Gaslighting ลูกเล่นทางจิตที่แยบยล พฤติกรรมอำมหิตไม่เงียบ!

Gaslighting ลูกเล่นทางจิตที่แยบยล พฤติกรรมอำมหิตไม่เงียบ!

คำสแลง Gaslighting หมายถึง “พฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเพื่อประโยชน์ของตนเอง” มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1944

  • Gaslighting เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ หรือ ‘Psychological Manipulation’ ด้วยการหยอดเมล็ดพันธุ์คลางแคลงใจ สงสัย และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ในปัจจุบัน
  • เหยื่อจะเกิดความสับสนในตัวเอง สูญเสียความมั่นใจ และความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนในจิตใจ จนต้องหันมาพึ่งตัวบงการอย่างขาดไม่ได้
  • ในภาพยนตร์เรื่อง Gaslight สามีกรอกหูภรรยาทุกวัน ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เธอคิดไปเอง ทุกอย่างยังปกติดี จนภรรยาสับสน สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นบ้าไปแล้วจริง ๆ จนเธอต้องพึ่งพาสามีตลอดเวลา จนกระทั่งสามีควบคุมเธอได้โดยสมบูรณ์

‘Gaslighting’ ถูกยกให้เป็น ‘ศัพท์แห่งปี 2022’ ของพจนานุกรม ‘Merriam-Webster’ เจ้าแห่งพจนานุกรมสำนักหนึ่ง ซึ่งนิยมจัดอันดับคำฮิตในรอบปี เช่นเดียวกับพจนานุกรม ‘Oxford’ หรือพจนานุกรม ‘Collins Corpus’ รวมถึงพจนานุกรม ‘Cambridge’ และ ‘Wikipedia’

ในปี ค.ศ. 2022 ที่ Gaslighting เป็นศัพท์แห่งปีของพจนานุกรม Merriam-Webster พจนานุกรม Oxford ยกให้คำว่า ‘Goblin Mode’ เป็นศัพท์แห่งปี 2022 ส่วนปีนี้ Oxford ยกให้ ‘Rizz เป็นศัพท์แห่งปี ขณะที่พจนานุกรม Collins Corpus ยกให้ ‘AI’ เป็นศัพท์แห่งปี 2023

แม้จะผ่านมา 1 ปีแล้ว ทว่า Gaslighting กลับถูกหยิบยกมาพูดถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเป็นกระแส Viral อย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากคำว่า Gaslighting เป็นกระแสบน Webboard ของ Reddit และ Social Media อย่าง TikTok จนกลายเป็นศัพท์แห่งปี 2022 ของพจนานุกรม Merriam-Webster

มาในปี 2023 แรกเริ่มเดิมที ไม่มีใครคิดว่ากระแส Gaslighting ที่แผ่วไปในช่วงต้นปี จะกลับมาเป็นที่กล่าวขวัญถึงอีกครั้งในตอนปลายปี จากแฮชแท็ก #นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นฮอตที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจ และหลายคนช่วยรณรงค์ไม่สนับสนุนบุคคลที่มีพฤติกรรมคุกคามผู้อื่น

ทำให้ Gaslighting กลับมาเป็นคำที่ Social Media ให้ความสนใจอีกครั้ง

Gas ที่ไม่ใช่ ‘แก๊ส’ แต่แปลว่า ‘น้ำมัน’

Gas หรือ ‘แก๊ส’ ในบ้านเรา หมายถึง ‘ก๊าซหุงต้ม’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง คือแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG: Liquefied Petroleum Gas) ส่วน Gas ในความหมายของคนอเมริกันคือน้ำมันเบนซิน ชื่อเต็มว่า Gasoline ส่วนที่อังกฤษเรียกว่า Petrol ย่อมาจาก Petroleum Spirit

ดังนั้น ถ้าพูดถึง Gaslighting ที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ แปลตรงตัวคือ ‘ตะเกียงน้ำมัน’ ที่ใช้ Gas หรือน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช่ LPG ในความหมายแบบไทย

คำสแลง Gaslighting ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ หมายถึง “พฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเพื่อประโยชน์ของตนเอง” มีที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1944 นำแสดงโดยดาราสาวมากความสามารถ ‘อิงกริด เบิร์กแมน’ รับบท ‘พอลลา อัลควิสต์’ ภรรยาที่ถูกสามีสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อทำให้ภรรยาคิดว่าตัวเธอนั้นเสียสติ โดยสามีใช้กลอุบายนี้เพื่อฮุบสมบัติของเธอ

Gaslight ดัดแปลงจากบทละครเวทีแนวระทึกขวัญในปี ค.ศ. 1938 บทประพันธ์ของนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ‘แพทริค แฮมิลตัน’ ที่ใช้ฉากหลังเป็นมหานครลอนดอนช่วงปี ค.ศ. 1880 ว่าด้วยเรื่องราวการแต่งงานอันดำมืด บนพื้นฐานการหลอกลวง และเต็มไปด้วยกลอุบายของสามีที่มุ่งมั่นจะทำให้ภรรยาของเขาเสียสติเพื่อที่จะขโมยทรัพย์สมบัติทั้งหมดไปจากเธอ

Gaslight มีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วก่อนหน้านี้คือในปี ค.ศ. 1940 กำกับโดย ‘ธอโรลด์ ดิกคินสัน’ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับเวอร์ชัน 1944 แม้แพทริคจะลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง

Gaslighting พฤติกรรมอำมหิตไม่เงียบ!

ศัพท์ Gaslight ที่เป็นชื่อหนัง มีที่มาจากฉากหลักฉากหนึ่งของภาพยนตร์ นั่นคือสามีใช้วิธีการหรี่ไฟในตะเกียงน้ำมัน หรือ Gaslight ทีละนิด และเมื่อภรรยาผิดสังเกต จึงถามถึงที่มาของแสงไฟที่มืดลงนั้น สามีกลับตอบว่า เธอคิดไปเองหรือเปล่า?

นอกจากหรี่ตะเกียง เขายังเปิด ๆ ปิด ๆ ทำให้ตะเกียงติด ๆ ดับ ๆ และแทบทุกครั้งที่ภรรยาถามเรื่องตะเกียง สามีก็จะยืนยันว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ จนทำให้ภรรยาเริ่มไม่มั่นใจในความคิดของตนเอง และสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปทีละน้อย

นอกจากการแกล้งหรี่ตะเกียง เขายังนำของใช้ส่วนตัวของเธอไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ และบอกกล่าวระคนใส่ร้ายให้ภรรยาของเขาเชื่อว่า เธอเป็นคนเอาไปซ่อนเอง ด้วยสารพัดคำลวง ที่ทำให้เข้าใจว่าเธอคือคนผิด และทุกสิ่งทุกอย่างล้วนปกติ ยกเว้นตัวเธอเอง!

ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาโดยการหลอกลวงให้เธอเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิต ด้วยลูกเล่นทางจิตที่แยบยล เพราะการหลอกลวงด้วยคำโกหกพื้น ๆ จะไม่ส่งผลร้ายแรงกับจิตใจมนุษย์ เท่ากับการหลอกให้สงสัยในความคิดของตนเอง
.
หลายครั้งที่เธอถูกหลอกอย่างแนบเนียน และหลายครั้งเธอก็ถูกชี้นำให้สงสัย ว่าความคิดของเธอเองนั้น ยังปกติอยู่หรือไม่ สุดท้าย เธอได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์ ตกเป็นเหยื่อของมายากลทางจิตอย่างไม่สามารถหลีกหนี

Gaslighting จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ หรือ ‘Psychological Manipulation’ ด้วยการหยอดเมล็ดพันธุ์คลางแคลงใจ สงสัย และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ในปัจจุบัน!

ลำบากใจลึก ๆ กับภาวะที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา

พจนานุกรม Merriam-Webster ให้ความหมายของคำว่า Gaslighting ไว้ว่า หมายถึง การบงการจิตใจบุคคลหนึ่งเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่ง เหยื่อที่ถูกกระทำ ตั้งคำถามถึงความถูกต้องของความคิด ตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับรู้ความเป็นจริง หรือความทรงจำ

เหยื่อจะเกิดความสับสนในตัวเอง สูญเสียความมั่นใจ และความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนในจิตใจ จนต้องหันมาพึ่งตัวบงการอย่างขาดไม่ได้

ดังเช่นตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่สามีกรอกหูภรรยาทุกวัน ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เธอคิดไปเอง ทุกอย่างยังปกติดี จนภรรยาสับสน สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นบ้าไปแล้วจริงๆ จนเธอต้องพึ่งพาสามีตลอดเวลา จนกระทั่งสามีควบคุมเธอได้โดยสมบูรณ์

แปลไทยเป็นไทยก็คือ Gaslighting หมายถึง ท่าที หรือการกระทำที่ทำให้คนเข้าใจผิด โดยเอื้อประโยชน์ให้ผู้กระทำในท้ายที่สุด

Gaslighting จึงเป็นเครื่องมือที่ผู้ล่วงละเมิด หรือผู้นิยมใช้ความรุนแรงในเชิงความสัมพันธ์มักนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำไปใช้ในทางการเมือง โดยบรรดาคนมีชื่อเสียงต่าง ๆ 

อย่างไรก็ดี Gaslighting อาจเกิดขึ้นในครอบครัว หรือในความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก หรือในหมู่เพื่อนฝูง หรือองค์กร หรือสังคม ได้ทั้งนั้น

นอกจากนี้ Gaslighting ยังมีการเติมคำว่า ‘Medical’ ไว้ข้างหน้า เป็น ‘Medical Gaslighting’ ที่หมายถึง บุคลากรทางการแพทย์ พยายามระบุให้อาการป่วยของคนไข้เป็นอาการที่คนไข้นั้น ‘คิดไปเอง’

เยียวยา Gaslighting ก่อนจะสาย!

จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ธรรมดา หรือคำพูดธรรมดา จากตัวอย่างในหนังเรื่อง Gaslight กลับสร้างผลสะเทือนทางจิตใจที่รุนแรง และส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในตนเองอย่างสูงมาก

ดังนั้น ณ นาทีนี้ หลายคนอาจกำลังเผชิญหน้ากับ Gaslighting อยู่โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้!

เพราะสิ่งที่ได้ฟัง และทำให้เราคิดทุกขณะจิต อาจเป็นกับดักทางจิตวิทยาที่อยู่รอบตัวเรา หรือเราอาจถูกหย่อนเมล็ดพันธ์ุคลางแคลงใจ เอาไว้ในหลุมใจของเรา เพื่อที่มันจะเติบโตในตัวเราได้ในอนาคต

ดังนั้น วิธีเยียวยา Gaslighting ก่อนจะสายจึงเป็นทางรอดของเราเองที่ควรตระหนัก หากเริ่มสงสัยในตัวเอง ก็ให้เริ่มเก็บหลักฐานพยานวัตถุ เพื่อยืนยันในภายหลังว่าสถานการณ์ตรงหน้าคืออะไร ที่สำคัญก็คือ เพื่อยืนยัน ว่านี่ไม่ใช่ความคิดของเราเพียงฝ่ายเดียว

รีบเดินออกจากสถานการณ์ที่น่าสงสัย เพื่อให้เรามีพื้นที่ขบคิด มีช่องว่างให้หายใจ ถอยออกมาเพื่อทำให้เรามองเห็นเหตุการณ์ และทบทวนว่ากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งใด และใช้มุมมองบุรุษที่ 3 ที่ช่วยให้เรามองทะลุแผนการได้อย่างชัดเจน เพราะการเผชิญหน้าและจมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บีบคั้นทางอารมณ์ จะทำให้มุมมองแคบลงจนไม่เหลือที่ว่างให้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบได้

ประกาศตัดสัมพันธ์ แม้จะดูเป็นทฤษฎี แต่การยืนหยัดเผชิญหน้ากับ Gaslighting ซ้ำซากจนมีแนวโน้มสูญเสียความเป็นตัวตน ย่อมส่งผลเสียที่ร้ายแรงมากกว่า สุดท้ายอย่าลืมเด็ดขาดว่า อย่าให้คำพูดของใคร หรือสถานการณ์ใด ๆ ทำลายคุณค่าของคุณ!

 

เรื่อง : จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ : โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Gaslight จาก wikipedia