19 ต.ค. 2562 | 20:28 น.
ภาพลักษณ์ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday 1915-1959) มิได้เป็นเพียงตำนานของนักร้องแจ๊สหญิงแถวหน้าเท่านั้น หากเรื่องราวในชีวิตเธอยังเปี่ยมล้นด้วยสีสันมากเกินกว่าชีวิตมนุษย์ธรรมดาจะก้าวไปสัมผัสถึง เบื้องหน้าความสำเร็จของเธอนั้นปรากฏร่องรอยของโศกนาฏกรรมที่แฝงด้วยความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังปกคลุมด้วยความมืดดำเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ หลายเรื่องยังเป็นความเข้าใจผิด เกินกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังปรากฏในภาพยนตร์ (และละครเพลง) เรื่อง Lady Sings the Blues นำแสดงโดย ไดอานา รอสส์ (Diana Ross) ทั้งที่สร้างขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติของ บิลลี ฮอลิเดย์ ภายใต้ชื่อเดียวกัน ทว่า ด้วยคำบอกเล่าจากปากของบิลลี ต่อ วิลเลียม ดัฟตี (William Dufty) ผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวลงในหนังสือเล่มนี้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ บิลลี โดยตรง ยังเห็นว่าต้องอาศัยการตีความเป็นพิเศษ มากกว่าแค่การอ่านเอาเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากเรื่องราวชีวิตที่มีสีสันล้นทะลักอย่างน่าตระหนก บิลลี ฮอลิเดย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องแจ๊สสมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพลงที่เธอร้อง... อาจจะมีเพลงที่เธอแต่งเองแทบนับจำนวนได้ และเกือบทั้งหมดเป็นเพลงในกลุ่มสแตนดาร์ด แต่ด้วยแนวทางการร้องของเธอ บิลลี ทำให้ทุก ๆ เพลงที่เธอถ่ายทอดออกมา กลายเป็นเพลงส่วนตัวของเธอได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ คือผลงานการบันทึกเสียงของเธอ ซึ่งร้องไว้ราว ๆ 300 เพลง (มีการจัดแบ่งยุคสมัยการทำงานออกเป็น 3 ยุค) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 44 ปีที่เธอมีชีวิตอยู่บนโลก โดยที่ไม่เคยเรียนรู้ดนตรีอย่างเป็นระบบแม้แต่น้อย แต่เธอได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการร้องเพลงแจ๊สมิให้ดำเนินเหมือนเดิมอีกต่อไป เปิดตำนานปริศนา บิลลี ฮอลิเดย์ เริ่มต้นข้อความแรกในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ Lady Sings The Blues ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1956 ว่า “แม่และพ่อเป็นแค่เด็กเล็ก ๆ คู่หนึ่ง ตอนที่พวกเขาแต่งงานกัน พ่ออายุ 18 แม่ 16 และฉันอายุ 3 ขวบ” ในตอนท้ายย่อหน้าที่ 4 ของหน้าแรกในหนังสือเล่มเดียวกัน เธอระบุว่า “... แม่อายุ 13 ปี เมื่อตอนฉันเกิด วันพุธที่ 7 เมษายน 1915 ในเมืองบัลติมอร์” ไม่เพียงเท่านั้น ข้อความในตอนท้ายของหน้าแรกยังพูดถึง แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) พ่อของเธอว่า ช่วงเธอแบเบาะ พ่อยังเป็นเด็กเล่นซุกซน ยังต้องไปโรงเรียน นุ่งกางเกงขาสั้น และใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรี ทั้งคู่แต่งงานกันในอีก 3 ปีถัดมาหลังจากเธอเกิด โดยพ่อต้องรอให้มีกางเกงขายาวเสียก่อนสำหรับงานแต่งงาน เชื่อหรือไม่ว่า... นอกจากวันเกิด และการพูดถึงความสนใจด้านดนตรีของ แคลเรนซ์ แล้ว ข้อความทั้งหมดข้างต้น “ตรงข้าม” กับข้อเท็จจริงที่เราได้รับจากพยานหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับนักร้องแจ๊สนามอุโฆษคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นอายุของพ่อแม่เธอ การแต่งงาน หรือการเกิดที่เมืองบัลติมอร์ มิใยจะพูดถึงเนื้อหาอีก 191 หน้าที่เหลือของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนถึงความมุ่งหวัง (wishes) และเต็มไปด้วยคำเท็จ (lies) ของ บิลลี ฮอลิเดย์ ที่มีต่อเรื่องราวของเธอเอง โรเบิร์ต โอ’ มีลลี (Robert O’Meally) หนึ่งในผู้ค้นคว้าเรื่องราวในชีวิตของ บิลลี ยืนยันไว้ในหนังสือ Lady Day : The Many Faces of Billie Holiday ของเขาว่า “... คงไม่สามารถกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีคุณค่า หากจำเป็นต้องได้รับการตีความ เหมือนกับหนังสือที่เต็มไปด้วยความฝันและความมุ่งหวังเล่มอื่น ๆ ...” ตามข้อมูลที่ได้รับ ซาดี ฟาแกน (Sadie Fagan) หญิงผิวดำวัย 18 ปี อาชีพรับจ้างทำงานบ้านให้แก่คนขาวครอบครัวหนึ่งในบัลติมอร์ ได้ออกไปเที่ยวในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1914 ซึ่งอาจจะเป็นงานคาร์นิวัลหรืองานเต้นรำอะไรสักอย่าง แล้วบังเอิญเกิดไปมีสัมพันธ์สวาทกับหนุ่มอายุอ่อนกว่า 2 ปี นาม แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ จากนั้นทั้งคู่ต่างแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง แต่ในเวลาต่อมาเธอกลับพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ! ช่วงใกล้คลอด ซาดี ตัดสินใจเดินทางจากบัลติมอร์มาติดต่อทำคลอดที่โรงพยาบาลฟิลาเดลเฟีย เจเนอรัล ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 โดยไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าเหตุใดจึงเข้าพักในโรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะคลอดเด็กทารกหญิงชื่อ เอลินอร์ แฮร์ริส (Elinore Harris แฮร์ริส เป็นนามสกุลของยาย) เมื่อเวลาตีสองครึ่งของวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1915 ใบเกิดของ บิลลี ฮอลิเดย์ ระบุชื่อ “Elinore” ขณะที่ใบรายงานของแพทย์ระบุ “Elinoir” ส่วน “Eleanor” เป็นชื่อที่พบในแฟ้มประวัติของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ชื่อบนบัตรประชาชนที่ บิลลี ฮอลิเดย์ ใช้ในเวลาต่อมาคือ Eleanora Fagan (นามสกุลของแม่) โดยชื่อนี้ยังค่อนข้างใช้กันอย่างกว้างขวางเมื่อผู้คนอ้างถึงชื่อจริงของเธอ จากพยานหลักฐานที่มีอยู่ ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่า แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ คือพ่อที่แท้จริงของบิลลี แต่สิ่งแปลกประหลาดบนสูติบัตรของทารกหญิงคนนี้ ซึ่งในเวลาต่อมาเติบโตเป็นนักร้องที่รู้จักกันดีทั่วโลก คือชื่อของบิดาผู้ให้กำเนิดอย่างเป็นทางการที่ระบุว่าเป็น แฟรงก์ ดีวิส (Frank DeViese) เกี่ยวกับปัญหานี้ โดนัลด์ คลาร์ก (Donald Clarke) ผู้เขียนหนังสือ Billie Holiday : Wishing on the Moon วิเคราะห์ว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าระหว่างเวลานั้น ซาดี ฟาแกน น่าจะมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนในครอบครัวหรือใครก็ตาม แม้เราจะไม่ล่วงรู้ถึงระดับความสัมพันธ์ของเธอกับ แฟรงค์ ดีวีส แต่อย่างน้อยเธอมิได้อยู่คนเดียวในระหว่างที่คลอดลูกน้อยคนนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ ซาดี มิได้ระบุชื่อบิดาที่แท้จริงของทารกเอลินอราในหลักฐานการเกิด แต่อย่างน้อยที่สุด ซาดี ได้บอกกล่าวแก่ลูกสาวของเธออย่างชัดเจนเสมอมาว่าพ่อของเธอคือ แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ ซึ่งในช่วงที่ บิลลี เติบโตพอรู้ความอายุระหว่าง 13-18 ปี (ค.ศ. 1928-1933) แคลเรนซ์ กำลังรุ่งเรืองในฐานะนักกีตาร์แห่งวงดนตรีชื่อดังของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน (Fletcher Henderson) แล้วในเวลานั้น ช่วงปี ค.ศ. 1915 ที่ บิลลี ฮอลิเดย์ ลืมตาขึ้นดูโลก มีข้อมูลยืนยันว่า แคลเรนซ์ ในวัย 17 ปียังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในเมืองบัลติมอร์ โดยทำงานรับจ้างส่งของชำหลังกลับจากโรงเรียน เพื่อใช้เป็นเงินสำหรับเรียนวิชาแบนโจ บัลติมอร์ เป็นเมืองที่จัดเป็นแหล่งฟูมฟักนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคน แม้กระทั่ง บิลลี ฮอลิเดย์ ซึ่งเกิดที่ฟิลาเดลเฟีย แต่ก็มาเติบโตที่บัลติมอร์ จนมีความเข้าใจผิดว่าเธอเกิดที่เมืองนี้ นักดนตรีคนอื่น ๆ ที่เป็นผลิตผลของเมืองบัลติมอร์ ประกอบด้วยมือกลองและนายวง ชิค เว็บบ์ (Chick Webb 1900-1939) เรื่อยไปจนถึงนักดนตรีร็อค แฟรงค์ แซปปา (Frank Zappa 1940-1993) อย่างไรก็ตาม มีนักดนตรีจากบัลติมอร์อีกสองคนที่โดดเด่นในวงการแจ๊ส นั่นคือ มือเปียโน ยูบี เบลค (Eubie Blake 1883-1983) และมือแบนโจ เอลเมอร์ สโนวเดน (Elmer Snowden 1900-1973) ยังไม่รวมถึง แคลเรนซ์ ผู้เป็นพ่อของ บิลลี ซึ่งจัดเป็นนักกีตาร์รุ่นแรก ๆ ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการเล่นของ เฟร็ดดี กรีน (Freddie Green) มือริธึ่มกีตาร์แจ๊สหมายเลข 1 แห่งวงเคาน์ เบซี ออร์เคสตรา ในช่วงปีแรก ๆ แคลเรนซ์ เคยแวะมาเยี่ยมซาดีและลูกสาวของเขา แต่ไม่บ่อยครั้งนัก เขาเคยช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านเป็นครั้งคราว แต่ไม่มีหลักฐานว่า ซาดีและแคลเรนซ์เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ ในการให้สัมภาษณ์ของ เอลเมอร์ สโนวเดน ซึ่งเคยเล่นดนตรีกับแคลเรนซ์ ทำให้ทราบว่า ในปี ค.ศ. 1917 แคลเรนซ์ เคยเอ่ยปากให้ สโนวเดน ช่วยรับเป็นพ่อทูนหัวให้แก่ลูกสาวของเขา ในช่วงที่เขามีอายุเพียง 17 ปี ซึ่งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าที่ของพ่อทูนหัวเป็นเช่นใด ปี ค.ศ. 1917 เป็นปีที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งต่อมา แคลเรนซ์ ถูกหมายเกณฑ์ทหารไปประจำการในยุโรป ส่วนการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองบัลติมอร์ของ ซาดี และลูกสาว ไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่าทั้งคู่เคยพำนักอยู่ในบ้านของบุคคลที่ตระกูลฟาแกน (ญาติของแม่) นอกจากอาศัยอยู่กับลูกพี่ลูกน้องชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่ซาดีจะตัดสินใจแต่งงานกับ ฟิลิป กูห์ พนักงานขับรถในปี ค.ศ. 1920 ประสบการณ์เมื่อวัยเยาว์ ซาดี ฟาแกน คลอด บิลลี ฮอลิเดย์ ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย จากนั้นเธอพาลูกสาวกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองบัลติมอร์ โดยให้อยู่ในความดูแลของ มาร์ธา (Martha) ซึ่งเป็นแม่ของ โรเบิร์ต มิลเลอร์ (Robert Miller) สามีของ อีวา (Eva) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของ ซาดี ในหนังสืออัตชีวประวัติ บิลลี พูดถึงแม่ของเธอในช่วงนี้ว่า ซาดี ได้งานทำในโรงงานผลิตเสื้อเชิ้ตซึ่งอยู่ต่างเมือง แม่จึงฝากเธอไว้กับ ไอดา (Ida) ญาติที่มีลูกอยู่แล้ว 2 คน น้ำเสียงของบิลลีระบุว่าไอดาเป็นเผด็จการ ซึ่งเราอาจจะอนุมานได้ว่า “ไอดา” น่าจะเป็นคนเดียวกันกับ “อีวา” และด้วยเงื่อนไขที่เธอมีงานล้นมือ เนื่องจากมีเด็ก ๆ หลายคนอยู่ภายในบ้าน จึงไม่สามารถดูแล บิลลี ได้ดีเท่าที่ควร 5 ปี หลังจากบิลลีลืมตาดูโลก ซาดีพบรักใหม่กับพนักงานขับรถชื่อ ฟิลิป กูห์ ทั้งคู่ตกลงปลงใจแต่งงานกันในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1920 ซึ่งเป็นช่วงที่ บิลลี มีอายุได้ 5 ขวบ และเข้าเรียนที่โรงเรียนประถม “เดอะ โธมัส อี. เฮย์ส” ชาร์ลส์ ฟาแกน (Charles Fagan) พ่อของ ซาดี (หรือคุณตาของ บิลลี) ซึ่งค่อนข้างมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี ได้ช่วยเหลือครอบครัวใหม่ของลูกสาวนอกสมรสของเขา ด้วยการจัดหาบ้านหลังหนึ่งในย่านเวสต์บัลติมอร์ ซาดี จริงจังกับชีวิตครอบครัวที่เกิดขึ้น พิจารณาได้จากการที่ เธอ และ เอลินอรา ลูกสาว เปลี่ยนมาใช้ชื่อสกุลของสามีใหม่ ทว่า ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาของทั้งคู่ไม่ราบรื่นนัก ในที่สุด เพียง 3 ปีทั้งคู่ก็เลิกทางกัน ผลสืบเนื่องจากนั้นคือปัญหาด้านทรัพย์สิน ซาดีถูกฟ้องจากยอดหนี้ที่เกิดขึ้นจากการจำนองบ้าน พ่อของเธอจึงเข้ามาแบกรับภาระนั้น จากนั้น ซาดี ตัดสินใจพาลูกไปฝาก มาร์ธา อีกครั้ง ตัวเธอเองพยายามประคับประคอง 2 ชีวิตด้วยการทำงานหนัก แต่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ในหนังสือ Billie Holiday เขียนโดย สจวร์ท นิโคลสัน (Stuart Nicholson) อ้างถึงบทสัมภาษณ์ เอฟเวลีน คอนเวย์ (Evelyn Conway) หลานคนหนึ่งของมาร์ธา ซึ่งมีอายุแก่กว่า เอลินอรา 10 ปี ที่วิเคราะห์ถึงสภาพทางจิตใจของ บิลลี ฮอลิเดย์ เมื่อตอนเป็นเด็กว่า บิลลี รู้สึกว่าตนเองถูกแม่ทอดทิ้ง ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นของการทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือการหนีไปใช้เวลากับผู้ชายคนอื่น นั่นเป็นสาเหตุทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า จนแปรเปลี่ยนบุคลิกภาพให้มีปัญหา มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าระหว่างเรียนเกรด 4 เอลินอรา กูห์ (ชื่อตามสำมะโนประชากรของ บิลลี ในเวลานั้น) ถูกสารวัตรนักเรียนจับด้วยข้อหาหนีโรงเรียนบ่อยครั้ง ในที่สุดเธอถูกส่งตัวขึ้นศาลคดีเด็กและเยาวชน โดยผู้พิพากษาได้ตัดสินว่าเธอเป็น “ผู้เยาว์ที่ปราศจากการดูแลและปกครองอย่างถูกต้อง” จากนั้น ทางการจึงได้ส่งตัวเธอไปอยู่ในความดูแลของบ้านคุ้มครองสำหรับเด็กหญิงผิวสีที่มีชื่อว่า “House of Good Shepherd for Colored Girls” เมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1925 ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือ เจ้าหน้าที่บ้านคุ้มครองเหล่านี้ต่างได้รับข้อมูลว่า บิลลี มีอายุ 11 ปีแล้ว โดยเข้าใจว่าเธอเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1914 ที่เมืองบัลติมอร์ ทั้งที่เธอมีอายุจริง ๆ เพียง 9 ขวบในเวลานั้น ขณะที่เด็กหญิงส่วนใหญ่ในบ้านคุ้มครองฯ ค่อนข้าง “แก่แดดแก่ลม” กว่านั้น โดยมีอายุระหว่าง 13-18 ปี เป็นเด็กข้างถนนที่มีประสบการณ์ขโมยหรือก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ มาแล้วทั้งสิ้น โดนัลด์ คลาร์ก ผู้ศึกษาเรื่องราวของ บิลลี ฮอลิเดย์ วิเคราะห์ว่าด้วยสาเหตุที่มีอายุน้อยที่สุดและมีหน้าตาสะสวย แถมยังมีผิวสีอ่อนกว่าเด็กผิวสีทั่วไป (คุณตาของเธอเป็นลูกครึ่งขาว-ดำ ที่เรียกกันว่า mulatto) การที่ บิลลี เข้าไปปะปนอยู่กับเด็กผู้หญิงอายุมากกว่า น่าจะเปิดทางให้เธอค้นพบรสนิยมรักร่วมเพศในหมู่ผู้หญิง หรือ “เลสเบียนิสม์” (lesbianism) ในช่วงนี้ เช่นเดียวกับลักษณะการตัดผมซอยสั้น แต่งกายเป็นชายจนดูเหมือนทอมบอยของ บิลลี ทำให้บางครั้งเมื่อพบปะกับ แคลเรนซ์ พ่อของเธอที่เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นนักดนตรีในนครนิวยอร์ก แคลเรนซ์ มักเรียก เอลินอรา ลูกสาวของเขาว่า “บิลล์” (Bill) บิลลี ฮอลิเดย์ ออกจากบ้านคุ้มครองฯ กลับมาอยู่ในความดูแลของแม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมของปีเดียวกัน ระยะนี้ ซาดี ลงทุนเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ปรุงเอง-เสิร์ฟเอง อยู่ย่านใจกลางชุมชนคนดำระดับล่างของเมือง พร้อมกับใช้เป็นที่พักอาศัย แต่เพียงชั่วเวลาไม่นาน กิจการก็ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม บิลลี เคยแสดงความประทับใจต่อบรรยากาศร้านอาหารเล็ก ๆ ที่เสิร์ฟพร้อมวิสกีเถื่อน (bootleg whisky) ว่ามีทั้งแก๊สและไฟฟ้าใช้ เธอเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร พีเอ็ม หนหนึ่งว่า “เราเป็นครอบครัวแรกในละแวกนั้นที่มีแก๊สกับไฟฟ้าใช้ แม่เคยทำงานเป็นคนรับใช้ในนิวยอร์กและฟิลลี (ฟิลาเดลเฟีย) แม่เห็นคนรวยใช้แก๊สและไฟฟ้าจึงตัดสินใจที่จะมีมัน โดยอาศัยเงินที่แม่เก็บออมมา” ต่อมา ซาดี ย้ายมาเช่าอาศัยอยู่บนชั้น 3 ในบ้านของ ลูซี ฮิลล์ (Lucy Hill) หรือที่นิยมเรียกว่า มิส ลู ย่านถนนเซาธ์ เดอร์แฮม ซึ่งเธอได้พบและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ วีวี ฮิลล์ (Wee Wee Hill) ลูกชายของ ลูซี ที่มีอายุอ่อนกว่าเธอ 8 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ ซาดี มุ่งหวังจะใช้ชีวิตคู่กับ วีวี แต่ฝ่ายชายไม่อาจยอมรับความสัมพันธ์นั้นได้ เมื่อผิดหวังจากแฟนหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ซาดี ผู้เคว้งคว้างก็ตัดสินใจหาโอกาสไปทำงานในนิวยอร์กเป็นครั้งคราว ด้วยหวังจะได้พบกับ แคลเรนซ์ พ่อของบิลลีที่มีงานเล่นดนตรีอยู่ในนิวยอร์ก เธอฝากลูกสาวไว้กับ มิส ลู ซึ่งความจริงแล้วมีสุขภาพไม่แข็งแรงพอที่จะดูแลบิลลีได้ดี ช่วงนี้ บิลลี ฮอลิเดย์ อายุประมาณ 10 ย่าง 11 ขวบ แต่ด้วยรูปร่างค่อนข้างสูง เธอจึงดูโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เธอหันหลังให้โรงเรียน พร้อมกับรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้จากสังคมโลกภายนอก นอกจากนี้ บิลลี ยังรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของแม่ที่ถูกผู้ชายสลัดทิ้งได้ดี วีวี เล่าถึงบางแง่มุมเกี่ยวกับตัวของบิลลีให้ฟังว่า “เธอคลุกคลีอยู่กับ อีเธล มัวร์ (Ethel Moore) อีเธลเป็นผู้หญิงหากิน และ เอลินอรา มองเธอราวกับเป็นแม่คนหนึ่งทีเดียว เธอคลุกคลีอยู่ในสถานที่แบบนั้น พร้อมกับเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ เธอน่าจะหาเงินด้วยวิธีแบบนั้นบ้างแหละน่า” ในหนังสือ Lady Sings The Blues บิลลี เล่าถึงการหารายได้ของเธอในช่วงวัยเด็กว่า มาจากการทำงานขัดถูบันไดหินอ่อน เธอบอกด้วยว่าที่ได้เงินมากกว่าเด็กผู้หญิงคนอื่น ๆ เพราะเธอมีถังน้ำและผ้าขี้ริ้วมาเอง แต่ วีวี เห็นตรงกันข้าม“ซาดีทำงาน แต่ผมไม่เคยเห็นเอลินอราทำงาน ... ไม่เคยเห็นเอลินอราขัดถูขั้นบันไดด้วยซ้ำ” วันหนึ่ง เมื่อ ซาดี กับ วีวี กลับมาจากข้างนอก เมื่อเดินทางมาถึงบ้านในตอนเช้ามืดของวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1926 ซาดีพบว่าลูกสาวของเธอกำลังมีเพศสัมพันธ์กับ วิลเบิร์ต ริช (Wilbert Rich) เพื่อนบ้าน [caption id="attachment_13139" align="aligncenter" width="1200"] บิลลี ฮอลิเดย์ และ หลุยส์ อาร์มสตรอง (ซ้าย) ศิลปินคนโปรดของเธอ[/caption] ใจกลางสำนักนางโลม แม้ ซาดี ฟาแกน จะแจ้งตำรวจโดยทันที และ วิลเบิร์ต ริช ถูกจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีแพทย์ 2 คนตรวจสภาพร่างกายของ บิลลี แต่คำถามที่ติดตามมาก็คือ ซาดี มีความสามารถที่จะดูแลลูกสาววัย 11 ขวบของเธอได้ดีเพียงใด ดังนั้น นอกจากการกันตัว เอลินอรา หรือ บิลลี ฮอลิเดย์ ไว้เป็น “พยานของรัฐ” ในข้อหาที่รัฐแมรีแลนด์ฟ้องร้องเอาผิดต่อ วิลเบิร์ต ริช แล้ว เธอยังถูกส่งไปอยู่ที่ในความดูแล “บ้านคุ้มครองสำหรับเด็กหญิงผิวสี” อีกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินจาก ชาร์ลส์ ฟาแกน คุณตาของบิลลี ซึ่งได้ว่าจ้างทนายความคนหนึ่งช่วยจัดการเรื่อง เพื่อให้ บิลลี ออกจากบ้านคุ้มครองฯ กลับมาอยู่ในความดูแลของ ซาดี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 แต่แล้วในที่สุด บิลลี ก็หนีไม่พ้นวังวนชีวิตเดิม ๆ ในระยะนี้เธอออกจากโรงเรียนอย่างถาวร แล้วใช้เวลาขลุกอยู่ในสถานเริงรมย์กึ่งซ่อง ๆ ที่เรียกว่า “กู๊ดไทม์ เฮ้าส์” (good-time house) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในหนังสือของ โดนัลด์ คลาร์ก มีรายละเอียดของ โพนี (Pony) เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ติดตาม บิลลี ฮอลิเดย์ และอยู่ร่วมในบรรยากาศของการค้าประเวณี ตั้งแต่วิธีการหาเงิน การจับลูกค้าผิวขาว หรือแม้กระทั่งการล้วงกระเป๋า ตลอดจนถึงการให้สัมภาษณ์ของ “แมงดา” บางคน อย่าง สกินนี ดาเวนพอร์ท (Skinny Davenport) ซึ่งบ่งบอกว่าในช่วงวัยเพียง 11-12 ปี บิลลี ฮอลิเดย์ ก็สัมผัสถึงโลกแห่งความเป็นจริงอันเลวร้ายได้อย่างชัดแจ้ง ทว่า ในสายตาของ บิลลี นี่คือโลกที่กว้างกว่าบ้านแคบ ๆ ของตัวเอง วิถีชีวิตถูกกำหนดให้เดินมาตามทางสายนี้ เพราะมันเป็นชีวิตที่เร่งด่วน หาเงินได้ง่าย ใช้จ่ายเพื่อแลกกับความสุขไปวัน ๆ ขณะเดียวกันมันก็อาจเป็นชีวิตที่เสี่ยงภัยข้างถนน โดยเฉพาะจากการถูกทารุณโดยผู้ชายบางคน หรือกลุ่มผู้หญิงโสเภณีที่อายุมากกว่า ซึ่งอิจฉาริษยาเธอ เพราะโดดเด่นกว่าทั้งวัย ความสะสวย ผิวสี และความสามารถในการร้องเพลง ใช่แล้ว ท่ามกลางแสงสลัวในสถานบันเทิงเช่นนั้น บิลลี ฮอลิเดย์ ยังได้ค้นพบโลกใหม่จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไขลานรุ่นโบราณที่เรียกว่า วิคโทรลา (Victrola ผลิตโดย วิคเตอร์ Victor) หรือที่ชาวอเมริกันเวลานั้นนิยมเรียกว่า กราโฟโฟน (graphophone ผลผลิตหนึ่งจากการประดิษฐ์ของโธมัส เอดิสัน และทำตลาดโดยบริษัท โคลัมเบีย กราโฟโฟน ซึ่งกลายเป็น โคลัมเบีย เร็คคอร์ดส ในเวลาต่อมา) แทนที่จะเป็น กรัมโมโฟน (gramophone) ซึ่งใช้เรียกอย่างแพร่หลายกว่าในระยะหลัง สถานบันเทิงมี วิคโทรลา ไว้สนองความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการ เพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงบลูส์โดยนักร้องหญิง อย่าง เบสซี สมิธ, แมมี สมิธ (ทั้งสองสมิธไม่ได้เกี่ยวข้องกัน) แต่ศิลปินรายหนึ่งที่โด่งดังอย่างยิ่งในเวลานั้น คือ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Luis Armstrong) ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงระดับประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 เป็นต้นมา อาร์มสตรอง ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของดนตรีแจ๊สด้วยวิธีการเป่าทรัมเป็ตของเขาให้เกิดคุณสมบัติที่เรียกว่า “สวิง” (swing) เท่านั้น หากเขายังถ่ายทอดเสียงร้องได้อย่างลื่นไหลน่าฟัง เมื่อผสานกับเทคโนโลยีเครื่องเล่นแผ่นเสียง นักดนตรีจำนวนไม่น้อยต่างเจริญรอยตามแนวทางของ อาร์มสตรอง กันทั่วหน้า บิลลี ฮอลิเดย์ เคยให้สัมภาษณ์นับครั้งไม่ถ้วนว่า แผ่นเสียงที่เธอชอบฟังในเวลานั้น คือ West End Blues โดย หลุยส์ อาร์มสตรอง และ วง เดอะ ฮ้อท ไฟว์ ของเขา เพลงนี้บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1928 และใช้เวลาราว ๆ 6 สัปดาห์ในการผลิตเพื่อออกวางจำหน่าย ซึ่งเท่ากับว่า บิลลี ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกช่วงปลายเดือนสิงหาคม ของปีเดียวกัน ตอนนั้นเธออายุ 13 ปี บิลลี ฮอลิเดย์ พยายามเลียนแบบการร้องของ หลุยส์ โดยเธออ้างว่าแนวทางการร้องของเขาไม่เหมือนใคร ให้ “...อารมณ์เพลงอันงดงาม... ” ซึ่งในเพลง West End Blues มีโครงสร้างเป็นแพทเทิร์นแบบโต้ตอบ (call & response) ระหว่างทรัมเป็ตของ หลุยส์ กับเสียงคลาริเน็ทของ จิมมี สตรอง (Jimmy Strong) ซึ่งหลุยส์ ไม่ได้ใช้เฉพาะทรัมเป็ตเท่านั้น บางครั้งเขาใช้เสียงร้องเป็นสื่ออีกด้วย “ฉันก็อปปีสไตล์ของฉันมาจาก หลุยส์ อาร์มสตรอง” บิลลี ฮอลิเดย์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนั้น ท่ามกลางความทุกข์ยากของชีวิต แผ่นเสียงเป็นโลกใหม่ที่ทำให้บิลลี ฮอลิเดย์ เริ่มตระหนักถึงการหลุดพ้นจากโลกที่แสนยากเข็ญนี้ เธอเริ่มฝันว่าจะมีโอกาสแจ้งเกิดเป็นดาราหรือนักร้องกับเขาสักครั้ง มุ่งสู่ฮาร์เล็ม ไม่มีหลักฐานระบุวันเวลาที่แน่นอนว่า เอลินอรา ฟาแกน ย้ายจากบัลติมอร์มาอยู่ในมหานครนิวยอร์กตั้งแต่เมื่อใด จากการให้สัมภาษณ์ของ ดีเซล ฮัสกินส์ ระบุว่า เขาเคยได้ยิน บิลลี ร้องเพลง Sentimental Baby ในบัลติมอร์ ซึ่งเพลงนี้บันทึกเสียงในช่วงปี ค.ศ. 1928 สอดรับกับข้อมูลบางแหล่งที่ระบุว่า บิลลี น่าจะเดินทางไปในช่วงปี ค.ศ. 1929 ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยรถไฟเพียงลำพัง โดยที่ ซาดี ฟาแกน แม่ของเธอไปทำงานอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ทว่า ข้อมูลที่เราทราบแน่ชัดจากหนังสืออัตชีวประวัติของเธอก็คือ บิลลี นั่งรถไฟเลยสถานีปลายทางที่เธอนัดพบกับคุณแม่ของเธอ แล้วรถไฟตรงดิ่งไปยังสถานี ฮาร์เล็ม (โดนัลด์ คลาร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า เธออาจจะอยากไปพบพ่อ ?) ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอหลงทาง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีหน่วยงานด้านสังคมดูแลเธอ ระหว่างนำตัวส่งผู้ปกครอง บิลลี ปกปิดชื่อ-นามสกุลของเธอ ซึ่งทำให้ใช้เวลาอยู่นานกว่า ซาดี จะตามตัวลูกสาวของเธอพบ ซาดี ลาออกจากการทำงานบ้านให้แก่ครอบครัวตระกูล เลวี แล้วตัดสินใจพา บิลลี ย้ายเข้าไปพักอยู่ในย่านฮาร์เล็ม โดยอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งบนถนนสาย 141 ซึ่งเป็นอาคารของ ฟลอเรนซ์ วิลเลียมส์ นางโลมที่มีชื่อเสียงในย่านนี้ จากคำบอกเล่าของ บิลลี ที่ระบุว่า แม่ของเธอไม่ได้ทุกข์ร้อนใด ๆ กับการใช้ชีวิตของบุคคลทั้งคู่ภายในซ่องนางโลม ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่ออยู่สักหน่อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งคู่ถูกจับในข้อหาค้าประเวณีภายในสถานที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1929 เอลินอรา ซึ่งอ้างว่าอายุ 21 ทั้งที่ 14 ปีในตอนนั้นพ้นผิด แม่ของเธอถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่เอลินอรา ยังต้องถูกส่งตัวไปฝึกอาชีพอยู่หลายเดือน ติดตามบทความ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ที่นี่ PART II บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา PART III บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส PART IV บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว