‘CHANGAN’ รถเก่าแก่ 161 ปีของจีน เริ่มจากผลิตอาวุธให้กองทัพ สร้างรถจี๊ปเพื่อเข้าวงการรถยนต์

‘CHANGAN’ รถเก่าแก่ 161 ปีของจีน เริ่มจากผลิตอาวุธให้กองทัพ สร้างรถจี๊ปเพื่อเข้าวงการรถยนต์

‘Changan’ (ฉางอาน) รถที่ถือว่าเก่าแก่มาก ๆ ของประเทศจีนกว่า 161 ปี ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ เจ้าของเริ่มจากการผลิตอาวุธให้กองทัพทหาร และผลิตรถจิ๊ปเป็นรุ่นแรก เพื่อสร้างตัวตนในวงการรถยนต์ในยุคแรก ๆ

  • ‘Changan’ (ฉางอาน) บริษัทที่เก่าแก่ของจีน มีอายุกว่า 161 ปี แต่เริ่มธุรกิจครั้งแรกเกี่ยวกับการผลิตอาวุธให้กองทัพทหาร
  • ‘หลี่ หงจาง’ (Li Hongzhang) ผู้ก่อตั้ง ที่หันหน้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการเปิดตัว รถจิ๊ป เป็นรุ่นแรก ๆ ที่ผลิตขึ้น

ปลายเดือนตุลาคม 2566 บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘WHA’ ตกลงปลงใจกับบริษัท ฉางอาน ออโต้เซ้าท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ ‘Changan’ (ฉางอาน) ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในเวลานี้

ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่บริษัทฉางอาน ตั้งใจสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้านอกประเทศจีน โดยตั้งเป้าให้ฐานการผลิตที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเข้ามาลงทุนในไทยของ Changan เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์อีวี) ทั่วโลกที่เป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีการห้ำหั่นไล่บี้ระหว่างค่ายรถยนต์กันถึงพริกถึงขิง

ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ระบุว่า จีนมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เฉพาะยอดขายรถยนต์อีวีในประเทศที่มีตัวเลขสูงถึง 3.3 ล้านคัน มากกว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2020 ด้วยซ้ำไป

ความดุเดือดในโลก ‘รถยนต์อีวี’ ยังปะทุขึ้นไปอีก จากการทำงานร่วมกันของ ‘BYD’ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนที่ครองยอดขายอันดับ 1 ของโลก กับอดีตแชมป์อย่าง ‘Tesla’ โดยที่ BYD ตกลงจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ ‘Tesla Model Y’

หากลำดับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก็อาจเรียกได้ว่า ‘จีน’ ขึ้นแท่นผู้นำตลาดไปเรียบร้อยแล้ว โดยมี Changan ค่ายรถยนต์เก่าแก่อายุ 161 ปี ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญจากประสบการณ์การผลิตรถยนต์สันดาปมาหลายแบบ และยังเป็นค่ายรถยนต์รายแรก ๆ ในจีนที่หันหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ไต่อันดับสู่ผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน ‘BIG4’ แห่งวงการรถอีวี (หมายถึงบิ๊กเบิ้มที่เป็นแบรนด์รถยนต์อีวีในตลาดจีน)

เริ่มจากผลิตอาวุธทางการทหาร

แม้จะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ แต่ย้อนกลับไปในปี 1862 Changan เริ่มต้นธุรกิจแรกด้วยการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทหารในสมัยราชวงศ์ชิง โดยมี ‘หลี่ หงจาง’ (Li Hongzhang) เป็นผู้ก่อตั้ง

ขณะนั้นสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไม่สู้ดีนัก ราชวงศ์ต้องสู้รบปรบมือกับการรุกรานจากชาวญี่ปุ่นรวมถึงชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในประเทศด้วย อาวุธและกระบอกปืนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นตัวช่วยสำคัญแก่คนท้องถิ่นอย่างยิ่ง

นอกจากอาวุธปืนแล้ว Changan ยังได้ผลิตรถหุ้มเกราะด้วย โดยในปี 1957 บริษัทเริ่มผลิตรถจี๊ปทหารเป็นครั้งแรก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ Changan เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจจากการผลิตอาวุธสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ หลังจากนั้นจึงขยับไปผลิตรถยนต์ในรูปแบบ ‘มินิทรัค’ หรือรถบรรทุกขนาดเล็กขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งหลังจากเปิดตัวได้ไม่นานก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่งปี 1984 Changan เริ่มทำการผลิตรถมินิทรัคออกจำหน่ายในประเทศเป็นครั้งแรก และในปี 1988 บริษัทได้เริ่มการผลิตไลน์รถมินิแวนออกสู่ตลาดจีน

Changan เติบโตและมีชื่อในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ โดยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในปี 2005 ด้วยการเพิ่มทุน ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่เพื่อถือหุ้นทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม Changan ก็ไม่ได้ทิ้งกิจการผลิตอาวุธไปเสียทีเดียว ยังคงรักษาธุรกิจดั้งเดิมไว้โดยเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตจากบริบททางการเมืองในยุคก่อน สู่ภารกิจเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหลัก

Changan เติบโตขึ้นท่ามกลางความเข้มข้นของการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก บริษัทสามารถผลิตรถยนต์ได้แทบทุกแบบ ตั้งแต่รถยนต์โดยสารทั่วไป รถบรรทุกที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรายแรก ๆ ในจีนที่เริ่มต้นพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน (China Passenger Car Association: CPCA) รายงานยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในปี 2022 และไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ระบุว่า BYD ยังคงรั้งอันดับ 1 มียอดขายราว 1.6 ล้านคัน ขณะที่ Changan ติดโผอันดับที่ 7 มียอดขายราว 3 แสนคัน ซึ่งนับว่ายังทิ้งห่างจากแชมป์อยู่พอสมควร

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในปีนี้ Changan รุกตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์อีวีจากจีนทั้ง ‘BYD’ ‘GWM’ และ ‘EV Hozon’ ล้วนปักธงตั้งโรงงาน - สร้างห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหมดแล้วทั้งสิ้น 

 

ไทยประตูสู่ตลาดต่างประเทศ

สำนักข่าว South China Morning Post ให้ความเห็นว่า ความเร่งรีบของ Changan ในการสร้างโรงงานผลิตในต่างประเทศสะท้อนว่า ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนเริ่มกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ โดยบริษัทเปิดเผยว่า โรงงานในประเทศไทยจะเป็นหมุดหมายในการขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วยการตั้งหลักที่ประเทศไทยก่อน Changan เชื่อว่า หลังจากนี้บริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในตลาดต่างประเทศ

เดือนเมษายน 2023 ผู้บริหาร Changan เคยลั่นวาจาไว้ว่า จะมีการลงทุนในต่างประเทศมูลค่ารวม 10,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 มีเป้าหมายในการจำหน่ายรถยนต์นอกประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคันต่อปี

ด้าน ‘เฉิน จินจู’ (Chen Jinzhu) ผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีในตลาดรถยนต์มาเป็นเวลานานวิเคราะห์ว่า เป้าหมายสูงสุดของ Changan หลังจากนี้ คือการผลิตและขายรถยนต์ในต่างประเทศ

ปีที่ผ่านมาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็น ‘โอเอซิส’ ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนด้วยเงื่อนไขเรื่องระยะทางและขอบเขตจากประเทศต้นทาง รวมทั้งศักยภาพการผลิตในประเทศ เนื่องจาก ‘ไทย’ เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ทั้งยังมีขนาดตลาดการขายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย รายงานจากเว็บไซต์ ‘Just-auto’ บริษัทที่ปรึกษาและผู้ให้บริการข้อมูลรายงานว่า ยอดขายรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ราว 11.9% รวมทั้งสิ้น 849,388 คัน 

ความดุเดือดของการขับเคี่ยวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจีนสะท้อนได้จากเป้าหมายของยักษ์รถยนต์หลายเจ้า อาทิ BYD จะเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียในปี 2024 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี ด้าน ‘GWM’ จะสร้างโรงงานผลิตในเวียดนามให้แล้วเสร็จภายในปี 2025 เพื่อการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ‘Handal Indonesia Motor’ ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นกับ ‘Neta’ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียด้วย

ประเทศจีนมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวมแล้วกว่า 200 ราย โดยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกลุ่ม ‘อาลีบาบา’ ทำให้ขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังมีแนวโน้มแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในไม่ช้า

โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 ยอดการส่งออกรถจากจีนมีมากถึง 2.34 ล้านคัน ขณะที่ตัวเลขยอดขายในต่างประเทศจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.02 ล้านคันเท่านั้น

แม้ว่าเปรียบเทียบกับค่ายรถยนต์จีนเจ้าอื่น ๆ แล้ว Changan จะยังทิ้งห่างอยู่มาก แต่หากพิจารณาจากยอดขายรายปีแล้วก็นับว่า Changan มีการเติบโตที่น่าจับตามอง โดยเติบโตขึ้นจากปี 2022 กว่า 89% เมื่อฐานการผลิตในระยองแล้วเสร็จหลังจากนี้ เราคงได้เห็นการทำตลาดของ Changan ในต่างประเทศอย่างเข้มข้นมากขึ้น

 

เรื่อง : mysterious

ภาพ : Global Changan

อ้างอิง :

Bloomberg 1

Bloomberg 2

Carnewschina 

Thaipublica

Scmp 

Statista 

Thechinaproject 

Tcchangan

Britannica