อนาคต ‘อิตาเลียนไทย’ จากรุ่นหนึ่ง ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ ถึงยุครุ่น 3 ‘ธรณิศ กรรณสูต’

อนาคต ‘อิตาเลียนไทย’ จากรุ่นหนึ่ง ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ ถึงยุครุ่น 3 ‘ธรณิศ กรรณสูต’

เส้นทางธุรกิจอิตาเลียนไทย ตั้งแต่รุ่นแรกในยุค ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ จนถึงทายาทรุ่นที่ 3 ‘ธรณิศ กรรณสูต’ วัย 35 ความท้าทาย อุปสรรค และสารพัดปัญหารุมเร้า ที่หลายคนให้ความสนใจมากขึ้นในฐานะที่เป็น 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย

  •  ‘ธรณิศ กรรณสูต’  รักษาการประธานบริหาร วัย 35 ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดสภาพคล่อง และหนี้สะสมก้อนใหญ่ จนต้องยื่นขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ITD254A 
  • เรื่องราวของรุ่นแรกในยุค ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ และพาร์ตเนอร์ชาวอิตาลี ธุรกิจที่เกิดจากความชอบส่วนตัว

ชื่อเสียงของ ‘อิตาเลียนไทย’ (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ที่ตอนนี้ นับตั้งแต่ปี 2561 หลังจากที่ ‘เปรมชัย กรรณสูต’ ประธานบริหารฯ ถูกจับกุมเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ 'คดีเสือดำ' 

กิจการของ อิตาเลียน-ไทย ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดี๋ยวได้กำไร เดี๋ยวขาดทุน แปรปรวนผันผวนมาตลอด ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง เพราะมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

ผลประกอบการของอิตาเลียน-ไทยเข้าไปอยู่ในช่อง ‘ขาดทุน’ อยู่บ่อย ๆ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ทำให้ต้องเสนองานในราคาประมูลต่ำกว่าคู่แข่ง เพื่อพยายามปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีกว่าที่จะสะสางได้

ผลงานดีขึ้นได้เพียงไม่กี่ปี ก็ประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่องอีกครั้งตั้งแต่ปี 2563 - 2566 กลายเป็นแผลขาดทุนเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดรายได้หลักที่มาจากโปรเจกต์ของภาครัฐทั้งสิ้น รวมถึงช่วงการระบาดโควิด-19 ทำให้หลายโปรเจกต์ในต่างประเทศ ทั้งอินเดีย, ฟิลิปปินส์, บังกลาเทศ, เวียดนาม ต้องเลื่อนการส่งมอบงาน จนบริษัทเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้วันนี้ (30 มกราคม 2567) อิตาเลียน-ไทย ได้ขอยืดการชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 2 ปี

จากที่เป็น 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย อิตาเลียน-ไทย ถูกกดดันเรื่องความเชื่อมั่นครั้งแล้วครั้งเล่า และแม้ว่าอิตาเลียน-ไทยตอนนี้ซึ่งอยู่ในมือ ‘ธรณิศ กรรณสูต’ รักษาการประธานบริหาร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 บุตรคนสุดท้องของเจ้าสัวเปรมชัย แต่เส้นทางนี้เชื่อว่าก็คงไม่ง่ายนักสำหรับผู้บริหารวัย 35 ปี

อนาคต ‘อิตาเลียนไทย’ จากรุ่นหนึ่ง ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ ถึงยุครุ่น 3 ‘ธรณิศ กรรณสูต’

ความรู้ความสามารถของ ธรณิศ จากทักษะการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ ก็น่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ พลิกปัญหาให้ดีขึ้นได้ ในช่วงอ่อนแรงเช่นนี้ของอิตาเลียน-ไทย แต่เส้นทางคงทุลักทุเลอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเพราะว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ปัจจัยเสี่ยงเยอะ และอ่อนไหวง่ายในสภาวะตลาดที่ไม่เป็นใจ

ทำให้เรานึกถึงความมานะพยายามตั้งแต่รุ่นแรกของที่ก่อตั้งขึ้นมา ‘ดร.ชัยยุทธ กรรณสูต’ และพาร์ตเนอร์ชาวอิตาลี เพราะกว่าที่อิตาเลียน-ไทย จะยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ ก็ต้องงัดความสามารถออกมาโชว์มากมายเหมือนกัน

 

โตมากับธุรกิจโรงน้ำแข็ง แต่ชอบงานก่อสร้าง

ก่อนที่ ดร.ชัยยุทธ จะได้เจอกับ จิโอจิโอ เบลลินเจียรี่ (Giorgio Berlingieri) วิศวกรชาวอิตาลี พาร์ตเนอร์ธุรกิจคนสำคัญของเขา อยากจะย้อนไปนิดหนึ่งเกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา เพราะมีผลมาก ๆ ต่อความคิดและการตัดสินใจของเขาทุกฝีก้าว

ดร.ชัยยุทธ เกิดและโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจ พ่อแม่ของเขามีธุรกิจโรงน้ำแข็ง เรียกว่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยในช่วงมหาวิทยาลัย พ่อแม่กลับสนับสนุนให้ ดร.ชัยยุทธ ร่ำเรียนในสายการแพทย์แทน ซึ่งเขาได้เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์มหิดล เพราะมองว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ได้กุศลแรง หากเป็นแพทย์ที่ดีก็มีคนนับหน้าถือตาและให้ความเคารพ

เมื่อเขาเรียนจบอาชีพแรกที่ทำก็คือ ‘แพทย์ประจำกรมการเชื้อเพลิงกองทัพบก’ และได้พบรักจนแต่งงานกับ ‘แพทย์หญิง ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต (วรวรรณ)’ หลังจากนั้นเขาเลือกที่จะลาออกเพราะอยากสานต่อธุรกิจจากพ่อแม่ แต่เมื่อทำได้สักพัก กลับพบความชอบใหม่ของตัวเอง จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ และจุดกำเนิดธุรกิจในเมืองไทยขึ้นมา

ดร.ชัยยุทธ มีโอกาสได้เจอกับ โอจิโอ เบลลินเจียรี่ จากความสำเร็จในการได้รับสัมปทานการกู้เรือเดินทะเล ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันนั้นทำให้พวกเขาตกลงที่จะก่อตั้งธุรกิจด้วยกัน คือ บริษัท อิตัลไทย อินดัสเตรียล จำกัด เป็นบริษัทแรกในปี 2498 และก็เป็นบริษัทแรกที่นำเข้า ‘เตาแก๊ส’ และวางขายในไทย

ต่อมาในปี 2501 บริษัท ‘อิตาเลียน-ไทย’ ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยทั้ง 2 คนได้ลงทุนร่วมกันคนละ 2 ล้านบาท และแบ่งหุ้นกันคนละ 50% โดยคำว่า อิตาเลียน-ไทย มาจาก บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม ซึ่งทำเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างในยุคที่เริ่มก่อตั้งบริษัท อิตัลไทย (จากทั้งหมด 5 ธุรกิจหลักที่ทำคือ การค้า, ก่อสร้าง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงแรมและธุรกิจที่ดิน และ ธุรกิจหนังสือพิมพ์)

ทั้งนี้ ธุรกิจของ อิตาเลียน-ไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักที่ดำเนินการ ก็คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, ธุรกิจการลงทุนด้านอื่น ๆ และกิจการร่วมค้า โดยรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างถือเป็นรายได้หลักของบริษัท และมีการเติบโตที่เร็วมาก เพราะช่วงที่กำเนิด ‘อิตาเลียน-ไทย’ เป็นช่วงไล่เลี่ยกับยุคของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของไทย ที่เข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502

ทั้งยังเป็นยุคที่เปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงช่วงเริ่มต้นในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในเมืองไทยด้วย ดังนั้น อิตาเลียน-ไทย จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในสปอตไลต์ที่ดีมาก ด้วยความที่เป็นบริษัทที่ใช้โนว-ฮาวจากอิตาลี จึงได้เปรียบและเกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ทำให้ในปีแรก อิตาเลียน-ไทย ทำรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างสูงถึง 40 ล้านบาท

อิตาเลียน-ไทย ถือว่าเป็นบริษัทที่ได้สัมปทานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และได้โครงการใหญ่ ๆ ของภาครัฐเยอะ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ, การออกแบบและก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้า BTS จำนวน 23 สถานี, โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในแคว้นตะนาวศรี (แต่ถูกยกเลิกสิทธิสัมปทานทุกโครงการในปี 2563 เพราะปัญหาความล่าช้า ไปจนถึงสถานการณ์ในเมียนมาไม่เอื้ออำนวย)

ต้องพูดว่า สถานการณ์ของอิตาเลียน-ไทย ในเวลานี้อาจจะยังน่าเป็นห่วง แม้ว่ายังติดลิสต์เป็น Top 3 ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย และเคยยืนยันว่า กรณีของเจ้าสัวเปรมชัย ไม่ได้กระทบการดำเนินธุรกิจใด ๆ ของอิตาเลียน-ไทย แต่ปัจจัยอื่น ๆ ทั้งคู่แข่งในตลาด, ความเชื่อมั่นการลงทุน ไปจนถึง ปัญหาการขาดทุน หรือทรัพย์สินหมุนเวียนของบริษัทที่ยังไม่คล่องตัว วันนี้ก็คงเป็นอีกหนึ่งวันที่อิตาเลียน-ไทย ยังหายใจโรยริน และมีหลาย ๆ เรื่องที่ยังต้องสะสาง...กว่าจะถึงวันนั้น เราหวังเพียงว่า บริษัทที่อยู่กับคนไทยมานานกว่า 66 ปี จะยังยืนหยัดและไร้เทียมทานได้เร็ววัน

 

ภาพ: ITD Italian-Thai Development Public Company Limited

อ้างอิง:

อิตาเลียน-ไทย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ย้อนรอย เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทำเงินลงทุน ITD จม 7.8 พันล้าน

น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับอิตัลไทยกรุ๊ป (จากนิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2529)