Halo Effect วังวนความดีจากความประทับใจแรก จนเมินเฉยว่า เขาอาจไม่ดีอย่างที่คิด

Halo Effect วังวนความดีจากความประทับใจแรก จนเมินเฉยว่า เขาอาจไม่ดีอย่างที่คิด

‘Halo Effect’ ปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเชื่อว่า ทำดีครั้งเดียว เขาจะเป็นคนดีตลอดไป และติดกับดักความดีงามนั้น จนเมินเฉยและปิดกั้นด้านลบหรือความเห็นต่างที่เป็นเรื่องจริง

  • ‘Halo Effect’ เป็นความรู้สึกทางใจที่เกิดขึ้นเมื่อเราประทับใจหรือตกหลุมรักใคร อาจเป็นเพราะหน้าตา ความสามารถเพียงด้านดี แล้วอนุมานว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนเก่ง คนดี แบบนั้นตลอดไป
  • ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ด้วย
  • เพราะความประทับใจแรกเป็นเรื่องสำคัญ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเสียเวลาเลือกชุดที่เท่ที่สุด สวยที่สุดไปเดตหรือสัมภาษณ์งาน

เวลาเราชอบใครสักคน ทุกอย่างก็ดีไปหมด แม้กระทั่งมีคนมาบอกว่า เขาอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด เราอาจจะยิ้มแห้ง แล้วแอบค้านในใจหน่อย ๆ

ถ้าเป็นแบบนั้น นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับภาวะ ‘Halo Effect’ ความรู้สึกที่ทำให้เราคิดว่า เมื่อเราประทับใจหรือชื่นชมใครแล้ว เราจะเชื่อว่าเขาจะดีตลอดไป

นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนที่ใช่ ทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะเราอยู่ในวังวนของความดีงาม แล้วก็ยากที่จะก้าวออกจากรัศมีความดีงามนั้น แม้สิ่งที่เราเห็นในวันแรก อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็น

Halo Effect ดีครั้งเดียว ดีตลอดไป

คำว่า ‘Halo’ หมายถึง แสงสว่างรูปวงกลมที่อยู่เหนือหัวของนักบุญในคริสต์ศาสนาที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดยุคกลางและยุคเรเนสซองส์อยู่หลายภาพ ซึ่งในทางงานศิลปะ แสงนั้นเป็นนัยแฝงว่าคนคนนั้นเป็นคนดี จึงนำมาใช้ในการอธิบายเหตุการณ์เวลาเราเจอคนรูปร่างดี หน้าตาดี เข้ากับคนง่าย และดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบไปทุกด้าน แล้วสรุปว่า พวกเขาเป็นคนดี และมีความคิดว่าเขาจะเป็นคนดีต่อไป 

ขณะที่คำนิยามของ ‘Halo Effect’ ถูกอธิบายโดย เอ็ดเวิร์ด ธอร์นไดค์ (Edward Thorndike) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งจิตวิทยาการศึกษา ราวช่วงปี 1920 ด้วยการขอให้ผู้บังคับบัญชาในกองทัพประเมินคุณสมบัติต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะภายนอก เช่น ความเป็นผู้นำ รูปร่างหน้าตา ความสามารถ ความภักดี และความน่าเชื่อถือของทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยห้ามพูดคุยกับทหารแต่ละคนที่ถูกประเมิน

เป้าหมายของการทดลองครั้งนี้ ธอร์นไดค์ต้องการหาคำตอบว่า การประเมินบุคคลด้วยคุณสมบัติเพียงประการเดียวจะส่งผลต่อการประเมินเรื่องอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ ผลการทดลองสรุปไว้ว่า หากได้รับการประเมินสูงในเรื่องใดแล้ว มีแนวโน้มที่จะประเมินเรื่องอื่น ๆ สูงตาม แต่ถ้าประเมินต่ำแล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็ได้รับการประเมินต่ำเช่นกัน

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ถ้าดีแล้วดีเลย แต่ถ้าไม่ดีก็ไม่ดีเลย

ถ้าดูเผิน ๆ อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปเสียหน่อย เพราะมนุษย์มีหลายด้าน และอาจจะดีหรือไม่ดีปนกันไป แล้วคำว่า ‘ดี’ ในมุมมองของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนพยายามจะเป็นคนที่แต่งตัวดี ดูเรียบร้อย อบอุ่น ตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน เพราะ First Impression ความประทับใจแรกนั้นสำคัญจริง ๆ 

เรื่องเล็ก ๆ ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เลยอยากลองชวนคิดต่อว่า คุณยังจำวันแรกที่คุณพยายามหาชุดที่ดูดีที่สุดเพื่อไปออกเดต หรือวันสมัครงานได้อยู่ไหม

ยังจำได้ไหม วันนั้นคุณคิดอะไรอยู่?

 

การศึกษา การทำงาน และการขายผ่านเลนส์ความดี

แล้วคำว่า ‘ดี’ ไม่ได้หมายถึงคนที่เราเจอกันเพียงผิวเผินอย่างเดียว แต่การตัดสินคนจากบุคลิกภายนอกนั้นส่งผลต่อความคิดของคนคนหนึ่งต่ออีกคนในระยะยาว 

Halo Effect ไม่ต่างจากการที่เราสวมเลนส์ความดีและความเชื่อมั่น ดังนั้นปรากฏการณ์นี้จึงส่งผลกระทบกับคนในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทำงาน หรือการขายผลิตภัณฑ์หรือสร้างสรรค์งานโฆษณา

ในฝั่ง ‘วงการการศึกษา’ งานวิจัยของสหรัฐอเมริกาเรื่อง ‘ลักษณะภายนอกของนักเรียนที่สัมพันธ์กับผลการเรียน’ (Student Appearance and Academic Performance) ในวารสารของมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุว่า คุณครูมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อเด็กแต่ละคนต่างกันตามความรู้สึกดึงดูดใจ รวมถึงยังมีผลวิจัยที่สะท้อนว่า จากการประเมินหน้าตานักเรียนทั้งหมด 4,500 คน ด้วยการดูจากบัตรนักเรียน พบว่า รูปร่างหน้าตามีความสำคัญในห้องเรียนแบบเดิม เนื่องจากผู้วิจัยสำรวจอีกครั้งตอนเรียนออนไลน์ พบว่า นักเรียนที่ได้คะแนนหน้าตาสูงกว่ามาตรฐานทำผลการเรียนได้น้อยกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม

อีกทั้ง Halo Effect ยังส่งผลต่อการรับรู้ของนักเรียนต่อคุณครูด้วยในการตัดสินว่า เขาเปิดรับหรือสบายใจเมื่ออยู่กับคุณครูคนไหน กล่าวคือ ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากสมาคมจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกา นักวิจัยพบว่า เมื่อคุณครูมองว่าอบอุ่นและเป็นมิตร นักเรียนก็ให้คะแนนพวกเขาว่าน่าดึงดูดและน่าพอใจตามความรู้สึกนั้นอีกด้วย

ส่วนใน ‘สังคมการทำงาน’ อาจเป็นเรื่องปกติที่บริษัทส่วนใหญ่จะวัดความสามารถของคนด้วยผลงาน แต่การทำผลงานโดดเด่นเพียงครั้งเดียว ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะโดดเด่นและเก่งไปทุกด้าน

เริ่มตั้งแต่การสมัครงานที่องค์กรก็จะมองหาบุคคลที่ฉลาด มีความสามารถ และมีคุณสมบัติที่กำลังมองหา จนมาถึงการประเมินผลงาน มีผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายว่า หัวหน้างานมักจะประเมินความสามารถของพนักงานจากการรับรู้ความสามารถของลูกน้องเพียงข้อเดียว มากกว่าจะมองผลงานเชิงภาพรวม หมายถึงคนที่กระตือรือร้นอาจจะได้รับการยอมรับจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าพวกเขาอาจจะยังขาดทักษะและความสามารถบางอย่าง

ขณะที่ ‘วงการโฆษณาสายมาร์เก็ตติ้ง’ เว็บไซต์ Forbes เคยอธิบายถึง Halo Effect ที่ส่งผลกระทบต่องาน Influencer Marketing ไว้ว่า Halo Effect เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า เมื่อผู้บริโภคชอบผลิตภัณฑ์ใดแล้ว แม้จะเป็นเพียงเรื่องเดียว พวกเขาอาจมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในสินค้านั้นโดยไม่รู้ตัว

เพราะหนึ่งในกลยุทธ์การขายที่นักโฆษณา ทีมมาร์เก็ตติ้ง หรือทีมขายหวังในการขายผลิตภัณฑ์ คือ การบอกต่อ

วิธีการที่เราเห็นชัดเจน คือ การที่แบรนด์ดึงเซเลบริตี้ชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ที่มักจะพร้อมสรรพคุณและความดีงามของผลิตภัณฑ์ให้คนรู้สึกประทับใจในสินค้าชิ้นนั้น ๆ เพราะเมื่อลูกค้าฟังแล้ว เขาอาจเปิดใจให้กับแบรนด์ดังกล่าวมากขึ้นจนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด

ผลกระทบของ Halo Effect ต่อวงการต่าง ๆ สะท้อนว่า การตัดสินด้วยลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวนั้นอาจเป็นเรื่องดี แต่อีกมุมหนึ่ง เมื่อเราเชื่อว่าคนนั้นดี อาจทำให้เราปิดรับความเห็นต่าง หรือสิ่งที่ขัดแย้งกับความคิดเดิมของเรา

 

ก้าวออกจากรัศมีความดี

เมื่อ Halo Effect เกิดขึ้นในใจเรา เรามักจะได้รับข่าวสารหรือมุมมองดี ๆ ของคนคนนั้น หรือผลิตภัณฑ์นั้นจนยากที่จะถอยออกมาก้าวหนึ่ง เพื่อพิจารณาหรือมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ถี่ถ้วน

การก้าวออกมาจากรัศมีความดีที่ครอบงำความรู้สึกก็คงเป็นเรื่องยากตาม แต่วิธีการที่สามารถทำได้ คือ การเตือนตัวเองว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเขา

สิ่งที่เขาทำไม่ดี ก็ไม่ได้แปลว่า เขาเป็นคนไม่ดี 

และสิ่งที่เขาทำดี ก็ไม่ได้แปลว่า เขาจะดีไปเสียหมด

เพราะการรู้จักหรือเจอกันเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถตัดสินได้ว่า เขาคนนั้นเป็นอย่างไร แต่การค่อย ๆ เรียนรู้และทำความรู้จักกันอาจทำให้คุณค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเขามากขึ้นก็ได้

นี่เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะทำให้คุณกล้าจะเปิดประตูในใจ เปิดรับสิ่งใหม่ในชีวิตมากขึ้น ไม่แน่ว่า เมื่อคุณรู้จักกับคนคนนั้น หรือสิ่งนั้นมากขึ้นแล้ว ความคิดของคุณอาจเปลี่ยนไป

ไม่ว่าจะดีหรือร้ายกว่าเดิม แต่อย่างน้อยคุณก็ได้รู้จักพวกเขามากขึ้นแล้ว

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : 

 

อ้างอิง :

verywellmind

journals of human

thedecisionlab