เรายังต้อง ‘รักษาคำพูด’ กันอยู่ไหม? ในเมื่อใคร ๆ ก็ละเลยสิ่งที่เคยลั่นวาจา

เรายังต้อง ‘รักษาคำพูด’ กันอยู่ไหม? ในเมื่อใคร ๆ ก็ละเลยสิ่งที่เคยลั่นวาจา

ในโลกที่เต็มไปด้วย ‘คนไม่รักษาคำพูด’ เรายังต้องยึดมั่นในสิ่งที่ให้สัญญากันอยู่ไหม? และอะไรคือราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเราทำไม่ได้อย่างที่รับปาก

  • การรักษาคำพูดหรือคำสัญญานั้น ไม่ควรเกี่ยงว่าจะทำเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ เพราะแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการโทรฯ กลับหาเพื่อน หากเราไม่ทำตามที่พูด เราก็จะกลายเป็นคนไม่รักษาคำพูด เช่นเดียวกับตอนที่เราไม่สามารถทำงานเสร็จทันกำหนดที่เรารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ
  • หากคุณต้องการให้คำมั่นสัญญากับใครสักคน คุณต้องมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถรักษาคำพูดได้ ไม่เช่นนั้นคนฟังจะรู้สึกแย่และคิดว่าคุณแค่โอ้อวด ข้อสำคัญคืออย่าซี้ซั้วรับปาก และจงยึดมั่นแต่สิ่งที่คุณทำได้เท่านั้น

“I would rather be accused of breaking precedents than breaking promises” (ผมยอมถูกกล่าวหาว่าผิดธรรมเนียม ดีกว่าถูกหาว่าผิดคำพูด) 

นี่เป็นคำกล่าวที่สะท้อนว่า ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการ ‘รักษาคำพูด’ มากขนาดไหน 

แม้โลกนี้จะเต็มไปด้วยนักการเมืองที่ทำตัวตรงข้ามกับสิ่งที่เคนเนดียึดถือ ทว่า ‘คุณค่า’ ของการรักษาคำพูดไม่เคยลดน้อยถอยลง มนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนรักษาคำพูด เพราะคำพูดหรือคำสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่นนั้น เป็นภาพสะท้อนของ ‘ความซื่อสัตย์’ และ ‘ลักษณะนิสัย’ ของคนพูด 

ดังนั้น เมื่อเราได้รับปากหรือให้คำมั่นสัญญากับใครเอาไว้ เราจึงต้องปฏิบัติตามคำพูดอย่างมุ่งมั่นแข็งขัน ไม่เพียงเพื่อสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือให้ประจักษ์แก่สายตาคนอื่น แต่ยังเป็นการแสดงความ ‘เคารพ’ ในตัวเองอีกด้วย 

การรักษาคำพูดหรือคำสัญญานั้น ไม่ควรเกี่ยงว่าจะทำเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ เพราะแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการโทรฯ กลับหาเพื่อน หากเราไม่ทำตามที่พูด เราก็จะกลายเป็นคนไม่รักษาคำพูด เช่นเดียวกับตอนที่เราไม่สามารถทำงานเสร็จทันกำหนดที่เรารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ

สำหรับการให้คำสัญญานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

  1. คำสัญญาที่เป็นความมุ่งมั่นส่วนตัว เช่น การเลิกบุหรี่ หรือลดน้ำหนัก 
  2. คำสัญญาที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ เช่น คำสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส หรือคำสัญญาว่าจะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน 
  3. คำสัญญาในวิชาชีพ เช่น การทำงานให้เสร็จทันกำหนดเวลา หรือการส่งมอบผลิตภัณฑ์ตามกำหนด

แต่ไม่ว่าจะเป็นคำสัญญาแบบใดก็ตาม ทั้งหมดล้วนมีความสำคัญ เนื่องจากการรักษาสัญญาเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรับผิดชอบในคำพูดของตัวเราเอง และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราให้สัญญา หมายความว่าเรากำลังสร้างความคาดหวังให้กับผู้อื่นอยู่

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเราไม่รักษาคำพูด-คำสัญญา

ผลของการไม่รักษาสัญญาอาจลุกลามรุนแรงกว่าที่คิด เพราะเมื่อเราผิดสัญญา เท่ากับเรากำลังบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว รวมถึงความน่าเชื่อถือของเราด้วย 

ต่อไปนี้เป็นผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่รักษาสัญญา

สูญเสียความไว้วางใจ : เมื่อเราไม่รักษาสัญญาหรือไม่สามารถทำตามสิ่งที่พูดได้ มันอาจทำให้อีกฝ่ายไม่ไว้วางใจเรา หรือรุนแรงถึงขั้นมองว่าเรากำลังทรยศเขา เป็นผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เกิดความเสียหาย

กระทบต่อชื่อเสียง : เมื่อเราเริ่มไม่รักษาสัญญามากเข้า คนอื่นอาจเริ่มมองว่าเราเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสัมพันธ์ทั้งในระดับอาชีพและระดับส่วนตัว

ส่งผลต่อความนับถือตนเอง : การไม่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาของตนเอง อาจทำให้เราสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดความสงสัยในตัวเอง รู้สึกผิดกับตัวเอง หรือเสียใจที่ทำให้คนอื่นผิดหวัง

สูญเสียทางการเงิน : หากเป็นคำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ผู้ที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลง อาจประสบกับความสูญเสียทางการเงิน อาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวในกรณีเป็นสัญญาที่มีมูลค่าสูง

5 เหตุผลที่เราควรเป็นคนรักษาสัญญา 

อีกด้านหนึ่ง หากเราเป็นคนรักษาคำพูด มุ่งมั่นทำตามคำสัญญา ชีวิตของเราอาจดีขึ้นจาก 5 เหตุผล ดังนี้

ระดับความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น : เมื่อเราสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น เราจะมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ซึ่งจะพลอยทำให้เราเคารพตนเอง มองเห็นคุณค่าในตนเอง และมีความซื่อสัตย์ในตนเองมากขึ้นเช่นกัน ท้ายที่สุดเมื่อออร่าความไว้ใจตนเองของเราเปล่งประกาย คนอื่นก็จะมองเห็นและเชื่อใจเรามากขึ้น ขณะที่ตัวเราเองก็มีแนวโน้มที่จะไว้ใจคนอื่นมากขึ้นด้วย 

มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น : ความสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่น เป็นกระจกสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เรามีกับตนเองด้วย ดังนั้นเมื่อเราปรับปรุงความสัมพันธ์ที่เรามีกับตัวเอง เราก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับผู้อื่นด้วย

ไม่ต้องรับมือกับความเสียใจหรือความรู้สึกผิด : ถ้าเราสามารถทำตามสิ่งที่เราพูดได้ เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะรู้สึกผิดหรือเสียใจ ซึ่งจะช่วยให้สภาพจิตใจของเราดีขึ้นและนำไปสู่ทัศนคติที่ดีขึ้น

เป็นนักสื่อสารที่ดี : สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเป็นคนรักษาคำพูดคือการมีสติและระมัดระวังคำพูดมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้มีการตีความผิดหรือเข้าใจผิด ซึ่งจะช่วยให้เราเป็นคนที่สื่อสารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ช่วยในการตัดสินใจ : การเป็นคนรักษาคำพูด ทำให้เราชำนาญในการกลั่นกรองว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ควรรับปากหรือไม่ควรรับปาก โดยพิจารณาจากสิ่งที่เราสามารถทำตามคำพูดได้ นั่นอาจหมายความว่าเราจะกลายเป็นคนตัดสินใจได้รวดเร็วและรอบคอบยิ่งขึ้น 

ทำไมบางคนถึงไม่รักษาคำพูด?

เมื่อพิจารณาข้อดี - ข้อเสียแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงอยากจะเป็นคนรักษาคำพูดหรือทำตามสัญญา แต่ปัญหาคือบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดอะไรที่เป็นการ ‘ผูกมัด’ ตัวเองอยู่ แล้วได้เผลอเอ่ยคำสัญญาออกไป (โดยไม่ตั้งใจ) เพราะสถานการณ์บางอย่าง เช่น เมื่อเจอบทสนทนาที่รวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัว ก็เป็นไปได้ว่าเราจะพูดอะไรออกไปโดยไม่ทันคิดให้ถี่ถ้วน หรือบางครั้งเราก็กลายเป็นคนผิดสัญญาเพราะ ‘ลืม’ สิ่งที่ตัวเองรับปากเอาไว้ ร้ายสุดคือเราไม่ได้ต้องการจะทำในสิ่งที่พูดเลย เพียงแต่รับปากไปเพราะต้องการลดบรรยากาศที่ชวนอึดอัด 

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คู่สนทนาบางคนกลับยึดมั่นในสิ่งที่เราพูด และเรียกร้องให้เรารับผิดชอบคำพูดของตัวเอง 

แนวทางสู่การเป็น ‘คนรักษาคำพูด’ 

กรณีที่เราต้องการรักษาความน่าเชื่อถือและคุณค่าในตัวเอง เราต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนรักษาคำพูด ตาม 4 แนวทาง ดังต่อไปนี้ 

ระมัดระวังคำพูด : การระมัดระวังและมีสติก่อนจะพูดทุกครั้ง นับเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากกว่าการพูดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระหว่างการสนทนาที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว วิธีแก้คือเราต้องหัดคิดทบทวนในใจ และเตรียมตนเองให้พร้อมก่อนจะพูดอะไรออกไป วิธีนี้อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ชอบเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนาและพูดคุยกับคนอื่นอย่างรวดเร็วลื่นไหล แต่เชื่อเถอะว่าเราสามารถทำได้ด้วยการหัดคิดก่อนพูดจนเป็นนิสัย

พูดให้เคลียร์ : ระหว่างสนทนา คนส่วนใหญ่อาจเผลอพูดในสิ่งที่ผูกมัดตนเอง ในขณะที่คู่สนทนาบางคนจะยึดมั่นในสิ่งที่คุณพูด และตั้งตารอให้เราทำตามสิ่งที่พูด หากเมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่ากำลังสร้างความคาดหวังให้คนอื่น จะดีกว่ามากหากคุณชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ โดยบอกเขาไปตรง ๆ เลยว่า คุณไม่ได้ให้สัญญาอะไร

ให้สัญญาในเรื่องที่ทำได้ : แต่หากเป็นกรณีที่คุณต้องการให้คำมั่นสัญญากับใครสักคน คุณต้องมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถรักษาคำพูดได้ ไม่เช่นนั้นคนฟังจะรู้สึกแย่และคิดว่าคุณแค่โอ้อวด ข้อสำคัญคืออย่าซี้ซั้วรับปาก และยึดมั่นแต่สิ่งที่คุณทำได้เท่านั้น

ซื่อสัตย์และจริงใจ : หากมีบางเหตุการณ์เกิดขึ้นจนทำให้คุณไม่สามารถรักษาสัญญาได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องอธิบายให้ชัดเจน ด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าคุณพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาคำพูด แต่ไม่สามารถทำได้ตามที่พูดได้จริง ๆ 

โดยสรุปแล้ว การรักษาคำพูดเป็นภาพสะท้อนถึง ‘คุณค่า’ และ ‘มาตรฐาน’ ของเรา อีกทั้งยังสื่อว่าเราได้ให้คุณค่ากับคนอื่นหรือไม่ ทุกครั้งที่เราไม่รักษาคำพูด มันจะส่งผลกระทบต่อตัวเราเอง และส่งผลต่อวิธีที่คนอื่นมองเราด้วย 

ดังนั้นแล้วหากเราต้องการปรับภาพลักษณ์และเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเอง การเป็นคนรักษาคำพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนการไม่รักษาคำพูดควรปล่อยให้เป็นเรื่องของคนที่ ‘ไม่เคารพ’ ในตนเอง

 

ภาพ : Pixabay

อ้างอิง : 

morningcoach

neelraman

upjourney