03 มี.ค. 2567 | 14:04 น.
KEY
POINTS
“Give a girl the right shoes and she can conquer the world.”
“จงมอบรองเท้าที่ถูกคู่ให้กับผู้หญิง แล้วเธอจะสามารถพิชิตโลกได้”
‘มาริลิน มอนโร’ (Marilyn Monroe) เซ็กส์ซิมโบแห่งยุค 50s กล่าวประโยคที่ฟังดูผิวเผินเหมือนจะให้ความสำคัญกับการมีรองเท้าที่ทันสมัย และสวมใส่สบาย ทว่าลึกลงไปแล้วประโยคที่เธอกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ใครก็ตามที่มีความมั่นใจมากพอ คนเหล่านั้นจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรค และไปสู่จุดสูงสุดได้
แล้วถ้าจะพูดถึง ‘รองเท้า’ ที่คนใส่ต้องมีความ ‘มั่นใจ’ แบบสุด ๆ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อแบรนด์ ‘iGUANEYE’ ติดอยู่ในโผด้วย เพราะเป็นรองเท้าที่หน้าตาแปลกประหลาดชนิดที่ใส่ไปไหน คนต้องเหลียวหลังกลับมามอง
iGUANEYE เป็นแบรนด์รองเท้าที่โดดเด่นเพราะไร้ซึ่งสาย ตะเข็บ หรือกาว ที่จะมาหนีบหรือรั้งเท้าของเราไว้ เป็นเพียงรองเท้าที่เราสามารถสวมเท้าลงไปได้อย่างพอดิบพอดี
ข้อดีของรองเท้าแบรนด์นี้คือทำให้ผู้สวมใส่สบายไม่ต่างจากการเดินเท้าเปล่า แต่ขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าเท้าจะยังคงปลอดภัยเช่นเดียวกับการสวมรองเท้าผ้าใบ ที่ไม่ว่าจะเดิน กระโดด หรือวิ่ง ก็ยังคงปกป้องเท้าเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
แรงบันดาลใจในการทำรองเท้าของ iGUANEYE มาจากชาวอินเดียนแดงที่ค้นพบว่า ‘ยาง’ ช่วยปกป้องเท้าของพวกเขาจากเสี้ยนหนามต่าง ๆ ในป่าได้
ในหนังสือ ‘The Thief at the End of the World: Rubber, Power, and the Seeds of Empire’ ของ ‘โจ แจ็คสัน’ (Joe Jackson) เผยว่า ยางถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักสำรวจชาวยุโรปอย่าง ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส’ (Christopher Columbus) ที่ได้ไปเจอเข้ากับผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางอย่างชาวอินเดียนแดงอเมซอน
นานมาแล้วก่อนที่ชาวยุโรปจะค้นพบอเมริกา ชาวอินเดียนแดงได้นำยางมาใช้ทำเสื้อผ้ากันน้ำ ภาชนะที่ไม่มีวันแตก และรองเท้า
การใช้ประโยชน์จากยางของชาวอินเดียนแดง เริ่มต้นจากการกรีดเปลือกต้นยางพารา แล้วเก็บน้ำยางข้นสีขาว จากนั้นก็นำมาย่างบนกองไฟจนกว่ายางจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
คาดว่าระหว่างการย่างที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ชาวอินเดียนแดงอาจจะรู้สึกเบื่อ เลยลองจุ่มสิ่งต่าง ๆ รวมถึง ‘เท้า’ ลงไปในน้ำยาง
ไม่ว่าจะด้วยความเบื่อหน่าย หรือปรารถนาจะปกป้องฝ่าเท้าของตัวเองจากอันตรายในป่า จุดนี้เองได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ว่า ชาวอินเดียนแดงได้ประดิษฐ์รองเท้าขึ้นด้วยการจุ่มเท้าลงไปในยาง
แล้วเมื่อยางเคลือบเท้าทั้งหมดแล้ว ชาวอินเดียนแดงก็นำเท้าไปลนไว้เหนือไฟ
แจ็คสันเชื่อว่า ชาวอินเดียนแดงอาจจุ่มเท้าลงไปในน้ำยางครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งได้รองเท้าที่สามารถห่อหุ้มเท้าของพวกเขาจากอันตราย โดยรองเท้าแต่ละคู่ของชาวอินเดียนแดงจะเข้ากับรูปเท้าของพวกเขาได้อย่างพอดีเป๊ะ จึงมีความกระชับพอดี และสะดวกสบาย เกือบจะคล้ายผิวหนังชั้นที่สองเลยก็ว่าได้
หลังการค้นพบครั้งนั้น ยางจึงถูกนำไปพัฒนาเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับเกษตรกร รวมไปถึงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ขณะที่ ‘โอลิเวียร์ ทาโก’ (Olivia Tago) นักออกแบบชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาโปรตุเกสในปี 2013 ต่อยอดการประดิษฐ์รองเท้าของชาวอินเดียนแดง จนกลายมาเป็นแบรนด์รองเท้า ‘iGUANEYE’
รองเท้าของ iGUANEYE ถูกสร้างขึ้นด้วยรูปทรงที่เข้ากับส่วนโค้งของเท้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีรูปทรงตามหลักสรีรศาสตร์ที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ
นักออกแบบผู้นี้ยังได้เรียนรู้การออกแบบรองเท้านวัตกรรมใหม่ ที่ไร้ตะเข็บ กาว รวมถึงสายรัด ทำให้ผู้ใส่รู้สึกเหมือนเดินเท้าเปล่า
ส่วนหลักของรองเท้าประกอบด้วย ‘พื้นรองเท้า’ ที่ถอดออกได้และระบายอากาศได้ ทำจากไม้ก๊อก (99%) น้ำยางธรรมชาติ (1%) แล้วเคลือบด้วยหนัง ซึ่งทำให้มีสุขอนามัยและความสบายเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนังที่ใช้เคลือบนั้นนุ่มต่อผิวหนัง และไม้ก๊อกทำหน้าที่เป็นวัสดุต้านเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติ ช่วยดูดซับเหงื่อและป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้ iGUANEYE ยังมีแนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะเมื่อใช้รองเท้าของ iGUANEYE ไปเรื่อย ๆ จนหมดอายุการใช้งานแล้ว ตัวรองเท้ายังสามารถนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิลต่อได้
นวัตกรรมรองเท้าของ iGUANEYE ซึ่งเป็นการผนวกความคิดสร้างสรรค์และความสบายเข้าด้วยกัน โดดเด่นจนได้รับรางวัล ‘National Award Creative Industries’ ในปี 2021
ด้วยหน้าตาที่แปลกประหลาดทำให้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่ถ้าคุณเป็นคนแปลกและแตกต่าง คงจะถูกใจรองเท้าแบรนด์นี้ เหมือนที่ ‘แซม ไมตรา’ (Sam Maitra) ผู้อํานวยการ iGUANEYE สาขาออสเตรเลีย กล่าวไว้ว่า
“รองเท้าของเราดูแตกต่างออกไป นั่นเป็นเหตุผลที่เรารักรองเท้าพวกนี้ เพราะรองเท้าก็เหมือนเราแต่ละคน ถ้าคุณมีความกล้าที่จะแตกต่างเพื่อเป็นตัวของตัวเองแล้วล่ะก็ iGUANEYE ก็เหมาะสำหรับคุณ”
เรื่อง: นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)
ภาพ: iGUANEYE/Instagram
อ้างอิง:
iGUANEYE Comfort Everywhere
This summer an international footwear brand is hitting the shores of Perth | Perth Underground
The Origin of Rubber Boots | Scientific American