ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

‘โก้ – ฐิรัฐ นาถวิริยกุล’ ชายที่หลงรักความคลาสสิกจนสร้างเฟอร์นิเจอร์ และกำเนิดร้าน The Classic Chairs จนในวันหนึ่งมีโอกาสได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับพระราชวังอังกฤษ รวมถึงโต๊ะทรงงานแด่ รัชกาลที่ 9

KEY

POINTS

  • The Classic Chairs ร้านเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกสไตล์ยุโรป ก่อตั้งมาแล้ว 67 ปี
  • ฐิรัฐ นาถวิริยกุ ชายที่รู้ตัวว่าชอบเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่เด็ก และมีโอกาสทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อพระราชวังอังกฤษ
  • เฟอร์นิเจอร์จาก The Classic Chairs เคยเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Gods of Egypt

คุณเคยหลงรักอะไรมาก ๆ จนอยากทำสิ่งนั้นออกมา แล้วชื่นชมความงามของมันเป็นวัน ๆ มั้ย?

เรากำลังพูดถึง ‘โก้ – ฐิรัฐ นาถวิริยกุล’ Managing Director บริษัท เดอะ คลาสสิค แชร์ส จำกัด หรือร้าน The Classic Chairs ร้านที่มีชื่อเสียงเรื่องเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกโบราณ โดยเริ่มความชอบจากตัวเอง ขับเคลื่อน passion ที่สะสมมาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว จนกลายมาเป็นร้านที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการทำเฟอร์นิเจอร์ในยุคศตวรรษที่ 18 หรือยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ยุคทองของงานศิลปะคลาสสิกอย่างแท้จริง และก็เป็นช่วงที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของเครื่องจักรด้วย

โดยจุดเริ่มต้นของ The Classic Chairs ในช่วงแรก ๆ ได้โฟกัสในระหว่างปี 1740-1840 ยุคทองของเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นยุคหลังจากที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มมีการคิดค้นเครื่องจักรกลไอน้ำต่าง ๆ

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเส้นทางของ โก้ – ฐิรัฐ ไปจนถึงวันที่ร้าน Classic Chairs มีเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์’ อยากพาไปย้อนถึงวันแรก ๆ ก่อนที่เขาจะมีร้านเฟอร์นิเจอร์เป็นของตัวเองอย่างทุกวันนี้

ธุรกิจที่บ้านเฟอร์นิเจอร์จีนโบราณ

ก่อนที่ Mr. Paul Kenny ผู้ก่อตั้งและประธานของ The Classic Chairs ได้มารู้จักกับที่บ้านของ โก้ – ฐิรัฐ เขาเป็นดีลเลอร์เฟอร์นิเจอร์คลาสสิก โบราณอยู่ก่อแล้ว และก็มีบริษัทเป็นของตัวเองก็คือ The Classic Chairs ซึ่งเป็นบริษัทที่เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ และก็ที่นครซิดนีย์ ออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1957 (67 ปีที่ผ่านมา)

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

จนวันหนึ่งเขามีโอกาสได้รู้จักกับครอบครัว ‘นาถวิริยกุล’ ผ่านคุณพ่อ ซึ่งตอนนั้นก็มีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์จีนโบราณฝังมุกอยู่แล้ว เพียงแต่คุณพ่อไม่ได้รันธุรกิจนี้เป็นหลักเพราะมีร้านแว่นตาที่เป็นธุรกิจหลักอยู่ กระทั่ง Mr. Paul Kenny เกิดไอเดียขึ้นมาจึงชักชวนให้ลองทำเฟอร์นิเจอร์โบราณหายากด้วยกัน

โก้ – ฐิรัฐ เล่าว่า “เฟอร์นิเจอร์ที่เราดีลอยู่จะยุคประมาณศตวรรษที่ 17-18-19 นะครับ ซึ่งประมาณ 200 ปีมันก็เกิดความเสียหาย โต๊ะมันก็ยังพอมีตัวเดียว แต่เก้าอี้บางทีอาจจะ 10 ตัว ซึ่งมันอาจจะเหลืออยู่แค่ 2-3 ตัว แล้วมันก็จะไม่มีเก้าอี้ที่จะเข้าเซตหรืออะไรอย่างนี้ จึงเกิดเป็น passion ของ Mr. Paul Kenny ที่อยากจะเริ่มต้นสินค้าที่อาจหาไม่ได้แล้ว แต่มีเทคนิคการทำขั้นสูง ก็เริ่มต้นธุรกิจ The Classic Chairs ในไทยขึ้น ประมาณปี 1984 ครับ”

“ผมเป็นคนที่มีความสนใจเรื่องเฟอร์นิเจอร์มาแต่เด็กอยู่แล้ว จริง ๆ งานหลักของคุณพ่อคือร้านแว่นตา แล้วคุณพ่อก็ขยายร้านแว่นตาไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งเวลาที่คุณพ่อไปตรวจงานผู้รับเหมาก็ไปกับคุณพ่อ เราก็จะเป็นเด็กที่ชอบเดินเคาะนู้นเคาะนี่ อย่างเคาะดูเทคนิคการทำสีอะไรแบบนี้ เป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ เราซึมซับแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก”

แต่แทนที่ โก้ – ฐิรัฐ จะเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ตามสิ่งที่ตัวเองรักตั้งแต่เด็ก หลังจากที่เขาเรียนจบมัธยมจากสิงคโปร์ เขากลับเริ่มจากทำธุรกิจเกี่ยวกับ ‘เครื่องเงิน’ ก็คือเอาเครื่องเงินเข้าไปขายในสิงคโปร์ตั้งแต่ตอนนั้น จนเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำธุรกิจร้านอาหารควบคู่ไปด้วย ด้วยตอนนั้นเห็นว่าในเมืองไทยยังไม่มีร้านที่ชงกาแฟแบบไซฟอน (Syphon Coffee) ดี ๆ แต่เขาเห็นสิ่วนี้ที่สิงคโปร์ ก็เลยเปิดร้านนี้ขึ้นมา

“ผมน่าจะเป็นคนที่ชอบอะไรที่มันมีการประดิดประดอยเล็ก ๆ มีดีเทลมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็ยังไม่มีจังหวะที่จะทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อย่างที่ชอบจริงๆ เสียที”

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

แต่สุดท้าย โก้ – ฐิรัฐ ก็วนกลับมาหาความฝันของตัวเองตั้งแต่วันแรก ๆ ในที่สุด เขาตัดสินใจขายสต็อกเครื่องเงินทั้งหมดที่มีในตอนนั้น แล้วนำเงินมาต่อยอดเป็นธุรกิจ ‘เฟอร์นิเจอร์คลาสสิก’ แบบที่ตัวเองหลงรัก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ The Classic Chairs เมืองไทย

 

คนไทยกับเฟอร์ฯ คลาสสิก

ครั้งแรกที่ โก้ – ฐิรัฐ จับตลาดเฟอร์นิเจอร์คลาสสิกแบบจริงจัง ก็คือ การออกงานแฟร์ที่(เกือบ) จะไม่ได้วางขาย ในสมัยนั้นงานเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในไทยเรียกว่า ‘BIG’ ซึ่งเขายอมรับว่า ตอนนั้นตลาดที่เขาโฟกัสก็คือ อังกฤษและออสเตรเลีย ยังไม่ได้มองตลาดไทยเพราะคิดว่าสินค้ามีราคาแพงเกินไป

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

“เราเกือบไม่ได้ join เพราะไม่มี record การส่งออก และสุดท้าย 7 วันก่อนงานเริ่มเขาโทรหาผมว่าเหลือที่สุดท้ายเป็นฮอลล์ตรงทางเดินจะเอาหรือไม่เอา ผมก็เอาเลยใช้ 7 วันนั่นแหละออกแบบบูธ หยิบเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เอาโคมไฟที่มีอยู่แล้วไปจัด ไปซื้อพรม ไปทำผนังต่าง ๆ ช่วงเตรียมงาน ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก เราก็ตกใจว่าคนชอบมาก”

“ตอนแรกจะรอดไม่รอดยังไม่รู้นะครับ จริง ๆ ที่ผ่านมาก็ผลิตแล้วก็ส่งขายที่อังกฤษกับออสเตรเลียทั้งหมด 100% โดยไม่ได้ขายในเมืองไทยเลย แต่ก็จะมีโรงแรมบ้างที่ไปซื้อจากที่อังกฤษ ตอนแรก Mr. Paul Kenny เป็นคนดูแลธุรกิจเป็นหลัก แกบอกว่าไม่เปิดหรอกเมืองไทย เพราะว่าของเราแพง เมืองไทยน่าจะขายยาก แล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องขยายมาเมืองไทย เพราะหลัก ๆ เขาอยู่ที่อังกฤษและซิดนีย์”

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

แต่ โก้ – ฐิรัฐ เอ่ยปากขอทำเอง อยากเปิดร้าน The Classic Chairs ในเมืองไทย และเขาจะเป็นคนดูแล ซึ่งตอนนั้นเขาได้เปิดโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ตรงพระราม 9 The 9th Towers พอหมดสัญญา 3 ปี ก็ย้ายร้านมาอยู่ที่ Promenade ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศหน้าห้องน้ำชั้น 3 ร้านเล็ก ๆ ในสมัยนั้น

“ครั้งแรก ๆ ที่เปิดร้านในเมืองไทย Mr. Paul Kenny ก็ตกใจเหมือนกันว่า เฮ้ย คนไทยซื้อขนาดนี้เลยเหรออะไรอย่างนี้” ซึ่งนับจากนั้น โก้ – ฐิรัฐ ก็ดูแลร้าน The Classic Chairs จนถึงทุกวันนี้

“ตั้งแต่วันแรก ๆ ก็เป็นสไตล์คลาสสิกมาตลอด มันเป็นสิ่งที่เราชอบ เอาเข้าจริง ๆ เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างคือสิ่งที่เราชอบ แล้วเราก็สนุกกับมัน เรามักจะไปดูงานต่างประเทศบ้าง จนเราไปเจอเฟอร์นิเจอร์สไตล์ French Provincial ณ วันนั้นเมืองไทยยังไม่มีสไตล์นี้ขาย และด้วยความที่เราอยากได้ ก็เลยลงมือทำ พอทำเสร็จจำได้ว่าตอนนั้นขายเมืองไทยใหม่ ๆ ทุกคนยังบอก เฮ้ย โอ้โห เฟอร์นิเจอร์มันถลอกปอกเปิก แต่ทำไมราคามันอย่างนี้ คือคนไม้อินก้จะไม่อินจริง ๆ”

“แต่เราชอบยังไงเราก็จะทำจะขาย ได้ไม่ได้ก็อยากจะทำ แต่ปรากฏว่าประสบความสำเร็จดีมาก เพราะว่ามันไปตอบโจทย์อีกแบบนึงในตลาด คือคลาสสิกเนี่ยมันก็จะตอบโจทย์คนที่เป็นทางการหน่อย แต่อันนี้ก็จะเป็นสาว ๆ หน่อย ผู้หญิงจะชอบสไตล์นี้กันเยอะ”

หลายครั้งที่คนไทยเข้าใจผิดเรียกเฟอร์นิเจอร์คลาสลิกของร้านว่าเป็น ‘โพรวองซ์’ (Provence) ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะไม่ใช่สไตล์ฝรั่งเศสทั้งหมดอย่างที่เราเข้าใจ ความสำเร็จอย่างหนึ่งของธุรกิจ The Classic Chairs ก็คือ ในเมืองไทยสมัยนั้นพอคนไทยได้ยินคำว่า ‘เฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรป’ มักจะตีความหมายเป็น ‘เฟอร์นิเจอร์หลุยส์’ แม้ว่าจะนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี สวีเดน หรืออิตาลี ก็จะเรียกว่า ‘หลุยส์’ แล้วจะคิดว่ามันจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรู ๆ สีทอง มีแกะสลักเยอะ ๆ แต่สำหรับร้าน The Classic Chairs ค่อนข้างฉีก และสร้างภาพจำใหม่ให้กับคนที่ชอบงานเฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรปได้มากขึ้น

“ความหรูหราของงานเฟอร์นิเจอร์คลาสลิก มันเกิดจาก Proportion เกิดจากวัสดุที่ใช้ เกิดจากความเนี๊ยบ เส้นสายที่มันเนี๊ยบและเป๊ะ”

สำหรับกลุ่มลูกค้าของร้าน The Classic Chairs หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นคนระดับบน คนรวย หรือไฮโซอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วลูกค้าของเขาเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยอมเก็บเงินค่อย ๆ สะสมเฟอร์นิเจอร์จากร้านก็มี เพราะมันเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่า อยากจะสะสม อยากจะนั่งจ้องกับมันจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพราะซื้อมาประดับบ้าน

ชายที่หลงรัก ‘ความคลาสสิก’ จนทำเฟอร์นิเจอร์เข้าตาดีไซเนอร์ของ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’

โก้ – ฐิรัฐ มองว่า เฟอร์นิเจอร์คลาสสิกไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่ชอบสะสม ‘พระเครื่อง’ หรือว่า ‘สะสมเซรามิก’ หรือ ‘สะสมกระเป๋า’ เลยสักนิด เพราะมันขึ้นอยู่กับความสุขของนักสะสมมากกว่า

“สำหรับผมการทำเฟอร์นิเจอร์คลาสสิก เราต้องรู้ว่าช่วงเวลานั้น ๆ มันเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มันเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามันน่าจะไม่ต่างอะไรกับที่เราบอกว่าศิลปะอยุธยา หรือศิลปะสุโขทัยมันต่างกันอย่างไร เราต้องบอกสิ่งเหล่านั้นได้”

 

ทุกคอลเลคชั่นมาจากความชอบ

ปัจจุบัน The Classic Chairs มีอยู่ 3 คอลเลคชั่นหลัก ซึ่งคอลเลคชั่นแรกที่มาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจก็คือ ‘Classic Collection’ ซึ่งก็คือช่วงเวลาประมาณปี 1740-1840 หรือยุค Golden era of a cabinet maker ยุคที่ทำให้คุณภาพเฟอร์นิเจอร์มันก้าวกระโดด

ส่วนคอลเลกชั่นที่ 2 เขาเรียกว่า ‘Pierre Philippe’ ซึ่งก็คือ French Provincial เฟอร์นิเจอร์ที่ดูเรียบง่ายขึ้น โทนสี และสไตล์ที่ออกแบบจะมีความโฮมมี่มากขึ้น โดยการออกแบบจะเป็นแบบดั้งเดิม คงคุณภาพตั้งแต่สมัยจักรวรรดิฝรั่งเศส สมัยจอร์เจียนและยุครีเจนซี่ของอังกฤษที่มีความรุ่มรวยในแบบฉบับอังกฤษ

ส่วนสไตล์ที่ 3 เป็นสไตล์ที่เขาชอบมานานแล้ว เรียกว่า ‘Monaco Living’ คือศิลปะสมัยยุค Art Deco ประมาณปี 1920 ขึ้นไป เป็นศิลปะยุคที่เรียกว่า Art Deco ซึ่งสไตล์ที่เขาเปรียบเทียบ อย่างเช่น สนามศุภชลาศัย หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น ก็เป็นสไตล์ Art Deco

 

โชคชะตานำพาเราพบกัน

จังหวะและโอกาสยังเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตเสมอ และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับ The Classic Chairs เช่นกัน โก้ – ฐิรัฐ เล่าว่า “จุดเริ่มต้นก็คือที่อังกฤษ โดยดีไซเนอร์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นดีไซเนอร์ให้กับราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์ รวมถึงเจ้าหญิงไดอาน่า เดินแล้วมาเจอสินค้าเรา เขาชอบและให้โอกาสทำโครงการที่กำลังปรับปรุงอยู่เรียกว่า Grade I listed buildings มันก็จะเป็นอาคารที่เขาอนุรักษ์ไว้ แล้วก็เอาเฟอร์นิเจอร์ของเราเข้าไปใส่ เพราะว่ามันเป๊ะพอดี”

“การผลิตของเราเป๊ะ แม้กระทั่งน็อตที่ใช้ก็ต้องไม่มั่ว เราได้รับโครงการสำคัญ ๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะเรามีความเที่ยงของแบบ อะไรที่ต้องการความเป๊ะ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นแบบปากต่อปาก และเราก็โชคดีจากตรงนี้ด้วยจึงมีโอกาสได้นำเฟอร์นิเจอร์เข้าไปอยู่ในภาพยนตร์อย่างเรื่อง Gods of Egypt หรืออย่างเรื่อง Moulin Rouge! ก็ใช้ของเรา และก็เป็นสไตล์ Art Deco”

แต่สิ่งที่เขาประทับใจมากที่สุดก็คือ การได้ออกแบบและสร้างโต๊ะทรงงานถวายรัชกาลที่ 9 โดยตอนนั้นโจทย์ของเขาก็คือ ต้องทำโต๊ะใหญ่ที่สามารถวางคอมพิวเตอร์ได้ 3 ชุด ให้วางเครื่องมือสื่อสาร หรือวางอะไรอย่างนี้ได้ เขาจึงต้องทำโต๊ะใหญ่

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เฮ้ย กษัตริย์เรานี่ไม่ใช่ต้องการโต๊ะใหญ่เพราะว่าสเตตัสใหญ่ แต่เพราะว่าต้องทำงานเยอะ เน้นฟังก์ชั่น แล้วโต๊ะตัวนั้นก็ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล เราก็ยิ่งแบบ โหย ไม่ใช่จะมาพักผ่อน แต่นี่มาเพื่อรักษาตัว ทำไมท่านต้องทำงานขนาดนี้อะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าเราประทับใจมาก (น้ำตาคลอ)”

จากประสบการณ์กว่า 67 ปีของ The Classic Chairs ในมุมมองของ โก้ – ฐิรัฐ เขามองว่า ทุกวันนี้ยังไม่กล้าพูดเต็มปากว่าเป็นร้านที่รับทำเฟอร์นิเจอร์ตามสั่งด้วย เพราะหากเขาไม่อิน หรือไม่รู้จริง ก็ไม่อยากทำให้ลูกค้า ให้เสียความรู้สึกกันซะเปล่า

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำเฟอร์นิเจอร์ตามสั่ง โดยที่เราไม่เข้าใจมัน บางทีลูกค้าอาจจะคิดว่าทำไมเราเล่นตัวจังวะ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่หรอก คือเรารู้ว่าเราทำแล้วมันอาจจะไม่ได้ดีเท่าที่เราอยากให้เป็น สมมุติว่า ถ้าผมจะขายอาหาร แต่ผมไม่รู้ว่าอร่อยนั่นเป็นแบบไหน แล้วผมจะกล้าบอกเหรอว่า ผมทำให้แล้วจะมันอร่อยอย่างที่เขาคาดหวัง เพราะเรากินไปก็ยังไม่รู้เลย เหมือนกันครับ”

เมื่อเราถามว่า การทำธุรกิจที่ไม่มีกาลเวลากำหนด มีแต่ความคลาสสิก สำหรับ โก้ – ฐิรัฐ ความยากหรือความท้าทายอยู่ที่ตรงไหน? เขาบอกว่า “คลาสสิกไม่มีวันตาย” เพียงแต่อาจจะไม่ได้เติบโตขยายใหญ่ไปมากกว่านี้ และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามแฟชั่นด้วย แม้อาจจะผ่านช่วงยุคทองที่พีคมาก ๆ มาแล้ว แต่เชื่อว่าจะไม่มีช่วงที่ซบเซาไปมากกว่านี้

“ผมคิดว่าคลาสสิกมันนิยามได้เยอะมาก อยู่ที่ว่าคุณจะคลาสสิกแบบไหน ช่วงเวลาไหน ประเทศไหน วัสดุอะไรคลาสสิกมันมีความหลากหลายมาก แต่มันจะไม่มีวันตายแน่นอน”