รู้จัก Duchenne Smile ‘รอยยิ้มแห่งความสุข’ ที่ต่างไปจากการ ‘แสร้งยิ้ม’

รู้จัก Duchenne Smile ‘รอยยิ้มแห่งความสุข’ ที่ต่างไปจากการ ‘แสร้งยิ้ม’

‘กีโยม ดูเชนน์’ (Guillaume Duchenne) นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส กับการค้นพบ Duchenne Smile ‘รอยยิ้มแห่งความสุข’ ที่ต่างไปจากการ ‘แสร้งยิ้ม’

KEY

POINTS

  • การยิ้ม ไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมายบ่งบอกความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือน ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัวเข้าสังคมที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าเราจะสนิทใจกับคนกลุ่มนั้นหรือไม่ก็ตาม
  • หนึ่งในข้อค้นพบของ ‘กีโยม ดูเชนน์’ (Guillaume Duchenne) นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศส คือรอยยิ้มรูปแบบที่ออกมาจากความรู้สึกทางบวกอย่างแจ่มชัดและไม่เสแสร้ง ซึ่งต่อมา รอยยิ้มรูปแบบนี้ถูกเรียกว่า ‘Duchenne Smile’
  • นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การยิ้มที่ปากและตาพร้อม ๆ กัน ทำให้คนอื่น ๆ รับรู้ถึงความรู้สึก น่าเชื่อถือ จริงใจ รวมทั้งโน้มน้าวใจได้มากกว่าการยกมุมปากขึ้นเพียงอย่างเดียว

เราจะรู้ได้ยังไงว่าคน ๆ หนึ่ง กำลังรู้สึก ‘มีความสุข’ อยู่หรือเปล่า ?

สิ่งที่สังเกตได้ง่ายและเร็วที่สุดคงจะเป็น ‘รอยยิ้ม’ ของคน ๆ นั้น แต่หลายครั้งที่การยิ้มไม่ได้แปลว่ามีความสุขเสมอไป อีกทั้งรอยยิ้มยังมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยิ้มเจื่อน ยิ้มแป้นสดใส ไปจนถึงการแสยะยิ้ม จนชวนให้สงสัยว่า จริง ๆ แล้ว เราสามารถสังเกตรอยยิ้มที่มีความสุขออกมาจากใจ โดยไม่ได้ซ่อนความรู้สึกอื่นใดได้หรือเปล่า

ย้อนไปในศตวรรษที่ 19  ‘กีโยม ดูเชนน์’ (Guillaume Duchenne) นักประสาทวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาเรื่องกล้ามเนื้อ รวมทั้งการแสดงออกทางใบหน้า โดยกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยกระแสไฟฟ้า แล้วตีพิมพ์ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘Mécanisme de la physionomie humaine’ เมื่อปี 1862 

หนึ่งในข้อค้นพบของเขา คือรอยยิ้มรูปแบบที่ออกมาจากความรู้สึกทางบวกอย่างแจ่มชัดและไม่เสแสร้ง ซึ่งต่อมา รอยยิ้มรูปแบบนี้ถูกเรียกว่า ‘Duchenne Smile’

Duchenne Smile เป็นรอยยิ้มที่เกิดจากกล้ามเนื้อ 2 ส่วนบนใบหน้ายกขึ้นพร้อม ๆ กัน ได้แก่ ส่วน ‘zygomatic major’ คือกล้ามเนื้อที่ช่วยยกบริเวณมุมปากขึ้นมาจนเกิดเป็นรอยยิ้ม และส่วน ‘orbicularis oculi’ ที่ยกกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้มและเบ้าตาขึ้นมาจนเกิดรอยย่นที่หางตาหรือที่เรียกกันว่า ‘ตีนกา’ นั่นเอง ดังนั้นรอยยิ้มที่มีความสุขอย่างแท้จริง เลยไม่ใช่แค่มุมปากขยับเพียงอย่างเดียว แต่ดวงตา (และรอยตีนกา) ของเราก็ต้องยิ้มไปพร้อม ๆ กันด้วย 

หลังจากที่ดูเชนน์ค้นพบรอยยิ้มรูปแบบนี้ ก็เริ่มมีการศึกษาอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันออกมายืนยันในหลากหลายมิติ หนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ คือ Proximity Begins with a Smile, But Which One? Associating Non-duchenne Smiles with Higher Psychological Distance ที่ตีพิมพ์ในปี 2017 พบว่า Duchenne Smile นอกจากจะสื่อสารถึงความสุขแล้ว ยังบ่งบอกถึง ‘ความสัมพันธ์’ กับคนรอบตัวในตอนนั้นได้อีกด้วย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า รอยยิ้มรูปแบบอื่น ๆ เช่น การยิ้มตามมารยาท การแสร้งยิ้ม การยิ้มเจื่อน ๆ บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ห่างไกลกับคนที่เราส่งยิ้มให้ ขณะที่ Duchenne Smile บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดได้มากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การยิ้ม ไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมายบ่งบอกความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือน ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัวเข้าสังคมที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าเราจะสนิทใจกับคนกลุ่มนั้นหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การยิ้มที่ปากและตาพร้อม ๆ กัน ทำให้คนอื่น ๆ รับรู้ถึงความรู้สึก น่าเชื่อถือ จริงใจ รวมทั้งโน้มน้าวใจได้มากกว่าการยกมุมปากขึ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากมองย้อนกลับมาในชีวิตประจำวัน เราอาจพบเห็นเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ ความรู้สึกที่ว่าอยากจะให้ทิปเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นพนักงานบริการยิ้มให้อย่างจริงใจ หรือความประทับใจแรกพบ เมื่อมีคนทักทายด้วยรอยยิ้มทั้งมุมปากและสายตาไปพร้อม ๆ กัน
 

อย่างไรก็ตามอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าจะบอกว่า รอยยิ้มรูปแบบอื่น ๆ จะเป็นรอยยิ้มที่ ‘ไม่มีความสุข’ เพราะบางครั้ง เราอาจจะแค่รู้สึกพึงพอใจ หรือดีใจเล็กน้อย บ้างก็อาจจะมีความสุขปะปนกับความรู้สึกอื่น ๆ ไปด้วย ทั้งยังเคยมีการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงออกทางสีหน้าที่พบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีความสุขอย่างแท้จริงนั้นอาจจะไม่ยิ้มเลยด้วยซ้ำ เห็นได้จากงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเรื่องการยิ้มในแวดวงกีฬา พบว่า ในตอนที่นักกีฬาทำแต้มได้ พวกเขาแทบไม่ค่อยยิ้มออกมาเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นว่าตอนนั้นพวกเขากำลังหันไปสบตากับเพื่อน หรือหันไปทักทายกับคนอื่น ๆ  

ดังนั้น ‘การยิ้ม’ จึงไม่ได้หมายถึงคน ๆ นั้นกำลังรู้สึก ‘มีความสุข’ เสมอไป ขณะเดียวกัน ‘การไม่ยิ้ม’ ก็ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นกำลังรู้สึกทุกข์ใจหรือไม่มีความสุขเลย ภาษากายจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยบริบทควบคู่กันไปด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะยิ้มแบบ Duchenne Smile หรือยิ้มในรูปแบบไหน คนที่ตอบได้ดีที่สุดว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ คงมีแค่ตัวเราเองเพียงเท่านั้น

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา 
ภาพ : Pexels 

อ้างอิง : 

betterhelp.com 

healthline.com 

newscientist.com 

mashable.com 

verywellmind.com

plus.thairath.co.th