02 ธ.ค. 2562 | 17:01 น.
มีข้อถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับตอนจบที่แท้จริงของการ์ตูนเรื่องนี้ มีหลายตำนานที่เข้าขั้นเป็นนาฏกรรมเมืองหลวงว่าตอนจบที่แท้จริงคือ โน่น นี่ นั่น ฯลฯ วันนี้เราจึงจะมาไขปริศนาตอนจบที่แท้จริงของการ์ตูนเรื่องนี้กัน เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อน โดราเอมอนแต่แรกเริ่มเขียนโดยนักเขียน 2 คนที่จงใจใช้นามปากการาวกับมีนักเขียนเพียงคนเดียว โดยนักเขียนทั้ง 2 คนนั้นคือ อะบิโกะ โมะโตะโอะ (安孫子素雄) และ ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิ (藤本弘) เดิมทีทั้ง 2 คนอยากจะใช้นามปากกาว่า อะชิสึกะ ฟุจิโอะ (足塚不二雄) เนื่องจากนับถือ เทะสึกะ โอะซะมุ (手塚治虫) มาก แต่ก็ตระหนักว่าไม่เหมาะสม ในที่สุดจึงลงตัวที่นามปากกาว่า ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ (藤子不二雄) ทั้งคู่เริ่มการจับคู่เขียนตั้งแต่ปี ค. ศ. 1951 และสิ้นสุดการเขียนร่วมกันเมื่อปี ค. ศ. 1987 หลังจากสิ้นสุดการเขียนเป็นคู่แล้ว อะบิโกะ โมะโตะโอะ เปลี่ยนไปใช้นามปากกาว่า Fujiko Fujio A. (藤子不二雄Ⓐ) และไม่ได้เขียนโดราเอมอนอีก ในขณะที่ ฟุจิโมะโตะ ฮิโระชิเปลี่ยนไปใช้นามปากกาว่า Fujiko F. Fujio (藤子・F・不二雄) และเขียนโดราเอมอนอย่างต่อเนื่อง ในทางวรรณกรรมเราจึงยกย่องให้ทั้งคู่เป็นผู้เขียนโดราเอมอน แต่ถ้าไปดูโดราเอมอนตีพิมพ์ยุคหลัง ๆ จาก ค. ศ. 1987 สำนักพิมพ์มักจะบอกว่าโดราเอมอนเป็นผลงานของ Fujiko F. Fujio เท่านั้น แต่จริง ๆ Fujiko Fujio A. ก็มีส่วนในการสร้างสรรค์เรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากทั้งคู่จากกันด้วยดี แม้หลังจากสิ้นสุดการเขียนเป็นคู่ก็ยังคงติดต่อไปมาหาสู่กันเสมอ ๆ สาเหตุที่ต้องสิ้นสุดการทำงานเป็นคู่เนื่องจาก Fujiko F. Fujio ป่วยเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร จึงอยากแยกกับ Fujiko Fujio A. ส่วน Fujiko Fujio A. ในตอนนั้นรู้จักดื่มเหล้าสังสรรค์ รู้จักสังคมในอีกมุมมอง และพัฒนาแนวคิดการ์ตูนของตัวเองจนมืดหม่นกว่าเดิม ในขณะที่ Fujiko F. Fujio ไม่ดื่มเหล้า ไม่เที่ยวกลางคืนเลย ทำให้ยังมีจิตใจใสซื่อแบบเด็กอยู่ Fujiko Fujio A. เกรงว่าความดาร์กของประสบการณ์ของตัวเองและแนวคิดหม่น ๆ ของตัวเองจะไปทำให้โดราเอมอนแปดเปื้อน จึงตกลงยกเลิกสัมพันธภาพแบบคู่หู แล้วก็เลิกเขียนโดราเอมอนไปเลย ปล่อยให้ Fujiko F. Fujio และลูกศิษย์เขียนโดราเอมอนต่อไป จนกระทั่ง Fujiko F. Fujio เสียชีวิตด้วยโรคตับ ถ้าจะกล่าวถึงตอนจบของโดราเอมอนว่าทำไมถึงเป็นปริศนา ต้องทำความเข้าใจตลาดหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กในยุคนั้นก่อน (ทศวรรษที่ 70) โดราเอมอนไม่ได้ตีพิมพ์แบบรายสัปดาห์กับนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ฉบับใดฉบับหนึ่งแบบในปัจจุบันที่พวกเราเข้าใจกัน แต่โดราเอมอนนั้นตีพิมพ์ใน “กลุ่มนิตยสารรายชั้นปีสำหรับเด็ก” ที่เรียกว่า “กะกุเน็นชิ (学年誌)” เจ้ากะกุเน็นชินี้จะมีการ์ตูนสำหรับเด็กที่สอดแทรกความรู้หรือแง่คิดสำหรับเด็กไว้ มีการแบ่งชั้นปีไว้อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ “นิตยสารอนุบาล (幼稚園)” “นิตยสารประถมหนึ่ง (小学一年生)” ไปจนถึง “นิตยสารประถมหก (小学六年生)” ดังนั้น โดราเอมอนแต่ละตอนจะมีลักษณะต่างจากการ์ตูนฮิต ๆ ของพวกการ์ตูนโชเน็นที่พวกเราคุ้นเคยกันมาก
จากภาพยนตร์ Stand by Me Doraemon(2014)
ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ทั้ง 2 ท่านจะต้องเขียนโดราเอมอนเพื่อตอบโจทย์ในหนังสือหลายเล่ม ทั้งสำหรับเด็กอนุบาล สำหรับเด็กประถม 1-6 ดังนั้น ถ้าใครสังเกตโดราเอมอนรวมเล่มจะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องและลายเส้นเหวี่ยงมาก เนื่องจากนักเขียนทั้ง 2 ท่านจะรู้ล่วงหน้าว่าตอนไหนของตัวเองจะไปลงเล่มไหนสำหรับเด็กชั้นปีไหน ถ้าตอนที่ตีพิมพ์สำหรับเด็กเล็ก ๆ อย่างอนุบาลหรือประถมปีต้น ๆ ก็จะมีเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน เน้นสนุก เฮฮา และลายเส้นจะไม่ซับซ้อน ตัวละครจะดีไซน์ออกไปทางตัวเตี้ย ๆ สั้น ๆ เหมาะสำหรับเด็กอ่าน แต่ถ้าตอนไหนของตัวเองจะไปลงเล่มสำหรับเด็กประถมชั้นปีสูงหน่อย เช่น ป. 4-6 ก็จะมีเนื้อเรื่องวิทยาศาสตร์ที่ยากขึ้น บทสนทนาซับซ้อนขึ้น มีเนื้อหาเชิงนามธรรมมากขึ้น และลายเส้นซับซ้อนเหมือนเด็กโตมากขึ้น พอภายหลังเอามารวมเล่มก็คือการเอาหลาย ๆ ตอนจากหลาย ๆ เล่มมารวมกันตามเวลาที่พิมพ์ ทำให้เนื้อเรื่องและลายเส้นแตกต่างกันอย่างที่เห็นนั่นเอง ดังนั้น เมื่อเริ่มเขียนโดราเอมอนจนครบ 1 ปี จึงต้องมีการเขียน “ตอนจบ” ขึ้น เพราะว่านักเรียนที่อ่านจะอ่านเฉพาะนิตยสารของชั้นปีตัวเองเท่านั้น เช่น เด็กประถม 1 ก็จะอ่าน “นิตยสารประถมหนึ่ง” เริ่มตั้งแต่ฉบับเมษายนและไปอ่านฉบับสุดท้ายคือมีนาคมของปีถัดไปและเลิกอ่าน เพื่อไปอ่าน “นิตยสารประถมสอง” ฉบับเมษายนแทน เพราะการศึกษาญี่ปุ่นเปิดภาคเรียนเดือนเมษายนและปิดภาคเรียนเดือนมีนาคมนั่นเอง ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ทั้ง 2 ท่านได้เขียนตอนจบของโดราเอมอนเวอร์ชันแรกเมื่อมีนาคม ค. ศ. 1971 จากนั้นก็ยังเขียนโดราเอมอนต่อไม่หยุด พอมีนาคม ค. ศ. 1972 ก็เลยต้องเขียนตอนจบเวอร์ชัน 2 ออกมาอีก จากนั้นเว้นไป 1 ปี พอมีนาคม ค.ศ. 1974 ก็เขียนตอนจบออกมาอีกเป็นเวอร์ชันที่ 3 จนหลังจากนั้นโดราเอมอนดังติดตลาดแล้วจึงไม่ต้องมีการคิดตอนจบใหม่ ๆ ออกมาอีก ดังนั้น ตอนจบของโดราเอมอนที่แท้จริง จึงมี 3 แบบ โดยนับทั้ง 3 แบบว่าเป็นตอนจบที่แท้จริงทั้งหมด ที่ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ทั้ง 2 ท่านเขียนขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่แฟนซับ ไม่ใช่โดจิน ไม่ใช่นาฏกรรมเมืองหลวง แต่อย่างใด ตอนจบแบบแรก ตีพิมพ์เมื่อมีนาคม ค. ศ. 1971 “โดราเอมอนจะกลับอนาคต (ドラえもん未来へ帰る)” ตอนนี้กล่าวถึงว่าในโลกอนาคตมีการจัดทัวร์เที่ยวย้อนเวลา แล้วบริษัททัวร์ก็รับนักท่องเที่ยวย้อนอดีตมากขึ้น ๆ จนไปรบกวนมนุษย์ในอดีต บ้านโนบิตะก็ตกเป็นเหยื่อ เมื่อนักท่องเที่ยวจากอนาคตชอบโผล่มาจากมิติที่ 4 มาขโมยของกินหรือของใช้จากบ้านโนบิตะเพื่อเป็นที่ระลึกกลับไปในอนาคต และในที่สุดก็มีผู้ร้ายชื่อ “แจ็คนักฆ่า” ที่เป็นอาชญากรข้ามเวลาบุกมาที่บ้านโนบิตะ เคราะห์ดีที่ตำรวจกาลเวลาโผล่มาช่วยทัน แต่เหตุการณ์นั้นเป็นชนวนให้โลกอนาคตต้องบัญญัติกฎหมายห้ามข้ามเวลาอีกเลย ซึ่งมีผลให้ใครก็ตามจากโลกอนาคตที่ย้อนเวลาไปในอดีตก็ต้องถูกเรียกตัวกลับด้วย ทำให้โดราเอมอนต้องกลับอนาคตถาวรนั่นเอง เวอร์ชันนี้จากกันด้วยน้ำตา โดราเอมอนร้องไห้ไม่หยุด ในขณะที่เซวะชิ (เหลนขอโนบิตะ ที่สั่งให้โดราเอมอนย้อนอดีตกลับมา) ถูลู่ถูกังลากขึ้นไทม์แมชชีน และหลังจากนั้นก็เหลือโนบิตะอ้างว้างมองลิ้นชักที่เป็นเพียงลิ้นชักธรรมดาไปเสียแล้ว
ตอนจบโดราเอมอนแบบแรก
ตอนจบแบบที่ 2 ตีพิมพ์เมื่อมีนาคม ค. ศ. 1972 “โดราเอมอนจะไม่อยู่แล้วนะ! (ドラえもんがいなくなっちゃう!)” ตอนนี้ไม่ได้บอกถึงสาเหตุว่าทำไมโดราเอมอนถึงต้องกลับอนาคต รู้แต่ว่าต้องกลับแล้ว แต่โดราเอมอนไม่กล้าบอกโนบิตะ พอโนบิตะมาขอเครื่องที่ช่วยให้ขี่จักรยานเป็น โดราเอมอนก็โมโหเหวี่ยงใส่โนบิตะ ในที่สุดพอคิดอะไรไม่ออกแล้วจริง ๆ โดราเอมอนจึงแกล้งทำเป็นว่าเครื่องพัง เพื่อจะให้เซวะชิพากลับไปซ่อมที่โลกอนาคต แต่พอโนบิตะพูดออกมาว่าไม่อยากให้โดราเอมอนจากไป แต่ก็อยากให้โดราเอมอนกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม โดราเอมอนเลยซึ้งและต้องสารภาพว่าโกหก จริง ๆ คือไม่ได้เครื่องพัง แต่ว่าต้องกลับแล้วจริง ๆ แล้วก็ทะเลาะกันและเปิดใจคุยกันจนลงตัว โนบิตะในเวอร์ชันนี้มีวุฒิภาวะมากเพราะตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองให้ได้ และจากกันด้วยดี โดยที่เซวะชิและโดราเอมอนยังคงเฝ้าดูโนบิตะหัดขี่จักรยานเองผ่านทางไทม์ทีวี (ภาพ 2)
ตอนจบโดราเอมอนแบบที่สอง
ตอนจบแบบที่ 3 ตีพิมพ์เมื่อมีนาคม ค. ศ. 1974 “ลาก่อนโดราเอมอน (さようなら、ドラえもん)” ตอนจบแบบที่ 3 นี้เป็นตอนจบที่แฟน ๆ จำนวนมากเคยอ่านหรือเคยดูแล้ว เพราะเป็นพล็อตที่ใช้ในหนัง Stand by Me Doraemon (2014) นั่นเอง ตอนนี้ก็ไม่ได้บอกถึงสาเหตุเช่นกันว่าทำไมโดราเอมอนถึงต้องกลับอนาคต โดยที่ conflict ของตอนนี้จะไปอยู่ที่ไจแอนท์ ว่าโนบิตะสามารถทนหมัดของไจแอนท์ได้จนกระทั่งไจแอนท์ต้องยอมแพ้ไปเอง ทำให้โดราเอมอนหมดห่วง โดราเอมอนเฝ้าดูโนบิตะหลับ พอโนบิตะตื่นขึ้นมาก็ไม่เจอโดราเอมอนแล้ว และนั่งกอดเข่าเหงา ๆ อยู่คนเดียวในห้อง (ภาพ 3)
ตอนจบโดราเอมอนแบบที่สาม
ตอนจบแบบที่ 1 และ 2 นั้นกลับไม่เป็นที่นิยม แต่แบบ 3 เป็นที่นิยมแพร่หลาย และในฉบับรวมเล่มก็นิยมใส่ตอนจบแบบ 3 ไว้ด้วย ทำให้แบบที่ 1 และ 2 กลายเป็นของหายากมาก และมีคนไม่กี่คนที่รู้การดำรงอยู่ของทั้ง 2 แบบ จนกระทั่งในการตีพิมพ์ใหม่รวมผลงานที่ชื่อ The Complete Works of Fujiko F. Fujio (藤子・F・不二雄大全集) มีการเอาตอนจบแบบที่ 1 และ 2 มารวมไว้ในรวมผลงานชุดนี้ ทำให้สังคมญี่ปุ่นหันกลับมาตระหนักถึงตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอนทั้ง 3 แบบอีกครั้ง ส่วนตอนจบแบบดาร์กมากที่ไปตามฟอร์เวิร์ดเมล์และเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ว่า โดราเอมอนทั้งเรื่องเป็นเพียงความฝันแสนหวานของผู้ชายที่ชื่อโนบิตะที่ป่วยหนักกำลังจะตาย ฟุจิโกะ ฟุจิโอะทั้ง 2 ท่าน (ก่อนยกเลิกการเขียนคู่) ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนว่า โดราเอมอนเป็นผลงานสำหรับเด็ก ส่งเสริมความฝัน ความคิดสร้างสรรค์ เรา 2 คนไม่มีวันหักมุมจบแบบทำร้ายเด็ก ๆ ผู้อ่านแบบนั้นแน่ ๆ ส่วนตอนจบอีกตอนที่เขียนโดยโดจิน (同人) ว่าที่จริงแล้วโนบิตะเองคือผู้สร้างโดราเอมอน อันนี้ไม่ใช่ตอนจบที่เขียนโดย ฟุจิโกะ ฟุจิโอะทั้ง 2 แน่นอน แต่ว่าเป็นตอนจบที่อ่านแล้วอบอุ่น และกระตุ้นให้คิดเรื่อง time paradox เลยมีแฟนคลับจำนวนมากชอบตอนจบเวอร์ชันนี้ แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่ตอนจบที่แท้จริงก็ตาม ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอนมีเพียง 3 แบบเท่านั้นที่ฟุจิโกะ ฟุจิโอะทั้ง 2 แต่งไว้ ส่วนอีก 2 แบบ หรือแบบอื่น ๆ ๆ ที่เคยอ่าน ๆ กันมา ไม่ใช่ตอนจบที่แท้จริงนะทุกท่าน