14 เม.ย. 2567 | 22:42 น.
KEY
POINTS
สัญลักษณ์ของ ‘แป้งตรางู’ นอกจากความเย็นอันเลื่องลือ สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนตลอดกาลก็คือ ‘กระป๋องเหล็ก’ ทรงสี่เหลี่ยมจำง่าย แค่ปิดตาแล้วจับคนส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าคือ แป้งเย็นตรางูในตำนาน
ด้วยอากาศร้อนของประเทศไทย ทำให้ชื่อเสียง ‘แป้งตรางู’ ยังเป็นที่นิยม แม้ว่าจะมีอายุยืนถึง 132 ปีแล้วก็ตาม แต่ความนิยม เอกลักษณ์ความเย็นของตัวแป้ง ไปจนถึงแพ็กเกจกระป๋องเหล็ก ยังตราตรึงคนไทยเช่นเดิม ถึงแม้จะมีสินค้าใหม่ ๆ ออกมาภายใต้แบรนด์ ‘ตรางู’ ก็ตาม
โดยเหตุผลที่แป้งตรางูใช้แพ็คเกจเป็น ‘กระป๋องเหล็ก’ เพราะว่ากระป๋องเหล็กสามารถเก็บความเย็นได้นานกว่า ทำให้ความเย็นของแป้งอยู่ในระดับอุณหภูมิที่ต้องการ จึงไม่แปลกใจที่เห็นแป้งตรางูไม่เคยคิดเปลี่ยนแพ็คเกจเลยตลอดกว่า 100 ปีตั้งแต่ที่ทำธุรกิจ
แน่นอนว่า แป้งเย็น ไม่ใช่สินค้าแรกของตรางู เพราะว่าจุดเริ่มต้นที่ก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือผู้คน โดยในปี 2435 นายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ และ ดร.ปีเตอร์ กาแวน ได้ก่อตั้ง ‘บริษัทห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จำกัด’ ขึ้นมา ตอนนั้น นายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ ซึ่งมาจากคณะมิชชันนารีคณะเพรสไบที่เรียน และผู้จัดการโรงยาของมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Dispensary) เขาดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ใหญ่ที่โรงพยาบาลศิริราชในยุคนั้น
ช่วง 132 ปีก่อนต้องบอกว่า เป็นยุคสมัยของ ‘รัชกาลที่ 5’ ซึ่งสมัยนั้นในประเทศไทยเริ่มมีการยอมรับการรักษาแบบชาติตะวันตกบ้างแล้ว ดังนั้น บริษัทห้างขายยาอังกฤษ หรือ ตรางู จึงอยู่ในช่วงประจวบเหมาะพอดี ซึ่งห้างขายยาแห่งนี้นับว่าเป็นร้านที่ทันสมัยที่สุดในย่านสุรวงศ์ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นย่านที่ชาวต่างประเทศอาศัยอยู่มากที่สุดอีกย่านหนึ่ง
โดยผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสอง ตั้งใจทำให้ชั้นบนเปิดเป็นคลินิก และชั้นล่างเป็นที่ปรุงยาและขายยา ซึ่งร้านแห่งนี้มีเภสัชกรประจำตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือของห้างขายยาแห่งนี้ เกิดเป็นชื่อเสียงที่ใครต่อใครทั้งคนไทยและต่างชาติ ต่างก็มารักษาและซื้อยาปรุงที่นี่
ส่วนโลโก้ของห้างขายยาแห่งนี้เป็นที่พูดกันมากทีเดียวว่าทำไมต้องเป็น ‘รูปงู’ โดยทางบริษัทตรางู ได้อธิบายถึงสัญลักษณ์รูป ‘งูถูกศรปัก’ ว่าเป็นการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ พวกเขาตีความหมายของ ‘งู’ เปรียบเป็นอสรพิษ ซึ่งก็คือ โรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น ลูกศรที่ปักตัวงูจึงหมายถึง การปราบโรคปราบไข้เจ็บป่วยของผู้คน ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่เขาต้องการเปิดห้างขายยาตั้งแต่แรก
แล้ว ‘แป้งเย็น’ เกิดขึ้นช่วงไหน? ข้อมูลจากบริษัทตรางู ระบุว่า สินค้าที่เรียกได้ว่าทำชื่อเสียงให้กับตรางูมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน ก็คือ แป้งเย็น แต่ความจริงแล้วสิ่งประดิษฐ์สิ่งนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย ‘คนไทย’ ที่ชื่อว่า ‘หมอล้วน ว่องวานิช’
ต้องเล่าย้อนไปถึงคนบริหารรุ่นที่ 2 ก่อนมาเป็น ‘หมอล้วน ว่องวานิช’ เจ้าของคนที่ 3 ของห้างขายยาตรางู เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านของห้างขายยาแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เปลี่ยนมือ ไปเป็นของ ‘แมคเบธ’ (Mcbeth) เขาทำงานกับนายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ มาตั้งแต่ปี 2441
โดยนายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ อยากจะกลับไปยังถิ่นกำเนิดของตนที่อังกฤษ จึงตัดสินใจขายห้างขายยาตรางู และนั่นจึงทำให้ธุรกิจนี้ตกมาเป็นของ แมคเบธ ทันที รวมทั้งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในห้างขายยาด้วย
จนกระทั่งในปี 2471 แมคเบธ อยากขายกิจการห้างขายยาตรางู จึงถามหมอล้วน ว่องวานิช เป็นคนแรกเพราะพวกเขาทำงานมาด้วยกัน และแมคเบธ รู้ว่าเขาเชื่อใจหมอล้วนได้ เรื่องความชำนาญและฝีมือในการปรุงยา
หมอล้วน ไม่รอช้า รีบตกลงซื้อกิจการต่อทันที โดยรวบรวมทั้งเงินเก็บและกู้ยืมเงินมาเพิ่ม เพื่อให้ตัวเองได้ครอบครองห้างขายยาตรางูในราคา 1 แสนบาท โดยหมอล้วนรับช่วงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศด้วย แต่ที่ต่างไปจากรุ่นที่ 2 คือ เขาพยายามคิดค้นพัฒนาสูตรสินค้าที่เป็นเอกสิทธิ์ของห้างขายยาของเขาเอง ส่วนหนึ่งคิดว่าการแข่งขันตลาดยาแบบชาติตะวันตกรุนแรงขึ้น หนำซ้ำคู่แข่งในตลาดขายยาก็เยอะขึ้นด้วย
หมอล้วน ใช้เวลา 4 ปีในการคิดค้น ‘เครื่องสำอางที่มีความหอมและเย็น’ ก่อนอันดับแรก โดยในปี 2475 ห้างตรางูได้ผลิตแป้งน้ำมโนรา (เปลี่ยนชื่อเป็นแป้งน้ำควินนาในเวลาต่อมา) ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเครื่องสำอางที่มีความเย็นด้วย
นอกจากนี้ หมอล้วน ได้พัฒนาสินค้าใหม่ คือ แป้งเด็กเซนลุกซ์ เพื่อสนองตลาดที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก ในปี 2484 อย่างไรก็ตาม สินค้าอาจจะมีความแปลกใหม่สำหรับคนในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ห้างตรางูขึ้นชื่อเพราะสิ่งเหล่านี้ เพราะสินค้าที่ทำให้ ‘ตรางู’ เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ แป้งเย็น เกิดขึ้นในปี 2490
‘แป้งเย็นตรางู’ ...เหตุเกิดจากความ ‘คัน’ ถ้าพูดประโยคนี้ ไม่มีอะไรเกินจริงเลยสักนิด
เพราะว่า เมื่อ 77 ปีก่อน จุดกำเนิด ‘แป้งเย็นเจ้าแรกของโลก’ ก็คือ แป้งตรางู มาจากอาการของชายคนหนึ่งที่เดินเข้ามาในห้างขายยาเพื่อขอความช่วยเหลือ
‘บิรสเบน’ ทนายความคนหนึ่งมีอาการเป็นผดผื่นคัน เคยใช้ยาคาลาไมน์ก็ไม่หาย ยังคงมีอาการคันและผดผื่นร่วมทุกครั้งที่เหงื่อออก ซึ่งอากาศเมืองไทยมีส่วนอย่างมากกับอาการของเขา ดังนั้น หมอล้วน จึงพยายามคิดค้นแป้งที่มีความเย็นผสมในเนื้อแป้ง ปรากฎว่า บิรสเบน ใช้แล้วอาการดีขึ้น ผดผื่นที่เคยเป็นก็หายไป ทั้งยังบอกกับหมอล้วนด้วยว่า เป็นแป้งเย็นที่ทาแล้วสบายตัวเหมาะกับอากาศเมืองไทย
ตั้งแต่นั้นจึงเกิดเป็นปรากฎการณ์แป้งเย็นตรางูฟีเวอร์ ที่มีการแนะนำแบบปากต่อปาก ทำให้สินค้าตัวนี้ขายดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสินค้าฮีโร่ที่ขายดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน ๆ หรือ ฤดูร้อน
จึงถือเป็นแป้งเย็นต้นตำรับยี่ห้อแรกที่ผลิตขึ้นโดยคนไทย และได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งยังส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งแป้งเย็นตรางู ถูกจดจำนับตั้งแต่นั้นว่าเป็นแป้งเย็นเจ้าแรกของโลก
แป้งเย็นตรางูได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘ตรางู’ (Snake Brand) ตั้งแต่ในช่วงสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีน เพราะเหตุบางอย่างซึ่งมีความซับซ้อนมากมายเกิดขึ้นระหว่างนั้น รวมถึงเป็นเหตุผลให้ หมอล้วน ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ฮ่องกงด้วยเช่นกัน
สำหรับแป้งตรางู มีหลายคนที่คุ้นชื่อและเรียกว่า ‘แป้งเย็นปริกลี่ฮีท’ (Prickly Heat) หรือ แป้งตรางูเซนลุกซ์ (St.Luke’s)
ธุรกิจตรางู มีการคิดค้นและผลิตสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอยู่เรื่อยตั้งแต่ที่ หมอล้วน ยังบริหารธุรกิจ เช่น ยาแก้ไข้เด็กตรางู, ยาแก้ไอเด็กตรางู, ยาแก้หวัดเด็กตรางู, ยาแก้ไอน้ำดำตรางู และ น้ำมันเซนลุกซ์ เป็นของตัวเองด้วย
กระทั่งปัจจุบัน สินค้าตรางู ไม่ได้มีดีแค่แป้ง หรือ ยาประเภทต่าง ๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนไลน์สินค้าให้เขากับยุคสมัยขึ้น โดย 'อนุรุธ ว่องวานิช' ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้บริหารคนปัจจุบันได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ภายใต้แบรนด์ตรางู เช่น แป้งน้ำเย็น, คูลลิ่ง บอดี้สเปรย์, เจลอาบน้ำตรางู หรือ ทิชชู่เปียกของตรางู เป็นต้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นทายาท หรือ ผู้บริหารรุ่นไหนของธุรกิจตรางู ผู้เขียนมองว่า ความเก่ง ความเชี่ยวชาญ และความกระหายในการทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตจะฝังใน DNA ของลูกหลานเสมอ
ธุรกิจตรางู เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เรายกให้เป็นกรณีน่าศึกษา แม้ว่าช่วงที่ก่อตั้งจะไม่ใช่เราตั้งแต่วันแรก แต่ความสามารถ ความพยายามในการเรียนรู้ และการไม่ทิ้งโอกาสดี ๆ รอบตัว สอนเราได้เช่นกันว่า ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเพียงแต่เราต้องคว้าและพยายามต่อยอดมันให้ได้ จนสร้างเส้นทางความสำเร็จด้วยตัวเอง
ภาพ : britishdispensary
อ้างอิง :
120 ปี อังกฤษตรางู (Full Version)