16 ส.ค. 2566 | 17:50 น.
- ‘ผ้าอนามัย’ คือสินค้าตัวแรก ๆ ที่ Unicharm ผลิตขึ้น หลังจากที่ผู้ก่อตั้งมีความคิดอยากช่วยผู้หญิง
- ‘เคอิชิโระ ทาคาฮาระ’ (Keiichiro Takahara) ชายที่มีความฝันอยากเปลี่ยนความทุกข์ทรมานของผู้หญิงให้ดีขึ้น สู่แบรนด์ที่มีสินค้าทั้งผู้หญิง เด็ก และอีกมากมาย
ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสว่าคนเกาหลีเปิดประเด็นเกี่ยวกับ ‘ผ้าอนามัย’ ยี่ห้อหนึ่งที่เย็นจนตรงนั้นของผู้หญิงเกือบชา จากนั้นก็มีหลายคนเข้ามาคอมเมนต์ถึงฟังก์ชันของผ้าอนามัยในปัจจุบันที่มีมากขึ้นจนน่าตกใจ
หากย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อนในประเทศญี่ปุ่น ต้องบอกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นก็ฮือฮากับสิ่งประดิษฐ์นี้อยู่พอสมควร นับตั้งแต่ที่มีแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘ยูนิชาร์ม’ (Unicharm) แม้ว่าตอนนั้นยังไม่มีผ้าอนามัยแบบเย็นเหมือนกับตอนนี้
ถึงแม้ว่าจะมีหลายธุรกิจในญี่ปุ่นที่เคลมว่าเป็นรายแรกที่ผลิตผ้าอนามัยได้ในประเทศ แต่สำหรับ Unicharm เรียกว่าเป็นรายแรก ๆ เหมือนกันที่ผลิตออกมาในยุคนั้น และต่อมาได้พัฒนาสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัยออกมาเรื่อย ๆ จนทำให้เป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดเอเชีย ทั้งยังมีมูลค่าธุรกิจเป็นหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
ก่อนเป็น Unicharm
เส้นทางธุรกิจของ Unicharm ก็คือการผลิตผ้าอนามัยเป็นอย่างแรก แต่จริง ๆ แล้ว ‘เคอิชิโระ ทาคาฮาระ’ (Keiichiro Takahara) ผู้ก่อตั้งชาวญี่ปุ่นมีธุรกิจอื่นอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ซึ่งก็คือ ‘ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง’ ที่ชื่อว่า Taisei Kako (หรือบริษัท Taisei Chemical Works) โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1961
เคอิชิโระ เกิดและโตในเมืองคาวาโนเอะ จังหวัดเอะฮิเมะ เมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุ ซึ่งมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระดาษ เคมีภัณฑ์ และขุดเจาะน้ำมัน เป็นกลุ่มสินค้าขึ้นชื่อของเมืองนี้
จึงไม่แปลกหากตระกูลทาคาฮาระ จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตกระดาษตั้งแต่เขาเด็ก ๆ ซึ่งพ่อแม่ของ เคอิชิโระ เปิดบริษัทผลิตกระดาษซึ่งทำมาอย่างยาวนาน และก็ถือว่าเป็นธุรกิจครอบครัวที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ดี แต่สำหรับ เคอิชิโระ เขาไม่อินกับการทำธุรกิจที่บ้าน แม้ว่าเขาจะใฝ่ฝันอยากเป็นนักธุรกิจเหมือนกับพ่อแม่ก็ตาม
เขาตัดสินใจลาออกและเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ก็คือเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายแผ่นเซลโลกรีต หรือแผ่นเส้นใยไม้อัดซีเมนต์ (wood wool cement board) หลังจากนั้นเขาก็ขยับขยายธุรกิจให้เป็น ‘วัสดุก่อสร้าง’ ที่มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น
จุดเริ่มต้น Unicharm
ในระหว่างที่เขายังดำเนินธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เขาก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่นไปด้วย ซึ่งวันหนึ่งเขาได้สังเกตเห็นความทุกข์ทรมานของผู้หญิงกับการเป็น ‘ประจำเดือน’ ซึ่งต้องเจอแบบนี้ซ้ำ ๆ ทุกเดือน ถือว่าเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้เขาเริ่มสนใจในโปรดักต์ที่เกี่ยวกับ ‘สุขอนามัย’ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ เคอิชิโระ หันมาทำ ‘ผ้าอนามัย’ ในปี 1963
โดยผ้าอนามัยของเขาถูกขายในชื่อว่า ‘โซฟี’ (SOFY) ภายใต้บริษัทใหม่ก็คือ Charm Corporation (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Unicharm Corporation) ซึ่งชื่อแบรนด์ว่า SOFY ถูกขายผ่านชื่อนี้อย่างยาวนานตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 1982 และก็เป็นสินค้าที่สร้างการรับรู้ให้กับคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงมากขึ้นด้วย
อาจจะไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคหรือความท้าทายของ เคอิชิโระ ระหว่างที่เขาพยายามตีตลาดสินค้าเพื่อผู้หญิง แต่เรียกว่ามีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ้าอนามัยแบบสอด, กางเกงซับใน Charm Nap Mini พัฒนาไปจนถึง ‘ผ้าอ้อม’ ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคนรู้จักกันดีในชื่อยี่ห้อ ‘MamyPoko’
มีประโยคหนึ่งที่อธิบายในเว็บไซต์ของ Unicharm จากผู้ก่อตั้งว่า “เราหวังว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะช่วยให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากข้อจำกัดทางร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ตกขาว ซึ่งจะช่วยให้พวกเธอมีความสุขกับชีวิตที่สะดวกสบายโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ”
ทั้งนี้แบรนด์ SOFY ได้เข้ามาในตลาดต่างประเทศครั้งแรกในปี 1993 ในไต้หวัน และขยายต่อมาที่ประเทศไทยในปี 1995 หลังจากนั้นก็อีกหลายประเทศในเอเชีย จนปัจจุบันสินค้าหลายตัวภายใต้บริษัท Unicharm ถือสัดส่วนใหญ่อันดับต้น ๆ ในประเทศเอเชีย โดยเฉพาะในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จะเห็นว่าบางทีการฟูมฟักสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมากับธุรกิจของครอบครัว ก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับธุรกิจครอบครัวเสมอไป ซึ่งกรณีของ เคอิชิโระ ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท Unicharm เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพียงเพราะเขาไม่อินกับสิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่ และสังเกตว่าอะไรคือจุดเล็ก ๆ ที่คนมักมองข้าม เหมือนกับความคิดแรกที่ทำให้เขาอยากจะลองผลิตผ้าอนามัย จนตอนนี้กลายเป็นบริษัทที่ครองอันดับ 1 ในหลายประเทศ (บางผลิตภัณฑ์) และก็มีมูลค่าธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : Unicharm
อ้างอิง :