11 ส.ค. 2566 | 11:40 น.
“งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผมเชื่อเช่นนั้นมาโดยตลอด ทุกคนวิจัยได้ ไม่ต้องเป็นนักวิจัยก็วิจัยได้ เพราะวิจัยคือการบอกความจริงว่าเรารู้อะไร รู้ได้อย่างไร และเอาสิ่งนี้ออกไปบอกให้ทุกคนได้รับรู้ มันน่าสนใจ สนุก และทำให้ชีวิตเรามีพลัง”
ผศ.ดร. สมสิทธิ์ อัสดรนิธี กระบวนกร (ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้) กลุ่ม Homemade35 อดีตนักศึกษาของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และในเวลาต่อมาได้กลายเป็นอาจารย์ของหลักสูตรนี้ในวิชาศิลปะการจัดกระบวนการเรียนรู้และวิชาวิจัยแนวจิตตปัญญาศึกษา ปัจจุบันเป็นกระบวนกรและผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญาด้วยใจรักอย่างไม่สิ้นสุด
“การเรียนรู้จิตวิญญาณมีมาตั้งแต่มีมนุษย์ก็ว่าได้ เพราะมนุษย์มีจิตวิญญาณ แต่ถ้าเป็นการศึกษากระแสหลักที่เป็นต้นแบบด้านนี้ก็เช่นมหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียนรู้เรื่อง Contemplative Education หรือ จิตตปัญญาศึกษา ในเมืองไทยเรามีศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ก่อตั้งมา 17 ปีแล้ว”
เส้นทางการเรียนรู้ธรรมชาติของจิตวิญญาน
“ในความเป็นมนุษย์เราเรียนรู้ได้หลากหลายมิติมาก บางเรื่องเรารู้อย่างตรงไปตรงมาเพราะเป็นเรื่องวัตถุ เช่น หุงข้าวกี่นาทีจะสุก แต่ในความเป็นคนนั้นไม่ได้มีเฉพาะสิ่งที่จับต้องได้ บางครั้งเรารู้ผ่านความรู้สึกหรือจิตใจเบื้องลึก เป็นที่มาของการเรียนรู้ในอีกระนาบหนึ่งที่ลึกซึ้งซึ่งเชื่อมโยงกับตัวตนของเรา เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณก็ได้ แต่การอธิบายด้วยชุดคำนิยามแบบตายตัวหรือจำกัดชัดจะไม่ค่อยมีประโยชน์กับการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ เพราะธรรมชาติของจิตวิญญาณไม่ใช่แบบนี้ ยิ่งถ้าคุณแสวงหาคำจำกัดความมากเท่าไร คุณจะห่างจากจิตวิญญาณมากเท่านั้น แต่คุณจะเรียนรู้หรือเข้าถึงมันได้ด้วยหนทางแบบอื่น เช่น เอาตัวเองเข้าไปมีประสบการณ์ตรงกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต แล้วตั้งคำถามกลับมาที่ตัวเอง สำรวจใจลึกลงไป ใคร่ครวญว่ารู้สึกอะไร เพราะอะไรถึงรู้สึกอย่างนั้น แล้วดูว่าอะไรมีความหมายหรือมีพลังกับคุณ อันนี้คือเบื้องต้น”
“การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงสังคมศาสตร์มีข้อดี แต่ก็มีการวิจัยในแง่มุมอื่นที่ช่วยเสริมให้การรู้เห็นของมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น เมื่อชีวิตถึงทางตัน ไปต่อไม่ถูก ขอให้คิดไว้ว่าจิตวิญญาณของมนุษย์มีศักยภาพมากกว่าที่เราเชื่อ และถ้าเราอนุญาตให้ชีวิตไปสู่พื้นที่หรือความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เรายังไม่รู้ นั่นแหละคือหนทางทางจิตวิญญาณที่ช่วยต่อเติมชีวิตให้ไปต่ออย่างมีพลัง”
จิตวิญญานกับมิติของตัวตน
ดร.สมสิทธิ์เล่าถึงแก่นและความงดงามของการวิจัยที่ตนรัก ซึ่งช่วยเต็มเติมความหมายของความเป็นมนุษย์ว่า
“การวิจัยเชิงจิตวิญญาณต้องเชื่อมโยงกับมิติภายในหรือตัวตนข้างในของเรา ไม่ตัดขาดตัวเราออกไป ส่วนเนื้อหาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ก็มีความเป็นจิตวิญญาณได้ ถ้ามองผ่านมิติที่เชื่อมโยงกับตัวตนและมีสติเป็นตัวกำกับให้เราซื่อตรงต่อการรับรู้ที่เชื่อมโยงกับสภาวะภายใน หลายครั้งจะพบว่า รูปแบบการนำเสนอจะเป็นเรื่องเล่าเชิงประสบการณ์ อัตชีวประวัติ ฯลฯ เวลาอ่าน เราสามารถซึมซับรับรู้ไปในแต่ละตัวอักษร แล้วเริ่มสร้างความหมายกลับมาด้วยใจตัวเอง มันจะทำให้เราละเอียดอ่อนขึ้น ที่สำคัญคืองานวิจัยเชิงจิตวิญญาณจะช่วยให้เราเปิดพื้นที่ที่เคลื่อนไปหาสิ่งใหม่ ๆ ที่เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วยซึ่งโลกทุกวันนี้ไม่อนุญาตให้เราทำอย่างนั้น”
ติดตามหลากหลายงานวิจัยเชิงจิตวิญญาณทั้งการวิจัยตนเองและผู้อื่นกับ ผศ.ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี และนักวิจัยอีกมากมายในห้องย่อยหัวข้อ “การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม: ร่วมสร้างสรรค์ระเบียบวิธีวิจัยแบบ Spirituality” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” วันที่ 17-18 สิงหาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ) ติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Soul Connect Fest
# SoulConnectFest #จิตวิวัฒน์ #สุขภาวะทางปัญญา #สสส