20 ก.ย. 2566 | 17:04 น.
- ก่อนเป็น ‘Pop Mart’ เคยทำเป็นร้านขายของสารพัดนึก ซึ่งก่อตั้งโดย หวังหนิง’ (Wang Ning) หนึ่มวัย 36 ปี
- Pop Mart กลายเป็นร้านที่ขายเฉพาะ Art Toy ในปี 2016 ไอเดียมาจากตุ๊กตาจากศิลปินคนญี่ปุ่น ‘SONNY ANGEL’
- วันที่ 20 กันยายน Pop Mart เปิดแฟลกชิปสโตร์ในประเทศไทยสาขาแรก
บางทีการเปิดร้านหรือธุรกิจบางอย่างขึ้นมา แล้วมีทุกอย่างในร้านให้เลือกครบครันเต็มที่ก็อาจจะไม่เวิร์กเสมอไป เพราะอะไร? ลองมาอ่านเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง Pop Mart ธุรกิจอาร์ตทอยส์ (Art Toys) ที่เปิดตัวในจีนตั้งแต่ปี 2010 และเพิ่งเปิดแฟลกชิปสโตร์ในประเทศไทยวันที่ 20 กันยายนนี้เอง
‘หวังหนิง’ (Wang Ning) เจ้าของธุรกิจ Pop Mart วัย 36 ปี หนุ่มเจนวายลุคเนิร์ดจากมณฑลเหอหนาน เรียกว่าเป็นบุคคลที่สร้างพลังให้กับ ‘กล่องสุ่ม’ (Blind Boxes) ได้มากทีเดียว แม้ว่าเขาไม่ใช่คนต้นคิดกลยุทธ์ธุรกิจแบบนี้ แต่ต้องยอมรับว่าเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ปลุกกระแสให้กับอาร์ตทอยส์และกล่องสุ่มในเวลานี้มาก ๆ
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อของจีนว่า “การซื้อความตื่นเต้นนั้นย่อมดีกว่าการซื้อความสุขแบบอื่น” และนั่นก็นำมาซึ่งรูปแบบธุรกิจของ Pop Mart ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน
ร้านของจิปาถะที่มีครบทุกอย่าง
ก่อนที่ หวังหนิง จะเปิดร้านขายของจิปาถะ เขาก็เหมือนกับเด็กหนุ่มวัยรุ่นทั่วไปที่เรียนจบแล้วก็หางานทำ ซึ่งเขาเคยทำงานให้กับบริษัท Sina Corporation บริษัทสื่อดิจิทัลเจ้าของแพลตฟอร์ม Weibo Wang หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเจิ้งโจว แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี หวังหนิง ตัดสินใจลาออกเพราะอยากทำธุรกิจส่วนตัว
ไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจที่หวังหนิงอยากทำแวบเข้ามา หลังจากที่เขาเห็นโมเดลของร้านหนึ่งจากฮ่องกงชื่อว่า ‘LOG-ON’ (อารมณ์เหมือนร้าน B2S ผสมกับ LOFT ในไทย แต่เน้นขายเครื่องเขียนเยอะกว่า) ซึ่งเขามองว่า โมเดลธุรกิจแบบนี้น่าจะเป็นที่นิยมในจีน โดยเขาตั้งชื่อร้านว่า Pop Mart เปิดตัวเมื่อปี 2010 ใน Zhongguancun ของปักกิ่ง
ช่วงปี 2014 ที่หวังหนิงเริ่มมองแผนธุรกิจใหม่เพราะอยากลดต้นทุนและเพิ่มกำไรมากกว่านี้ และนี่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจ Pop Mart ไปตลอดกาล เพราะจุดเล็ก ๆ ที่มาจากอาร์ตทอยส์ที่เป็นสินค้าขายดีที่สุดของปีนั้น ทำให้หวังหนิงตัดสินใจลดสินค้าลงให้เหลือแค่อาร์ตทอยส์
และอาร์ตทอยส์ที่ได้รับความนิยมในร้านของเขาช่วงนั้นก็คือ ‘SONNY ANGEL’ จากศิลปินของคนญี่ปุ่น แถมตอนนั้นก็เป็นการขายแบบกล่องสุ่มด้วยในร้าน Pop Mart
หวังหนิงเล่าในบทสัมภาษณ์ (ภาษาจีน) ว่าเขาสังเกตเห็นว่าการขายอาร์ตทอยส์สามารถเรียกความสนใจลูกค้าชาวจีนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายแบบกล่องสุ่ม ซึ่งเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ และตัวเขาเองก็สนใจเพราะชอบความตื่นเต้น ชอบสินค้าที่ต้องลุ้นอยู่แล้ว เรียกว่าวันนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ของ Pop Mart เลยก็ว่าได้
Pop Mart ในยุคที่มีแค่อาร์ตทอยส์
ในปี 2015 - 2016 เรียกว่าเป็นปีที่ ‘หวังหนิง’ เริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง เขาศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเทรนด์ของอาร์ตทอยส์ทั่วโลก เพื่อปรับโมเดลธุรกิจ และสิ่งแรก ๆ ที่เขาทำก็คือ การสำรวจความคิดเห็นของคนจีนบน Weibo ว่านอกจาก SONNY ANGEL ชอบตุ๊กตาแบรนด์ไหนอีก
คำตอบที่คนตอบเยอะที่สุดก็คือ ‘Molly’ ผลงานของศิลปินชาวฮ่องกงชื่อดัง ‘Kenny Wang’ ซึ่งเอกลักษณ์ของน้อง Molly ก็คือ ตาโตแก้มป่อง เปิดตัวในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2006 โดยศิลปินผู้นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากในงานการกุศลแห่งหนึ่ง เขาได้พบเจอกับเด็กหญิงคนหนึ่งโดยบังเอิญ (เขาลืมถามชื่อ) แต่ตราตรึงจนต้องสร้างเป็นคาแรคเตอร์การ์ตูน เพราะเด็กหญิงคนนั้นมีดวงตาสีเขียวโดดเด่น ผมสั้นสีทอง และแต่งกายเป็นนักจิตรกรตัวจิ๋ว
หวังหนิงได้ติดต่อไปหา ‘Kenny Wang’ ทันทีที่รู้คำตอบเพื่อทาบทามให้น้อง Molly มาร่วมงานกับ Pop Mart ซึ่งเขาได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ตุ๊กตา ‘Molly’ และเริ่มวางจำหน่ายกล่องสุ่มครั้งแรกจาก Pop Mart ที่ชื่อว่า ‘Molly 12 Zodiac’ ในปี 2017 เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่ Pop Mart ผันตัวเองมาทำกล่องสุ่มและเล่นกับสินค้าอาร์ตทอยส์เต็มตัว ทั้งยังกระแสตอบรับล้นหลามจนทำรายได้ระหว่างปี 2017 - 2019 ไปถึง 1,600 ล้านหยวน
ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 2020 หวังหนิงตัดสินใจเข้าสู่ตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งมูลค่าหุ้นของ Pop Mart ก็ทะยานขึ้นไปแตะ 147,200 ดอลลาร์ฮ่องกงในปี 2021 แล้วดูท่าว่าจะไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วย
ไม่แปลกใจที่เราเห็น Pop Mart ขยายออกนอกประเทศจีน ซึ่ง ‘สิงคโปร์’ เป็นประเทศแรกที่เปิดตัวนอกแผ่นดินจีน จากนั้นก็มีมาเลเซีย และในไทย ที่เพิ่งเปิดตัวไปสด ๆ ร้อน ๆ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ (ชั้น 1) ซึ่งในงานแถลงเปิดตัว ‘จัสติน มูน’ ประธาน Pop Mart International ได้กล่าวถึงแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
โดยเขาพูดว่า ไทยเป็นประเทศที่อยู่อันดับ 3 ที่นิยมซื้อสินค้าของ Pop Mart (รองจากจีน และสหรัฐอเมริกา) และครั้งนี้สำหรับ Pop Mart เมืองไทยได้ตกแต่งร้านเสมือนว่าเรากำลังเดินอยู่ในงานนิทรรศการผลงานศิลปะ ที่มีผลงานจากศิลปินหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งของคนไทยที่มาจัดแสดงโชว์ร่วมกัน
ซึ่งใน Pop Mart ไทยสาขาแรก มีคอลเลกชันพิเศษเยอะมาก ๆ ถือเป็นผลงานระดับโลกเลยก็ได้ เช่น ดีซี, ดิสนีย์, วอร์เนอร์, แฮร์รี พอตเตอร์ แล้วก็ผลงานของศิลปินคนไทย ‘มด - นิสา ศรีคำดี’ หรือที่คนอื่นเรียกเธอว่า ‘มอลลี่’ เป็นคาแรคเตอร์ Crybaby เด็กหญิงขี้แยที่กำลังเป็นที่นิยมในเวลานี้
แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘Skullpanda’ (สคัลแพนด้า) ของศิลปินชาวจีนที่ชื่อว่า ‘Xiongmao’ คาแรคเตอร์หญิงสาวหน้าบึ้งที่มีลูกกลม ๆ 2 ลูกข้างหูเด่นชัด เธอได้แรงบันดาลใจมาจากดาวเคราะห์นอกโลก ซึ่งเหตุผลที่ครั้งนี้ Pop Mart เลือก Skullpanda เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่ดึงดูดในวันเปิดตัวร้านวันแรก อาจเป็นเพราะว่า Xiongmao เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ในจีนเวลานี้ และก็เป็นอีกหนึ่งคาแรคเตอร์ยอดนิยมที่คนไทยซื้อในออนไลน์ด้วย
โดยซีรีส์ของ Skullpanda ที่เป็นกิมมิคก็คือรุ่น SKULLAPANDA Hoar Frost Thailand Limited ที่มีเพียง 140 ชิ้น และมีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งคาแรคเตอร์ไฮไลต์มีราคาสูงถึง 6,690 บาท อย่างไรก็ตาม ภายในร้านมีสินค้าคาแรคเตอร์อื่นอีกเพียบที่ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 30,000 บาท โดย ‘จัสติน มูน’ บอกว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าจีนถึง 5 - 7% แต่จะสูงกว่าในสิงคโปร์ประมาณ 10%
ทั้งนี้ จัสติน มูน ยังแย้ม ๆ ด้วยว่า ในอนาคตอาจไม่ใช่แค่อาร์ตทอยส์ แต่ Pop Mart จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น อนิเมะ และเกม (ซึ่งเปิดตัวในจีนแล้ว)
เรามองว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองมาก ใครจะคิดว่าคนไทยจะเป็นนักสะสมที่น่าสนใจอีกชาติหนึ่งในเอเชีย ดูจากภาพที่ Pop Mart เปิดแฟลกชิปสโตร์ วันแรกมีคนสนใจและรอซื้อตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน จนเกือบจะต้องเลื่อนการเปิดร้านไปแล้วรอบหนึ่ง เห็นคนแล้วช็อกไปเลย!
ภาพ : Pop Mart
อ้างอิง (เพิ่มเติม) :