ปรากฏการณ์ ‘ศัตรูร่วม’ เมื่อเราต้องหา ‘แพะ’ สักตัว เพื่อสร้างความกลมเกลียวในกลุ่ม

ปรากฏการณ์ ‘ศัตรูร่วม’ เมื่อเราต้องหา ‘แพะ’ สักตัว เพื่อสร้างความกลมเกลียวในกลุ่ม

การมี ‘ศัตรูร่วม’ (Common Enemy) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นเมื่อเราหลอมรวมกับคนอื่นที่เผชิญปัญหาเดียวกันหรือมีศัตรูคนเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะ ‘ความเกลียดชัง’

  • ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ อธิบายว่า “เกือบทุกความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกระหว่างคนสองคน เช่น การแต่งงาน มิตรภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ล้วนเป็นตะกอนของความรู้สึกเกลียดชังและความเป็นศัตรู
  • แทนที่จะเชื่อว่าสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งเหตุผล ศัตรูกลับให้ความรู้สึกว่า เราสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ (Sense of Control) เพราะเราสามารถระบุได้ว่าสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร เราจึงเข้าใจ ยับยั้ง และควบคุมได้
  • ศัตรูร่วมยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 9/11 ที่ชาวอเมริกันจำนวนมากมีความรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพและความรักชาติมากขึ้น

ระหว่างการประชุมสุดยอดเจนีวาปี 1985 ‘โรนัลด์ เรแกน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ถาม ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ผู้นำสหภาพโซเวียตว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาวจากนอกโลกบุกโจมตีสหรัฐฯ สหภาพโซเวียตจะเข้ามาช่วยหรือไม่? 

แม้จะงงกับคำถาม แต่ ‘กอร์บาชอฟ’ ก็ตอบว่า “สหภาพโซเวียตยินดีช่วยสหรัฐฯ” ซึ่งคำตอบนี้ได้ทำให้บรรยากาศในช่วงสงครามเย็น อบอุ่นขึ้นเล็กน้อย 

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างคลาสสิก เวลาที่พูดถึง ‘ศัตรูร่วม’ (common enemy) ที่สามารถทำให้คนที่ดูเหมือนจะไม่ชอบขี้หน้ากัน หรือกลุ่มที่มีความขัดแย้งกัน ยอมสงบศึกลงชั่วคราว เพื่อจับมือกันมาเล่นงาน ‘ศัตรูร่วม’ แทน (แต่พอจัดการศัตรูร่วมสำเร็จแล้ว จะกลับมาตีกันต่อหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) 

บิดาแห่งจิตวิเคราะห์อย่าง ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “จากหลักฐานทางจิตวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า เกือบทุกความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกระหว่างคนสองคน เช่น การแต่งงาน มิตรภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ล้วนเป็นตะกอนของความรู้สึกเกลียดชังและความเป็นศัตรู

“เป็นไปได้เสมอที่มนุษย์จำนวนมากจะผูกพันกันด้วยความรัก ตราบใดที่ยังมีคนอื่น ๆ หลงเหลืออยู่ เพื่อรองรับการแสดงออกถึงความก้าวร้าวของพวกเขา”

ฟรอยด์ยังบอกด้วยว่า การมีศัตรูนอกกลุ่มจะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีภายใน ยกตัวอย่าง ครอบครัวที่รายล้อมไปด้วยความเกลียดชังจากเพื่อนบ้าน พวกเขาจะสามารถรักษาความสงบภายในบ้านได้ดีกว่า

ด้าน ‘ดร.คอร์ทนีย์ วอร์เรน’ นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด มองว่า การมีศัตรูร่วมเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นเมื่อเราหลอมรวมกับคนอื่นที่เผชิญปัญหาเดียวกันหรือมีศัตรูคนเดียวกัน แม้จะมีจุดร่วมเพียงเล็กน้อยก็ตาม และมันช่วยให้เรามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือเจ้าของของกลุ่มนั้น ๆ 

ปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะ ‘ความเกลียดชัง’ ซึ่งได้สร้างความผูกพันที่เหนียวแน่นกว่าความรู้สึกร่วมอื่น ๆ

นอกจากนี้ การมีศัตรูร่วมยังช่วยให้เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และมีความชอบธรรม

ยกตัวอย่าง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวอเมริกันรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง และช่วยกันปลูกสวนผัก ทั้งยังลดการใช้ไฟฟ้าและปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงกัน โดยไม่สนว่าใครเป็นฝ่ายพรรครีพับลิกัน ใครเป็นฝ่ายพรรคเดโมแครต เพราะในเวลานั้นพวกเขามีศัตรูร่วมเดียวกัน พวกเขาจึงเต็มใจที่จะเสียสละเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของชาวอเมริกัน 

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 80 ปีก่อน เมื่อการเมืองในประเทศมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกน้อยลง เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากนอกประเทศมากกว่า โดยในปี 1960 มีพ่อแม่เพียง 10% ที่บอกว่าพวกเขาจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าลูกแต่งงานกับคนที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกัน ขณะที่ในปี 2010 ตัวเลขเดียวกันนี้พุ่งเป็น 33% 

‘ดักลาส กิลโบลต์’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โรงเรียนธุรกิจเบิร์กลีย์ฮาส อธิบายว่า โดยสัญชาตญาณแล้ว เป็นเรื่องปกติที่ศัตรูร่วมจะทำให้ฝ่ายที่เคยขัดแย้งกันรวมกันเป็นหนึ่งเดียว มันเป็นทฤษฎีกลุ่มชนที่สืบย้อนไปได้ตั้งแต่งานเขียนภาษาสันสกฤตโบราณ 

แต่ในยุคปัจจุบันการแบ่งขั้วทางการเมืองในสหรัฐฯ นั้น หยั่งรากลึกมากขึ้นกว่าเดิม ผู้คนมีความเห็นแตกแยกกันในประเด็นต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะที่สองพรรคก็ตีตนออกห่างขั้วตรงข้ามมากขึ้นเรื่อย ๆ

คำถามก็คือการแบ่งขั้วทางการเมืองเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่? หรือฝ่ายที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเรา อาจเติมเต็มความต้องการบางอย่างในชีวิตเราได้? เพราะทำให้เรามี ‘แพะรับบาป’ หรือ ‘ศัตรูร่วม’ เพื่อรวมกันเป็นหนึ่ง และเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังปัญหาอันซับซ้อน

จากการศึกษาของงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ศัตรูร่วมสามารถทำให้เราสบายใจขึ้นในยามที่เผชิญกับความไม่แน่นอน นักจิตวิทยาสังคมอย่าง ‘แดเนียล ซัลลิแวน’ และคณะ พบว่า เมื่อพวกเขานำเสนอบทความที่บรรยายถึงรัฐบาลสหรัฐฯ และโครงสร้างเศรษฐกิจว่า ‘วุ่นวายและไม่เป็นระเบียบ’ ผู้เข้าร่วมการวิจัยต่างบอกว่ามันเป็นอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าศัตรูในชีวิตของพวกเขา ต่อมาในการศึกษาติดตามผล นักวิจัยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวอย่าง ‘กลุ่มอัลเคดา’ ผู้เข้าร่วมการวิจัยกลับสัมผัสได้ถึงอิทธิพลของศัตรูมากขึ้น

แทนที่จะเชื่อว่าสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งเหตุผล ศัตรูกลับให้ความรู้สึกว่า เราสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ (Sense of Control) เพราะเราสามารถระบุได้ว่าสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร เราจึงเข้าใจ ยับยั้ง และควบคุมได้

ศัตรูร่วมยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 9/11 ที่ชาวอเมริกันจำนวนมากมีความรู้สึกถึงความเป็นเอกภาพและความรักชาติมากขึ้น พวกเขาสามารถมองข้ามความแตกแยกระหว่างพรรค และกลายเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อต้านศัตรูร่วม อีกทั้งศัตรูร่วมยังทำให้มิตรภาพแข็งแกร่งขึ้นด้วย 

การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะผูกพันกันด้วยความไม่ชอบใจในบุคคลที่สาม มากกว่าความชื่นชอบร่วมกัน และการใส่ร้ายป้ายสีศัตรูยังช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) เพราะพวกเขารู้สึกว่าได้ทำให้ตัวเองและกลุ่มที่มีความคิดเหมือนกัน ดูดีขึ้น 

‘รอย เบาเมสเตอร์’ นักจิตวิทยาสังคม เตือนว่า อย่าปล่อยให้ความคิดลักษณะ ‘pure evil’ หรือการมองว่าใครชั่วร้ายสุดขั้ว เข้าครอบงำเราได้ เพราะในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่เรามองว่าเป็น pure evil มักมีความซับซ้อนกว่าที่คิดมาก 

ยกตัวอย่าง การกระทำที่ฝ่ายเรามองว่าเป็นความชั่วร้าย อีกฝ่ายอาจมองว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากความรักและความเห็นอกเห็นใจ เช่น การศึกษาหนึ่งที่พบว่า ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ต่างคิดว่าฝ่ายตัวเองมีแรงจูงใจจากความรักที่มีต่อพรรค พวกเขาเชื่อว่าขั้วตรงข้ามทางการเมืองมีแรงจูงใจจากความเกลียดชังอีกฝ่าย 

ดังนั้นในการหาวิธีเยียวยาความแตกแยกทางการเมือง เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ความแตกแยก’ ที่เกิดขึ้น กำลังทำ ‘หน้าที่’ อะไรอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ที่มันทำให้เรารู้สึกสบายใจและเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ตรงที่สามารถแยกแยะระหว่าง ‘มิตร’ กับ ‘ศัตรู’ ได้อย่างชัดเจน และโยนความผิดให้กับศัตรูร่วม

ความพยายามที่จะลดการแบ่งขั้วทางการเมือง จึงควรตระหนักว่าการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายของเรานั้นอาจตอบสนองความต้องการที่สำคัญในชีวิตเราอยู่ และเราต้องหาวิธีอื่นเพื่อเติมเต็มความต้องการเหล่านี้ หากเราต้องการลดความขัดแย้งอย่างแท้จริง