‘ชเล วุทธานันท์’ สานต่อธุรกิจที่บ้าน ปั้น PASAYA เป็นแบรนด์สิ่งทอระดับโลก ราชวงศ์เลือกใช้

‘ชเล วุทธานันท์’ สานต่อธุรกิจที่บ้าน ปั้น PASAYA เป็นแบรนด์สิ่งทอระดับโลก ราชวงศ์เลือกใช้

เปิดมุมมอง ‘ชเล วุทธานันท์’ ผู้สร้างแบรนด์ PASAYA จากธุรกิจโนเนมของครอบครัว กลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังและรู้จักกันระดับโลก

  • ‘พาซาญ่า’ (PASAYA) แบรนด์ที่โด่งดังในต่างประเทศก่อนในไทย เพราะผู้สร้างบุกตลาดต่างประเทศช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง
  • ‘ชเล วุทธานันท์’ ชายผู้รักการอ่าน เติบโตท่ามกลางธุรกิจสิ่งทอของที่บ้าน ขณะนั้นธุรกิจครอบครัวยังเป็นสินค้าโนเนม 

ถ้าวันนี้เราอยากหาผ้าม่านดี ๆ สักผืนมาประดับตกแต่งบ้านของเรา พร้อมกับเครื่องนอนคุณภาพเยี่ยมที่หวังจะอยู่กับเราไปนานอีกหลายปี หลายคนน่าจะนึกถึงแบรนด์ ‘พาซาญ่า’ (PASAYA) เด้งขึ้นมาในใจเป็นตัวเลือกแรก ๆ 

PASAYA เกิดขึ้นมาจากผู้ปลุกปั้นรุ่นลูกอย่าง ‘ชเล วุทธานันท์’ ชายสุภาพพูดน้อย ที่หากใครได้รู้เบื้องหลังความคิดของเขาแล้วก็น่าจะรู้สึกยกย่องในตัวเขาได้ไม่ยาก

หนอนหนังสือแต่เด็ก

ชเลเกิดเมื่อปี 1955 ครอบครัวของเขาตอนนั้นยังไม่ใช่ตระกูลเศรษฐีร่ำรวย และไม่ได้มีธุรกิจผ้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกแบบทุกวันนี้ เขาเติบโตมามีชีวิตวัยเด็กแบบครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาทั่วไป 

ตามค่านิยมคนเชื้อสายจีน คุณพ่อของเขาส่งเข้าโรงเรียนจีนเพื่อฝึกภาษาจีนโดยเฉพาะ แต่กลับกลายเป็นว่า ชเลดันชอบภาษาไทย แต่ที่ชอบยิ่งกว่าก็คืออุปนิสัย ‘รักการอ่าน’

เด็กคนอื่นอาจมัวแต่เล่นเกมไม่ยอมนอนจนพ่อแม่ดุด่า แต่ชเลเอาแต่อ่านหนังสือจนไม่ยอมนอน พูดว่าเขาเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่ตอนนั้นเพราะไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหนเขาก็อ่านหมด

ด้วยความรอบรู้จากการอ่านนี้เองที่เปิดโลกกว้างให้เขามากกว่าห้องเรียน การอ่านหนังสือเป็นเหมือนการเก็บเลเวลสะสมจุดไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันหนึ่งข้างหน้า ชเลจะค่อย ๆ ประกอบร่างจุดเหล่านี้เข้าหากันจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และพร้อมเต็มที่สำหรับการสานต่อธุรกิจผ้าของที่บ้าน

ช่วงวัยมหาวิทยาลัย เขาเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมกับทำงานเก็บเงินไปด้วย หลังเรียนจบแรก ๆ มีโอกาสได้สอนภาษาจีน และทำสื่อหนังสือพิมพ์โดยเอาข่าวไทยมาแปลเป็นภาษาจีน แต่สุดท้ายก็พบว่าอาชีพนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบแบบสุดหัวใจ

รู้จักกับโลกของสิ่งทอ

แต่แล้วชีวิตก็พลิกผัน เมื่อคุณพ่อเรียกตัวกลับมาให้ช่วยดูแลโรงงานทอผ้าเล็ก ๆ เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งความในตอนนั้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งทอเป็นสิ่งที่ชเลแทบไม่มีในหัว 

อุปนิสัยจากการอ่านหล่อหลอมให้เขาทำอะไรต้องเป็นคนที่ ‘รู้ลึกรู้จริง’ ต้องมีองค์ความรู้แบบผู้เชี่ยวชาญ Specialist ที่ไม่ใช่แค่เป็ด Generalist 

เขาตัดสินใจสานต่อธุรกิจโดยมีเงื่อนไขคือ “ขอไปเรียนต่อต่างประเทศ” เพื่อให้รู้จริงในเรื่องนี้เสียก่อน ชเลบินไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมสิ่งทอโดยตรงที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา ซึ่งในยุคสมัยนั้น มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านวิศวกรรมสิ่งทอ ขณะที่ ชเล เป็นคนไทยเป็นเพียงคนเดียวที่เรียนที่นี่ในเวลานั้น

ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทีเดียวสำหรับ ชเล เพราะว่าเขากอบโกยความรู้อย่างมากในเรื่องที่ไม่เคยรู้ อย่างเช่น ผลกระทบของสารเคมีในเนื้อผ้าที่มีต่อร่างกายมนุษย์, การถ่ายเทความร้อน โดยทั้งหมดนี้มีงานวิจัยรองรับ

นอกจากนี้ ยังเรียนรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เช่น ตอนนั้นมีการค้นคว้าเนื้อผ้าสำหรับนำไปทำเป็นชุดนักบินอวกาศ เป็นต้น

 

สานต่อธุรกิจ

ปี 1986 เด็กนอกแบบชเลเรียนจบ จากนั้นเขากลับมาสานต่อธุรกิจจากคุณพ่ออย่างเป็นทางการ เขาหอบหิ้วเทคนิคทันสมัยในการทำผ้า วัสดุแปลกใหม่ รวมถึงงานดีไซน์ใหม่ ๆ ด้วย

ซึ่งความรู้มากมายที่ ชเล ได้เรียนรู้มา กลายเป็นความได้เปรียบเชิงองค์ความรู้ Know-How ตั้งแต่สิ่งที่เรามี สิ่งที่ลูกค้าต้องการ และอะไรที่โรงงานอื่นทำไม่ได้ ปัจจัยเหล่านั้นล้วนเกิดเป็นจุดแข็งและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (Unique selling point)

แนวโน้มดูจะไปได้ด้วยดี แต่ประเด็นคือตลาดในประเทศไทยมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สิ่งที่ชเล คิดออกออกตอนนั้นก็คือ ต้องเบนเข็มโฟกัสใหม่โดยส่งออกไปขายในต่างประเทศ 

แม้ว่ายังไร้แบรนด์ในช่วงนั้น แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้ธุรกิจเติบใหญ่ จากไซส์เล็กขึ้นมาเป็นไซส์กลาง จนมีเงินทุนไปสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดราชบุรีในปี 1995

แต่แล้วปี 1997 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น หลายธุรกิจล้มละลาย ขณะเดียวกันธนาคารก็ปิดตัว

เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจของครอบครัวชเลยังรอดพ้นมาได้ เพราะว่า การโฟกัสไปที่ตลาดต่างประเทศก่อนหน้านั้นแล้ว

และไม่เพียงทำให้ธุรกิจเขารอดพ้น แต่ยังทำให้ธุรกิจเติบโตทวีคูณด้วยซ้ำ จากอานิสงส์การลอยตัวค่าเงินบาทที่เป็นผลดีกับธุรกิจฝั่งส่งออก และนี่คือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ใหม่จาก ‘ชเล’

 

กำเนิด PASAYA

ด้วยความที่ชเลรู้ภาษาจีน จึงรู้ความเคลื่อนไหวของทางเมืองจีนที่กำลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ จึงพอคาดเดาได้ว่า ‘ทุนจีน’ จะแผ่ขยายอิทธิพลมาลงทุนทั่วโลกในอีกไม่กี่ทศวรรษหน้า

ดังนั้น ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าจากความได้เปรียบเชิงปริมาณ (Economies of scale) ของธุรกิจสิ่งทอจากจีน ก็น่าจะไหลทะลักเข้ามาในไทยได้ไม่ยากเช่นกัน

ชเล จึงคิดหาทางรอดทันทีที่ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในระยะยาว คำตอบก็คือ พวกเขาต้อง ‘สร้างแบรนด์’ (Brand building) แบบจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมา 

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ ‘PASAYA’ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2000 อย่างเป็นทางการ ชเลต้องการตั้งชื่อที่อ่านง่าย สะกดง่าย และไม่ว่าคนชาติไหนก็อ่านได้ อาจเพราะว่าเขาทำธุรกิจส่งออกกับนานาชาติเป็นหลัก(ตอนนั้น) และหลังจากนั้น ชเล เริ่มขยับขยายไลน์สินค้าใหม่ ๆ (Product line extension) ไปเป็นของตกแต่งบ้าน ที่นอน ปลอกหมอน เครื่องนอน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ชเล ยึดถือมาตั้งแต่ day 1 จนมีแบรนด์ PASAYA ก็คือ ‘คุณภาพสินค้า’ เขาต้องการให้ภาพจำของ PASAYA เป็นแบรนด์ระดับพรีเมียม เพราะเชื่อว่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาจากคุณภาพสินค้าที่ดีเป็นพื้นฐาน

และในช่วงนั้นราชวงศ์สวีเดนมีโอกาสได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ด้วย ถือเป็นโอกาสสร้างแบรนด์ผ่านการผูกเชื่อมโยงกับบุคคลสำคัญที่เป็นคนใช้สินค้าตัวจริง ซึ่งทำให้ PASAYA มีชื่อเสียงมากขึ้นในระดับอินเตอร์และมีภาพลักษณ์พรีเมียมชัดเจน

 

บริหารทีมสไตล์ชเล

แต่สิ่งที่ชเลให้ความสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่ตัวสินค้า แต่เป็น ‘พนักงาน’ ของ PASAYA ต่างหาก

สำหรับบทบาทผู้นำองค์กร ชเลมีแนวคิดที่ตรงไปตรงมา รู้ว่าแม้ตัวเองจะมีไอเดียดีแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้ว ‘คนลงมือทำ’ คือเหล่าพนักงานที่ช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง 

ดังนั้น เขาเชื่อว่า ก่อนจะทำให้สินค้าดีได้…พนักงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อน (Employee well-being)

ชเล เริ่มจากลงทุนปรับปรุง ‘สภาพแวดล้อมการทำงาน’ ของตัวโรงงานให้มีมาตรฐานสากล ใช้วัสดุหลังคากันความร้อนอย่างดี แทรกพื้นที่สีเขียวและความสุนทรีลงไปในบรรยากาศการทำงาน ยกระดับความปลอดภัย ทั้งยังแยกโซนการผลิตออกจากกัน เช่น โซนย้อมผ้าที่แยกจากโซนตัดเย็บผ้าอย่างชัดเจน

เขายังปรับปรุงไปถึง ‘หอพักพนักงาน’ ที่สร้างบรรยากศร่มรื่นด้วยต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้พนักงานรู้สึกสบายตา รวมถึงมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ลูก ๆ สมาชิกครอบครัวพนักงานได้รับการศึกษาที่ดี

นอกจากนี้ เขานำวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้ซึมซับมาตอนเรียนมาใช้ในการบริหารทีมด้วย เช่น ลงไปทำงานระดับปฏิบัติการเป็นระยะ เพื่อดูปัญหาหน้างานและรับฟังปัญหาพนักงาน หรือนั่งทานข้าวร่วมกันกับพนักงานคนอื่นที่โรงอาหาร

 

คิดถึงสังคม

โรงงานใหม่ของ PASAYA คืออีกหนึ่งการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการรักษ์โลกที่ไม่ใช่แค่กับบริษัท แต่รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอเลยก็ว่าได้ในยุคนั้น 

เป็นโรงงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขภาพพนักงาน และสวยงามทรงคุณค่าในแง่สถาปัตยกรรม โดย PASAYA ลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐาน และไม่ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังและปอด และตั้งเป้าบรรลุการเป็นโรงงาน Net Zero Emission Factory ให้ได้ในปี 2050 

ปัจจุบัน โรงงาน PASAYA ได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานสีเขียว (Green Factory)

ถึงแม้ว่าการลงทุนและการปรับปรุงต่าง ๆ จะทำให้เขามีต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่เขายอมที่จะลดกำไรให้น้อยลง เพราะเชื่อว่า มาตรฐานเป็นสิ่งที่ต้องทำ และนี่ไม่ใช่การทำ CSR แต่เป็น Necessity ความจำเป็นที่ต้องทำในฐานะองค์กรที่มีต่อโลก

ทุกวันนี้ชเลเปลี่ยนโฉมโรงงานทอผ้าเล็ก ๆ ให้เป็นอาณาจักรครบวงจร จากธุรกิจสิ่งทอขนาดย่อมไร้แบรนด์ สู่แบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก จากเส้นทางชีวิตเริ่มต้นที่ดูไม่เกี่ยวข้องผ่านการปะติดปะต่อจุดแต่ละจุด สู่การรับไม้ต่อและสร้าง PASAYA ให้เป็นแบรนด์ที่น่าภาคภูมิใจ

 

ภาพ: PASAYA Facebook page

อ้างอิง:

PASAYA

Bangkokpost

Urbancreature

Bangkokbiznews

Mixmagazine