16 ส.ค. 2566 | 18:03 น.
- K-Fresh คือจุดเล็ก ๆ ของธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการเริ่ม และส่งผลต่อ pain point ลูกใช้
- ‘กล้า - ณัฐศักดิ์ มนัสรังษี’ เล่าถึงจุดเล็ก ๆ ของความสำเร็จของ Coco Thump เพราะในต่างประเทศไม่มีมีดอีโต้
คนไทยเริ่มจะคุ้นเคยกับแบรนด์มะพร้าวน้ำหอม Coco Thumb มากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ที่เริ่มตีตลาดในประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ว่าสินค้าตัวนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2004 ในต่างประเทศและค่อนข้างมีชื่อเสียงอย่างมาก โดยในแต่ละปีสามารถส่งออกมะพร้าวได้มากกว่า 20 ล้านลูก ไปยังกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เหตุผลอย่างหนึ่งเพราะว่าหลายประเทศไม่ได้มี ‘มีดอีโต้’ แบบที่คนไทยมี ดังนั้นก็อาจจะยากที่จะใช้มีดแบบอื่นมาเฉาะมะพร้าวผลสดได้
‘กล้า - ณัฐศักดิ์ มนัสรังษี’ ทายาทธุรกิจ K-Fresh รุ่นที่ 2 ได้พูดคุยกับ The People เกี่ยวกับ hero product อย่าง Coco Thump ก่อนจะเข้าสู่ตลาดเมืองไทยว่า
“สินค้าตัวนี้จริง ๆ แล้วไปดังบน TikTok ในต่างประเทศครับ เกี่ยวกับวิธีการเปิดมะพร้าวอะไรอย่างนี้ครับ ก่อนจะเป็นไวรัลดังในเมืองไทย ซึ่งคนไทยบางคนก็คิดว่า Coco Thump เป็นสินค้าของคนจีน พอเราเห็นเลยรู้สึกว่า เอ้ย ไม่ได้แล้ว เราต้องให้คนรู้ว่าจริง ๆ แล้วคนที่สร้างคนที่เป็นคนคิดค้นวิธีการเปิดแบบนี้คือ K-Fresh เราก็เลยเริ่มมาขายในตลาดประเทศไทยมากขึ้น เพื่อให้คนได้รู้ว่าเป็นของคนไทยครับ
เพราะไม่มีอีโต้เป็นเหตุ
ต้องบอกว่าสินค้าตัวนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งก็คือ 19 ปีที่ผ่านมา โดยมีวิวัฒนาการเปลี่ยนตัวแพ็กเกจไปเรื่อย ๆ จนถึงเวอร์ชันในปัจจุบัน ซึ่ง กล้า - ณัฐศักดิ์ ได้เล่าว่า “จุดเริ่มต้นเลยก็คือ เราศึกษา pain point ของลูกค้าที่ชอบกินมะพร้าวว่ามันเปิดยากมากสำหรับพวกเขา คือมะพร้าวเป็นผลไม้ที่อร่อยและมีประโยชน์ แต่ที่เมืองนอกไม่ได้มีอีโต้แบบบ้านเรา
“เราก็คิดว่า จะทำอย่างไรให้คนได้กินมะพร้าว เริ่มคิดเครื่องมือหลายแบบ ตั้งแต่เป็นตัวเจาะลงไปในลูกมะพร้าวใช้เป็นวัสดุสเตนเลส แต่พอเราโดน copy เราก็พยายามขยับมาเป็นสเตนเลสแบบ food grade เรียนรู้ไปทีละ curve ครับ พยายามศึกษาว่าวิธีการเปิดมะพร้าวแบบไหนจะดีที่สุดสำหรับมะพร้าวและคนกิน ซึ่งเราก็พัฒนาอยู่หลายเวอร์ชันมาก
“มีทั้งแบบใช้ค้อนแถมไปกับลูกมะพร้าวด้วย ไปจนถึงมีเครื่องที่กดลงไปทั้งลูกเพื่อเปิดกินเนื้อได้เลย
“แต่สุดท้ายก็มาเวอร์ชันปัจจุบันครับ ก็คือ เรามีการคิดแบบกลับด้านเลยนะ คือกลับด้านจริง ๆ เอามะพร้าวกลับหัว แล้วก็ควั่นมะพร้าวในจุดที่อ่อนที่สุด เพื่อใช้นวัตกรรมตัวเปิด Coco Thumb ที่เป็นตัวจุกแล้วกดลงไป เราเรียกว่า punching tool ใช้เวลาคิดพอสมควร แต่โชคดีที่ยุคนั้นมันมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาคือ 3D Printer ทำให้เราสามารถหาวิธีการเปิดมะพร้าวที่ดีที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด ช่วยเรื่องต้นทุนให้น้อยที่สุด ก็เกิดเป็นตัว Coco Thumb”
กล้า - ณัฐศักดิ์ ทายาทของธุรกิจ K-Fresh ซึ่งเข้าไปคลุกคลีอยู่กับมะพร้าว อยู่กับการทำธุรกิจจากการศึกษาไอดอลคนใกล้ตัวก็คือ พ่อแม่ เขาเรียนจบทางด้าน ‘การโฆษณา’ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ความฝันจริง ๆ ของเขาก็คือ ‘เปิดบริษัทของเล่น’ แต่ด้วยความที่รู้ตัวว่าไม่ได้มีสกิลด้านการดีไซน์ อาจเสียเปรียบในการแข่งขันกับบริษัทใหญ่ ๆ เขาจึงปรับ mindset ใหม่ และมองว่าความฝันบางทีก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำเป็นงานก็ได้ เพราะเราอาจจะเกลียดความฝันตัวเองไป
K-Fresh ในมุมของทายาท
ด้วยความที่ กล้า - ณัฐศักดิ์ หันเข็มทิศความฝันของเขาสู่โลกความเป็นจริงก็คือ การช่วยสานต่อธุรกิจของพ่อแม่ เราจึงถามต่อว่า K-Fresh ในสไตล์ของเขาจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ หากถึงวันที่เขาต้องลงมารันธุรกิจเต็มตัว
“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การที่เรายังสามารถอยู่ได้ในตลาดนะครับ ผมคิดว่าเราต้องมี competitive advantage ให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สร้างให้พอสมควร แต่การที่เราจะ maintain หรือทำให้ดีขึ้นเนี่ยก็เป็นโจทย์หลัก คือเราต้องคุมเรื่องต้นทุนให้ได้ดีที่สุด แล้วก็เปลี่ยนตามโลก
“อย่างเช่น Paper Package หรืออะไรที่มันรักษ์โลกมากขึ้นเพื่อการลดคาร์บอน เราก็มีการสร้างเป็น Paper Package ขึ้นก่อนในเบื้องต้น แล้วก็จะดูเรื่องการลดต้นทุนจากรถบรรทุกน้ำมัน อาจจะปรับเป็นรถ EV ได้ไหม หรือมีส่วนไหนที่เราสามารถลดได้อีก
“ผมที่ศึกษาจากคุณพ่อคุณแม่นะครับ คือทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีความ creative สูงมาก ผมก็อยากต่อยอดจากความ creative ให้มันโมเดิร์น และมีการเสริมของนวัตกรรมภายในบริษัท ตอนนี้ผมก็ศึกษาเรื่อง agricultural technology คือพวก agritech มากขึ้นด้วย
“สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ Coco Thumb เป็น Global Brand ที่ติดใจผู้คน เป็นเป้าหมายที่ผมอยากจะทำให้ได้ภายใน Gen ของเราครับ เพื่อที่จะให้แบรนด์เป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน แต่ก็อาจต้องใช้เวลา”
ชอบความคิดหนึ่งของ กล้า - ณัฐศักดิ์ ที่เขาอยากจะให้แบรนด์ K-Fresh เป็นคอนเซ็ปต์ธุรกิจที่สามารถตอบ pain point ลูกค้าได้ เป็นธุรกิจ Food Innovation ที่มีดีมานด์ หมายความว่า เสน่ห์ของ K-Fresh จริง ๆ แล้วก็คือ การใช้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ (เหมือนที่คิดค้นที่เปิดลูกมะพร้าวแบบง่าย ๆ)
“คือไม่ใช่แบบว่า มีคนบอกว่าอันนี้คือนวัตกรรม แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้ช่วย customer pain point บางทีอาจจะแค่สนอง need คนที่สร้างขึ้นมา แล้วก็เคลมว่าเป็นนวัตกรรม
“ส่วนเรื่องการโดน copy มันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องเจออยู่แล้ว ดังนั้น ก่อนที่เราจะโดน copy ถือเป็นช่วงตักตวงสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้มากที่สุด ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนที่ copy เขามักจะใช้ต้นทุนต่ำกว่าเจ้าแรกที่คิดเสมอ สำหรับผมก็เหมือนกับการเดินเข้าห้องคนแรก เราต้องเสียงดังครับ ทำให้คนรู้จักเรามากที่สุด”
ทั้งนี้ บทสัมภาษณ์นี้ทำให้เราได้เรียนรู้บางมุมมองที่ชัดขึ้นจากรุ่นทายาทของธุรกิจ K-Fresh ทั้งยังเห็นทิศทางของบริษัทมากขึ้นด้วย โดยทิศทางที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ในรุ่นของ กล้า - ณัฐศักดิ์ ก็คือ การเดินหน้าสู่เทรนด์รักษ์โลกและภาวะโลกร้อน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตก็น่าจะมีอะไรใหม่ ๆ จาก K-Fresh โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมที่ตั้งเป็นแนวทางของบริษัทต่อไป