลิ้มลอง ต่างพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกร่างกายมีแรงขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นเครื่องดื่มประจำของเหล่าชนชั้นสูงในยุโรป และเพื่อให้ชาวยุโรปอยู่ดีกันดี ประเทศมหาอำนาจที่มีอาณานิคมเป็นของตนเอง ได้เปลี่ยนประเทศเหล่านั้นให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกคาเคา อ้อย และส่งรสชาติอันหวานอมขมกลืนกลับสู่ประชาชนที่พวกเขารัก
นั่นจึงเป็นที่มาของแรงงานทาสชาวแอฟริกันที่ถูกขนย้ายมายังอาณานิคมอย่างไม่หยุดหย่อน เพียงเพราะคาเคา พืชที่เปลี่ยนความเป็นอยู่และปฏิวัติวงการของหวานไปตลอดกาล
ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ
ช็อกโกแลตยังคงเป็นเครื่องดื่มของชนชั้นสูงในยุโรปมาเป็นเวลาอีกหลายร้อยปี กระทั่งได้มีการปฏิวัติวงการของหวานขึ้นในปี 1828 โดยนักเคมีชาวดัตช์ชื่อว่า ‘คอนราด แวน ฮูเต็น’ (Coenraad van Houten) ผู้ก่อตั้งแบรนด์โกโก้ Van Houten ขึ้น เพื่อยกระดับธุรกิจครอบครัวให้มีความทันสมัยเข้ากับยุคที่เปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้น
เขามองว่า โกโก้ หรือเครื่องดื่มช็อกโกแลตไม่ควรถูกจำกัดอยู่แต่ในแวดวงชนชั้นสูง คนธรรมดาสามัญควรได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติหอมหวานของเครื่องดื่มชนิดนี้บ้าง คอนราดจึงเริ่มทดลองนำเมล็ดคาเคามาบดในเครื่องประดิษฐ์ของเขาที่สามารถแยกเนยโกโก้ออกมาจากเมล็ด เพื่อให้ได้ผงโกโก้เนื้อละเอียด และยังคงคุณค่าโภชนาการเอาไว้ แม้จะถูกนำไปชงผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่น
โลกช็อกโกแลตเปลี่ยนไปในชั่วพริบตา เพราะทันทีที่ครอบครัวแวนฮูเต็น เผยแพร่วิธีการบดโกโก้แบบใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งต่อมาจะรู้จักกันในชื่อ ผงโกโก้ที่ผ่านกระบวนการดัตช์ (Dutch-Processed Cocoa Powder) แตกต่างจากผงโกโก้ธรรมชาติที่จะมีเนื้อสัมผัส ความเปรี้ยว และค่าความเป็นกรดสูงกว่ากระบวนการแบบดัตช์ อุตสาหกรรมของหวานก็แทบจะจารึกการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของแวน ฮูเต็น เอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว
ก่อนที่ครอบครัวแวนฮูเต็นจะก้าวมาเป็นผู้เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ‘คัสปารุส แวน ฮูเต็น’ (Caspardus Van Houten) พ่อของคอนราดเคยเปิดร้านกาแฟ และร้านขายเครื่องเทศ ตั้งอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1815 คอนราดวัยเด็กจึงคุ้นเคยกับกลิ่นหอมของกาแฟ ขนมอบสดใหม่ และช็อกโกแลตที่ส่งตรงมาจากสายพานการผลิตโรงงาน
ใช่, เขาเป็นลูกเจ้าของร้านกาแฟ จึงไม่น่าแปลกใจว่าว่าที่ผู้สืบทอดกิจการ จะอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คอนราดในวัย 27 ปี ได้จดสิทธิบัตรวิธีการบดเมล็ดคาเคาให้มีปริมาณไขมันธรรมชาติจาก 54% เหลือ 27 - 25% ได้รสชาติและมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุน เทคนิคนี้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การดื่มช็อกโกแลตไปในชั่วข้ามคืน
ทายาทรุ่น 2 ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เขาเปิดโรงงานช็อกโกแลตในปี 1850 ย้ายฐานการผลิตไปยังเมือง Weesp ซึ่งทำให้เขาสามารถส่งออกช็อกโกแลตไปยังอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี
อีก 15 ปีต่อมาพวกเขาก็เริ่มนำผงโกโก้มาบรรจุลงในกระป๋อง เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง เพิ่มยอดขายถล่มทลายให้กับบริษัท เรียกได้ว่า แวน ฮูเต็น กลายเป็นแบรนด์โกโก้ยอดนิยม ไม่ว่าใครต่างก็ยกย่องว่านี่คือ โกโก้แห่งยุคสมัย เพราะหลังจากตีตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 1889 พวกเขาก็แทบจะกลายเป็นเจ้าแห่งโกโก้ของโลกใบนี้ไปเสียแล้ว
แต่มรดกแห่งยุคสมัยก็มีอายุของมัน แวน ฮูเต็น ขายกิจการให้กับ W.R. Grace ในปี 1962 และโรงงานในเมือง Weesp ก็ปิดลงในปี 1971 จากนั้นก็ย้ายฐานการผลิตไปหลายต่อหลายประเทศ ปัจจุบันแบรนด์โกโก้อายุ 195 ปีนี้อยู่ในความดูแลของบริษัท Barry Callebaut หลังจากพวกเขาเข้าซื้อกิจการในปี 1998
จากเครื่องดื่มชนชั้นสูง สู่การแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
“จงดื่มโกโก้ของ แวน ฮูเต็น!” วลาดิมีร์ มายาคอฟสกี (Vladimir Mayakovsky) นักกวีชาวโซเวียตเขียนอวยยศความล้ำเลิศของโกโก้ แบรนด์ แวน ฮูเต็น เอาไว้ใน A Cloud in Trousers (1914) นอกจากนี้เรายังสามารถเห็นโลโก้แบรนด์ได้จากฉากการต่อสู้ของภาพยนตร์เรื่อง ไมเคิล คอลลินส์ Michael Collins (1996) ได้อีกด้วย
และนี่คือเรื่องราวอย่างย่นย่อของ ช็อกโกแลต จากจุดเริ่มต้นที่ไม่แน่ชัด มาจนถึงยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง นำโดย ‘แวน ฮูเต็น’ แบรนด์โกโก้ผู้ฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ช็อกโกแลตมาเป็นเวลาเกือบสองร้อยปี และยังคงยืนหยัดส่งต่อความอร่อยจากยุคเก่าก่อนมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: เว็บไซต์ Van Houten
อ้างอิง
https://www.history.com/topics/ancient-americas/history-of-chocolate
https://www.history.com/news/the-sweet-history-of-chocolate
https://www.chocolate-academy.com/en/brands/van-houten
https://www.barry-callebaut.com/en/vending/van-houten/history