11 ก.ย. 2566 | 15:42 น.
- ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘Kipling’ คือ ‘ซาเวียร์ คีเกล’ (Xavier Kegel) วิศวกรทางทะเลชาวเบลเยียมที่เริ่มสนใจในเรื่องของกระเป่า สินค้าแฟชั่นตั้งแต่ที่เดินทางไปฮ่องกง
- แรงบันดาลใจของผู้ก่อตั้ง Kipling มาจากชื่อของ ‘Rudyard Kipling’ นักเขียนเรื่อง "The Jungle Book"
- มาสคอตลิง เป็นสัญลักษณ์ของความคล่องตัว ความซุกซน พร้อมลุย ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ของกระเป๋า Kipling
หากใครเห็นพวงกุญแจที่ห้อยเป็นรูป ‘ลิงขนฟู’ หิ้วไปมากับกระเป๋าน่าจะพอจำได้แน่ ๆ ว่าเป็นกระเป๋าของ ‘Kipling’ แบรนด์สัญชาติเบลเยียม ใช่! นั่นแหละคือจุดประสงค์ของดีไซเนอร์ที่ตั้งใจเพิ่มเสน่ห์ให้กับกระเป๋าของเขา
กว่า 26 ปีที่เราเห็นกระเป๋า Kipling ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่จำง่ายทีเดียวเพราะมีสัญลักษณ์เป็นเจ้าลิงขนฟูห้อยกระเป๋าอยู่ทุกใบ แต่ใครจะคิดว่า Kipling ก่อตั้งมากว่า 36 ปีแล้ว ทั้งยังมีเรื่องราวที่มาของชื่อแบรนด์ และมาสคอตลิงขนฟู ที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจไปพร้อมกัน
จากวิศวกรทางทะเลสู่นักธุรกิจ
มีหลายแบรนด์ที่ The People ได้เล่าถึง ล้วนมีจุดเริ่มต้นแบรนด์ที่น่าสนใจทีเดียว และมักจะ contrast กันอยู่บ่อยครั้งด้วยกับภาพที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่ง Kipling ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีเรื่องราวพลิกผันเช่นเดียวกัน คงไม่มีใครคาดคิดว่า ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kipling จะเป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญทางทะเลก่อนที่เขาจะรู้ตัวว่าใจจริงชอบการเป็นดีไซเนอร์ และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มาจากความชอบส่วนตัวได้
เรากำลังพูดถึง ‘ซาเวียร์ คีเกล’ (Xavier Kegel) วิศวกรทางทะเลชาวเบลเยียม เกิดและเติบโตในเมือง Antwerp ประเทศเบลเยียม เขาเริ่มรู้สึกว่าชอบในการทำธุรกิจตั้งแต่ที่มีโอกาสได้เดินทางไปที่ ‘ฮ่องกง’ ซึ่งเขาเดินทางไปที่นั่นตั้งแต่ปี 1980
จนวันหนึ่ง คีเกล ต้องการทำธุรกิจที่ก่อตั้งด้วยตัวเอง โดยมีหุ้นส่วนธุรกิจอีก 2 คนก็คือ Paul Van De Velde และ Vincent Haverbeke พวกเขาตัดสินใจทำธุรกิจ ‘กระเป๋า’ ซึ่ง คีเกล เป็นผู้ออกแบบหลักตั้งแรก สิ่งที่พวกเขาทั้ง 3 คนอยากเห็นก็คือ กระเป๋าที่พัฒนาต่อยอดมาจากกระเป๋าสะพายหลัง เพราะยุคนั้นกำลังฮิตมาก
สิ่งที่ คีเกล คิดเป็นสิ่งแรกก็คือ คุณภาพของกระเป๋าที่ต่างจากกระเป๋าอื่นที่มีขายในตอนนั้น ซึ่งยังไม่มีใครทำกระเป๋าที่ทำมาจาก ‘ผ้าไนลอนย่นน้ำหนักเบา’ คีเกล จึงใช้เป็นวัสดุหลักของแบรนด์ และดีไซน์กระเป๋าออกมาเพื่อกลุ่มคนที่สามารถใช้ได้ในทุกโอกาส ลุยได้ หรูได้ วันสบาย ๆ ได้ ดังนั้น เขาจึงเลือกผ้าไนลอนซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีใครทำด้วย
ที่มาของชื่อและลิงห้อยกระเป๋า
และนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของกระเป๋าเป้หรือ กระเป๋าสะพายหลังที่ชื่อว่า Kipling ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยคีเกล ได้ขออนุญาตใช้คำว่า Kipling ตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เพราะชื่นชอบนักประพันธ์ที่ชื่อว่า ‘Rudyard Kipling’ ทั้งยังชอบเรื่อง "The Jungle Book" ที่เขียนโดยเขาด้วย
นี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมมีคนเข้าใจผิดเยอะมาก ๆ ว่า Rudyard Kipling เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋า Kipling ยังไม่พอ คีเกล ยังคิดว่า ในเมื่อเขาต้องการวางคอนเซ็ปต์กระเป๋าของเขาให้ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ลุยได้สบาย ๆ (เพราะกระเป๋าใบแรก ๆ เป็นกระเป๋าเป้) เขาจึงประกาศคอนเซ็ปต์แบรนด์เอาไว้ว่า “Fun and adventure for everyday life” ก็คือ มาสนุกและผจญภัยกับทุก ๆ วันกันเถอะ!
จึงเป็นที่มาว่า ทำไม คีเกล ตัดสินใจใช้มาสคอตกระเป๋าเป็นรูป ‘เจ้าลิงขนปุย’ หน้าตาน่ารัก เฟรนด์ลี่ เพราะอยากให้ผู้ซื้อรู้สึกถึงความกระฉับกระเฉง ทะมัดทะแมง สามารถใช้กระเป๋าแบบลุย ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่ากระเป๋าสวยเกินไปและต้องทะนุทะนอม
สำหรับ คีเกล เขามองว่า “กระเป๋าที่ดีต้องใช้แล้วรู้สึกคุ้มค่า มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และทำความสะอาดง่าย” เชื่อหรือไม่ว่า กระเป๋า Kipling ในช่วงแรก ๆ ที่เปิดตัวสิ่งที่ทำให้แบรนด์นี้เป็นที่รู้จักในเบลเยียมก่อนจะตีตลาดต่างประเทศก็คือ ผ้าไนลอน และลิงขนฟู ที่ทำให้ผู้คนพูดถึงกันอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสตอบรับที่ดีมาก
ที่น่าสนใจคือ เจ้าลิง Kipling ไม่ได้มีแค่ตัวเดียว แต่มีการออกแบบลิงขนฟูกว่า 425 ตัว!
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม e-Market place ทำไมเจ้าลิงหน้าตาน่ารัก ขนฟูดูนุ่มนิ่มของ Kipling ถึงกลายเป็นคอนเลคชั่นของสะสมได้
ปัจจุบัน Kipling อยู่ในการบริหารดูแลของ VF Sportswear Coalition (เข้ามาอยู่ใน VF ตั้งแต่ปี 2004) ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน อย่างเช่น Vans, The North Face และ Timberland ซึ่งก็อยู่ใสตลาดไทยมานานเช่นเดียวกัน
ณ วันนี้เราคงไม่ต้องพูดเยอะว่า Kipling อยู่ในประเทศไหนบ้างดูจากความนิยมที่ยังมีให้เห็นกันอยู่ กว่า 55 ประเทศทั่วโลกที่ Kipling ติดเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ยังครองเสน่ห์ให้คนรักได้ คงไม่ใช่แค่การที่ผลิตเพียงกระเป๋าเป้ เพราะในปัจจุบัน Kipling มีกระเป๋าหลากหลายรูปแบบมาก ๆ อีกทั้งยังมีการ collaboration กับอีกหลายแบรนด์ด้วย
อย่าง Kipling Thailand ที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับ Miffy และ Barbie แต่จริง ๆ แล้ว หากเราย้อนไปดูความร่วมมือลักษณ์นี้ของ Kipling กับแบรนด์ระดับโลกเกิดขึ้นกว่า 23 แบรนด์ทีเดียว (ไม่ใช่แค่ในไทย) แต่ยังมีแบรนด์อื่น เช่น Perrier (ในปี 1991), Star Wars (ในปี 2018), Mickey Mouse (ในปี 2019), Hello Kitty (ปี 2022) เป็นต้น
สำหรับตลาดไทยปัจจุบันผู้ที่ดูแลและนำเข้าธุรกิจแบรนด์ Kipling ตอนนี้ก็คือ ‘ปอ - ศีกัญญา ศักดิเดช ภาณุพันธ์’ ผู้หญิงเก่งทายาทโรงแรมเรเนซองส์ที่เข้ามารับช่วงต่อจาก ‘ศิริกาญจน์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา’ ซึ่งเป็นผู้ดูแลแบรนด์นี้มาตั้งแต่ต้นในเมืองไทย
เรื่องราวของ Kipling และความทะเยอทะยานของผู้ก่อตั้งแบรนด์ น่าจะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบดี ๆ ของคนธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งเราอยากปิดท้ายด้วยสถิติน่าสนใจที่ Kipling เคยทำได้จนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น ในทุก ๆ นาทีกระเป๋า Kipling จะถูกขายที่ใดที่หนึ่งทั่วโลก หรือผู้คนกว่า 35 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นเจ้าของกระเป๋า Kipling เป็นข้อมูลเซอร์ไพรส์จากเว็บไซต์ของ Kipling USA
ภาพ: Kipling/Britannica
อ้างอิง: