21 ส.ค. 2567 | 11:57 น.
KEY
POINTS
‘คัมไป!’
ทุกวันนี้เวลาเราไปกินอิซากายะหรือตามร้านอาหารญี่ปุ่น และอยากลิ้มรสเบียร์ที่มีภาพลักษณ์หรือรสชาติเข้ากันได้ดีกับอาหารญี่ปุ่น หลายคนก็มักจะสั่งเบียร์ ‘อาซาฮี’ (Asahi) เป็นมาตรฐาน
หลายคนคุ้นเคยเบียร์อาซาฮีเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่วันนี้เราลองมาทำความรู้จักผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง ‘โคมาคิจิ โทริอิ’ (Komakichi Torii) เพิ่มเติมกันหน่อยดีกว่า เรียกว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเบียร์คนแรก ๆ ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว เขาได้วางรากฐานความรู้เรื่องเบียร์ รีบศึกษาไขว่คว้าโอกาสใหม่ ๆ และเป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังในฐานะผู้ประกอบการเบียร์
เราอาจคิดว่าชายคนนี้น่าจะต้องมีประวัติทำเบียร์โชกโชนเป็นทุนเดิม แต่ความจริงแล้วเปล่าเลย เพราะโคมาคิจิเป็น ‘คนทำสาเก’ มาก่อน เขามีโรงผลิตเหล้าสาเกอยู่ที่เมืองโอซาก้าอยู่แล้ว สาเกเป็นเครื่องดื่มที่สังคมญี่ปุ่นบริโภคกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
โคมาคิจิเกิดเมื่อปี 1853 ที่เมืองซาคาอิ (Sakai) ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของจังหวัดโอซาก้า ครอบครัวของเขาเป็นพ่อค้าข้าวติดต่อกันมาหลายเจเนอเรชัน การค้าขายข้าวได้ถูกส่งต่อมายังพ่อของเขา แต่การขายข้าวเป็นการขายวัตถุดิบ คุณพ่อของโคมาคิจิจึงมีความคิด ‘แปรรูปเพิ่มมูลค่า’ สินค้าด้วยการนำข้าวไปทำเป็น ‘สาเก’ หรือเหล้าญี่ปุ่น
ในเวลาต่อมา ธุรกิจสาเกนี้เองก็ได้ถูกส่งต่อมายังเด็กหนุ่มโคมาคิจิให้ดูแลต่อในปี 1870
ย้อนกลับไปในปี 1854 ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่จำใจต้องเซ็น ‘สนธิสัญญาคานางาวะ’ (Treaty of Kanagawa) เพื่อเปิดประเทศสู่การค้าขายกับต่างชาติโดยเฉพาะประเทศตะวันตก
แม้ว่าในมุมมองเอกภาพความมั่นคงของประเทศ นี่จะเป็นสนธิสัญญาที่ไม่ค่อยเสมอภาคเท่าเทียม (Unequal treaty) สักเท่าไรนัก เฉกเช่นหลายประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าในยุคสมัยนั้นที่ถูกกระทำโดยชาติมหาอำนาจตะวันตก มีความเสียเปรียบด้านการค้าบางอย่างที่ญี่ปุ่นต้องยอมฝืนทำเพื่อแลกมากับการไม่ถูกรุกรานทางทหารที่เหนือกว่าจากชาติมหาอำนาจ
แต่ในอีกมุมหนึ่ง สนธิสัญญาคานางาวะนี้เองก็ได้เปิดประตูบานแรกให้กับพ่อค้าชาวตะวันตกที่หอบหิ้วองค์ความรู้ด้านการทำ ‘เบียร์’ เข้ามายังประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ ‘Spring Valley Brewery’ โรงต้มเบียร์แห่งแรก ๆ ของญี่ปุ่นเมื่อปี 1869 ที่ถูกสร้างโดย ‘วิลเลียม โคปแลนด์’ (William Copeland) ลูกครึ่งชาวอเมริกัน - นอร์เวย์
ว่ากันว่าชาวโอซาก้ามีความเป็นพ่อค้าสูง มีสปิริตของผู้ประกอบการในตัว และเป็นคนเฮฮาตลกชอบสังสรรค์มากกว่าคนฝั่งโตเกียว (หรือเอโดะในสมัยก่อน)
จากเหตุการณ์ระดับประเทศดังกล่าว โคมาคิจิเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านประเทศที่จะต้องปรับให้เป็นตะวันตกสากลมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเปิดใจยอมรับว่าเบียร์มีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการกินดื่มของคนญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้
การหันไปโฟกัสที่ ‘ธุรกิจเบียร์’ จึงเป็นความสำคัญอันดับแรก ๆ ในตอนนี้
แต่เขาตระหนักดีว่าการจะทำเบียร์ให้ได้ดีที่สุดและสำเร็จในเชิงธุรกิจระยะยาว คุณภาพของเบียร์เองต้องดีที่สุด และการจะดีที่สุดได้เราต้องเปิดใจไปเรียนรู้จากแหล่งที่ดีที่สุด
ปี 1889 เขาก่อตั้งบริษัท ‘Osaka Brewery’ ขึ้นมาก่อน จากนั้น เขาและทีมงานได้ไปศึกษาวิธีทำเบียร์ถึงแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี สถานที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งเบียร์’ มีประวัติศาสตร์และการสะสมองค์ความรู้การทำเบียร์มานับ 1,000 ปี ก่อนกลับมาตั้งโรงงานต้มเบียร์ ณ ชานเมืองโอซาก้า (ปัจจุบันคือบริเวณพิพิธภัณฑ์ Asahi Museum)
เมื่อมีองค์ความรู้ชั้นดีจากแหล่งต้นกำเนิด และมีโรงงานการผลิตพร้อม แบรนด์เบียร์อาซาฮี Asahi ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1892 โดย ‘อาซาฮี’ มีความหมายว่า ‘พระอาทิตย์ยามเช้า’
เริ่มแรกอาซาฮีเป็นเบียร์ที่ถอดแบบมาจากเบียร์สไตล์เยอรมันทั้งดุ้นก็ว่าได้ โคมาคิจิตั้งใจให้คงรสชาติแบบต้นตำรับมากที่สุด และสื่อว่าญี่ปุ่นเองก็ทำเบียร์ดี ๆ ได้ไม่แพ้ของนอก และตรงกับค่านิยมในยุคสมัยนั้นที่ญี่ปุ่นอยู่ในช่วง ‘ฟื้นฟูเมจิ’ (Meiji Restoration) ที่เปิดรับความเป็นตะวันตก
โคมาคิจิยังมีวิสัยทัศน์ที่อินเตอร์ เขาทราบดีว่าการที่เบียร์จะได้รับการยอมรับในสากลได้ ก็ต้องไปโชว์ตัวให้สากลโลกรับรู้ เขานำเบียร์ Asahi ไปโชว์ตัวในงาน ‘Chicago World’s Fair’ งานจัดแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติเมื่อปี 1893 และเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้บุกเบิกเบียร์ญี่ปุ่นที่เป็นคนญี่ปุ่น
กลับมาที่ตลาดในประเทศ ปี 1900 บริษัทเปิดตัว ‘เบียร์บรรจุขวด’ (Bottled beer) แห่งแรกของญี่ปุ่น ในชื่อว่า ‘Asahi Draft Beer’ และได้รับความนิยมล้นหลามจากคนญี่ปุ่นหมู่มาก จุดระเบิดให้ Asahi ขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในปี 1901
ในเชิงผลิตภัณฑ์ Asahi คือนวัตกรรมเครื่องดื่มใหม่ที่ผู้คนอยากลอง แต่ Asahi เป็นอะไรมากกว่านั้นในเชิงสัญลักษณ์ เพราะสะท้อนความรู้สึกของยุคสมัยนั้นว่า “คนญี่ปุ่นเองก็ทำได้ดีไม่แพ้ตะวันตก” เช่นกัน
ในการทำงาน โคคามิจิยังปลูกฝังความคิดแบบผู้ประกอบการที่ต้องกล้าเสี่ยง มีวิสัยทัศน์มองภาพใหญ่ออก และพร้อมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอแก่ทีมงานทุกคน เขาทราบดีว่า แม้จะสำเร็จในช่วงเปิดตัวได้ดี แต่ Asahi ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในฐานะแบรนด์ ต้องใช้เวลาอีกหลายเจเนอเรชันกว่า Asahi จะกลายเป็นบริษัทแบรนด์เบียร์ระดับโลก ซึ่งเขาคงมีชีวิตอยู่ไม่ถึง ต้องฝากไว้ให้กับพนักงานทุกคนที่มาสานต่อบริษัทแห่งนี้
แม้โคคาคิจิจะส่งไม้ต่อให้ประธานคนใหม่ และเขาเองก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1906 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ แต่ Asahi ยังคงเติบโตและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น การตัว ‘Asahi Stout Beer’ หรือ ‘เบียร์ดำ’ ในปี 1935 ซึ่งเป็นเบียร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในแถบอังกฤษและไอร์แลนด์ นอกจากนี้ เพื่อตอบรับการนวัตกรรม ‘ตู้เย็น’ ที่เป็นเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ที่กำลังเป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่น ปี 1958 Asahi ยังได้เปิดตัว ‘Asahi Gold’ หรือ ‘เบียร์กระป๋อง’ เป็นเจ้าแรกของญี่ปุ่น และยังมีการพัฒนาวัสดุตัวกระป๋องเพื่อคงรสชาติให้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 1987 ยังได้เปิดตัว ‘Asahi Super Dry’ ซึ่งได้กลายเป็น ‘ฮีโร่โปรดักท์’ ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของแบรนด์และสร้างชื่อเสียงทั่วประเทศในเวลาไม่นาน จนทำให้แบรนด์ขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดเบียร์เบอร์ 1 ด้านยอดขายในญี่ปุ่น
บริษัทได้ย้ายไปสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในย่านอะซึมะบาชิ (Azumabashi ) ของกรุงโตเกียว เมื่อปี 1989 (หรือตึกที่มีสัญลักษณ์ ‘ฟองเบียร์’ ที่นักท่องเที่ยวชอบไปถ่ายรูปกันนั่นแหล่ะ)
ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของ Asahi Super Dry สร้างความมั่นคงด้านการเงินให้แบรนด์ขยายสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังในอีกทศวรรษต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และรู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันบริษัทแม่ Asahi ยังเป็นเจ้าของแบรนด์เบียร์ชั้นนำต่างประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ‘Peroni’ เบียร์ชั้นนำจากประเทศอิตาลี หรือ ‘Fuller’s London Pride’ ที่มีแทบทุกผับในอังกฤษ
จากข้าวสู่สาเก จากสาเกสู่เบียร์…จากความฝันของโคมาคิจิที่ว่าคนญี่ปุ่นเองก็ทำเบียร์ดี ๆ ได้ มาวันนี้ Asahi ได้กลายเป็นแบรนด์เบียร์ชั้นนำระดับโลกที่หลายคนให้การยอมรับแล้ว
เรื่อง: ปริพนธ์ นำพบสันติ
ภาพ: asahigroup-holdings.com และ asahiinternational.com
อ้างอิง:
Asahi Group's History
The Case of Asahi Super Dry – Japan’s first Dry Beer